ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยมองผ่านเค้าโครงเศรษฐกิจปรีดี พนมยงค์

5
พฤษภาคม
2563

เหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเป็นเหตุการณ์สำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้ ระบอบเผด็จการทหารคณาธิปไตย ที่อยู่ในอำนาจการปกครองประเทศมาอย่างยาวนานนับจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ถูกโค่นล้มโดยขบวนการประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษาประชาชน แต่ พลังอนุรักษ์นิยมจารีตนิยมขวาจัดสุดขั้ว ได้ทำให้ให้ระบอบประชาธิปไตยไทยถอยหลังอีกครั้งหนึ่งหลังจากได้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลสะเทือนของทั้งสองเหตุการณ์ได้ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามากขึ้นและต้องฟังเสียงการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของประเทศมากขึ้น สังคมไทยเรียนรู้การแก้ปัญหาความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยแนวทางสันติวิธีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นประเทศไทยยังเกิดรัฐประหารขึ้นอีกถึง 3 ครั้ง คือ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดย รสช 19 กันยายน พ.ศ. โดย คมช และ ล่าสุด 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557  

เกือบ 88 ปีหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข โครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับและมีสัดส่วนของภาคบริการที่ขยายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ประเทศไทยสามารถก้าวจากประเทศด้อยพัฒนายากจนสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางโดยช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงสองช่วง คือ ช่วงทศวรรษ 2530 และ ช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2540 โครงสร้างการผูกขาดทางเศรษฐกิจและการเมืองได้คลายตัวลงในบางช่วงโดยเฉพาะหลังมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. 2540 ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินปี 2540 และมีการร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ระบอบอำนาจนิยมได้ฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่ง มีการรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 และได้คืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปีแต่ก็ยังเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ขึ้นมาอีกจากความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการสะสมของความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของระบอบ คสช และ การสืบทอดของระบอบ คสช อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ทางการเมืองจะต้องแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาและยึดถือกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมในการเป็นเครื่องมือในการจัดการกับความขัดแย้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมจะได้รับการแก้ไขภายใต้ระบอบที่ประชาชนและชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิมีเสียงและมีการส่วนร่วมในการบริหารประเทศและออกกฎหมายมากขึ้น

เค้าโครงเศรษฐกิจของ ท่านปรีดี พนมยงค์ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ การจะสถาปนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคงได้ต้องอาศัยการอภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ การอภิวัฒน์เฉพาะทางการเมืองไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้อย่างแท้จริง

หากพิจารณา “เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง” จะพบว่า ตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดแบบภราดรภาพนิยม แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม บวกกับ หลักพุทธธรรมและมนุษยธรรม

นอกจากท่านปรีดีจะเห็นความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา การต่างประเทศ และการวางแผนทางเศรษฐกิจ

ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น

สองเดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ

การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

ท่านปรีดีมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะ ‘มันสมองของคณะราษฎร’ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา

ในช่วง ๑๐ ปีแรกของการอภิวัฒน์ หน่วยงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นจากการริเริ่มของรัฐบุรุษท่านนี้ หากศึกษาผลงานและบทบาทความคิดของรัฐบุรุษท่านนี้ ย่อมพบว่าท่านให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ

ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ เศรษฐกิจไม่ดีและมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่เร่งวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่ได้สัญญาเอาไว้ตามหลัก ๖ ประการด้วยการหางานให้ราษฎรทำ ทั้งที่มีแรงกดดันให้เร่งรัดเค้าโครงการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนท่านปรีดี

ในวันที่ ๒๑ กันยายน รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน อีกราวหนึ่งเดือนถัดมา รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คณะราษฎรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเพียงบางส่วนในช่วงแรกหลังยึดกุมอำนาจรัฐ

ปัญหาพื้นฐานของสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส ช่องว่างระหว่างรายได้และการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและทรัพย์สิน โดยปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ได้มีการนำเสนอแนวทางแก้ไขไว้ใน เค้าโครงเศรษฐกิจของท่านปรีดี โดยที่แนวทางบางอย่างยังนำมาปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคตได้ แต่นโยบายหรือมาตรการบางเรื่องอาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย  

เมื่อพิจารณาสาระสำคัญหลักของเค้าโครงการเศรษฐกิจจะพบว่าสอดคล้องกับ แนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ในเรื่องบทบาทของรัฐในการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข ระบบประกันสังคมและการประกันการว่างงาน นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง การจัดเก็บภาษีมรดกภาษีทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นแหล่งรายได้ของรัฐในการนำมาพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวความคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของ ดร. ป๋วย นั้นมีความโน้มเอียงมาในทางเสรีนิยมมากกว่าแนวคิดในเค้าโครงสมุดปกเหลือง ขณะที่เค้าโครงสมุดปกเหลืองจะสะท้อนแนวคิดแบบสังคมนิยมและชาตินิยมมากกว่าแนวคิดจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ความแตกต่างนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพแวดล้อมและบริบทที่ต่างกันด้วย

ส่วนแนวทางการจัดสวัสดิการในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อมา พัฒนาเป็น หลักประกันสุขภาพ หรือ นโยบายเรียนฟรี 12 ปี เรียนฟรี 15 ปี ล่าสุดจะมีการจดทะเบียนประชาชนรายได้น้อยเพื่อรัฐจะได้จัดสวัสดิการได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย การมีภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นโยบาย มาตรการ กฎหมายต่างๆที่ถูกพัฒนาในภายหลังจำนวนไม่น้อยเป็นไปในทิศทางเดียวกับพื้นฐานแนวคิดที่เป็นสาระสำคัญในเค้าโครงสมุดปกเหลือง

ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จอห์น เมย์นาร์ดเคนส์(John Mayard Keynes) ได้เสนอให้รัฐเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาภาวะถดถอยยาวนานในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เบเวริดก์(Beveridge) ได้นำเอาแนวคิดของเคนส์มาพัฒนาให้เป็นโครงการที่ปฏิบัติได้และนำไปสู่การจัดตั้งรัฐสวัสดิการ (Welfare State)

สำหรับระบบสวัสดิการสังคมที่พยายามพัฒนาขึ้นในสังคมไทยเพื่อให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรมีหลักการต่อเรื่องนี้ว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”  ความพยายามในการสร้างระบบสวัสดิการและหลักประกันสังคมดังกล่าวปรากฏ   ในเค้าโครงสมุดปกเหลือง แต่ได้รับการคัดค้านจากชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษ์นิยมเนื่องเห็นว่าโครงการประกันสังคมและระบบสวัสดิการดังกล่าวอยู่ในเค้าโครงสมุดปกเหลือง หลังจากนั้น แนวคิดเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสังคมก็แคบลงมาโดยหันมาเน้นหนักให้ความสำคัญกับงานทางด้านประชาสงเคราะห์ ต่อมาการประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533ได้กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสังคมในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคม     เพื่อทบทวนนโยบายด้านสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ และในสองปีต่อมา พ.ศ. 2536 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติสวัสดิการสังคมโดยอิงความมั่นคงทางสังคม คือ ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนและความมั่นคงทางสังคมในระดับมาตรฐาน

ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมค่อนข้างต่ำ ในปี พ.ศ. 2551 ค่าใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมทั้งหมดเท่ากับ 2.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีกับประเทศในกลุ่ม OECD จะเห็นว่าไทยมีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านนี้ต่ำกว่ามาก หากพิจารณาเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการด้านสุขภาพ คนไทยทุกคนมีสวัสดิการรักษาพยาบาลแบบข้าราชการ จะทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับประชากรกลุ่มอายุวัยเด็ก (0-15 ปี) เท่ากับ 5,003 บาท วัยทำงาน (16-59 ปี) 6,999 บาท และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 32,848 บาท และประมาณว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเท่ากับประมาณ 8 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 4.24 ของจีดีพี (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแท้จริงร้อยละ 4 ต่อปี)[1]

ช่วงปี พ.ศ. 2552-2557 รายได้ของรัฐบาลกว่าร้อยละ 90 มาจากภาษีอากร รัฐมีรายได้ทั้งหมดประมาณ 1.7-2.3  ล้านล้านบาทรายได้จากภาษีคิดเป็นร้อยละไม่เกิน 20 ของจีดีพีหรือประมาณ 1.5-1.9 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่มีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งจะมีรายได้ภาษีเทียบกับจีดีพีสูงกว่าไทยมาก

Esping-Anderson (1990) เห็นว่าระบบรัฐสวัสดิการสามารถแบ่งออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆโดยจัดตามกรอบความคิดแบบกว้างๆเพื่อให้เกิดความง่ายในจัดกลุ่ม มีรายละเอียดดังนี้ [2]

  1. กลุ่มประเทศที่ใช้ระบบสวัสดิการแบบเสรีนิยม (Liberal Regimes) มีลักษณะเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะขัดสนโดยแท้จริง ระบบสวัสดิการแบบนี้จะเข้าไปช่วยเหลือบุคคลผู้ประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต มีความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจและครอบครัวไม่อยู่ในฐานะที่ดูแลได้ ระบบสวัสดิการแบบนี้แนวทางการจัดระบบสวัสดิการแบบนี้จะให้ความสำคัญกับกลไกตลาดมากกว่าบทบาทของรัฐบาล จึงต้องการให้ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการจัดสวัสดิการ ส่วนรัฐบาลจะเข้าไปจัดการเฉพาะส่วนที่ประชาชนดูแลตัวเองไม่ได้ ระบบแบบนี้ใช้ในสหรัฐอเมริกา
  2. กลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบวิสาหกิจ (Corporate Regimes) เป็นระบบสวัสดิการที่จัดบนพื้นฐานของการทำงานและลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบผู้ที่ได้รับสวัสดิการต้องอยู่ในระบบการทำงานที่ร่วมจ่ายเงินสมทบ
  3. กลุ่มประเทศที่มีระบบสวัสดิการแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Regimes) เป็นระบบที่รัฐจะทำหน้าที่ในการจัดสรรบริการทางสังคมและระบบสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนทุกคน รัฐไม่สนใจว่าจะยากจนหรือช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่ ประเทศที่ใช้ระบบนี้จะเก็บภาษีในอัตราสูง ประชากรไม่มากและมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศเยอรมัน เป็นต้น

ประเด็นที่หนึ่ง แนวคิดในเค้าโครงสมุดปกเหลือง ที่มองว่า ด้วยเหตุแห่งความไม่เที่ยงแท้แห่งการดำรงชีวิต เช่น การเจ็บป่วยหรือพิการทำงานไม่ได้ ทำให้ราษฎรทุกคนควรได้รับการประกันความสุขสมบูรณ์ จากรัฐบาล ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ ว่าจะได้ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิต สอดคล้องกับ การที่รัฐจะจัดระบบสวัสดิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเสียชีวิต แต่ก็จะเกิดคำถามในปัจจุบันว่า รัฐจะเอาเงินมาจากไหน? จะมีความยั่งยืนทางการเงินการคลังของระบบสวัสดิการต่างๆหรือไม่? แนวคิดที่ต้องการจัดระบบสวัสดิการตามอุดมคติในเค้าโครงเศรษฐกิจ อาจต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม ระบบการเมืองและระบบราชการต้องโปร่งใสกว่านี้และประชาธิปไตยต้องมั่นคงและเข้มแข็งกว่านี้ อุดมคติในเค้าโครงสมุดปกเหลืองจึงเกิดขึ้นจริงดั่งในหนังสือโลกพระศรีอาริย์ที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เขียนเอาไว้  

ประเด็นที่สอง เค้าโครงเศรษฐกิจเขียนถึงการประกันความสุขสมบูรณ์ ต้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจ่ายเงินให้ราษฎรทุกคนเป็นจำนวนพอที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการในการดำรงชีวิต (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร) การที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ให้ราษฎรนั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง (มีการเขียนรายละเอียดในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ) และมีข้อยกเว้นให้เอกชนประกอบการเศรษฐกิจกรณีได้รับสัมปทานจากรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจาก ราษฎรไม่มีทุนและที่ดินเพียงพอ  “แรงงานเสียไปไม่ได้ใช้เต็มที่”  (ชาวนาทำงานปีหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน  ทำให้เวลาที่เหลือสูญเสียไป)

ประเด็นที่สาม ในเค้าโครงเศรษฐกิจเขียนไว้ว่า “การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำจะทำให้ใช้แรงงานสิ้นเปลืองกว่าการรวมกันทำ  และหากรัฐประกอบการเศรษฐกิจโดยนำเครื่องจักรกลมาใช้จะส่งผลดีไม่ส่งผลเสียดังเช่นให้เอกชนประกอบการที่การนำเครื่องจักรกลนำมาใช้จะส่งผลให้คนไม่มีงานทำ หากรัฐประกอบการเองจะสามารถสร้างงานอื่นให้กับผู้ไม่มีงานทำได้” แนวทางนี้จะสนับสนุนบทบาทของสหกรณ์และบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจเนื่องจากเห็นจุดอ่อนและความล้มเหลวของกลไกตลาด   

ในเค้าโครงเศรษฐกิจยังคงเสนอ วิธีการจัดหาที่ดิน แรงงาน และทุน เพื่อใช้ในการประกอบการเศรษฐกิจของรัฐ เช่น ที่ดิน รัฐบาลจะซื้อที่ดินกลับคืนจากเจ้าของที่ดิน (เฉพาะที่ดิน ที่นา ที่ใช้ประกอบการเศรษฐกิจ ไม่รวมที่อยู่อาศัย) รัฐบาลอาจออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินตามราคาที่ดิน และรัฐบาลกำหนดให้เงินผลประโยชน์แทนดอกเบี้ย โดยเจ้าของที่ดินยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การซื้อที่ดินกลับมานี้เป็นวิธีที่ต่างกับวิธีริบทรัพย์ของคอมมิวนิสต์  เมื่อรัฐบาลได้ที่ดินกลับคืนมา จะได้สามารถวางแผนการใช้ที่ดิน การใช้เครื่องจักรกล การทำคูน้ำทำได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

แรงงาน  รัฐบาลให้ราษฎรที่อยู่ในวัยแรงงาน (18 ปี ขึ้นไป) เป็นข้าราชการเพื่อให้แรงงานใช้ประโยชน์ได้ตลอดปี รัฐบาลกำหนดให้ราษฎรทำงานตามคุณวุฒิและความสามารถ เงินเดือนแตกต่างกันตามคุณวุฒิแต่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดที่พอเพียงแก่การดำรงชีพ และยกเว้นให้บางคนไม่ต้องรับราชการ เมื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ แนวคิดนี้อยู่เป็นหลักการเดียวกับระบบประกันการว่างงานแต่มีรายละเอียดดำเนินการที่แตกต่างกัน  

ทุน  รัฐบาลจัดหาทุน โดยไม่ริบทรัพย์ของเอกชน  แต่จะหาทุนโดยวิธีอื่น ได้แก่ การเก็บภาษี เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ หรือภาษีทางอ้อม การออกสลากกินแบ่ง การกู้เงิน และการหาเครดิต การมีนโยบายให้ประชาชนและกิจการขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อและทุนในการประกอบอาชีพและประกอบกิจการในปัจจุบันและในช่วงที่ผ่านมาก็สอดคล้องกับแนวคิดที่เสนอไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจในเรื่อง “ทุน”

แนวคิดบางประการได้นำมาปรับใช้ในปัจจุบัน ส่วนแนวทางบางอย่างก็มิได้เกิดขึ้นเนื่องจากขัดแย้งกับแนวคิดแบบเสรีนิยมซึ่งเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน

ประเด็น ในเค้าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ ได้เสนอการจัดให้มีธนาคารแห่งชาติ  โดยเอาเงินทุนสำรองและรัฐบาลและเงินกู้จากเอกชนมาเป็นทุนของธนาคารแห่งชาติ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการจัดตั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในสมัยนั้นถูกมองว่าเป็นแนวความคิดแบบสังคมนิยม

ประเด็น “การรับรองกรรมสิทธิของเอกชน ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ซึ่งเอกชนหามาได้ และยอมรับกรรมสิทธิ์แห่งการคิดประดิษฐคิดค้นของบุคคล” แนวคิดนี้สอดคล้องกับหลักการของลัทธิเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิ์ของเอกชนเพื่อจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความก้าวหน้าและมีการสะสมทุนได้

ประเด็น “การจัดให้รายจ่ายและรายได้เข้าสู่ดุลยภาพ ทั้งดุลยภาพภายในและดุลยภาพระหว่างประเทศ” สะท้อน แนวคิดเรื่องการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การรักษาวินัยการเงินการคลังซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงยึดถือแนวทางนี้ในการบริหารเศรษฐกิจกันอยู่

ประเด็น “การที่รัฐบาลจะเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจที่มีพลเมืองกว่า 11 ล้านคน เช่นประเทศไทยจำเป็นต้องแบ่งการประกอบการเศรษฐกิจเป็นสหกรณ์ต่างๆ  โดยสมาชิกรวมกันประกอบการเศรษฐกิจครบรูป คือ ร่วมกันประดิษฐ์ จำหน่าย ขนส่ง จัดหาของอุปโภคให้แก่สมาชิก และร่วมกันในการสร้างสถานที่อยู่  โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกที่ดินและทุน และสมาชิกสหกรณ์เป็นผู้ออกแรง” เป็นการให้ความสำคัญกับ ระบบสหกรณ์ แต่ ระบบสหกรณ์ของไทยในวันนี้ก็ยังไม่เข้มแข็ง

ประเด็น “รัฐบาลต้องถือหลักว่าจะต้องจัดการกสิกรรมและอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยต่างประเทศ เพื่อป้องกันอันตรายจากการปิดประตูทางการค้า เพื่อให้ประเทศมีเอกราชในทางเศรษฐกิจ” สะท้อนแนวคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากบริบทสภาพแวดล้อมในยุคนั้น ส่วนในยุคโลกาภิวัตน์

ประเด็น “การจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ให้มีสภาทำหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เกี่ยวกับกสิกรรม อุตสาหกรรม ขนส่งและคมนาคม การจัดสร้างที่อยู่ให้ราษฎร” สิ่งนี้เป็นข้อเสนอที่ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดขึ้น ข้อเสนอนี้ เทียนวรรณ หรือ พระยาสุริยานุวัฒน์ ก็ได้มีการนำเสนอการทำแผนพัฒนาทำนองเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบเสรีนิยมมีบทบาทต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกและประเทศไทยก็เดินบนเส้นทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาโดยตลอด เป็นกระแสหลักที่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร รัฐบาลไทยยังคงยึดถือแนวทางนี้อยู่

ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ใครจะเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมก็มักถูกลากเอามาเป็นเงื่อนไขแห่งการต่อสู้ทางการเมือง โดยไม่ได้สนใจว่าข้อเสนอดังกล่าวมีเนื้อหาสาระ เป็นประโยชน์ต่อชาติและราษฎรอย่างไร

บทเรียนการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของ ‘ท่านปรีดี’ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นตัวอย่างที่สำคัญ

ทุกครั้งที่มีการปฏิรูปหรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ มักจะมีแรงต้านเสมอ ซึ่งผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงต้องอดทนต่อแรงเสียดทาน ต้องมีความเสียสละอย่างสูงในทางส่วนตัวและครอบครัว

‘ประวัติศาสตร์’ มักจะซ้ำรอยครั้งแล้วครั้งเล่า เราจึงควรศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ให้ถ่องแท้เพื่อเป็นบทเรียน

ช่วงเวลาท่านปรีดีมีบทบาททางการเมืองอย่างโดดเด่นบนเส้นทางประชาธิปไตยไทย ด้วยบทบาทตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ มากมายตั้งแต่การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ จนถึง ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ นั้น เป็นช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก เพียง ๑๕ ปี แต่รัฐบุรุษท่านนี้ก็ได้บรรลุภารกิจหลายประการ เพื่อชาติ ราษฎร และระบอบประชาธิปไตย

นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึงการรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ และทำให้ ‘ท่านปรีดี’ กลายเป็น ‘รัฐบุรุษพลัดถิ่น’ ต้องระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนยาวนานกว่า ๓๖ ปี ก่อนจะถึงแก่อนิจกรรม ณ. กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ประชาธิปไตยไทยที่ถูกสถาปนาโดย ‘คณะราษฎร’ วันนี้อายุได้ ๘๔ ปีแล้ว เส้นทางแห่งอนาคตของประชาธิปไตยไทยนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูงยิ่ง มีข้อเสนอเพื่อแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์บ้านเมืองมากมาย บางข้อเสนอดูเหมือนเป็นเนื้อหาย้อนยุคการเมืองกลับไปก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เสียอีก

ความประสงค์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยของท่านปรีดีนั้น ต้องอาศัยการจัดวางรูปแบบการปกครองในระบอบใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และวางพื้นฐานหลายเรื่องเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการปกครองแบบใหม่หลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕

นอกจากท่านปรีดีจะเห็นความสำคัญต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา การต่างประเทศ และการวางแผนทางเศรษฐกิจ

ในช่วงทศวรรษ ๒๔๗๐ นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น

สองเดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ

การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชาตินิยมทางเศรษฐกิจ

ท่านปรีดีมีบทบาทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะ ‘มันสมองของคณะราษฎร’ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา

ในช่วง ๑๐ ปีแรกของการอภิวัฒน์ หน่วยงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้นจากการริเริ่มของรัฐบุรุษท่านนี้ หากศึกษาผลงานและบทบาทความคิดของรัฐบุรุษท่านนี้ ย่อมพบว่าท่านให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ

ความเอาใจใส่ต่อปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน สะท้อนจากคำพูดของท่านที่กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่ใช่ Coup d’Etat เป็น  Revolution ในทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งกำหนดหลักเศรษฐกิจไว้ในหลัก ๖ ประการ  ที่คณะราษฎรได้ประกาศในวันยึดอำนาจรัฐ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ด้วยว่า “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ” เศรษฐกิจแห่งชาติและความพยายามที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าเพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ให้กับราษฎรในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเป้าหมายและวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของท่านปรีดีและคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

คณะราษฎรได้พยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งมีอยู่เดิมก่อนการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ โดยเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจบางอย่าง เริ่มด้วยการลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง ๕๐% ยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภทในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๕ ทั้งประกาศจัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติให้สำเร็จโดยเร็ว ต่อมาในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ได้มีประกาศพระราชบัญญัติยกเลิก ‘ภาษีสมพัตรสร’ นอกจากนี้ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลยังปรับปรุงภาษีอากรธนาคารและการประกันภัย ออกประกาศลดพิกัดเก็บเงินค่านา และลดภาษีโรงเรือนที่ดิน

ส่วนแผนการในการปฏิรูปที่ดินในเค้าโครงการสมุดปกเหลือง ถูกคัดค้านโดยกลุ่มเจ้านายที่ถือครองที่ดินจำนวนมากและบรรดาผู้มีความคิดอนุรักษ์นิยมทางเศรษฐกิจ แผนการการปฏิรูปที่ดินจึงไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากการลดภาษีจะเป็นมาตรการดูแลเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นมาตรการเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ดี รัชกาลที่ ๗ ก็ดี รัฐบาลได้จัดเก็บภาษีเพิ่มจำนวนมากเนื่องจากประเทศมีปัญหางบประมาณขาดดุลเรื้อรังต่อเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖

รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องเข้ามาแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของราชสำนักในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังถูกซ้ำเติมโดยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก จนรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ ๗ ต้องลดเงินเดือนข้าราชการและดุลข้าราชการจำนวนหนึ่งออกจากงาน รัฐบาลคณะราษฎรจึงระมัดระวังเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ ทั้งยังปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อแก้ปัญหาสถานะทางการคลัง ขณะเดียวกันก็ลดแรงกดดันในหมู่ประชาชนต่อภาระภาษีที่มากขึ้น

ในช่วงต้นของการยึดอำนาจ เศรษฐกิจไม่ดีและมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังไม่เร่งวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่ได้สัญญาเอาไว้ตามหลัก ๖ ประการด้วยการหางานให้ราษฎรทำ ทั้งที่มีแรงกดดันให้เร่งรัดเค้าโครงการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับจากสภาผู้แทนราษฎรโดยเฉพาะจากกลุ่มก้อนผู้สนับสนุนท่านปรีดี

ในวันที่ ๒๑ กันยายน รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการลดและเลิกอัตราเก็บเงินค่าที่สวน อีกราวหนึ่งเดือนถัดมา รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คณะราษฎรได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไปเพียงบางส่วนในช่วงแรกหลังยึดกุมอำนาจรัฐ

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม คณะกรรมการราษฎรได้ถวายบังคมลาออกเพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และในวันนั้นเอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้น โดยท่านปรีดีได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการราษฎร (ชื่อเรียกตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ ในขณะนั้นตามข้อเสนอของท่านปรีดี) ในคณะรัฐมนตรีชุดแรก และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรี ท่านได้ทำงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานแก่ระบบรัฐสภาในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนแรก และมีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร

ต่อมา รัฐบาลมีมติมอบหมายให้ท่านปรีดีเป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล เมื่อท่านปรีดีได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจเสร็จแล้ว ก็ได้นำไปมอบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองก่อนเข้าที่ประชุมสภา เมื่อพระยามโนฯ ได้รับร่างนั้นแล้ว ก็ได้เรียกประชุมขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ

ท่านปรีดีได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๖ แต่สุดท้ายก็ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยเป็นการลี้ภัยการเมืองครั้งแรกด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดี เข้าทางกลุ่มอนุรักษ์นิยมพอดิบพอดี จึงถือเป็นโอกาสกำจัด ‘ท่านปรีดี’ ออกจากเวทีการเมือง

เวลานี้ ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๕๐๐ ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ช่วงเวลาหลังรัฐประหาร ๒๕๓๔ และช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ๒๕๑๙

แต่จุดเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะแตกต่างจากหลายครั้งในอดีต หากสามารถผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้โดยยึดมั่นในแนวทางสันติประชาธรรมและสามารถทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่จริง เราจะพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของการเมืองสยามยุคใหม่ เป็นหน้าที่ของพลเมืองผู้รักชาติทุกคนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าโดยยึดหลักสันติธรรม และยืนหยัดในหลักการประชาธิปไตยอย่างไม่หวั่นไหว   

แม้นแนวคิดเศรษฐกิจและแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจของท่านปรีดีจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ ๗๐ กว่าปีมาแล้วก็ตาม แนวทางหลายอย่างยังคงทันสมัย แต่บางอย่างอาจต้องปรับประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัย เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมาก

อนาคตเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ปัญหานี้จะนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต เมื่อพ่วงด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง ย่อมทำให้ประเทศไม่อยู่ในฐานะที่จะรักษาเม็ดเงินลงทุนได้แบบเดิม การว่างงานจะลุกลามและแผ่กว้าง ประชาชนจึงต้องมีหลักประกันในการมีงานทำและมีคุณภาพชีวิต ชีวิตของชาวบ้านไม่ควรผูกยึดกับความผันผวนทางเศรษฐกิจการเมือง แต่ควรมีหลักประกันหากยึดตามหลักที่ท่านปรีดีวางไว้ด้วยระบบและกลไกที่ดูแลปัญหาดังกล่าว

ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ ท่านปรีดีใช้ความพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เมื่อได้อำนาจทางการเมือง หากแต่บางเรื่องไม่อาจผลักดันให้เกิดขึ้นโดยง่าย อาทิเช่น แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีทรัพย์สิน จนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายมาบังคับใช้ โดยที่ผู้เขียนไม่มีความมั่นใจเลยว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันหรือในอนาคตจะสามารถผลักดันเรื่องดังกล่าวได้ เพราะยังมีแรงเสียดทานจากบรรดาผู้เสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ที่นั่งกันอยู่ในคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ย่อมไม่ให้ผ่านไปได้โดยง่าย

จากบทความ ‘มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด’ โดยราชบัณฑิต ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้เขียนวิเคราะห์ถึงตำราเศรษฐศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดทางเศรษฐศาสตร์ของท่านปรีดี เมื่อศึกษาบทความดังกล่าวแล้ว ย่อมทำให้เราเข้าใจต้นรากความคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองของรัฐบุรุษผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

ในบทความ มีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้

“วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ปรีดีได้ศึกษานั้น มีอิทธิพลต่อความคิดของปรีดีในเค้าโครงการเศรษฐกิจมาก ผู้เขียนได้ศึกษาและค้นคว้าถึงหนังสือหรือตำราทางเศรษฐศาสตร์ที่ปรีดีใช้ประกอบการศึกษาในครั้งนั้น และพบว่ามีหนังสือ ๒ เล่ม ที่เป็นหลักสำคัญ และปรีดีคงจะได้ศึกษาหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้อย่างแน่นอน นั่นคือหนังสือของศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด (Professor Charles Gide) เรื่อง ‘คำสอนเศรษฐวิทยา’ เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Cours d’ Economic politique ซึ่งได้แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Gide ‘s Political Economy ศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด ผู้เขียนหนังสือนี้เป็นศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์”

ส่วนหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ โดยศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด และศาสตราจารย์ชาร์ล รีสท์ หนังสือเล่มนี้จัดเป็นหนังสือคลาสสิกที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง นอกจากนี้ ในคำนำหนังสือยังได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสว่า ได้เน้นความสำคัญไปที่การศึกษาประวัติลัทธิเศรษฐกิจมากกว่าหลักสูตรการศึกษาในที่อื่นๆ ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในฝรั่งเศสจะจัดให้มีการสอนวิชาประวัติลัทธิเศรษฐกิจเป็นพิเศษ และในการสอบปริญญาเอก นักศึกษาอาจต้องเขียนรายงานในหัวข้อนี้เพื่อพิสูจน์ความสามารถก่อนที่จะได้รับปริญญา

หนังสือ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ เล่มนี้ ได้กล่าวถึงลัทธิเศรษฐกิจของสำนักต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน (ปีเขียน ๑๙๐๙) ผู้เขียนคาดว่าท่านปรีดีคงได้ศึกษาหนังสือเล่มนี้เช่นกัน จากการที่ปรีดีได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้สอบไล่ได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ‘ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงทางเศรษฐกิจการเมือง’ ซึ่งมีวิชาเศรษฐศาสตร์พิสดาร ประวัติศาสตร์ลัทธิเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ จากคำกล่าวของ ดร.เดือน บุนนาค ซึ่งได้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีสเช่นเดียวกับท่านปรีดี แต่เป็นนักเรียนรุ่นหลังปรีดี ๓ ปี ก็ยังได้กล่าวว่า

“หนังสือชื่อ Histoire des Doctrines Economiques ของท่านศาสตราจารย์ Gide และท่าน Rist เป็นหนังสือซึ่งนักเรียนต้องอ่าน ต้องเรียน เป็นหนังสือความรู้มาตรฐาน ถ้าอยากรู้ลึกซึ้งท่านต้องเรียน ต้องอ่านหนังสืออื่นต่อไปอีก หนังสือนี้เป็นเพียงย่อๆ ความเท่านั้นเอง ความคิดความอ่านของท่านปรีดีได้มาจากการศึกษาของท่านเอง”

และจากการสัมภาษณ์ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล ของกลุ่มวิจัยประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกันว่า เค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดีนี้ เหมือนแนวที่ท่านได้ศึกษาจากปารีสจากอาจารย์ที่ท่านได้ศึกษามา

“ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสนี้ ได้มีอิทธิพลต่อความคิดทางด้านการจัดการทางเศรษฐกิจของปรีดีมาก และจะเห็นได้ว่าหนังสือ ‘คำสอนเศรษฐวิทยา’ และ ‘ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ’ ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของปรีดีเช่นกัน ปรีดีถึงกับได้มอบหมายให้ ดร.เสริม วินิจฉัยกุล แปลหนังสือเศรษฐศาสตร์ของ ชาร์ล จี๊ด เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้อ่านกัน ดร.เสริม แปลได้เพียงครึ่งเล่มก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ขึ้น ส่วนที่แปลนี้ได้มีการพิมพ์เผยแพร่ในหมู่ผู้ก่อการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปรีดีได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านเศรษฐศาสตร์จาก ชาร์ลส์ จี๊ด มาก และได้พยายามที่จะเผยแพร่ความคิดนี้ในหมู่ผู้ก่อการฯ และแน่นอนว่า หนังสือของ Gide นี้ เป็นความรู้ใหม่ของคนไทยในเวลานั้น เพราะในเวลานั้นประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์กันเลย วิชาเศรษฐศาสตร์ได้เริ่มมีการศึกษากันครั้งแรกเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ปรีดี ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ได้บรรจุวิชาเศรษฐศาสตร์ ๒ วิชา ไว้ในหลักสูตรปริญญาตรี คือ วิชาลัทธิเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ และในการสอนลัทธิเศรษฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ ศาสตรจารย์ เจ.เอฟ. ฮัตเจสสัน (เนติบัณฑิตอังกฤษ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศส) ได้เป็นผู้จัดทำหนังสือลัทธิเศรษฐกิจขึ้น โดยมี ดร.ทวี ตะเวทินกุล ซึ่งเป็นผู้จัดทำตำรา เป็นผู้บรรยายแก่ นศ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี ๒๔๗๗ หนังสือ ‘ลัทธิเศรษฐกิจ’ นี้ ก็เป็นหนังสือที่สรุปความมาจากหนังสือของ ชาร์ลส์ จี๊ด และ ชาร์ลส์ ริสท์ เรื่อง A History of Economic Doctrines โดยเก็บเฉพาะใจความสำคัญและแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้ง่ายในการศึกษา

“อิทธิพลของ ชาร์ลส์ จิ๊ด ที่มีต่อปรีดีนี้ นอกจากจะสังเกตได้ในลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ยังจะเห็นได้อีกว่า ปรีดีได้กล่าวอ้างถึง ชาร์ลส์ จิ๊ด ในที่ต่างๆ หลายครั้ง เช่น ในคำอธิบายกฎหมายปกครอง (ปี ๒๔๗๔)”

บทความของ ศาสตราจารย์ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ยังพูดถึง ‘ลัทธิโซลิดาริสม์’ และ แนวความคิด ‘ภราดรภาพนิยม’ ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของท่านปรีดี

“ ลัทธิโซลิดาริสม์นี้ เป็นหลักการซึ่งปรีดีได้เสนอในเค้าโครงการเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ในการประชุมของคณะกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๖ ปรีดีได้กล่าวว่า “ชาร์ลส์ จี๊ด ได้แสดงว่า การบังคับให้ทำงานนั้นเป็นระเบียบการโซเชียลิสต์ และตามหลักวิชาการ ไม่ใช่เป็นหลักการสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หากเป็นวิถีทางดำเนินการอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคณะนาซีและคณะอื่นๆ ก็นำเอาไปใช้เหมือนกัน และตามที่ ชาร์ลส จี๊ด ได้แถลงไว้ก็ปรากฏว่า เป็นการเกี่ยวกับวิภัชกรรม (การแบ่งสรรโภคทรัพย์) มากกว่าประดิษฐกรรม (การบังเกิดโภคทรัพย์)” และในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ท่านปรีดีก็ได้อ้างถึงคำสอนเศรษฐวิทยาของ ชาร์ลส จี๊ด ดังที่กล่าวมาแล้ว

จากการศึกษาเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านปรีดี ผมสามารถแยกแยะลัทธิหรือแนวความคิดหลักที่มีอิทธิพลต่อท่านปรีดี ๓ ประการ คือ

  1. แนวความคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ผสมผสานกับเศรษฐกิจแบบชาตินิยม
  2. ลัทธิโซลิดาริสม์ (Solidarism) หรือ ‘ภราดรภาพนิยม’
  3. หลักพุทธศาสนาและมนุษยธรรม

ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในภาวะสงครามกับเชื้อโรคและน่าจะยืดเยื้อไม่ต่ำกว่า 2 ปี หลายประเทศทั่วโลกมีการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาและเยียวยาความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ บางประเทศเกิดโรคระบาดใหม่ คือ โรคระบาดคอร์รัปชันงบประมาณและเงินช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเผชิญกับปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังแน่นอน ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 30-40% ในปีงบประมาณ 2564 ขณะเดียวกันต้องเพิ่มงบค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 35% ความเสี่ยงเรื่องวิกฤติฐานะทางการคลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทางออก คือ ต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและไม่รั่วไหล จึงต้องหาระบบ กลไกและการดำเนินการที่ป้องกันการรั่วไหลและป้องปรามการทุจริตเพื่อให้ความช่วยเหลือตกถึงประชาชนและกิจการรายเล็กรายย่อย สงครามกับเชื้อโรค Covid-19 และ โรคระบาดใหม่การทุจริตคอร์รัปชันครั้งนี้ต้องอาศัยพลเมืองผู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและมีความรักในเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติต้องร่วมกันเสียสละ ศึกนี้ไม่ต้องอาศัยปืนและกระสุน รถถังหรือเรือดำน้ำ สงครามนี้ไม่ต้องใช้กองทัพสู้รบ แต่อาศัยบุคลากรทางการแพทย์ผู้อุทิศตัวและประชาชนผู้มีวินัย เป็นสงครามไร้พรมแดน ฉะนั้นกรุณาอย่าใช้แนวคิดชาตินิยมแบบคับแคบมาแก้ปัญหา สงครามที่ไม่มีข้อตกลงหยุดยิง แต่ต้องเร่งลงทุนวิจัยหาวัคซีนและยารักษาโรคให้ได้และกระจายให้เร็วที่สุดโดยเลิกคิดในกรอบความคิดทรัพย์สินทางปัญญาแบบทุนนิยมสุดโต่ง มาตรการ นโยบาย และโครงการของรัฐควรต้องมุ่งไปที่การบรรเทาความยากลำบากทางเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ขยายการลงทุน และปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ดีขึ้น ตาม แนวทาง Relief, Recovery and Reform

ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและของไทยจะนำไปสู่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในระดับที่ใกล้เคียงกับ The Great Depression หรือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 1930 (ค.ศ. 1929-1932 หรือ พ.ศ. 2472-2475) การดิ่งลงอย่างรุนแรงของตลาดการเงินโลกและตลาดหุ้นวอลสตรีทในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เป็นเพียงอาการและสัญญาณแรกๆของภาวะวิกฤติตกต่ำทั่วโลกไม่ใช่สาเหตุสำคัญ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ตลาดการเงินโลกได้กระเตื้องขึ้นมาด้วยการอัดฉีดมาตรการทางการเงินและการคลังของหลายประเทศ แต่การกระเตื้องขึ้นบ้างนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราวไม่น่าจะเกิน 4-6 เดือน เนื่องจากครั้งนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจมันใหญ่กว่า วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกหรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี พ.ศ. 2551-2552 (ค.ศ. 2008-2009) ที่เป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่หรือ The Great Recession ระบบอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินโลกขณะนี้ที่ใช้ “เงินดอลลาร์” เป็นเงินสกุลหลักได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งและมีความเสี่ยงที่ใช้อยู่ขณะนี้อาจต้องล่มสลายไป และต้องมีการพัฒนาระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผลของพลวัตดังกล่าวจะมีต่อระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินโลกเคยเปลี่ยนจากระบบมาตรฐานทองคำ มาเป็น ระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำเกิดขึ้นหลังข้อตกลงเบรตตันวู้ด (Bretton Woods Agreement) หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1971 ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบมาตรฐานปริวรรตทองคำล่มสลายไป มีการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงโดยมีการลดค่า “เงินดอลลาร์” ลงมาเนื่องจากสหรัฐอเมริกาขาดดุลบัญชีเงินสะพัดเรื้อรังและใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในสงครามเวียดนาม แต่เงินดอลลาร์ยังคงเป็นเงินสกุลหลักต่อไป (เรียกระบบที่อยู่ได้เพียงห้าปีนี้ว่า Smithsonian Agreement)  ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในปี ค.ศ. 1976 ให้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหรือระบบการเงินโลกมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเป็นระบบที่เรียกว่า Floating Exchange Rate System โดยให้ประเทศต่างๆสามารถเลือกได้ว่าจะตรึงค่าเงินสกุลท้องถิ่นหรือของประเทศตัวเองกับดอลลาร์และเงินสกุลหลักอื่นๆหรือปล่อยลอยตัวเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินสกุลหลักอื่นๆ การที่ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ใช้มาตรการ QE มาโดยตลอดและล่าสุดมีการพิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มเติมอีก 2.3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจและพยุงตลาดการเงินโลกและตลาดการเงินของสหรัฐฯเอง การอัดฉีดเงินเข้ามาจำนวนมากอย่างต่อเนื่องทำให้ความน่าเชื่อถือต่อเงินดอลลาร์ลดลงตามลำดับ ระบบนี้ยังเดินหน้าต่อไปได้อีกระยะหนึ่งเพราะความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสกุลยังมีอยู่แต่สั่นคลอนไปเรื่อยๆ ฉะนั้นระบบการเงินโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เช่นเดียวกับระบบการค้าโลกที่จะมีการกีดกันทางการค้าและระบบกำหนดโควต้าจะเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะท้าทายต่อระบบการค้าเสรีของโลกในช่วงสามสี่ทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้องค์การการค้าโลก ปริมาณการค้าอาจหดตัวลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดการณ์ไว้ 

โลกและประเทศไทยจึงต้องการการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมที่สนับสนุนสังคมแบบภราดรภาพนิยม (Anusorn T. New Economic Social and Political Model for Humanity)[3] เป็นการพัฒนาทางทฤษฎีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างใหม่นี้ยังไม่สมบูรณ์และได้พัฒนาต่อยอดจากแนวคิดบางส่วนของ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ ต้องการสร้าง Model ที่ทำให้ผู้คนสามารถอยู่ได้ภายใต้ Disruptive Technology และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ รวมทั้งปัญหาภาวะโรคร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนา model ต้นแบบในระดับชุมชนก่อน แต่ต้องการสามารถ Model ที่ตอบโจทย์ในระดับประเทศและระดับโลก และไม่ได้ต้องการให้ต้นแบบนี้สามารถทำได้เฉพาะใน Scale ขนาดเล็ก แต่ต้องการให้สามารถประยุกต์ใช้ในระดับประเทศหรือระดับโลกได้ เป็นการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์สังคม โดยแรงบันดาลใจผู้อาวุโสที่เป็นแบบอย่างในการอุทิศตัวเพื่อทำงานให้ส่วนรวม เพื่อนๆและบุคคลอีกหลายท่านที่ได้เสียสละเพื่อให้ประเทศนี้มี “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” และ เศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพื่อสังคมสันติธรรม

พัฒนาชุมชนต้นแบบในทุกอำเภอของจังหวัดแพร่ภายในสามปี โดยเริ่มต้นทำโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบแห่งแรกที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ มอบที่ดินประมาณ 13 ไร่เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรและเกษตรเชิงท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 3 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมเช่าเพิ่มเติมให้มีพื้นที่ประมาณ 50-1,000 ไร่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันเพื่อนำมาพัฒนาภายใต้โครงการชุมชนหมู่บ้านประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรม ซึ่งจะพัฒนาไปสู่พื้นที่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ท่องเที่ยวแบบผจญภัย ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยและสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้านานาชาติขนาดใหญ่ (ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือของยูนิเซฟ องค์การสหประชาชาติ)  สถานที่ปฏิบัติธรรมและการฝึกฝนการทำสมาธิของทุกความเชื่อทางศาสนา (ทำงานร่วมกับสมาคมและมูลนิธิขององค์กรทางศาสนาอันหลากหลาย) 

ด้วยความเชื่อมั่นในประเทศไทย

อนุสรณ์ ธรรมใจ

2 พ.ค. 2563 – วันครบรอบ 37 ปีการอสัญกรรมของท่านปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม

  • ปรีดี พนมยงค์. เค้าโครงเศรษฐกิจสมุดปกเหลือง
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ข้อเขียนจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน
  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. มโนทัศน์ทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกับเศรษฐศาสตร์ของชาร์ลส์ จิ๊ด 
  • ปรีดีสาร
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ 2547: การอภิวัฒน์ 2475 กับ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคมไทยยุคใหม่ สำนักพิมพ์ปาปิรุส 2547
  • อนุสรณ์ ธรรมใจและคณะ. รายงานการศึกษาวิจัยประเมินผลกองทุนเงินทดแทน 2559
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. คำนำหนังสือโลกพระศรีอาริย์ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ 2553
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. ปรีดี รัฐบุรุษผู้อภิวัฒน์ สำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 2548
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. แนวคิดเศรษฐกิจปรีดี พนมยงค์ บทความ 2550
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ ปรีดี พนมยงค์ บทความ 2558
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ ร่างโครงการชุมชนหมู่บ้านประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมเพื่อสังคมภราดรภาพนิยม 2563

อ้างอิง

[1] รายงานทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 87 เดือนตุลาคม 2553 ทางเลือกของสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทย

[2] เอื้อมพร พิชัยธนิช  นโยบายเศรษฐกิจว่าด้วยสวัสดิการสังคม : บทวิเคราะห์ประสบการณ์ในประเทศตะวันตก โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2552

[3] พัฒนาต่อยอดจากแนวคิด กรอบความคิดเรื่องประชาธิปไตยสมบูรณ์และแนวคิดภราดรภาพนิยมของ ท่านปรีดี พนมยงค์/แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พุทธเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมผสมผสานแนวคิด Neo-Keynesian แนวคิดเสรีนิยมใหม่ Neo-Liberalism/ประชาธิปไตยหมู่บ้าน ฐานรากประชาธิปไตยระดับประเทศ ของ อาจารย์สุนัย เศรษฐบุญสร้างและทีมงาน/การพัฒนา Model ต้นแบบสำหรับ แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์และเศรษฐกิจดุลยธรรมที่สนับสนุนสังคมแบบภราดรภาพนิยม (Anusorn T. Model) การพัฒนาทางทฤษฎีแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างใหม่นี้ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการสร้าง Model และต้องมีการทดลองในระดับต่างๆตามหลักวิทยาศาสตร์สังคม