ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

จดหมายขอบพระคุณ เรื่อง “สภาพนอกอาณาเขต”

16
กรกฎาคม
2563

คำอธิบายเบื้องต้น

ผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ประการหนึ่งระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (9 สิงหาคม 2480 - 15 ธันวาคม 2481) คือ การเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวคือ สามารถแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อยกเลิก “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศได้เป็นผลสำเร็จ

ถึงกระนั้น นายปรีดีก็หาได้อวดอ้างเอาความดีความชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะในหนังสือ ชีวประวัติย่อฯ ของเขา นายปรีดีได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า 

“ปรีดีขอถวายพระเกียรติแด่สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย อดีตเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 ซึ่งทรงวิริยะอุตสาหะแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ระหว่างเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2462-2469) อันเป็นผลทำให้นานาประเทศลดหย่อนผ่อนอำนาจและสิทธิพิเศษหลายประการที่มีอยู่เหนือสยาม และปรีดีขอความเป็นธรรมให้แก่พระยากัลยาณไมตรีคนแรก ซึ่งมีนามว่า “เวสเตนการ์ด” ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ” 

สำหรับ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นพระธิดาของ ม.จ.ไตรทศประพันธ์ เทวกุล ซึ่งต่อมา คือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย โดยเสด็จในกรมพระองค์นี้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อจากสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ พระบิดาของพระองค์

ในภายหลัง ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ ได้เป็นหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครวรรค์ศักดิ์พินิต  และผู้คนมักเรียก ม.ร.ว. คนนี้ว่า “คุณท่าน”

ในปี 2526 “คุณท่าน” เขียนจดหมายขอบคุณนายปรีดีที่เวลานั้นล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้หญิงพูนศุขที่ได้ถวายพระเกียรติให้ “พ่อ” และ “สมเด็จปู่” ของเธอในกรณีนี้ 

 

จดหมาย

มูลนิธิ ปรีดี พนมยงค์ 132 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860503, 2871721

15 สิงหาคม 2526

เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ 

ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ จะถึงอสัญกรรม ท่านได้เรียบเรียงเรื่องเกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 จนกระทั่งการนั้นเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 8 เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริง พร้อมด้วยหลักฐานที่อ้างอิงได้โดยตลอด ซึ่งในบันทึกที่ได้เรียบเรียงขึ้นนั้น ท่านได้ขอให้ชาวไทยถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ และเสด็จในกรมฯ พระบิดาของคุณท่าน ในฐานะเสนาบดีผู้รับผิดชอบโดยตรงในการริเริ่มและดําเนินการเจรจาในเรื่องดังกล่าว ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอุตสาหวิริยะ จนกระทั่งงานกู้เอกราชของชาติไทยได้บรรลุเป็นขั้นตอนไปด้วยดี อันสมควรจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ และท่านได้เคยปรารภใคร่จะส่งบันทึกดังกล่าวนี้มาให้คุณท่านด้วย 

ดิฉันจึงขอถือโอกาสวันครบรอบ 100 ปีแห่งวันประสูติของเสด็จในกรมฯ ส่งหนังสือชื่อว่า “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งตีพิมพ์บันทึกดังกล่าวไว้ในภาคผนวกมาให้คุณท่านเพื่อเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้

ด้วยความนับถืออย่างสูง

 ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

วังสวนผักกาด 354 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร  

22 สิงหาคม 2526

เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ 

จดหมายและหนังสือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาให้ ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง 

เป็นการบังเอิญที่นับว่าได้จังหวะดีทีเดียว ในวาระที่พ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงมีชันษาครบ 100 ปี ในปีนี้ และพวกเราลูกหลานทําการเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพระอนุสรณ์ ด้วยการพิมพ์หนังสือพระประวัติและงานของพระองค์ท่านขึ้นมาในครั้งนี้  จุดประสงค์ใหญ่ก็คือเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพ่อ โดยเฉพาะเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับประวัติการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา “สภาพนอกอาณาเขต” (Extra-territoriality) กับนานาประเทศ 

ซึ่งความอุตสาหะความพยายามทุ่มเทและผลงานของพ่อในเรื่องนี้ถูกบดบังมาโดยตลอด  ความดีความชอบส่วนใหญ่ดูจะตกไปอยู่กับพระยากัลยาณไมตรี (ดร.ฟรานซิส บี. แซร์) แต่ผู้เดียว  และในหนังสือตําราประวัติศาสตร์ของไทยซึ่งคนรุ่นหลังใช้ร่ำเรียนกันมา ก็มิได้ให้ความสําคัญในบทบาทของเสด็จปู่และพ่อเลยแม้แต่น้อยนิด 

ทั้ง ๆ ที่ทราบกันดีว่า ดร.แซร์ เป็นเพียงที่ปรึกษา ซึ่งมีพ่อเป็นเสนาบดีผู้บังคับบัญชาเหนืออยู่ในขณะนั้นโดยตลอดเวลา ซึ่งการปฏิบัติงาน ความรับผิดชอบ และคําวินิจฉัยขั้นสุดท้ายของงานกระทรวงย่อมขึ้นอยู่กับเสนาบดีอย่างแน่นอน ดังหลักฐานอ้างอิงที่ปรากฏอยู่แล้ว 

ดิฉันเองนั้นรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแค้นมาตั้งแต่หนังสือ “Glad Adventure” ของ ดร.แซร์ ได้พิมพ์ออกมาเมื่อ พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ใช่นักเขียน ก็จําเป็นที่จะต้องพยายามหาข้อมูลหลักฐานมาอ้างอิงพรรณาเองถึงบทบาทความสําคัญยิ่งของพ่อในด้านการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขตอันเสียเปรียบกับนานาประเทศ เป็นเหตุให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสมอภาคเท่าเทียมกับชาติอื่น ๆ ได้ เพื่อให้เป็นประจักษ์พยานให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ทราบข้อเท็จจริงกันเสียที 

และก็มาประจวบพอดีกับที่ท่านปรีดีได้กล่าวถึง ขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมถวายพระเกียรติแด่สมเด็จปู่ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และพ่อ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ไว้ในหนังสือชีวประวัติของท่าน ทําให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีน้ำหนักขึ้นโดยปริยายด้วยบารมีของท่าน 

ยินดีกับท่านผู้หญิงด้วยที่ท่านรัฐบุรุษมีคนยกย่องชมเชย ลูกศิษย์ผู้นิยมนับถือมากมายทั่วประเทศ จึงใคร่ขอถือโอกาสขอบพระคุณท่านผู้ล่วงลับไปแล้วและท่านผู้หญิงมาอย่างสูง ณ ที่นี้ 

สําหรับท่านผู้หญิงเอง ดิฉันนิยมในความสุขุมและเรียบร้อย ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว และขอชมเชยว่าเป็นภรรยาที่ดีได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีอย่างแท้จริงตลอดจนถึงที่สุด  เคยพบท่านผู้หญิงโดยบังเอิญที่งานแสดงไม้ประดับ ณ วังสวนผักกาด ไม่ทราบว่า ท่านผู้หญิงเคยขึ้นไปชมของโบราณที่ข้างบนในพิพิธภัณฑ์บ้างหรือไม่ จึงขอส่งหนังสือ “The Suan Pakkad Palace Collection” มาให้พร้อมทั้งหนังสือ “พระประวัติและงานของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย” ซึ่งท่านปรีดีได้อ้างถึงไว้ในหนังสือชีวประวัติย่อของท่านที่ท่านผู้หญิงได้กรุณาส่งมาสําหรับเป็นที่ระลึกด้วยในวาระนี้

ด้วยความนับถือ 

หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร 

มูลนิธี ปรีดี พนมยงค์ 172 ซอยสวนพลู
ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120
โทร. 2860484 

26 สิงหาคม 2526

เรียน ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ที่นับถือ 

ดิฉันขอขอบพระคุณอย่างสูงในจดหมายลงวันที่ 22 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือวังสวนผักกาด และหนังสือพระประวัติของเสด็จในกรมฯ อันเป็นหนังสือที่มีค่าอย่างยิ่งทั้งสองเล่ม ซึ่งคุณท่านได้กรุณาส่งมาให้ 

ดิฉันมีความภูมิใจว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้มีโอกาส แม้นจะเพียงน้อยนิดก่อนถึงแก่กรรม แสดงกตเวทิตาต่อท่านผู้ได้ทรงบําเพ็ญคุณประโยชน์อันสูงส่งให้กับบ้านเมือง  ให้การนั้นเป็นที่ตระหนักแก่คนรุ่นหลัง และให้เป็นความถูกต้องในประวัติศาสตร์ 

ดิฉันขอถือโอกาสนี้ส่งหนังสือบางเล่มที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ มาให้คุณท่านเป็นที่ระลึกพร้อมกันนี้ด้วย

ด้วยความนับถืออย่างสูง

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

วังสวนผักกาด 352 ถนนศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานคร 

28 สิงหาคม 2526

เรียน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ทราบ 

จดหมายลงวันที่ 26 สิงหาคม พร้อมทั้งหนังสือ 5 เล่ม เกี่ยวกับท่านปรีดี ได้รับแล้วด้วยความขอบคุณยิ่ง  พลิกดูแล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างในหนังสือเหล่านี้น่าสนใจอยู่มากทีเดียว  

ตามความรู้สึกของดิฉัน ท่านได้ทําคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากทีเดียว ในการที่ได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านศัตรูซึ่งมารุกรานท่ามกลางความยากลําบากนานาประการในระหว่างสงคราม จนกระทั่งประสพความสําเร็จกอบกู้ชาติไทยให้เป็นอิสระอยู่จนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชยมาก 

ณ โอกาสนี้ ดิฉันใคร่ระลึกถึงขอบพระคุณท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และท่านผู้หญิงมาอีกครั้งหนึ่ง ในส่วนที่ท่านได้ช่วยเหลือทําให้บทบาทความสําคัญของเสด็จปู่และของพ่อ  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ไขสนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต มีน้ําหนักขึ้นในประวัติศาสตร์ ทําให้เป็นที่ตระหนักและเข้าใจโดยถูกต้องแก่คนรุ่นหลังต่อไป

ด้วยความนับถือ

หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร

 

พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือวัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2531, น. 111-115.

* ในการเผยแพร่ครั้งนี้ มีการเคาะย่อหน้าใหม่ เพื่อความสะดวกในการอ่าน