ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

พลทหาร ปาล พนมยงค์: ผู้เป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว

26
กันยายน
2563

ในบรรดาขบถมากมายหลายรุ่นของเมืองไทย ขบถรุ่นไหนก็ดูเหมือนจะไม่มีการจับกุมคุมขังผู้คนมากมายหลายกลุ่มหลายคณะเป็นจํานวน 200-300 คน อย่างขบถสันติภาพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ขบถ 10 พ.ย. อย่างแน่นอน 

การเรียกชื่อว่า “ขบถสันติภาพ” ไม่เพียงแต่จะหมายถึงว่า กลุ่มสันติชน ผู้ดําเนินการคัดค้านสงคราม และเรียกร้องสันติภาพในยุคสมัยนั้น จะถูกดําเนินคดีในข้อหาขบถ หากยังหมายถึงการขบถของประชาชนคนไทยต่อผู้เผด็จการกระหายเลือดที่รักสงครามและกําลังบริหารบ้านเมืองนั่นเอง 

ขบถดังกล่าวอยู่ในยุคที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีพลตํารวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตํารวจ ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า เมืองไทยกําลังเป็นอาณาจักรแห่งความกลัว 

กลุ่มบุคคลที่ถูกจับกุมในตอนนั้น มีดังนี้ 

1. จับกุมกลุ่มทหารเรือชั้นประทวนที่น้อยอกน้อยใจรัฐบาลซึ่งเริ่มบีบคั้นน้ําใจทหารเรือมาตั้งแต่ขบถจี้จอมพล ป. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 กลุ่มกู้ชาติ สายที่ 1 หรือสายจ่าทหารเรือ 

2. จับกุมกลุ่มคนมากมายหลายอาชีพที่พูดและเขียนโจมตี เพราะความไม่เอาไหนมากมายหลายเรื่อง รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่มีที่แสดงออกอย่างเปิดเผยก็ทําใบปลิวโจมตีรัฐบาลบ้าง เรียกว่า กลุ่มกู้ชาติ สายที่ 2 หรือสายพลเรือน 

3. จับกุมกลุ่มสันติชนผู้ชักชวนประชาชนคัดค้านสงครามและเรียกร้องสันติภาพอย่างเปิดเผย ซึ่งต่อมาเมื่อภาคใต้และภาคอีสานอดอยากอย่างหนักเพราะฝนแล้ง ก็ได้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเรียกร้องให้ประชาชนบริจาคทรัพย์สินช่วยเหลือกันประสายาก เรียกว่า กลุ่มสันติชนและนักหนังสือพิมพ์ (รวมทั้งหนังสือพิมพ์จีนที่ออกในเมืองไทย) 

4. จับกุมกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่สนับสนุนการเรียกร้องสันติภาพ โดยเฉพาะคัดค้านนักการเมืองที่เข้าไปบีบบังคับนักศึกษาหลายรูปแบบ รวมทั้งการตัดคํา “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัยฯ เรียกว่า กลุ่มนักศึกษา 

5. จับกุมกลุ่มชาวนาจังหวัดศรีสะเกษที่รับบริจาคสิ่งของจากกลุ่มสันติชนและนักหนังสือพิมพ์อย่างเปิดเผยต่อหน้าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทุกครั้ง เรียกว่า กลุ่มชาวบ้านคูขอด หรือ กลุ่มชาวนาศรีสะเกษ 

6. จับกุมกลุ่มคนอดอยากและผู้แทนสวนยางภาคใต้ที่ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มสันติชนและนักหนังสือพิมพ์ แต่กลุ่มนี้ตอนหลังถูกจัดไปรวมในกลุ่มสันติชนและนักหนังสือพิมพ์ 

ก็คงจะเห็นแล้วว่า จํานวนคนที่ถูกจับมากมายเหล่านี้เป็นประชาชนธรรมดาทั่วไปนั่นเอง การจับกุมจึงไม่ต่างอะไรกับการกวาดต้อนคนมาสอบสวนพลางหาหลักฐานพลาง เมื่อครบสามเดือนที่จะต้องฟ้องก็ฟ้องเพียง 53 คนจาก ทั้ง 6 กลุ่ม โดยเพิ่มนักแจกใบปลิวคอมมิวนิสต์ที่จับก่อนหน้านั้นคนหนึ่ง (จับบนรถไฟสายใต้) จึงรวมเป็นจําเลย 54 คน เหมือนจับแพะชนแกะที่เขาว่า ๆ กัน 

 

“บัตรผู้ต้องหา “ข.ช. พลฯ ปาน พนมยงค์ อายุ 21 ปี”
“บัตรผู้ต้องหา “ข.ช. พลฯ ปาน พนมยงค์ อายุ 21 ปี”

 

ที่ทําลายประวัติการสู้คดีของเมืองไทยอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือ บรรดาจําเลยประกาศว่าจะไม่แต่งตั้งทนายแก้คดี เพราะไม่มีอะไรจะต้องแก้ ส่วนการกระทําที่ถูกจับจนถูกฟ้อง นอกจากจําเลยเรื่องใบปลิวแล้ว ล้วนแต่เป็นการกระทําที่ดีงาม ควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น ตรงกันข้าม ตํารวจกลับมีแต่เจตนาร้าย เช่น ยัดเยียดข้อหาคอมมิวนิสต์ให้ทั้ง ๆ ที่กฎหมายนี้ออกหลังการจับกุมแล้วย่อมไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ตํารวจก็พยายามตั้งข้อหาเพื่อให้เห็นเป็นเรื่องใหญ่โตและให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังขึ้น ดังนั้น คนที่ถูกดําเนินคดีจึงน่าจะเป็นตํารวจมากกว่า 

โดนเข้าไม้นี้ศาลก็งงไปเหมือนกัน แต่ท่านคงเห็นว่าขึ้นให้มีการดําเนินคดีฝ่ายเดียวก็คงจะต้องติดคุกสถานเดียวเหมือนกัน ศาลจึงแนะใบ้ว่า ขนาดคนทําผิดจริง ๆ และสารภาพทุกอย่างยังต้องตั้งทนายสู้คดี เพื่อจะได้รับโทษเท่าที่ทํา ไม่ใช่ต้องรับโทษตามที่คู่คดีคืออัยการและตํารวจจะซัดเอาข้างเดียว ดังนั้น ศาลจึงอยากให้มีการตั้งทนาย ถ้ามีปัญหาศาลก็ยินดีตั้งให้ 

ในที่สุดจึงได้มีการตั้งทนายอาสาสมัคร ซึ่งก็เป็นทนายที่รอดจากการถูกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ และระหว่างคดี ทนายบางคนก็ทําหน้าที่จนเข้าคุกเองเป็นการสลับฉากก็มี 

ในจํานวนคนมากมายหลายกลุ่มหลายคณะที่ถูกจับกุมและฟ้องร้องว่าเป็นขบถซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลยนั้น นอกจากกลุ่มชาวนาศรีสะเกษทั้ง 11 คน แล้ว พลทหารคนหนึ่ง และเด็กวัดคนหนึ่ง ซึ่งกําลังเรียนธรรมศาสตร์ทั้งคู่ และอายุอานามก็เพียง 21-22 ปี นับว่าเป็นขบถรุ่นจิ๋วและอนาถาจริง ๆ เท่าที่เมืองไทยเคยมีขบถมา 

ทําไมแต่ละกลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกฟ้องในคดีเดียวกันโดยไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนเลยนั้น ได้มีผู้เขียนไว้เป็นที่ขบขันและชวนหัวในที่หลาย รวมทั้ง “ศรีบูรพา” หรือคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ใหญ่ซึ่งเป็นจําเลยอยู่ด้วยก็ได้เขียนไว้ในเรื่อง “อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ” อันสะเทือนเลื่อนลั่น  ถ้าจะพูดโดยสรุปตามสํานวนของตํารวจยุคที่ชอบจับก่อน หาหลักฐานทีหลังในครั้งกระโน้น ก็ว่า “พฤติการณ์เจือสมเป็นปมเงื่อนและสลับซับซ้อน โดยมีสมัครพรรคพวกที่ยังจับไม่ได้อีกมากทั้งนอกและในประเทศ” พูดง่าย ๆ ก็ว่าจะเอาให้ตายลูกเดียว ข้อหาขบถภายในและภายนอกประเทศ ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจําคุกตลอดชีวิตเป็นอย่างต่ํา 

ผลแห่งการต่อสู้คดีอย่างที่ไม่เหมือนคดีอื่นทั้งหลาย ก็คือ ศาลชั้นต้นปล่อยจําเลย 5 คน ส่วนอีก 49 คนจําคุกคนละ 20 ปี ลดฐานไม่แก้คดีทําให้สะดวกแก่การพิจารณาแล้วเหลือ 13 ปี 4 เดือน แต่ได้รับนิรโทษกรรมเนื่องในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อปี 2500 หรือจะเรียกว่าเป็นการล้างบาปของรัฐบาลและตํารวจก็ได้  ทั้งนี้ ก่อนจะทราบคําพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพียงเล็กน้อยซึ่งต่างเชื่อกันว่า ศาลจะปล่อยหมดทั้ง 49 คนอย่างไม่ต้องสงสัย 

ในการจับกุมคดีสันติภาพดังที่ว่ามานี้ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และ ปาล บุตรชายก็รวมอยู่ด้วย  แต่สําหรับท่านผู้หญิงพูนศุข เมื่อถูกขังครบสามเดือนโดยเกือบไม่ได้สอบสวนอะไร นอกจากถามว่า นายปรีดี พนมยงค์ อยู่ที่ไหน ฯลฯ ในที่สุดก็ปล่อยตัว เพราะอัยการไม่ฟ้อง 

สําหรับนายปาล พนมยงค์ ถูกฟ้องเป็นจําเลยที่ 11 โดยถูกยัดเยียดให้อยู่ในกลุ่มกู้ชาติสายพลเรือนและกลุ่มนักศึกษาด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งปรากฏว่า ตั้งแต่ถูกจับถูกฟ้องศาลและอยู่ในความควบคุมของราชทัณฑ์แต่ละหน่วยงานต่างเรียกปาลอย่างเต็มยศจนกระทั่งปล่อยตัวว่า “พลทหารปาล พนมยงค์” 

ปาลเป็นทหารเกณฑ์ที่ภาคภูมิใจในการเป็นทหารของตนมาก เพราะถือว่าเกิดมาเป็นคนไทยก็ต้องเป็นทหารตามกฎหมาย แต่ก็ปรากฏว่าได้มีผู้เดือดร้อนแทน เพราะเห็นว่ากําลังเรียนหนังสือบ้าง เป็นลูกของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และอดีตนายกรัฐมนตรีแท้ ๆ ไม่น่าจะแกล้งกันเลยบ้าง แต่ปาลกลับทักท้วงว่านั้นเป็นการคิดอย่างอภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง 

การเกี่ยวข้องในคดีนั้นเกือบจะเรียกว่า ปาลไม่มีอะไรเกี่ยวข้องเลย นอกจากเป็นลูกของรัฐบุรุษใหญ่ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เมื่อพ่อไม่อยู่ บุคคลเหล่านั้นก็ไปมาหาสู่ผู้เป็นลูกชายแทน และเลยกลายเป็นเรื่องที่ตํารวจจะทําตามสูตร “เจือสมเป็นปมเงื่อน” ได้ง่าย ซึ่งปาลก็ไม่เคยโอดโอยหรือตีโพยตีพาย คงยิ้มน้อย ๆ ต้อนรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างปกติธรรมดาที่สุด 

สิ่งหนึ่งที่เพื่อนร่วมคดีและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองซึ่งควบคุมตัวปาลได้พบเห็นตลอดเวลาจากปาลตั้งแต่การถูกขังอยู่ที่เรือนจําชั่วคราวสันติบาลเป็นแห่งแรก, เรือนจําลหุโทษคลองเปรม เป็นแห่งที่ 2, เรือนจําประจําจังหวัดนนทบุรี เป็นแห่งที่ 3 และแดน 6 การเมืองเรือนจํากลางบางขวางเป็นแห่งที่ 4 ก็คือ ความทรหดบึกบึนอย่างลูกผู้ชายใจเพชร ไม่มีคําว่าระย่อท้อแท้หรือท้อถอยหมดหวังด้วยประการทั้งปวง 

ขณะเดียวกันปาลยังคอยเป็นผู้ปลุกปลอบหรือให้กําลังใจเพื่อนที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเกิดอาการเหลือทนคุกขึ้นมา ด้วยการแนะนําให้อ่านหนังสือ หรือเรียนหนังสือเพิ่มเติม เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือภาษาจีน เพราะมีผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงที่เป็นจําเลยด้วยกันนั่นเอง และโดยที่ปาลเก่งภาษาอังกฤษจึงได้เป็นอาจารย์คนหนึ่งด้วย ทั้งที่ไม่ค่อยช่างพูด แต่อาจารย์ปาลก็สอนหนังสือได้อย่างยอดเยี่ยม รวมทั้งการเป็นที่ปรึกษาของบรรดานักแปลหนังสือออกไปขายนอกคุกด้วย ทั้งนี้โดยลอบทํามิให้เรือนจําทราบ 

ตลอดเวลา 6 พ.ศ. ในคุก ปาลไม่เคยรับสิทธิพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น การเช็ดถูห้องขัง การเทถังเมล์ ซึ่งเป็นทั้งถังขยะและอุจจาระประจําห้อง ปาลจะเข้าเวรทําเหมือนคนอื่นโดยไม่เคยปริปากบ่นหรือสูญเสียบุคคลิกภาพส่วนตัว คือ การยิ้มน้อย ๆ สุภาพอ่อนโยน ไม่รู้จักคําหยาบหรือดุด่าบ่นว่าปึงปังเกรี้ยวกราดแม้แต่ครั้งเดียว 

ความน่าทึ่งของปาลที่มีลักษณะสองด้านในตัว เช่น ทรหดอดทน แต่ละมุนละไม มีเหตุมีผล แต่ไม่ขัดคอใคร กระทั่งเจ็บปวดจากการกระทําของคนอื่น แต่ไม่เคยอาฆาตพยาบาท เหล่านี้ เป็นที่รู้กันของเพื่อนร่วมชะตากรรมทุกคน และเมื่อเพื่อนบางคนพูดเป็นเชิงล้อว่า ปาลอย่าบวชเลยนะ เดี๋ยวจะเป็นอรหันต์ ปาลก็ตอบด้วยคารมคมคายที่สุดว่า ถึงไม่บวชทุกคนก็สามารถมองเห็นธรรมได้ นี่ก็นับเป็นเรื่องประหลาดที่ว่าในวัยเพียงเท่านั้น ปาลก็สามารถเข้าใจธรรมชาติของคนอย่างแจ่มกระจ่าง  เพียงแต่ว่าไม่ช่างพูดนัก และด้วยเหตุนี้ก็ได้ในบางครั้งปาลจึงดูเป็นผู้ใหญ่เกินอายุ และบรรดาผู้สูงอายุก็ยอมรับว่า ปาลเป็นผู้ใหญ่ที่อายุน้อยที่สุด และเป็นเด็กที่ไม่ต้องห่วงในทุกเรื่องทุกกรณี 

ในบรรดาจําเลยคดีเดียวกันทั้ง 54 คน ส่วนใหญ่ก็ยากจนและกินอยู่อย่างสุดแสนจะเต็มกลืนอาหารของคุก แต่ปาลก็กินได้เหมือนคนอื่น ๆ ถ้าในคราวที่ญาติจากข้างนอกส่งข้าวปลาอาหารไปให้ ปาลก็แบ่งไปตามมีตามเกิด โดยเฉพาะคนเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้รับเจียดเป็นพิเศษ แม้กระนั้นปาลก็กระมิดกระเมี้ยน ไม่ประเจิดประเจ้อในการให้อย่างที่เรียกว่าทําบุญเอาหน้าแต่อย่างใด 

 

ปาล อารี นเรศ สัมผัส เพื่อนร่วมชะตากรรม
ปาล อารี นเรศ สัมผัส เพื่อนร่วมชะตากรรม

 

สําหรับกลุ่มนักศึกษาด้วยกันและขังห้องเดียวกันตั้งแต่ต้น ปาลสร้างความประทับใจด้วยการทําตัวเป็นคนไม่มีปัญหาให้ใครต้องห่วง ตรงข้าม กลับคอยห่วงเพื่อนในเรื่องไม่เป็นเรื่องก็บ่อย ที่ยิ่งกว่านั้น ก็คือ ปาลมักแสดงอารมณ์ขันลึก ๆ ให้พวกเราหัวเราะเสมอ เช่น ในฐานะนักศึกษากฎหมาย เมื่อได้อ่านกฎหมายป้องกันการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งเพิ่งออกใหม่ ๆ ทั้งยังยัดเยียดให้พวกเราเจอข้อหาอันอัปลักษณ์เป็นประเดิมดังกล่าวแล้ว ปาลก็เสนอขึ้นอย่างหน้าตาเฉยว่า เราออกกฎหมายป้องกันการกระทําอันเป็นนายทุนและเผด็จการบ้างดีไหม และเมื่อปาลเสนอบทลงโทษผู้มีการกระทําอันเป็นนายทุนและเผด็จการ พวกเราก็หัวเราะกันกลิ้งไป 

ไม่ทราบว่าปาลนึกอย่างไร จึงเสนอบทลงโทษผู้เผด็จการว่า ให้นั่งคัดลายมืองามวันละ 100 บรรทัดว่า “ต่อไปฉันจะไม่บังคับประชาชนตามใจชอบอีกแล้ว” และมีโทษอื่น ๆ ทํานองนี้อีกมาก 

พวกเราเคยถามปาลว่า เสียใจบ้างไหมที่ถูกจับกุมและเสียเวลาเล่าเรียนอย่างนี้ ปาลตอบด้วยการยิ้มน้อย ๆ ตามแบบฉบับว่า เสียดายเวลาที่ไม่ได้ทําประโยชน์แก่ส่วนรวมมากกว่า แต่เรื่องเสียใจไม่มีเลย เพราะการติดคุกก็เป็นการศึกษาและการต่อสู้ด้วยเหมือนกัน ว่าแล้วก็ชี้ไปที่ข้างกําแพงซึ่งเพื่อนเจ้าบทเจ้ากลอนของเรา คนหนึ่งเขียนไว้และปาลชอบใจจนท่องได้แม่นยํา คือ 

“ต้องขังขังแน่แต่กาย
อย่าหมายขังใจไว้อยู่
ความคิดอิสระจะชู
สันติคู่ฟ้าภราดร” 

ความเป็นคนทรหดบึกบึนและเป็นนักสู้โดยสายเลือดของปาล ทําให้ปาลนิยมพฤติกรรมของนักปฏิวัติคนหนึ่ง ถึงกับแปลให้เพื่อน ๆ อ่านในตอนที่ว่า ครั้งหนึ่ง นักปฏิวัติคนนั้นถูกจับกุมคุมขัง และระหว่างเดินผ่านแถวผู้คุมที่ยืนเรียงราย คอยหวดกบาลนักโทษโป๊ก ๆ นั้น คนอื่น ๆ มักจะทรุดฮวบลงตามแรงกระบองหรือร้องโอดโอย คงมีนักปฏิวัติหนุ่มคนเดียวเท่านั้นที่หัวยังเชิดอยู่บนบ่าอย่างทนงศักดิ์ แม้ว่าเลือดจากศีรษะจะไหลโกรกเลอะเทอะใบหน้าและหลังไหล่แดงฉานก็ไม่มีใครได้เห็นการค้อมหัวของเขาหรือได้ยินเสียงสําแดงความเจ็บปวดแม้สักครั้งเดียว ปาลบอกว่า คนอย่างนี้เท่านั้นที่ควรได้ชื่อว่า “นักปฏิวัติ” 

การพูดถึงคุณงามความดีของคนตายนั้นถือเป็นธรรมเนียมไทย ๆ ทํานองว่าตายไปแล้วจะเอาอะไรกันนักหนา แต่สําหรับปาล พนมยงค์ เพื่อนร่วมคุกในคดีสันติภาพคนนี้ การพูดถึงเขาดังกล่าวข้างต้นกลับรู้สึกว่าจะน้อยกว่าความจริงด้วยซ้ํา หรือมิฉะนั้นก็คงจะต้องว่า ปาลเป็นคนดีเกินไป อย่างที่พวกเราบางคนเคยว่าเขาอย่างนี้ จริง ๆ แต่เป็นการว่าในเชิงตําหนิ คือ อยากให้ปาลไม่ดีเสียบ้าง จึงจะดี 

ทั้งหมดนี้ ด้วยรักและระลึกถึง “เพื่อนปาล” ของกลุ่มนักศึกษา และ “คุณปาล” ของเพื่อนร่วมคุกทุกกลุ่มทุกคนในคดีสันติภาพ หรือ ขบถ 10 พ.ย. ที่จากไป ในวัยอันไม่สมควร ซึ่งน่าเสียดายความเป็นนักสู้เงียบ ๆ และความแข็งแกร่งเหมือนเหล็กเพชรจากเบ้าหลอมอันเยี่ยมยอดแห่งยุคที่เรากล้าพูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า เขาเป็นคนที่ไม่เหมือนใครและยากจะหาใครเหมือนอีกแล้ว ปาล พนมยงค์ ผู้เป็นสุภาพบุรุษทุกกระเบียดนิ้ว

 

ที่มา: “พลทหารปาล พนมยงค์ สมัยเป็นจําเลยที่ 11 ในคดีสันติภาพ (ขบถ 10 พ.ย. 2495),” ใน อนุสรณ์ ปาล พนมยงค์ พ.ศ. 2525