ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ปรีดีคีตานุสรณ์

11
พฤษภาคม
2563

ซิมโฟนีหมายเลข 4 หรือ “ปรีดีคีตานุสรณ์” เป็นผลงานของ สมเถา สุจริตกุล วาทยากรและนักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทย เพื่อร่วมฉลองในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2543

ไม่บ่อยครั้งนักที่การจัดงานระลึกถึงบุคคลสำคัญ จะมีการแต่งเพลงคลาสสิกขึ้นมาใหม่ เพื่อนำออกแสดง ชื่อเสียงของ สมเถา สุจริตกุล เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในแวดวงวรรณศิลป์และสังคีตศิลป์ เพราะมีผลงานการเขียนหนังสือและแต่งเพลงมากพอสมควร ผลงานแต่งเพลงชื้นนี้ของสมเถา ก็คือ ซิมโฟนีหมายเลข 4 หรือ "ปรีดีคีตานุสรณ์" (Pridi Gitanusara) บทเพลงความยาว 4 ท่อน เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงบางกอก ซิมโฟนี ออเคสตร้า (BSO) ร่วมกับคณะนักร้องประสานเสียง "11 พฤษภา" อำนวยเพลงโดยสมเถาเอง

เมื่อโน้ตตัวสุดท้ายของบทเพลงนี้จบลง ผู้ฟังในศูนย์วัฒนธรรมฯ จำนวนหลักพัน ลุกขึ้นยืนปรบมือแสดงความชื่นชมยินดีกับบทเพลงนี้พร้อมกันอย่างกึกก้อง ยากที่จะได้พบเห็นจากการแสดงดนตรีทั่วไป นับเป็นความสำเร็จของผู้ประพันธ์เพลงและผู้จัดงาน เพราะบทเพลงได้มีส่วนกระตุ้นให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ที่ศรัทธาในตัวปรีดีอยู่แล้ว เกิดความปีติตื้นตันขึ้นมาทันที

โดยเฉพาะในการขับร้องเดี่ยว ในท่อนที่ 3 ของซิมโฟนีบทนี้ โดย ดุษฎี พนมยงค์ บุตรสาวของปรีดี 

ซึ่งเป็นช่วงที่ปรีดีและครอบครัวลี้ภัยการเมืองไปอยู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้แต่งเพลงแสดงความสามารถในการสร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึก หรือสัมผัสถึงกลิ่นอายความเป็นจีนได้อย่างยอดเยี่ยม บวกกับเสียงร้องที่มีการเอื้อนเสียงแบบเพลงจีนที่งดงามของดุษฎี สามารถสะกดคนฟังทั้งหมดให้นั่งนิ่ง ตั้งใจฟังอย่างใจจดใจจ่อ

ยิ่งได้ฟังเบื้องหลังและเนื้อหาเพลงในท่อนนี้ที่แปลได้ว่า "คุณพ่อ อย่าร้องไห้" ขับร้องโดยบุตรสาวของปรีดีเอง อารมณ์ความรู้สึกที่แสดงผ่านเสียงร้องสามารถเกาะกินใจ และตรึงผู้ฟังได้อย่างอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงขอยกบทความของเจตนา นาควัชระ ที่ได้วิพากษ์และบรรยายถึง “ปรีดีคีตานุสรณ์” ในวันนั้น มาให้เราได้อ่านกันอีกครั้ง

ว่าด้วยคอนเสิร์ต... เพื่อรำลึกถึง ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์

โดย เจตนา นาควัชระ

เมื่อการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 4 ของ สมเถา สุจริตกุล ซึ่งมีชื่อว่า "ปรีดีคีตานุสรณ์" จบลง ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ผู้ฟังจำนวนมากลุกขึ้นปรบมือกันอย่างกึกก้อง นานๆ ครั้งจะได้เห็นผู้ฟังผู้ชมชาวไทยแสดงความกระตือรือร้นต่อการแสดงดนตรีคลาสสิกในลักษณะเช่นนี้

ผมเองจำต้องถามตัวเองว่า เรากำลังแสดงความปีติต่อสิ่งใดกันแน่ ต่อคีตนิพนธ์อันยิ่งใหญ่ ต่อการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ต่อวโรกาสอันยิ่งใหญ่ หรือต่อความยิ่งใหญ่ของรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ผมต้องยอมรับว่าผมสับสน หลังจากที่กลับมาถึงบ้านและได้ตั้งสติเสียใหม่โดยปลดปล่อยตนเองออกจากอารมณ์ความตื่นเต้น ผมจึงเกิดความกระจ่างชัดขึ้นมาว่า ผมดื่มด่ำและซาบซึ้งกับปรากฏการณ์ในคืนวันที่ 9 พฤษภาคม นั้น ด้วยเหตุที่ว่ายังมีคนเรือนพันที่มาชุมนุมกันเพื่อสดุดีคนไทยคนหนึ่งที่มีบุญคุณต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งบุคคลดังกล่าวกำลังถูกผลักไสให้ตกเวทีประวัติศาสตร์ไทยไป หรือไม่ก็ถูกคนกลุ่มหนึ่งเอาอาจมป้ายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับทศวรรษ

ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา (ระหว่างเขียนต้นฉบับชิ้นนี้-กองบก.) ฝ่ายที่ไม่เคยลืมและไม่ยอมลืม ฯพณฯ ปรีดี พร้อมใจกันจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อันเรียกได้ว่าเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณ และบางคนก็อดไม่ได้ที่จะใช้โอกาสดังกล่าวตำหนินักการเมืองผู้ลื่นไหลทั้งหลายว่าไม่จริงใจต่อการนี้ เมื่อนึกถึงผู้ที่แสดงความปีติยินดีต่อการแสดงดนตรีดังกล่าวแล้ว ผมก็คิดว่า เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะขอบคุณทั้งศิลปินผู้แต่งเพลง ศิลปินผู้บรรเลง และศิลปินผู้ขับร้อง ที่แห่แหนกันมาเต็มเวที ว่าพวกเขาคือตัวแทนของประชาชนที่ไม่มีใครได้เลือกตั้งมา แต่เขาเหล่านั้นตระหนักดีว่าในบ้านเมืองไทยขณะนี้ การสนองคุณผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมืองได้กลายเป็นหน้าที่หลักของงานศิลปะไปแล้ว ในเมื่อส่วนอื่นๆ ของสังคมเกิดอาการตายด้านไปเกือบจะเสียทั้งหมด

ในแง่นี้ ซิมโฟนี หมายเลข 4 ของสมเถา สุจริตกุล ตั้งโจทย์ที่ท้าทายไว้ให้แก่ตนเอง การจัดวางโครงสร้างออกเป็น 4 กระบวน ตามรูปแบบของซิมโฟนีตะวันตกนั้น เป็นมโนทัศน์ที่ผู้แต่งอธิบายไว้ด้วยตรรกะที่น่าเลื่อมใส คือ เริ่มต้นด้วยวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของรัฐบุรุษ แล้วจึงค่อยย้อนกลับไปหาเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อด้วยความจำเป็นที่ผลักไสให้ท่านต้องลี้ภัยไปตลอดชีวิต และจบลงด้วยการอ้างพระธรรมบทเพื่อตอกย้ำความยิ่งใหญ่ของผู้ที่ได้กระทำกรรมดี เพียงได้อ่านสูจิบัตรที่บรรยายเนื้อหาของโปรแกรมมิวสิค (programme music) ชุดนี้ ผู้อ่านก็เกิดความอิ่มเอิบใจขึ้นมาแล้ว และก็อดไม่ได้ที่จะตั้งความหวังอันสูงส่งเอาไว้ และนึกเอาใจช่วยคีตกวีผู้เปี่ยมด้วยความภักดีว่า เขาจะตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ให้แก่ตนเองได้อย่างไร และก็ยังนึกอยู่ในใจว่า ขออย่าให้กลายเป็น "ดนตรีประกอบสูจิบัตร" ไปอีก ดังเช่นคีตนิพนธ์อีกหลายบทของคีตกวีอีกหลายคนที่เขียนขึ้นเพื่อฉลองงานมหกรรมทั้งหลาย

ปัญหาที่คีตกวีมิอาจเลี่ยงได้ก็คือ การสื่อความด้วยดนตรีมิอาจกระทำได้ด้วยความชัดเจน ในทำนองเดียวกับการสื่อความด้วยภาษา การเล่าเรื่องด้วยคีตศิลป์จึงต้องใช้กลวิธีอันแยบยล รัดรึงอารมณ์คนเป็นบางช่วง และผ่อนคลายเป็นบางตอน การสร้างความตื่นเต้นประทับใจเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก ถ้าขาดแรงดลใจหรือขาดความจริงใจ ผู้ฟังก็มักจะจับได้ว่าเป็นการเสแสร้งแกล้งว่า เพื่อที่จะสร้างความเร้าใจแต่เพียงผิวเผินเท่านั้น ในกรณีที่มีบทร้อง ไม่ว่าจะร้องเดี่ยวหรือหมู่เข้ามาช่วยหนุน ก็จำต้องหาทางสายกลางให้ได้ว่า ดนตรีมิได้ตามหรือลากคำร้องมากเกินไป

ผมคิดว่าสมเถา สุจริตกุล ได้ไตร่ตรองประเด็นเหล่านี้มาแล้ว สิ่งที่ทำให้เราผิดหวังก็เห็นจะเป็นการที่สูจิบัตรกับดนตรีไม่เดินไปในทางเดียวกัน โดยส่วนตัวแล้ว กระบวนที่ 1 ทำให้ผมผิดหวังมากที่สุด เพราะตั้งชื่อไว้อย่างเข้มข้นว่า "ชัยชนะแห่งโศกนาฏกรรม" (และก็สะกดคำที่สำคัญผิดเสียด้วยว่า "โศรกนาฏ กรรม") ยิ่งชื่อภาษาอังกฤษว่า "Tragedy and Triumph" ก็ยิ่งทำให้ผมในฐานะครูวรรณคดีเกิดความคาดหวังอย่างสูงว่า จะได้สัมผัสกับคีตนิพนธ์ที่เทียบได้กับวรรณคดีเอกของกรีก ของเชกสเปียร์ หรือของคลาสสิกฝรั่งเศส แต่สิ่งที่ผมได้ยินได้ฟังค่อนข้างจะตุ๊ต๊ะและเทอะทะ ไม่สง่างามเท่าที่ควร มันเป็นเสียงของดนตรีประกอบวรรณกรรมหรือดนตรีประกอบการแสดงที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "incidental music"

จริงอยู่ ผู้แต่งแสดงภูมิรู้ทางดนตรีไว้เป็นอย่างดีด้วยการให้แนวทำนองหลายแนวสอดประสานกัน แต่ดนตรีดูจะขาด "ชีพจร" ที่ผลักดันให้กระแสเสียงเดินรุดหน้าไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผมอดบอกกับตัวเองไม่ได้ว่า ถ้ากล้ากว่านี้อีกสักหน่อย ถ้าไม่กลัวว่าจะพลัดหลงไปจากรสนิยมอันดีงามบ้าง เราก็อาจจะได้ฟังดนตรีที่หนักแน่นกว่านี้ กล่าวด้วยภาษาชาวบ้านคือ ติ๋มเกินกว่าที่จะเป็นโศกนาฏกรรมและชัยชนะ ได้

กระบวนที่ 2 "เพลิงมรสุม" (Tempest) ก็เช่นกัน ตั้งใจเอาไว้ว่าจะพรรณนาถึง "ความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวของสงครามโลกครั้งที่ 2" ดังที่ระบุไว้ในสูจิบัตร แต่ภาพของกองทัพญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นผู้รุกรานนั้นไม่เห็นจะน่าเกรงขามสักเท่าใด ก็อีกนั่นแหละ การประสมวงที่ใช้เครื่องเป่าและเครื่องเคาะจังหวะเป็นตัวนำทำได้อย่างน่าสนใจมาก แต่กลายเป็นโปรแกรมมิวสิคที่ดูจะไม่เดินตามโปรแกรมเท่าใดนัก บังเอิญคนรุ่นผมเกิดทันที่จะได้เห็นภาพของกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งย่อมแตกต่างจากมโนภาพที่เกิดขึ้นเมื่อผมได้ยินเสียงดนตรีท่อนนี้ เพราะภาพที่ผมได้รับดูจะเป็นภาพของหญิงชาวญี่ปุ่นที่แน่งน้อย จิ้มลิ้ม เดินก้าวถี่สั้นๆ ถือพัดอยู่ในมือ อย่างเก่งที่สุด หรืออย่างแกร่งที่สุด ก็เห็นจะเป็นตัวละครหญิงในละครคาบูกิของญี่ปุ่นซึ่งใช้ผู้ชายเล่น

ถ้าญี่ปุ่นเดินทัพแบบนี้ก็คงถูกยุวชนทหารไทยยิงตกทะเลไปเสียก่อนที่จะได้ขึ้นบกแล้ว ดนตรีท่อนนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ฟังที่ได้ฟังเพียงครั้งเดียว เพราะอดรู้สึกไม่ได้ว่าลีลาแบบญี่ปุ่นในที่นี้มีลักษณะเป็นการล้อเลียน (caricature) เสียมากกว่า พูดไปทำไมมี ไหนๆ ญี่ปุ่นก็ช่วยต่อสู้ในองค์การ UNESCO ให้ฯพณฯ ปรีดี ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว (ดีกว่าคนไทยบางกลุ่มที่ต้องการจะขัดขวางการให้เกียรติสามัญชนไทย) ดนตรีก็น่าจะแสดงออกซึ่งอภัยทานบ้าง

กระบวนที่ 3 ซึ่งให้ชื่อว่า "พลัดถิ่น" (Exile) อาจจะเป็นกระบวนที่จับใจที่สุดของซิมโฟนีบทนี้ เพราะมีบทร้องในรูปของ Lullaby ที่อ่อนหวาน เศร้าสร้อย แต่มิถึงขั้นที่จะบีบเค้นให้เราต้องหลั่งน้ำตาตาม หากเป็นการใช้ปัจจุบันกลับไปกล่อมอดีตในรูปแบบของ "ลูกกล่อมพ่อ" และในวันแสดงจริง ลูก คือ อ.ดุษฎี พนมยงค์ ขับกล่อมพ่อ (คือ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์) ได้อย่างซาบซึ้งกินใจ ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องกำหนดให้มีนักร้องคนที่ 2 คือ อิสริยา คูประเสริฐ มาร่วมร้องด้วย เพราะร้องกันคนละที คนละครั้ง แต่ก็ไม่เห็นว่านักร้องทั้งสองจะสร้างปฏิสัมพันธ์อันใดต่อกันได้เลย นอกจากนี้ การใช้เครื่องขยายเสียงมาหนุนเสียงนักร้องออกจะทำให้เสียรสไปบ้างในการแสดงดนตรีลักษณะนี้

กระบวนที่ 4 คือ จุดสุดยอดของซิมโฟนีอย่างไม่ต้องสงสัย การตั้งชื่อกระบวนนี้ว่า "ธรรมบท" (Dhammapada) เป็นความคิดที่เยี่ยมยอด และธรรมบทส่วนที่เลือกมาก็จัดได้ว่าเหมาะกับบริบทเป็นอย่างยิ่ง คีตกวีแต่งเพลงกระบวนนี้ราวกับจะขอฝากตัวเป็นทายาทของท่านเบโธเฟน คือ มีบทสำหรับนักร้องเดี่ยว (อันได้แก่ Ralph Schatzki และประติชญา ปุญญฤทธิ์-ชาทสกี้) และนักร้องประสานเสียงชุดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนร่วม 200 คน ใครที่ไม่ตื่นเต้นกับภาพที่ได้เห็นบนเวที กับเสียงที่เปล่งออกมาจากเวที ก็คงจะต้องจัดว่าขาดอารมณ์สุนทรีย์โดยสิ้นเชิง

ส่วนที่บรรเลงด้วยวงดนตรีก็แต่งได้อย่างแยบยลในหลายๆ ตอน ผมสังเกตเห็นกลุ่มเชลโลของ BSO ต่อสู้กับการเรียกร้องทางเทคนิคที่สูงมากได้อย่างโดดเด่น แต่ปัญหาเดิมของซิมโฟนีบทนี้ก็ผุดขึ้นมาอีกในกระบวนนี้ เพราะท่วงทำนองอาจจะอ่อนหวานเกินกว่าที่จะสร้างความสง่างามได้อย่างเต็มที่ ถึงกระนั้นก็ตาม คีตกวีใช้พระธรรมบทเป็นเนื้อร้องได้อย่างชาญฉลาด ทั้งนี้ คงเป็นเพราะความจัดเจนของคีตกวีในภาษาละตินที่เคยศึกษามาเมื่อวัยเด็ก (มีผู้เคยเล่าว่า สมัยที่เรียนมัธยม คุณสมเถาสามารถแต่งกวีนิพนธ์เป็นภาษาละติน ได้) และความจัดเจนดังกล่าวสามารถถ่ายโอนมาสู่ภาษาบาลีได้ เนื่องจากเป็นภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียนด้วยกัน การใช้พยางค์สั้นและยาว รวมทั้งพยางค์ที่เน้นและไม่เน้น ฟังดูเหมือนกับว่าเรากำลังได้ฟังเพลงศาสนาอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก

ผมเองนั้น พอได้ยินคอรัสร้องคำว่า "bra hmana(n)" สลับไปสลับมาและซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ก็อดไม่ได้ที่จะแปลงคำบาลีให้เป็นคำละตินว่า "gloria" โดยอัตโนมัติ จนในบางขณะก็หลงไปว่ากำลังได้ฟัง "Mass" ของ Mozart หรือ Beethoven ในบางตอนที่เครื่องสายสอดเข้ามาอย่างอ่อนหวาน ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึง Ein deutsches Requiem" ของ Brahms บางตอน ลีลาของดนตรี มีลักษณะน่าตื่นเต้น ราวกับ "Requiem" ของ Verdi บางตอน ชวนให้คิดถึงดนตรีซิมโฟนิคที่ประกอบด้วยการร้องของ Gustav Mahler บางช่วงห้าวหาญราวกับงานของ Shostakovich แต่นักแต่งเพลงที่พวกเราได้ยินเสียงสะท้อนอยู่ประปรายตลอดกระบวนที่ 4 ก็คงจะเป็น John Williams อย่างแน่นอน

กล่าวโดยสรุปรวม ซิมโฟนีบทนี้เป็นการตอบโจทย์อันยากยิ่ง และถ้าตัวผู้ฟังมิได้มีใจสวามิภักดิ์ต่อ พณฯ ปรีดี อยู่แล้ว หรือมิได้เข้าใจที่มาที่ไปของ "ปรีดีคีตานุสรณ์" ก็อาจจะมิได้รับรสอย่างเต็มที่ อันที่จริง ทั้งนักร้องและนักดนตรีได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการฝึกซ้อมและบรรเลงซิมโฟนีบทนี้ เป็นไปได้ว่า นักดนตรีบางคนที่ถูกกำกับให้เล่นดนตรีประเภทนี้บ่อยครั้งในระยะหลังนี้ จนอาจจะเกิดความเบื่อหน่ายได้บ้าง แต่ก็รักษาระเบียบวินัยเอาไว้ได้อย่างเคร่งครัด

มองในอีกแง่หนึ่ง ซิมโฟนีบทนี้ใช้ศักยภาพของเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนีอย่างรอบด้านและครบถ้วน โดยเฉพาะเครื่องเคาะจังหวะ มีโอกาสได้แสดงฝีมือไม่น้อยเลย อาจเรียกได้ว่า งานชิ้นนี้ทำหน้าที่ได้ไม่ด้อยกว่าดุริยางคนิพนธ์ของ Benjamin Britten เลย และเราก็อาจจะตั้งชื่อไปในทำนองเดียวกันว่าเป็น "The (Very) Young Person's Guide to the Orchestra" สำหรับนักร้องประสานเสียง (คณะนักร้องประสานเสียง "11 พฤษภา") นั้น ควรได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เพราะมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่หลงทาง ถึงจะเพี้ยนไปบ้างเป็นครั้งคราว ก็น่าให้อภัยสำหรับผู้รักสมัครเล่น เราคงจะต้องแสดงความยินดีกับกับผู้ฝึกสอนอีกโสดหนึ่งด้วย การกำกับให้นักร้องประสานเสียงจำนวนมากขนาดนี้ออกแสดงได้ในมาตรฐานระดับนี้ นับว่าเป็นความพยายามที่ควรได้รับการยกย่อง

อะไรเล่าเป็นสิ่งกีดขวางมิให้คีตนิพนธ์ที่เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานชิ้นนี้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ตามที่ทุกฝ่ายได้คาดหวังเอาไว้ ผมคิดว่าปัญหาแรกก็คือ ภาพของ ฯพณฯ ปรีดี ที่อยู่ในใจผู้สร้างงาน (ทั้งๆที่ได้มีโอกาสได้พบกับท่านและได้ถ่ายรูปร่วมกับท่านดังภาพที่นำมาลงในสูจิบัตร) พวกเราหลายคนที่อยู่ในหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในคืนนั้น ไม่เกิดความแน่ใจว่า ภาพของดร.ปรีดีที่มากับเพลงเป็นภาพที่เราอยากเห็น เราชอบพูดกันถึงความยิ่งใหญ่ของสามัญชน สามัญชนผู้ปรารถนาดีและทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้แก่บ้านเมือง ช่วยกอบกู้ประเทศไทยไว้ในยามยาก แต่ขาดความจัดเจนต่อโลก จึงไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อของทุรชนได้ เรามิได้มองท่านเป็นเทพหรือเป็นมหาบุรุษ แต่ "ปรีดีคีตานุสรณ์" พยายามจะสร้างภาพที่ต่างออกไป โอ่เกินไปจนอาจทำให้ความเป็นสามัญชนถดถอยไป

น่าเห็นใจคีตกวีว่าจะหาภาษาดนตรีอันใดมาสื่อความยิ่งใหญ่ของสามัญชน เพราะต้นแบบในอดีตที่มีอยู่ก็มักจะเป็นการยกย่องวีรบุรุษ หรือไม่ก็เป็นการ "บูชาพระเจ้า" ไปเสียสิ้น เมื่อนักร้องเปล่งเสียง "brahmana(n)" ออกมา ดังที่กล่าวอ้างไว้แล้วข้างต้น เราคิดถึงอะไรกันแน่ ยิ่งตัวบทภาษาไทยแปลคำนี้ว่า "พราหมณ์" ก็ยิ่งเขวกันใหญ่ เมื่อมีผู้ตีความไปไกลว่าเป็นคำแสดงวรรณะอันสูงสุดเหนือวรรณะทั้งหลาย ทั้งไทยและเทศ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะ "brahmana(n)" ในที่นี้น่าจะหมายถึงผู้ทรงปัญญาหรือผู้ที่รู้แจ้งแล้ว หาใช่เป็นเรื่องว่าใครเหนือใคร ใครต่ำกว่าใครในทางสังคมไม่

ผมคิดว่า ทางที่ดีที่สุด คือ การหาโอกาสนำซิมโฟนีนั้นมาแสดงอีก (โดยอาจไม่จำเป็นจะต้องให้คีตกวีเป็นผู้กำกับดนตรีเอง) สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 9 พฤษภาคม ก็คือ ผู้ดู ผู้ฟังจำนวนหนึ่งคงจะมิใช่ผู้ที่ชอบฟังดนตรีประเภทนี้เป็นประจำ เพราะแม้แต่ผู้อาวุโสบางท่านก็คุยกันเซ็งแซ่ ถ้าได้ฟังมากขึ้น ได้รู้จักขนบการฟังดีขึ้น "ปรีดีคีตานุสรณ์" อาจจะช่วยทำหน้าที่เป็น "Everyman's Guide to the Orchestra" ก็ได้ ไม่มาก-ไม่น้อยไปกว่านั้น

ด้วยเหตุนี้ เราคงจะเลี่ยงการอภิปรายเรื่องฟอร์มใหญ่-ฟอร์มเล็กไม่ได้ จะว่ารายการแสดงลำดับที่ 3 "คนที่มีค่า" เป็นคีตนิพนธ์ฟอร์มเล็กเสียทีเดียว ก็เห็นจะไม่ใช่ เป็นที่น่าสังเกตว่า คีตกวีประเภท "made in Thailand" เช่น ไกวัล กุลวัฒโนทัย ไม่มีที่ในสูจิบัตรที่จัดไว้ให้ ไม่มีทั้งประวัติ ไม่มีทั้งรูปถ่าย ทั้งๆ ที่เป็นผู้แต่งเพลง และสามารถกำกับให้นักร้อง 200 คน ร้องเพลงนี้ได้ โดยไม่ใช้เครื่องดนตรีใดๆ ประกอบ ซึ่งดูจะเป็นการเสี่ยงกับการร้องเพี้ยนหรือการหลงทางอยู่ไม่น้อยเลย แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูจะผ่านไปด้วยดี ลำพังตัวงานอาจจะมิได้แหวกออกไปจากแนวเพลงร้องหมู่ที่เราได้ยินกันทุกวี่ทุกวันทางวิทยุกระจายเสียง แต่ผมคิดว่า การสดุดี ฯพณฯ ปรีดี ในลักษณะนี้ดูจะใกล้กับบริบทแห่งความเป็นจริงของเมืองไทย เป็นความกล้าหาญของทั้งผู้แต่งเพลง ผู้แต่งคำร้องและผู้ร้องเป็นอย่างมากที่กล้านำงานชิ้นนี้ออกมาแสดงในรายการเช่นนี้ และผมก็อดคิดไม่ได้ว่า "คนดีมีค่า" ดูจะใกล้กับอุดมคติของสามัญชนผู้ทรงความดีมากทีเดียว

สำหรับคีตนิพนธ์บทอื่นที่แสดงในรายการนี้ประกอบด้วย "ศรีอยุธยา" ของพระเจนดุริยางค์ ซึ่งวง BSO เล่นได้ดีมาก มีทั้งความหวานและความหนักแน่น ผมเองเคยพูดกับผู้จัดการวง BSO ในยุคที่วงกำลังตกต่ำถึงขีดสุดเมื่อหลายปีมาแล้วว่า น่าจะลองกลับไปฟังเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง "The King of the White Elephant" ดูบ้าง และน่าจะสำนึกได้ว่าย้อนหลังไปกว่าครึ่งศตวรรษ นักดนตรีและวาทยกรประเภท "made in Thailand" ไปได้ไกลถึงเพียงไหน ผมคิดว่าได้มีการสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกในกระแสการเล่นดนตรีตะวันตกในประเทศไทยอยู่บ้าง การที่ BSO เล่นเพลงนี้ได้ดีเป็นพิเศษก็คงเป็นเพราะนักดนตรีในวงส่วนหนึ่งเป็นศิษย์ของศิษย์ของพระเจนดุริยางค์นั่นเอง ทำนองเพลงคุ้นหู บทเพลงบทหนึ่งได้กลายเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยไป บางเพลงสะท้อนทำนองที่เป็นเพลงไทยเดิมที่คุ้นหูอยู่

การเลือกเพลงนี้มาบรรเลงในรายการนี้เหมาะสมดีแล้ว มิใช่เพียงเพราะ ฯพณฯปรีดี พนมยงค์ เป็นคนอยุธยา แต่เหตุผลที่หนักแน่นคงจะเป็นเรื่องของการสืบทอดประเพณีการแสดงดนตรีตะวันตกในประเทศไทย และความสามารถของคีตกวีรุ่นบุกเบิกในการหลอมรวมวัฒนธรรมทางดนตรีของไทยเข้ากับตะวันตก ในแง่นี้ การเลือกบทโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง "Fidelio" ของเบโธเฟนมาบรรเลงในรายการแรกดูจะอธิบายให้เข้ากับบริบทได้ไม่ง่ายนัก

สูจิบัตรพยายามลากเข้าวัดด้วยการระบุว่า "เค้าโครงมหาอุปรากร 'Fidelio' มีส่วนคล้ายคลึงชีวประวัตินายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสเป็นอย่างมาก" เราคงจะต้องไม่ลืมว่าที่ Leonore ช่วย Florestan ได้สำเร็จเพราะเหตุใด อย่าลืมว่า "ท่านเสนาบดี" ผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเข้ามาช่วยพระ-นางคู่นี้ได้ทันเวลา ! แล้วเสนาบดีที่ไหนเข้ามาช่วย ฯพณฯ ปรีดี บ้างในบริบทของไทย รายการแสดงดนตรีคลาสสิกมักจะเริ่มต้นด้วยการโหมโรงและการเลือกเพลงโหมโรงเพลงนี้มาบรรเลงก็มิได้ผิดที่ผิดทางอะไร แต่วงดนตรีดูจะยังไม่เข้าที่นัก การบรรเลงหลวมมาก เสียงแบน จังหวะไม่ค่อยแน่น แต่ BSO มีเวลาถึง 2 ชั่วโมงที่จะทำให้เครื่องร้อน

สรุปได้ว่า รายการแสดงดนตรีครั้งนี้คงจะต้องวัดกันด้วยความสวามิภักดิ์ทางใจมากกว่าความเข้มข้นของคีตนิพนธ์และความลงตัวสมบูรณ์ในด้านของการแสดง แต่ถ้าศิลปินไม่อาสาเข้ามาแสดงกตเวทิตาคุณในรูปนี้ แล้วใครเล่าจะมีน้ำใจ มีความจริงใจ และมีความกล้าทางจริยธรรมพอที่จะบอกกล่าวต่อสาธารณชนว่า ข้าฯเชื่อมั่นว่า ปรีดี พนมยงค์