ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี

29
สิงหาคม
2564

ความตายของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายจำลอง ดาวเรือง  นายถวิล อุดล  และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 บริเวณกิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธินนั้น นับเป็นคดีสำคัญที่สร้างความด่างพร้อยให้กับวงการตำรวจของไทย ผู้มิได้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในยุคที่มีอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ และเป็นอาชญากรรมโดยรัฐครั้งสำคัญที่สร้างผลกระทบทางการเมืองอย่างมหาศาล

และหัวหน้าชุดสังหาร ที่รับตัว ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปฆ่านั้น คือ ‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

 

ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง ภาพจาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/51341/-timhis-tim-
ทองเปลว ชลภูมิ, ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง
ภาพจาก https://www.trueplookpanya.com/blog/content/51341/-timhis-tim-

 

ประวัติ

‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ (หลง อัศวรักษ์) เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2443 เป็นบุตรของหลวงธุระการกำจัด (เทียม อัศวรักษ์) กับนางจ๋าย ที่ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร

ในด้านการศึกษา สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เขาเป็นนักเรียนในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปศึกษาวิชาตำรวจ ณ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร (เขาน่าจะสำนึกในพระมหากรุณานั้นอยู่พอสมควร ดังที่ภายหลังได้ร่วมจัดงานวชิราวุธานุสสรณ์ เพื่อนำเงินรายได้ไปบูรณะพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี)

ภายหลังจากสำเร็จการศึกษา ได้สมรสกับนางสาวพูลลาภ จุลกะ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2470 มีบุตร-ธิดารวม 4 คน คือ สุดาดวง เทียมแสง พิชิต และเทียมศักดิ์

หลังจากล้มป่วยด้วยโรคเบาหวาน พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2499 รวมอายุได้ 55 ปี 11 เดือน 20 วัน

 

พล.ต.ท. หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) 22 เมษายน 2443 – 12 เมษายน 2499 (ภาพจาก บทละครพูดสลับลำ เรื่อง วิวาหพระสมุท, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพฯ)
พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์)
22 เมษายน 2443 – 12 เมษายน 2499 (ภาพจาก บทละครพูดสลับลำ
เรื่อง วิวาหพระสมุท, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพฯ)

 

อาชีพตำรวจ

นับตั้งแต่ปี 2469 ซึ่งเริ่มเข้ารับราชการ พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ ในชั้นแรกเป็นสารวัตรตำรวจนครบาลบางรัก และเป็นครูสอนวิชาตำรวจที่โรงเรียนพลตำรวจ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชิตธุระการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2474

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้เป็นผู้กำกับการกองที่ 4 (ทะเบียนตำรวจ) ตำรวจสันติบาล ในปี 2476  ต่อมาในปี 2478 ได้เป็นผู้กำกับการโรงเรียนตำรวจ ผู้กำกับการตำรวจนครบาลสายใต้ที่ 1 และที่ 2 (ในปี 2480)

ในปี 2481 ได้เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 9 (นครศรีธรรมราช-สงขลา)  แล้วจึงย้ายไปเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 1 (ลำปาง) ในปี 2484

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ได้รับตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจสนามสหรัฐไทยใหญ่ และเป็นผู้บังคับการในปี 2485

จากนั้น ย้ายมาเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 5 (พ.ศ. 2486) และเขตต์ 6 (พ.ศ. 2487) แล้วจึงเป็นรองจเรตำรวจในปี 2488 และผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 9 และเขตต์ 7 ในปีถัดมา ต่อมาจึงได้เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขตต์ 4 ในปี  2490

หลังรัฐประหาร 2490 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายปราบปราม ครั้นถึงปี 2492 ได้เป็นพลตำรวจตรี ครองตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2492 และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในวันที่ 2 มีนาคม 2492

22 ธันวาคม 2492 ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอย่างรวดเร็ว โดยไม่ปรากฏในประวัติว่าได้ใช้ตั๋วอะไรหรือไม่ เขาดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมา จนวันที่ 22 ธันวาคม 2494 ได้เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง

1 มกราคม 2495 ยังคงเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ย้ายมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร และเหลือตำแหน่งรองปลัดฯ ตำแหน่งเดียว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2496

จนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2498 กระทรวงมหาดไทยให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการกรมตำรวจ

ความชอบในราชการ

ในหนังสืองานศพของ พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ปรากฏ “ความชอบในราชการ” ที่ผู้ตายพอใจ 3 กรณี ได้แก่

  • การปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 (ได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ)  
  • การจับกุมนายเอี่ยวเต็ก กับพวกรวม 10 คน ผู้ต้องหาว่าสมคบกันลักลอบฆ่าสุกรโดยมิได้รับอนุญาต พ.ศ. 2479  
  • จับกุมนายพุ่ม สายลับทอง ผู้ยิงหลวงพิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ. 2477

แน่แปลกที่ แม้จะรับราชการในตำแหน่งใหญ่โตในกรมตำรวจต่อมาอีกนับสิบปี แต่ประวัติในหนังสืองานศพของเขา กลับไม่ปรากฏ “ความชอบในราชการ” อื่นใดอีก

 

หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2492 (ภาพจาก 2500 สฤษดิ์-เผ่า: เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด)
หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม 2492
(ภาพจาก 2500 สฤษดิ์-เผ่า: เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด)

 

ความไม่ชอบในราชการ

หลังความล้มเหลวของ ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ทำให้นักการเมืองสายนายปรีดี พนมยงค์ และลูกศิษย์ลูกหาของเขาถูกกวาดล้างเป็นจำนวนมาก บ้างถูกจับกุม บ้างถูกสังหารผลาญชีวิต

‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายจำลอง ดาวเรือง  นายถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ  ก็เป็นพวกหนึ่งที่ถูกทยอยจับกุมไว้ เพราะเห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในเวลานั้น

ครั้นถึงคืนวันที่ 3 ต่อเนื่องวันที่ 4 มีนาคม 2492 พล.ต.ต.หลวงพิชิตธุระการ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ผู้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนพิเศษเกี่ยวกับคดีกบฏ ได้ให้เบิกตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จากที่คุมขังทั้ง 4 แห่ง พาออกจากกลางพระนครอ้างว่าจะพาไปโรงพักบางเขนที่ถนนพหลโยธินใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

(ภาพจาก เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี)
(ภาพจาก เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี)

 

จากนั้น เมื่อไปถึงบริเวณถนนพหลโยธิน กม. 14-15 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า “หลวงพิชิตธุระการได้บอกให้ผู้ตายทั้ง 4 คนลงจากรถ โดยพูดว่า รถคันหน้าถูกยิง แต่ไม่มีใครยอมลง และได้มีคนหนึ่งในพวกผู้ตายได้พูดขอชีวิต แต่หลวงพิชิตธุระการกลับพูดขยั้นขยอจะให้ลงจากรถให้ได้  ทั้งได้พูดรับรองว่า ลงจากรถจะเป็นการปลอดภัย ถ้าหากอยู่ในรถจะไม่ปลอดภัย แต่ผู้ตายก็คงไม่มีใครยอมลงจากรถ

“ขณะนั้นจำเลยที่ 1 (พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิต) ได้พูดถึงว่า ‘อ้ายพวกนี้ กบฏแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม’ แล้วจำเลยที่ 2 (พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล) ก็พูดว่า ‘อ้ายพวกนี้เป็นกบฏ เอาไว้ทำไม’ ต่อจากนั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้เรียกร้องชื่อจำเลยที่ 5 (สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์)  จำเลยที่ 5 ได้วิ่งเข้ามาทางข้างหลังหลวงพิชิตธุระการ  หลวงพิชิตธุระการเดินหลบออกไป ทั้งได้ตะโกนบอกให้นายร้อยตำรวจเอก พุฒ (บูรณสมภพ) หลบออกไปด้วย  แล้วจำเลยที่ 5 ได้ประทับปืนยิงผู้ตาย 1 ชุด และข้างจำเลยที่ 5 นั้น ยังมีจำเลยที่ 3 (ร้อยตำรวจโท จำรัส ยิ้มละมัย) และที่ 4 (ร้อยตำรวจโท ธนู พุกใจดี) ยืนอยู่ในท่าเตรียมยิงเหมือนกัน ต่อจากนั้น ยังมีการยิงผู้ตายอีก 2-3 ชุด”

ดูเพิ่มเติมได้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2504 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีภายหลังหมดยุคของอธิบดีกรมตำรวจอย่าง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ สำหรับหลวงพิชิตธุระการ ไม่ตกเป็นจำเลย เพราะเสียชีวิตไปก่อน ส่วนพุฒ บูรณสมภพ หลบหนีไปต่างประเทศ

 

‘พาหนะสื่อมฤตยู’ จิ๊ปสเตชั่นเวกอนของตำรวจสันติบาล หมายเลข ก.ท. 10371 ที่นำ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปพบจุดจบที่ทุ่งบางเขน (ภาพนี้และอีก 3 ภาพที่เหลือ จาก เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี)
‘พาหนะสื่อมฤตยู’ จิ๊ปสเตชั่นเวกอนของตำรวจสันติบาล หมายเลข ก.ท. 10371
ที่นำ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ไปพบจุดจบที่ทุ่งบางเขน
(ภาพนี้และอีก 3 ภาพที่เหลือ จาก เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี)

 

เกียรติตำรวจของไทย  

ศาลฎีกาสรุปข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ไว้ว่า “ผู้ตายทั้ง 4 คน เป็นนักการเมืองทางฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในขณะนั้น ทั้งเป็นบุคคลสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว  ได้มีการกบฏขึ้นในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในระยะติดๆ กัน ถึง 2 ครั้ง ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าเพราะพรรคพวกฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ก่อขึ้น และมีรายงานว่าผู้ตายได้ร่วมในการกบฏ จึงมีเหตุเพ่งเล็งถึงผู้ตายว่าได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วย แล้วผู้ตายก็ถูกจับกุมในระยะเวลาใกล้ชิดนั้น และถูกแยกย้ายควบคุมไว้ในสถานที่ต่างๆ กัน ซึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง ไม่มีเหตุที่จะต้องย้ายไปทำการควบคุมที่อื่นรวมกันไว้ทั้ง 4 คน”

และข้ออ้างของฝ่ายตำรวจที่ว่ามีโจรมลายูมาชิงตัวนั้น ศาลก็ไม่เห็นด้วย ดังเหตุผลที่ว่า “ถ้ามีผู้ร้ายมาดักแย่งชิง ย่อมจะมีการต่อสู้ขัดขวางบ้าง ตรงที่เกิดเหตุสองข้างถนนมีต้นไม้ปลูกไว้ห่างๆ พ้นออกไปเป็นที่โล่งไม่มีที่กำบังหรือสิ่งพรางสายตาที่คนร้ายจะเข้ามาซุ่มยิงได้ ปรากฏว่าผู้ที่ถูกกระสุนปืน คงมีแต่ผู้ตายรวม 4 คนเท่านั้น ผู้อื่นที่ไปด้วยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บด้วยกระสุนปืนเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่มีรอยกระสุนปืนยิงทะลุเข้ามาทางประตูด้านขวา … และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมไปในขบวนนั้นก็ไม่มีผู้ใดได้เห็นคนร้ายเลย”

สำหรับเหตุผลในการฆาตกรรมครั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า “การกระทำของจำเลยผู้กระทำความผิดเหล่านี้ พอเห็นได้ว่าเป็นเครื่องมือของผู้อื่นที่ใช้ให้กระทำ”

น่าเสียดายที่ในเวลาที่มีการพิจารณาคดีนี้ หลวงพิชิตธุระการถึงแก่กรรมไปเสียก่อน จึงไม่อาจทราบเหตุผลจากปากของนายตำรวจหัวหน้าชุดซึ่งลงมือฆ่าได้ แต่จะมีเหตุผลใดเล่าที่ฟังขึ้น หรืออนุญาตให้ตำรวจลงมือเข่นฆ่าประชาชน เพียงเพราะเขาเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเท่านั้นเอง

‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการกระทำครั้งนี้ “น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่คณะรัฐประหารมุ่งจะดำเนินการเพื่อปราบปรามกลุ่มการเมืองกลุ่มเสรีไทยให้ขยาด ไม่ก่อการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอีกต่อไป ทั้งที่ความจริงแล้ว อดีตรัฐมนตรี 4 คน ไม่ได้เข้าร่วมก่อการกบฏครั้งนี้เลย”

บทเรียนจากประวัติศาสตร์

‘ไสว สุทธิพิทักษ์’ ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีฆาตกรรม ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ในคราวนี้ นับว่า “เป็นการนำความมัวหมองมาสู่วงการตำรวจของไทยในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง  จริงอยู่ การตายของบุคคลทั้ง 4 เกิดขึ้น เพราะความหลงผิด และมัวเมาในอำนาจของตำรวจการเมืองเพียง 3-4 คน แต่ผลสะท้อนทำให้ตำรวจอาชีพที่สำนึกในหน้าที่ทั้งหลายต้องพลอยได้รับความมัวหมองไปด้วย”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ’ ผู้ควบคุมการสังหาร ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ จะต้องเป็นผู้มีมลทินมัวหมองไปชั่วกาลปวสาน

ต่างความคิด ผิดถึงตาย เริ่มต้นตั้งแต่ “ยุคทมิฬ” ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2490 มาแล้ว ขออย่าให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกเลย

 

ภรรยาของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ในวันบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม (บังอร ภูริพัฒน์, นิ่มนวล ชลภูมิ, ทองดำ ดาวเรือง, บุญทัน อุดล)
ภรรยาของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ในวันบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
(บังอร ภูริพัฒน์, นิ่มนวล ชลภูมิ, ทองดำ ดาวเรือง, บุญทัน อุดล)

 

ภาพถ่ายในวันบำเพ็ญกุศลศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งไสว สุทธิพิทักษ์ เล่าว่า “คนไปในงานสวดศพก็น้อยเหลือเกิน … ไม่มีใครกล้าไปในงานศพ เกรงจะมีอันตรายมาถึงตัว และก็มีอันตรายจริงๆ เสียด้วย เพราะตลอดเวลา 7 วันที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ก่อนบรรจุนั้น ทุกคืนจะมีสมุนของผู้ทรงอำนาจในขณะนั้นไปคอยดูว่ามีใครไปฟังพระสวดบ้าง”
ภาพถ่ายในวันบำเพ็ญกุศลศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งไสว สุทธิพิทักษ์ เล่าว่า “คนไปในงานสวดศพก็น้อยเหลือเกิน … ไม่มีใครกล้าไปในงานศพ เกรงจะมีอันตรายมาถึงตัว และก็มีอันตรายจริงๆ เสียด้วย เพราะตลอดเวลา 7 วันที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ก่อนบรรจุนั้น ทุกคืนจะมีสมุนของผู้ทรงอำนาจในขณะนั้นไปคอยดูว่ามีใครไปฟังพระสวดบ้าง”

 

ที่บรรจุศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ก่อนฌาปนกิจ
ที่บรรจุศพของ ‘สี่อดีตรัฐมนตรี’ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ก่อนฌาปนกิจ

 

บรรณานุกรม

  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, บทละครพูดสลับลำ เรื่อง วิวาหพระสมุท, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจโท หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 26 กรกฎาคม 2499.
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สุภาษิตพระร่วง คำโคลง และการแสดงตำนานเสือป่า, คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน วชิราวุธานุสสรณ์ จัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตำรวจโท หลวงพิชิตธุระการ (หลง อัศวรักษ์) ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 26 กรกฎาคม 2499.
  • บัญชร ชวาลศิลป์. 2500 สฤษดิ์-เผ่า: เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2563.
  • สมบูรณ์ วรพงษ์. เบื้องหลังคดีเลือดยุคอัศวินผยอง: คดีสังหาร 4 รัฐมนตรี, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: สายธาร, 2550.
  • หัด ดาวเรือง. เบื้องหลังสังหารโหด 4 อดีตรัฐมนตรี (ชีวิตและงานของอดีตสี่รัฐมนตรี), พระนคร: อักษรสาส์น, 2508.

ที่มา: กษิดิศ อนันทนาธร. พล.ต.ท.หลวงพิชิตธุระการ ผู้ ‘สังหาร’ สี่อดีตรัฐมนตรี, เผยแพร่เมื่อ 3 มีนาคม 2021

หมายเหตุ: จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ