ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์กับข้าพเจ้า

7
มกราคม
2565
พูนศุข อายุ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑
พูนศุข อายุ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑

 

ข้าพเจ้าเกิดเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ ในจวนเจ้าเมืองสมุทรปราการริมปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๔ ขวบ บิดาข้าพเจ้า (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา) ได้ย้ายเข้าพระนคร มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก ครอบครัวเราพำนักที่บ้านริมฝั่งเจ้าพระยา ตรงข้ามกรมเจ้าท่า

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ ข้าพเจ้ามีอายุ ๖ ขวบ ได้เข้าเรียนชั้น Pre-paratory หรือ ชั้นเตรียมประถมที่ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เช้าๆ พี่ๆ น้องๆ นั่งเรือจ้างจากบ้านมาขึ้นที่กรมเจ้าท่า แล้วนั่งรถประทุนต่อมายังโรงเรียน

โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ ในขณะนั้นมีนักเรียนประมาณ ๒๐๐ คน เมื่อก้าวเข้าสู่ประตูโรงเรียนผ่านถนนในโรงเรียนก่อนเข้าไปยังลานที่เล่น มีตึก ๒ ชั้นอยู่หลังหนึ่ง เดินไปทางซ้าย มีตึกแนวยาวอยู่ด้านข้างอีกหลังหนึ่ง สองข้างของลานยาวเรียงรายด้วยม้านั่งสำหรับนักเรียนนั่งเล่น สุดลานเป็นถ้ำพระแม่มารี ด้านหลังถ้ำมีตึกแนวขวางอีกหลังหนึ่ง

ข้าพเจ้าเข้าเรียนชั้นเดียวกับพี่สารี พี่สาวคนที่สองของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสนุกสนานตามประสาวัยเด็กกับเพื่อนที่โรงเรียน เรากระโดดเชือก เล่นหมากเก็บ เล่นตักหอยกัน เพื่อนวัยเด็กเหล่านี้ หลายคนต่อมาเป็นมิตรแท้ของข้าพเจ้า มิตรภาพของเรายืนยาวกว่า ๘๐ ปี

ต่อมา ครอบครัวข้าพเจ้าย้ายไปพำนักที่บ้านข้างวัดสามพระยาบางขุนพรหม แล้วสุดท้ายบิดาข้าพเจ้ามาปลูกบ้านที่ถนนสีลม เมื่อ ๘๐ กว่าปีก่อนนี้ ถนนสีลมยังเปลี่ยวอยู่ มิได้มีรถราสัญจรไปมามากมาย น้ำในคลองสีลมเหลืองขุ่น แต่มิได้เน่าเสีย ชาวถนนสีลมรู้จักมักคุ้นกันดีผู้ใหญ่ไปมาหาสู่กัน เด็กๆ เป็นเพื่อนกัน เมื่อย้ายมาอยู่บ้านป้อมเพชร์ ในตอนแรก ถนนสีลมยังไม่มีรถราง หลังจากนั้น ๔-๕ ปี จึงมีรถรางแล่น ผ่านจากปลายถนนสีลมไปจนถึงศาลาแดง

คราวนี้นั่งรถประทุนจากบ้านป้อมเพชร์มายังโรงเรียนสะดวกมาก ๕ นาทีก็ถึงแล้ว ในตอนเย็น “แม่ดำ” หรือ “แม่ดัม” (ชื่อนำหน้าที่นักเรียนเรียกครูที่เป็นนักบวชหญิงในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเป็นคำที่คนไทยออกเสียงเพี้ยนจากคำว่า “Madame” ในภาษาฝรั่งเศส) ยืนส่งเด็กนักเรียนกลับบ้านที่หน้าประตูโรงเรียน

ในระหว่างที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่ ร.ร. เซนต์โยเซฟฯ มีอธิการ ๒ คน คือ มาแมร์ Xavier และ มาแมร์ Françoise

เวลานั้น โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ แบ่งเป็นแผนกภาษาอังกฤษ กับ แผนกภาษาฝรั่งเศส ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนแผนกภาษาอังกฤษ

ครูฉลวย เป็นครูคนแรกของข้าพเจ้า
แม่ดัม Claire สอนชั้น Preparatory
แม่ดัม Joseph สอนชั้น Elementary
แม่ดัม Thérèse สอนชั้น Standard I
แม่ดัม Claire สอนชั้น Standard I
แม่ดัม Gertrude (นักเรียนเรียกท่านว่า “แม่ดัมเกอทรุท”) สอนชั้น Standard III และ IV
แม่ดัม Agnes (นักเรียนเรียกท่านว่า “แม่ดัมเยส”) สอนชั้น  Standard V, VI และ VII

“แม่ดัมเยส” เป็นคนเชื้อสายเยอรมัน ใจดี รักศิษย์ นักเรียนทุกคน ก็รัก “แม่ดัม” ท่านนี้ ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ท่านถึง ๓ ปี

การเรียนการสอนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟฯ เน้นด้านภาษา อย่างข้าพเจ้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษไทย  ข้าพเจ้าเรียนแผนกภาษาอังกฤษ การเรียนการสอนทุกวิชาในห้องเรียน แม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็สอนเป็นภาษาอังกฤษ นอกห้องเรียนนักเรียนก็ต้องพูดภาษาอังกฤษกัน ส่วนภาษาไทยนั้น เรียนวันละ ๑ ชั่วโมง

นอกจากนั้นแล้ว นักเรียนยังต้องเรียนการฝีมือ คัดลายมือด้วยปากกา drawing ผลของการกวดขันในเรื่องนี้ ทำให้นักเรียนลายมือสวย

 

เมืองดาลัด พ.ศ. ๒๔๗๙ ประเทศเวียดนาม (พูนศุขยืนขวาสุด)
เมืองดาลัด พ.ศ. ๒๔๗๙
ประเทศเวียดนาม
(พูนศุขยืนขวาสุด)

 

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากหัวหน้าขบวนการเสรีไทย คัดลอกรหัสติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยลายมือบรรจง ในปัจจุบัน ด้วยวัยใกล้ ๙๐ อย่างข้าพเจ้า เวลามีคนชมว่า “ลายมือสวย” ข้าพเจ้าจะต้องนึกขอบคุณ “แม่ดัม” ทุกท่าน

ค่าเล่าเรียนในตอนนั้นคิดเป็นเดือนเดือนละ ๗ บาท ถ้าใครต้องการเรียนดนตรี อย่างเช่นเรียนเปียโน ต้องจ่ายอีกเดือนละ ๑๐ บาท

Madame De Sa (มาดามเดอซา) แม่หม้ายชาวปอร์ตุเกส เป็นครูสอนเปียโนคนแรกของข้าพเจ้า เธอมุ่นมวยและเสียบหวีสับหลายเล่มบนเรือนผม ดูแปลกตาและติดตาจนทุกวันนี้ ต่อมาข้าพเจ้าได้เรียนกับ Miss Mina Fricker และ Miss Carmen (หรือที่นักเรียนเรียกท่านว่า “มิสข่าเม้น”) ท่านผู้นี้ต่อมาคือ Soeur Renée ที่มีลูกศิษย์โด่งดังหลายคน

ภายใต้การสอนของ Soeur Renée ข้าพเจ้าเคยออกงานโรงเรียนแสดงเปียโนร่วมกับเพื่อนอีกคนหนึ่ง ๒ ครั้ง และเมื่อข้าพเจ้าแต่งงานแล้ว ได้เรียนเปียโนกับแหม่มวิจิตร (ภรรยาชาวฝรั่งเศสของหลวงวิจิตรวาทการ)

เมื่อข้าพเจ้าเรียนถึงชั้น Standard VII ได้ลาออกจากโรงเรียนมาแต่งงานกับนายปรีดี พนมยงค์

สายใยระหว่างข้าพเจ้ากับโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์มิเคยขาดตอน บุตรสาว ๓ คนของข้าพเจ้า สุดา ดุษฎี และวาณี ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ สถานภาพของข้าพเจ้าจากนักเรียนเปลี่ยนเป็นศิษย์เก่าและผู้ปกครองนักเรียน ครูบางคนเคยสอนข้าพเจ้าก็มาสอนบุตรสาวของข้าพเจ้าอีก Soeur Renée เป็นครูสอนเปียโนของสุดาและดุษฎี ได้ปลูกฝังให้ศิษย์รักดนตรี ปัจจุบันสุดาและดุษฎีเป็นครูสอนดนตรีเช่นเดียวกับ Soeur Renée และ Soeur Thérèse

เริ่มตั้งแต่สงครามอินโดจีนเรื่อยมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ บุคคลในสัญชาติฝรั่งเศสจะถูกถือเป็นชาติศัตรู บางคนถูกขับออกจากประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ สามีข้าพเจ้าซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิได้เห็นด้วยกับมติของคณะรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจนักบวชสัญชาติฝรั่งเศสหาทางยับยั้งการขับไล่ออกจากประเทศไทย สัมพันธภาพระหว่างครอบครัว โรงเรียนคอนแวนต์ ข้าพเจ้ากับ “แม่ดัม” โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์มีความเข้าใจดีตลอดมา ในยามที่ครอบครัวข้าพเจ้าโดนภัยการเมืองคุกคาม “แม่ดัม” ให้ความเอาใจใส่ลูกๆ ข้าพเจ้าเป็นอย่างดี

ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนิกชน เรียนโรงเรียนคอนแวนต์ ในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทำให้มีความเข้าใจคำสอนทั้งในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเยซูคริสต์ หลักแห่งกตัญญูรู้คุณ ซึ่งมีทั้งสองศาสนาได้หลอมข้าพเจ้า ให้รำลึกถึงพระคุณของ “แม่ดัม” ทุกท่านและพระเยซูคริสต์อยู่เสมอและทุกครั้งเมื่อมีโอกาสที่จะแสดงกตัญญูกตเวที

ข้าพเจ้าดีใจที่ได้ไปเยี่ยมคารวะอธิการมาแมร์ Françoise ถึงเมืองไซ่ง่อน อินโดจีน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อคราวไปส่งน้องสาวสองคนเรียนที่เมืองดาลัด และ ๑๐ กว่าปีมานี้ หลังจากข้าพเจ้ากลับมาพำนักถาวรในบ้านเกิด ข้าพเจ้าได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน “แม่ดัม” ๒ ท่านอยู่เสมอ ท่านแรกคือ Soeur Renée ครูเปียโนของข้าพเจ้า อีกท่านหนึ่งคือ Soeur Geneviève “แม่ดัม” ของบุตรสาวข้าพเจ้า จนกระทั่ง ทั้งสองท่านลาจากโลกไปในวัย ๙๐ กว่าปี

 

พูนศุข กับ Soeur Renée (ขวา) และ Soeur Genenéve (ซ้าย) ที่บ้านซอยสวนพลู พ.ศ. ๒๕๓๕
พูนศุข กับ Soeur Renée (ขวา)
และ Soeur Genenéve (ซ้าย)
ที่บ้านซอยสวนพลู พ.ศ. ๒๕๓๕

"โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์" สอนให้ข้าพเจ้าซื่อสัตย์ มีวินัย มีมารยาทในสังคม มีวิชาความรู้ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส ทำให้ข้าพเจ้าทำหน้าที่ภรรยาของนักการเมืองและแม่ของลูกได้อย่างมีความอดทน เชื่อมั่นและไม่ท้อแท้ แม้บางครั้งครอบครัวข้าพเจ้าจะถูกมรสุมการเมืองโถมกระหน่ำอย่างไร้ความปรานี ข้าพเจ้าเคยถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรเป็นเวลาถึง ๘๙ วัน

วันเวลาอันยาวนานได้ผ่านไป เหลือไว้แต่ความทรงจำดีๆ และสิ่งที่ข้าพเจ้าภูมิใจในชีวิต ก็คือได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขและเป็นกำลังใจให้นายปรีดี พนมยงค์ นักการเมืองที่รับใช้ประเทศชาติและราษฎรด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งองค์การ UNESCO ได้ยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกและบรรจุไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๐๑ (พ.ศ. ๒๕๔๓-๒๕๔๔)

ขอบคุณ “แม่ดัม” ทุกท่านจากใจ

 

หมายเหตุ : บทความ “ร.ร.เซนต์โยเซฟดอนแวนต์กับข้าพเจ้า” บันทึกไว้เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ ขถะเมื่อมีอายุ ๘๘ ปี

 

ที่มา : ลลิตา สุดา ศุขปรีดา วาณี (บรรณาธิการ). ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์กับข้าพเจ้า, ใน, ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น ๗๕ ปี ๔ เดือน ๙ วัน พูนศุข พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: ตถาตา พับลิเคชั่น), หน้า ๗๔-๘๑