ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

“รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ” จริงหรือ?

28
มกราคม
2564

นิทานหรือนิยายอิงประวัติศาสตร์ คือ สอนเรื่องที่ได้ยินได้อ่านที่เขาบอกต่อ ๆ กันมา อย่างนั้น ๆ โดยไม่มีหลักฐานแน่นอนสนับสนุน

เรื่องในอดีตจะใกล้หรือไกลก็ตาม เช่น ตัวอย่างเรื่องภายในระยะเวลาไม่กี่ปีซึ่งควรที่จะหาหลักฐานความจริงจากเอกสารหลักฐาน (Authentic Documents) อ้างอิง แต่ไม่ได้ค้นคว้ากัน ขอยกอุทาหรณ์ว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น เอกสารหลักฐานแท้จริงที่ได้ประกาศเปิดเผยเป็นเอกสารของทางราชการแล้วก็มีมาก แต่ผมได้ดูเอกสารประกอบการตอนของบางท่านก็สังเกตว่า ท่านไม่แน่ใจในหลักฐาน

ผมขอย้อนไปสักนิด คือ เมื่อคณะราษฎรได้ยึดอำนาจเมื่อ 24 มิถุนายนฯ แล้ว หัวหน้าคณะผู้ก่อการฯ ที่เป็นทหาร ซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารนั้น ได้มีหนังสือและโทรเลขกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผ่านทางราชเลขาธิการ ขออัญเชิญให้เสด็จกลับมาทรงครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน อันนี้ก็มีหลักฐานซึ่งเปิดเผยแล้ว  พร้อมกันนั้นเราก็ได้ให้เรือรบ โดยมีหลวงศุภชลาศัย ซึ่งเป็นผู้ก่อการฯ คนหนึ่ง เป็นผู้บังคับการนำเรือรบหลวงสุโขทัย ไปยังหัวหินเชิญเสด็จกลับพระนคร แต่พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศุภชลาศัยรีบโทรเลขกลับมาว่า พระองค์ท่านขอเสด็จกลับทางรถไฟ คณะราษฎรก็อนุโลมตาม

พระองค์เสด็จกลับมาถึงสถานีจิตรลดาวันที่ 26 มิถุนายน 2475 เวลาประมาณ 1.00 น. ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรไปเฝ้าที่วังสุโขทัยในตอนเช้า เวลา 9.00 น. ปรากฏตามเอกสารหลักฐานแล้ว เพื่อผู้แทนคณะราษฎรไปเฝ้าวันนั้นก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “พระราชกำหนดนิรโทษกรรม” และ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” เพื่อขอทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน

เรื่องนี้ถ้าจะทราบประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญ ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ทางภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ก็จะทราบได้ว่าคำนี้เกิดขึ้นภายหลังที่คณะอนุกรรมการ (ของสภาผู้แทนราษฎรตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475) นั้น ได้ร่าง “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” โดยความร่วมมือกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสร็จแล้วรัฐบาลและคณะอนุกรรมการฯ นั้น ได้นำร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่จะใช้เป็นฉบับถาวรนั้น เสนอแก่ราษฎรทั่วไป โดยวิธีลงพิมพ์ร่างธรรมนูญฯ ที่ร่างขึ้นนั้นในหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ พร้อมทั้งขอร้องให้ราษฎรทุกคนเสนอความเห็นไปยังรัฐบาลหรือคณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีราษฎรหลายคนแสดงความเห็นให้แก้ไขปรับปรุงร่างธรรมนูญฯ นั้นหลายประการ ซึ่งรัฐบาลและคณะอนุกรรมการฯ ได้รับไว้พิจารณาด้วยดี แล้วได้ปรับปรุงแก้ไขตามที่มีผู้เสนอหลายประการ

โดยเฉพาะศัพท์ “รัฐธรรมนูญ” นั้น กรมหมื่นนราธิปฯ ขณะยังทรงพระอิสริยยศ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ได้ทรงเสนอผ่านทางหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ว่าคำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” นั้นยืดยาวไป จึงสมควรใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” คณะอนุกรรมการฯ และรัฐบาลเห็นชอบด้วยตามที่หม่อมเจ้าวรรณฯ เสนอ เพราะเป็นคำกะทัดรัด ได้ความตรงกับคำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งถ่ายทอดมาจากคำอังกฤษและคำฝรั่งเศส “Constitution” รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ห้ว ซึ่งทรงเห็นชอบด้วยแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จึงแก้คำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ในต้นร่างและใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” แทน และได้เสนอสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้พิจารณาทุกตัวบทที่เป็นสาระบัญญัติ แล้วลงมติให้นำเสนอพระมหากษัตริย์เพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรมนูญ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475

ถ้าท่านผู้ใดศึกษาประวัติศาสตร์ทางภาษาศาสตร์และทางนิรุกติศาสตร์ดังกล่าวมาแล้ว ท่านก็จะไม่สอนนิสิตนักศึกษาของท่านโดยอาศัยคำบอกเล่า (Hearsay) เป็นหลักวิชาการว่า เมื่อคณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ราษฎรไทยคิดว่า “รัฐธรรมนูญคือลูกพระยาพหลฯ” แต่อันที่จริงคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เกิดขึ้นหลายเดือนภายหลังพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475

แม้อาจารย์ผู้มีหน้าที่สอนวิชาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและการปกครอง จะไม่มีเวลาพอที่จะค้นคว้าย้อนไปถึงสมัยพระเอกาทศรฐ ที่ได้ทรงใช้คำว่า “ธรรมนูน” โดยแผลงมาจากคำบาลี “ธมฺมานุญโญ” ตามคำภีร์พระธรรมศาสตร์ และต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงแผลงคำบาลีนั้นเป็นคำไทยว่า “พระธรรมนูญ” ก็ดี  แต่อย่างน้อยท่านผู้สอนก็ควรสังเกตว่า รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้ทรงใช้คำว่า “ธรรมนูญ” ประกอบกับคำว่า “ศาล” เช่น “พระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ. 114”, “พระธรรมนูญศาลทหารบก ร.ศ. 126”, “พระธรรมนูญศาลทหารเรือ ร.ศ. 127”, “พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. 127” ฯลฯ

ทั้งนี้หมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการของศาลนั้น ๆ ราษฎรไทยส่วนมากก็ย่อมรู้มาหลายชั่วคนก่อน พ.ศ. 2475 แล้ว ราชบัณฑิตยสถานจึงบรรจุคำว่า “ธรรมนูญ”ไว้ในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า “ธรรมนูญ น. ชื่อกฎหมายว่าด้วยระเบียบการ” และในปัจจุบันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อยก็รู้ความหมายของคำว่า “ธรรมนูญ” ดังกล่าวมาแล้ว

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ขณะที่ยังมิได้มีผู้ใดตั้งศัพท์ไทยว่า “รัฐธรรมนูญ” เพื่อถ่ายทอดคำอังกฤษและฝรั่งเศส “Constitution” นั้น คณะราษฎรจึงใช้คำว่า “ธรรมนูญ” ประกอบกับคำว่า “การปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้ราษฎรเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า    “กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดิน”

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อยจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 ดูฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1583072391