ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านอาจารย์ปรีดีฯ กับการสร้างความมั่นคง ให้แก่สังคมไทย

27
กรกฎาคม
2563

ตลอดเวลา 45 ปี ของชีวิตการทํางาน ผมได้ไปพูดในสถานที่หลายแห่ง ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไม่เคยมีความรู้สึกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ มีความรู้สึกเป็นเกียรติปลาบปลื้มภาคภูมิใจ เพราะผมได้มีโอกาสมายืนอยู่ต่อหน้าอนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์ปรีดี ท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่พวกเราเคารพรักอย่างสูง ในสถาบันที่พวกเราภาคภูมิและเคารพรัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกําลังจะกล่าวถึงงานสําคัญยิ่งที่อาจารย์ปรีดีมีต่อบ้านเมืองและสังคมไทย 

อาจารย์ปรีดีเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการเคารพยกย่องจากคนไทยมาช้านาน แม้ช่วงเวลาที่ท่านได้รับใช้บ้านเมืองจะสั้น แต่ผลงานนั้นยิ่งใหญ่ ยากที่จะมีผลงานผู้ใดเท่าเทียม ท่านเป็นมันสมองของคณะราษฎร นําการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาสู่แผ่นดินไทย เป็นผู้สร้างรากฐานทางการปกครอง เศรษฐกิจ การเงิน การคลังของประเทศ และในที่สุดท่านเป็นผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกการเมืองเล่นงานจึงต้องไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่หยุดยั้งในการเสนอแนวความคิดเพื่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติไทย 

ผมขอนําเสนองานชิ้นสําคัญยิ่งอันหนึ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้ริเริ่มเมื่อ 60 ปีก่อนแต่เป็นงานที่มีการพูดถึงน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่เป็นงานที่สําคัญยิ่ง งานนั้นก็คือ การสร้างความมั่นคงทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของเค้าโครงเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักกันดี  

เค้าโครงเศรษฐกิจหรือที่ อ.ดร.เดือน บุนนาค เรียกว่า แผนพัฒนาประเทศฉบับแรก  แผนพัฒนาประเทศของอาจารย์ปรีดีมีความหนาเพียง 83 หน้า (ยกเล็ก) ประกอบด้วย 3 ตอนด้วยกัน ตอนแรก คือ เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ ตอนที่สอง เค้าโครงว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และตอนที่สาม เค้าโครงว่าด้วยการประกอบการเศรษฐกิจ 

เป้าหมายที่อาจารย์ปรีดีได้เสนอแผนพัฒนาประเทศขึ้นครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้บรรลุถึงเจตนารมณ์ 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งได้ประกาศในตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะในหลักประการที่สาม คือ “อันต้องบํารุงความสุขของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา และจะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” 

แผนพัฒนาประเทศของอาจารย์ปรีดี แม้จะใช้หัวเรื่องว่า “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” แต่ให้ความสําคัญทางสังคมไว้อย่างมาก โดยเน้นที่จะจัดระเบียบทางสังคม อาจารย์ปรีดีได้ให้เหตุผลถึงความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการทางสังคม เพราะความไม่เที่ยงแท้แห่งเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้กล่าวไว้ในหมวดที่สองของเอกสารสําคัญ โดยกล่าวถึงความแร้นแค้นของราษฎรว่า ผู้ที่มีจิตเป็นมนุษย์ประกอบด้วยความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อเห็นสภาพชาวนาในชนบทก็ดี เห็นคนยากจนอนาถาในพระนครก็ดี ก็จะปรากฏความสมเพชเวทนาขึ้นในทันใด 

ท่านคงจะเห็นว่า อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ อันเป็นปัจจัยแห่งการดํารงชีวิตของบุคคลเหล่านี้แร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทาน พรุ่งนี้ และวันต่อไปจะคงมีหรือจะขาดแคลนก็ยังทราบไม่ได้ อนาคตก็ไม่แน่วแน่ เมื่อท่านปลงสังขารต่อไปว่า  ชีวิตของเราย่อมชราย่อมเจ็บป่วย เมื่อบุคคลเข้าอยู่ในสภาพเช่นนั้นจะยังคงมีอาหารรับประทานอยู่อีกหรือไม่ เพราะแม้แต่กําลังวังชา จะแข็งแรงก็ยังขาดแคลนอยู่แล้ว คนมั่งมี คนชั้นกลาง คนยากจน ก็อาจแร้นแค้น  

ความไม่เที่ยงแท้แห่งการดํารงชีวิตนี้มิใช่จะมีอยู่แต่ในหมู่ราษฎรที่ยากจนเท่านั้น คนชั้นกลางก็ดี คนมั่งมีก็ดี ย่อมจะต้องประสบความไม่เที่ยงแท้ด้วยกันทุกผู้ทุกนาม  เงินทองที่ท่านหามาได้ในเวลานี้ ท่านคงจะเก็บเงินนั้นไว้ได้จนกว่าชีวิตของท่านจะหาไม่และอยู่ตลอดสืบไปถึงบุตรหลานเหลนของท่านได้

หรือตัวอย่างมีอยู่มากมายที่ท่านคงพบเห็นว่า คนมั่งมีในสมัยหนึ่งต้องกลับเป็นคนยากจนอีกสมัยหนึ่ง หรือมรดกที่ตกทอดไปถึงบุตรต้องละลายหายสูญไปไม่คงอยู่ตลอดชีวิตของบุตร ผู้มั่งมีกลับตกเป็นผู้ยากจนเช่นนี้ 

ท่านจะเห็นแล้วว่า ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้อันจะเป็นการประกันการดํารงชีวิตของท่านได้  ท่านจะรู้แน่หรือว่า สังขารของท่านจะยังคงแข็งแรงทํางานได้ตลอดชีวิต ถ้าท่านป่วยหรือพิการอย่างใด ท่านทํางานไม่ได้ ท่านต้องใช้เงินที่ท่านมีอยู่ เงินนั้นย่อมสูญสิ้นหมดไป เช่นนี้แล้วท่านจะได้อาหารที่ไหนรับประทาน ถ้าท่านป่วยหรือพิการทํางานไม่ได้ ท่านลองนึกว่า ถ้าท่านตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ท่านจะอยู่ได้อย่างไร 

ข้อความดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์สภาพสังคมไทย ซึ่งใช้ถ้อยคําเพียง 300 คํา แต่สะท้อนถึงสังคมไทย มีเนื้อหากะทัดรัดได้อย่างชัดแจ้งและลุ่มลึก 

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักวิชาการประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ได้กล่าวว่า เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารวิเคราะห์สังคมไทยในเชิงวิชาการฉบับแรกที่เขียนโดยคนไทย เอกสารฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่ออาจารย์ปรีดีมีอายุเพียง 30 ปีเศษ และได้ใช้เวลาไปศึกษาต่างประเทศถึงเกือบ 7 ปี และเพิ่งเดินทางกลับ แต่ท่านสามารถที่จะวิเคราะห์ถึงสภาพสังคมไทยได้อย่างครบถ้วน แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของท่านอย่างแท้จริง 

เมื่อได้เสนอภาพปัญหาสังคมไทยเสร็จแล้ว อาจารย์ปรีดีก็ได้เสนอทางออกไว้ในหมวดที่ 3 การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรไทยใช้หัวข้อว่า “ราษฎรทุกคนควรได้รับประกันจากรัฐบาล” และเสนอเหตุผลว่า ความไม่เที่ยงแท้ในการเศรษฐกิจเป็นอยู่เช่นนี้ จึงมีนักปราชญ์คิดวิธีแก้ไขโดยวิธีรัฐบาล ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) หรือที่รู้จักกันใน ปัจจุบันว่า ประกันสังคม 

กล่าวคือ ราษฎรที่เกิดมาย่อมจะได้รับประกันจากรัฐบาลว่า ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งสิ้นชีพ ซึ่งในระหว่างนั้นจะเป็นเด็ก หรือเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชราทํางานไม่ได้ก็ดี ราษฎรก็จะได้มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ และปัจจัยแห่งการดํารงชีวิต รัฐบาลประกันได้เช่นนี้แล้ว ราษฎรทุกคนจะนอนตาหลับ เพราะไม่ต้องกังวลว่า เมื่อเจ็บป่วย หรือพิการ หรือชราแล้ว จะต้องอดอยาก หรือเมื่อมีบุตรจะต้องเป็นห่วงใยในบุตรของตนว่า เมื่อสิ้นชีพไปแล้ว บุตรจะอดอยากหรือไม่ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกันอยู่แล้ว การประกันนี้ย่อมวิเศษดียิ่งกว่าการสะสมเงินทอง เพราะเงินทองนั้นเป็นของไม่เที่ยงแท้ 

แผนทางด้านประกันสังคมเขียนไว้ในหมวดที่ 3 คือ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และยกร่างเรียกว่า พระราชบัญญัติสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ราษฎร แผนนี้มุ่งที่จะให้ราษฎรทุกคนได้รับหลักประกันในการดํารงชีพจากรัฐบาล โดยรัฐบาลจะจัดหางานให้ทําและมีหลักประกันในการทํางานและในกรณีชราภาพ ซึ่งอาศัยแนวคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมเป็นเจ้าหนี้ต่อกัน ใช้ภาษาอังกฤษว่า Solidarism คํานี้ในความหมายปัจจุบันคือ ความร่วมมือและความเป็นพี่น้อง โดยมีหลักการว่ามนุษย์ซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน แต่ละคนมีหนี้ทางจริยธรรมต่อกัน เช่น คนจนก็เพราะฝูงชนทําให้จนได้ ดังนั้นจึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมมือในการทํางาน 

ท่านอาจารย์ปรีดีได้กล่าวต่อไปว่า การประกันเช่นนี้เป็นการเหลือวิสัยที่บริษัทเอกชนจะพึงทําได้หรือถ้าทําได้ก็จะต้องเสียเบี้ยประกันแพงจึงจะคุ้ม ราษฎรจะเอาเงินที่ไหนมา  การประกันเช่นนี้จะทําได้ก็แต่โดยรัฐบาลเท่านั้น เพราะรัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องเก็บเบี้ยประกันภัยจากราษฎรโดยตรง รัฐบาลอาจจัดหาสิ่งอื่นแทนเบี้ยประกันภัยได้ เช่น จัดให้แรงงานของราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อมเป็นจํานวนวันหนึ่งคนละเล็กน้อยซึ่งราษฎร ไม่รู้สึก ดังนี้เป็นต้น 

การกล่าวนําถึงสภาพปัญหาและความจําเป็นที่อาจารย์ปรีดีได้เขียนไว้ในโครงร่างของพระราชบัญญัติว่าด้วยความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้น ก็คือ หลักการของกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม หรือกฎหมายประกันสังคมได้ถือกําหนดมาก็โดยตระหนักถึงสภาพความจริงที่ว่าความไม่แน่นอนของสังคม และเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกในสังคมในกรณีที่ประสบอุบัติภัยหรือ เจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ ตายหรือชราภาพ ก็จะได้มีเงินทองไปดํารงชีพได้ต่อ ซึ่งเป็นหลักการที่อาจารย์ปรีดีได้เสนอ ยิ่งกว่านั้นหลักสําคัญอีกประการหนึ่งของการประกันสังคมก็คือการที่สมาชิกในสังคมจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน หรือที่พูดกันเป็นภาษาง่าย ๆ ว่าต้องเฉลี่ยทุกข์และเฉลี่ยสุข 

แนวทางที่อาจารย์ปรีดีเสนอพอจะเรียกได้ว่า มีข้อแตกต่างกับหลักความมั่นคงทางสังคม และประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ก็คือ โครงการความมั่นคงทางสังคมและประกันสังคมจะต้องมีกองทุนกลางเกิดขึ้นโดยรัฐเป็นผู้จัด โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ นายจ้างลูกจ้างและผู้มีรายได้ประจําส่งเงินสมทบ แต่โครงร่างของอาจารย์ปรีดีเสนอให้รัฐจ่ายให้โดยตรง แต่อย่างไรก็ดี โครงการความมั่นคงทางสังคมของบางประเทศ อย่างเช่น ของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ดําเนินการในรูปนี้ด้วย ซึ่งเรียกกันว่า การประชาสงเคราะห์ คือ รัฐบาลใช้ภาษีอากรมาจ่ายให้ผู้ยากจนเดือดร้อน โดยผู้นั้นไม่ต้องออกเงินสมทบ แม้เรื่องเงินสมทบอาจารย์ปรีดีจะไม่ได้พูดไว้อย่างชัดแจ้ง แต่ท่านเองก็มีแนวคิดอยู่ด้วย เช่น ท่านพูดถึงว่าการเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อมจํานวนวันละเล็กละน้อย ซึ่งก็สามารถเอาเงินเหล่านั้นมาตั้งกองทุนขึ้นได้ 

แผนสร้างความมั่นคงทางสังคมของอาจารย์ปรีดีได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี หรือคณะราษฎรในปี 2476 แสดงว่า คงจะได้ร่างขึ้นพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในช่วงปี 2475 ฉะนั้น คงพอจะกล่าวได้ว่า อาจารย์ปรีดีคงจะได้แนวคิดเรื่องนี้ในขณะที่ศึกษาอยู่ประเทศฝรั่งเศส (อาจารย์ปรีดีใช้เวลาศึกษาที่ประเทศ ฝรั่งเศสอยู่ประมาณ 7 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2463-2470 หรือ ค.ศ. 1920-1927) 

เกี่ยวกับเรื่องนี้อาจารย์ปรีดีได้กล่าวไว้ในเอกสารฉบับนั้นว่า แนวคิดของนักปราชญ์ซึ่งท่านคงหมายถึงนักคิดที่มีอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและในประเทศยุโรป และในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1836 นายกรัฐมนตรีบิสมาร์คแห่งประเทศเยอรมนี ได้ออกกฎหมายว่าด้วยการประกันการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และประเทศในยุโรป รวมถึงในประเทศฝรั่งเศสใช้เป็นกฎหมายว่าด้วยอุบัติเหตุจากการทํางาน การประกัน การเจ็บป่วย และการว่างงาน  เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ทราบว่า ท่านอาจารย์ปรีดีได้ชี้แจงให้คณะราษฎรหรือสาธารณชนได้ทราบถึงเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง 

อย่างไรก็ดี ควรจะกล่าวด้วยว่า จนถึงปี 2475 ยังไม่มีประเทศในยุโรปประเทศใดออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดของอาจารย์ปรีดี จนกระทั่งต่อมาในปี 2478 หรือ ค.ศ. 1935 สหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้มีกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ซึ่งรวมหลักประกันเรื่องการเจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ บํานาญแ ละว่างงานเข้าด้วยกัน 

ผมขอสรุปเปรียบเทียบหลักการของร่างพระราชบัญญัติประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรกับหลักโครงการความมั่นคงทางสังคมในปัจจุบัน ในการเสนอแนวคิดการสร้างหลักประกันความสุขสมบูรณ์ดังต่อไปนี้ 

ประการแรก คือ หลักของความไม่แน่นอน อนิจจัง มีเกิดแก่เจ็บตาย และก็มีภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งหลักประกันสังคมหรือหลักความมั่นคงทางสังคมก็เช่นเดียวกัน ในชีวิตคนเรายิ่งในชีวิตสังคมอุตสาหกรรมนี้มีความเสี่ยงภัยมากมาย ตัวเองและแม้แต่ครอบครัวไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างสมัยเมื่อ 100 ปีก่อน จําเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาสร้างหลักประกันให้ 

ประการที่สอง สมาชิกในสังคมจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อกันและกัน ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็ได้เน้นถึงหลักที่ท่านใช้ว่า เป็นหลักว่าด้วยราษฎรมีหนี้ร่วมกัน คือ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน 

ประการที่สาม ท่านพูดไว้อย่างชัดแจ้งว่า การสร้างหลักประกันต่าง ๆ เหล่านี้ บริษัทเอกชนทําไม่ได้ เพราะว่าถ้าเอกชนทํา ก็จะต้องเรียกเก็บเบี้ยประกันแพง ข้อนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด เป็นสัจธรรม เพราะถ้าจะให้เอกชนเข้ามาสร้างหลักประกันให้อย่างทุกวันนี้ก็มีการทํากัน แต่เบี้ยประกันแพงมาก คนธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะไปซื้อประกันเอกชนได้ เพราะบริษัทเอกชนอยู่ได้เพราะมีกําไร และในการที่จะให้ประชาชนซื้อกรมธรรม์ต่าง ๆ นั้น ก็จะต้องอาศัยตัวแทนนายหน้า ซึ่งจะต้องเรียกค่าคอมมิชชั่น หรือยิ่งกว่านั้นในสมัยปัจจุบันนี้ก็จะต้องเสียค่าโฆษณาทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ จะต้องใช้จ่ายเป็นจํานวนมาก

คงจะเห็นได้ว่าแนวคิดของอาจารย์ปรีดีในการสร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่ราษฎรมีความคล้ายคลึงกับหลักของความมั่นคงทางสังคมและประกันสังคมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ร่างพระราชบัญญัติการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติที่สั้นมากมีเพียง 14 มาตรา แม้อาจารย์ปรีดีได้อธิบายเพิ่มเติมไว้แต่ยังขาดรายละเอียดซึ่งจะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวง ฉะนั้น จึงขาดความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่นําไปสู่ความเข้าใจผิดจนเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย 

นับว่าเป็นโชคร้ายของบ้านเมืองเราที่แนวคิดการสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมไทยที่อาจารย์ปรีดีเสนอไว้เมื่อ 60 ปีที่แล้วต้องตกไป เพราะแนวคิดดังกล่าวปัจจุบันนี้ประเทศกว่า 150 ประเทศ ถือเป็นกฎหมายรากฐานของบ้านเมือง สาเหตุสําคัญอยู่ที่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งนั้นมุ่งไปที่แผนเศรษฐกิจ และเห็นว่าเป็นแผนเศรษฐกิจซึ่งใช้วิธีการของลัทธิคอมมิวนิสต์สังคมนิยม จึงไม่มีใครยอมรับโดยไม่ได้พิจารณาแบบสร้างความมั่นคงทางสังคม ซึ่งในช่วงเวลานี้มีหลายประเทศเริ่มโครงการประกันการอุบัติเหตุการทํางาน การเจ็บป่วย การว่างงาน แต่ยังไม่มีประเทศใดดําเนินการตามที่ อาจารย์ปรีดีเสนอ แม้แต่ประเทศรัสเซียซึ่งเป็นเป้าหมายของการโจมตีอาจารย์ปรีดีหรือประกันสังคมนั้นเอง 

ถึงกระนั้นก็ตามในตอนประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้เสนอนโยบายทางใหม่และประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคมในปี ค.ศ. 1936 (2478) นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามและนักเขียนหลายคนได้กล่าวหาประธานาธิบดีรูสเวลท์เป็นคอมมิวนิสต์ การกล่าวหาดังกล่าวยังมีต่อเนื่องมาถึงประธานาธิบดีทรูแมน และนักการเมืองพรรคเดโมแครต 

จากวิวัฒนาการโครงการประกันสังคมในต่างประเทศก็จะพบว่า การริเริ่มมักจะได้รับการคัดค้านต่อต้าน ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีประสบการณ์ตั้งแต่อาจารย์ปรีดีได้เสนอแนวทางเมื่อปี 2476 และยังไม่ได้มีการพิจารณากันอย่างละเอียดก็ถูกปฏิเสธ 

หลังจากนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในตอนกลับมาเป็นนายกฯ ครั้งที่สองในปี 2494 และขณะเดียวกันก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้นําความคิดมาสานต่อ โดยสามารถเสนอให้มีพระราชบัญญัติประกันสังคม ซึ่งออกมาใช้ในปี 2497 แต่ก็ประสบการคัดค้านต่อต้านเช่นเดียวกัน จนต้องเลื่อนการใช้กฎหมาย ไปถึงปี 2500 แต่ในที่สุดเมื่อจอมพล สฤษดิ์มาปฏิวัติก็นํากฎหมายนี้ไปเก็บไว้บนหิ้งจนถึงปี 2515 มีความพยายามออกกฎหมายแรงงานฉบับที่สอง ภายใต้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 กฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินทดแทนซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของการประกันสังคมก็ออกมาใช้และได้ใช้เวลาอีกเกือบ 20 ปี ถึงได้มีพระราชบัญญัติประกันสังคมออกมาในปี 2533 และใช้มาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาเกือบ 3 ปี 

พระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 หลักการใหญ่ก็เหมือนหลักการของร่างพระราชบัญญัติสร้างความสุขสมบูรณ์ของราษฎรของอาจารย์ปรีดี ตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิตคน ตระหนักถึงความจําเป็นที่สังคมจะต้องรับผิดชอบร่วมกันเฉลี่ยความเสี่ยงภัย และรัฐจําเป็นที่จะต้องเข้าไปดําเนินการ โดยให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลออกเงินสมทบเข้ากองทุนกลาง และนํากองทุนกลางเหล่านี้ออกมาช่วยราษฎรในกรณีประสบอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ ปัจจุบันนี้ได้คุ้มครองลูกจ้าง 4 ล้านคนในเรื่องอุบัติเหตุ เจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ และตาย ในปี พ.ศ. 2535 กับจะขยายไปคุ้มครองในกรณีชราภาพ และว่างงาน 

ในการศึกษาวิวัฒนาการกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม มีนักวิชาการต่างประเทศหลายท่านได้กล่าวถึงการริเริ่มของนายกรัฐมนตรีบิสมาร์ค และต่อมาการริเริ่มของประธานาธิบดีรูสเวลท์ เพราะทั้งสองท่านได้ตระหนักดีถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นควบคู่กับกระแสแนวคิดทางด้านสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ของคาลมาร์กซ์และเลนินกําลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว  บิสมาร์คและรูสเวลท์จึงเสนอโครงการความมั่นคงทางสังคมเป็นมาตรการที่จะสร้างหลักประกันให้แก่ประชาชนเพื่อสกัดกั้นการเผยแพร่ของลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ผลค่อนข้างมากโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วงประธานาธิบดีรูสเวลท์ออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคมเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ (พ.ศ. 2472) พรรคสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์กําลังได้รับความนิยมอย่างมาก แต่เมื่อประธานาธิบดีรูสเวลท์เข้ามารับหน้าที่บริหารประเทศ ได้นํานโยบาย New Deal หรือแนวทางใหม่ โดยออกกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ออกกฎหมายทางด้านแรงงาน เข้าไปดูแลผู้มีปัญหาทางสังคม ผู้ยากไร้ต่าง ๆ ก็ทําให้กระแสลัทธิทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้ลดถอยลงในที่สุดจนพรรคคอมมิวนิสต์ในสหรัฐไม่เคยเติบโตเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง 

กล่าวโดยสรุป แนวคิดของอาจารย์ปรีดีว่าด้วยการสร้างความมั่นคงทางสังคม ก็คือ การประกันสังคม สิ่งที่รอคอยมา 36 ปี เพิ่งเป็นผลสําเร็จเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ทั้ง ๆ ที่อาจารย์ปรีดีเสนอไว้เมื่อ 60 ปีแล้ว นี้ก็คือสัจธรรมที่พวกเราควรจะได้จดจําไว้คือ สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยส่วนใหญ่ต่อคนยากจน ยากที่จะได้ผลโดยง่าย ต้องใช้เวลาผลักดันกันนาน บ่อยครั้งผู้ริเริ่มก็ต้องประสบเคราะห์กรรม 

ความคิดของอาจารย์ปรีดีได้ก่อประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองหลายด้านหลายสาขา แม้ความคิดบางอย่างไม่ได้รับการสนองตอบในขณะนั้น ก็มีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อมา ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยจะจารึกผลงานของท่านในฐานนักคิดนักปฏิรูปสังคม 

 

ที่มา: หนังสือ วัน "ปรีดี" พนมยงค์ 11 พฤษภาคม 2537. หน้า 15-23.

 

หมายเหตุ:

ศาสตราจารย์ นิคม จันทรวิทุร ผู้ล่วงลับ เป็น ต.ม.ธ.ก. รุ่น 4 เคยเป็นอธิบดีกรมแรงงาน ระยะที่เพิ่งตั้งกรมแรงงานในกระทรวงมหาดไทย, ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระหว่างประเทศ, ที่ปรึกษาด้านแรงงานของรัฐบาล, อาจารย์ผู้บรรยายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และราชบัณฑิต สาขาสังคมวิทยา 

บทความนี้มาจากปาฐกถาเนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2536