ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อปรีดีพบโฮจิมินห์: ความหลังเรื่องความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม

2
กันยายน
2563

 

นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเยี่ยม ประธานโฮจิมินห์ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2509
นายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเยี่ยม ประธานโฮจิมินห์ ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พ.ศ. 2509

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลงเมื่อกองทัพญี่ปุ่นแห่งสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโตได้ยอมจํานนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไขในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488

ขบวนการแนวร่วม “เวียตมินห์” ที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติภายใต้การนําของประธานโฮจิมินห์ ได้อาศัยสถานการณ์อันเอื้ออํานวย ทําการอภิวัฒน์ยึดอํานาจการปกครอง เป็นผลสําเร็จในปลายเดือนสิงหาคม และแล้วในวันที่ 2 กันยายน 2488 ประธานโฮจิมินห์ได้ประกาศเอกราชของประเทศเวียดนาม ณ จตุรัสบาดิ่น กลางกรุงฮานอย

ฝรั่งเศสซึ่งค่อยๆ ฟื้นตัวจากความบอบช้ำในระหว่างสงคราม จึงมีความต้องการที่จะกลับเข้ามามีอํานาจในการปกครองอดีตอาณานิคมของตนอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจหักหาญใช้กําลังทหารเข้าบีบบังคับอย่างฉับพลันได้ ฝรั่งเศสจึงได้ใช้วิธีการเจรจากับทางการของเวียดนาม เพื่อการต่อรองว่าจะยอมรับรองเอกราช แต่ในขณะเดียวกันก็สะสมกําลังรบเพื่อเข้าทําการบุกโจมตี และในที่สุดการเจรจาระหว่างฝรั่งเศส-เวียดนามก็ต้องล้มเหลวลง ตามแผนที่ฝรั่งเศสได้เตรียมการไว้ และก็ได้ใช้กําลังทางทหารบุกโจมตีเข้ายึดเมืองสําคัญต่างๆ อันเป็นผลให้ทางฝ่ายเวียดนามถอนกําลังกลับเข้าสู่ที่มั่นเดิมในป่าเขาอันเป็นเขตที่ได้มีการจัดตั้งไว้เพื่อกู้อิสรภาพตลอดระยะเวลาที่ขบวนการเวียตมินห์ได้จัดตั้งขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2  

การต่อสู้ระหว่างนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสกับขบวนการเวียตมินห์ของโฮจิมินห์เป็นไปอย่างดุเดือด พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในความครอบครอบของฝ่ายเวียตมินห์ ส่วนฝรั่งเศสยังคงยึดครองตัวเมืองใหญ่และเมืองสําคัญของเวียดนาม อาทิ ฮานอย ไซ่ง่อน ไฮฟอง เว้ห์ และดานัง เป็นต้น 

การทําสงครามเพื่อกอบกู้อิสรภาพของเวียดนาม นอกจากจะเป็นสงครามประชาชนในประเทศแล้ว ก็ยังต้องอาศัยการสนับสนุนจากบรรดามิตรประเทศและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ซึ่งในการนี้รัฐบาลไทยที่ได้จัดตั้งขึ้นภายหลังสงคราม ประกอบขึ้นด้วยบุคคลส่วนใหญ่ที่ได้เป็นแกนนําในขบวนการเสรีไทย อันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จึงได้ให้การสนับสนุนต่อการทําสงครามที่เป็นธรรมเพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ เวียดนาม ลาว เขมร และอินโดนีเซีย เป็นต้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางฝ่ายเวียดนามได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ในเมืองไทย เพื่อส่งไปติดอาวุธให้กับกองทัพประชาชนเวียดนามในการทําสงครามต่อสู้กับฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ท่านนี้ คือ เกาหงลานห์ ลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของประธานโฮจิมินห์ ปัจจุบัน [2545] อายุ 90 ปีเศษ แต่ก็ยังมีสุขภาพแข็งแรง

'โฮจิมินห์' มีความเข้าใจอันถูกต้องว่า 'นายปรีดี พนมยงค์' มีจิตใจที่รักความเป็นธรรมและพร้อมให้การสนับสนุนต่อขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ให้หลุดพ้นจากการครอบครองของบรรดาเหล่านักล่าอาณานิคมในอดีต ท่านจึงได้มอบหมายให้ตัวแทนของท่านติดต่อผ่านสายงานของ 'ร้อยเอก พงษ์เลิศ (ล้วน) ศรีสุนันท์' นายทหารสารวัตร ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพลพรรคเสรีไทยสายนิสิตนักศึกษาธรรมศาสตร์-จุฬาฯ อาสาศึก ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้ากรมสารวัตร 'พลเรือตรี หลวงสังวรณ์ยุทธกิจ' (สังวรณ์ สุวรรรณชีพ) เมื่อคําร้องขอจากเวียดนามได้รายงานถึงนายปรีดีแล้ว ก็เป็นไปตามที่โฮจิมินห์มุ่งหวังและคาดการณ์ไว้ นายปรีดีได้มีคําสั่งให้ ร.อ. พงษ์เลิศรับผิดชอบจัดลําเลียงอาวุธเสรีไทยจากคลังอาวุธที่จังหวัดชลบุรีขนส่งโดยรถไฟไปที่เมืองพระตะบอง ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความปกครองของไทยภายหลังกรณีพิพาทอินโดจีน ฝ่ายเวียดนามเป็นผู้รับมอบไปที่พระตะบองนั่นเอง 

อาวุธเสรีไทยเหล่านี้ หน่วยงาน O.S.S. (Office of Strategic Services) ของอเมริกามีภารกิจในการสนับสนุนกองกําลังใต้ดินในประเทศที่ถูกศัตรูยึดครอง O.S.S. ได้ลําเลียงอาวุธทางอากาศโดยเครื่องบิน C47 (ดาโกต้า) ทิ้งร่มชูชีพลงยังจุดนัดหมายบริเวณมาบตาพุด ซึ่งปัจจุบันคือเขตอุตสาหกรรมแห่งฝั่งชายทะเลตะวันออกนั่นเอง อาวุธอเมริกันสมัยสงคราม ประกอบด้วยปืนเล็กยาว สปริงฟิลด์ไรเฟิล, ปืนยิงเร็วคาร์บิน หรือ คาร์ไบน์, ปืนกลมือ ทอมสันและเอ็มทรี, ปืนพกยูเอสอาร์มี 11 ม.ม., ปืนบาซูก้าต่อสู้รถถัง, ปืนกลเบาบราวนิง, ลูกระเบิดมือ, เครื่องยิงระเบิด, ดินระเบิดที่เอ็นที เป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นอาวุธประจําการของทหารราบ สามารถเคลื่อนที่ทําการรบได้ทุกรูปแบบ  

โฮจิมินห์ได้เขียนจดหมายขอบคุณมายังนายปรีดีด้วยลายมือของท่านเองเป็นภาษาฝรั่งเศส พร้อมทั้งเรียนให้ทราบว่า อาวุธที่ได้รับไปนั้นสามารถประกอบเป็นกําลังทหารได้สองกองพัน จึงขออนุญาตตั้งชื่อว่า “กองพันแห่งสยาม” เพื่อเป็นเกียรติประวัติ

จาก “กองพันแห่งสยาม” นี้เอง ต่อมาได้จัดสรรกําลังใหม่เข้ารวมเป็นกองพลที่ 307, 308 เข้าทําการสู้รบในยุทธการเดียนเบียนฟูจนประสบชัยชนะอย่างงดงาม 

นอกจากให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธแก่เวียดนาม ชาวเวียดนามเรือนหมื่นอพยพหนีภัยเข้ามาในไทย นายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทางจังหวัด, อําเภอทางภาคอีสานให้ความดูแลผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็นตามโอกาสที่จะทําได้ อาทิ การจัดหางานให้ทํา อันได้แก่ การก่อสร้างทางสกลนคร-อุดรธานี, สกลนคร-นครพนม เป็นต้น ผู้ดูแลจัดตั้งชาวเวียดนามในด้านนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์จรั่นวันเยา จัดสรรให้คนหนุ่มเข้าร่วมขบวนการเวียดมินห์ ส่งกลับไปรบกับฝรั่งเศสในเวียดนาม ส่วนครอบครัวทางนี้ทําการผลิตสร้างฐานทางเศรษฐกิจเป็นการสนับสนุนอีกด้านหนึ่ง

สำนักแถลงข่าวเวียดนามมีสำนักงานอยู่ที่ถนนสีลม ปากตรอกตำบีซา ตรงข้ามโรงแรมนารายณ์ในปัจจุบัน หัวหน้าสำนักงานได้แก่ นายเหงียนดึ๊กกุ่ย ท่านผู้นี้อดีตเป็นปัญญาชนนักศึกษาถูกฝรั่งเศสจําคุกที่เมืองเซินลา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ได้แหกคุกออกมา และก็ได้รับการแต่งตั้งให้มารับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รับทราบภารกิจการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของชาวเวียดนาม  

'เหงียนดึ๊กกุ่ย' หรือ เพื่อนชาวไทยเรียกท่านว่า 'องค์กุ่ย' นอกจากจะแตกฉานในภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษแล้ว ต่อมาก็ได้เรียนรู้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และสามารถคบค้าสมาคมกับชาวไทยผู้มีระดับสูงในวงสังคมด้วยความสนิทสนม เช่น เล่นกีฬาแบดมินตันกับบุคคลในตระกูลสุจริตกุล, บุนนาค แห่งบริเวณบ้านแถวราชวิถี-สุโขทัยได้เป็นอย่างดี 

'นายจิม ทอมสัน' ราชาไหมไทย อดีตเจ้าหน้าที่ O.S.S. ผู้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ก็มีความสนิทสนมชอบพอกับองค์กุ่ย และในวันที่ 19 พฤษภาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ นายจิม ทอมสัน ผู้นี้ก็ได้เป็นผู้จัดกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดีในวาระวันคล้ายวันเกิดของโฮจิมินห์ โดยมีองค์กุ่ยแห่งสํานักข่าวเวียดนามเป็นตัวแทนรับมอบ  O.S.S. ได้เคยมีการติดต่อกับขบวนการเวียตมินห์ในระหว่างสงคราม เพื่อขอให้ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตก ไม่ให้ตกเป็นเชลยของทหารญี่ปุ่น จิม ทอมสัน มีความประทับใจในบทบาทการนำการต่อสู่ เขาจึงถือว่า "ไม่ว่าโฮจิมินห์จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็ตาม แต่ภารกิจในการกอบกู้เอกราชของชาติเป็นสิ่งถูกต้อง ชอบด้วยทำนองคลองธรรม"

รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เป็นจุดเปลี่ยนแห่งการดําเนินนโยบายของประเทศ เผด็จการทหารเข้ามาครองเมือง และเพื่อการครองอํานาจจึงหันไปพึ่งอเมริกา ซึ่งพอดีกับนโยบายสุดขั้วต้านคอมมิวนิสต์ของอเมริกา จึงทําให้ขบวนการกู้อิสรภาพของเพื่อนบ้านที่ได้พักพิงกับไทยต้องถูกปราบปรามจนไม่อาจทําการเคลื่อนไหวใดใดได้อย่างเสรี  

ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนายปรีดี และมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ไม่ประสบความสำเร็จในการขับไล่กลุ่มเผด็จการครองเมือง ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ของนายปรีดีถูกฝ่ายปฏิปักษ์สังหารอย่างโหดเหี้ยม อันได้แก่ พ.ต. โผน อินทรทัต, พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข, นายทวี ตะเวทิกุล, ดร.ทองเปลว ชลภูมิ, นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายจําลอง ดาวเรือง และอีก 2-3 ปีต่อมา นายเตียง ศิริขันธ์, นายชาญ บุนนาค และบุคคลอื่น รวมทั้งฝ่ายทหารเรือ เช่น นาวาโท พจน์ จิตรทอง  ประเทศชาติได้สูญเสียบุคคลที่ได้เคยรับใช้ชาติบ้านเมือง ผู้เป็นนักประชาธิปไตยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง 

นายปรีดีจําต้องเล็ดลอดจากไทยไปพํานักลี้ภัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2492 ก่อนหน้าที่ประธานเหมาเจ๋อตุงได้ประกาศสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน นครปักกิ่ง เพียงไม่กี่วัน และคงพํานักพักอาศัยการนําการต่อสู้ของชาวเวียดนาม เขาจึงถืออยู่ในประเทศจีนเป็นเวลารวมทั้งสิ้น 21 ปี 

ในขณะที่ประธานโฮจิมินห์และขบวนการเวียตมินห์ได้สร้างกองทัพประชาชนเวียดนามโดยมีนายพลโวเวียนยั๊บ อดีตนักศึกษากฎหมาย เป็นผู้บัญชาการโดยการแต่งตั้งจากโฮจิมินห์ที่มีความเชื่อมั่นว่า บุคคลผู้นี้สามารถทําการรบเป็นผู้บัญชาการทหารได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้รับการเรียนหรือฝึกฝนวิชาทหารมาเลย และก็เป็นความจริงเช่นนั้น  

เมื่อประเทศจีนได้รับการปลดปล่อย ชายแดนจีนทางใต้ อันได้แก่ มณฑลกวางสี, มณฑลยูนานก็เป็นแหล่งที่กองทัพประชาชนเวียดนามสามารถใช้จีนเป็นแนวหลังสนับสนุนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จีนยึดมาได้จากก๊กมินตั๋ง 

ยุทธการกางบัง-ลางเซิน ตอนเหนือติดพรมแดนจีนเป็นยุทธการใหญ่ในต้นปี 2493 เวียตมินห์ได้ชัยชนะอย่างงดงาม ยึดเมืองหลายแห่งและบีบบังคับให้ฝรั่งเศสตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ต้องถอยร่นมายังบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ําแดง โวเวียนยั๊บได้รับยศเป็นนายพลตรีทันที และก็ได้เสนอทฤษฎีแห่งสงครามประชาชน โดยการเปรียบเทียบ “ปลากับน้ํา” ทหาร คือ ปลา  ประชาชน คือ น้ํา เป็นสองสิ่งที่ควบคู่กันไปไม่อาจแยกออกจากกันได้ 

'นายพลอองรี นาวาร์' แม่ทัพใหญ่ฝรั่งเศส ได้กําหนดยุทธศาสตร์ในการปราบปรามเวียดนาม ด้วยการเลือกเอาชัยภูมิที่ราบสูง มีภูเขาล้อมรอบ ที่เมืองเดียนเบียนฟู หรือที่ไทยเคยเรียกว่า เมืองแถง เป็นฐานที่มั่นและส่งหน่วยรบออกไปกวาดล้างข้าศึก โดยไม่เคยคิดว่า เวียดนามจะสามารถเข้าปิดล้อมเดียนเบียนฟูได้ เมื่อรู้ก็สายเสียแล้ว เดียนเบียนฟูถูกเวียดนามตีแตกในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2497 นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสรู้สึกหดหู่และสูญเสียเกียรติภูมิไปอย่างสิ้นเชิง ชื่อเสียงของนายพลโวเวียนยั๊บ ดังไปทั่วโลกที่สามารถเอาชนะนายพลเตอ กัสตรี จากโรงเรียนนายร้อยแซงซีร์ ชื่อดังของฝรั่งเศส 

การประชุมที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างฝรั่งเศสกับกลุ่มประเทศอินโดจีน อันได้แก่ เวียดนาม เขมร และลาวที่ได้เริ่มขึ้นก่อน เดียนเบียนฟูแตกก็ได้จบลงพร้อมด้วยฝ่ายเวียดนามของโฮจิมินห์ เข้าปกครองประเทศตั้งแต่เหนือเส้นขนานที่ 17 เป็นต้นไป ส่วนเวียดนามตอนใต้ ซึ่งตามข้อตกลงเจนีวา ระบุว่าจะได้จัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อรวบรวมให้เป็นเอกภาพและก็เป็นที่ทราบกันดี อเมริกาเข้ารับช่วงดูแลอุปถัมภ์เวียดนามใต้แทนฝรั่งเศส ไม่ไล่ก็ไม่ไป จนในที่สุดเวียดนามเหนือร่วมกับแนวร่วมปลดปล่อยเวียดนามใต้ทําการสู้รบจนได้ชัยชนะเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2519

ในขณะที่ได้มีการลงนามยุติศึก ณ กรุงเจนีวา ในปี พ.ศ. 2497 นั้น นายปรีดีได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ เหรินหมินยึเป้า และวิทยุกระจายเสียงปักกิ่งภาคภาษาไทย ได้นําบทความชิ้นนี้มาออกอากาศ เพื่อประชาชนชาวไทยจะได้รับฟังกัน เนื้อหาของบทความเป็นการแสดงความยินดีในความสําเร็จ ด้วยความหวังว่าเป็นชัยชนะที่จะนําไปสู่สันติภาพแห่งภาคพื้นเอเชียอุษาอาคเนย์และทุกประเทศในภูมิภาคนี้ย่อมจะต้องสามารถเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นเอกราช เคารพซึ่งกันและกันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค

สถานทูตเวียดนามประจํากรุงปักกิ่งได้รับคําสั่งจากรัฐบาลเวียดนามและตัวประธานโฮจิมินห์ ให้ดูแลทุกข์สุขของนายปรีดี ในยามที่นายปรีดีต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองมา ซึ่งถึงแม้ว่าโฮจิมินห์จะมีภารกิจในการบริหารประเทศ ปรับปรุงให้มีความเข้มแข็งเพื่อเตรียมภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่เพื่อรวบรวมประเทศให้เป็นเอกภาพก็ตาม บุคคลทั้งสองก็ได้มีการติดต่อส่งข่าวคราวถึงกันโดยผ่านสถานเอกอัครรัฐทูตเวียดนามที่กรุงปักกิ่งอยู่เสมอมาจนกระทั่งนายปรีดีและครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองกวางโจว ในกลางปี พ.ศ. 2499 สถานกงสุลใหญ่เวียดนาม ณ เมืองกวางโจวก็ทําหน้าที่ประสานงานแทนสถานเอกอัครรัฐทูตต่อไป

กลางฤดูใบไม้ผลิแห่งปี พ.ศ. 2507 'โฮจิมินห์' ในฐานะประธานประเทศเวียดนาม ได้เชิญ 'นายปรีดี พนมยงค์' และคณะให้เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่า นายปรีดี จะไม่ได้มีตําแหน่งใดๆ ในการบริหารบ้านเมือง แต่ทางเวียดนามก็ได้ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติประดุจเป็นผู้บริหารประเทศ   

คณะของนายปรีดีประกอบด้วย

  1. นายปรีดี พนมยงค์  
  2. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ 
  3. นายศุขปรีดา พนมยงค์ 
  4. นายอัมพร สุวรรณบล อดีตส.ส.ร้อยเอ็ด
  5. นายสอิ้ง มารังกูล อดีต ส.ส.บุรีรัมย์
  6. นายหลินอิ๊งกวง ล่ามจีน

 

หน้าบ้านพักที่เมืองกวางโจว
หน้าบ้านพักที่เมืองกวางโจว

 

ในการเยี่ยมคารวะประธานโฮจิมินห์ ผู้นำประเทศ ณ ทําเนียบรัฐบาลเวียดนาม สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นตึกที่พัก และบริหารงานของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสปกครองเขตตังเกี๋ย (ภาคเหนือเวียดนาม) มีความใหญ่โต โอ่อ่า งดงามด้วยศิลปะการก่อสร้างแห่งสมัยอาณานิคมรุ่งเรือง โฮจิมินห์ มีที่พักเป็นเรือนไม้เล็กๆ ใต้ถุนโปร่งอยู่ด้านหลังทําเนียบ ซึ่งใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองอย่างเดียว ตนเองปฏิเสธที่จะพักบนตึกทําเนียบ 

ทางเวียดนามได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดี และคณะเจ้าภาพซึ่งนอกจากโฮจิมินห์แล้ว ยังมี ตนดี้กถัง รองประธาน เจรื่องจินห์ ประธานรัฐสภาแห่งชาติ  ฟามวันดง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  พลเอกพิเศษ โวเวียนยั๊บ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกาหงลานห์ รมต.วิเทศสัมพันธ์ และ เหงียนเกอธัค รมต.ช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ 

เมื่อคณะเดินทางมาถึงบุรุษร่างเล็ก มีเคราเป็นลักษณะพิเศษในชุดเสื้อสีกากีอ่อน  มีกระเป๋าเล็กด้านบนและกระเป๋าใหญ่ด้านล่าง รวม 4 แห่ง กางเกงสีเดียวกัน มีความเรียบง่าย รู้ได้ทันทีว่าเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านผู้นี้คือ โฮจิมินห์ บุคคลอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของชาวเวียดนามทั่วประเทศ ท่านได้เข้ามาสัมผัสมือกับนายปรีดี และโอบกอดด้วยความรักใคร่เป็นมิตร ทั้งสองท่านจากสองประเทศผู้ได้มีบทบาทในการนําความถูกต้องชอบธรรมมาสู่ประเทศของตนตามสภาวะโอกาสของแต่ละประเทศ ผ่านการต่อสู้ที่เคี้ยวคดขมขึ้นมาไม่น้อย บัดนี้ท่านทั้งสองได้มาพบกันเป็นครั้งแรก 

แต่ก็ได้โอบกอดรักใคร่กัน ประดุจสนิทสนมกันมานานปี ซึ่งเป็นภาพประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นโฮจิมินห์ได้เดินไปตรวจดูการจัดโต๊ะและได้เห็นทางเจ้าภาพได้จัดป้ายชื่อที่นั่งของทั้งแขกและเจ้าภาพ ท่านจึงได้สั่งให้เก็บป้ายชื่อพร้อมทั้งถือว่าเป็นกันเอง ไม่จําเป็นต้องมีพิธีรีตองทางการทูตแต่อย่างใด นายปรีดีนั่งทางซ้ายของโฮจิมินห์ และท่านผู้หญิงพูนศุขนั่งทางขวา ส่วนคนอื่นก็ขอให้นั่งตามสะดวก 

บนโต๊ะอาหารมีแจกันดอกกุหลาบจัดไว้อย่างสวยงาม โฮจิมินห์ได้เลือกดอกกุหลาบที่งามที่สุด ดอกหนึ่งจากแจกันและนําไปปักบนปกเสื้อท่านผู้หญิงพูนศุข ชาวคณะทุกคนรู้สึกซาบซึ้งและปลาบปลื้มในไมตรีจิตมิตรภาพอันอบอุ่น และได้รับการต้อนรับจากญาติผู้ใหญ่ ดั่งเช่นในครอบครัวเดียวกัน

นายปรีดีได้กล่าวขอบคุณในการต้อนรับอย่างดีที่สุดของเจ้าภาพพร้อมกับแสดงความยินดีในความสําเร็จของประชาชนเวียดนามและเชื่อมั่นในภารกิจการรวบรวมประเทศของประเทศเวียดนาม จักต้องประสบความสําเร็จอย่างแน่นอน แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคอยู่

โฮจิมินห์ก็ได้กล่าวขอบคุณนายปรีดีอีกครั้ง ในการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวเวียดนามในระยะที่มีความยากลําบากอย่างแสนสาหัส ในขณะนั้น ท่านได้บอกว่าประชาชนชาวเวียดนามชั่วลูกชั่วหลานต่อๆ ไปจะไม่ลืมการสนับสนุนของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะนายปรีดี มิตรสหายร่วมอุดมการณ์ และก็เป็นความจริงที่แม้กระทั่งทุกวันนี้ ชาวเวียดนามยังรู้จักผลงานของนายปรีดีที่มีต่อชาวเวียดนาม และรัฐบาลเวียดนาม ในเวลาต่อมาก็ได้มอบอิสริยาภรณ์แห่งมิตรภาพให้แก่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นผู้รับแทนตัวนายปรีดี พนมยงค์

การสนทนาส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส เพราะท่านทั้งสองสามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ตอนหนึ่งของการสนทนา โฮจิมินห์ได้พูดว่า ท่านเป็นหนี้บุญคุณประชาชนชาวไทย รวมทั้งพระภิกษุสงฆ์ไทย โดยท่านพูดว่า ขณะที่ท่านเคลื่อนไหวในหมู่ชาวเวียดนามที่จังหวัดพิจิตรก็ดี จังหวัดนครพนมก็ดี และจังหวัดอุดรธานีก็ดี บางครั้งต้องเดินทางเท้าจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง ระยะทางยาวไกลมากจําเป็นต้องค้างแรมก็ได้อาศัยวัดในชนบทเป็นที่พัก พร้อมทั้งข้าวปลาอาหารที่เป็นข้าวก้นบาตรของพระ

โฮจิมินห์ได้ถามนายปรีดีว่า ธรรมเนียมอย่างนี้ยังมีอยู่หรือไม่ เมื่อได้รับคําตอบว่ายังมีอยู่ ท่านได้ยกย่องว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย ท่านได้พร่ำอบรมสั่งสอนให้การศึกษาแก่ชาวเวียดนามในเมืองไทยให้มีความเคารพ รักใคร่ สมานฉันท์ สร้างสามัคคีกับคนไทย ซึ่งก็ปรากฏแล้วว่า ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ในภาคอีสานของไทยสามารถอยู่ร่วมกับชาวไทยได้อย่างสันติสุข 

มิตรภาพระหว่างโฮจิมินห์-ปรีดี พนมยงค์ ดําเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยดีจวบจนกระทั่ง ประธานโฮจิมินห์ได้วายชนม์ลง นายปรีดี ก็ได้เดินทางไปกรุงฮานอย เพื่อเข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยครั้งสุดท้าย มีประมุขและผู้บริหารจากต่างประเทศไปร่วมพิธีอย่างมากมาย เช่น สมเด็จเจ้านโรดมสีหนูแห่งกัมพูชา นายโคซิกิน นายกรัฐมนตรี สหภาพโซเวียต ฯลฯ เป็นต้น

ชาวเวียดนามได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเคารพสูงสุด ซึ่งชาวเวียดนามทุกคนได้เรียก  ท่านว่า “ลุงโฮ” ด้วยความสนิทสนม  

'โฮจิมินห์' เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ส่วนนายปรีดี เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 โฮจิมินห์จึงมีอายุมากกว่าร่วมสิบปี เส้นทางชีวิตของผู้นําทั้งสองนั้นถือได้ว่า ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนในการรับใช้ชาติบ้านเมือง ถึงจะต้องประสบกับเคราะห์กรรมความยากลําบาก แต่ก็มิได้ทําให้เกิดความท้อแท้เสียกําลังใจ  

ขณะที่นายปรีดีศึกษาวิชากฎหมายในฝรั่งเศส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และก็ได้จัดตั้งคณะราษฎรจากนักศึกษาและข้าราชการสถานทูตไทยจํานวน 7 คน เมื่อกลับมายังประเทศไทยก็ได้ร่วมกับคณะพลเรือน, ทหารบก, ทหารเรือ ทําการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นผลสําเร็จ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

ส่วนโฮจิมินห์ในขณะนั้นใช้ชื่อแฝงว่า 'เหวียนอายคว๊อก' หรือ 'นายเหวียน ผู้รักชาติ' ได้ผ่านประเทศฝรั่งเศสไปแล้วหลังจากเข้าร่วมการก่อตั้งพรรคโซเชียลลิสต์ฝรั่งเศส และก็มาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์  ทั้งโฮจิมินห์และนายปรีดีจึงไม่มีโอกาสได้พบกันด้วยวัยวุฒิที่ต่างกัน แต่นายปรีดีก็ได้พบปะกับชาวเวียดนามผู้รักชาติในฝรั่งเศสหลายคนที่มีแนวคิดเช่นเดียวกับโฮจิมินห์  เส้นทางของโฮจิมินห์ในยุโรปทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษ ต่อมาจึงได้ผ่านไปยังกรุงมอสโค ภายหลังการอภิวัฒน์เดือนตุลาคม ผ่านประเทศจีนเข้ามาเคลื่อนไหวในสยามถูกจับกุมติดคุกติดตะรางในจีนหลายครั้งหลายหน จนในที่สุดสามารถกอบกู้อิสรภาพเอกราชของประเทศเป็นผลสําเร็จ 

ส่วนเส้นทางชีวิตของนายปรีดีมีทั้งความสําเร็จและความพลาดพลั้งล้มเหลว แต่ก็ต้องถือว่ามีผลสําเร็จอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ 2 ประการ คือ การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และ การเป็นผู้นําอันแท้จริงแห่งขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่ทําให้ประเทศไทยไม่ต้องตกอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม  สมดังคําขวัญของบรรณาธิการ ปรีดีสาร ที่ว่า “ดวงประทีปประชาธิปไตย เสรีไทยกู้เอกราชชาติยืนยง” 

สิ่งที่เข้ามาบรรจบเป็นจุดเดียวกันของท่านทั้งสอง ก็คือ เมื่อ 11 ปีที่แล้ว [2533] องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติได้ประกาศเกียรติคุณให้โฮจิมินห์เป็นบุคคลสําคัญครบรอบร้อยปีแห่งชาตกาล และในปีที่ผ่านมา [2543] องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศเกียรติคุณให้นายปรีดี พนมยงค์  เป็นบุคคลสําคัญครบรอบร้อยปีแห่งชาตกาล เช่นเดียวกัน 

 

ที่มา: "ประธานโฮจิมินห์-รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์," ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2545, น. 4-12.