ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประกาศผลการตัดสินบทความ "ทุนปาล พนมยงค์" ประจำปี 2563

ประกาศผลการตัดสินบทความ "ทุนปาล พนมยงค์" ประจำปี 2563

ตามประกาศเรื่องการประกวดบทความชิงรางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ประจำปี 2563 ในหัวข้อเรื่อง "กฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม และนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์" นั้น

บัดนี้ คณะกรรมการตัดสินประกวดบทความชิงรางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ได้พิจารณาบทความที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 10 ราย แล้วปรากฎว่ามีผู้สมควรได้รับรางวัลดังนี้

 

รายละเอียดโครงการ

หัวข้อเรื่องบทความส่งเข้าประกวด รางวัล "ทุนปาล พนมยงค์" ประจำปี 2563

"กฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม และนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์"

คุณสมบัติผู้ส่งบทความ

  • นักศึกษาในชั้นปริญญาตรี
  • นักศึกษาในชั้นปริญญาตรีควบโท ไม่เกินชั้นปีที่ 4
  • ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข้อกำหนดบทความ

  • บทความต้องมีความยาว 6 - 10 หน้า กระดาษ เอ 4
  • พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ รูปแบบ TH Sarabun PSK ขนาด 16
  • เว้นขอบกระดาษ 1 นิ้วทุกด้าน
  • Double space สำหรับรูปแบบการอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ APA

ภาษาที่ใช้

  • ภาษาไทย
  • กรณีเป็นนักศึกษาต่างชาติ สามารถเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษได้

ส่งบทความเข้าประกวดไปที่

  • ส่งต้นฉบับมายังงานทุนและบริการนักศึกษากองกิจการนักศึกษา อาคารศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยใส่ชื่อ-สกุล หน้าสุดท้ายของบทความ และเขียนเลขหน้าบทความทุกหน้า
  • ส่งไฟล์ Word ทาง E-mail address: [email protected] (รอ E-mail ตอบกลับ)

หมดเขตส่งประกวด

  • วันพฤหัสบดี 24 กุมภาพันธ์ 2563

รางวัล

  • รางวัลที่ 1 ได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท
  • รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท
  • รางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท
  • รางวัลชมเชย ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท

ประกาศรางวัลและนำเสนอผลงาน

  • วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นวันปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

 

บทความ "ทุนปาล พนมยงค์" โดย นายกษิดิศ พรมรัตน์
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตย เรามักจะนึกถึงระบอบการปกครองที่ให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเองในสภา โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างประโยชน์สาธารณะและตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมการเมือง แต่กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กลับพบว่าประชาธิปไตยมิได้เป็นเช่นนั้น เรามักจะพบเห็นสภาวะที่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีโอกาสใช้อำนาจอันเป็นสิทธิของตนโดยชอบชั่วขณะที่เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเท่านั้น ครั้งเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงประชาชนก็หาได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้อำนาจนั้นได้โดยตรงอีกต่อไป (ฐิติกร สังข์แก้ว และอรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ม.ป.ป.) หรือที่เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “ประชาธิปไตย 4 วินาที” นั่นเอง

กระบวนการยกมอบอำนาจทางการเมืองที่เสร็จสิ้นลงเมื่อบัตรเลือกตั้งถูกหย่อนลงไปสู่ก้นหีบได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยจากเดิมที่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น ประชาชนผู้ถือครองอำนาจอธิปไตยนั้นมีอำนาจในการต่อรองที่เหนือกว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน เพื่อที่จะได้รับความพึงพอใจและได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อผ่านพ้นในช่วงของการเลือกตั้ง ผู้แทนราษฎรที่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งได้ก้าวเข้าสู่รัฐสภาด้วยเสียงของประชาชนที่อยู่ในกำมือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจได้กลับตาลปัตร กลายเป็นผู้แทนราษฎรที่มีอำนาจทางการเมืองทางตรงอย่างเบ็ดเสร็จ สามารถตัดสินใจทางการเมืองในกระบวนการของรัฐสภาได้อย่างอิสระโดยที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่มีอำนาจในการควบคุม ตรวจสอบ หรือถ่วงดุลผู้แทนราษฎรของตนแต่อย่างใด

สภาวะดังกล่าวนี้มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 หากแต่เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ยุครู้แจ้งทางปัญญา ดังที่ปรากฏในงานเขียน สัญญาประชาคม ของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ว่า “ประชาชนชาวอังกฤษผู้ซึ่งมองว่าตนเองนั้นมีเสรีภาพ แต่นั่นเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ พวกเขามีเสรีภาพเฉพาะตอนที่เลือกตั้งสมาชิกสภาเท่านั้น ทันทีที่สมาชิกสภาได้รับการเลือกตั้ง ประชาชนก็ได้ตกเป็นทาส หาได้เป็นอย่างอื่นไม่ ในชั่วขณะหนึ่งของเสรีภาพ พวกเขาได้ทำให้การใช้เสรีภาพนั้นสมควรแก่การเสียมันไป” (Rousseau, 1968 [1762])

สำหรับในประเทศไทย ความคิดเรื่องประชาธิปไตย 4 วินาทีได้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 โดยสนธิ ลิ้มทองกุล ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ก่อนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 2 วัน มีใจความว่า “ประชาธิปไตยของเรามันมีแค่ 4 วินาทีเองนะ ช่วงที่กาบัตรเสร็จแล้วเดินไปหย่อนลงหีบ นับ 1..2...3....4.... นั่นก็จบแล้ว สิทธิของเราหมดแล้วนะ เพราะว่าหลังจากนั้นแล้ว เท่าที่เป็นไปในอดีต รัฐบาลส่วนใหญ่จะทำอะไรต่อจากนั้น ถึงเราไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่เคยฟัง…” นอกจากนี้ นายสนธิยังได้ชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไว้ว่า “ถ้าหากเราไม่สร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็ง จนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองตามกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว สังคมไทย หรือสังคมทุก ๆ สังคม ก็จะมีเวลาแสดงออกทางประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที แล้วก็จบ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าไม่น่าที่จะเกิดไปตลอดแบบนี้ เราต้องหาทางให้ประชาชนมาร่วมกัน มีส่วนร่วมกัน วิธีการมีส่วนร่วมหลายอย่าง” (คำนูณ สิทธิสมาน, 2548)

แม้ว่าความคิดของรุสโซและสนธิจะมีบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันทั้งมิติด้านสถานที่และกาลเวลา แต่ทั้งสองได้สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งนั้นมิใช่สิ่งเดียวกับประชาธิปไตย จริงอยู่ที่ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งอย่างขาดเสียมิได้ แต่มิได้หมายความว่าการเลือกตั้งเพียงแค่อย่างเดียวจะทำให้ระบอบการปกครองนั้นกลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ กล่าวคือการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงแค่เงื่อนไขจำเป็น แต่หาใช่เงื่อนไขเพียงพอไม่ โดยประชาธิปไตยยังคงต้องการเงื่อนไขอีกหลายประการเพื่อให้เพียงพอต่อการเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน อันส่งผลให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการทางการเมือง ลักษณะทางการเมือง และปัญหาทางการเมืองมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มพลังให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่ง (ประจักษ์ ก้องกีรติ, 2562)

เงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ คือการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม โดยการแข่งขันนี้มิได้หมายถึงเพียงแค่การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรหรือการแย่งชิงการเข้าถึงอำนาจรัฐ อันเป็นการเมืองในระดับแคบ หากแต่ยังหมายความรวมถึงการเมืองที่เป็นเรื่องของผู้คนซึ่งใช้อำนาจต่อกันโดยที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ระบบและสถาบันทางการเมือง (Jackson and Tansey, 2015) อันเป็นการเมืองในความหมายกว้าง ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงในประเด็นเรื่องของทางการเมืองของประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือโนมน้าวชักจูงผู้อื่นให้คิดเห็นคล้อยตามตน อันจะนำไปสู่ความเห็นพ้องทางการเมืองร่วมกัน  จนกระทั่งการรวมตัวจัดตั้งขบวนการภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองเฉพาะด้าน กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการแข่งขันทางการเมืองในความหมายกว้างแทบทั้งสิ้น

การแข่งขันทางการเมืองในระดับต่าง ๆ ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งในด้านของตัวแสดงทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงดังกล่าว กระบวนการวิธีการที่ใช้สำหรับการแข่งขัน และวัตถุประสงค์ในการแข่งขัน ดังนั้นแล้ว เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมในการแข่งขัน จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละระดับ โดยการแข่งขันในระดับที่พื้นฐานที่สุด อันเป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งมีกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญอยู่สองประการ ประการแรกคือการพูดคุย เสวนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง โดยกิจกรรมนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าไปแย่งชิงอำนาจรัฐโดยตรง หากแต่ต้องการเพียงแค่การพยายามโน้มน้าวชักจูงให้ผู้อื่นยอมรับความคิดทางการเมืองของตน อันเป็นรากฐานที่นำไปสู่การสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมือง ผู้แทนราษฎร หรือพรรคการเมืองเดียวกันในลำดับต่อไป และประการที่สองคือการแข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้ที่ต้องการเป็นผู้แทนราษฎรนั้นต้องสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง และทำการประกาศโฆษณาหาเสียงเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้อื่นลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับตน

ระบอบประชาธิปไตยนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดที่ว่าผู้ปกครองที่มีความดีกับความรู้สูงสุดนั้นเป็นเพียงภาพในความฝัน ไม่เคยเกิดขึ้นมาจริง ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะมารองรับได้ว่าในบรรดามนุษย์ด้วยกันจะมีใครที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น ในขณะหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีคนคนหนึ่งที่มีความรู้สูงสุด แต่เนื่องจากมนุษย์ก็มีการเปลี่ยนแปลง หากมีใครคนหนึ่งที่มีความรู้สูงสุดในเวลานี้ ก็ไม่แน่ว่าเขาจะยังมีความรู้สูงสุดในเวลาต่อมาหรือเปล่า (โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, 2560) ดังนั้นแล้ว การแข่งขันทางการเมืองระหว่างประชาชนด้วยกัน ทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองและการโฆษณาหาเสียงรับเลือกตั้ง จำเป็นต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประชาชนพลเมืองทุกคนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ทรงซึ่งความรู้และความดีอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน จึงไม่มีผู้ใดที่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าตนเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงเหนือกว่าผู้อื่น เช่นนั้น การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นไปอย่างอิสระเสรี ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิด มีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง มีการรับฟังความคิดเห็นของเสียงส่วนน้อยในสังคม โดยปราศจากการขัดขวางหรือปิดกั้น ย่อมจะนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรม และได้รับการยอมรับจากประชาชนในท้ายที่สุด

เพื่อเป็นหลักประกันว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะยังคงถูกรักษาไว้ให้ดำรงอยู่ และเพื่ออำนวยให้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนั้นสามารถทำงานได้ในสังคมการเมือง เราจำเป็นต้องมีกฎและกติกาเพื่อบังคับใช้ประชาชนภายในรัฐต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม โดยการแสดงความคิดเห็นของประชาชนนั้นจำเป็นต้องถูกจำกัดขอบเขตไว้บางส่วน ซึ่งการจำกัดนี้มีวัตถุประสงค์ไปเพื่อป้องกันมิให้การแสดงความคิดเห็นของผู้หนึ่งนั้นไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การสูญเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในท้ายที่สุด เช่นนั้นแล้ว การแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวหาหรือโจมตีผู้อื่นโดยไร้ซึ่งเหตุผลและหลักฐาน การแสดงความคิดเห็นอาฆาตมาดร้ายหรือความเกลียดชังต่อผู้อื่น การแสดงความคิดเห็นโดยการใช้ข้อมูลเท็จ และการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเป็นไปในแนวทางของการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์จำเป็นต้องถูกปิดกั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายที่มีการบัญญัติไว้อย่างรัดกุมชัดเจน มีการบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างเข้มงวด และมีการลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวด้วยความเหมาะสม โดยรัฐซึ่งเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่มีอำนาจอธิปไตยอันไร้ซึ่งขีดจำกัดและเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรง (Weber, 2004 [1919]) ย่อมเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถดำเนินกระบวนการออกแบบและบังคับใช้กฎกติกาได้

นอกจากการปิดกั้นสิ่งที่อาจเป็นภัยต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว กฎและกติกายังจำเป็นต้องมีการสนับสนุนการแข่งขันทางการเมืองในระดับประชาชนด้วยกันให้มีความชอบธรรมอีกด้วย โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรนั้น จะต้องไม่มีข้อจำกัดทางด้านคุณสมบัติหรือความสามารถที่อาจไปปิดกั้นกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งจะเป็นการลดทอนคุณค่าของความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในฐานะประชาชนพลเมือง เช่น การจำกัดคุณสมบัติให้ต้องมีการสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำ ซึ่งจะเป็นการปิดกั้นการลงสมัครรับเลือกตั้งต่อผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หรือการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการลงสมัครรับเลือกตั้งในจำนวนที่สูงเกินไป อันส่งผลให้ผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์นั้นขาดโอกาสในการลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรด้วย นอกจากนี้แล้ว กฎและกติกายังจำเป็นต้องมีการจำกัดและควบคุมค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของผู้ลงสมัคร เนื่องจากหากปล่อยปละละเลยให้มีการใช้จ่ายลงทุนสำหรับการหาเสียงอย่างไร้ขีดจำกัด เช่นนั้นแล้ว ผู้ที่มีทุนทรัพย์ที่มากกว่าย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งมากกว่า อันส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมและความไม่เสมอภาคขึ้นระหว่างผู้แข่งขันในท้ายที่สุด

หลังผ่านพ้นช่วงของการเลือกตั้งไปแล้ว ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาและมีภาระความรับผิดชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ช่วงเวลานี้เองที่เป็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างประชาชนและผู้แทนราษฎร ที่ผู้แทนราษฎรต้องถูกตรวจสอบการทำงานและถ่วงดุลอำนาจจากประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยรัฐจำเป็นต้องมีกฎและกติกาเพื่อสร้างช่องทางให้ประชาชนได้ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของผู้แทนราษฎรทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตรวจสอบที่ต้องมีการเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใส สามารถติดตามผลการทำงานและผลการลงคะแนนเสียงในสภาของผู้แทนได้ทุกขั้นตอน หรือกระบวนการถ่วงดุลอำนาจที่ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนผู้แทนราษฎรในกรณีที่ผู้แทนคนดังกล่าวบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ หรือมิได้ลงคะแนนเสียงในสภาตามที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยกระบวนการดังกล่าวจะต้องไม่มีความลำบากยุ่งยากทั้งในด้านกระบวนการและในด้านตัวบทกฎหมาย เช่น มีกระบวนการขั้นตอนที่เรียบง่ายและรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และกำหนดจำนวนรายชื่อในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพื่อให้ประชาชนสามารถถ่วงดุลอำนาจของผู้แทนราษฎรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แล้ว อีกหนึ่งวิธีการที่สามารถถ่วงดุลอำนาจของผู้แทนราษฎรได้ คือการให้อำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรงกลับมาอยู่ในมือของประชาชนอีกครั้ง โดยในระบอบประชาธิปไตยทางอ้อมที่ให้มีการเลือกผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนนั้นเป็นไปเพื่อลดระยะเวลาและลดความยุ่งยากในตัดสินใจทางการเมือง (ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร, 2557) แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย มีความปลอดภัยสูง และมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานที่ต่ำ ซึ่งสถิติในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนไทยกว่า 57 ล้านคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยคนละ 9 ชั่วโมงต่อวัน (Hootsuite, 2019) หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่และเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้นแล้ว หากนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาปรับใช้ จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและการจัดลงคะแนนเสียงได้ และกระบวนการต่าง ๆ ที่ดำเนินการบนอินเทอร์เน็ตนั้นใช้เวลารวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงหรือการนับคะแนนเสียง ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการที่แทบจะไม่แตกต่างจากกระบวนการในสภานิติบัญญัติแต่อย่างใด

การคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรงให้กับประชาชนนั้นคล้ายกับการลงประชามติ โดยประชาชนสามารถเลือกที่จะลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจทางการเมืองในประเด็นต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น การลงมติผ่านร่างกฎหมาย เป็นต้น แต่ถ้าหากประชาชนเห็นว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถในประเด็นที่มากพอที่จะวินิจฉัยได้ ก็สามารถให้ผู้แทนราษฎรที่ตนเลือกเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจแทนตนได้ดังเดิม การคืนอำนาจทางการเมืองโดยตรงให้กับประชาชนในรูปแบบดังกล่าวได้ถูกนำเสนอและได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” โดยคำว่าลื่นไหลในประชาธิปไตยแบบนี้มาจากการที่ประชาชนทุกคนสามารถมอบอำนาจหรือถอนอำนาจการลงคะแนนเสียงแทนได้ทุกเรื่องทุกเวลา และมีสิทธิโหวตล้มการตัดสินใจของผู้แทนได้ทุกเมื่อถ้าพบว่าตัวเองไม่เห็นด้วย (สฤณี อาชวานันทกุล, 2557)

และสุดท้าย คือการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเอง การแข่งขันดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด เพราะเป็นการแย่งชิงการใช้อำนาจรัฐผ่านสถาบันการเมืองที่เป็นทางการอย่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยผลการตัดสินใจทางการเมืองในช่องทางดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชนได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการร่างกฎหมาย การประกาศใช้นโยบายสาธารณะ การบริหารงานและแนวทางของรัฐบาล ฯลฯ แน่นอนว่าอำนาจรัฐที่มหาศาลย่อมเป็นที่ต้องการของพรรคการเมืองทุกพรรค แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางการเมืองที่มีผู้ชนะซึ่งเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล และผู้แพ้ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน มิได้หมายความว่าผู้ชนะจะสามารถใช้อำนาจดังกล่าวในการกวาดล้างหรือกำจัดผู้แพ้ทิ้งไปได้ โดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจำเป็นต้องมีการคุ้มครองพรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภามิให้ถูกฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายเสียงข้างมากปิดกั้นมิให้แสดงความคิดเห็น มิให้อภิปรายคัดค้านการตัดสินใจทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการสนับสนุนเสียงข้างน้อยให้สามารถรวมตัวกันหรือเจรจาต่อรองกับเสียงข้างมากเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องของตน มิให้ถูกละเลยเมินเฉยไป เช่น การอนุญาตให้ผู้แทนราษฎรสามารถลงคะแนนเสียงโดยไม่สอดคล้องกับมติกับพรรคการเมืองได้ การเปิดโอกาสดังกล่าวนี้จะส่งผลให้พรรคเสียงข้างน้อยมีโอกาสที่จะต่อรองกับผู้แทนของพรรคเสียงข้างมากได้ ซึ่งนำไปสู่การพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะในการแข่งขันในสภาได้ในที่สุด

จากทั้งหมดที่ได้กล่าวข้างต้น การแข่งขันทั้งสามระดับที่มีความแตกต่างกัน หากแต่มีสองสิ่งที่จำเป็นต้องยึดถือร่วมกันเป็นหลักสำคัญอันจะนำไปสู่การแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม หนึ่งคือกฎและกติกาที่มุ่งให้ความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน รวมไปถึงช่วยสนับสนุนให้ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าไม่ถูกกวาดล้างหรือปิดกั้นการเข้าถึงอำนาจจากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสองคือสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจทางการเมืองที่ประชาชนซึ่งมีความรู้และความดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดสำหรับการค้นหาคำตอบอันถูกต้องชอบธรรมของปัญหาทางการเมืองทั้งปวง ดังนั้นแล้ว หากสองสิ่งนี้ได้รับการรับประกันสำหรับการดำรงอยู่และสามารถปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อนั้นแล้ว สังคมย่อมก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ในท้ายที่สุด

กษิดิศ พรมรัตน์

อ้างอิง

  • คำนูณ สิทธิสมาน. (2548). ประชาธิปไตย 4 วินาที. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/daily/detail/9480000022522. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ฐิติกร สังข์แก้ว และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (ม.ป.ป.). ประชาธิปไตย 4 วินาที. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ประชาธิปไตย_4_วินาที. สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563.
  • ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร. (2557). รัฐศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2562). ประชาธิปไตย : หลากความหมาย หลายรูปแบบ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยาม.
  • สฤณี อาชวานันทกุล. (2557). “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://thaipublica.org/2014/11/liquid-democracy-1/ เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563.
  • โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. (2560). ปรัชญาทั่วไป. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • Hootsuite. (2019). Global Digital Report 2019. [Online]. Available on https://wearesocial.com/global-digital-report-2019
  • Jackson, Nigel and Tansey, Stephen. (2015). Politics: The Basics. 5th edition. Routledge.
  • Rousseau, Jean-Jacques. (1968 [1762]). The Social Contract. (Maurice Cranston, Trans). Penguin Book.
  • Weber, Max. (2004 [1919]). The Vocation Lectures : "Science as a Vocation"; "Politics as a Vocation". (Rodney Livingstone, Trans.). Hackett Publishing.

 

บทความ "ทุนปาล พนมยงค์" โดย นายอติรุจ ดือเระ
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทนำ

ในปี 2562 ที่ผ่านมา The Economist Intelligence Unit (EIU) องค์กรวิจัยและวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองชั้นนำของโลกในสหราชอาณาจักร ได้เปิดเผยรายงานว่ามีประชากรโลกกว่า 48.4% ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่มีเพียง 5.7% เท่านั้นที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ (Full Democracies)  ซึ่งประเทศดังกล่าวมีเพียง 22 ประเทศ จากประเทศที่สำรวจทั้งสิ้น 167 ประเทศทั่วโลก (น.3)  ทั้งนี้เพราะประเทศอีกจำนวนมากใช้ประชาธิปไตยเป็นเพียงหัวโขน ขณะที่ทิศทางการบริหารของรัฐบาลยังค่อนข้างย่ำยืนอยู่บนฐานของความเป็นเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ  มีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส การทุจริต การจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง  โดยเฉพาะการควบคุมการแสดงความคิดเห็นผ่านกฎกติกาซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรม

บทความชิ้นนี้จึงมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจในประเด็น “การสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมและประชาธิปไตยสมบูรณ์” โดยอาศัยปัจจัยเรื่องกฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มาพิจารณเป็นสำคัญ  กล่าวคือจะอธิบายให้กระจ่างชัดว่า กฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีความสัมพันธ์และส่งผลกระทบต่อการสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมและนำไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้อย่างไร  พร้อมกันนั้นยังได้หยิบยกประเทศที่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างประเทศนอร์เวย์มาเป็นกรณีศึกษา  เพื่อฉายภาพเป็นแนวทางว่าเหตุใดประเทศดังกล่าวจึงสามารถสร้างประชาธิปไตยของตนให้สมบูรณ์ได้

อย่างไรหรือคือ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์”

ต่อประเด็นความสมบูรณ์ของประชาธิปไตยควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าอย่างไรหรือจึงจะเรียกว่าเป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ?” มีหลักการหรือปัจจัยใดบ้างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ?

หากพิจารณาจากเกณฑ์การวัดระดับประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit (EIU) ก็จะใช้เกณฑ์ 5 ด้านสำคัญเป็นมาตรวัด ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและพหุนิยม (Electoral Process and Pluralism) การทำงานของรัฐบาล (Functioning of Government) การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) วัฒนธรรมทางการเมือง (Political Culture) และเสรีภาพพลเมือง (Civil Liberties)

ขณะที่ ปัทมา สูบกำปัง และ สติธร ธนานิธิโชติ (2558, น.10-11)  เสนอว่าองค์ประกอบของประชาธิปไตยประกอบด้วยหลักพื้นฐาน 6 ประการ ได้แก่ 1) การเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม และสม่ำเสมอ 2) นิติธรรม 3) สิทธิและเสรีภาพ 4) ความเสมอภาค 5) หน้าที่และความรับผิดชอบ 6) การตรวจสอบการใช้อำนาจ

จากแนวทางการพิจารณาถึงความสมบูรณ์ของประชาธิปไตยทั้งสองข้างต้น ประการหนึ่งที่ชี้ชัดให้เห็นนั่นคือ สิทธิเสรีภาพของพลเมืองเป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยจะขาดไปเสียไม่ได้เลย เพราะเมื่อเราหวนทบทวนวาทะของอดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอน ( Abraham Lincoln) ที่ว่า “รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยคือรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” เช่นนั้นรัฐบาลจะเป็นของประชาชนและโดยประชาชนก็ย่อมด้วยประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยนั่นเอง

ความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  

สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งของหลักพื้นฐานในเรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชน เช่นนั้นประเทศประชาธิปไตยโดยเฉพาะที่เป็นเสรีประชาธิปไตยจึงมิควรละเลยหรือหลับหูหลับตาทำเป็นไม่สนใจในสิทธิเสรีภาพดังกล่าว  และไม่ว่าการแสดงความคิดเห็นจะกระทำผ่านวิธีใด พูด เขียน โฆษณาหรือพิมพ์เป็นข้อความก็ล้วนแล้วแต่เป็นการมีส่วนร่วมในทางการเมืองทั้งสิ้น  ทั้งยังเป็นเสียงที่มีความหมายซึ่งรัฐบาลพึงตั้งใจฟังและทำความเข้าใจถึงข้อคิดเห็นทั้งหลายไม่ว่าข้อคิดเห็นนั้นจะเป็นการชื่นชมหรือวิจารณ์รัฐบาลก็ตาม

ประจักษ์ ก้องกีรติ (2558, น.52) นักรัฐศาสตร์ไทยท่านหนึ่ง ได้นำเสนอแนวคิดของ ชาร์ ทิลลี (Charles Tilly) ซึ่งโยงกระบวนการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยกับการทำงานของเสียงไว้อย่างน่าสนใจว่า สังคมใดก็ตามจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อ หนึ่ง เสียงของประชาชนในขอบข่ายที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ มีโอกาสถูกเปล่งให้คนอื่นได้ยิน  สอง เสียงที่ถูกส่งออกมามีน้ำหนักเท่าเทียมกันมากขึ้น  สาม พฤติกรรมของผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจถูกผู้มัดให้ต้องฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น และสุดท้าย การส่งเสียงของประชาชนได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายว่าจะไม่ถูกปิดกั้นหรือพรากไปโดยอำเภอใจโดยผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐ  เขายังได้สรุปข้อเสนอข้างต้นด้วยคำ 4 คำต่อไปอีกว่า ถ้าเสียงของคนธรรมดาสามัญกว้างขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น ผูกพันมากขึ้น และได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น (growing breadth , equality , binding and protection)  เมื่อนั้นประชาธิปไตยก็มีสุขภาพที่แข็งแรง  ในทางตรงกันข้ามถ้าเสียงทำงานถดถอยลงในทั้ง 4 มิติ เมื่อนั้นเราก็พึงตระหนักว่าสังคมกำลังเข้าสู่กระบวนการเดินออกจากประชาธิปไตย (de-democratization)

ความสัมพันธ์และผลกระทบของกฎ กติกา ต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

จากข้อเสนอของ ชาร์ ทิลลี ชี้ให้เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์แข็งแรง  กระนั้นเสรีภาพดังกล่าวก็ยังจำเป็นจะต้องมีข้อจำกัดหรือขอบเขตอันเป็นที่ยอมรับกันในสังคม โดยข้อจำกัดเหล่านั้นจะต้องทำให้เกิดเสรีภาพมากยิ่งขึ้น ในลักษณะ “ข้อจำกัดของเสรีภาพทำให้เกิดเสรีภาพมากกว่าเสรีภาพที่ไม่มีข้อจำกัด” ขอบเขตเขตของเสรีภาพจึงเป็นเสมือนเครื่องนำทางให้บุคคลในสังคมใช้สิทธิของตนได้อย่างถูกต้องและชอบธรรม (จักษ์ พันธ์ชูเพชร, 2557, น.142)  เช่นนั้นการใช้เสรีภาพใดจึงจำเป็นต้องมีขอบเขตทางกฎหมายกำกับอยู่เสมอ เนื่องจากการใช้เสรีภาพอย่างหนึ่งอย่างใดโดยปราศจากขอบเขต  ย่อมอาจก้าวล่วงไปกระทบต่อเสรีภาพอีกอย่างหนึ่งได้เสมอ อันอาจนำไปสู่ความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชน  รัฐในฐานะผู้ปกครองจึงย่อมมีอำนาจในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อจำกัดหรือควบคุมการใช้เสรีภาพนั้นได้เช่นกัน (วนิดา แสงสารพันธ์, 2556, น. 22)

สำหรับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นปรากกฏ กฎ กติกา ทั้งในระดับระหว่างประเทศและในระดับประเทศซึ่งกำหนดขึ้นทั้งเพื่อรับรองและจำกัดขอบเขตเสรีภาพไปพร้อม ๆ กัน  รัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายต่างกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อรับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็น “หลักประกัน” แก่ประชาชนในการใช้เสรีภาพสำหรับการพูด เขียน พิมพ์ โฆษณา หรือสามารถแสดงความคิดเห็น (โดยเฉพาะทางการเมือง) ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดเพื่อให้บุคคลอื่นสามารถรับรู้และเข้าใจได้  กรณีตัวอย่างในระดับระหว่างประเทศที่เห็นได้อย่างชัดเจน อาทิ “กฎ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง” หรือ “International Convenant on Civil and Political Rights” ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในกฎหมายระหว่างประเทศและผูกพันบรรดาประเทศที่ได้ให้สัตยาบันตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา  โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นนั้นปรากฏในข้อที่ 19 ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดแยกย่อยลงไป อันได้แก่ 1) บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง  2) บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกถึงสิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก  3) การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรคสองของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วย โดยอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต้องเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และต้องไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของชาติหรือการสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน  (เพิ่งอ้าง, น.25)

ในระดับภายในประเทศขอหยิบยกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาเป็นกรณีตัวอย่าง  โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้กล่าวถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้โดยสรุปคือ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น  โดยการจำกัดเสรีภาพข้างต้นจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือเป็นไปเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ  เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ  เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน (กองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ, น.16)

เมื่อพิจารณาสารัตถะของกฎกติกาที่นำเสนอข้างต้น จะสังเกตได้ว่า กฎ กติกา ทั้งสองมีจุดร่วมกันอยู่ในเรื่องของการรับรองสิทธิเสรีภาพและการจำกัดขอบเขตในการแสดงความคิดเห็น  โดยในกฎกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง มีข้อจำกัดคือการแสดงความคิดเห็นนั้นต้องเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น และต้องไม่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงของชาติหรือการสาธารณสุขหรือศีลธรรมของประชาชน  ขณะที่มาตราที่ 45 กำหนดขอบเขตไว้ว่าการแสดงความคิดเห็นนั้นต้องไม่กระทบต่อ 5 ประการสำคัญ ได้แก่ ความมั่นคงแห่งรัฐ  สิทธิเสรีภาพ  เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

การวางกรอบเพื่อกำหนดขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้  แต่ข้อกังวลของประชาชนจำนวนไม่น้อยคือขอบเขตของเสรีภาพดังกล่าวในท้ายที่สุดแล้วจะได้รับการนำมาใช้อย่างยุติธรรม เท่าเทียม หรือตีความไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ จะมีการยกเว้นหรือเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดบ้างหรือเปล่า เฉพาะคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” หรือ “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็เปิดช่องให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันได้  เช่นนั้นคำถามสำคัญคือการนำกฎ กติกา มาใช้จริง ๆ จะส่งผลต่อการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

การสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมและนำสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินอยู่ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันในเกือบทุกกระบวนการ ตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคต่างหมายมุ่งที่จะกอบโกยคะแนนเสียง มีการโฆษณานโยบายมากมาย  มีการทุ่มงบจัดเวทีสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง  ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลก็ย่อมจะต้องมีพรรคฝ่ายค้านเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ คัดค้าน หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อเห็นว่ารัฐบาลกระทำไม่ถูกต้อง  ทุกช่วงเวลาของการดำเนินการทางการเมืองจึงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม  สุจริต  และโปร่งใสมากที่สุด  ฝ่ายรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจนำจะต้องมิเอื้อผลประโยชน์ต่อชัยชนะทางการเมืองของตนด้วยการเอารัดเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นโดยไม่ชอบธรรม 

ว่าด้วยการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ที่รัฐบาลมิควรละเลยนั่นคือการกำหนดและรักษาไว้ซึ่งกฎ กติกา ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน สื่อมวลชน และพรรคการเมืองต่าง ๆ เนื่องด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นจะส่งผลให้เกิดการกำกับและตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลตามมา การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเสมือนเครื่องมือกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลตื่นตระหนักว่าประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้จริงกำลังเฝ้ามองอยู่ และหากรัฐบาลบริหารกิจการบ้านเมืองอย่างไร้ประสิทธิภาพ ทุจริต ขาดความชอบธรรม การแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็สามารถที่จะกดดันหรือเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลลาออกหรือยุบสภาได้ เพื่อเปิดทางให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองอื่นสามารถก้าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทน  และผลบั้นปลายที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความสมบูรณ์ของประชาธิปไตยนั่นเอง

อย่างไรก็ตามหากกฎ กติกา ในเรื่องดังกล่าวกำหนดขอบเขตของเสรีภาพไว้อย่างคลุมเครือหรือเอื้อให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมายในการตีความเอาผิด ผลลัพธ์ที่ตามมาก็น่าเป็นกังวลอยู่ไม่น้อยว่าจะทำลายการแข่งขันทางการเมืองให้เกิดความไม่เป็นธรรม  ซึ่งเป็นโดมิโนที่จะทำให้ประชาธิปไตยในประเทศนั้น ๆ ขาดความสมบูรณ์ตามไปด้วย  ข้อกังวลข้างต้นนี้มิได้เลื่อนลอยไปจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย เนื่องจากสังคมไทยของเราเองก็มีบทเรียนที่เกิดขึ้นมากมายหลายกรณี  ที่ผ่านมาประชาชนและนิสิตนักศึกษาซึ่งออกมาเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจำนวนไม่น้อยถูกตั้งข้อกล่าวหา โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ iLaw ระบุว่า มาตรา 14 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการจำกัดการใช้เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล  ข้อมูลยังระบุต่อไปอีกว่าจากการเก็บข้อมูลจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พบว่า มีบุคคลอย่างน้อย 5 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตราดังกล่าว อาทิ กรณีของ ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต ซึ่งถูกเรียกรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาถึง 3 ครั้ง รวมข้อหาทั้งหมด 12 กระทง จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาลผ่านเพจเฟสบุ๊กหมวดเจี้ยบ1 ไว้หลายประเด็น เช่น วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาลที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีจับกุมผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าเทพา หรือวิจารณ์การไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีในประเด็นการซื้ออาวุธ เป็นต้น (iLaw , 2561)

นอกจากนี้อีกประการที่น่าเป็นห่วงคือการที่ประชาชนซึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นถูกประชาชนด้วยกันเองคุกคาม ดังเช่นที่ สรวิชญ์  เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2562 บริเวณป้ายรถเมล์ ซอยนาทอง ถนนรัชดา โดยก่อนหน้าวันเกิดเหตุเขาได้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนคนให้ลงชื่อใน change.org  เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภางดออกเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  

จากเหตุการณ์ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นว่ากฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่อาจก่อร่างสร้างการแข่งขันทางการเมืองและนำสังคมไทยไปสู่การมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้มากนัก เช่นนั้นการศึกษาต้นแบบจากประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ประเทศนอร์เวย์   ซึ่งรั้งอันดับหนึ่งเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์มาโดยตลอดน่าศึกษาอย่างยิ่ง โดยรายงานจาก         The Economist Intelligence Unit (EIU) ระบุว่าปี 2562 นอร์เวย์มีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยสูงถึง  9.87 คะแนน  และในหมวดเสรีภาพพลเมืองได้ 9.71 คะแนน จากคะแนนเต็มสิบ  ทั้งนี้เพราะชาวนอร์เวย์สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทั้งระดับข้าราชการและการเมืองอย่างเข้มข้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง เสรีภาพของสื่อที่ได้รับการรับรองทั้งในแง่ของกฎหมายและในทางปฏิบัติ (กาแฟดำ , 2560)

บทสรุป

กฎ กติกา และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีผลต่อการสร้างการแข่งขันทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  โดยหากกฎ กติกา เอื้อต่อการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากเท่าไหร่ การแข่งขันทางการเมืองก็จะมีความเป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น  เนื่องจากรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะถูกจับตามองและวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชนหรือสื่อมวลชนได้เสมอหากกระทำการไม่เหมาะสม แต่หากกฎ กติกา จำกัดขอบเขตการแสดงความคิดเห็นเสียจนทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย  การแข่งขันทางการเมืองก็จะเสี่ยงที่จะไร้ความเป็นธรรม  เนื่องจากผู้กุมอำนาจนำสามารถเอาเปรียบผู้แสดงความคิดเห็นที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้  ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลไปยังความสมบูรณ์ของประชาธิปไตยในประเทศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

กระนั้นการสร้างการแข่งขันทางการเมืองที่เป็นธรรมเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็คงมิใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ  หากแต่ทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องขยับ ปรับ และประสานกันอย่างพร้อมเพรียง  ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ร่างหรือแก้ไขข้อกฎ กติกา ให้เอื้อต่อการรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด  ฝ่ายตุลาการก็ต้องตัดสินคดีความโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นธรรมไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดเป็นการเฉพาะ  ฝ่ายบริหารไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของฝ่ายอื่น ๆ ขณะที่สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปจะต้องใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับอย่างเต็มที่                 โดยมิละเมิดขอบเขตของกฎ กติกา มิควรทำตนเป็นคนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่สนใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือทักท้วงใด ๆ เมื่อเห็นสิ่งไม่ถูกไม่ควร เพราะหากเป็นเช่นนั้น แม้สังคมจะมีกฎ กติกา ที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากเพียงใด ท้ายที่สุดคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการเมืองมากนัก

 

บรรณานุกรม

  • กองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. ชุดความรู้สิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยภาคี. สืบค้นจาก http://wow.in.th/aD9h
  • กาแฟดำ. นอร์เวย์ “สุขที่สุขในโลก” ด้วยปัจจัยอันใด. (6 พฤษภาคม 2560). กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641165  
  • จักษ์ พันธ์ชูเพชร. (2557). รัฐศาสตร์. นนทบุรี : บริษัทมายด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
  • ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2558). ประชาธิปไตยของฉัน ของท่านและของเธอ, ใน ประชาธิปไตยในยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน.
  • ปัทมา สูบกำปัง และ สติธร ธนานิธิโชติ. (2558) . รัฐธรรมนูญใหม่ที่คนไทยปรารถนา ร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่สร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน . กรุงเทพฯ.
  • วนิดา แสงสารพันธ์. (2556). ขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมาย. วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน, 6(2). สืบค้นจาก http://wow.in.th/E7an
  • iLaw . พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2560: กฎหมายใหม่แต่ยังถูกใช้ปิดปากเหมือนเดิม. (15 สิงหาคม 2561). สืบค้นจาก  https://ilaw.or.th/node/4901                     
  • The Economist Intelligence Unit. (2562). Democracy Index 2019 A year of democratic setbacks and popular protest. Retrieved From http://wow.in.th/J21Q