ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เราต้องช่วยกันนำประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กลับมา

19
กุมภาพันธ์
2564

เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้ยึดอำนาจรัฐและประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย (สยาม) จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฎหมาย เป็นระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ให้มีสภาผู้แทนราษฎรเป็นแกนในการปกครองประเทศ

ในวันที่ 27 มิถุนายน ศกเดียวกัน ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวขึ้น โดยให้มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งแต่งตั้งโดยคณะราษฎร รับมอบอำนาจควบคุมดูแลการบริหารประเทศจากหัวหน้าคณะราษฎร ซึ่งเป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกและแต่งตั้งประธานคณะกรรมการราษฎร และกรรมการราษฎร (เทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) บริหารประเทศโดยสภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจถอดถอนจากตำแหน่งได้

ประกาศพระบรมราชโองการดังกล่าวนี้เป็นกฎหมายฉบับสุดท้ายแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) และเป็นกฎหมายที่สถาปนาการปกครองระบอบใหม่ขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกว่า “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย”, กล่าวคือเปลี่ยนจากระบอบ “Absolute Monarchy” เป็น ระบอบ “Constitutional Monarchy”

“ราชาธิปไตย” เพราะเป็นการปกครองซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศและทรงใช้พระราชอำนาจแทนราษฎรทั้งในทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร และทางตุลาการ ซึ่งหมายถึงว่าการตรากฎหมาย การบริหารราชการแผ่นดิน และการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี กระทำในพระปรมาภิไธย

“รัฐธรรมนูญ” คือกติกาที่กำหนดวิธีการใช้พระราชอำนาจต่าง ๆ ตลอดจนระเบียบการปกครองแผ่นดินอันเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรหลัก เช่น สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี โดย “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

“ประชาธิปไตย” หมายถึงบรรดาข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร โดยให้พระมหากษัตริย์, สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) และศาลยุติธรรม เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนราษฎร ภายใน 6 เดือน ครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้ง และภายใน 10 ปี หรือ เมื่อราษฎรเกินกว่าครึ่งสำเร็จการศึกษาขั้นประถมศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

อีก 6 เดือนต่อมา ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อความในธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ให้สละสลวย และมีความรัดกุมยิ่งขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นี้ได้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จนกระทั่งได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489, ซึ่งเป็นการแก้ไข เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปและเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ให้มี 2 สภา คือสภาผู้แทนและวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 โดย “คณะรัฐประหาร” ได้เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีความต่อเนื่องมาจนกระทั่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ในระหว่าง 25 ปีที่บุคคลใน “คณะรัฐประหาร” ได้ผลัดกันเข้าบริหารประเทศนั้น ได้ใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ รัฐธรรมนูญเหล่านี้ยังคงไว้ซึ่งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ หากความเป็น “ประชาธิปไตย” ทางการเมืองมีความลางเลือนและในบางช่วงเวลาก็มิได้ปรากฏให้เห็น

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ระบอบการปกครองแบบ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ซึ่งได้ก่อกำเนิดโดยคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะมีฝ่ายปฏิกิริยาขัดขวางแนวโน้มดังกล่าวเป็นครั้งคราว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2540) เป็นเครื่องยืนยันความสถิตสถาพรของระบอบการปกครองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม “ระบอบการปกครอง” ก็เป็นเพียงรูปแบบที่กำหนดเงื่อนไขของการปกครองประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ภายใต้ “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” แต่ก็มิได้เป็นหลักประกันว่า “ระบบ” การเมือง, เศรษฐกิจ, และสังคมจะต้องเป็น “ประชาธิปไตย” โดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุนี้จึงมีความสับสนกันในปัจจุบันว่า เพราะเหตุใดเมื่อประเทศไทยก็มีระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว, แต่การเมือง, เศรษฐกิและสังคมจึงยังไม่เป็น “ประชาธิปไตย” อย่างที่ควรจะเป็น

ในด้าน “การเมือง”, แม้จะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่ค่อนข้างรัดกุม ผลที่เกิดขึ้นก็ยังมีแนวโน้มไปทาง “เผด็จการรัฐสภา” เมื่อพรรคการเมืองบางพรรคสามารถครอบครองที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างท่วมท้น และสามารถใช้อำนาจรัฐได้อย่างกว้างขวางโดยที่ “ฝ่ายค้าน” ไม่อาจทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์และมีประสิทธิผล แม้กระทั่ง “องค์กรอิสระ” ต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะ “คานอำนาจ” ฝ่ายบริหารได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ในด้าน “เศรษฐกิจ”, แม้จะเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันประกอบการโดยเสรี หาก “โภคทรัพย์” และ “ทุน” กลับตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นส่วนน้อยของประเทศ ทำให้บรรดาผลประโยชน์ที่เกิดจากการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ที่ประชาชนมีส่วนร่วมเคลื่อนไปสู่กลุ่มบุคคลดังกล่าว แม้กระทั่ง “รัฐวิสาหกิจ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจของส่วนรวม ก็ยังแปรรูปเป็นวิสาหกิจที่เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลอันเป็นส่วนน้อยของประเทศเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการบริหาร

ในด้าน “สังคม”, แม้จะไม่มีความแตกต่างระหว่างบุคคลในสถานภาพตามกฎหมาย, แต่ความแตกต่างก็ปรากฏอยู่ทั่วไปซึ่งสาเหตุพื้นฐานก็มาจากความแตกต่างกันในฐานะทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ในหลายกรณี “ทัศนะทางสังคม” ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การไม่เคารพสิทธิมนุษยชน, ความมีอคติต่อเพื่อนร่วมชาติที่มีความแตกต่างในเชื้อชาติ, ศาสนา, ลัทธินิยมและวัฒนธรรม

ปัญหาในเรื่องของ “ประชาธิปไตย” ดังกล่าวข้างต้นนี้ อาจมองได้ว่ารัฐธรรมนูญ ยังมีช่องโหว่หรือข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ขณะที่มีความเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองก็อาจเป็นสาเหตุได้จากการแสวงหาความได้เปรียบจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและสังคมของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยหลักการแล้ว การเมืองในระบอบประชาธิปไตยย่อมจะต้องมี “ทางเลือก” สำหรับการพิจารณาตัดสินใจของประชาชน ซึ่งโดยปกติ พรรคการเมืองจะต้องเป็นผู้นำเสนอ “ทางเลือก” ที่มีเหตุผลหนักแน่นอย่างชัดเจน

“ทางเลือก” ที่สำคัญก็คือ “ทางเลือกด้านเศรษฐกิจ” เพราะเศรษฐกิจเป็นรากฐานของการเมืองและสังคม หากเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตย การเมืองและสังคมก็จะเป็นประชาธิปไตยด้วย การพิจารณา “ทางเลือกด้านเศรษฐกิจ” จะต้องดูตั้งแต่อุดมการณ์, ปรัชญา, ไปจนถึงนโยบายและมาตรการในแต่ละเรื่อง แต่ละปัญหา

ถ้าหากปัญหาที่คาใจคนไทยเราในปัจจุบันว่า เพราะเหตุใดเมืองไทยจึงดูเหมือนจะยังขาด ๆ “ประชาธิปไตยทางการเมือง” ตลอดจน “ทัศนะทางสังคม” ในหลายแง่ก็ยังไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตย, คำตอบก็อาจจะเป็นว่าเพราะ “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย

พรรคการเมืองยังมิได้ให้ “ทางเลือกด้านเศรษฐกิจ” ที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงอุดมการณ์และปรัชญาซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดและกำกับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างกันนัก นอกจากนโยบายและมาตรการของบางพรรคฯ อาจจะมีสีสันสดสวยที่ถูกใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า หรือมี “การตลาด” ที่เหนือกว่า, ซึ่งเป็น “ทางเลือก” ในบริบทของสีสันและการตลาด, มิใช่ “ทางเลือก” ในเชิงอุดมการณ์และปรัชญา

ในปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมาอันเป็นโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาลของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นวาระที่องค์การยูเนสโกได้บรรจุนามของท่านไว้ในปฏิทินการเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญของของโลกด้วย ได้มีการรวบรวมตีพิมพ์ข้อเขียนและคำบรรยายของท่านปรีดี พนมยงค์ในโอกาสต่าง ๆ ตลอดจนคำให้สัมภาษณ์แก่บรรดาบุคคลและสื่อมวลชนที่ไปขอทราบความคิดเห็นในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทัศนคติและแนวคิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่ปรากฏในหนังสือและเอกสารดังกล่าวเปรียบเสมือนกุญแจที่ไขไปสู่ความเข้าใจที่กว้างขวางและลึกซึ้งในทุกประเด็นอันเกี่ยวกับประชาธิปไตยของเมืองไทย

นอกจากนั้นยังอาจกล่าวได้ว่า ทัศนคติและแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์ เป็น “ทางเลือก” ที่น่าศึกษาและพิจารณา เพราะเป็น “ทางเลือก” ในเชิงอุดมการณ์และปรัชญาที่ยังขาดหายและกำลังอยู่ในการแสวงหาเพื่อตอบปัญหาที่คาใจคนไทยในเรื่องของประชาธิปไตย.

ท่านปรีดี พนมยงค์ มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยมาตั้งแต่เริ่มต้น และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมสถาปนาการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้นในเมืองไทย

นอกจากจะได้ร่วมก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้น ณ กรุงปารีสเมื่อ พ.ศ. 2470 เพื่อวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว, ท่านปรีดีฯ ในบรรดาศักดิ์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนในการยึดอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ร่าง “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475” ซึ่งมีพระบรมราชโองการประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ศกเดียวกัน ทำให้บังเกิดผลในการสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยขึ้น ต่อมาท่านปรีดีฯ ก็ได้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ท่านรัฐบุรุษอาวุโสขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม 2489

ระหว่าง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2490 ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ร่วมบริหารราชการแผ่นดินในระบอบการปกครองใหม่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา  ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างสงครามดังกล่าว  และได้เข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรี 3 สมัยในช่วงเวลาสั้นๆ ภายหลังสงคราม ผลงานของท่านรัฐบุรุษอาวุโสเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ซึ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมก็มีมากและที่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยก็มีอยู่มิใช่น้อย รวมทั้งปฏิบัติการเสรีไทยเพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา

ข้อเขียน, คำบรรยาย, สุนทรพจน์และคำให้สัมภาษณ์ของท่านปรีดี พนมยงค์ สะท้อนความผสมผสานระหว่างความคิด, ความรอบรู้และประสบการณ์ ซึ่งจุดประกายให้เกิดความรู้และความเข้าใจในแง่มุมต่าง ๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับคำว่า “ประชาธิปไตย” นั้น ท่านปรีดีฯ ให้หมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน” และได้อธิบายต่อไปว่า  “ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมติได้ ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชน โดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวโดยไม่มีหน้าที่มนุษยชน แบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย”

“สามัญชน” ท่านปรีดีฯ นิยามว่าคือ “ชนจำนวนส่วนมากที่สุดของปวงชน ประกอบด้วยชนทุกฐานะและอาชีพที่ไม่ใช่ประเภทอภิสิทธิ์ชน”

ขณะที่ “อภิสิทธิ์ชน” หมายถึง “ชนจำนวนส่วนข้างน้อยที่สุดของปวงชน ได้แก่นายทุนยิ่งใหญ่มหาศาลเนื่องจากสะสมทุนสมัยใหม่ และรับช่วงสมบัติศักดินา, มีฐานะดีที่สุด ยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ อภิสิทธิ์ชนหมายความรวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้”

เมื่อได้อธิบายความหมายของ “ประชาธิปไตย” โดยชัดเจนแล้ว ท่านปรีดี พนมยงค์ก็ได้ขยายความออกไปถึงความหมายของคำว่า “รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย”

“รัฐธรรมนูญ” หมายถึง “กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ”, ท่านปรีดีฯ ให้คำนิยาม “มีผู้เข้าใจผิดว่าประเทศใดมีรัฐธรรมนูญ ประเทศนั้นก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงนั้น รัฐธรรมนูญเป็นเพียงระเบียบการที่เขียนเป็นกฎหมายว่าประเทศ (รัฐ) นั้น ๆ ปกครองกันแบบใด แทนที่จะปล่อยให้ผู้มีอำนาจปกครองกระทำตามความพอใจของตนโดยไม่มีข้อกำหนดไว้” รัฐธรรมนูญแต่ลำพังยังไม่เป็นแบบการปกครองประชาธิปไตยเสมอไป อาทิบางประเทศปกครองตามแบบเผด็จการ ก็มีรัฐธรรมนูญเผด็จการของตน”

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสให้ข้อสรุปว่า

“ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชน และจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย”[1]

อย่างไรก็ตาม ท่านปรีดีฯ ก็ยืนยันว่า “ระบบการเมืองที่จะเป็นประชาธิปไตยก็จำต้องมีรัฐธรรมนูญ”[2]

สำหรับปัญหาว่าด้วยความสมบูรณ์แห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอาจมีข้อคิดเห็นในหลายแง่มุมต่าง ๆ กันไปนั้น ท่านปรีดี พนมยงค์มีคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนตามที่ได้ยืนยันไว้ในหลายโอกาส

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสกล่าวว่า “ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์นั้นหมายถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานของสังคม, และประชาธิปไตยทางการเมืองซึ่งเป็นโครงร่างปกครอง และทัศนะประชาธิปไตยที่เป็นหลักนำให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อประชาธิปไตยเศรษฐกิและการเมืองของสังคม”[3] และได้ขยายความต่อไปว่า “เศรษฐกิจเป็นรากฐานสำคัญแห่งมนุษยสังคม

ส่วนระบบการเมืองเป็นแต่เพียงโครงร่างเบื้องบนที่จะต้องสมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลมนุษย์ในสังคม ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (evolution) อย่างสันติ

ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กัน”[4] สำหรับ “ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ในทัศนะของท่านปรีดีฯ ก็หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ “ราษฎรส่วนมากของสังคมต้องไม่ตกเป็นทาสของคนจำนวนส่วนข้างน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม และราษฎรทั้งปวงจะต้องร่วมมือกันฉันท์พี่น้อง ออกแรงกายหรือแรงสมองตามความสามารถเพื่อผลิตสิ่งอุปโภคและบริโภคให้สมบูรณ์ ครั้นแล้วแต่ละคนก็จะได้รับผลด้วยความเป็นธรรมตามส่วนแรงงานทางกายหรือสมองที่ตนได้กระทำ ผู้ใดออกแรงงานมาก ก็ได้มาก, ผู้ใดออกแรงงานน้อย ก็ได้น้อย”[5]

ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้เสริมด้วยว่า “ชนชั้นใดมีอำนาจเศรษฐกิจ ชนชั้นนั้นอาศัยอำนาจเศรษฐกิจช่วยยึดครองอำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์แห่งชนชั้นของตนและพันธมิตรของตน”[6]

ท่านปรีดีฯ เชื่อว่าหากระบบเศรษฐกิจเป็นประชาธิปไตย, ระบบการเมืองก็มีแนวโน้มที่จะเป็นประชาธิปไตยด้วย ซึ่งระบบการเมืองดังกล่าวสามารถสะท้อนไปยังรากฐานเศรษฐกิจและสังคม อำนวยให้เศรษฐกิจดำเนินไปเพื่อความสุขสมบูรณ์ของปวงชน มิใช่เพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชน

ในทัศนะของท่านปรีดีฯ ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องการ “วิธีเลือกตั้งให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรได้เสมอภาคกัน และมีความสะดวกในการออกเสียงได้ในทางปฏิบัติ, อีกทั้งจะต้องมีระบบที่ฝ่ายบริหารจำต้องปฏิบัติเพื่อราษฎรอย่างแท้จริง, และระบบที่ฝ่ายตุลาการจำต้องมีอิสระและดำรงไว้ซึ่งความเที่ยงธรรม”,[7] และเสริมว่า “การมีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรส่วนมาก ดีกว่าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางการเมืองเสียเลย ก็จริงอยู่, แต่ถ้าไม่มีระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว ราษฎรส่วนมากก็ไม่มีโอกาสในทางปฏิบัติที่จะใช้สิทธิประชาธิปไตยได้ เพราะคนส่วนน้อยที่กุมอำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือย่อมมีโอกาสดีกว่าในการใช้สิทธิประชาธิปไตยทางการเมือง”[8]

นอกจากประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและทางการเมืองแล้ว ท่านอดีตรัฐบุรุษอาวุโสก็ยังให้ความสำคัญแก่ “ทัศนะทางสังคม” ที่จะต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย โดยกล่าวว่า “ถ้าหากผู้ใดต้องการระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ แม้แต่ต้องการเพียงระบบประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ยึดถือทัศนะทางสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นหลักนำแล้วก็ย่อมดำเนินกิจกรรมไปตามแนวทางที่ไม่อาจเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยตามความต้องการนั้นได้”[9]

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ท่านปรีดี พนมยงค์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ทัศนะประชาธิปไตยเป็นทัศนะที่เกิดขึ้นจากสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่จะต้องสัมพันธ์กันอยู่เป็นกลุ่มชน หรือสังคม หรือเป็นชาติ, ไม่มีบุคคลใดจะอยู่โดดเดี่ยวโดยลำพังได้ มนุษย์จึงต้องมีทัศนะที่เป็นหลักนำความประพฤติของตนเพื่ออยู่กับเพื่อนมนุษย์อื่นในชาติเดียวกัน, เพื่อให้ชาติคงอยู่และเพื่อพัฒนาเติบโตก้าวหน้าต่อไปได้ ทัศนะประชาธิปไตยจึงเป็นทัศนะที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน แม้ว่ามนุษย์มีเสรีภาพส่วนบุคคลตามธรรมชาติ แต่มนุษย์ก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติในการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อมิให้เสียหายแก่เพื่อนมนุษย์อื่น และเพื่อให้ชาติดำรงอยู่ กับเติบโตพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้”[10]

นอกจากนั้น ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้ให้คำแนะนำแก่บรรดาพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไว้ว่า “การที่จะมีระบบประชาธิปไตยได้นั้น ขบวนการนำก็จะต้องมีทัศนะประชาธิปไตยเป็นหลักนำการปฏิบัติ และช่วยให้มวลราษฎรมีทัศนะเช่นนั้นดุลกัน”[11]

“นโยบายการต่างประเทศ” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะไทยเป็นประเทศเล็กในชุมชนโลกซึ่งจะต้องมีนโยบายการต่างประเทศที่เหมาะสม ทำให้สามารถดำรงเอกราชและอธิปไตย ตลอดจนเกียรติภูมิและเกียรติศักดิ์ของชาติเอาไว้ให้ได้ในทุกสถานการณ์

ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้สรุปสาระสำคัญของนโยบายการต่างประเทศที่เหมาะสมของประเทศไทยเอาไว้ว่า

“ในฐานะที่ประเทศเราเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ เราควรมีนโยบายต่างประเทศที่กอปรด้วยเหตุผล โดยการวางตัวเป็นกลาง หรือที่เราเรียกในปัจจุบันว่า นโยบายไม่ฝักฝ่ายกับประเทศใด ๆ ก็ตาม ที่มีภาวะขัดแย้งอยู่ และวิธีที่ดีที่สุดก็คือควรพยายามที่จะยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับทุกประเทศที่มีระบอบการปกครองทั้งทางการเมืองและสังคุมที่แตกต่างกัน”[12]

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ถวายสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับพระบรมราโชบายอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากภยันตรายในยุคการแผ่อำนาจของจักรวรรดินิยมมาสู่ภูมิภาค และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

“นโยบายที่ดีที่สุดคือความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด” ท่านปรีดีฯ กล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่บ้านพักชานกรุงปารีส “ถ้าเราหันไปดูพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ก็จะเห็นว่าท่านได้ถือนโยบายทำนองนี้ ซึ่งเวลานั้นเราเรียกว่า “balance of power” การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน ส่วนนโยบายต่างประเทศ เรามิได้เปลี่ยนแปลง แต่เป็นการเสริมกำลังภายในให้นโยบายต่างประเทศสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น และสามารถทำให้เราเลิกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้ แต่คราวใดที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลง นโยบายต่างประเทศเข้าข้างฝ่ายใด ก็นำความยุ่งยากมาสู่ประเทศชาติทันที เช่นเมื่อครั้งมหาสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น แต่ก็แก้ไขด้วยขบวนการเสรีไทย”

“เราต้องยอมรับว่าในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายตกอยู่ใต้อำนาจของประเทศมหาอำนาจต่างชาตินั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 สามารถช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากอำนาจของระบบจักรวรรดินิยมได้ ก็เพราะพระองค์ทรงดำเนินนโยบายยืดหยุ่นนี่เอง”[13]

ประเด็นหนึ่งที่ท่านปรีดี พนมยงค์แสดงความเป็นห่วงค่อนข้างมาก คือเรื่องการรับความช่วยเหลือในทางการเงินจากต่างประเทศ

ท่านปรีดีฯ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศคราวหนึ่งว่า “ด้วยทรัพยากรของเรา เราสามารถยืนโดยลำพังได้, แต่ทั้งนี้ไม่หมายความว่าเราปฏิเสธความช่วยเหลือทั้งหมด เราปฏิเสธความช่วยเหลือที่มีพันธนาการ”[14]

ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง ท่านรัฐบุรุษอาวุโสประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า “เราจะต้องใช้นโยบายเอกราชการคลังของชาติ เพื่อช่วยรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้”[15]

เมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2, ระหว่าง พ.ศ. 2480-2481, นโยบายการต่างประเทศของไทยมีความสง่างามและโปร่งใส, ยังประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติ และได้รับความเคารพและความยอมรับจากนานาอารยประเทศ บุคคลผู้ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง ทั้งในการมีส่วนร่วมที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และในการนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ก็คือท่านปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามในแปซิฟิก ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยสละความเป็นกลางและเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น, ท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปรีดี พนมยงค์ก็ได้แก้ไขสถานการณ์ด้วย “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเป็นฝ่ายแพ้สงคราม, ไม่ต้องวางอาวุธและไม่ต้องถูกยึดครองเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ภายหลังสงครามท่านปรีดีฯ ได้ดำเนินการให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ

ทัศนะของท่านปรีดี พนมยงค์ในสาระสำคัญต่าง ๆ ตามที่ได้สรุปมาข้างต้น นอกจากจะเป็น “อาหารสำหรับความคิด” สำหรับผู้ที่มีความสนใจในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ก็ยังอาจจะเป็น “ทางเลือก” ในแง่ของอุดมการณ์และปรัชญาที่จะช่วยให้การพิจารณาตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยมีสาระประโยชน์โดยแท้จริง ทัศนะของท่านรัฐบุรุษอาวุโสมิได้สะท้อนอย่างชัดเจนในนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ, หรือถ้าหากจะเป็นเงาลาง ๆ อยู่บ้างก็มิได้อยู่ในลำดับความสำคัญต้น ๆ

นานมาแล้ว เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เกรย์ ปัญญาชนชาวอังกฤษท่านหนึ่ง ได้เคยตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “ไม่มีข้อคิดเห็นประการใดซึ่งเคยได้แสดงเอาไว้ ที่ดูเหมือนจะมลายไปโดยสิ้นเชิง และในยุคสมัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นในปัจจุบันนี้ หูของพวกเราจะก้องไปด้วยเสียงกระซิบของบุคคลที่ได้ล่วงลับไปแล้ว”[16]

 

ที่มา : วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ทัศนะทางการเมือง, ใน, “ปรีดีสาร ฉบับคู่มือประชาธิปไตย ‘ทางเลือกเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตามแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์’”, (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2548, หน้า 9-30)

หมายเหตุ : ตั้งชื่อเรื่องตัดตอน, แก้ไขเล็กน้อย, จัดรูปแบบประโยค โดยบรรณาธิการ


[1]  จากข้อเขียนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ประชาธิปไตยเบื้องต้นสำหรับสามัญชน” ในหนังสือ “แนวความคิดประชาธิปไตยของ ปรีดี พนมยงค์”, มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, พ.ศ. 2535

[2] จากข้อเขียนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด” ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์์กับสังคมไทย”, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, พ.ศ. 2526

[3] จากหนังสือ “วาทะปรัชญาเมธี ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสประเทศสยาม”, ธรรมสภา, พ.ศ. 2538.

[4] จากข้อเขียนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[5] จากเรื่อง “อนาคตของประเทศไทยควรดำเนินไปในรูปใด”, ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[6] จากหนังสือ “วาทะปรัชญาเมธีฯ”

[7] จากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[8] จากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[9] จากหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[10] จากข้อเขียนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “ประชาธิปไตย และ รัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ”  ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”

[11]จากข้อเขียนของท่านปรีดี พนมยงค์ เรื่อง “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่” ในหนังสือ “ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย”

[12]  จากหนังสือ “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ” สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, พ.ศ. 2529,

[13] จากหนังสือ “วาทะปรัชญาเมธีฯ”

[14] จากหนังสือ “วาทะปรัชญาเมธีฯ”

[15] จากหนังสือ “วาทะปรัชญาเมธีฯ”

[16] “No point of view, once expressed, ever seems wholly to die ; and in periods of transition like the present, our ears are full of the whisperings of dead men” Sir Alexander Gray.