ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความเสื่อมของรัฐบาลประชาธิปไตยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

5
พฤศจิกายน
2563

การเมืองไทยหลังสงครามโลกนั้นเป็นยุคของความเฟื่องฟูของระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบประชาธิปไตยนี้ก็เป็นประชาธิปไตยของอดีตข้าราชการพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีพลังอื่นที่สร้างตัวขึ้นมานอกระบบราชการที่จะเป็นเสาค้ําจุนประชาธิปไตยใหม่นี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังธุรกิจ พลังกรรมกร หรือพลังนักศึกษา ดังที่เราจะมาเห็นในภายหลัง การเมืองหลังสงครามโลกเป็นยุคของความหวังว่าจะมีระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นในประเทศไทย 

ในด้านหนึ่ง ความหวังนี้เป็นผลมาจากบทบาทของผู้นําฝ่ายพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายปรีดี พนมยงค์ ที่สร้างบทบาทและฐานะอันสูงทางการเมืองในสมัยที่ดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และดํารงตําแหน่งผู้นําขบวนการเสรีไทยในการต่อต้านญี่ปุ่น ทําให้ไทยปรับตัวสามารถอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรค่ายประชาธิปไตย ผู้ชนะสงครามได้ 

ในขณะเดียวกันนักการเมืองพลเรือนก็ได้รับ “บารมี” จากสถาบันพระมหากษัตริย์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ธันวาคม 2488 เป็นสัญญาณหรือเครื่องสะท้อนให้เห็นการเดินไปในแนวทางเดียวกันของระบอบประชาธิปไตย ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีสถาบันนิติบัญญัติ (ผู้แทนราษฎร พรรคการเมือง การเลือกตั้ง) และสถาบันบริหาร (รัฐบาล) ไม่เหมือนสภาพ ของความขัดแย้งและปัญหาอย่างเช่นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งในที่สุดนําไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 เมื่อ 2477 

แต่ความหวังและความเฟื่องฟูของระบอบประชาธิปไตยไทยนี้ก็สั้นยิ่ง ซึ่งน่าสนใจที่จะศึกษาถึงสาเหตุของความเสื่อมของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัฐบาลพลเรือน  โดยศึกษาจากสาเหตุสําคัญ 3 ประการดังนี้ 

ก. ปัญหาจากระบอบอํานาจนิยม 

ในเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับทหารที่เคยมีบทบาทสูงมาก่อนนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 จนกระทั่งถึงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่ทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกมองว่าเป็นฝ่ายของญี่ปุ่น เข้าร่วมในการรบกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ทําให้เมื่อสิ้นสงครามมีปัญหาเรื่องการจัดการกับ “อาชญากรสงคราม” ขึ้นมา ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจัดการกับคู่ต่อสู้ของตน โดยเฉพาะเยอรมันและญี่ปุ่นอย่างรุนแรงถึงกับประหารชีวิต ดังเป็นที่ทราบกันดีแล้ว  แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้น ผลของท่าทีของสหรัฐฯ ทําให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตกลงให้เรื่องของ “อาชญากรสงคราม” เป็นเรื่องภายในของไทย กล่าวคือ ยอมให้ผู้นําไทยจัดการปัญหากันเอาเอง และในสมัยของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม (18 ตุลาคม 2488) อันมีบทบัญญัติรุนแรงโทษถึงขั้นจําคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาในกรณีอาชญากรสงคราม เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม  พลโท ประยูร ภมรมนตรี  หลวงวิจิตรวาทการ  สังข์ พัธโนทัย ฯลฯ  แต่ในที่สุดศาลฎีกาก็พิจารณาคดีอย่างรวบรัด และปล่อยตัวผู้ต้องหาไปด้วยการตีความกฎหมายในลักษณะไทย ที่ว่ากฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรสงครามนั้นออกมาทีหลังการกระทํา ดังนั้นก็ถือเป็น โมฆะ (ในเดือนเมษายน 2489 ในช่วงสมัยของรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ก่อนหน้าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 พฤษภาคมเพียง 1 เดือน)[1]

ข้อน่าสังเกตในเรื่องนี้ ก็คือ จะเห็นได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นน่าจะเป็นผู้ที่ได้รับความนิยมชมชอบมาก ผู้คนจํานวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการที่จะลงโทษรุนแรง ดังในกรณีที่สัมพันธมิตรทําต่อศัตรูของตน มีคนไม่น้อยมองเห็นเรื่องของความจําเป็นที่จะต้องเข้ากับญี่ปุ่น และในกรณีที่ดูเป็นการกระทําที่ไปไกลเกินไปของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังเช่นในเรื่องของการประกาศสงครามต่อสหรัฐฯและอังกฤษ ตลอดจนมาตรการหลายอย่างในช่วงของเวลาสงคราม ก็เป็นเรื่องที่จอมพล ป. พิบูลสงครามสามารถหาข้ออ้างมาแก้หลุดไปได้ไม่น้อย ยิ่งมหาอํานาจอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษไม่ติดใจ เรื่องของการประกาศสงครามอีกต่อไป ก็ยิ่งให้การที่จะลงโทษต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะพรรคดูจะมีน้ําหนักน้อยลง นอกจากนั้นก็น่าเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดากลุ่มผู้ก่อการ (คณะราษฎร) ด้วยกันแล้ว หากไม่คัดค้านในเรื่องของการดําเนินการนี้ ก็มีไม่น้อยที่ไม่กระตือรือร้นต่อเรื่องของการจัดการต่อผู้ต้องหา ทําให้ในที่สุด บรรดาผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวไป แต่เหตุการณ์นี้กลับกลายเป็นเรื่องของ “การตีงูให้หลังหัก” เพราะได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายทหารมากยิ่งขึ้น ฝ่ายทหารมีความรู้สึกว่าตนถูกคุกคามหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของทหาร กลายเป็นการถูกดูหมิ่นในเกียรติภูมิ และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ทหารรวมตัวกันได้ในการกลับมายึดอํานาจในที่สุด 

ข. ปัญหาทางเศรษฐกิจ 

ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่ทําให้รัฐบาลประชาธิปไตยเสื่อมโทรม คือ ปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามโลก ซึ่งทําให้เกิดการขาดแคลนสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ปัญหาเงินเฟ้อ ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าของก่อนสงคราม การคมนาคมก็ขาดเนื่องจากเส้นทางรถไฟ ถนน สะพาน ถูกระเบิด ที่หนักหน่วงมากที่สุด ก็คือ การลักลอบนำข้าวออกนอกประเทศ การลักลอบทําให้ข้าวราคาแพง ทั้งรัฐบาลยังต้องส่งข้าวให้กับอังกฤษตามสัญญา รัฐบาลขาดรายได้ภาษี พยายามบังคับให้ปิดป้ายราคาสินค้า แต่เงินเดือนข้าราชการก็ต่ํา การคอรัปชั่นสูง ได้มีการประณามกันในหมู่ข้าราชการและนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ถูกโจมตีหนักในเรื่องการเอาเงิน 10 ล้านไปละลายแม่น้ำในเรื่องนโยบายการลดค่าครองชีพขององค์การสรรพาหาร กลายเป็นว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์ตอนนี้เป็นพ่อค้าข้าวคนจีน คนลักลอบส่งสินค้า และบรรดานักการเมืองจำนวนมากก็เป็นฝ่ายของนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้เกิดภาพว่า รัฐบาลแบบประชาธิปไตยของพลเรือนนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และเปิดโอกาสให้ระบบอำนาจนิยมกลับมาได้ง่ายขึ้น[2]

นอกจากนี้ในบรรดานักนักการเมืองที่เคยเป็นข้าราชการพลเรือนมาก่อน และได้เข้าแข่งขันกันในเกมการเมืองหลังสงครามนี้ ก็แข่งขันกันแบบชนิดที่ว่า ในที่สุดก็ไม่สามารถประนีประนอมกันในระดับที่จะรักษาไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ของของระบอบประชาธิปไตย  การแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เป็นฝ่ายของเสรีนิยมและสังคมนิยม (สหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ) กับฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ประชาธิปัตย์) นั้น ได้พัฒนาจนกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่ 5 (5 สิงหาคม 2489 เลือกตั้งเพิ่มเติม 57 จังหวัด)[3] พรรคของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ มีเสียงข้างมาก 54% ถูกพรรคประชาธิปัตย์รุกหนักในสภา สร้างภาพให้ดูเหมือนว่า นักการเมืองพลเรือนในระบบพรรคนั้นวุ่นวาย ทำให้เกิดการคิดที่จะยอมรับ หรือไม่ก็ไม่คัดค้านการกลับไปใช้ระบบอำนาจนิยม

ค. กรณีสวรรคต 

ท้ายที่สุด ก็คือ กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นกรณีทางประวัติศาสตร์ที่มืดมน ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า เป็นอุบัติเหตุ เป็นการปลงพระชนม์เอง หรือเป็นการถูกลอบปลงพระชนม์ 

ในชั้นต้นรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงว่า เป็นเรื่องของอุบัติเหตุ และได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวน[4] แต่แล้วกรณีนี้ก็กลายเป็นข่าวลือแพร่สะพัดว่า เป็นการลอบปลงพระชนม์  ในที่สุด กรณีสวรรคตก็กลายเป็นเกมการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้านใช้ในการโจมตีรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงขนาดกล่าวหาว่า นายปรีดีเองพัวพันหรือไม่ก็มีส่วนโดยตรง วิกฤตการณ์ดังกล่าวทําให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยที่หลวงธํารนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาตั้งรัฐบาลแทน แต่ก็ถูกมองว่าเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” และในที่สุดกรณีนี้ก็กลายเป็นข้ออ้างสําคัญของฝ่ายอํานาจนิยมที่จะยึดอํานาจโดยอ้างว่าจะเข้ามาทําความกระจ่างให้กับกรณีสวรรคต และข้ออ้างดังกล่าวนี้ก็มีส่วนที่ทําให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายอํานาจนิยมมาร่วมกันได้ชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อขจัดฝ่ายเสรีนิยมและสังคมนิยมออกไปจากเวทีการเมือง”[5]

 

ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, "ความเสื่อมของรัฐบาลประชาธิปไตย," ใน ประวัติการเมืองไทย: 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), น. 451-455.


[1] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ : ช. ชุมนุมช่าง, 2517), น. 513.

[2] เกียรติ, เรื่องของนายควง (พระนคร : พินิจประชา, 2513), น. 263. และ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516), หน้า 152.

[3] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), น. 545-547.

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 544 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน รายละเอียดและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนพฤติการณ์ในที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2489).

[5] สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ, ขบวนการเสรีไทยกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2481-2492 (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), น. 226.