ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉะบับชั่วคราว (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม)

4
กุมภาพันธ์
2564

 


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ได้ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย คือ มาตรา 13 ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใด ๆ มาตรา 14 ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งพรรคการเมือง การอาชีพ แม้มีข้อกำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่บทกฎหมายนั้นก็ไม่ล่วงล้ำสิทธิประชาธิปไตย คือเพียงกำหนดให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมของประชาชน ดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงออกกันแพร่หลาย พรรคการเมืองก็ตั้งกันได้อย่างแพร่หลาย โดยไม่จำกัดความนิยมลัทธิการเมืองของพรรคนั้น ๆ 

 


น.อ.กาจ กาจสงคราม  เจ้าของฉายา นายพลตุ่มแดง
เนื่องจากได้แอบเขียนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้น เมื่อก่อนทํารัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490
เก็บซ่อน ไว้ใต้ตุ่มน้ำสามโคก ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มดินเผาสีแดง จนเรียกย่อว่า ‘ใต้ตุ่มแดง’
(ข้อมูลจาก : ศิลปวัฒนธรรม)

 

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2490 ได้เกิดมีรัฐประหารยกเลิกระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่สถาปนาขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 พฤษภาคม 2489 คณะรัฐประหารได้ตั้งระบบการเมืองขึ้นใหม่ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งมีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” เพราะผู้ทำรัฐประหารได้แถลงว่า ตนได้แอบร่างรัฐธรรมนูญแล้วเก็บซ่อนไว้ที่ใต้ตุ่ม

ตามระบบของคณะรัฐประหารนั้น รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทน แต่ในทางปฏิบัติได้มีข้อกำหนดไว้ว่า “พระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามสนองพระบรมราชโองการ” ดังนั้นรัฐบาลของคณะรัฐประหารนั่นเองเป็นผู้ตั้งวุฒิสมาชิก พระมหากษัตริย์เพียงลงพระปรมาภิไธยตามคำเสนอของรัฐบาล ส่วนสมาชิกผู้แทนนั้นแม้ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง แต่ระบบใหม่ได้กำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 ที่กำหนดไว้เพียง 23 ปี ตามกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นหนุ่มมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก

ส่วนเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมืองนั้นรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มได้ตัดออกไป และยังมีข้อบัญญัติอีกหลายประการ รวมทั้งการฟื้นฟูระบอบอภิรัฐมนตรีของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าระบบที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 นั้น เป็นอีกระบบหนึ่งต่างจากระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร แม้ว่าคณะรัฐประหารมีผู้ซึ่งเคยเป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่เขาได้ปลีกตนออกไปจากส่วนรวมของคณะราษฎร ไปร่วมกับกลุ่มบุคคลที่มีทรรศนะตามระบบการเมืองของคณะรัฐประหารนั้น ดังนั้นหน้าที่ของคณะราษฎรที่จะต้องรับผิดชอบต่อราษฎรตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรจึงถูกคณะรัฐประหารนั้นระงับลง ทั้งในทางนิตินัยและในทางพฤตินัย ซึ่งตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมาไม่อาจกระทำการใด ๆ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของคณะราษฎรได้ ต่อจากนั้นมาความรับผิดชอบในการดำเนินกิจการบ้านเมือง จึงตกอยู่แก่คณะรัฐประหารนั้น และรัฐบาลต่อ ๆ มา อันสืบเนื่องจากผลของรัฐประหารนั้น

บางคนเคยมาถามข้าพเจ้าถึงการที่ระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องล้มลุกคลุกคลานในระยะหลัง ๆ นี้ โดยเอาเรื่องมาพัวพันกับคณะราษฎรนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ชี้แจงว่า แม้ภายในคณะราษฎรจะได้มีการขัดแย้งกันในบางขณะ แต่ในที่สุดคณะราษฎรเป็นส่วนรวมก็ได้ร่วมมือกับสมาชิกสภาผู้แทนที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมานั้น สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 พฤษภาคม 2489 ส่วนการที่ภายหลัง 8 พ.ย. 2490 ได้มีระบบการเมืองโดยรัฐธรรมนูญ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 ครั้งนั้น มิใช่เป็นเรื่องของคณะราษฎรเลย จึงขอให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมได้แยกเหตุการณ์ของคณะราษฎรออกจากคณะรัฐประหาร และที่สืบจากคณะรัฐประหาร และซึ่ง “คณะปฏิวัติ” ได้กล่าวอย่างเปิดเผยถึงระบบเผด็จการที่คณะนั้น ๆ  ใช้ปกครองประเทศไทย จึงไม่ควรที่จะมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นประชาธิปไตย

บางคนโฆษณายกย่องว่ารัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2492 เป็นประชาธิปไตยที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญไทย พวกโฆษณาเหล่านี้อาจเทียบรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่ตรามากขึ้นภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490

ชนรุ่นใหม่ที่สนใจระบบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ควรนำรัฐธรรมนูญทุก ๆ ฉบับ มาเทียบกันดูให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ระบบรัฐธรรมนูญฉบับใดมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” (Democracy)

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2514

 


อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ได้ที่นี่
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/030/318.PDF

 


อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2490 ได้ที่นี่
https://parliamentmuseum.go.th/constitution-law/2490.PDF

 

ที่มา : ส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย” ของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เขียนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2515

หมายเหตุ: เน้นข้อความโดยบรรณาธิการ