ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ท่านปรีดีกับศาลปกครอง (2)

19
พฤศจิกายน
2563

หมายเหตุ

บทความนี้เป็นตอนจบของเรื่อง “ท่านปรีดีกับศาลปกครอง” อ่านตอนแรกได้จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/505

           

ความสำเร็จในการจัดตั้งศาลปกครอง

แม้แนวคิดของท่านปรีดี ที่ต้องการให้มีการจัดตั้งศาลปกครองแยกออกจากศาลยุติธรรม ที่เรียกว่าระบบ “ศาลคู่” ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ก็ตาม แต่ต่อมาก็ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ได้บัญญัติให้มีศาลปกครองขึ้น และได้มีการตราพระราชบัญญัติ 5 ฉบับ เพื่อรองรับการจัดตั้งศาลปกครอง คือ พระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 (พระราชบัญญัติ 2 ฉบับหลังได้ถูกยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่โดยมิได้บัญญัติเรื่องศาลปกครองไว้)

ต่อมาแทนที่จะดำเนินการออกกฎหมายเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองตามเจตนารมณ์ตั้งแต่เริ่มแรก  ได้มีการตราพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ขึ้นโดยจัดตั้งคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้ว จะต้องแจ้งนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควรต่อไป ระบบร้องทุกข์ตามกฎหมายเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 ที่กล่าวมาไม่ประสบความสำเร็จดังวัตถุประสงค์เพราะการพิจารณาใช้หลักกฎหมายแพ่งจนเกินไป มีความล่าช้าในการพิจารณา ขาดการวางระบบการพิจารณาที่ถูกต้อง และบางครั้งนายกรัฐมนตรีก็เก็บเรื่องที่คณะกรรมการเสนอขึ้นมา

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2522 ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และโดยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ ดร.สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 และปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยรวมคณะกรรมการกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.  2476 และคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ. 2492 เข้าด้วยกันเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 และจัตตั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์” ซึ่งเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาประเภทหนึ่ง ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาททางปกครองเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ระบบดังกล่าวเป็นการนำเอารูปแบบองค์กรและวิธีพิจารณาแบบ “ศาลปกครอง” มาใช้เป็นองค์กรกลั่นกรองงาน แต่อำนาจสั่งการยังเป็นของหัวหน้าฝ่ายบริหารอยู่ หรือที่เรียกกันว่า องค์กรกึ่งตุลาการ  การดำเนินการดังกล่าวเป็นประโยชน์มากในขณะที่การจัดตั้งศาลปกครองของไทยยังไม่พร้อม[1] ทั้งนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างหลักกฎหมายปกครองและพัฒนาสถาบันร้องทุกข์ไปสู่การจัตตั้งศาลปกครองต่อไปตามแนวทางของท่านปรีดีที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา รัฐบาลในแต่ละสมัยได้พยายามเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลปกครองซึ่งเป็นศาลปกครองในระบบ “ศาลเดี่ยว” ทั้งสิ้น แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาใน พ.ศ. 2532 กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัตตั้งศาลปกครอง พ.ศ. .... ตามระบบ “ศาลเดี่ยว” เช่นเดิม ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ให้เป็นศาลปกครองที่สมบูรณ์ต่อไป

แม้รัฐบาลในสมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จะได้ตัดสินใจเลือกแนวทางการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ “ศาลคู่” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญก็ตาม แต่จุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ก็คือ หากนโยบายของรัฐบาลต่อ ๆ มาไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีความตื่นตัวในทางวิชาการที่จะทำให้สาธารณชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องแล้วก็อาจต้องรอ ศาลปกครองต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

ใน พ.ศ. 2535 ได้เกิดการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองขึ้น และในส่วนของศาลปกครองก็ได้มีความตื่นตัวทั้งจากนักกฎหมาย นักวิชาการทั่วไป ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญของรัฐบาลที่จะกำหนดทิศทางของศาลปกครองว่าจะเป็นรูปแบบใด นับเป็นช่วงสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความสำเร็จของการจัดตั้งศาลปกครอง

รัฐบาลในช่วงนั้นซึ่งมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายที่จะพัฒนาบุคลากรและกระบวนการวินิจฉัยเรื่องราวร้องทุกข์ ตลอดจนเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้พร้อมเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งศาลปกครองให้ทันภายใน 4 ปี ซึ่งได้มีการยกร่างกฎหมายที่สำคัญ 3 ฉบับ คือ กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองในระบบ “ศาลคู่” โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับผิดชอบงานธุรการของศาลปกครอง ร่างกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และร่างกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2538 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538) โดยกำหนดให้มีศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติถึงระบบ “ศาลคู่” แยกต่างหากจากศาลยุติธรรมไว้ในมาตรา 195-195 เบญจ แต่ก็ไม่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาและได้มีการยุบสภา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538

รัฐบาลต่อมา ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่องศาลปกครองว่าจะปรับปรุงกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองทางแพ่ง และทางอาญาให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วเป็นระบบและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาให้ทันสมัยเป็นระบบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เป็นระบบและทั่วถึงนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่ามีกฎหมายที่สำคัญหลายฉบับ ซึ่งค้างการพิจารณามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ... ร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ... จึงได้มีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างกฎหมายตั้งกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในรัฐบาลนี้ได้มีการตรากฏหมายดังกล่าว 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ส่วนกฎหมายฉบับอื่นยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเพราะได้มีการยุบสภา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2539

ต่อมารัฐบาลซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่องศาลปกครองว่าจะเร่งรัดผลักดันให้มีศาลปกครองขึ้นเป็นเอกเทศจากระบบศาลยุติธรรม โดยสอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภามีความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ “ศาลคู่” ในรัฐบาลนี้ได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญอีก 1 ฉบับ ซึ่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว คือ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงทำให้มีกฎหมายที่สำคัญครบ 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ทำให้รัฐสภาได้เห็นถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง ทั้งยังมีส่วนสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองในด้านการพิจารณาคดีปกครอง และให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน

ในส่วนของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองนั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายโภคิน พลกุล) ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ... ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นเป็นระบบ "ศาลคู่" ในขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ... ในระบบ “ศาลเดี่ยว” ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 และนโยบายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ให้นำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไปพิจารณาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลแล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งหมายถึงการยืนยันให้มีการจัดตั้งศาลปกครองในระบบ “ศาลคู่” อีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2540 ให้เสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ ในระบบ “ศาลคู่” และกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 3 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2540 และสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ในระเบียบวาระต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540)  รัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ได้บัญญัติยืนยันให้มีศาลปกครองในระบบ “ศาลคู่” เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2538 แต่ในเรื่องของระบบงานธุรการนั้น ได้กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานศาลปกครองที่เป็นอิสระขึ้นเป็นการเฉพาะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โดยนายชวน หลีกภัย มาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลก็ได้ขอถอนร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2541 ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปพิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ในรายละเอียดและได้เสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2542 นับแต่นั้นมาจึงมีศาลปกครองเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยสมบูรณ์

และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 ศาลปกครอง (ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลาง) ก็ได้เปิดทำการเพื่อทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครองอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก อันเป็นการสิ้นสุดการรอคอยเป็นระยะเวลา 68 ปี นับแต่วันที่ท่านปรีดีผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาใน พ.ศ. 2476 เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่เป็นศาลปกครอง

อำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง

ศาลปกครองเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่เป็นข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ซึ่งข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งดังกล่าว ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองฝ่ายเดียว อันได้แก่ การใช้อำนาจที่หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถดำเนินการได้เองฝ่ายเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้เอกชนยินยอมเสียก่อนไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ เช่น กฎกระทรวงประกาศกระทรวง ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป หรือการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งอนุญาต อนุมัติคำสั่งแต่งตั้ง ฯลฯ

2. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาสัมปทาน สัญญาที่หน่วยงานของรัฐจ้างให้เอกชนสร้างสะพาน สร้างถนน

3. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดทางปกครองหรือความรับผิดอย่างอื่น ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ เช่น ทางราชการออกคำสั่งปิดโรงงานและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของโรงงาน หรือเจ้าหน้าที่ละเลยหรือต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการล่าช้าเกินสมควรจนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย

4. คดีพิพาทอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น ในเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดเวลาให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน หรือแม้กระทั่งในเรื่องทีกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาเอาไว้ แต่โดยปกติสามารถดำเนินการให้เสร็จในระยะเวลาหนึ่ง แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ จนเวลาล่วงเลยไปหลายเดือน

5. คดีพิพาททางปกครองอื่น ๆ เช่น คดีที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง หรือให้หน่วยงานทางปกครองต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับบุคคลให้กระทำหรือละเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด

คดีปกครองใน 5 ลักษณะข้างต้นนี้ กฏหมายกำหนดว่า ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

สำหรับศาลปกครองสูงสุดนั้น กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้

1. คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

2. คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด

3. คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา หรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

4. คดีที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด

กล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือ ศาลปกครองชั้นต้นจะเป็นศาลที่มีอำนาจทั่วไปในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง โดยเป็นศาลแรกที่คู่กรณีจะนำคดีมาฟ้อง  ส่วนศาลปกครองสูงสุดก็จะเป็นศาลสูงที่คอยตรวจสอบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นอีกครั้งหนึ่งหากคู่กรณียังไม่พอใจคำพิพากษาหรือคำสั่งใดของศาลปกครองชั้นต้น และเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ

กฎหมายกำหนดให้เรื่องต่อไปนี้ไม่ให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ได้แก่ เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการด้านระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนาญพิเศษอื่น

ประโยชน์ของการมีศาลปกครอง

ศาลปกครองเป็นศาลที่มีระบบการดำเนินงานที่เรียบง่าย รัดกุมและให้ประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งการดำเนินงานของศาลปกครองก่อให้เกิดผลดีแก่ประชาชน ดังนี้

1. การฟ้องคดีปกครองถือหลักว่าให้กระทำได้โดยง่ายไม่มีข้อยุ่งยาก กล่าวคือ ผู้ประสงค์จะฟ้องคดีปกครองสามารถยื่นฟ้องได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีทนายความ การเขียนคำฟ้องไม่มีแบบฟอร์มบังคับเป็นการเฉพาะ เพียงแต่ต้องมีสาระสำคัญและหลักฐานอื่น ๆ เท่าที่มีแนบท้ายด้วย และคดีส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีฟ้องเรื่องละเมิดหรือเรื่องสัญญาทางปกครองมีค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2.5 ของทุนทรัพย์แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

2. ระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองมุ่งที่จะให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมให้ได้ดุลยภาพ โดยไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันเพียงเพราะเหตุที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความสามารถในการต่อสู้คดีมากกว่าหรือน้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะฝ่ายปกครองซึ่งอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าเอกชน ดังนั้น ศาลปกครองจึงใช้ระบบไต่สวนในการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งตุลาการศาลปกครองจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนการพิจารณาไม่ใช่คู่กรณี หรือทนายความของคู่กรณี และในการพิจารณาพิพากษาคดีจะมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างตุลาการเจ้าของสำนวนองค์คณะและตุลาการผู้แถลงคดีทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยถี่ถ้วนและรอบคอบ อีกทั้งคำพิพากษาจะต้องพิมพ์เผยแพร่ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

3. คำพิพากษาของศาลปกครองจะเป็นการวางบรรทัดฐานให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย อันส่งผลให้มีการพัฒนาระบบราชการไปในทิศทางที่ดีขึ้น

บทส่งท้าย

ท่านปรีดีเป็นสามัญชนที่มาจากครอบครัวเกษตรกร เป็นผู้ใฝ่ใจในการศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทย เป็นรัฐบุรุษอาวุโส และเป็นนายกรัฐมนตรี

บทบาทดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานกันอย่างแพร่หลายถึงคุณูปการที่ท่านได้สร้างไว้ให้แก่ชาติบ้านเมือง แต่อีกบทบาทหนึ่ง ซึ่งแม้จะไม่แพร่หลายเท่ากับบทบาทที่กล่าวมาข้างต้นก็ตาม ก็มีส่วนสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมและพัฒนาประเทศได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน นั่นคือ ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานการจัดตั้งศาลปกครอง ทั้งยังเป็นบุคคลแรกที่นำความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครองมาสอนและเผยแพร่ในประเทศไทย จนทำให้ประเทศไทยมีศาลปกครองที่เป็นองค์กรตุลาการอีกองค์กรหนึ่งในปัจจุบัน

จากภารกิจที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ท่านปรีดีเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างเอนกอนันต์ จนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องและบรรจุชื่อปรีดี พนมยงค์ ไว้ในประวัติบุคคลสำคัญของโลก ปี ค.ศ. 2000-2001 ขณะเดียวกัน ประชาชนชาวไทยที่มีจิตใจเป็นธรรม มีความกตัญญูต่อผู้มีคุณต่อแผ่นดินรุ่นแล้วรุ่นเล่าก็เทิดทูนยกย่องท่านปรีดีไว้ในหัวใจในฐานะ “สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่”

 

ที่มา: “ท่านปรีดีกับศาลปกครอง,” ใน ปรีดีสาร พฤษภาคม 2544, น. 70-77. โดยที่บทความนี้เป็นการสรุปย่อจากบทความชื่อเดียวกันนี้ซึ่งลงพิมพ์ใน วารสารวิชาการศาลปกครอง ปีที่ 1 เล่มที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2544 โดยที่เวลานั้น ผู้เขียนดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด


[1] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, “125 ปี Council of State สถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” วารสารกฎหมายปกครอง (เล่ม 18 ตอน 3), 2542, หน้า 38.