ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของข้าพเจ้า

20
พฤศจิกายน
2563

หมายเหตุ: ในปี พ.ศ. 2522 นายแอนโทนี พอล ผู้สื่อข่าวนิตยสาร เอเชียวีค ประจำกรุงปารีส ได้สัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส และนำคำสัมภาษณ์นั้นลงในนิตยสาร เอเชียวีค ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 1979 - 4 มกราคม 1980 ภายใต้หัวเรื่องว่า “PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS” ต่อมา ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ ร.น. ถอดความเป็นภาษาไทยในชื่อ “ทรรศนะ ดร.ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยในปัจจุบัน” และได้รับการตรวจทานจาก สุภัทร สุคนธาภิรมย์

ในที่นี้ คัดมาเฉพาะบทสัมภาษณ์ในตอนท้ายที่นายปรีดีกล่าวถึงเหตุการณ์ในวัยหนุ่ม และความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของตนเอง พร้อมทั้งที่มาของวาทะอมตะที่ว่า “ในปี ค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทําการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอํานาจ ”

 

----------------------------------

 

ถาม ท่านยังคงติดต่อกับพวกนักเรียนไทยหรือคนไทยที่พํานักอาศัยในประเทศฝรั่งเศสอยู่หรือ?

ตอบ ใช่, ข้าพเจ้าพบปะกับพวกนักเรียน เพราะว่านักเรียนบางคนต้องการศึกษาประวัติศาสตร์ เขามาหาข้าพเจ้าเป็นครั้งคราวเพื่อคุยกันถึงเรื่องประสบการณ์ในอดีตของข้าพเจ้า

 

ถาม นักเขียนคนหนึ่งเคยกล่าวยกย่องท่านว่า “ท่านปรีดี ถ้าไม่เคยหนุ่มมาก่อน ก็จะไม่แก่เลย” ข้าพเจ้าใคร่จะสํารวจเรื่องราวของท่านในตอนต้น ๆ ชีวิตของท่าน และในเวลาอันยาวนานที่ท่านต้องลี้ภัย  ตอนแรกในวัยหนุ่ม ขณะท่านเป็นนักเรียนในปารีสตอนปี ค.ศ. 1920 ท่านคงต้องมีทรรศนะต่อชนิดของสังคมที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยชนิดอย่างที่ท่านเป็นคนหนุ่มอยากจะสรรค์สร้าง ท่านจะสรุปทรรศนะนั้นให้เราทราบได้ไหม?

ตอบ อย่างที่คุณทราบ ข้าพเจ้าศึกษากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส (Faculti de Droit) โครงการศึกษาในสมัยโน้นมีกว้างขวาง เพราะว่าเราไม่ใช่เรียนเพียงแต่กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนเท่านั้น หากต้องเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกด้วย นี่แหละที่ทําไมข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า เศรษฐกิจเป็นรากฐานของสังคม กฎหมายและสถาบันต่าง ๆ เป็นโครงสร้างชั้นบน  ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ

 

ถาม ท่านจะถือว่าทรรศนะของท่านเป็นชาวมาร์กซิสต์ หรือมาร์กซิสต์ใหม่ได้ไหม ?

ตอบ ไม่, ไม่, ไม่, ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่า ปรัชญาของข้าพเจ้าคือ “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ถึงแม้ว่า ถ้ามาร์กซ์พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่า เป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ 

สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซก็มีชนิดต่าง ๆ มีลัทธิมาร์กซ ลัทธิเลนิน ลัทธิทรอตสกี้ และอะไรต่ออะไร ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักห้าประการของเราอย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงมาแล้ว [ดู สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย

เราไม่อาจกระโจนพรวดเดียวถึงขั้นสุดยอดของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยได้ เราต้องก้าวไปทีละขั้น ๆ อย่างที่คนเราค่อยมีฐานะดีขึ้น ๆ เป็นลําดับ อย่างที่คุณเห็นในประเทศของข้าพเจ้า แม้ภายหลังการอภิวัฒน์ ค.ศ. 1932 เมื่อพวกเขาต้องการไปเร็วเกินไป ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ล้มเหลว

 

ถาม ในสังคมประชาธิปไตยตามความคิดของท่าน อะไรที่ท่านถือเป็นความสําคัญอันดับแรก? การศึกษา? อ่านออกเขียนได้ทั้งหมด? 

ตอบ เศรษฐกิจอันดับแรก, เศรษฐกิจอันดับแรก

 

ถาม อะไรคือข้อเสนอในทฤษฎีเศรษฐกิจของท่าน? ท่านคิดว่ารัฐบาลควรควบคุมเศรษฐกิจอย่างนั้นหรือ?

ตอบ เอาละ คุณก็รู้ ตอนแรก (เมื่อประเทศเริ่มออกเดิน) รัฐบาลไม่อาจทําอะไรทุกสิ่งทุกอย่างได้ เราต้องให้บทบาทแก่ผลประโยชน์ส่วนบุคคล ยังไม่ (ถึงเวลา) ทำให้เป็นของชาติ ไม่, ไม่ ถ้าเราทําอย่างนั้นเราก็ล้มละลาย ถ้าชาติต้องการทําอะไร ๆ ให้เป็นของชาติในทันทีทันใด นั่นเป็นการตรงกันข้ามกับสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย 

 

ถาม เดี๋ยวนี้ท่านได้มีเวลามาหลายปีที่จะไตร่ตรองถึงระยะเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1920 ถึง ค.ศ. 1940 ขณะที่ท่านมีส่วนร่วมในการเมืองของไทยอย่างเอาการเอางาน คุณูปการอันไหนของท่านที่มีต่อประเทศไทยในระหว่างปีเหล่านั้น ที่ยังความพอใจแก่ท่านมากที่สุดในขณะนี้?

ตอบ การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อปี ค.ศ. 1932 

และ การรับใช้ชาติร่วมกับสหาย “เสรีไทย” ของข้าพเจ้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อสู้รบกับญี่ปุ่นผู้รุกรานและได้ฟื้นคืนเอกราชและอธิปไตยของชาติกลับมาได้อย่างสมบูรณ์หลังสงคราม

 

ถาม ประเทศไทยเดี๋ยวนี้มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างที่ท่านอยากให้เป็นหรือยัง?

ตอบ ดีละ, ถ้าเราพูดถึงกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าคิดว่าต้องเติมว่า...อย่างเป็นประชาธิปไตยเข้าไปด้วย เพราะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีหลายอย่างต่าง ๆ กัน รัฐธรรมนูญก็มีมากมายหลายชนิด แม้ราชอาณาจักรของอิตาลีภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ของมุสโสลินีก็มีรัฐธรรมนูญนั้นแหละ, ทําไมข้าพเจ้าจึงชอบใช้คําว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ข้าพเจ้าคิดว่าคุณคงเข้าใจ

 

ถาม ท่านคิดว่า อะไรที่น่าจะเป็นความผิดอันใหญ่หลวงของท่าน? ถ้าท่านมีอํานาจกลับไปและแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน การตกลงใจหรือการกระทําอันไหนที่ท่านอยากเปลี่ยนมากที่สุด?

ตอบ ถ้าท่านถามถึงว่าอะไรที่ข้าพเจ้าจะทํา ถ้าข้าพเจ้ากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี... เอาละ ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจที่จะกลับสู่การเมืองอีกหรอก เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าแก่มากแล้ว แต่ข้าพเจ้าตอบท่านได้ถึงความผิดในอดีตของข้าพเจ้า 

ในปี ค.ศ. 1925 เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ) ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัด และโดยปราศจากความเจนจัด บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตํารา ข้าพเจ้าไม่ได้นําเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคํานึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคํานึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี 

ในปี ค.ศ. 1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทําการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอํานาจ 

 

ถาม ความผิดพลาดอย่างอื่นมีอีกบ้างไหม ?

ตอบ มี, คือ วิธีการเสนอแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเสนอแผนเศรษฐกิจ แต่ข้าพเจ้าควรใช้เวลาให้มากกว่านั้นอธิบายแก่ประชาชน เวลานั้นมีบุคคลไม่กี่คนที่จะเข้าใจแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้า แม้ในระหว่างคนรุ่นก่อน คือ สมาชิกในคณะรัฐบาลก่อน ซึ่งเราเชิญเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ พวกเขาตีความแตกต่างกันไป พวกเขาไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าควรพยายามให้หนักขึ้นที่จะอธิบายกับพวกเขาว่า ทั้งหมดมันหมายถึงอะไร 

แต่ทว่ามันก็เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเสนอไม่ใช่ว่าเป็นแผนเศรษฐกิจขั้นสุดท้าย มันค่อนข้างจะเป็นโครงการขั้นเตรียมการมากกว่า หลายคนเหมาเอาว่าเป็นแผนเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแนวทางหรือเป็นข้อเสนอพอเป็นพื้นฐานสําหรับการวางแผนต่อไป  ในสังคมนั้นย่อมมีการขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณต้องเข้าใจ และพวกรุ่นเก่ามีความกลัวมากทีเดียวในบางอย่างที่เป็นสังคมนิยม พวกเขาไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสังคมนิยม อะไรเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาเอาทุกอย่างที่ตรงข้ามกับวิสาหกิจเอกชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด

 

ที่มา: รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ชี้ทางรอดของไทย (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรสยาม, 2524), น. 79-82.