ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เหตุใดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

2
ตุลาคม
2563

ในทางการเมือง ตําแหน่งสูงสุดที่กุมอํานาจบริหารราชการแผ่นดิน คือ นายกรัฐมนตรี และด้านนิติบัญญัติ คือ ตําแหน่งประธานรัฐสภา 

สําหรับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในทางการเมืองได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ที่มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อแผ่นดินไทย เคยดํารงตําแหน่งสําคัญ ๆ ของประเทศ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (โดยไม่มีผู้ลงสมัครเข้าแข่งขัน) เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และรัฐบุรุษอาวุโส

แต่เหตุใดอาจารย์ปรีดีจึงไม่ได้เป็นประธานรัฐสภา ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นเลขารัฐสภาคนแรก และเป็นผู้วางรากฐานงานบริหารให้แก่รัฐสภา

ก่อนอื่นต้องย้อนรอยประวัติศาสตร์ไปดูบทบาทชีวิตต่อสู้ในทางการเมืองของท่านในอดีต

มันสมองของคณะราษฎร

ความสําเร็จของการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หรือที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “อภิวัฒน์” โดยคณะราษฎรนั้น แยกไม่ออกจากผู้ที่เป็นมันสมองของคณะราษฎร คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์)

ในสายตาของคนทั่วไปเห็นว่า การยึดอํานาจครั้งนี้สําเร็จลงอย่างง่ายดาย โดยไม่เสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด ยึดอํานาจเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พอวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ชั่วเพียง 3 วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศฉบับแรกตั้งแต่นั้นมา 

แต่ในสายตาของฝ่ายสูญเสียอํานาจและพวกอนุรักษ์นิยมเห็นว่า หัวหน้าคณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ใช้คําสั่งกรมยุทธศึกษาทหารบก หลอกให้พวกทหารทุกหน่วยไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเวลา 5 นาฬิกา เพื่อรับการฝึกยุทธวิธีแผนใหม่ แล้วฉวยโอกาสนั้นอ่านประกาศคําแถลงการณ์ยึดอํานาจของคณะราษฎร ไม่ใช่พวกทหารเต็มใจจะยึดอํานาจ

 

 

การยึดอํานาจของคณะราษฎร วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สําเร็จเรียบร้อย โดยไม่มีการหลั่งเลือดเลยหรือ? 

นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่กล่าวว่า “การยึดอํานาจนั้นง่าย แต่การรักษาอํานาจนั้นยาก” ทั้งนี้เนื่องจากพวกต่อต้านการปฏิวัติ (COUNTER REVOLUTION) จะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ดังนั้น การยึดอํานาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ไม่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของปรัชญาแห่งการปฏิวัติดังกล่าว 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือการปฏิวัติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญโดยไร้ต้นสายปลายเหตุ ตราบใดที่สถานการณ์ปฏิวัติยังมาไม่ถึง หากขืนกระทําลงไปเท่ากับยื่นคอไปรับคมดาบ 

หัวหน้าและมันสมองคณะราษฎรได้ตระหนักในข้อนี้เป็นอย่างดี และได้เก็บรับเอาบทเรียนอันล้ําค่าจากความพ่ายแพ้ก่อนหน้านี้ 20 ปี ของคณะปฏิวัติรุ่นพี่ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) ที่นําโดย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) นายแพทย์ประจําโรงเรียนนายร้อยทหารบก ซึ่งวางแผนจะลงมือยึดอํานาจ ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (ร. 6) ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2455 

แต่ความลับแตก แผนพังพินาศ เพราะมีผู้ทรยศหักหลัง คณะปฏิวัติ 91 คน ถูกจับกุมทั้งหมด หัวหน้าและระดับรอง 2 คน ถูกลงโทษประหารชีวิต แล้วลดโทษเหลือจําคุกตลอดชีวิต นอกนั้นลดหลั่นกันลงมา 

เมื่อคณะราษฎรยึดอํานาจได้ จึงได้ออกพระราชบัญญัติล้างมลทินให้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ยิ่งไปกว่านั้น ในวันแรกของการยึดอํานาจ หลังจากคณะราษฎรได้ควบคุมเจ้านายพระราชวงศ์ในตอนย่ํารุ่ง มาไว้เป็นตัวประกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว 

“เวลาบ่ายโมงเศษของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 … พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าผู้ก่อการฯ ได้เชิญสมาชิกกลุ่มหนึ่งของ ‘คณะพรรค ร.ศ. 130’ มาพบ เป็นระยะเวลาเพียงชั่วครู่เดียว 

“คําปฏิสันถารที่ท่านเชษฐบุรุษมีกับหมอเหล็ง ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้าคณะผู้ได้รับเชิญ

“ ‘ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม’ 

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ก็กล่าวทํานองเดียวกันนั้นกับพวกเขา

“พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้ เป็นการกระทําต่อเนื่องกันมาจากการกระทําเมื่อ ร.ศ. 130” (สุพจน์ แจ้งเร็ว - ศิลปวัฒนธรรม)

กําจัดมันสมองให้พ้นวงการเมือง

โดยที่สังคมไทยมีลักษณะพิเศษเฉพาะของตน ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเก่ามีอิทธิพลครอบงําสังคมมาก กลุ่มต่อต้านเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านปกครองสืบทอดกันมานับร้อยปี รู้ซึ้งถึงความสําคัญในข้อนี้ และยังคงความสัมพันธ์ภายในกับกลุ่มอํานาจเก่าอย่างแน่นแฟ้น เห็นว่า “เด็กเมื่อวานซืน” ที่ได้อํานาจมาอย่างง่ายดายนั้น จะนําพาชาติบ้านเมืองไปได้สักกี่น้ํา 

ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎร กลุ่มอํานาจใหม่ ต้องหันมาประนีประนอมกับกลุ่มอํานาจเก่า โดยเชิญพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ภรรยาเป็นนางสนองพระโอษฐ์สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7) มาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นใช้คําว่า ประธานคณะกรรมการราษฎร

เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร วันที่ 10 ธันวาคม 2475 กลุ่มอํานาจเก่าจึงหันมาใช้รูปแบบรัฐสภา เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ โดยเป้าหมายแรกจะต้องทําลายและขจัดมันสมองของคณะราษฎร คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้พ้นไปจากวงการเมือง 

จุดสําคัญอันเป็นชนวนแห่งความแตกแยกและขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร คือ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสมือนเงื่อนตายที่มัดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้ตกเป็นเป้านิ่ง และกลุ่มอํานาจเก่าโจมตีอยู่ตลอดมา 

และก็เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้เอง “ที่โดนลูกล่อชนของนายกรัฐมนตรีพระยามโนฯ ให้ร่างโครงการเศรษฐกิจพร้อมกับชี้แนะว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัวทรงโปรดเศรษฐกิจแบบโซเซียลลิสต์ ‘สังคมนิยม’ เห็นว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จะร่างโครงการนี้สําเร็จตามพระราชประสงค์

“เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯ ถูกเร่งเร้าให้ร่างจนเสร็จแล้วเสนอขึ้นไป 

“ผลงานชิ้นนี้แทนที่จะเป็นความดีความชอบ กลับเป็นชนักปักหลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และประหารประชาธิปไตย! 

“เพราะพระยามโนปกรณ์ฯ วางแผนไว้ให้หลวงประดิษฐ์ฯ ร่างเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม!! เมื่อร่างขึ้นมาพระยามโนปกรณ์ฯ ก็สร้างพระราชวิจารณ์ให้ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงลงพระนามระบุว่าเป็นโครงร่างเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์”  (แมน เมืองเมศร์ - การเมืองยุคทมิฬ)

 

นายปรีดีเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดตรัง ภายหลังจากพันเอก พระยาพหลฯ ได้ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และตัวนายปรีดีได้เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว
นายปรีดีเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดตรัง ภายหลังจากพันเอก พระยาพหลฯ ได้ทำการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และตัวนายปรีดีได้เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว

 

เมื่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช ผู้นําฝ่ายทหารที่สําคัญของคณะราษฎร หันมาสนับสนุน ฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ ทําให้ฝ่ายคัดค้านเค้าโครงการเศรษฐกิจในคณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายชนะ แต่ในสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายสนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจกลับได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น

ชัยชนะในคณะรัฐมนตรี ทําให้กลุ่มอํานาจเก่ารุกคืบไปอีกก้าวหนึ่ง โดยออกคําสั่งห้ามไม่ให้ข้าราชการทหารพลเรือน รวมทั้งสมาชิกสภาประเภท 2 เข้าเป็นสมาชิกสมาคมการเมือง ถ้าเป็น ให้ลาออก และมีการตรวจค้นอาวุธสมาชิกสภาก่อนเข้าประชุม สร้างความปั่นป่วนตึงเครียดแก่สมาชิกสภาอย่างมาก มีการอภิปรายโจมตีการกระทําของรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อนดุเดือด 

รุ่งขึ้น วันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสภา (ยุบสภา) พร้อมกับประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยไม่มีชื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และผู้สนับสนุนเค้าโครงการเศรษฐกิจรวมอยู่ด้วย

วันต่อมา 2 เมษายน 2476 รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ก็ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ โดยไม่มีสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่อย่างใด 

ในที่สุด แผนการทําลายมันสมองของคณะราษฎร โดยการบีบบังคับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้พ้นจากวงการเมืองก็บรรลุผลสําเร็จอย่างงดงาม

ยึดอํานาจ ครั้งที่ 2

การขับเคี่ยวบนเวทีรัฐสภา พลังอํานาจใหม่ถูกตีถอยร่นไม่เป็นธรรม จนหลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ปีละ 1,000 ปอนด์

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม “ได้เดินทางโดยเรือ ออกจากท่าเรือบีไอ วันที่ 12 เมษายน เวลา 18.00 น. จุดหมายปลายทางเพื่อพักอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส มีสมาชิกสภาผู้แทน พ่อค้าประชาชน ข้าราชการ ผู้เคารพนับถือไปส่งที่ท่าเรืออย่างล้นหลาม โดยเฉพาะนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนานั้นได้กอดจูบเป็นการอาลัยต่อหน้าประชาชนเป็นเวลานาน” (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ - รัฐสภาไทยฯ) 

บัดนี้ คณะราษฎรได้สํานึกว่า พวกตนไม่เพียงสูญเสียมันสมอง อํานาจที่ได้มาก็มิอาจรักษาไว้ได้ ดังนั้น สี่ทหารเสือผู้นําฝ่ายทหาร พ.อ.พระยาพหลฯ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาฤทธิ์อาคเนย์ และ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ พร้อมกันยื่นใบลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 18 มิถุนายน ให้มีผลบังคับวันที่ 24 มิถุนายน 2476 

วันเดียวกันนี้เอง พระยามโนปกรณ์ฯ ก็สวนกลับด้วยการแต่งตั้ง พล.ต. พระยาพิชัยสงคราม และ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นรัฐมนตรี และรักษาการตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเจ้ากรมยุทธการทหารบก

บรรยากาศทางการเมืองตึงเครียด ความขัดแย้งทะยานขึ้นถึงขีดสูงสุด วันที่ 20 มิถุนายน 2476 พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม และ น.ท.หลวงศุภชลาศัย ก็ได้เข้ายึดอํานาจการปกครองกลับคืน  ให้พระยามโนปกรณ์ฯ และคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตําแหน่ง และเปิดสภาผู้แทนราษฎร

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับประเทศ 

การยึดอํานาจครั้งที่ 2 ได้ยุติบทบาทการต่อสู้ทางรัฐสภาของกลุ่มอํานาจเก่าลงได้ หลังจากนั้นรัฐบาลพระยาพหลฯ ก็ได้ติดต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมให้เดินทางกลับประเทศ และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก่อนเดินทางกลับในวันที่ 1 ตุลาคม 2476 

การพ่ายแพ้ทางรัฐสภาและการกลับมาของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่เป็นเหมือนหนามตําใจ ซึ่งกลุ่มอํานาจเก่าถือว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรง ทําให้กลุ่มอํานาจเก่าเปิดฉากการรุกอีกครั้ง

หลั่งเลือดรักษาอํานาจ

กลุ่มอํานาจเก่านําโดย พล.อ. พระองค์เจ้าบวรเดช ได้รวบรวมกําลังทหารต่างจังหวัดตั้งกองบัญชาการที่จังหวัดนครราชสีมา ยกกําลังทหารพุ่งเข้ายึดดอนเมืองเป็นกองบัญชาการ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2476 และยื่นคําขาดให้รัฐบาลยอมแพ้ภายในหนึ่งชั่วโมง 

รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอใด ๆ ทั้งสิ้น และได้ตั้ง พ.ท. หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้อํานวยการการปราบกบฏบวรเดช  การสู้รบทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือดที่ทุ่งบางเขน และทหาร รัฐบาล ได้ตามตีบดขยี้ฝ่ายกบฏที่สถานีรถไฟหินลับ อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายจํานวนมาก แม่ทัพหน้าของกบฏตายในที่รบ 

 

คณะราษฎรฝ่ายทหารและพลเรือนหน้าวังปารุสกวัน ในวันแห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
คณะราษฎรฝ่ายทหารและพลเรือนหน้าวังปารุสกวัน ในวันแห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ในที่สุด รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ รักษาอํานาจไว้ได้ ซึ่งก็เป็นการพิสูจน์ยืนยันปรัชญาแห่งปฏิวัติที่ว่า “การยึดอํานาจนั้นง่าย แต่การรักษาอํานาจนั้นอยาก” 

สภาลงมติไว้วางใจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศ  เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมในวันที่ 28 ตุลาคม 2476 นายกรัฐมนตรีได้ขอให้สภาลงมติไว้วางใจแก่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ก่อนที่สภาจะลงมติเป็นเอกฉันท์ 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้แถลงต่อที่ประชุมสภาว่า “พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้กลับประเทศสยาม และโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วย และได้ถือโอกาสนี้ชี้แจงต่อไปว่า คํากล่าวหาต่าง ๆ ที่มีผู้กล่าวหานั้น เป็นการกล่าวหาฝ่ายเดียว ไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวหาเลย” ก่อนจบคําชี้แจง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวคําปฏิญาณว่า “จะไม่ดําเนินวิธีการคอมมิวนิสต์เป็นอันขาด”  (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ - รัฐสภาไทยฯ) 

ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น 3 คน พิจารณาว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีมลทินจริงหรือไม่ และให้เซอร์ โรเบิต ฮอแลนด์ กับมองซิเออร์ กียอง เป็นผู้ชํานาญสําหรับคณะกรรมธิการคณะนี้จะได้ปรึกษา  ในที่สุด คณะกรรมาธิการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา และในวันที่ 10 มีนาคม 2476 สภาได้ลงมติเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการ

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่ได้เป็นประธานสภา

ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงสมัยเปิดประชุมสมัยสามัญประจําปี ประธานและรองประธานสภาต้องพ้นจากตําแหน่ง และเลือกตั้งกันใหม่ เมื่อมีการประชุมสภาครั้งแรกในวันที่ 17 ธันวาคม 2477 ที่ประชุมได้ทําการเลือกประธานสภา “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร นายไต๋ ปาณิกบุตร เสนอให้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นประธานสภา โดยให้เหตุผลว่า เท่าที่สังเกตงานในสภานี้มา เมื่อมีปัญหาข้อโต้เถียงใด ๆ ขึ้น มักจะถามหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสมอ จึงใคร่จะขอให้ท่านลองเป็นประธานสภาบ้าง บางทีจะเป็นผลดี  ได้ขอร้องที่ประชุมมิให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถอนตัว และขอวิงวอนให้รับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากมีสมาชิกรับรองคำเสนออย่างถูกต้องแล้ว พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า 

การที่ข้าพเจ้ารับว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านสมาชิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าเลือกผู้ที่จะช่วยเหลือ ข้าพเจ้าได้เลือกคนของข้าพเจ้าไว้เป็นทีมกันเรียบร้อยแล้ว ท่านก็จะมายื้อแย่งข้าพเจ้าไปอีก ข้าพเจ้าเห็นว่า กิจการของทางฝ่ายบริหารเป็นการสําคัญมาก ถ้าท่านเอาลูกมือของข้าพเจ้าไปแล้ว จะให้ข้าพเจ้าอยู่ในตําแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอย่างไรได้  เพราะฉะนั้น เท่ากับพวกท่านอยากให้ข้าพเจ้าออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน ข้าพเจ้าขอเสนอเรื่องนี้ไว้ด้วย”  

หลวงประดิษฐมนูธรรม ผู้ถูกเสนอชื่อ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า

“ครั้งก่อนเมื่อยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เคยมีผู้เสนอให้เป็นประธานสภา ก็ได้ถอนตัวแต่คราวนี้ที่ไม่ถอนตัว ก็เพราะขณะนี้ได้เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเงินเดือนรัฐมนตรีมากกว่าเงินเดือนประธานสภา  ถ้าถอนตัวก็เกรงจะมีผู้เข้าใจผิดไปว่าอยากอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรี”

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้เสนอได้ชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า 

“ตนไม่มีเจตนาจะยื้อแย่งคน อันทําให้ท่านนายกฯ เสียหาย ตําแหน่งรัฐมนตรีมหาด  ไทยใคร ๆ ก็เป็นได้ ควรให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาคนเดิม เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ลองผลัดกันดูบ้าง บางทีงานจะดีขึ้น”  

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า “ตัวรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ นั้น ท่านทราบอยู่แล้วว่า หายาก คือ เมื่อครั้งล้มรัฐบาลครั้งก่อนนี้ เมื่อรัฐบาลเก่าลาออก ข้าพเจ้าวิ่งหาอยู่ ที่จริงจะต้องตั้งรัฐบาลได้ภายใน 48 ชั่วโมง ตามที่ปรากฏมาในประเทศต่าง ๆ 48 ชั่วโมง จะต้องตั้งคณะรัฐมนตรีได้ แต่ข้าพเจ้าหาเสียงแทบตาย 14 วัน  จึงตั้งคณะรัฐมนตรีได้ แปลว่าหายากเต็มที ไปอ้อนวอนผู้ใดก็ไม่อยากรับ เพราะฉะนั้น จึงแลเห็นแล้วว่า รัฐมนตรีว่าการนั้นเป็นของสําคัญมาก เมื่อข้าพเจ้าได้เลือกถูกทีมกันแล้ว คือ เข้าชุดกันดีแล้ว ก็ไม่อยากให้ใครยื้อแย่งเอาไป

“ข้าพเจ้าสังเกตดูว่า ในการเล่นฟุตบอลก็ดี เขาไม่ได้เปลี่ยนตัวกันในเวลาเข้าทีมกันแล้วไม่มีใครจะไปเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ นานา ข้าพเจ้าก็เหมือนกัน ข้าพเจ้าถือว่าข้าพเจ้าเป็นโกล์ ไม่อยากจะให้ใครมาแยกคณะแยกเจ้าหน้าที่ของข้าพเจ้าไปสักคน ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของสําคัญของข้าพเจ้า ถ้าท่านอยากจะยื้อแย่งเต็มที่ ข้าพเจ้าขอบอกท่านว่า ท่านไม่อยากให้ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ข้าพเจ้าก็ยินดีจะลาออก แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นทําหน้าที่ต่อไป แล้วจะได้เลือกเอาตามชอบใจ”  (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ - รัฐสภาไทยฯ) 

 ในที่สุด ผู้เสนอจึงได้ขอถอนคําเสนอ 

การโต้ตอบกันระหว่างผู้เสนอกับนายกรัฐมนตรี ตลอดจนคําชี้แจงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเอง เห็นได้ว่าเคยมีการเสนอให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นประธานสภามาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ได้ขอถอนตัว  ครั้งนี้ไม่ยอมถอนตัว ด้วยเหตุผลตําแหน่งรัฐมนตรีเงินเดือนสูงกว่าประธานสภา จึงขอสละตําแหน่งรัฐมนตรีมารับตําแหน่งประธานสภา ซึ่งได้เงินเดือนน้อยกว่าแต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอม 

เรื่องเงินเดือนรัฐมนตรีนั้น สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เสนาบดีได้เงินเดือน ๆ ละ 1,200-3,000 บาท หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เดือนละ 1,200-1,500 บาท ต่อมาเปลี่ยนเป็น 1,500 บาท เท่ากันหมด ทั้งนายกรัฐมนตรี  ประธานสภาประมาณ 800 บาท 

จากการอภิปรายโต้ตอบในรายงานการประชุมสภาดังกล่าวข้างต้น เป็นคําตอบที่ชัดเจนว่า ทําไมหลวงประดิษฐมนูธรรม ไม่ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร? 

 

ที่มา: ปรีดีสาร มกราคม 2545, หน้า 67-74.