ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

‘ชุบ ศาลยาชีวิน’ มือพิมพ์ดีด ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ สยาม

2
ธันวาคม
2563

2 มีนาคม อันเป็นวันสิ้นสุดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง จึงหวนอนุสรณ์คำนึงถึงพระคุณอันประเสริฐที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ปวงชนชาวไทยตามที่คณะราษฎรร้องขอ ในวันที่ 27 มิถุนายน 2475

รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ซึ่งมีมาตรา 1 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น จะเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ตามแบบพิธี แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้ได้ “ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” ย่อมเป็น คณะราษฎร

 

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF

ปฐมรัฐธรรมนูญ

เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่เตรียมไว้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงลงพระบรมนามาภิไธย[1] ภายหลังจากทรงตอบรับเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและนิวัตพระนครแล้ว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาแตกต่างจากฉบับที่เคยร่างไว้ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร และการให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

แม้เป็นที่ทราบกันว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 ซึ่งนับเป็น “ปฐมรัฐธรรมนูญ”[2] ของประเทศนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ร่าง แต่มีปัญหาในทางประวัติศาสตร์ว่าร่างขึ้นไว้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือร่างขึ้นเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว เรื่องนี้มีความเห็นเป็น 2 แนว ดังนี้

แนวที่หนึ่ง เห็นว่าจัดทำหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว โดยร่างขึ้นภายหลังจากนั้นในเวลาเพียง 2 วัน เนื่องจากวันที่ 26 มิถุนายน หลวงประดิษฐ์มนูธรรมและคณะได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญให้ทรงลงพระบรมนามาภิไธย แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอพิจารณาก่อนลง แล้วจึงประกาศใช้ในวันถัดมาคือ 27 มิถุนายน

แนวความเห็นนี้มีผู้ที่เห็นด้วย เช่น หลวงจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ไกรฤกษ์) ซึ่งอธิบายว่า “คณะราษฎรซึ่งเข้าถืออำนาจปกครองแผ่นดินเห็นจำเป็นจะต้องร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นโดยรีบร่าง เพื่อจะได้เป็นหลักในการปฏิบัติการต่อไป ผู้ร่างจึงได้ลงมือทำงานทันทีและภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน ก็สามารถนำพระราชบัญญัตินี้ออกใช้ได้ … นับว่าเป็นของปลาดมหัศจรรย์อย่างหนึ่งในตำนานกฎหมายของโลก จะหาที่อื่นเปรียบได้โดยยาก”[3]

แนวที่สอง เห็นว่าด้วยระยะเวลากระชั้นชิดเพียง 2 วัน และด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ต้องมีภาระสะสางจำนวนมาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ร่าง ย่อมไม่สามารถกระทำได้ทัน และมีหลักฐานบางประการบ่งชี้ว่ามีการร่างเตรียมไว้ก่อนแล้ว เช่น นายไสว สุทธิพิทักษ์ เล่าว่า “หลังจาก ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นสำเร็จแล้ว ก็มอบให้ศิษย์คนหนึ่งของท่าน คือนายชุบ ศาลยาชีวิน เป็นผู้พิมพ์ดีดขึ้น สำเร็จแล้วก็เสนอที่ประชุมของคณะปฏิวัติ ที่ประชุมก็รับรองให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้”[4]

นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวว่า “เคยได้ยินพ่อผมพูดว่า อาจารย์ปรีดีท่านร่างไว้ก่อนแล้ว ใช้จังหวะตอนอยู่บนเรือ จะได้ไม่มีพิรุธ”[5] ซึ่งตรงกับที่นายศัลก์ ศาลยาชีวิน บุตรชายของนายชุบ เขียนในอนุสรณ์งานศพของบิดาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับแรก … คุณพ่อพิมพ์มันด้วยมือของท่านเองในเรือจ้างกลางลำน้ำเจ้าพระยา โดยท่านปรีดีเป็นผู้บอกร่างให้ในรูปกฎข้อบังคับของสมาคม”[6]

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ศ. 2476
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ศ. 2476

ร่างตอนไหน?

ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับแนวที่สองที่ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่างขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังข้อสังเกตของฝ่ายแรกว่า ถ้าร่างภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะเวลาเพียง 2 วันจริง ก็นับว่าเป็นเรื่องประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งนัก ไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางความเป็นจริงที่รัฐธรรมนูญอันเป็นยอดปรารถนาของผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย จะทำขึ้นอย่างรีบร้อนถึงเพียงนั้น นอกจากนี้ เมื่อได้เห็นหลักฐานของฝ่ายหลังที่เขียนตรงกันว่ามีการร่างเตรียมไว้ โดยนายปรีดีเป็นผู้บอกหรือเขียนให้นายชุบเป็นผู้พิมพ์บนเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็ได้ความที่สอดคล้องกันจากแหล่งที่มาหลายแห่ง

อย่างไรก็ดี แม้มีบันทึกว่าในการประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงทบวงต่างๆ ในเวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะได้แถลงว่า “ธรรมนูญการปกครองนี้จะได้ทำขึ้นเร็วๆ นี้ แต่ในเวลานี้เป็นการจำเป็นที่คณะทหารจะต้องมีอำนาจเหนือพลเรือน เหตุฉะนั้นจึ่งต้องมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ส่วนธรรมนูญการปกครองนี้ คณะได้เตรียมร่างขึ้นและได้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุดที่สามารถจะทำได้”[7] ก็คงมิได้หมายความว่ามาเริ่มคิดกันเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองได้แล้ว น่าจะหมายถึงว่านำร่างธรรมนูญซึ่งได้เตรียมไว้มาปรับปรุงใหม่ก่อนทูลเกล้าฯ เท่านั้น

จากตัวบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้สามารถสันนิษฐานได้ว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างขึ้นโดยผสมผสานหลักการของประเทศที่เพิ่งมีรัฐธรรมนูญใช้ เช่น จีน รัสเซีย ตุรกี เข้ากับหลักการของประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาก่อนแล้ว เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เพื่อเป็นเค้าโครง แล้วปรับให้เข้ากับหลักการและบริบทของประเทศสยาม เช่น พัฒนาจากพระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. 2470[8] มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้มีลักษณะคล้ายรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับแรก ค.ศ. 1791 มาก[9] รวมถึงรัฐธรรมนูญจีน[10]

สำหรับการใช้ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมอธิบายว่า “ในรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราวที่ข้าพเจ้าได้ร่างขึ้นไว้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าชอบพูดแต่สำนวนตรงๆ ทั้งนั้น ถ้าต้องการว่าไม่ก็ไม่ ถ้าต้องการจะเอาก็เอา”[11] และ “ความประสงค์ของข้าพเจ้าอยากใช้ภาษาธรรมดาให้คนอ่านเข้าใจง่าย เช่นคำว่า กรรมการราษฎร หมายความว่าบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ราษฎรมอบหมายมาให้ทำหน้าที่บริหารเป็นกรรมการของราษฎร”[12]

‘เรือประดิษฐ์ฯ’

ถ้ายึดตามความเห็นแนวหลังที่ว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ร่างปฐมรัฐธรรมนูญเตรียมไว้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็สามารถเล่าเรื่องได้ว่า หลวงประดิษฐ์ฯ ร่างปฐมรัฐธรรมนูญขึ้นในรูปกฎข้อบังคับของสมาคม โดยให้ นายชุบ ศาลยาชีวิน เป็นผู้พิมพ์ดีดในเรือจ้างกลางแม่น้ำเจ้าพระยา (เพื่อความสะดวกในการเรียกให้สมสมัยคล้ายเรือแป๊ะ อาจเรียกเรือนี้ไปพลางก่อนว่า ‘เรือประดิษฐ์ฯ’)

แม้จะมาจากมันสมองของหลวงประดิษฐ์ฯ แต่ชื่อ “ประดิษฐ์มนูธรรม” ก็เป็นที่รู้จักกันพอสมควรแล้ว ในที่นี้จึงขอกล่าวถึง “ชุบ ศาลยาชีวิน” ผู้ ‘ชุบ’ ปฐมรัฐธรรมนูญนี้ขึ้น

 

ชุบ ศาลยาชีวิน (3 เมษายน 2450 – 10 ธันวาคม 2526)
ชุบ ศาลยาชีวิน (3 เมษายน 2450 – 10 ธันวาคม 2526)

ผู้ ‘ชุบ’ รัฐธรรมนูญ

ชุบ ศาลยาชีวิน เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2450 เป็นบุตรของนายเทียนกับนางกริ่ง โดยใช้นามสกุล “ศาลยาชีวิน” ตามนามสกุลของมารดา ซึ่งเธอเป็นน้องสาวของพระยาลักษณมัณสุพจน์ (บุญ) ชุบเติบโตมาโดยมีขุนปราโมทย์คดี (นัดดา) ผู้เป็นอา เลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม และอยู่ในความดูแลของเจ้าคุณลักษณมัณฯ ในเวลาต่อมา

ชุบเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ไม่สำเร็จปริญญา เนื่องจากขาดสอบวิชาเศรษฐศาสตร์

แม้ผู้เขียนยังไม่อาจหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างหลวงประดิษฐ์ฯ กับชุบได้ แต่ในหนังสืองานศพของชุบ ศัลก์ ศาลยาชีวิน บุตรชาย เขียนถึงประเด็นนี้เอาไว้บ้างว่า “สำหรับท่านปรีดีนั้น เป็นผู้ปลุกอุดมการณ์ในชาติ ศาสน์ กษัตริย์แก่คุณพ่อ ทำให้คุณพ่อยอมอุทิศตนเพื่อความเจริญของบ้านเมือง ยายเยื้อน ตั้งพานิช ผู้ดูแลเราทั้งห้าแทนคุณแม่ เคยเล่าให้ฟังว่า คราใดก็ตามที่คุณแม่เอ่ยว่า ปรีดีฆ่าในหลวง คุณพ่อจะต้องทะเลาะกับคุณแม่ทุกครั้งไป ทั้งที่ธรรมดาไม่ยอมมีปากมีเสียงอะไรในเรื่องอื่น”

และกล่าวถึงการร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า “คุณพ่อก็ต้องเสี่ยงกับการคอขาด โดยร่วมกับคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ”

ชุบเจริญก้าวหน้าในราชการพอสมควร จนได้เป็นอธิบดีกรมสารสนเทศ กระทรวงเศรษฐการ (10 มีนาคม 2497 – 30 กรกฎาคม 2510) ซึ่งก็คือกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในปัจจุบัน

และถึงแก่กรรมในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2526

 

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d5/ประกาศคณะราษฎร_(๒๔๗๕-๐๖-๒๔).pdf
ประกาศคณะราษฎร
 

ประโยคที่ไพเราะที่สุดในรัฐธรรมนูญ

เป็นที่ยอมรับกันว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้เขียน ประกาศคณะราษฎร และ ปฐมรัฐธรรมนูญ โดยจะเห็นได้ถึงการสืบสานต่อยอดจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญอย่างประกาศของคณะราษฎรที่มีขึ้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ความตอนหนึ่งว่า

“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่จะชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั่นเอง”

มาสู่มาตรา 1 ของปฐมรัฐธรรมนูญที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งมีนักกฎหมายนายหนึ่งเคยให้ความเห็นว่า เป็นประโยคทางกฎหมายที่ไพเราะที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทยเอาเลยก็ว่าได้ และผู้เขียนย่อมเห็นพ้องด้วย

แม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายต่อหลายฉบับ มีความผันผวนทางการเมืองอย่างน่าใจหาย แต่หลักที่ยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยนี้ยังคงได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอดเสมอมา อย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเป็นของสถาบันอื่นในทางกฎหมายแต่อย่างใด เพียงเท่านี้ ก็เห็นจะปฏิเสธคุณูปการของคณะราษฎร และปฐมรัฐธรรมนูญที่มาจาก ‘เรือประดิษฐ์ฯ’ ไม่ได้แล้ว

 

เชิงอรรถ

[1] พระบรมนามาภิไธย คือพระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ส่วนพระปรมาภิไธย เป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ตามที่จารึกในสุพรรณบัฏหลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว กล่าวในกรณีของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พุทธศักราช 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงลงว่า “ประชาธิปก ป.ร.” อันเป็นพระนามเดิมแต่เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า.

[2] คำของศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์.

[3] จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, หลวง, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ (พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ, 2475), น.8.

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ก็เห็นในลักษณะนี้เช่นกัน ดู ปรีชา สุวรรณทัต และคนอื่น ๆ, ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 (กรุงเทพมหานคร : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2550), น.64.

[4] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : บพิธการพิมพ์, 2526), น.75.

[5] สัมภาษณ์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, บ้านพัก, 11 พฤษภาคม 2559.

[6] ธรรมบรรณาการ งานพระราชทานเพลิงศพ นายชุบ ศาลยาชีวิน ม.ว.ม. ณ เมรุวัดยาง เขตพระโขนง 18 ธันวาคม 2526, น.(4) อนึ่ง ขอขอบคุณ คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่เอื้อเฟื้อหนังสือเล่มนี้ให้มาศึกษา.

[7] ปั่น บุณยเกียรติ และ เฮง เล้ากระจ่าง (รวบรวม), สยามรัฐเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินอย่างมีพระราชาธิบดีอยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครอง ภาค 1 (พระนคร : โรงพิมพ์เดลิเมล์, 2475), น.22. ที่น่าสนใจมากคือหนังสือเล่มนี้พิมพ์ออกมาในเดือนกรกฎาคม 2475 คือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแทบจะทันที.

[8] จักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์, หลวง, คำอธิบายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ (พระนคร : โรงพิมพ์สยามบรรณกิจ, 2475), น.8.

[9] เดือน บุนนาค และ ไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายการเลือกตั้งด้วย) ภาค 2 รัฐธรรมนูญสยาม (พระนคร: นิติสาส์น, 2477), น.21.

[10] ในส่วนของแผนการ 3 ชั้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพรรคไปสู่การปกครองโดยประชาชนเป็นผู้ควบคุมรัฐบาลกับโครงการการเมืองของ ดร.ซุนยัดเซ็น และพรรคก๊กมินตั๋ง ดู เบนจามิน บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, แปลโดย งามพรรณ เง่าธรรมสาร และคณะ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), น.389.

[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24/2477 วันที่ 24 กันยายน 2477, น.1830.

[12] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 38/2475 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2475, น.504.

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ The101.world (4 มีนาคม 2563) : https://www.the101.world/first-constitution/