ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

ข่าวลือรัฐประหาร 2490

2
กุมภาพันธ์
2564

ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร มีข่าวลือว่าจะเกิดปฏิวัติรัฐประหาร หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2489 ลงข่าวว่า รัฐบาลสั่งเตรียมพร้อมเนื่องจากมีข่าวเรื่องนายทหารชั้นประทวนคิดคบกัน จะใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2490 ข่าวเกี่ยวกับปฏิวัติเริ่มหนาหู หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ลงบทวิจารณ์ว่า

"ปฏิวัติออกจะเป็นคำที่หวลกลับมาว่าหนาหูอยู่สักหน่อย ในระหว่างนี้มันเป็นคำที่ลั่นออกมา ทั้งจากปากของบางรัฐมนตรี ของสมาชิกรัฐสภา และของบุคคลหัวหน้าพรรคทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายค้าน ครั้งหลังที่สุดจากผู้แทนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตามข่าวว่าถวายความเห็นประธานผู้สำเร็จราชการเกี่ยวกับการยุบสภา มิฉะนั้นอาจเกิดการปฏิวัติขึ้น เพราะราษฎรขาดความไว้วางใจทั้งในรัฐบาลและผู้แทนราษฎร

"เมื่อคิดกันว่าบรรดาบุคคลเหล่านั้น ล้วนแต่อยู่ใกล้ชิดกับวงการเมืองชั้นใน ก็มีข้อที่น่าใคร่ครวญอยู่ว่า เขาคงจะมีเหตุผลพอที่จะกล่าวถ้อยคำซึ่งน่ากลัวเช่นนั้นออกมา"

 

สำหรับท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อข่าวจะมีการรัฐประหาร สรุปได้ดังนี้

 

นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส :

ระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 - วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2490 'นายปรีดี พนมยงค์' ได้เป็นหัวหน้าคณะทูตสันทวไมตรีเดินทางไปเยี่ยมประเทศต่างๆ เกี่ยวกับข่าวจะมีการปฏิวัติ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่วิตกกังวลเท่าไร เพราะเชื่อมั่นไว้วางใจ 'พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส' ผู้บัญชาการทหารบกว่าจะสามารถคุมทหารบกอยู่ และเมื่อได้รับรายงานว่าผู้คิดจะทำรัฐประหารส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการด้วยแล้ว ก็ยิ่งขาดความกระตือรือร้น[1] อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคนสนิทบางคน เช่น นายทองเปลว ชลภูมิ นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ นายถวิล อุดล คงจะได้คอยสืบข่าวความเคลื่อนไหวและรายงานให้ทราบอยู่เสมอ

 

พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี :

ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหาร 'ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์' นายตำรวจสันติบาล กับ 'พ.ต.ต. เชาวน์ คล้ายสัมฤทธิ์' ผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 ได้เคยไปหานายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งข่าวที่สืบทราบว่า “มีผู้คบคิดจะก่อการรัฐประหาร” นายกรัฐมนตรีตอบว่า “ลื้อจะให้อั้วทำยังไง เมื่อฝ่ายค้านต้องการให้เปิดอภิปรายทั่วไป อั้วก็เปิดแล้ว อั้วก็ยังได้รับความไว้วางใจในสภา แม้กระนั้นอั้วก็ลาออก แล้วก็มาตั้งอั้วเป็นนายกฯ อีก จะปฏิวัติกัน อั้วก็ไม่รู้จะทำอย่างไร…”

ท้ายที่สุด นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะลาออกในไม่ช้า เพียงแต่รอการเจรจากับต่างประเทศที่จวนจะสำเร็จเท่านั้น สรุปได้ว่า นายกรัฐมนตรีไม่อนุมัติให้ทำการจับกุมผู้คบคิดจะกระทำรัฐประหาร

ต่อมานายกรัฐมนตรีได้สนทนากับ 'พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส' ผู้บัญชาการทหารบก เกี่ยวกับข่าวที่ทางตำรวจสืบทราบว่ามีทหารบกเข้าร่วมจะกระทำรัฐประหาร พลเอกอดุล อดุลเดชจรัส แสดงความไม่พอใจ กล่าวตำหนิที่ตำรวจเข้ามายุ่งเกี่ยวในกรมกองทหาร ปล่อยให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของเขาเอง นอกจากนั้นเมื่อ 'นายเอดวิน สแตนตัน' เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยได้พบปะสอบถามนายกรัฐมนตรี กรณีมีข่าวลือจะมีรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า “ท่านทูต ผู้บัญชาการทหารบกและฝ่ายตำรวจอยู่กับข้าพเจ้า อีกทั้งข้าพเจ้ายังมีกองทัพเรืออยู่ในกระเป๋า”[2]

ฉะนั้น เมื่อผู้แทนหนังสือพิมพ์ถามถึงข่าวลือจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร 'พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' จึงตอบในเชิงสัพยอกว่า “นอนรอคอยอยู่ที่บ้านไม่เห็นมีปฏิวัติ”

 

พลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ อธิบดีกรมตำรวจ[3]

พลเรือตรีสังวรณ์ฯ วางตัวเป็นกลาง เพราะถือว่าตำรวจเป็นข้าราชการประจำ ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง โดยได้กล่าวกับ 'ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์' เมื่อไปขออนุมัติจับผู้ที่จะทำการรัฐประหาร

“เราเป็นข้าราชการประจำ ไม่เกี่ยวกับข้าราชการการเมือง ทหารเขาจะยึดอำนาจก็เพื่อเปลี่ยนตัวพวกนักการเมือง เราก็ไม่เกี่ยวข้องอะไร จะเปลี่ยนแปลงสักกี่รัฐบาล เราก็คงอยู่เป็นข้าราชการประจำ… ผมได้ออกคำสั่งประจำไว้แล้วว่า หากเกิดการยึดอำนาจขึ้นก็ให้ตำรวจอยู่เฉยๆ ผมได้บอกหลวงชาติฯ รองอธิบดีให้ทราบไว้แล้ว ทางกรมสารวัตรทหารก็เช่นเดียวกัน ผมได้ออกคำสั่งประจำไว้แล้วว่า ให้สารวัตรทุกคนเข้าประจำกรมกองเฉยๆ”

 

ทางฝ่ายบุคคลของคณะรัฐประหาร ได้มีการเคลื่อนไหว ดังนี้

 

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม :

หลังจากพ้นข้อหาอาชญากรสงครามแล้ว จอมพลแปลกฯ ก็ได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวอย่างเงียบๆ ในฐานะนายทหารนอกประจำการ แต่ต่อมาเมื่อต้นปี 2490 จอมพลแปลกฯ หันมาสนใจการเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ว่า จะจัดตั้ง "พรรคธรรมาธิปัตย์" เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Conservative Party มีนโยบายแบบจารีตนิยม

ทันทีที่จอมพลแปลกฯ ประกาศกลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านโดยมีการชุมนุมไฮปาร์คที่สนามหลวงโจมตีจอมพลแปลกฯ ใช้จ่ายเงินผิดประเภท 83 ล้านบาท และ กล่าวประณามว่าเป็นผู้เผด็จการ ส่วนจอมพลแปลกฯ ได้นั่งรถยนต์สังเกตการณ์รอบๆ สนามหลวง ทางด้านพรรคสหชีพได้ประชุมลงมติต่อต้านจอมพลแปลกฯ โดยหาทางกีดกันไม่ให้เข้ามามีบทบาททางพฤฒสภาและสภาผู้แทน[4]

จึงกล่าวได้ว่า จอมพลแปลกฯ ได้หยั่งดูท่าทีของรัฐบาลโดยการประกาศเข้ามาสู่วงการเมือง ฝ่ายรัฐบาลคิดว่าสามารถป้องกันจอมพลแปลกฯ โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลหาได้เฉลียวใจว่า จอมพลแปลกฯ อาจเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วยวิถีทางอื่นๆ อีกทั้งการประกาศจัดตั้งพรรคการเมืองยังทำให้รัฐบาลไม่สงสัยการติดต่อพบปะกับนายทหารที่จะทำรัฐประหาร เพราะรัฐบาลคิดว่าเป็นการปรึกษาหารือดำเนินการพรรคการเมือง

 

พลโทผิน ชุณหะวัณ :

นายทหารนอกประจำการผู้เคยเป็นแม่ทัพยึดเมืองเชียงตุงสมัยสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์[5] ตอบโต้ผู้ที่กล่าวหาจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้เผด็จการไม่ควรกลับเข้ามาสู่วงการเมือง โดยกล่าวว่า จอมพลแปลกฯ ไม่เป็นเผด็จการ “ทำไมเขาไม่แก้ประวัติศาสตร์กัน มัวแต่จะมาคิดแย่งชิงอำนาจกันอยู่ ประเทศชาติจะฉิบหายก็ช่าง แบบนี้แย่มาก” และบอกว่าเคยเขียนหนังสือถึงนายปรีดี พนมยงค์ กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่ควรจะแตกแยกอะไรกัน พร้อมทั้งได้วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐบาล ทำไมไม่ทุ่มเทเงินอุดหนุนการทอผ้าในประเทศ ไม่เห็นด้วยกัยการซื้อรถบูอิคสำหรับรัฐมนตรี แม้แต่ตนเองก็เคยแต่งนายพลนั่งรถราง

 

เหตุการณ์ด้านพรรคการเมือง

เกิดการแตกแยกในพรรคประชาธิปัตย์ 'นายเลียง ไชยกาล' สมาชิกสภาผู้แทนจากจังหวัดอุบลราชธานีกับสมาชิกคนอื่นๆ รวม 16 คน ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ชื่อ "พรรคประชาชน" เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2490

การแตกแยกกันครั้งนี้ในฐานะของพรรคประชาธิปัตย์ สภาผู้แทนอ่อนกำลังลงไปมาก นอกจากนี้ยังมีสมาชิกจากพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญเข้าร่วมกับพรรคประชาชนอีก 7 คน แต่การแยกตัวของสมาชิกพรรคสหชีพกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ทำให้ฐานะรัฐบาลในสภาต้องกระทบกระเทือนแต่ประการใด รัฐบาลยังคงมีเสียงข้างมากอย่างมั่นคง

เป็นที่เปิดเผยภายหลังว่า[6] ก่อนหน้าที่จะเกิดการรัฐประหารเพียงสองวันคือ วันที่ 6 พฤศจิกายน 'ขุนนิรันดรชัย' (เสวก นิรันดร) ได้เชิญ 'พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' นายกรัฐมนตรีมาทานอาหารเย็นที่บ้าน พลเรือตรีถวัลย์ฯ ได้พบกับจอมพลแปลกฯ และได้บอกว่าจะลาออกวันที่ 11 พฤศจิกายน เพียงแต่รอคอยโทรเลขจาก 'นายดิเรก ชัยนาม' เอกอัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งกำลังเจรจากับรัฐบาลอังกฤษเพื่อยกเลิก “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีประชุม ตกลงกันจะลาออก วันที่ 11 พฤศจิกายน และ ตอนเย็นวันที่ 8 พฤศจิกายน นั่นเอง พลเรือตรีถวัลย์ฯ พลเอกอดุลฯ และนายปรีดีฯ ได้ปรึกษาหารือกันที่ทำเนียบท่าช้าง ตกลงให้พลเอกอดุลฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกอดุลฯ รับรองว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้น

จึงอาจสรุปได้ว่า บุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลเชื่อมั่นว่า รัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนในรัฐสภาอย่างมั่นคง 'พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส' ผู้บัญชาการทหารบกก็รับรองว่าจะสามารถคุมทหารบกอยู่ ส่วนทางด้านทหารเรือก็ไม่มีการเคลื่อนไหวแต่ประการใด อีกทั้งในด้านต่างประเทศ 'นายปรีดี พนมยงค์' รัฐบุรุษอาวุโสก็ได้รับการยกย่องนับถือจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น

ฉะนั้นถึงแม้จะมีข่าวว่าจะมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลคงไม่สนใจเท่าไรเพราะเห็นว่าเป็นข่าวลือ 'นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า “ข่าวลือบ่อยๆ นี่เอง ทำให้รัฐบาลรู้สึกเอือมระอาเห็นว่าไร้สาระ ผู้รับผิดชอบเห็นลือกันมากก็เลยประมาท”[7]

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อย สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490”, (วิทยานิพนธ์ปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2517, 57-65, สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2564, ใน


[1] ร.ต.อ. เฉียบ ชัยสงค์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, (พระนคร: โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์, 2507), หน้า 566-567

[2] Edwin F. Stanton, Brief Authority. (London: Robert Hale Limited, 1957), p.207

[3] เข้าดำรงตำแหน่งต่อจากพลตำรวจตรีพิจารณ์พลกิจ อธิบดีกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2490

[4] หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับประจำวันที่ 12 เมษายน 2490

[5] ศรีกรุง ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2490

[6] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือ สยามนิกร ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2591

[7] หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2491