ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทเรียนจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนแรก)

27
ตุลาคม
2563

บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศสยามให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร:อนาคตของประชาชนและทางออกจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมือง

เนื่องในวาระครบรอบ 110 ปี (พ.ศ. 2463-2563) ของการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือวันปิยมหาราช เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ในพระราชกรณียกิจที่ปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย เช่น การยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ การดำเนินวิเทโศบายให้ “สยาม” รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมแบบเต็มรูปของจักรวรรดินิยมตะวันตก  สังคมไทยควรร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูปอย่างรอบด้าน เริ่มต้นด้วยการหยุดคุกคามผู้เห็นต่าง ยัดคดีและข้อหาต่าง ๆ ต่อเยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติ เปิดเวทีรัฐสภาเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการไม่แบ่งฝักฝ่ายทางการเมือง จัดเวทีสานเสวนาในการหาทางออกปัญหาวิกฤติต่าง ๆ ร่วมกัน ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดยในการจัดเวทีสานเสวนาเพื่อปรึกษาหารือกันนี้ควรจัดโดยหน่วยงานที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีจุดยืนประชาธิปไตย สถาบันปรีดี พนมยงค์ ยินดีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระปกเกล้าภายใต้รัฐสภา และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดเวทีการหารือเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ  

ต้นรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานทั้งหมด  โดยมีพระราชดำรัสเมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาว่า “ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ” เป็นการเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีครั้งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนจากการหมอบคลานเข้าเฝ้า เป็นการโค้งศีรษะตามอารยประเทศ

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต่างกัน ทำให้ชาวตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่กดขี่เหยียบย่ำมนุษย์ด้วยกัน นั่นคือธรรมเนียมการหมอบคลานของบรรดาข้าทาสบริวารที่ปฏิบัติต่อบรรดาเจ้านายของตน ดังปรากฏในคำวิจารณ์ของชาวตะวันตกที่มีโอกาสเข้ามาติดต่อกับชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น มิสเตอร์ฟินเลสัน (Mr. Finlayson) หนึ่งในคณะทูตของจอห์น ครอว์เฟิร์ด บันทึกวิจารณ์ไว้ว่า “—วิธีที่บรรดาคนรับใช้ปฏิบัติต่อเสนาบดีดุจทาสนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งเป็นการเหยียบย่ำมนุษยชาติด้วยกันเอง ตลอดระยะเวลาการเข้าพบเสนาบดีนั้น พวกเขาทั้งหมอบราบกับพื้นเบื้องหน้าเสนาบดีในระยะห่าง ในขณะที่พูดกับเสนาบดีนั้น พวกเขาไม่กล้ามองสบตาเสนาบดี—” (ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, วารสารศิลปวัฒนธรรม, ก.ค. 2557)

ช่วงสมัยของรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องจนถึงรัชกาลที่ 5 เป็นยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตก ประเทศรอบข้างล้วนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศส  ด้วยพระปรีชาสามารถของทั้งรัชกาลที่ 4 และ 5 ประเทศสยามจึงรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สยามปิดจุดอ่อนของประเทศในแถบนี้ที่ตะวันตกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างหลาย ๆ ข้อ ทำให้ประเทศเป็นเมืองขึ้นด้วยเหตุผลล้าหลัง ป่าเถื่อน และไม่ทันสมัย  การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นส่วนผสมของพระปณิธานในการปฏิรูปสยามบวกกับสภาพแวดล้อมภายนอกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปประเทศให้เจริญทัดเทียมนานาอารยประเทศ ปรับปรุงระบบศาล ปฏิรูประบบราชการ รวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลาง ทรงประกาศเลิกทาส สร้างทางรถไฟและระบบคมนาคมทันสมัย จัดตั้งหน่วยงานไปรษณีย์โทรเลข  การปฏิรูปให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ได้ทำแบบเร่งรีบ และใช้เวลายาวนานถึง 35 ปี และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบางระดับของโครงสร้างทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะที่เปิดโอกาสให้เกิดการเติบโตของชนชั้นขุนนางหรือข้าราชการยุคใหม่ และชนชั้นพ่อค้า

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมวงศ์ชั้นสูง 4 พระองค์ และข้าราชการของสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนและกรุงปารีส 7 ท่าน ซึ่งได้ไปเห็นความเจริญความมีอารยธรรมของฝรั่ง จึงมีหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 103 กราบทูลรัชกาลที่ 5 ให้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ท่านเหล่านั้นคือ กรมพระนเรศวรฤทธิ์  กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา    สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์  พระยาชนินทรภักดี (เปลี่ยน หัสดิเสวี)  พระยาสิงหเสนี (สะอาด สิงหเสนี)  พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี)  พระยาอภัยพิพิธ (สุ่น สาตราภัย)  จมื่นไวยวรนาถ (บุศย์ เพ็ญกุล)  พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค ณ ป้อมเพชร์)  ขุนปฏิภาณพิจิตร์ (หรุ่น) 

ปรากฏว่า การเรียกร้องครั้งนั้นไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า ประเทศสยามยังไม่พร้อม แต่พระองค์ท่านก็ทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมและวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยที่จะได้รับสถาปนาขึ้นในระยะต่อมา และภารกิจการปฏิรูปประเทศปรากฏผลชัดเจนตลอดช่วงเวลา 42 ปีแห่งการครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 แต่การปฏิรูปประเทศได้เข้าสู่สภาวะแห่งความยุ่งยากซับซ้อนในสมัยรัชกาลที่ 6

นักวิชาการส่วนใหญ่มองความสำเร็จในการปฏิรูปสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นต้นแบบและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศมีความทันสมัยก้าวหน้าขึ้น และทำให้หลุดพ้นจากภัยของจักรวรรดินิยมจากยุโรปและทำให้เรารักษาเอกราชไว้ได้  นักวิชาการจีนในยุคนั้นอย่าง “เหลียง ฉี่ เชา” และ “เชียะ ฝู เฉิง” ยกย่องให้จีนเอาไทยเป็นแบบอย่าง และกล่าวถึงสยามอย่างยกย่องว่า     “แม้นถูกรุมเร้าสยามก็ยืดหยัดอย่างภาคภูมิ” 

ขณะที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งมีแง่มุมที่แตกต่าง งานวิจัยประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์วิจารณ์ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สุธี ประศาสน์เศรษฐ และนอร์แมน จาคอบส์ ตลอดจนถึงงานวิชาการของนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกอย่าง เบเนดิก  แอนเดอร์สัน มองการปฏิรูปว่าเป็นส่วนหนึ่งขอความต้องการในการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาอำนาจของระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงอาจเป็นการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ปกครองมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป

ความเห็นในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของ “พระสารสาสน์พลขันธ์” ได้วิจารณ์ว่า การปฏิรูปในสยามจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อฐานะกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ จึงมีการพลักดันให้มีการปรับปรุง ขณะที่การรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อความเป็นเอกภาพแห่งชาติถูกท้าทายโดยอำนาจของชุมชนและท้องถิ่นต่าง ๆ เมื่อกรุงเทพฯ และอำนาจจากส่วนกลางได้ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงานและนำระบบภาษีรัชชูปการมาใช้แทน ได้ก่อให้เกิดแรงปฏิกิริยาต่อต้านในดินแดนทางเหนือและอีสาน บรรดาอดีตเจ้าเมืองบางส่วนก็อยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวเหล่านี้

รัชกาลที่ 5 มีแรงจูงใจหลายประการในการดำเนินการปฏิรูปแม้นจะมีความยากลำบาก

ประการหนึ่งต้องการกระชับอำนาจและทำให้ฐานอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีความเชื่อแบบโบราณอ่อนแอลง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 โดยมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา  ขณะนั้นการปกครองส่วนใหญ่อยู่ในมือของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนแผ่นดิน เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะแล้วจึงทรงพยายามที่จะรวบรวมอำนาจที่อยู่ในมือของขุนนางมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ใน พ.ศ. 2413 หลังจากขึ้นครองราชย์ได้ 2 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานทางอำนาจด้วยการตั้งกรมทหารมหาดเล็กขึ้น เพื่อสร้างฐานพระราชอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และใน พ.ศ. 2416 ได้ออกพระราชบัญญัติหอรัษฎากรพิพัฒน์รวบรวมการเก็บภาษีเข้าสู่ศูนย์กลาง

ประการที่สอง พื้นฐานทางศีลธรรมและความเชื่อว่า ความทันสมัยจะนำมาสู่ความรุ่งเรืองของสยาม  มีการออกพระราชบัญญัติรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง มีการจัดทำงบประมาณ  มีการให้สัมปทานผูกขาดการค้าฝิ่น บ่อนเบี้ย ซึ่งเป็นการทำลายกลุ่มผลประโยชน์ที่ฉ้อราษฎรบังหลวง เลิกระบอบทาสและไพร่ซึ่งเท่ากับการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงานอันเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญของกลุ่มขุนนางเก่า มีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาในพระองค์ และสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎหมายให้คำปรึกษาและตรวจสอบ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่ม ทั้งที่เป็นพระอนุชาและสหาย เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับขุนนางอนุรักษ์นิยมหัวโบราณ

การปฏิรูปให้ทันสมัยและการยกเลิกระบบไพร่ทาสทำให้เกิดพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในระยะต่อมา ขบวนการทหารประชาธิปไตย ร.ศ. 130 และการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ล้วนเป็นพัฒนาการต่อเนื่องจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2440 ทั้งสิ้น กระแสความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีใครกระทำการจนสำเร็จ แม้นจะมีความกล้าหาญและเสียสละมากเพียงใดก็ตาม

มีความพยายามแต่ก็ล้มเหลว เช่น เหตุการณ์ ร.ศ. 130

ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ แกนนำของคณะทหารหนุ่มผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ได้บันทึกไว้ในหนังสือ หมอเหล็งรำลึก โดย ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า

“สาเหตุส่วนสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่ความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงจำต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้นที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนชาวไทย ... เรื่องเศรษฐกิจของชาติยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ ๆ กับประเทศไทยสมัยที่ปิดเมืองท่า แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้าหาประชาชาติของเขาอย่างรวดเร็ว จนเกินหน้าประเทศไทยอย่างไกลลิบ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากเขาปลุกพลเมืองของเขาให้รักชาติฉลาดหลักแหลมและมั่นคงในวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยโครงการการศึกษาอันแน่นอนตามเงื่อนเวลา มาเป็นกำลังการปกครองและแก้เศรษฐกิจแห่งชาติ ... ส่วนกำลังเงินงบประมาณของชาติที่เคยฟุ่มเฟือยก็รวบรวมสะสมด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความประหยัด จากการเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองนั้นชั่วไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็มีการค้าไปทั่วโลกจากผลิตผลแห่อุตสาหกรรมของตนเอง ... ส่วนของไทยเราสิ ยังล้าหลังอย่างน่าเวทนาสงสารยากที่จะหยิบยกภาวะใดอันเป็นความเจริญก้าวหน้าแห่งสังคมชาติมาเทียบเคียงให้ชื่นอกชื่นใจได้ มิหนำซ้ำยังมีเหตุการณ์ภายในบ้านเมือง”

ความสำคัญของ “คณะ ร.ศ. 130” มิใช่อยู่ที่ว่า สมาคมนี้กระทำการสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เหตุการณ์ ร.ศ. 130 นี้เป็นปรากฎการณ์สะท้อนภาพความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นเป็นประชาธิปไตยของกลุ่มทหารหนุ่มและข้าราชการรุ่นใหม่

แม้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถูกปราบปรามในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454 หรือ ร.ศ. 130 ก็ตาม แต่ความไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมืองและความล้าหลังทางการเมืองยังคงดำรงอยู่ในหมู่ชนชั้นข้าราชการรุ่นใหม่และปัญญาชนทั้งหลาย

ความคิดอภิวัฒน์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นกับท่านปรีดีมาก่อนที่จะไปเรียนฝรั่งเศสทั้งจากเหตุการณ์ในประเทศอย่าง เหตุการณ์ ร.ศ. 130 และแรงบันดาลใจจากข้อเขียนของเทียนวรรณ และ ก.ศ.ร. กุหลาบ

ท่านเทียนวรรณ หรือวรรณาโภ ได้ออกนิตยสารชื่อว่า ตุลวิภาคพจนกิจ เรียกร้องให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบรัฐสภาแบบนานาอารยประเทศ ก่อนที่นิตยสาร ตุลวิภาคพจนกิจ ถูกสั่งปิด นิตยสารเล่ม 7 วันที่ 8 กันยายน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2450) ได้ทำหน้าที่กระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างสมภาคภูมิหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน มีข้อความดังนี้

“ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังไม่ทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย
ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก
บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี
ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี
จะเป็นศิวิไลซ์จริงอย่านิ่งนาน
ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก
จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน
เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล
รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

พอมาเรียนฝรั่งเศส ท่านปรีดีจึงไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนนักเรียนทั่วไป ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมการอภิวัฒน์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในระหว่าง ปี พ.ศ. 2466-2467 ท่านปรีดีได้ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศอื่นในยุโรปจัดตั้งสมาคมสามัคยานุเคราะห์ หรือมีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า S.I.A.M.

คณะราษฎรได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ผู้ก่อตั้งเป็นนักเรียนและข้าราชการในสายทหารและพลเรือน กำลังศึกษาอยู่ทั้งในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และ สวิตเซอร์แลนด์

ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงเครือข่ายที่เข้มแข็งของ “นักเรียนนอก” เหล่านี้

การประชุมครั้งแรกของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ ค.ศ. 1926 (ตรงกับปฏิทินไทยขณะนั้น คือ ปี พ.ศ. 2469 ปฏิทินไทยปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2470) ประชุมทางการครั้งแรกที่หอพัก ถนน Rue Du Sommerard ซึ่งกลุ่มนักเรียนผู้ก่อการได้เช่าห้องใหญ่ไว้สำหรับการประชุมโดยเฉพาะ มีผู้เข้าร่วมประชุม 7 คน คือ นายปรีดี พนมยงค์ นักศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ข้าราชการและนักเรียนทุนกระทรวงยุติธรรม  ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ รัชกาลที่ 6  ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส  ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนทหารม้าฝรั่งเศส  นายตั้ว พลานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1  หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส  และนายแนบ พหลโยธิน เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานอาของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์)  ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ท่านปรีดีเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป

หลังจากประชุมติดต่อกันยาวนาน 5 วัน วัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คือ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีศัพท์สมัยใหม่ว่า “ปฏิวัติ” หรือ “อภิวัฒน์” เพื่อถ่ายทอดคำฝรั่งเศสอังกฤษ REVOLUTION ดังนั้น ทางคณะก่อการจึงใช้ศัพท์ธรรมดาว่า “เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย” และมุ่งหมายให้สยามบรรลุเป้าหมายหลัก 6 ประการ

อันเป็นหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่

หนึ่ง รักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

สอง รักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก

สาม บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

สี่ ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

ห้า ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน

หก ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ท่านปรีดีได้ทำการบันทึกเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ว่า “โดยคำนึงถึงสภาพของสยามที่ถูกแวดล้อมโดยอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งชาติทั้งสองนี้มีข้อตกลงกันถือเอาสยามเป็นประเทศกันชน แต่เขาอาจพร้อมกันยกกำลังทหารเข้ายึดครองแล้วแบ่งดินแดนสยามเป็นเมืองขึ้น หรืออยู่ใต้อำนาจอิทธิพลของประเทศทั้งสอง ดังนั้น เราจึงเห็นว่า วิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าวจะต้องกระทำโดยวิธี Coup D’etat หรือการยึดอำนาจโดยฉับพลัน เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า รัฐประหาร เพื่อป้องกันการแทรกแซงของมหาอำนาจ เพราะเมื่อคณะราษฎรได้อำนาจโดยฉับพลันแล้ว มหาอำนาจก็ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Fait Accompli คือ พฤติกรรมที่สำเร็จรูปแล้ว” 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: