ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การรับแนวความคิดทางการเมือง จากปรีดี พนมยงค์ ถึงถวิล อุดล

31
สิงหาคม
2563
นายถวิล อุดล (3 พฤศจิกายน 2452 - 4 มีนาคม 2492)
นายถวิล อุดล (3 พฤศจิกายน 2452 - 4 มีนาคม 2492)

 

นายถวิล อุดล เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ดโดยกําเนิด มีโอกาสเข้าเรียนวิชากฎหมายและสอบไล่ได้เนติบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2473 จากโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งในขณะนั้น นายปรีดี พนมยงค์ เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย จึงได้รับการถ่ายทอดแนวคิดวิชาด้านการเมืองและร่วมถกปัญหาด้านการเมืองร่วมกับเพื่อนนักศึกษาในการสะท้อนภาพแนวคิดท้องถิ่นนิยม[1] ความผูกพันระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ส่งผลให้รับรู้และรับเอาแนวคิดที่สอดคล้องกับแนวคิดของนายถวิล โดยเฉพาะแนวคิดท้องถิ่นนิยมที่เรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอํานาจการปกครองไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

ด้วยแนวคิดที่สอดคล้องกันดังกล่าวส่งผลให้เกิดความผูกพันทางความคิดและได้รับเอาแนวคิดในแนวเสรีนิยมจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสําคัญ จึงส่งผลให้เกิดแนวคิดท้องถิ่นนิยมขึ้น เพื่อที่ให้ท้องถิ่นของตนมีความเจริญก้าวหน้าตามอุดมการณ์ที่ว่า จะทํางานให้แก่ประเทศชาติและมาตุภูมิด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ของชาติ ของท้องถิ่น ยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง[2]

ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดแนวคิดดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการดําเนินนโยบายของรัฐบาลในลักษณะตอบสนองความต้องการ และปกป้องผลประโยชน์ของราษฎรในกรุงเทพฯ มากกว่าท้องถิ่น โดยเฉพาะภาคอีสาน ยิ่งกว่านั้นนโยบายการพัฒนาในส่วนที่เป็นการจัดโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การชลประทาน การคมนาคมขนส่ง เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ มากกว่าภาคอีสาน[3]

แนวคิดท้องถิ่นนิยมดังกล่าวได้ปรากฏในหนังสือ สยามอุโฆษ บทความเรื่อง “เทศบาลเป็นหลักประกันประชาธิปไตย” โดยได้เสนอหลักการเป็นรากฐานของการพัฒนาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญว่า การปกครองแบบเทศบาลจะเป็นหลักประกันของระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระดับการปกครองของประเทศ และในส่วนของการบํารุงท้องถิ่น และมีผลให้นายถวิล อุดล เสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2480 เข้าสู่สภาฯ  ผู้ที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งเทศบาลไว้ คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) โดยได้เสนอพระราชบัญญัติเทศบาลออกบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2476 และมีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2478

แนวคิดที่ปรากฏกับบทบาทของนายถวิล อุดล ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดการรับเอาแนวคิดจากนายปรีดี พนมยงค์ และเป็นในการร่วมงานทางการเมืองและร่วมอุดมการณ์ในเวลาต่อมา

ความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมงาน

พ.ศ. 2483-2484 รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเข้าสู่สภาฯ ปรากฏว่านายถวิล อุดล ได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตำแหน่งกรรมาธิการพิจารณางบประมาณดังกล่าว นับเป็นแกนนําอีสานเพียงคนเดียวในคณะกรรมาธิการนี้ นายถวิลทําหน้าที่เลขานุการคณะกรรมาธิการ ขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่ประธานกรรมาธิการ นับว่าเป็นครั้งแรกที่นายถวิลได้มีโอกาสร่วมงานกับนายปรีดี

สําหรับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับนายถวิล อุดล และแกนนําอีสานนั้น ก่อนหน้านี้สัมพันธ์กันในฐานะอาจารย์กับศิษย์ ที่ไม่เคยทํางานด้านการเมืองร่วมกันมาก่อน  มาในครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่นายถวิลได้ร่วมงานกับนายปรีดีที่จะมีความคุ้นเคย หรือทํางานอย่างใกล้ชิดในฐานะคณะกรรมาธิการร่วมกัน และสามารถแลกเปลี่ยนแนวคิดทางการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นจุดเริ่มแรกของความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่าย อันจะนําไปสู่ความร่วมมือทางการเมือง

ภายหลังการประกาศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น[4] ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นในคณะรัฐบาล เมื่อญี่ปุ่นขอกู้เงินจากรัฐบาลไทย[5] เพื่อใช้จ่ายในกองทัพญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ทําให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินถึง 2 ฉบับ ภายในวันเดียว[6] จุดมุ่งหมายในการออกกฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อป้องกันรักษาค่าเงินบาทให้มั่นคงอยู่เสมอ อันเป็นเหตุนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างนายปรีดีกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ต่อมานายปรีดีถูกเสนอชื่อจากรัฐบาลให้ดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ในคณะรัฐบาล เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ถูกปลดออกจากตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปี พ.ศ. 2484 กลุ่มแกนนําอีสาน จึงได้โอกาสที่จะให้นายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นเป็นผู้นํากลุ่ม

การที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนนโยบายจากความเป็นกลางไปเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายญี่ปุ่น สร้างความไม่พอใจให้สมาชิกฝ่ายค้าน และมีผลต่อแนวความคิดของกลุ่มแกนนําฝ่ายค้านโดยเฉพาะกลุ่มแกนนําสายอีสาน และนายปรีดี พนมยงค์ มิได้เคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมุ่งที่จะโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. ตามวิถีทางของรัฐสภา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายถวิล และกลุ่มแกนนําสมาชิกฝ่ายค้านพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะขัดขวางการบริหารงานของรัฐบาลจอมพล ป. เพื่อมิให้จอมพล ป. ใช้อํานาจเผด็จการในอันที่จะทําให้เกิดผลเสียแก่ประเทศชาติโดยรวม ด้วยการร่วมมือกันจัดตั้งองค์กรใต้ดินและจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นภายนอกประเทศ แต่ไม่ประสบผลสําเร็จตามเป้าหมาย

ในที่สุดโอกาสของสมาชิกฝ่ายค้านก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกําหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 เข้าสู่สภาฯ สมาชิกฝ่ายค้านจึงได้หาทางที่จะไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อที่จะโค่นอํานาจของจอมพล ป. ฉะนั้น เมื่อร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่สภาในวาระการประชุม วันที่ 20 กรกฎาคม 2487 สมาชิกฝ่ายค้านได้ร่วมกันอภิปรายคัดค้านอย่างพร้อมหน้า เช่น คัดค้านว่า “เพชรบูรณ์เป็นดินแดนที่ทุรกันดารห่างไกลมีโรคภัยไข้เจ็บชุกชุม การที่รัฐเกณฑ์แรงงานราษฎรในภาคอีสานและภาคกลางไปทํางานเป็นเหตุให้ราษฎรเจ็บป่วยล้มตายเป็นจํานวนมาก[7] 

เมื่อการอภิปรายคัดค้านผ่านไประยะหนึ่ง นายอรุณ ทองปัชโชติ (ส.ส.พระนคร) ได้เสนอให้ลงมติซึ่งสร้างความสงสัยให้นายถวิลไม่น้อยว่าเป็นการช่วงชิงโอกาสของรัฐบาลหรือไม่ โดยนายถวิล อุดล กล่าวว่า

“เมื่อจะมีการลงมติเช่นนี้ใคร่จะเรียนต่อท่านประธานว่า ท่านประธานควรจะได้สอบถามทางรัฐบาลว่า การลงมติเช่นนี้เป็นการช่วงชิงเอาเปรียบอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ เพราะว่าญัตตินี้เป็นญัตติสําคัญในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ และฉันคาดหมายว่า ญัตตินี้จะตกไปเสียอีกด้วย และยังคาดหมายต่อไปอีกว่า รัฐบาลจะลาออก ฉันคิดว่าถ้ามีการลงมติกันในขณะนี้ทางรัฐบาลจะพร้อมเพรียงหรือยัง…”[8]

คําท้วงติงของนายถวิล อุดล ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลให้มีการลงมติตามที่มีผู้เสนอแต่ผลการลงมติดูเหมือนจะเป็นไปตามที่นายถวิล อุดล ได้คาดไว้ คือ สภามีมติไม่เห็นด้วย 48 ต่อ 36[9] คะแนน ส่งผลให้ญัตตินี้เป็นอันตกไป นับเป็นความพ่ายแพ้ในสภาฯ ครั้งสําคัญของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ถึงสถานะของรัฐบาลในขณะที่กลุ่มฝ่ายค้านเองก็ถือได้ว่าเป็นความสําเร็จครั้งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของสมาชิกฝ่ายค้านซึ่งพร้อมจะต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลด้วยระบบรัฐสภาไม่ว่ากรณีใด ๆ

อีกสองวันต่อมา รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล เข้าสู่สภาฯ โดยอ้างว่า เพื่อดําเนินการจัดสร้างนครศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา ให้เป็นแหล่งกลางที่ชุมนุมแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม[10] เหตุผลของรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างกว้างขวางว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยไม่จําเป็น แทนที่จะไปปรับปรุงด้านความเป็นอยู่ของราษฎรที่ทุกข์ยากในยามสงคราม[11] ในที่สุดสภาลงมติไม่รับหลักการด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41[12]

การที่รัฐบาลพ่ายแพ้มติสภาถึงสองครั้งย่อมเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า เสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภาฯ คงไม่เพียงพอที่จะทําให้รัฐบาลอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงนําคณะรัฐมนตรีลาออกตามวิถีทางรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487

การร่วมแนวคิดและอุดมการณ์: บทบาทและความเคลื่อนไหวภายใต้ขบวนการเสรีไทย

ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการของกลุ่มคนไทยที่ไม่พอใจนโยบายของจอมพล ป พิบูลสงคราม[13] โดยเริ่มจากการที่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศหยุดยิงและยุติการสู้รบ ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปยังพม่าและมลายู นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ตกลงทําสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทําให้ชาวไทยทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวรวมกลุ่มกันขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่สําคัญเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทย[14]

กลุ่มบุคคลที่ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายจอมพล ป. ดังกล่าว อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก)  นายสงวน ตุลารักษ์  นายเตียง ศิริขันธ์  นายถวิล อุดล  นายจํากัด พลางกูร ฯลฯ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจํากัดเคยจัดตั้งคณะกู้ชาติ เพื่อต่อสู้กับจอมพล ป. พิบูลสงครามมาแล้ว แต่การจัดตั้งดังกล่าวยังเป็นไปอย่างลับ ๆ ร่วมกับกลุ่มของนายถวิล นายเตียง และนายจําลอง แต่ได้สลายไป[15] ดังที่นายจํากัด พลางกูร ได้กล่าวไว้ว่า  “อันที่จริงเรื่องกู้ชาตินี้ เราได้คิดกันมานานแล้วตั้งแต่ก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองเสียอีกว่าได้”[16] 

เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวได้อุบัติขึ้นประกอบกับความไม่พอใจนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีอยู่ก่อนแล้ว นายจํากัด พลางกูร จึงได้รวบรวมพวกพ้อง เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ เพื่อนสนิทของนายจํากัดเอง[17] นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล เป็นต้น ซึ่งนายเตียง นายจําลอง นายทองอินทร์ นายถวิล ล้วนเป็นสมาชิกพวกชั้นที่ 1[18] ของนายจํากัด และแผนการในครั้งนั้น คือ พยายามโค่นอํานาจจอมพล ป. หรือพากันหนีไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศบางทีจะหนีไปตั้งรัฐบาลใหม่อยู่ทางภาคอีสาน[19] แต่ไม่สามารถทําได้ เพราะญี่ปุ่นได้ยึดเส้นทางที่คณะกู้ชาติจะใช้หลบหนีก่อนแล้ว[20] กอปรกับมีกําลังคน กําลังทรัพย์ และกําลังอาวุธไม่พอที่จะต้องสู้กับกองกําลังของญี่ปุ่นได้ อีกทั้งขาดผู้นําที่มีอํานาจพอที่จะเป็นกําลังสําคัญได้ 

นายจํากัด นายถวิล นายเตียง นายจําลอง และนายทองอินทร์ พร้อมสมาชิกคนอื่น ๆ จึงเข้าพบกับนายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านถนนสีลม [เมื่อวันที่ญี่ปุ่นไทย 8 ธันวาคม 2484]  ในการเข้าพบวันนั้น ที่ประชุมได้สรุปสาระสําคัญดัง ปรากฏในบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ว่า 

“ผู้ที่มาประชุมวันนี้ ได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติเพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชั้นวรรณะ ทั้งอยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบหมายภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้า และกําหนดแผนการปฏิบัติต่อไป…”[21]

แผนการของนายจํากัด และภารกิจขององค์การต่อต้านญี่ปุ่นที่มีขึ้นที่บ้านของนายปรีดี นั้นต่างมีจุดประสงค์และเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ต่อต้านญี่ปุ่น ขณะนั้นการรวมตัวของคนไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น มีทั้งภายในและภายนอกประเทศ ภายหลังกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นดังกล่าวได้ร่วมปฏิบัติการเป็นขบวนการเดียวกัน ภายใต้ชื่อขบวนการเสรีไทย อีกทั้งยังทําการเคลื่อนไหวต่อสู้อยู่จนสงครามยุติและญี่ปุ่นยอมจํานน[22]

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสําคัญและบทบาทของนายถวิล อุดล ที่มีส่วนสําคัญในการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย พร้อมกันนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายอีสาน อาทิ นายเตียง ศิริขันธ์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ก็ร่วมเป็นแกนนำสำคัญในครั้งนี้ด้วย ฉะนั้น กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายอีสานกลุ่มนี้ เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทอย่างมากในขบวนการเสรีไทย

การรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์การต่อต้านญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า นายถวิลและนายเตียงเป็นตัวเชื่อมสําคัญ โดยจะเห็นได้จากเมื่อเริ่มจัดตั้งองค์การฯ ได้ปรากฏบุคคลทั้งสองในที่ประชุม[23] นอกจากกลุ่มแกนนำดังกล่าวแล้วในตอนนั้นยืนยันได้ว่า ขบวนการเสรีไทยเป็นอํานาจที่อยู่เบื้องหลังคณะรัฐมนตรีที่เพิ่งขึ้นมาแทนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะรัฐมนตรีไม่ได้เป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทยทั้งหมด แต่รัฐมนตรีคนสําคัญ ๆ เป็นแน่  ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ว่ากันว่าเป็นเพื่อนของนายปรีดีทั้งนั้น[24] เช่น พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์  นายทวี บุณยเกตุ  นายเดือน บุนนาค  นาวาเอก หลวงศุภชลาลัย  นายดิเรก ชัยนาม  พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ  พลตํารวจเอก อดุล อดุลเดชจํารัส  นายสงวน ตุลารักษ์ และแกนนําสายอีสานทั้งสี่คน คือ นายเตียง ศิริขันธ์  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกเสรีไทยด้วยกันทั้งสิ้น

ภายหลังที่ได้มีการตกลงและเสนอแผนปฏิบัติการร่วมกัน และกลุ่มแกนนําสายอีสานได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบขบวนการเสรีไทยในฐานะหัวหน้าหน่วยพลพรรคเสรีไทยของเขตจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน ได้แก่ นายถวิล อุดล รับผิดชอบหน่วยจังหวัดร้อยเอ็ด  นายเตียง ศิริขันธ์ รับผิดชอบหน่วยจังหวัดสกลนคร  นายจําลอง ดาวเรือง รับผิดชอบหน่วยจังหวัดมหาสารคาม  และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ รับผิดชอบหน่วยจังหวัดอุบลราชธานี จึงนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเสรีไทยสายอีสาน[25]

หน่วยพลพรรคในจังหวัดดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านญี่ปุ่นในภาคอีสาน ด้วยการจัดตั้งค่ายฝึกอาวุธให้กองกําลังเสรีไทย จะเห็นได้ว่า การมอบหมายภาระหน้าที่ให้รับผิดชอบในจังหวัดต่าง ๆ นั้นจะแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดที่สังกัดอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งอย่างน้อยก็มีความใกล้ชิดกับประชาชน และสะดวกในการหาสมาชิกเพื่อร่วมขบวนการ

การที่กลุ่มผู้นําเสรีไทยสายอีสานได้แสดงออกถึงแนวคิดในเรื่องความรักชาติและความไม่พอใจในการใช้อำนาจเผด็จการของจอมพล ป. พิบูลสงครามดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มผู้นําอีสานได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจ จากนายปรีดี พนมยงค์ มากขึ้นเป็นลําดับ จะเห็นได้จากการมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหน่วยในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานจนระยะต่อมาเมื่อนายปรีดีส่งตัวแทนชุดต่าง ๆ ไปติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีน  นายถวิล หนึ่งในกลุ่มผู้นําเสรีไทยสายอีสาน จึงได้รับมอบหมายจากนายปรีดีให้เป็นหัวหน้าผู้แทนชุดที่ 4 ร่วมกับนายมาโนช วุธาทิตย์  นายประยูร อินทรรัมพรรณ และพลโท พระอภัยพลรบ โดยเริ่มออกเดินทางวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487

คณะผู้แทนชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดต่อกับรัฐบาลจีนและมาประจําอยู่ประเทศจีนเพื่อให้ความสะดวกแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ในจีนด้วย[26] รวมทั้งเพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการดําเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และการมาครั้งนี้ของนายถวิลยังได้นำสาส์นจากนายปรีดีถึงจอมพล เจียงไคเช็ค ซึ่งมีความว่า “ข้าพเจ้าขอส่งผู้แทนมาพบท่าน เพื่อขอให้ท่านรับรองรัฐบาลพลัดถิ่นที่เราจะตั้งขึ้นในดินแดนกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร เพราะมาตรการนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะกระตุ้นคนไทยให้หลุดพ้นจากการรุกรานของญี่ปุ่น”[27]

การเดินทางไปจุงกิง ประเทศจีนในครั้งนี้ นายถวิลได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทูตพิเศษเพื่อไปพบจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อขอความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้การรับรองการจัดตั้งรัฐบาลไทยชั่วคราวหรือองค์การอื่นที่มีลักษณะทํานองเดียวกันขึ้นในดินแดนของพันธมิตร[28] ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวนั้นมีรูปแบบเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น การขอคํารับรองจากประเทศจีนจึงเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ประกาศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้สนับสนุนญี่ปุ่นทําสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะขณะนั้นอเมริกามีกองบัญชาการกองทัพอากาศอยู่ที่คุณหมิง[29]

ถึงแม้ว่านายถวิลจะยุติบทบาททางการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังได้แสดงบทบาททางการเมืองร่วมกับอดีตเสรีไทยคนอื่น ๆ เช่น นายสงวน ตุลารักษ์ นายจําลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายเตียง ศิริขันธ์ ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคสหชีพขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 มีนายดิเรก ชัยนาม เป็นหัวหน้าพรรค ภายหลังการเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 10 พฤษภาคม 2489 นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ได้รับตําแหน่งหัวหน้าพรรค และนายถวิล อุดล เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคสหชีพตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ สมาชิกส่วนใหญ่ ได้แก่ พวกเสรีไทย[30] และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความนิยมในตัวนายปรีดี พนมยงค์ โดยมีนโยบายแบบสังคมนิยม[31] หรือแนวโซเซียลลิสม์ (Socialism)  แนวนโยบายดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี[32] ขณะเดียวกันกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายพรรคสหชีพ ได้ร่วมกับหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ตั้งพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุนนายปรีดีเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 พรรคสหชีพและพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญได้ร่วมกันสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ขึ้นดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นการร่วมมือของอดีตเสรีไทย และผู้สนับสนุนนายปรีดีครั้งสําคัญ หลังจากประกาศตัวเองเป็นพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย

พันธมิตรเอเชียอาคเนย์

นอกจากนั้นพรรคสหชีพและสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสานส่วนหนึ่ง ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติลาว ที่ชื่อ “เสรีลาว” ต่อสู้กับฝรั่งเศส[33]  ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสพยายามที่จะเข้ายึดครองลาว ตลอดจนกัมพูชาและเวียดนาม ในที่สุดฝรั่งเศสสามารถยึดเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2489 ทําให้คนลาวที่รักชาติก่อตั้งคณะเสรีลาว ส่วนหนึ่งหนีเข้ามาในประเทศไทย เกิดเป็นลาวอิสระ จัดตั้งรัฐบาลลี้ภัยในกรุงเทพฯ จากสภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าว นายถวิลและกลุ่มเสรีไทยสายอีสานได้ประชุมและตกลงร่วมกันในอันที่จะจัดตั้งพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนขบวนการชาตินิยมในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อให้รอดพ้นจากอํานาจการยึดครองของฝรั่งเศส[34]

ประเทศพันธมิตรดังกล่าวประกอบด้วยไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ภายใต้การผลักดันของนายปรีดี พนมยงค์  คณะกรรมการพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ผู้นําทางการเมืองสายอีสานกับผู้นําขบวนการอิสระในอินโดจีน โดยมีนายเตียง ศิริขันธ์ ผู้กว้างขวางในภาคอีสาน และมีความใกล้ชิด  สนิทสนมกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประธานพันธมิตร  และนายถวิล อุดล เป็นกรรมการฝ่ายต่างประเทศ  นายตัน วันเกียว (Taon Van Giao) เป็นรองประธาน  นายลี ฮาย (Le Hi) จากขบวนการเวียดมินห์ เป็นเหรัญญิก  เจ้าสุภานุวงศ์ จากประเทศลาว เป็นเลขาธิการ[35] 

การจัดตั้งพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ฝรั่งเศสต้องการที่จะเข้ามามีอํานาจครอบงำในกลุ่มประเทศอินโดจีน ฉะนั้น การจัดตั้งพันธมิตรเอเชียอาคเนย์จึงเป็นความพยายามอย่างหนึ่งที่จะขัดขวางฝรั่งเศสไม่ให้เข้ามามีอํานาจเหนือดินแดนเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ถ้าฝรั่งเศสสามารถยึดครองอินโดจีนได้ ประเทศไทยคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐประหาร 2490

แต่พันธมิตรเอเชียอาคเนย์นี้ไม่สามารถที่จะดําเนินการให้บรรลุผลสําเร็จได้ ทั้งนี้เนื่องมาจากเกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์  ธํารงนาวาสวัสดิ์ ขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490  คณะรัฐประหารนําโดย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ และนาวาอากาศเอก หลวงกาจสงคราม จากนั้นได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงครามเข้าร่วมคณะรัฐประหาร  คณะรัฐประหารได้ดำเนินการปราบปรามนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสมาชิกเสรีไทยสายอีสาน ส่งผลให้นายถวิลและนักการเมืองคนสําคัญถูกจับกุมในข้อหาต่าง ๆ กัน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ถูกกล่าวหาว่ามีอาวุธไว้ในครอบครอง  นายเตียง ศิริขันธ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าพรรคมหาชนรัฐให้กับนายปรีดี  นายทองเปลว ชลภูมิ ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตองค์การสรรพากร และนายถวิล อุดล ถูกข้อหาทุจริตเงินเสรีไทย[36] เป็นต้น แต่ที่สําคัญ รัฐบาลในขณะนั้นได้มุ่ง ประเด็นไปที่ความพยายามของกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคอีสานในการที่จะแบ่งแยกดินแดนภาคอีสาน เพื่อสถาปนาเป็นสมาพันธ์รัฐแหลมทอง[37] หรือสหพันธ์รัฐแหลมทอง[38] จึงได้ทําการจับกุมกลุ่มสมาชิกดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2491[39] แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากไม่มีหลักฐาน

การกลับมาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ อย่างยิ่ง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ร่วมมือกันในอันที่จะต่อต้านการกลับมาของเผด็จการ ด้วยการขอความร่วมมือและชักชวนบุคคลต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากกองกําลังทหารเรือบางส่วนที่ไม่พอใจการกระทําของจอมพล ป. ให้การสนับสนุนปฏิบัติการของนายปรีดี พนมยงค์ กลุ่มพรรคสหชีพและกลุ่มผู้นําอีสาน เพื่อที่จะได้โค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป.

ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 และจุดจบของนายถวิล

ปฏิบัติการในครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 กลุ่มผู้นําอีสาน เช่น นายเตียง ศิริขันธ์ นายจําลอง ดาวเรือง นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายถวิล อุดล ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง โดยนายปรีดี พนมยงค์ เพียงแต่แจ้งแผนการให้ทราบล่วงหน้าช่วงใกล้เวลาปฏิบัติการ โดยได้กําชับให้อยู่ในบ้านของตน อย่าแสดงตัวเข้าร่วมจนกว่าการปฏิบัติการจะสําเร็จ ต่อมาจึงรู้จักกันในนามของกบฏวังหลวง[40]  ฝ่ายรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ การก่อจลาจลครั้งนี้ ฝ่ายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกําจัดศัตรูทางการเมือง โดยการจับกุม ดร.เดือน บุนนาค คนสําคัญของพรรคสหชีพ และอดีตรัฐมนตรีซึ่งเป็นเสรีไทยที่สนิทสนมกับนายปรีดี อันได้แก่ นายถวิล อุดล  นายทองเปลว ชลภูมิ  นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และนายจําลอง ดาวเรือง  อดีตรัฐมนตรีทั้ง 3 คน ถูกจับหลังการเกิดกบฏเพียง 2 วัน คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2492  ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ต้องหนีออกนอกประเทศ

นายถวิล อุดล พร้อมพวกอีก 3 คน ถูกสอบสวนในข้อหากบฏ การดําเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตํารวจไม่ได้เป็นไปตามหลักแห่งกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เนื่องจากมีการข่มขู่ทารุณกรรมผู้ต้องหา ตลอดจนพยายามสร้างหลักฐานขึ้น เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ[41] และในที่สุดก็สั่งยิงทิ้ง 4 อดีตรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยนายถวิล นายทองอินทร์ นายจําลอง และนายทองเปลว  โดยทั้ง 4 คน ถูกสังหารในตอนดึกของวันที่ 3 มีนาคม 2492 ณ กิโลเมตรที่ 14-15 ถนนพหลโยธิน ระหว่างที่ถูกย้ายที่คุมขังเพื่อความปลอดภัย[42] การถูกสังหารครั้งนี้อ้างว่า เกิดจากการแย่งชิงผู้ต้องหาเกิดขึ้น และทุกคนถูกยิงขณะสวมกุญแจมือ[43]

แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยจาก: สุวัฒน์ชัย แสนราช,  “ถวิล อุดล กับ ปรีดี พนมยงค์ ความสัมพันธ์ในฐานะลูกศิษย์ อาจารย์ “กับการรับแนวความคิดทางการเมือง”,”  ใน คือผู้อภิวัฒน์ฯ (2543), น. 96-103.

 

[1] นิภาพรรณ  พัฒนไพบูลย์, อีสาน : การแสวงหาเอกลักษณ์ทางการเมือง (2517), น. 1-9.

[2] หัด ดาวเรือง, ชีวิตและผลงานของสี่อดีตรัฐมนตรี (2508), น. 173-175.

[3] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี (พ.ศ.2475-2517) (2517),  น. 118-119.

[4] รัฐบาลจอมพล ป. ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2484.

[5] ญี่ปุ่นกู้เงินจากรัฐบาลไทย จากเดือนธันวาคม 2484 ถึงเดือนมิถุนายน 2486 รวม 491 ล้านบาท กู้ในปี 2487 เป็นเงิน 514 ล้านบาท และปี 2488 กู้ไป 799 ล้านบาท.

[6] นายปรีดี พนมยงค์ เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน 2 ฉบับ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2484 หลังจากเข้าร่วม เป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่นเพียงวันเดียว.

[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 4/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3. 20 กรกฎาคม 2487. น. 39.

[8] แหล่งเดิม, น. 71-72.

[9] แหล่งเดิม.

[10] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 5/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่3. 22 กรกฎาคม 2487. น. 112.

[11] ประชัน รักพงษ์, การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศ ไทย (พ.ศ.2485-2500) (2520), น. 170.

[12] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร. ครั้งที่ 5/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3. 22 กรกฎาคม 2487. น. 137.

[13] บทบาทของขบวนการเสรีไทยสายอีสานและบทบาททางการเมืองของสมาชิกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484-2495 (2536), น. 3.

[14] กรมวิชาการ, ขบวนการเสรีไทย (2538), น. 3-4.

[15] พีรยา คูวัฒนะศิริ, แนวคิดและบทบาททางการเมืองของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (2533), น. 248.

[16] นายฉันทนา (นามแฝง), XO Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย (2522), น. 62.

[17] พีรยา คูวัฒนะศิริ, แนวคิดและบทบาททางการเมืองของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (2533), น. 248.

[18] สมาชิกชั้นที่ 1 หมายถึง สมาชิกที่รู้แผนการต่าง ๆ ของจํากัด พลางกูรได้

[19] นายฉันทนา (นามแฝง), XO Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย (2522), น. 64.

[20] อัญชลี สุขดี, ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484-2488) (2525), น. 47.

[21] นายฉันทนา (นามแฝง), XO Group เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย (2522), น. 66-67.

[22] เสน่ห์ จามริ,. ปรีดีปริทัศน์ (2526), น. 42-43

[23] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศระหว่าง พ.ศ. 2481-2492 (2531), น. 131.

[24] เซอร์แอนดูรว์ กิลคริสต์,  เสรีไทยจากอังกฤษ, แปลโดยดุสิต บุญธรรม (2527), น. 95.

[25] อดิเรก บุญคง, ขบวนการเสรีไทยสายอีสานและบทบาททางการเมืองของสมาชิกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2484-2495 (2536), น. 4.

[26] ไพศาล ตระกูลลี้, วีรบุรุษนิรนาม (2521), น. 79-81.

[27] แถมสุข นุ่มนนท์, เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (2521), น. 123-124.

[28] กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย (2527), น. 137.

[29] อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ.เนตร เขมะโยธิน (2528), น. 173.

[30] บัญชา แก้วเกตุทอง, 36 รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย (ม.ป.ป.), น. 459.

[31] สุจิต บุญบงการ, การพัฒนาการทางการเมืองของไทย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างทหารสถาบันทางการเมืองและ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (2531), น. 81.

[32] ขจัดภัย บุรุษพัฒน์,  การเมืองและพรรคการเมืองของไทย (2511), น. 177.

[33]  อดิเรก บุญคง, ขบวนการเสรีไทยสายอีสานและบทบาททางการเมืองของสมาชิก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484-2495 (2536), น. 152.

[34]  ประสพ วงศ์หนองหว้า,  บทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ดกับการพัฒนาสู่ตระกูลการเมือง พ.ศ. 2480-2529 (2537), น. 55.

[35] นิภาพรรณ พัฒนไพบูลย์, อีสาน : การแสวงหาเอกลักษณ์ทางการเมือง ใน เอกสารการสัมมนาประวัติศาสตร์อีสาน (2517), น. 10.

[36] เกื้อกูล ขวัญทอง,  พัฒนาการแนวความคิดสังคมนิยมในระบบพรรคการเมืองไทย (2539), น. 60.

[37] ขจร สุขพานิช, 43 ปี เมื่อมวลชนเป็นใหญ่ในสยาม. (ม.ป.ป.), น. 97.

[38] ประชัน รักพงษ์,  การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย พ.ศ.2481-2500 (2520), น. 263.

[39]  สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติและรัฐประหารสมัย 2489-2507 (2507), น. 435.

[40] นรนิติ เศรษฐบุตร, เมืองไทยในระบบรัฐสภา (2517), น. 145.

[41] ประชัน รักพงษ์,  การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย (พ.ศ.2481-2500) (2520), น. 269.

[42] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, เอกสารการสอนชุดวิชาประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองไทย (2527), น. 649.

[43] ขจร สุขพานิช, 43 ปี เมื่อมวลชนเป็นใหญ่ในสยาม (ม.ป.ป.), น. 97.