ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ไมเคิล ชาร์นี่ย์: ประเทศไทย สัมพันธมิตร และทางรถไฟ

27
สิงหาคม
2563

ในโลกวิชาการตะวันตก เมื่อกล่าวถึงผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การสงครามของเอเชียอาคเนย์ บุคคลอันดับต้น ๆ ซึ่งมักเป็นที่นึกถึงของใครหลายคนก็คงหนีไม่พ้น อาจารย์ไมเคิล ชาร์นี่ย์ (Michael W. Charney) แห่งวิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London)

อาจารย์ท่านนี้เป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนใจประเด็นว่าด้วยเรื่องการทหาร และลัทธิล่าอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งก่อนและขณะยุคสมัยใหม่ ผลงานของอาจารย์นั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่หนังสือ ตํารา บทความ ไปจนถึงคําบรรยายในโอกาสสำคัญต่าง ๆ  ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ชาร์นี่ย์ได้อุตสาหะวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะหลักฐานภาษาพม่า ซึ่งเป็นภาษาที่อาจารย์ชาร์นี่ย์สามารถสื่อสารคล่องแคล่วพอ ๆ กับเจ้าของภาษา  สุดท้ายจึงคงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่า อาจารย์ชาร์นี่ย์เป็น “ผู้รู้” คนสําคัญสําหรับวงการเอเชียอาคเนย์ศึกษา  ในโอกาสนี้ เราเลยตัดสินใจขอสัมภาษณ์อาจารย์ในประเด็นเรื่องประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองสัมผัสกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์จากมุมมองของนักวิชาการชาวตะวันตกดูบ้าง

เรานัดหมายขอสัมภาษณ์อาจารย์ชาร์นี่ย์ที่ห้องทํางาน ณ วิทยาลัยบูรพศึกษาและการศึกษาแอฟริกา อาจารย์ต้อนรับพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ซึ่งช่วยให้บรรยากาศโดยรวมลดความเป็นทางการลงอย่างมาก เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเวลาของอาจารย์ เราเริ่มต้นด้วยคําถามแรก ซึ่งเป็นคําถามที่ดูไม่ค่อยมีใครในประเทศไทยเคยเอามาขบคิดกันจริงจังนัก คือ ในทัศนะของอาจารย์ “สงครามแปซิฟิก” กับ “สงครามโลกครั้งที่ 2” นั้นต่างกันหรือเหมือนกัน เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามักใช้คําเรียกสลับไปมาจนราวกับว่าทั้งสองคือสิ่งเดียวกัน

อาจารย์กอดอกคิดอยู่ชั่วครู่แล้วให้ความเห็นว่า “สงครามแปซิฟิก” กับ “สงครามโลกครั้งที่ 2” ต่างแยกออกจากกันเป็น 2 บรรยากาศ มีพื้นที่ปฏิบัติการในยุโรปกับพื้นที่ปฏิบัติการในเอเชียแปซิฟิก สงครามสองอันนี้มีลักษณะต่างกันและเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา แต่ต่อมาก็รวมกันจนกลายเป็นสงครามใหญ่ ที่จริงสงครามแปซิฟิกนั้นเริ่มก่อน ตอนที่เกิดการรบครั้งที่ 2 ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2480 จากนั้นก็ลุกลามไปเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าเยอรมนีไม่ได้บุกโปแลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2482 ก็คงจะไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น  สุดท้าย เราคงมีเฉพาะสงครามจีน-ญี่ปุ่น หรือเป็นแค่เพียงสงครามแปซิฟิก  อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเราทุกคนทราบดีว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้น แต่ถึงกระนั้นลักษณะการแบ่งแยกก็ยังดํารงอยู่ต่อไป จีนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับสมรภูมิในยุโรปและรัสเซียยืนยันไม่เข้าร่วมในการรบกับญี่ปุ่นจนกระทั่งนาทีสุดท้าย หรือทางฝ่ายอักษะเองก็มีการแบ่งแยกเช่นกัน ดังนั้น แม้สงครามทั้งสองมักจะถูกรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว แต่ในความคิดของอาจารย์ ทั้งคู่ยังเป็นเหตุการณ์ระดับโลก 2 ส่วนที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี

เมื่อได้ฟังความแตกต่างของสงครามทั้งสองแล้ว เราถามอาจารย์ถึงเป้าหมายที่มหาอํานาจตะวันตกอย่างอังกฤษและสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอุบัติขึ้น มหาอํานาจทั้งสองประเทศต้องการให้ประเทศไทยทําตัวเช่นไรบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่กําลังคุกรุ่นไปด้วยความตึงเครียด

อาจารย์ชาร์นี่ย์อธิบายว่า ตามยุทธศาสตร์ของอังกฤษและสหรัฐฯ เป้าหมายระยะสั้นต่อประเทศไทยก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลรุกราน คือ เรื่องผลประโยชน์ด้านความมั่นคง ส่วนในระยะยาว คือ เรื่องผลประโยชน์เชิงการค้า ประเทศไทย คือ ตลาดข้าวรวมทั้งสินค้าสําคัญอื่น ๆ อย่างยางพารา ซึ่งผลกําไรที่เกิดจากการค้าขายกับประเทศไทยนั้นถือเป็นผลประโยชน์ที่งดงามยิ่ง

แต่ถึงกระนั้น ชาติตะวันตกมีเรื่องเฉพาะหน้ากว่า นั่นคือ การที่ประเทศไทยมีตําแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นับเป็นจุดเปราะบางอย่างยิ่งสําหรับอังกฤษ และที่จริงก็รวมถึงอินโดจีนฝรั่งเศสด้วย ดังนั้น การทําให้ประเทศไทยกลายเป็นกลาง ไม่เข้ากับผู้ใด หรือทําให้เราเป็นเดียวกันกับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นสิ่งสําคัญมาก เพราะหากประเทศร่วมมือกับจักรวรรดิญี่ปุ่น ในแง่ความมั่นคงของฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว นี่ถือเป็นหายนะเลยทีเดียว  สําหรับอังกฤษ การเสียประเทศไทยไปให้ญี่ปุ่นเป็นการเปิดพื้นที่ของตนให้ต้องประชิดแนวหน้าของสงคราม คือ ดินแดนของอังกฤษในมาลายาและพม่าต้องเผชิญหน้ากับกองทัพญี่ปุ่นโดยตรง ไม่มีอะไรเป็นกันชนอีกต่อไป

อาจารย์ชาร์นี่ย์ย้อนอดีตกลับไปว่า เดิมก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ แต่พอหลังปี พ.ศ. 2480 มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพราะจอมพล ป. มีท่าทีนิยมญี่ปุ่นและนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของเขาก็เข้มข้นขึ้นตลอด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะทางเศรษฐกิจของอังกฤษในประเทศไทยเกิดความสั่นคลอน แต่ถึงอย่างไร รูปแบบสายสัมพันธ์ที่ประเทศไทยมีกับอังกฤษก็ใช่ว่าจะคล้ายคลึงกับสายสัมพันธ์ที่มีกับสหรัฐฯ เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว อังกฤษจะแสดงท่าทีเป็นมิตรน้อยกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากอังกฤษเข้ามาครอบครองดินแดนที่อยู่ติดกับประเทศไทย คือ มาลายาและพม่า ทําให้ต้องมีปัญหาขัดแย้งกันเสมอ ๆ ซึ่งต่อมาหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สภาพเช่นนี้ได้มีผลให้ท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศไทยมีความแตกต่างจากของอังกฤษเป็นอย่างมาก

จากนั้น อาจารย์ชวนให้เราลองพิจารณาแง่มุมด้านความมั่นคงบ้าง สําหรับอังกฤษ อาจารย์ชาร์นี่ย์เน้นว่า พม่า คือ กุญแจสําคัญ เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สําหรับการป้องกันที่จักรวรรดิอังกฤษได้คาดหมายไว้ตั้งนานแล้วนับแต่ทศวรรษที่ 2470 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อังกฤษเตรียมตั้งรับทหารญี่ปุ่นตามแถบชายแดนพม่าที่ติดกับประเทศไทยโดยมีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นจะเคลื่อนพลมาจากทางเหนือผ่านเชียงใหม่ไปรัฐฉาน แล้วเข้าพม่า จึงมีการจัดตั้งกองกําลังเพื่อป้องกันตนเองในพม่าขึ้น มีการวางกําลังไปตามจุดต่าง ๆ ในพม่า แต่สุดท้ายญี่ปุ่นกลับบุกมาทางใต้ ผิดความคาดหมายโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ว่าญี่ปุ่นจะบุกจากทางไหน อังกฤษกังวลเสมอว่า ประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไร เพราะส่งผลกระทบต่ออาณานิคมของตนโดยตรง อังกฤษนั้นอยากให้ประเทศไทยวางตัวเป็นกลางที่สุด

ด้วยเหตุที่ประเทศไทยมีความสําคัญต่อฝ่ายสัมพันธมิตรถึงเพียงนี้ เราจึงขอให้อาจารย์ชาร์นี่ย์ช่วยเล่าว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตกมองจอมพล ป. หรือประเทศไทยในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศไทยออกมาประกาศเป็นพันธมิตรร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับญี่ปุ่น

อาจารย์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า คนไทยเองน่าจะมีทัศนะเกี่ยวกับจอมพล ป. ระหว่างช่วงสงครามที่เป็นกลางกว่าคนอเมริกัน เพราะคนอเมริกันมักมองจอมพล ป. ไปในเชิงลบ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นมิตรกับปรีดีมากกว่า และเห็นจอมพล ป. เป็นพวกเผด็จการทหารไม่ต่างจากผู้นําอํานาจนิยมคนอื่น ๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้นอย่างเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ของอิตาลี ตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ จึงไม่อาจรับได้กับรัฐบาลของจอมพล ป. จะมาปรับเปลี่ยนทัศนคติบ้างก็เฉพาะเมื่อสงครามเย็นเริ่มต้นขึ้น แต่แค่เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น ก่อนกลับไปมองในแง่ลบตามเดิมอีกครั้ง

ในทัศนะของอาจารย์ชาร์นี่ย์ การที่ประเทศไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ได้เป็นเรื่องของการฉวยโอกาส แต่ส่วนใหญ่ประเทศไทยถูกมองว่าไม่มีทางเลือก เหมือนถูกบีบให้ต้องเผชิญสถานการณ์และทุกคนก็ถูกมองว่าเป็นพวกนิยมญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่ปรีดีหรือจอมพล ป.  คนจํานวนมากมีความคิดว่า จอมพล ป. รู้สึกไม่ค่อยมั่นคงกับความสัมพันธ์ที่เขามีกับญี่ปุ่นช่วงต้นสงคราม ดังนั้น ถ้าสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น จอมพล ป. ก็อาจจะถอนตัวจากความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น หรือกลับไปเป็นกลางดังเดิม ทุกคนน่าจะเข้าใจว่าประเทศไทยถูกกดดันให้ต้องมาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้  อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับด้วยว่า รัฐบาลไทยได้ใช้โอกาสช่วงสงครามเพื่อหาทางเข้าควบคุมดินแดนที่สูญเสียไปในอดีตให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนอีกครั้ง คือ ดินแดนบางส่วนของลาว ทางตะวันตกของกัมพูชา รัฐในมาลายา รวมถึงบางส่วนของกะเหรี่ยงและรัฐฉาน  การที่รัฐบาลไทยเข้าครองดินแดนเพื่อนบ้านเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลวิชี่ (Vichy) ของฝรั่งเศสกําลังอ่อนแอ ถูกเยอรมนีครอบงํา ทําให้ไม่สามารถควบคุมดินแดนอาณานิคมในอินโดจีนได้อย่างเต็มที่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่อังกฤษเสื่อมอํานาจในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังจากที่สนทนากันแต่เรื่องบริบทภาพรวมของสงคราม เราหันมาเจาะประเด็นลงลึกกับเรื่องการสร้างทางรถไฟซึ่งเป็นประเด็นที่นับว่ามีความสําคัญและเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก  เราขอให้อาจารย์เริ่มด้วยการเล่าประวัติศาสตร์ของเส้นทางรถไฟในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เชื่อมต่อประเทศไทยกับพม่า และทําไมกองทัพญี่ปุ่นถึงต้องจริงจังกับเส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์ชาร์นี่ย์เล่าว่า พม่าเดิมไม่มีทางรถไฟสายเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความพยายามจะสร้างเส้นทางรถไฟไปยังยูนนาน (Yunnan) ตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2480 ก่อนมาถูกผลักดันอย่างจริงช่วงปี พ.ศ. 2483-2484 งานก่อสร้างมีวิศวกรชาวอังกฤษดูแล แต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จจนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองพม่า ทีนี้ในส่วนของประเทศไทย ญี่ปุ่นต้องการเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างประเทศเพื่อการคมนาคมบนแผ่นดินใหญ่ จึงจําเป็นต้องสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงกาญจนบุรี ก่อนต่อไปยังมะละแหม่ง (Mawlamyine) เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟของพม่า ถ้าสําเร็จเท่ากับว่าจะเส้นทางรถไฟยาวจากพม่าไปถึงกรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องทางรถไฟนี้มีเรื่องจะต้องขยายความเพิ่มอีก 2 ประการ คือ ประการแรก เส้นทางรถไฟกลายเป็นสิ่งจําเป็นเนื่องจากภารกิจเรือดําน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตร และการทิ้งระเบิดเรือส่งสินค้าในทะเลส่งผลให้การคมนาคมทางเรือเป็นเรื่องยากลําบาก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสะดวกและปลอดภัยกว่าที่ญี่ปุ่นจะส่งเสบียง กําลังคน และของอื่น ๆ ไปยังกรุงเทพฯ แล้วค่อยนําขึ้นรถไฟเพื่อขนส่งต่อไปเขตยูนนาน นอกจากนี้ ประการที่สอง ญี่ปุ่นยังมีแผนที่จะทําโครงข่ายเส้นทางรถไฟข้ามผ่านทวีปเอเชีย รวมถึงอุโมงค์จากเกาะคิวชู (Kyushu) ไปยังเกาหลีด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทําให้ญี่ปุ่นสามารถขนส่งของจากกรุงโตเกียวไปยังที่ไหนก็ได้ในเอเชียโดยทางรถไฟ ดังนั้น การก่อสร้างทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับพม่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางรถไฟข้ามผ่านทวีปเอเชียของญี่ปุ่น เป็นยุทธศาสตร์ที่ใหญ่โตมาก

อาจารย์ชาร์นี่ย์ยังเสริมด้วยว่า โดยเนื้อแท้แล้ว การสร้างทางรถไฟในประเทศไทยช่วงสงครามเป็นปฏิบัติการของญี่ปุ่น เป็นพื้นที่การทํางานของฝ่ายญี่ปุ่นจริง ๆ รัฐบาลไทยแสดงแค่บทบาทรอง แต่แน่นอนว่า ประเทศไทยย่อมต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากโครงการดังกล่าว ไม่ใช่แค่เรื่องการเกณฑ์แรงงานหรือการจัดหาวัสดุก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทําลายเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่กองทัพญี่ปุ่นใช้เพื่อการสงคราม จึงมีการทิ้งระเบิดโจมตีอย่างหนักจนทางรถไฟที่มีอยู่เดิมของประเทศไทยถูกทําลายไปด้วย อย่างทางรถไฟแถวมักกะสันในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ก็ยังมีความสูญเสียของชีวิตผู้คนขณะเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทางเข้ามาทิ้งระเบิดทําลายเส้นทางรถไฟด้วย

อนึ่ง อาจารย์ชาร์นีย์คิดว่า อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทย คือ ตําแหน่งที่ตั้งของประเทศทําให้การโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายสัมพันธมิตรกลายเป็นการโจมตีทางอากาศที่กินระยะทางยาวที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ สําหรับเยอรมนีนั้น เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรต้องเดินทางแค่ 500 ไมล์ (ประมาณ 800 กิโลเมตร) แล้วก็บินกลับ แต่สําหรับประเทศไทยต้องบินจากฐานในอินเดียเหนือซึ่งมีระยะทางไปกลับรวม 2,000 ไมล์ (ประมาณ 3,210 กิโลเมตร) โดยเครื่องบินน่าจะใช้ความเร็วราว 350 ไมล์ (ประมาณ 560 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง ดังนั้น ขาไปจะใช้ 3 ชั่วโมง และขากลับ อีก 3 ชั่วโมง นับเป็นปฏิบัติการที่ยาวไกลมาก

ประเด็นถัดมา เราย้ายมาพูดถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้างว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามมีท่าทีอย่างไรต่อประเทศไทย โดยเฉพาะมหาอํานาจสําคัญอย่างอังกฤษ และสหรัฐฯ เพราะคนทั่วไปนิยมพูดกันว่า ประเทศไทยเจรจาเก่งเลยเอาตัวรอดมาได้ ไม่ต้องตกเป็น “ผู้แพ้” แบบญี่ปุ่น แต่เอาเข้าจริงแล้วมีปัจจัยอย่างอื่นมากกว่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศขณะนั้น

อาจารย์ซาร์นี่ย์เห็นว่า ปัจจัยส่งผลสําคัญจะอยู่ที่ทัศนะอันแตกต่างระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ มหาอํานาจสองชาตินี้ร่วมมือกันรบก็จริง แต่ต่างก็มีวิสัยทัศน์ต่อเอเชียอาคเนย์ในแบบของตน  ด้านอังกฤษนั้นคิดจากฐานที่ว่าตนเป็นจักรวรรดิ มีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก  ขณะที่สหรัฐฯ คิดจากฐานเรื่องการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคแปซิฟิก เนื่องจากจักรวรรดิญี่ปุ่นเพิ่งล่มสลาย จึงทําให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางอํานาจในภูมิภาค โดยสหรัฐฯ ปักใจว่า ตนควรเข้ามาแทนที่ญี่ปุ่น จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มจากการสนับสนุนเจ้าอาณานิคมให้กลับมามีอํานาจ แต่ต่อมาก็กลับต้องการให้เจ้าอาณานิคมเหล่านี้ถอนตัวออกไปเมื่อเกิดสงครามเย็นขึ้น เป้าหมายใหม่ คือ การมีรัฐบาลท้องถิ่นที่มั่นคงเข้มแข็งเพื่อรับมือกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่อังกฤษไม่ได้ให้ความสําคัญมากนัก เพราะอังกฤษยังไม่อยากปลดปล่อยดินแดนในอาณานิคมของตนไป และไม่เคยทบทวนถึงสถานการณ์หลังยุคอาณานิคมอย่างจริงจัง สุดท้าย ท่าทีของสองมหาอํานาจจึงต่างกันและส่งผลโดยตรงต่อฐานะของประเทศไทยภายหลังสงคราม

นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์เข้ามาผสมโรงด้วย คือ ตอนรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 อัครราชทูตไทยประจําอังกฤษได้ดําเนินการประกาศสงครามตามคําสั่งของรัฐบาล แต่อัครราชทูตไทยในสหรัฐฯ กลับไม่ยอม ดังนั้น สหรัฐฯ กับประเทศไทยจึงไม่ได้ประกาศสงครามต่อกันอย่างเป็นทางการ เงื่อนไขนี้ช่วยเปิดช่องให้สหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นมากกว่าเวลาจะทําอะไรกับประเทศไทย

จนเมื่อจอมพล ป. ลงจากตําแหน่ง และสงครามโลกยุติลง ปรีดีจึงออกมาแถลงว่าการประกาศสงครามที่เกิดขึ้นไปนั้นไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญและเจตจํานงของประชาชนไทยทั้งหลาย สุดท้าย การประกาศสงครามกับอีกฝ่ายและการไม่ประกาศสงครามกับอีกฝ่าย จึงทําให้สหรัฐฯ พัฒนาความสัมพันธ์หลังสงครามกับประเทศไทยได้ง่ายกว่าอังกฤษ

ถึงตรงนี้ พอได้พูดถึงสถานการณ์ภายหลังสงคราม อาจารย์ชาร์นี่ย์เพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งว่า เมื่อมองย้อนกลับไปหลังสันติภาพหวนคืนมาสู่ภูมิภาคช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะถือเป็นช่วงเวลาแรกที่ชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มารวมตัวกัน การที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองดินแดนแถบนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นหน่วยเดียวกัน นอกจากนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรเองก็ยังจัดตั้งกองบัญชาการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นมา นี่ทําให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งเป็นหนึ่งเดียวกันเพิ่มมากขึ้นไปอีก ท้ายที่สุด การดําเนินการของจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกและการตอบสนองของฝ่ายสัมพันธมิตรจึงช่วยผลักดันให้ภูมิภาคเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียว หล่อหลอมความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัฒนาจนพร้อมสร้างองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคช่วงหลังสงคราม

สุดท้าย เหตุที่อาจารย์ชาร์นีย์เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการทําวิจัยมานับสิบ ๆ ปี และได้เดินทางไปสัมผัสกับแหล่งข้อมูลมามากมายหลายประเทศ เราจึงถามอาจารย์ถึงเรื่องเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ามีอะไรน่าสนใจหรือมีข้อสังเกตอะไรบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทางรถไฟที่เชื่อมประเทศไทยเข้ากับพม่า ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยที่อาจารย์ชาร์นี่ย์ มีความสนใจเป็นพิเศษ

อาจารย์ตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า เวลาค้นคว้าเรื่องเส้นทางรถไฟ หลายคนนิยมอาศัยบันทึกความทรงจําที่ถูกเขียนขึ้นโดยเหล่าเชลยศึกเป็นแหล่งข้อมูลหลัก แต่ข้อบกพร่อง คือ แม้บันทึกความทรงจําจะช่วยให้ภาพของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดี แต่หลักฐานประเภทนี้อาจมีอคติเจือปนอยู่มาก เพราะเชลยศึกชาวตะวันตกมักมีความทรงจําตลอดจนทัศนคติที่เห็นเส้นทางรถไฟของญี่ปุ่นเป็นเสมือนภาพตัวแทนของความโหดร้ายทารุณที่ได้บังเกิดขึ้นกับตน ทั้งที่ในความจริงแล้ว มีชาวเอเชียเสียชีวิตในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟมากกว่าเชลยศึกชาวตะวันตกเสียอีก อย่างในพม่า มีชาวพม่าจํานวนมากถูกบังคับให้ใช้แรงงานหนักเพื่อสร้างทางรถไฟและการก่อสร้างก็ดําเนินไปในเขตไข้ป่าชุกชุมด้วย ซึ่งแรงงานที่เจ็บป่วยมักถูกปล่อยปละละเลยจนเสียชีวิตไปในที่สุด 

อาจารย์เล่าถึงประสบการณ์ ที่เคยไปเยือนเส้นทางรถไฟในกาญจนบุรี มีข้อมูลแน่นอนว่า ผู้เสียชีวิตขณะก่อสร้างเป็นแรงงานชาวเอเชียมากกว่าเชลยศึกชาวตะวันตก แต่ปัญหา คือ เชลยศึกชาวตะวันตกจํานวนมากได้เขียนบันทึกทิ้งเอาไว้ แต่แรงงานชาวเอเชียเป็นคนงานจากหมู่บ้านหรือถิ่นชนบทที่มักไม่รู้หนังสือ ความทรงจําส่วนใหญ่ที่ถูกส่งทอดต่อมาจึงเป็นของเชลยศึกชาวตะวันตกเท่านั้น ทําให้คนทั่วไปมักรู้สึกว่าเรื่องทางรถไฟเป็นเรื่องของเชลยศึกชาวตะวันตกเป็นหลัก ทั้งที่แรงงานชาวเอเชียก็เจ็บปวดมากพอ ๆ กับเชลยศึก

เส้นทางรถไฟ คือ ความโหดร้ายสําหรับชาวเอเชียด้วย อย่างในประเทศไทยเอง ประเด็นแรงงานท้องถิ่นที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟนับเป็นแง่มุมที่สังคมไม่ค่อยนึกถึงกัน เนื่องจากสื่อในประเทศมักจะนําเสนอเฉพาะเรื่องราวของเชลยศึกชาวตะวันตก และเสนอภาพของแรงงานชาวเอเชียที่ต้องสูญเสียชีวิตไปในช่วงเวลานั้นน้อยมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะหลักฐานข้อมูลที่ขาดหายไปด้วย

ในช่วงท้ายของการพูดคุย เราถามอาจารย์ว่า ทุกวันนี้ เมื่อพูดถึงประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังพอมีประเด็นไหนบ้างหรือไม่ที่ไม่ได้ถูกศึกษาอย่างจริงจัง มีเรื่องอะไรอีกที่นักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ควรทําต่อ

อาจารย์ชาร์นี่ย์แนะนำว่า มีประเด็นอีกมากมาย ทั้งในแง่การเมืองในประเทศช่วงสงคราม ปฏิกิริยาของสหรัฐฯ ปฏิกิริยาของจีน หรือแม้แต่สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย  ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์การทหาร มีนักวิชาการไทยทําไว้ค่อนข้างมากแล้ว แต่จะเขียนกันในภาษาไทย วงรับรู้จึงจำกัด โลกตะวันตกไม่ค่อยเข้าถึง ซึ่งถ้านักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศไทยหันมาเขียนงานในภาษาอังกฤษบ้างก็จะดี เพราะย่อมเป็นหนทางเชื่อมโยงกับงานศึกษาด้านอื่น ๆ  โดยส่วนตัว อาจารย์อยากเห็นงานวิจัยเรื่องเส้นทางรถไฟมากกว่านี้ และนักวิจัยรุ่นใหม่ควรไปศึกษาจากแง่มุมที่แตกต่างออกไป คือมองเส้นทางรถไฟเป็นเรื่องราวของความโหดร้ายให้น้อยลง แล้วมองเป็นเรื่องราวของการคมนาคมขนส่งให้มากขึ้น

อาจารย์ชาร์นี่ย์ยังเพิ่มเติมว่า เวลาหาข้อมูล นักวิจัยไทยอาจลองพิจารณาแหล่งข้อมูลในพม่าเพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ เพราะประเทศไทยมีความสําคัญต่อยุทธศาสตร์การป้องกันดินแดนพม่าเป็นอย่างยิ่ง ทั้งช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการก่อสร้างเส้นทางรถไฟด้วยที่เกี่ยวข้องกับพม่าโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องราวของประเทศไทยสมัยสงครามจึงมีปรากฏในหลักฐานของพม่าไม่น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในภาษาอังกฤษ และที่เหลือก็อยู่ในภาษาพม่า มีทั้งรายงานข่าวกรอง เอกสารราชการ หนังสือ และบันทึกที่ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ ทั้งหมดมีมากนับพันนับหมื่นฉบับ ผู้สนใจสามารถมาสืบค้นได้ที่ส่วนที่เก็บเอกสารของสํานักงานอินเดีย (India Office Records) ในหอสมุดอังกฤษ (British Library) ที่กรุงลอนดอน

บทสนทนาใจกลางกรุงลอนดอนครั้งนี้ทําให้เราได้รับฟังมุมมองที่นักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกคนหนึ่งมีต่อประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็มีประเด็นหลายอย่างที่น่าสนใจ และควรเก็บไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม อย่างน้อยที่สุด อาจารย์ชาร์นีย์เน้นให้เราตระหนักว่า การพิจารณาเรื่องประเทศไทยในยามสงครามจําเป็นต้องอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างมิติต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับการเมืองของชาติมหาอํานาจลงมาจนถึงระดับวิบากกรรมของปัจเจกชนทั่วไป ประเทศไทยสมัยสงครามไม่ใช่แค่เรื่องราวของรัฐบาล ขบวนการเสรีไทย กองทัพ หรือนักการทูตเพียงเท่านั้น ผู้สนใจต้องรู้ด้วยว่า บริบทโลกที่แวดล้อมประเทศไทยอยู่นั้นเป็นเช่นไร ประเทศของเรามีตําแหน่งแห่งที่อยู่ตรงไหนในยุทธศาสตร์ใหญ่ของเหล่าชาติมหาอํานาจ ขณะเดียวกันก็ยังมีประสบการณ์ของผู้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างแรงงานนับพันนับหมื่นที่อาจไม่มีใครรู้จักชื่อ แต่ก็เป็นส่วนประกอบของสงครามที่มองข้ามไปไม่ได้

บทสนทนากับอาจารย์ชาร์นี่ย์จึงเป็นเสมือนการขยายมุมมองให้เราขึ้นไปหาภาพใหญ่พร้อมกับลงไปหาภาพย่อย สุดท้ายก็คงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่จะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อเท็จจริงจากระดับต่างๆ เข้าด้วยกันต่อไปเพื่อให้เรารับรู้ประสบการณ์ของประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ครอบคลุมรอบด้านที่สุด

 

พิมพ์ครั้งแรก: ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (บรรณาธิการ), 70 ปี วันสันติภาพไทย, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, น. 56-71.

 

* ผู้สัมภาษณ์

โดยมีบุญยรัตน์ ดัดสอน เป็นผู้เรียบเรียง และ Elizabeth Carla Smith เป็นผู้ถอดเทป