ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์

15
มิถุนายน
2563

ปรีดี พนมยงค์ ทำการอภิวัฒน์สยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยความปรารถนาจะให้ประเทศสยามในขณะนั้นได้มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยการเมือง และทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

กล่าวเฉพาะประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เป็นด้านที่ปรีดี พนมยงค์ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยความเชื่อว่า “ถ้าไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้…”  เพราะตระหนักต่อเรื่องดังกล่าว ภายหลังจากการอภิวัฒน์สยาม ปรีดี พนมยงค์ จึงได้พยายามผลักดันให้เกิดเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมา โดยหมายมุ่งจะให้แบบแผนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของราษฎร เพียงแต่ในท้ายที่สุดด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง

อย่างไรก็ตามเค้าโครงการเศรษฐกิจก็ยังเป็นเรื่องที่ควรค่าในการนำมาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความคิดและวิสัยทัศน์ของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส  แต่ก่อนที่จะนำเสนอบทความว่าด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจในครั้งถัด ๆ ไปนั้น  ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากจะพาทุกท่านทำความเข้าใจถึงหลักการอันเป็นแก่นแกนของมโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ เสียก่อน  โดยหากพิจารณาจากบทสัมภาษณ์และงานเขียนบทความต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่าปรีดี พนมยงค์ มีฐานคิดสำคัญ 2 ประการ คือ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” และ “ลัทธิภราดรภาพนิยม”

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Democratic scientific socialism) เป็นหลักคิดเฉพาะตัวของปรีดี พนมยงค์[1] ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ตนได้เผชิญมาและได้ใช้ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมาโดยตลอด

ในการทำความเข้าใจปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ จะต้องเข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ของคำทั้ง 3 คำนี้คือ วิทยาศาสตร์ สังคมนิยม และประชาธิปไตย

ในทรรศนะของปรีดี พนมยงค์ เห็นว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นหลักแห่งความรู้อย่างหนึ่ง โดยเป็นความรู้ที่ได้รับจากการสังเกตและค้นคว้าเชิงประจักษ์ (Empirical) ในเรื่องธรรมชาติ ความรู้แบบวิทยาศาสตร์นี้ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาแบบวัตถุนิยมหรือ “สสารธรรม” (Materialism) ตามคำที่ปรีดีใช้ โดยแนวคิดที่หลักสสารธรรมยึดถือคือ “หลักว่าสสารวัตถุเป็นเหตุของสรรพสิ่ง” ซึ่งเป็นจุดยืนที่ต้องใช้ในการมองโลกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงข้ามกับปรัชญาแบบจิตนิยมหรือ “จิตธรรม” (Idealism) ตามคำที่ปรีดีใช้[2] อย่างไรก็ตาม ปรัชญาแบบสสารธรรมนั้นไม่ได้ปฏิเสธอำนาจแห่งจิตเสียทีเดียว โดยมองว่ามนุษย์นั้นแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ตรงที่มนุษย์นั้นมีจิตสำนึก และปรัชญาสสารธรรมมองว่าสภาวะแห่งความเป็นอยู่ก่อให้เกิดจิตสำนึกขึ้นมา

ส่วนคำว่า “สังคมนิยม” นั้น ปรีดีเคยอธิบายว่า แนวคิดแบบสังคมนิยมมีมากมายหลายชนิด มีเป็นร้อยชนิด หนึ่งในแนวคิดแบบสังคมนิยมที่หลายคนรู้จักก็คือ “มาร์กซิสม์” ซึ่งในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ได้มีผู้ถามปรีดีเป็นมาร์กซิสม์หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่ ๆ ข้าพเจ้าบอกแล้วว่าปรัชญาของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าถ้ามาร์กซ์พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่  สังคมนิยมก็มีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซิสม์ก็มีชนิดต่าง ๆ ...ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักการ”[3]  อย่างไรก็ตาม
ปรีดีไม่เคยอธิบายว่า เห็นด้วยหรือคล้อยตามไปในแนวคิดสังคมนิยมแบบใด เพียงแต่หากพิจารณาความคิดของปรีดีในหลาย ๆ มิติแล้ว อาจสรุปได้ว่า ปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดสังคมนิยมแบบภราดรภาพนิยม (Solidarism) ที่มีหลักการมองว่ามนุษย์ทุกคนนั้นเกิดมามีหนี้ร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้จะได้อธิบายต่อไปในหัวข้อถัดไป

และคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้น ปรีดีอธิบายว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึง หมู่คน คือปวงชน กับคำว่า “อธิปไตย” หมายถึง ความเป็นใหญ่  ดังนั้น คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน” ประกอบกับปรีดีได้อ้างพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและพจนานุกรมสำหรับนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” อันแปลว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยนี้ ปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงผ่านคำอธิบายผ่านการอธิบายองค์ประกอบของสังคม โดยเห็นว่า สังคมมนุษย์ทุกสังคมประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ  ประการแรก คือ เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐาน (โครงสร้างเบื้องล่าง) ของสังคม  ประการที่สอง คือ การเมือง ซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม โดยทั้งสององค์ประกอบนี้สามารถสะท้อนและมีผลกระทบแก่กันและกัน  และประกาศที่สาม คือ ทรรศนะทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดจิตใจอย่างหนึ่งของคนในสังคม และเป็นส่วนสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรม”

หากนำหลักปรัชญาแบบสสารธรรมตามที่ปรีดี พนมยงค์ ยึดถือมาอธิบายสังคมบนความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ การเมือง และทรรศนะทางสังคมแล้ว จะสามารถแบ่งโครงสร้างทางสังคมออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสสารและส่วนที่เป็นจิตใจ  

โดยในส่วนที่เป็นสสารนี้ปรีดีอธิบายในเชิงว่า สังคมดำรงอยู่เพื่อตอบสนองมนุษย์ และโดยพื้นฐานแล้วก็เพื่อที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ก็จำเป็นจะต้องผลิตบางสิ่งบางอย่างเพื่อดำรงชีพ และสิ่งที่มนุษย์ผลิตนี้เรียกว่า “ชีวปัจจัย” ซึ่งเป็นสสารทางสังคมเกี่ยวข้องกับการผลิต เครื่องมือการผลิต บุคคลการผลิต[4] เป็นเรื่องเศรษฐกิจอันเป็นส่วนรากฐานของสังคม ในขณะที่การเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนจากเศรษฐกิจนั้นมีผลสะท้อนไปยังเศรษฐกิจโดยอำนวยให้เศรษฐกิจดำเนินการผลิตของสังคมได้ เพราะหากโครงสร้างทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยแล้ว การเข้าถึงชีวปัจจัยก็จะทำได้โดยลำบาก

ตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ก็คือ การอภิวัฒน์สยามในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งปรีดีเห็นว่าเป็นการกระทำไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยปรีดีได้กล่าวว่า “...ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถทำสาระสำคัญ คือ ความฝืดเคืองของราษฎร...รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลฯ ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ไม่ใช่ Coup d’ Etat แต่เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางการปกครองซึ่งเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์เท่านั้น…”[5] แสดงให้เห็นเจตนาของการอภิวัฒน์สยามนั้นไม่ได้มีความประสงค์แค่จะให้มีรัฐธรรนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเท่านั้น แต่ต้องการให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย[6]

สำหรับในส่วนของทรรศนะทางสังคมเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ ซึ่งทรรศนะทางสังคมนั้นอาจจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ แต่หากปราศจากทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็คงไม่เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์
การที่มนุษย์ในสังคมใดจะมีทรรศนะทางสังคมเช่นไรก็เกิดขึ้นจากรากฐานแห่งสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยนั่นเอง และเมื่อทรรศนะทางสังคมเกิดขึ้นแล้วก็จะมีผลสะท้อนไปยังสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยคือเป็นหลักการนำที่มีอิทธิพลยิ่งขึ้นในการเคลื่อนไหวของสังคม[7]

สำหรับทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่ปรีดี พนมยงค์ ปรารถนานั้นประกอบไปด้วย “จิตสำนึกในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชาติที่จะต้องมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และมีสิทธิเสรีภาพคือ สิทธิประชาธิปไตย”[8] และด้วยความที่ปรีดีเป็นผู้มีความเชื่อถือในลัทธิภราดรภาพนิยมจึงเห็นว่า “สังคมที่มีทรรศนะในทางช่วยเหลือร่วมมือกันฉันท์พี่น้องโดยมิได้มีความคิดที่กดขี่ หรือเบียดเบียนระหว่างกัน”[9] ทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นสังคมที่มนุษย์มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์และมีความเสมอภาคกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม และมีสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย และมนุษย์ในสังคมนั้นจะต้องร่วมมือกันฉันท์พี่น้องโดยปราศจากการกดขี่และเบียดเบียนกัน

ลัทธิภราดรภาพนิยม

ภราดรภาพนิยมเป็นอีกหนึ่งฐานคิดของปรีดี พนมยงค์ โดยในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์ ได้ไปศึกษาต่ออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้ได้รับอิทธิพลทางความคิดทางเศรษฐกิจของ ชาร์ลส์ จี๊ด (Charles Gide) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้อธิบายว่าภราดรภาพนิยม (Solidarism) เป็นแนวคิดที่มอง “มนุษยชาติต้องพึ่งพาอาศัยกันตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้น จึงจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในความลำบากของผู้อื่นด้วย ซึ่งการนี้เป็นมูลฐานแห่งความยุติธรรมของสังคม”[10]

อิทธิพลของลัทธิภราดรภาพนิยมนี้มีผลต่อความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีพอสมควร ดังปรากฏในรายงานการประชุมตอนหนึ่งที่ปรีดีกล่าวว่า “...เหตุที่ใช้หลักโซเซียลิสม์ไม่ใช่คอมมิวนิสม์ คือถือว่ามนุษยที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กัน เช่น คนจนนั้นเพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้ คนเคยทอผ้าด้วยฝีมือครั้นมีเครื่องจักรแข่งขันคนที่ทอด้วยมือต้องล้มเลิก หรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย เช่น ผู้ที่มีที่ดินมากคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีราคาน้อย ภายหลังที่ดินมีราคาแพง สร้างตึกสูง ๆ ดังนี้ ราคาที่ดินแพงขึ้นเนื่องจากฝูงชนไม่ใช่เพราะการกระทำของคนนั้น ฉะนั้นจึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ”[11]

ส่วนหนึ่งเหตุที่ปรีดีสนใจและรับเอาภราดรภาพนิยมมาเป็นหลักคิดนั้น ปัจจัยหนึ่งอาจจะด้วยสอดคล้องกับพื้นฐานที่เป็นคนเติบโตมาในครอบครัวชาวพุทธ แต่อีกเหตุปัจจัยหนึ่งอาจจะเพราะปรีดีได้สังเกตความเปลี่ยนแปลงไปในบริบทของสังคมขนาดนั้น ด้วยความที่เป็นคนต่างจังหวัดและทราบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัดดี และตระหนักถึงความยากลำบากของชาวนาซึ่งเป็นอาชีพหลักส่วนใหญ่ของคนไทยในขณะนั้น ซึ่งมีความยากลำบากและไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตคือไม่มีที่ดินสำหรับการทำนา จึงต้องเสียค่าเช่าที่นา ถูกเก็บภาษีโคกระบือ เก็บเงินค่ารัชชูปการที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ปรีดีตระหนักถึงในเรื่องนี้และเห็นว่าเป็นจริงดังที่ชาร์ลส์ จี๊ด ได้อธิบายไว้

ในสายธารความคิดทางเศรษฐกิจปรีดี พนมยงค์ อยู่ตรงไหน

“ข้าพเจ้าหยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยามแล้ว จึงได้ปรับยกขึ้นมาเป็นเค้าโครงการ”

-- ปรีดี พนมยงค์, คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจ

เมื่อได้ทำความเข้าใจฐานคิดทั้ง 2 ประการของปรีดีแล้ว ประเด็นต่อมามีว่า ปรีดี พนมยงค์ อยู่ตรงไหนในสายธารความคิดทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาในคำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจในหมวดและบทต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า ปรีดีไม่ได้ยึดถือเอาลัทธิใดลัทธิหนึ่งมาเป็นหลักในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจ แต่อาศัยวิธีการผสมผสานทั้งเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือ “โซเซียลิสม์” (Socialism) ตามที่ปรีดีเรียก และเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)  

แม้จะมีผู้กล่าวหาว่าปรีดีมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสม์ แต่หากพิจารณาเนื้อหาของเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้วจะเห็นได้ว่า แม้เค้าโครงการเศรษฐกิจจะมีกลิ่นอายความคิดทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ตามแนวทางของคาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดิช เอ็งเงิลส์ ซึ่งปรีดีได้ตอบกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจในตอนหนึ่งว่า “...โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมิวนิสม์ เรามีทั้งแคปิตัลลิสม์ และโซเซียลิสม์รวมกัน ถ้าหากพวกคอมมิวนิสม์มาอ่านจะติเตียนมาก ว่ายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่…”[12]

ประกอบกับเมื่อพิจารณาโดยตลอดเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นได้ว่า หลักการของเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแตกต่างจากความคิดทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสม์พอสมควร เช่น รัฐบาลไม่ต้องริบทรัพย์สินของผู้มั่งมี  รัฐบาลจะไม่ริบที่ดินของเอกชน แต่ใช้วิธีการซื้อขายที่ดินด้วยความสมัครใจ  รัฐบาลจะคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ (ในเค้าโครงการเศรษฐกิจใช้คำว่า“กรรมสิทธิ์”) เป็นต้น ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับหลักการของภราดรภาพนิยมที่แม้จะเป็นส่วนหนึ่งในสายธารความคิดทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม แต่ก็มีความแตกต่างกัน เนื่องจากภราดรภาพนิยมยังมีการเคารพในกรรมสิทธิ์ของบุคคลและยอมรับให้มีมรดกตกทอดได้ ตลอดจนให้ความอิสระเสรีต่อบุคคลในการใช้จ่าย[13]

ส่วนสาเหตุหลักที่ปรีดีนำแนวคิดแบบสังคมนิยมมาใช้ ก็อาจจะเพราะต้องการที่จะสร้างทรรศนะทางสังคมที่ประชาธิปไตย เพราะโดยหลักการแล้วลัทธิภราดรภาพนิยมยังยอมรับความไม่เสมอภาคในสังคม แต่จะดำเนินการโดยให้สังคมร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างคนอ่อนแอและแข็งแรง ให้ร่วมกันรับผิดชอบการดำเนินชีวิตผ่านกลไกของหลักประกันทางสังคม

ดังนั้น หากจะกล่าวว่าในสายธารความคิดทางเศรษฐกิจอาจกล่าวได้ว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้มีความคิดทางเศรษฐกิจไปในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง การผสมผสานระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยมก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อฐานคิดทั้งสองที่มีอิทธิพลต่อความคิดที่หมายมุ่งจะสร้างให้สังคมเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมือง และมีทรรศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

 

 

[1]     เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, “ความคิดสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์.” ใน ปรีดีปริทัศน์ ปาฐกถนาชุดปรีดี พนมยงค์ อนุสรณ์ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2526), น. 127.

[2]     เกียรติ ผิวนวล, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 128-134.

[3]      เพิ่งอ้าง, น. 128-134.

[4]     เพิ่งอ้าง, น. 128-134.

[5]     ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2552), น. 150.

[6]     สถานการณ์ในขณะนั้นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น สยามหรือไทยในปัจจุบันประสบวิกฤตการคลังที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อนประกอบกับเศรษฐกิจโลกตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2472 – 2475 รัฐบาลดำเนินนโยบายทางการคลังแบบขาดดุล มีการปลดข้าราชการชั้นกลางและล่างออกหลากครั้ง (บรรดาชนชั้นสูงและเจ้านายที่รับราชการไม่ได้รับผลกระทบ) และมีการเก็บภาษีรายได้จากชนชั้นกลางและราษฎรเพิ่ม.

[7]     ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นอนิจจังของสังคม, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, 2552), น. 64-65.

[8]     ปรีดี พนมยงค์, เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร (กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์, 2517), น. 42.

[9]     ปรีดี พนมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 7, น. 64.

[10]    อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ, “มอง “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ในปัจจุบัน,” สถาบันปรีดี พนมยงค์ (2560), สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560, จาก pridi.or.th/th/content/2020/05/244.

[11]    ปรีดี พยมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5, น. 149-150.

[12]    ปรีดี พยมยงค์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5, น. 146.

[13]     อิสริยา นิติทัณฑ์ประภาศ บุญญะศิริ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 10.