ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดีกับอยุธยาวิทยาลัย

28
พฤศจิกายน
2563

ภายหลังจากเด็กชายปรีดีฯ ลาออกจากโรงเรียนวัดเบญจมบพิตรแล้วได้เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า ใน พ.ศ. 2455 เลขประจำตัว 791 (อยุธยาวิทยานุสรณ์: 2484) และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2458

โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าตั้งอยู่ในบริเวณวัดเสนาสนาราม อำเภอกรุงเก่า ปัจจุบัน คือ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

อาคารโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าในอดีต (พ.ศ. 2450)
อาคารโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าในอดีต (พ.ศ. 2450)

 

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของท่านปรีดีฯ เล่าว่า (สัมภาษณ์ 2537- ผู้เขียน) “นายปรีดี สมัยเป็นนักเรียน...นั่งเรือพายไปเรียนที่หัวรอ…” ซึ่งหมายถึงโรงเรียนตัวอย่างฯ นั่นเอง 



อาคารโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นอาคารโรงเรียนอยุธยานุสรณ์
อาคารโรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นอาคารโรงเรียนอยุธยานุสรณ์

 

โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่ามีความเป็นมาในฐานะเป็นโรงเรียนทดลองตัวอย่างของทางราชการ โดยธรรมการมณฑลหรือศึกษาธิการมณฑลร่วมกับเจ้าคณะมณฑลกรุงเก่าจัดตั้งเป็นโรงเรียนตัวอย่างใน พ.ศ. 2446 ที่วัดเสนาสนาราม ย่านชุมชนหัวรอ มีครูประกาศนียบัตรจากกรุงเทพฯ ไปประจำทำการสอนครบทุกชั้น และด้วยเหตุผลที่เมืองอยุธยาเป็นหัวเมืองเอกในสมัยนั้น พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เจ้ากรมตรวจการกระทรวงธรรมการได้ดำเนินการจัดตั้งเป็นโรงเรียนถาวรใน พ.ศ. 2450 เป็นผลทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานการศึกษาอบรมสูงสมฐานะ มีนักเรียนฝึกหัดครูจากกรุงเทพฯ มาร่วมดำเนินการสอนด้วย

เด็กชายปรีดีฯ เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ในชั้นมัธยมเมื่ออายุ 12 ตามบันทึกของโรงเรียน ใน พ.ศ. 2455 จากหนังสืออยุธยาวิทยานุสรณ์ มีข้อความว่า “ครูใหญ่ในปีนี้ คือ นายวิชา ครูรอง ได้แก่ นายมี, นายถิน, นายแส, นายทองคำ, นายปลั่ง, นายพิม, นายอิน, พระด่อน, นายเลียบ … มีทหารมาสอนวิชาทหารแก่นักเรียนซึ่งเคยปฏิบัติมาแล้วได้เลิกในปีนี้ (มิถุนายน) โดยครูสอนกันเอง…” (การที่ทหารไม่มาสอนในปีนี้ (พ.ศ. 2455) คงสืบเนื่องจากเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454 ที่กรุงเทพฯ มีการจับกุมทหารผู้คบคิดก่อการกบฏครั้งนี้ โดยมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงการปกครอง - ผู้เขียน)

ในสมุดบันทึกของโรงเรียน บันทึกไว้อีกว่า “...จำนวนนักเรียนที่เข้าใหม่ในปีนี้มี 121 คน....” ในจำนวนนักเรียนที่เข้าใหม่ปีนี้มีเด็กชายปรีดีฯ รวมอยู่ด้วย และมีเด็กชายอีกคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองไทยในอดีตต่อมา ซึ่งเป็นที่รู้จัก คือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 8

จากบันทึกของโรงเรียนใน พ.ศ. 2458 ซึ่งเป็นปีการศึกษาที่เด็กชายปรีดีฯ กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยม 6 ได้บันทึกไว้ว่า

“การอบรมจิตต์ใจของโรงเรียนนี้ให้ดูดดื่มในการงานของชาติเพียงไรจะเห็นจากข้อความจดไว้ดังนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราท่านทรงพระสบายอย่างไร ในเมื่อพระองค์ท่านประทับในพระบรมมหาราชวัง แต่พระองค์ทรงสละละความสุขสำราญนั้นเสด็จไปในกองทัพ ซึ่งทรงทรมานพระวรกาย ถูกแดดกรำฝน แต่พระองค์ยังมิได้ทรงครั่นคร้าม เราทั้งหลายความสุขเพียงแค่นิ้วก้อยเท่านี้จะสละความสุขอันน้อยไปไม่ได้เชียวหรือ ขออย่าเห็นแก่ความสุขส่วนตัวมากนัก จงช่วยกันทำหน้าที่อย่าให้บกพร่อง เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมืองของเราเทอญ และในเวลาต่อมา พระโอวาทวรกิจ ผู้ตรวจการศึกษามณฑล ก็มาตรวจโรงเรียน และได้เล็กเชอ....เรื่องปลุกใจให้เป็นนักรบอีกด้วย...”

ปีการศึกษา 2458 เป็นปีที่นายปรีดีฯ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6 โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า

เมื่อเวลาผ่านไป 20 ปีเศษ โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่าทรุดโทรม อาจารย์วิโรจน์ กมลพันธ์ ซึ่งเป็นกรรมการจังหวัด ก็ไปปรารภกับนายปรีดีฯ ถึงเรื่องโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่น่าจะสร้างขึ้นใหม่  นายปรีดีฯ เห็นชอบด้วย และได้ขอพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์  ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงินหนึ่งแสนบาทมาสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ นายปรีดีฯ มอบให้ หลวงบริหารชนบท ข้าราชการประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ที่เป็นที่ตั้งโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

อาคารโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
อาคารโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

 

ด้วยเงินพระราชทานหนึ่งแสนบาทนำมาสร้างอาคารตึกสองชั้นดังในภาพ มีหอประชุม โรงอาหาร บ้านพักครูอีก 20 หลัง เริ่มสร้าง พ.ศ. 2482 เสร็จและทำพิธีเปิดใน พ.ศ. 2484 เป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการขอพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์มาสร้างโรงเรียนแล้ว นายปรีดี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น ท่านมีความประสงค์ยู่ก่อนแล้วที่จะปรับปรุงเกาะเมือง (พื้นที่กรุงศรีอยุธยาเดิม) เนื่องจากสมัยนั้นบริเวณพระราชวังโบราณเป็นที่รกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ และเป็นแหล่งเชื้อมาลาเรีย ท่านประสงค์จะปรับปรุงให้สวยงาม บูรณะปูชนียสถานซึ่งเหมาะสมเพื่อการศึกษา...และหวังว่าในอนาคตอาจจะมีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นด้วย

 

ที่มา:  ปรับแก้เล็กน้อยจาก วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2538), น. 25-29.