ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ทำไมปรีดีไม่กลับเมืองไทย?

11
พฤศจิกายน
2563

หมายเหตุ: ในปี พ.ศ. 2522 นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ได้สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และนำคำสัมภาษณ์นั้นลงในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 1979 - 4 มกราคม 1980 ภายใต้หัวเรื่องว่า “PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS” ต่อมา ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ ร.น. ถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทรรศนะ ดร.ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยในปัจจุบัน” และได้รับการตรวจทานจาก สุภัทร สุคนธาภิรมย์

ในที่นี้ คัดมาเฉพาะบทสัมภาษณ์ในตอนกลางที่นายปรีดีอธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมเขาถึงไม่เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงบั้นปลายชีวิต

 

----------------------------------

 

ถาม มีการกล่าวในบางวงการของกรุงเทพฯ เสมอว่า ก่อน ๆ นี้ ท่านเคยช่วยให้เกิดกบฏขึ้นในประเทศไทย ท่านมีอะไรจะวิจารณ์ในเรื่องการโจมตีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ไหม?

ตอบ ข่าวลือมีเยอะ... บางข่าวยิ่งร้าย มีข่าวหนึ่งว่า ข้าพเจ้าปลงพระชนม์กษัตริย์ ข่าวลือมากมาย นับแต่ข้าพเจ้าออกจากประเทศจีนมามีข่าวและบทความเป็นคราว ๆ ที่พูดให้ร้ายข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องฟ้องร้องบุคคลเหล่านั้นต่อศาล และด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่ชอบตอบข่าวลือ คุณเข้าใจไหม?

 

ถาม ท่านบอกข้าพเจ้าได้ไหมว่า คดีอะไรที่ท่านชนะเมื่อเร็ว ๆ นี้

ตอบ คดีล่าสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้เรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ เป็นคดีหมิ่นประมาทที่ข้าพเจ้าชนะในกรุงเทพฯ หลายเดือนมาแล้ว บางคนกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าปลงพระชนม์กษัตริย์  นักหนังสือพิมพ์ (บางคน) เขียนอย่างนั้นลงในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย  ข้าพเจ้าชนะคดี (อดีตนายกรัฐมนตรี) คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย  

ภายหลังข้าพเจ้ามาถึงที่นี้ [ประเทศฝรั่งเศส - บ.ก.] เมื่อปี ค.ศ. 1970 พวกปฏิปักษ์ของข้าพเจ้าพยายามรื้อฟื้นคดีมาโจมตีข้าพเจ้าเป็นระยะ ๆ และนั่นแหละ ทําให้ข้าพเจ้าต้องฟ้องร้องพวกเขา 

 

ถาม และท่านชนะเสมอหรือ?

ตอบ เสมอ

 

ถาม ในที่ประชุมหนังสือพิมพ์ที่ฮ่องก งเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1978 ข้าพเจ้าได้ถามนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ว่า ทําไมเขาไม่เชิญปรีดีกลับประเทศไทย และนายกรัฐมนตรีตอบว่า ท่านกลับเมื่อไรก็ได้ ด้วยความยินดี เท่าที่ข้าพเจ้าทราบ เรือเอก วัชรชัย อดีตราชองครักษ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวพันด้วยในข้อกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์ ก็ได้กลับไปแล้ว และไม่เห็นมีอันตรายอะไร ทําไมท่านไม่กลับไปล่ะ?

ตอบ โดยทั่วไป, สภาพแวดล้อมยังไม่เหมาะสําหรับข้าพเจ้าที่จะกลับไป  ประการที่สอง คุณก็ทราบ ข้าพเจ้าบริสุทธิ์ในเรื่องกรณีสวรรคตของกษัตริย์ และถ้าข้าพเจ้ากลับไป เพราะระยะเวลาที่กําหนดโดยข้อบัญญัติของกฎหมายว่าหมดอายุความแล้ว ประชาชนก็อาจพูดว่า “นั่นไง, เขาได้รับความคุ้มครองตามข้อบัญญัติของกฎหมายที่หมดอายุความในคดีอาญาของเขา บัดนี้เขาจึงกลับมา”  เพราะฉะนั้น, ประชาชนอาจพูดว่า ไม่ใช่ว่าเขาบริสุทธิ์หมดจดหรอก ในเมื่อเขารอคอยจนกระทั่งเขาได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฎหมาย มันเป็นปัญหาเกี่ยวกับเกียรติยศ และความเป็นธรรม ไม่ใช่ปัญหาถูกต้องตามกฎหมาย

 

ถาม ท่านจะไม่กลับตลอดไปเลยหรือ ?

ตอบ ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้ากําลังคอยสภาพแวดล้อม

 

ถาม สภาพแวดล้อมอะไร ?

ตอบ อ๋อ, สภาพแวดล้อมหลายอย่าง เมื่อประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจถูกต้องว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้บริสุทธิ์

 

ถาม ท่านคิดว่า ประชาชนส่วนมากคิดว่า ท่านมีความผิดอย่างนั้นหรือ?

ตอบ เปล่า, ไม่ใช่ว่าจะชัดแจ้งแจ่มแจ๋วไปทั้งหมดอย่างนั้น ประชาชนส่วนข้างมากอยู่ในขอบเขตที่มืดมนมองไม่เห็น พวกเขาบางทีไม่รู้ และก็ไม่ได้สนใจเท่าใดนัก แต่ข้าพเจ้าไม่สบายใจจากความจริงที่ว่า ประชาชนอาจคิดว่า ข้าพเจ้ากลับไป เพราะได้รับการคุ้มครองจากข้อบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการหมดอายุความ ข้าพเจ้าไม่รีบเร่งอะไรหรอก

 

ถาม ที่เป็นปัญหาละเอียดอ่อนมากในเนื้อหาของสถานการณ์ประเทศไทย ท่านเคยได้รับหรือว่าเคยได้รับการติดต่อกับกษัตริย์บ้างไหม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม?

ตอบ ไม่, ไม่, ไม่,

 

ถาม จะเป็นเหตุผลพอเพียงไหมที่จะกลับไป คือ ถ้าท่านได้รับการเชิญให้กลับโดยกษัตริย์ภูมิพล

ตอบ โอ, ไม่, ไม่, ไม่, ข้าพเจ้าไม่ได้หวังการเชิญจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

ถาม ท่านยังรักษาการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตไทยที่นี่อยู่หรือ?

ตอบ ใช่

 

ถาม ท่านรู้ตัวว่ามีการเฝ้าดูแลชนิดใดบ้างไหมจากเจ้าหน้าที่ไทย? 

ตอบ ไม่ 

 

ถาม พวกเขาไม่เฝ้าดูท่านหรือ? 

ตอบ (หัวเราะ) มันยาก ท่านก็รู้ เดี๋ยวนี้มีวิธีการเฝ้าหลายอย่าง ไม่สําคัญที่ต้องเฝ้าตลอดทั้งวัน ท่านรู้หรือเปล่า, เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปีที่แล้ว ท่านเอกอัครราชทูตมาเยี่ยมภรรยาข้าพเจ้า บอกว่า เขาได้รับคําสั่งจากกระทรวงของเขาว่า ข้าพเจ้ากําลังวางแผนจะกลับประเทศไทย และถามว่า เรื่องนี้เป็นจริงหรือเปล่า  ถ้าเป็นจริงพวกเขาจะเตรียมให้การคุ้มครองป้องกันข้าพเจ้า ภายหลังจากที่ไปถึงกรุงเทพ ฯ ภรรยาข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้ากําลังอยู่ในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ

 

ที่มา: รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2524), น. 70-79.