ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

บทเรียนจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนจบ)

28
ตุลาคม
2563

บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศสยามให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร:อนาคตของประชาชนและทางออกจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและการเมือง

เมื่อ 88 ปีล่วงมาแล้ว เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” เป็นประมุข  ต้องถือว่า ประชาธิปไตยไทย เดินทางมาไกลเกือบ 90 ปีแล้ว แต่ประชาธิปไตยไทยยังคงลุ่ม ๆ ดอน ๆ  อยู่ และ เรายังคงอยู่ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตยสืบทอดอำนาจ คสช. อยู่

วันนี้ ยังมีเรียกหาการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง นอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ และนอกครรลองของระบอบประชาธิปไตย หรือข่าวลือการรัฐประหารยังเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ  ทั้งที่การรัฐประหารในศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่ล้าหลังอย่างยิ่ง  สะท้อนวุฒิสภาวะทางการเมือง และภูมิคุ้มกันของระบอบประชาธิปไตยยังบอบบาง แม้นจะมีพัฒนามาเกือบศตวรรษแล้วก็ตาม   

“ในเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์อุทัยส่องแสงของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กำลังของกองทัพบกส่วนหนึ่งซึ่งประกอบด้วยรถยนต์หุ้นเกาะคันเล็ก ๆ จำนวนหนึ่งที่ประชาชนเรียกว่า “ไอ้แอ้ด” เพิ่มพลังด้วยกำลังปืนกลหนักของทหารราบและกระสอบทราย ก็ได้ถูกลำเลียงมาไว้โดยรอบบังเกอร์ที่ล้อมรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม จนกระทั่งฟ้าสางแล้วก็ยังไม่มีผู้ใดรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่บ้านเมืองตัวเอง แต่ในระหว่างของความขมุกขมัวนั้นเอง นายพันเอกร่างอ้วนในเครื่องแบบนายทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ สวมท๊อปบู๊ท ก็ก้าวออกมาจากร่มเงาต้นอโศก ... นายพันเอกซึ่งเป็นผู้นำของนายพันทหารกลุ่มนี้อยู่ในวัยราว 45 ปี ตำแหน่งในกองทัพของเขาในขณะนั้น คือ รองจเรกองทัพบก เขาได้ก้าวออกมาปรากฎตนท่ามกลางแถวทหารด้วยการอ่านแถลงการณ์”

นั่นคือ ข้อเขียนบันทึกเหตุการณ์อภิวัฒน์ 2475 ในวันก่อการยึดอำนาจของเสลา เลขะรุจิ นักสารคดีทางการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น

ดูเหมือนว่า การพลิกโฉมการเมืองไทยยุคใหม่สู่ความเป็นประชาธิปไตยจะราบรื่นไร้อุปสรรคขวางกั้น  แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย การต่อสู้ของการเมืองสองขั้วยังคงดำรงอยู่หลายสิบปีหลังจากนั้น ระหว่าง คณะราษฎร และฝ่ายนิยมเจ้าหรือผู้เลื่อมใสในระบอบเก่า

ขณะเดียวกัน ในคณะราษฎรเองก็มีแตกแยกกันเป็น ปีกประชาธิปไตยก้าวหน้า และปีกเผด็จการฝ่ายขวา  ฝ่ายนิยมเจ้าเองก็แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง กลุ่มอนุรักษ์นิยมระดับปานกลางจนถึงเข้มข้น และ กลุ่มที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงต้องการกลับไปใช้ระบอบเก่าในการปกครองประเทศ

ในระยะต่อมา คณะราษฎรบางปีกได้มีท่าทีประนีประนอมกับกลุ่มนิยมเจ้าเพื่อต่อสู้กับการรุกรานของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการรวมพลังสร้างเอกภาพเพื่อบ้านเมือง

ขณะเดียวกัน การรุกรานของญี่ปุ่น นำมาสู่ความขัดแย้งแตกหักระหว่าง แกนนำผู้ก่อการอภิวัฒน์สองท่าน คือ ท่านปรีดี และท่านจอมพล ป. โดยที่ฝ่ายหนึ่งมองว่า ต้องยืนข้างฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่เห็นด้วยกับการยึดครองของญี่ปุ่น  อีกฝ่านหนึ่งเห็นว่า ไม่สามารถทัดทานญี่ปุ่นได้ และควรร่วมกับญี่ปุ่นเพื่อให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการเอาดินแดนบางส่วนที่สูญเสียไปในสมัย ร.ศ. 112

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2436 ความสัมพันธระหว่างไทยกับฝรั่งเศสถึงจุดเลวร้ายสูงสุดเมื่อนายปาวี ราชทูตฝรั่งเศส ยื่นคำขาดต่อกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมและให้ตอบภายในสองวัน หากสยามไม่ปฏิบัติตามจะถอนความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งหมดพร้อมกับจะใช้เรือรบของฝรั่งเศสปิดปากอ่าวและน่านน้ำไทย

สยามยอมตามข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ ยกเว้นการเรียกร้องให้สยามถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงรวมทั้งหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ภายใต้ดินแดนสยามมานับศตวรรษ เรือรบฝรั่งเศสทำการปิดล้อมอ่าวไทยเป็นเวลาหลายเดือน เกิดการปะทะกันประปราย ในที่สุด สยามยอมตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ยอมสละสิทธิทั้งหมดในดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง 

ในช่วงการยึดอำนาจของคณะราษฎร แกนนำคณะราษฎรระมัดระวังไม่ให้เกิดการแทรกแซงของมหาอำนาจตะวันตก เพราะมีบทเรียนจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 การดำเนินการอภิวัฒน์ จึงกระทำอย่างรอบคอบรัดกุม ไม่มีความรุนแรงและสูญเสียเลือดเนื้อเช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอื่น ๆ และต้องถือว่าเป็นแบบอย่างของการเปลี่ยนแปลงอย่างสงบและสันติ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิวัติในจีน ในสหภาพโซเวียต และในตุรกี

คณะราษฎรได้ดำเนินการยึดอำนาจอย่างเฉียบพลันด้วยความละมุนละม่อม  ขณะที่รัชกาลที่ 7 เองทรงเห็นแก่บ้านเมือง ยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร  การก่อการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จลงโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย คือ นายพลตรี พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชากองพลที่ 1

คณะผู้ก่อการได้ส่งกองทหารเข้ายึดกรมไปรษณีย์โทรเลขเพื่อตัดการสื่อสาร และจับกุมเจ้านายเชื้อพระวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่บางคนเพื่อเป็นตัวประกัน มีทหารบกและทหารเรือเข้าร่วมบริเวณหน้าพระบรมรูปทรงม้าประมาณ 2,000 นาย มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมและมามุงดูเหตุการณ์

แถลงการณ์ฉบับแรกที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ามีเนื้อหาค่อนข้างดุดัน เพื่อเป้าหมายทางการเมือง ไม่ได้เจตนาเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด ต่อมาคณะราษฎรได้ทำการขอขมาต่อพระปกเกล้า หากเราศึกษาสภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราจะเข้าใจว่า  ทำไมเนื้อหาแถลงการณ์จึงออกถึงความไม่พอใจต่อสภาพบ้านเมืองและระบอบเก่าอย่างรุนแรง

บทเรียนจากการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร สามารถนำเป็นแนวคิดสำหรับประเทศในปัจจุบันและอนาคต มีดังต่อไปนี้

บทเรียนข้อที่ 1 การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยรวมต้องรักษาความสมดุลระหว่าง “ความคิดก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัย” กับ “จารีตประเพณี” และ “บริบททางด้านภูมิหลังของประเทศ” การทำลายสิ่งเก่าโดยสร้างใหม่ทั้งหมดจึงไม่อาจกระทำได้ และไม่ควรกระทำ เพราะจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพและอนาธิปไตยได้ เช่นเดียวการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องหลอมรวมทุกแนวความคิดในสังคมไทยให้มีพื้นที่ของตัวเอง สังคมจึงดำรงอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายได้อย่างมีสันติธรรม  

บทเรียนข้อที่ 2 ผู้นำและกลุ่มผู้นำต้องมีความกล้าหาญ เสียสละและการเล็งเห็นผลประโยชน์ของสาธารณะสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและเครือข่าย 

บทเรียนข้อที่ 3 การต่อสู้เรียกร้องตามความเชื่อทางการเมืองแบบใดก็ตามต้องยึดหลักเอกราช หลักอธิปไตยและบูรณาการแห่งดินแดนรวมทั้งความปรองดองสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมชาติร่วมแผ่นดิน 

บทเรียนข้อที่ 4 การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งดีกว่าในหลายกรณีต้องอดทนและใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงหรือผลกระทบข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์

บทเรียนข้อที่ 5 การมียุทธศาสตร์ กุศโลบาย กลยุทธที่ดี และมุ่งผลประโยชน์สาธารณะของผู้นำและกลุ่มชนชั้นนำ  

บทเรียนข้อที่ 6 หากชนชั้นนำปฏิเสธไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง หรือปฏิรูปแบบมีส่วนร่วมให้เท่าทันกับพลวัต ขบวนการความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และไม่มีใครเอาชนะพลังของประชาชนผู้มุ่งมั่นได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังการปฏิวัติของประชาชนทำให้คาดการณ์อนาคตทำได้ยากว่าผลจะเป็นอย่างไร 

บทเรียนข้อที่ 7 พลังที่ก้าวหน้ากว่าของคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่ ต้องหลอมรวมพลังอนุรักษ์นิยมของคนรุ่นเก่าเอาไว้ด้วย จึงทำให้การปฏิรูปสำเร็จ หากคิดเอาชนะกันแบบหักหาญหรือใช้อำนาจบีบบังคับเช่นเดียวกับที่อำนาจรัฐกระทำต่อผู้เห็นต่างหรือขบวนการประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวย่อมไม่นำไปสู่สังคมที่พึงปรารถนาและมีเสถียรภาพ

บทเรียนข้อที่ 8 การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมีความจำเป็นต่อบริบทของสยามในยุครัชกาลที่ 5 แต่การรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกและของไทยในปัจจุบันและอนาคต การกระจายอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางการคลัง อำนาจในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับประชาชนได้ดีขึ้น การแช่แข็งไม่ให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลากว่า 6 ปี เป็นการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยในระดับพื้นที่ การกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปลายปีนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นความหวังในการที่ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่เส้นทางแห่งการกระจายอำนาจกระจายโอกาสให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากหยุดชะงักไปหลายปี

การยกเลิกประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ช้าเกินไป เพราะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้สร้างความเสียหายต่อหลักการปกครองโดยนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน ความเสียหายทางการเมือง การบริหารประเทศและเศรษฐกิจโดยรวมได้เกิดขึ้นแล้ว หากดันทุรังต่อไปก็จะยิ่งสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้น เพราะประกาศ พ.ร.ก. ฉุนเฉินที่มีความร้ายแรงไม่สามารถบังคับใช้ใครได้เนื่องจากประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมของรัฐบาลหรือปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายอันไม่เป็นธรรมแล้ว รัฐบาลที่ไม่มีศรัทธาจากประชาชนจะบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก

ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องสร้างศรัทธาต่อประชาชนด้วยการกระทำที่ไม่หลอกลวง ผลักดันการปฏิรูปและการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงช่วยบรรเทาความเสียหายและหวังว่าจะเกิดทางออกจากวิกฤติได้ในอนาคต รัฐบาลต้องแก้ไขความผิดผลาดในการตัดสินใจด้วยการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและผู้ได้รับผลกระทบและเสียหายทั้งหมดรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย นอกจากนี้ควรปล่อยเยาวชนจากการคุมขังและให้ประกันตัวผู้ที่กระทำผิดจากการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอันไม่มีความชอบธรรมด้วย

รัฐบาลต้องกำกับควบคุมไม่ให้ “กลุ่มมวลชน” หรือ “ผู้นำกลุ่มมวลชน” ที่ใกล้ชิดรัฐมนตรีบางท่านหรือใกล้ชิดขั้วทางการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่นิยมความรุนแรง ก่อความรุนแรง หรือยั่วยุให้ก่อความรุนแรง ก่อเหตุทำร้ายเยาวชนคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นอนาคตของชาติอีก หรือวางแผนให้เกิดการปะทะกันของมวลชนที่เห็นต่างเพื่อสร้างเงื่อนไขในการก่อการยึดอำนาจรัฐประหารนอกวิถีทางแห่งกฎหมายกันอีกเป็นครั้งที่ 16 ในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รัฐบาลมีหน้าที่ประกันความปลอดภัยให้กับทุกกลุ่มทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การรัฐประหารหากเกิดขึ้นในอนาคตจะทำให้ประเทศไทยติดอันดับที่หนึ่งของโลกในการมีรัฐประหารมากที่สุดในรอบ 88 ปี และประเทศไทยของเรานั้นจะเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการมีรัฐประหารมากที่สุดในช่วง 20 ปีแรกของของศตวรรษที่ 21

ในช่วงกว่า 14 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2549-2563) เราสูญเสียทรัพยากร สูญเสียความรักที่มีต่อเพื่อนร่วมชาติ เราสร้างความเกลียดชังต่อกันเพียงแค่เห็นต่างทางการเมือง บาดเจ็บล้มตายจากความขัดแย้งทางการเมือง เราสูญเสียเวลา สูญเสียโอกาสอย่างมากมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เราขาดโอกาสในการผลักดันความก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม เราจึงต้องร่วมกันปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านเพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เช่นเดียวที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: