ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในบทบาทแม่

25
ธันวาคม
2563

“ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ มิใช่เป็นเพียงบุคคลหนึ่งที่มีชื่อผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์ในฐานะเป็นภริยาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงเป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งด้วยทีเดียว อย่างน้อยในกระแสแห่งความผันผวนปรวนแปรของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุขถูกกระทบกระแทกอย่างหนักหน่วงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดช่วงเวลายาวนาน ท่านผู้หญิงรู้เห็น รู้สึก มองสถานการณ์และเหตุการณ์เหล่าน้ันอย่างไร รวมทั้งนําชีวิตและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวลุล่วงผ่านพ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องน่าสนใจศึกษามาก”

ข้อความข้างต้นคัดจากคําอนุโมทนาของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ที่ได้เขียนไว้ในหนังสือ 7 รอบ พูนศุข พนมยงค์  “สาวิกา” ขออนุญาตยกมาประกอบเป็นดังภาพฉายให้เห็นชีวิตของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และเป็นเสมือนบทนําเข้าสู่ชีวิตของท่านผู้หญิง ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือบทบาทของแม่ ผู้ต้องประคับประคองลูก ๆ ถึง 6 คน ในยามที่ชีวิตประสบความทุกข์ยาก และนับเป็นความกรุณาที่ท่านผู้หญิงและครอบครัวได้ให้โอกาส “สาวิกา” สัมภาษณ์และนํามาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน

 

ลูกทั้ง 6 คน (ยืน) ศุขปรีดา สุดา ลลิตา ปาล (นั่ง) วาณี ดุษฎี
ลูกทั้ง 6 คน
(ยืน) ศุขปรีดา สุดา ลลิตา ปาล
(นั่ง) วาณี ดุษฎี 

 

ขอทราบถึงชีวิตประจําวันของท่านสักเล็กน้อยค่ะ ช่วงนี้สุขภาพของท่านเป็นอย่างไรบ้างคะ

มีโรคประจําตัวหลายอย่าง อายุ 88 เต็มย่างเข้า 89 นัยน์ตาก็มีปัญหา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎธรรมชาติ  ตี 3 ตี 4 ก็ตื่นแล้วเปิดวิทยุฟังข่าวบ้างหรือดูรายการโทรทัศน์บ้าง ยังไม่ถึง 6 โมงก็ลงมาข้างล่าง เตรียมอาหารเช้าสําหรับตัวเอง อ่านหนังสือพิมพ์รายวัน ฟังวิทยุ อ่านหนังสือธรรมะบ้าง แล้วเดินเล่นในบริเวณบ้าน  พอตอนสาย ๆ มีญาติมิตรมาเยี่ยมเสมอ  บางวันอาจมีงานเกี่ยวกับนายปรีดีที่ต้องไปร่วม หรือถ้าเป็นวันศุกร์มีตลาดนัดที่จุฬาฯ ก็จะไปจ่ายตลาดซื้อของกิน  หลังอาหารกลางวันเป็นเวลาพักผ่อน ก็จะไม่รับแขกจนถึงเวลาบ่าย 4 โมง ถ้าวันไหนมีงานศพของผู้ที่รู้จักคุ้นเคยก็จะไปลาและอโหสิกรรมกันเป็นครั้งสุดท้าย  วันก่อนเพื่อนรักสมัยเรียนคอนแวนต์ด้วยกันตาย ฉันก็ไปรดน้ําศพด้วยความอาลัย  เย็น ๆ เดินเล่นอีกรอบหนึ่ง ก็ถึงเวลาอาหารค่ำ รับประทานอาหารเบา ๆ หรืออาหารที่เหลือตั้งแต่มื้อกลางวัน ประเภทน้ําพริกมะม่วงผัดกับปลาสลิด สลับกับสลัด ดูข่าวภาคค่ำเสร็จแล้ว ประมาณ 3 ทุ่มก็สวดมนต์เข้านอน

 

พูนศุขกับสุดาและศุขปรีดา
พูนศุขกับสุดาและศุขปรีดา

 

ท่านอบรมดูแลลูกอย่างไร ทั้งที่ลูกบางคนแยกย้ายกันอยู่คนละประเทศ

ลูกทั้ง 6 คนเลี้ยงมาเอง แต่ก็มีพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วย ฉันให้นมลูก คนละประมาณ 1 ถึง 3 เดือน ต่อมาไม่มีน้ํานมก็ต้องให้นมผง แล้วก็เสริมอาหารประเภทน้ําข้าว กล้วยน้ําว้า มะละกอ  ลูก ๆ ก็โตขึ้นอาศัยดูความประพฤติปฏิบัติของพ่อแม่ ก็มีการกล่าวตักเตือนบ้าง หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ฉันจึงเป็นทั้งพ่อและแม่ หรืออย่างเช่นฉันถูกตํารวจจับกุมในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันว่า “กบฏสันติภาพ” 84 วันที่สูญสิ้นอิสรภาพ ฉันไม่ยอมจํานน เพราะฉันไม่ผิด ฉันไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น สิ่งเหล่านี้ลูก ๆ ก็ซึมซับ  ลูกชายคนโต (ปาล) ก็ถูกจับข้อหาเดียวกัน เขาก็เข้มแข็งได้กําลังใจจากแม่ เขาติดคุกนานเกือบ 5 ปี ... ลูกฉันทั้ง 6 คน เว้นคนโต (ลลิตา) ซึ่งสมองไม่พัฒนา ทุกคนมีการมีงานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและต่อสังคม แค่นี้สําหรับผู้เป็นแม่ก็พอใจแล้ว

ท่านมีวิธีใดที่จะช่วยให้คลายความคิดถึงหรือห่วงใย

ทําใจ ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ ความคิดถึงหรือห่วงหาอาทรย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา แต่จะไม่ทําตัวเองให้มีทุกข์ เชื่อว่าคงไม่นานหรอก ครอบครัวเราจะได้อยู่กันตามประสาพ่อแม่ลูก  แหม ใครจะคิดว่า ความหวังนี้เลื่อนลอย ไม่สมหวัง

ถึงวันนี้ ชีวิตของท่านอาจเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้ศึกษา เรียนรู้ ท่านมีหลักธรรมในการดําเนินชีวิตอย่างไร เมื่อต้องเผชิญช่วงเวลาที่ยากลําบาก

ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อ (พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา – ขํา ณ ป้อมเพชร์) สอนให้ฉันและพี่ ๆ น้อง ๆ ต้องมีศีล 5 ซึ่งฉันก็ยึดเป็นแนวปฏิบัติในการดําเนินชีวิตมาโดยตลอด และเมื่อฉันมาใช้ชีวิตอยู่กับนายปรีดี นายปรีดีเป็นผู้ที่ยึดมั่นในคําสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราสองคนมีความเชื่อเหมือนกันว่า ชีวิตของเราเมื่อมีขึ้นย่อมมีลง เมื่อมีสุขย่อมมีทุกข์ เมื่อมีความราบรื่นย่อมมีความยากลําบาก 

นายปรีดีเคยมีตําแหน่งสูงเป็นถึงผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีหลายสมัย เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 … แต่แล้วนายปรีดีต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ต้องพลัดพรากจากกันเป็นเวลาร่วม 5 ปี  ฉันถูกจับกุมคุมขัง จากนั้นต้องใช้ชีวิตในต่างแดน 30 กว่าปี  เป็นใครก็ต้องคิดถึง บ้านเกิดเมืองนอน ... ฉันผ่านมาแล้วทุกอย่าง ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเชื่อว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

ท่านเล่นเครื่องดนตรีประเภทใดบ้าง และท่านมีส่วนชี้แนะให้ลูกหลานสนใจทางดนตรีหรือไม่คะ

ตอนแรกคุณพ่อให้ฉันหัดซอด้วง เรามีพี่น้องหลายคน เลยเป็นวงดนตรีไทยเล็ก ๆ คุณพ่อให้พวกลูก ๆ แสดงความสามารถในเวลาที่ท่านรับประทานอาหารเย็น พอฉันอายุ 13 ขวบ ท่านให้ฉันไปเรียนเปียโนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ก็เลยชอบเปียโน ตอนไปอยู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยม ฉันมีเงินติดตัวไปบ้าง ซื้อเปียโน (มือสอง) และโน้ตเพลงมาฝึกซ้อมเอาเอง ลูก ๆ ฉัน ผู้หญิงให้เรียนเปียโน ลูกผู้ชายให้เรียนไวโอลิน แต่ที่เอาจริงเอาจังด้านดนตรี เป็นครูสอนดนตรี ก็มีสุดาสอนเปียโน ดุษฎีสอนขับร้อง

ทําไมอาจารย์ดุษฎีจึงกล่าวว่า ท่านเป็นครูดนตรีคนแรก

คงเป็นตั้งแต่เกิด ดุษฎีได้ยินเสียงดนตรีตั้งแต่อยู่ในท้องฉัน บางทีฉันก็ดีดเปียโนอะไรอย่างนี้

 

พูนศุขกับดุษฎี
พูนศุขกับดุษฎี

 

มีบทเพลงใดบ้างไหมที่ช่วยปลอบประโลมยามท่านมีทุกข์

ไม่มีเพลงไหนเป็นพิเศษ แต่มีอยู่เพลงหนึ่ง เวลาฟังทีไรรู้สึกสะเทือนใจมาก คือ ตอนน้ันนายปรีดีลี้ภัยการเมือง ฉันไม่รู้เลยว่านายปรีดีอยู่หนใด ทุกครั้งที่ดุษฎีร้องเพลง One Fine Day จากอุปรากรเรื่อง Madame Butterfly ของคีตกวีปุชชีนี่ (Puccini) ฉันน้ําตาซึมทุกครั้ง เนื้อเพลงพรรณนาการรอคอยการกลับมาของคนที่เรารัก ซึ่งก็เหมือนตัวฉันรอคอยว่าสักวันหนึ่ง นายปรีดีจะกลับมา แต่แล้วพ่อกับแม่และลูกอีก 6 คน ไม่เคยได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกเลย หลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 กระจัดกระจายกันอยู่ต่างประเทศต่างทวีป

 

พูนศุขกับดุษฎี และวาณี
พูนศุขกับดุษฎี และวาณี

 

ในงาน 100 ปีชาตกาล ท่านปรีดี พนมยงค์ ทําไมจึงเลือกใช้ดนตรี เป็นสื่อในการรําลึกถึงท่านรัฐบุรุษอาวุโสคะ

วันที่ 11 พฤษภาคมปีนี้ ครบรอบ 100 ปี ชาตกาลนายปรีดี องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสําคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ค.ศ. 2000-2001 ว่า นายปรีดีเป็นหนึ่งในบุคคลสําคัญของโลก ทางเมืองไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง ในด้านศิลปะ มีท้ังละคร ลิเก จิตรกรรม แล้วก็ดนตรี จะมีอะไรอีกบ้าง ฉันก็จําไม่ได้ เพราะเยอะไปหมด  ส่วนดนตรีนั้น ฉันทราบมาว่า สมเถา สุจริตกุล มีความประสงค์ที่จะประพันธ์ซิมโฟนี ปรีดีคีตานุสรณ์  ดนตรีเป็นสื่อสากลและดุริยนิพนธ์นี้ได้สะท้อนชีวิตและผลงานของนายปรีดีตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ที่น่าสนใจ ก็คือ กระบวนที่ 4 ของซิมโฟนีหมายเลย 4 ของสมเถา สุจริตกุล ได้นําพุทธวจนะในธรรมบทภาษาบาลีมาเป็นเนื้อร้อง อย่างเช่นที่อ่านให้ฟังดังนี้

“ยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะย่อมมองเห็นได้แต่ไกลฉันใด
ความดีของมนุษย์ก็ย่อมมองเห็นได้แต่ไกลฉันนั้น”

 

การแสดงซิมโฟนี “ปรีดีคีตานุสรณ์” 9 พฤษภาคม 2543 หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
การแสดงซิมโฟนี “ปรีดีคีตานุสรณ์” 9 พฤษภาคม 2543 หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

หรืออีกตอนหนึ่ง

“ข้าฯ จะอดทนและวางเฉยต่อคํานินทาว่าร้าย
เสมือนเช่นช้างศึกที่อดทนและฝ่าฟันคมศรที่กระหน่ำมา”

หรือ

“จงยินดีต่อสิ่งที่รู้ ปกป้องจิตไว้
พาตนเองให้พ้นจากหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม
เช่นเดียวกับช้างที่พาตนเองให้พ้นจากดินโคลน”

และตอนสุดท้าย

“ผู้ใดสละแล้วและวางเฉยต่อคําติฉิน ปรามาสและโซ่ตรวน
ด้วยพละอันยิ่งใหญ่เช่นกองทัพแห่งขันติ
ข้าฯ เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง
ผู้ใดเป็นผู้มีญาณอันล้ำลึก
ผู้ใดเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดเป็นเลิศ
ผู้ใดที่รู้แจ้งมรรคาและอมรรคา
ผู้ใดที่ได้ไปถึง ณ จุดสูงสุดแล้ว
ข้าฯ เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง
พฤษภอันงามเลิศแกล้วกล้า ปราชญ์ผู้สามารถ
ผู้ชนะอันปราศจากแล้วซึ่งกิเลส
ผู้ซึ่งได้ชําระล้างมลทินสิ้นแล้ว ผู้ที่ตื่นแล้ว ข้าฯ
เรียกเขาผู้นั้นว่า พราหมณ์ที่แท้จริง”

พุทธวจนะเหล่านี้ สอนให้เรามุ่งทําความดี เมื่อนํามาร้องเป็นเพลง ย่อมง่ายที่จะซึมซาบ คิดว่า ผู้ฟังคงจะได้นํามาตรึกตรอง นํามาเป็นหลักธรรมในชีวิตมากบ้างน้อยบ้าง

ในฐานะภรรยา ท่านได้เรียนรู้อะไรจากคู่ชีวิต

ฉันแต่งงานกับนายปรีดีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาเกือบจะ 55 ปี จนถึงวันที่นายปรีดีละสังขารไป เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ฉันไม่เคยเห็นนายปรีดีทําความเลว จะมีก็แต่ทําความดีน้อยกับทําความดีมาก ส่วนความผิดพลาดและความบกพร่องย่อมมีเช่นปุถุชนทั่วไป สิ่งที่ประทับใจฉันมากที่สุด คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรักชาติ รักแผ่นดิน รักมวลราษฎรไทย ไม่ว่าอยู่เมืองไทยหรืออยู่ต่างแดน ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

นายปรีดีได้ยกย่องฉันเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด มอบความรักความไว้วางใจให้ฉันมาตลอด อีกอย่างหนึ่ง คือ ให้ความรู้ ตัวฉันเองเรียนเพียงชั้น Standard 7 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 7 ในยุคนั้น) แต่หลังจากใช้ชีวิตร่วมกันมา นายปรีดีพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้ฉันจนแก่เฒ่า ตัวนายปรีดีเองก็เหมือนกัน ชอบค้นคว้าศึกษาหาความรู้ สิ้นใจอย่างสงบคาโต๊ะเขียนหนังสือ

 

ที่มา: บทสัมภาษณ์เรื่อง “ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในบทบาทของแม่” ในนิตยสาร สาวิกา โดยเสถียรธรรมสถาน ฉบับที่ 32 มิถุนายน 2543.