ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ความพ่ายแพ้ของขบวนการประชาธิปไตย

27
กุมภาพันธ์
2564

“ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะอยู่ไปทำไม เราทำให้คนอื่นพลอยเดือดร้อน...ต้องตาย”

ดุษฎี ได้รับทราบคำรำพึงประโยคนี้ของนายปรีดีจากปากท่านผู้หญิงพูนศุขผู้เป็นมารดา ก่อนที่จะทราบว่าท่านผู้หญิงพูนศุขตอบนายปรีดีไปว่า

“ไม่ได้ ถ้าเธอตายไป ก็เหมือนกับการยอมแพ้ทุกอย่างนะสิ”

(บางส่วนจากหนังสือสือ “เสี้ยวหนึ่งแห่งความทรงจำ” โดย ดุษฎี พนมยงค์)

 

หลังจากความพ่ายแพ้ของกบฏวังหลวง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้จับกุมผู้ต้องสงสัยในการเข้าร่วมก่อการฯ ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมเหล่านี้ ปรากฏว่าบางคนไม่มีส่วนรู้เห็นกับการก่อการฯ ดังกล่าวเลย ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ก่อการฯ ประมาณ 15 คนเป็นเวลาเกือบ 9 ปี และได้ปล่อยตัวคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หลายคนหลบหนีการจับกุมไปได้ และหลบซ่อนในต่างจังหวัดบ้าง ในประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หรือที่แน่กว่านั้น ก็อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเปิดเผยด้วยความใจเย็นคิดว่า ไม่มีพยานคนใดสามารถยืนยันว่าได้ เห็นตนเข้าร่วมก่อการฯ ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันที่ 26 จนถึงเช้าวันที่ 27 กุมภาพันธ์

ถึงอย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรี 4 คน ได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์  นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมลงมือก่อการฯ ในวันนั้นกับเรา กลับถูกจับกุมทั้ง 4 คน

ก่อนวันก่อการฯ 1 วัน นายทองอินทร์ฯ  นายถวิลฯ และนายจำลองฯ ได้รับคำเตือนให้อยู่ในบ้านของตน และมิให้ปรากฏตัวจนกว่าฝ่ายก่อการฯ จะประสบชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ทั้ง 3 คนนี้ จึงอยู่ในบ้านของตนเฉยๆ แต่จอมพลพิบูลฯ และฝ่ายปฏิกิริยาได้จับกุมพวกเขาด้วยเหตุผลว่ามักทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ส่วนนายทองเปลวฯ นั้นอยู่ที่ปีนังเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนการก่อการฯ ด้วยซ้ำ และข้าพเจ้าก็ไม่เคยขอให้เขาเข้าร่วมการก่อการฯ ด้วยเลย

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจของจอมพลพิบูลฯ ก็ประกาศว่าได้เห็นนายทองเปลวฯ และตำรวจก็ได้ส่งโทรเลขถึงเขาโดยใช้ชื่อภรรยาของอดีตรัฐมนตรีท่านนี้เป็นผู้ส่ง นายทองเปลวฯ จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไม่ทันนึกว่าเป็นกลลวงของตำรวจ ทันทีที่ถึงกรุงเทพฯ ก็ถูกจับกุม

อดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ได้รับการทารุณกรรมจากฝ่ายตำรวจปฏิกิริยาจนปางตาย เพราะบาดแผลจากการถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อน ดังนั้น เพื่อที่จะอำพรางบาดเหล่านั้น ค่ำวันหนึ่ง ตำรวจก็ได้จับคนทั้ง 4 ซึ่งมีอาการปางตาย ใส่รถบรรทุกคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธปืนกลเบา และติดตามด้วยรถยนต์ตำรวจ ซึ่งกำกับโดยนายพันตำรวจผู้หนึ่ง เมื่อรถบรรทุกมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 20 กม. รถยนต์ 2 คันก็จอดนิ่ง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงจากรถ และสาดกระสุนใส่ผู้บริสุทธิ์ทั้ง 4 คน

วันรุ่งขึ้น ตำรวจก็ประกาศว่า ระหว่างการย้ายผู้ต้องหาจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งนั้น ได้มีโจรจีนมลายูยิงปืนใส่ตำรวจ เพื่อชิงตัวผู้ต้องหา ตำรวจจึงจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยปืนกลเบา และกระสุนปืนก็ถูกผู้ต้องหาทั้ง 4 คนถึงแก่ความตาย ไม่มีใครในเมืองไทยเชื่อแถลงการณ์ของตำรวจ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า โจรจีนมลายู (ในขณะนั้น) อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ราว 1,000 กม.

ทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเล่ามานี้สอดคล้องกับบันทึกคำให้การของตำรวจ และบันทึกคำให้การของพยานในการพิจารณาคดีผู้ถูกกล่าวหาว่าก่อการกบฏที่ศาลอาญา

ข้าพเจ้าได้หลบซ่อนอยู่ในบ้านผู้รักความเป็นธรรมคนหนึ่ง ในช่วง 5 เดือนนี้ ข้าพเจ้าไม่มีทางก่อการฯ ได้อีกครั้ง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากสยามไปเมืองปักกิ่ง ซึ่งเพิ่งได้รับการปลดปล่อย โดยกองทัพปลดแอกราษฎรจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้าพเจ้าได้มอบหมายให้ภรรยารับภารกิจที่ยากลำบากในการจัดหาลู่ทางหลบหนีของข้าพเจ้าและเพื่อนอีก 2 คน ด้วยการขอความช่วยเหลือจากมิตรผู้ซื่อสัตย์ชาวไทยและชาวจีน รัฐบาลได้เฝ้าระวังชายแดนทางบกอย่างเข้มงวด เราจึงเลือกหลบหนีไปทางทะเล แม้ว่าเส้นทางนี้จะต้องเสี่ยงภัยอย่างมากมายก็ตาม เนื่องจากเราจะต้องผ่านด่านตรวจหลายแห่งตามปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเราต้องแล่นเรือผ่าน เพื่อออกไปสู่ทะเล อีกอย่างหนึ่งในน่านน้ำเขตสยามก็มีกองลาดตระเวนทหารเรือของฝ่ายรัฐบาลตรวจตราอยู่ นอกจากนั้นก็ยังมีด่านควบคุมตามชายฝั่งมลายูของอังกฤษ และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ เราจะต้องเสี่ยงภัยอีกครั้งหนึ่งก่อนลอบลงเรือเดินทะเลไปยังฮ่องกง จากฮ่องกงเราก็ลงเรืออีกลำหนึ่งไปยังชิงเต่า ซึ่งขณะนั้นกองกำลังของฝ่ายราษฎรจีนยึดไว้ได้แล้ว

เพื่อนคนหนึ่งได้จัดหาเรือประมงติดเครื่องยนต์ที่มีระวางขับน้ำ 5 ตันให้ และนายเรือโทนอกราชการผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้รักชาติ ซื่อสัตย์ต่อราษฎร เต็มใจขอลางานชั่วคราวจากบริษัทเดินเรือที่เขาทำงาน เพื่อช่วยเหลือด้านการบังคับเรือประมงเล็กๆ ลำนี้ด้วยคน

ภรรยาข้าพเจ้าได้ขอให้เพื่อนชาวจีนผู้หนึ่ง (ซึ่งไม่ใช่ชาวคอมมิวนิสต์) ช่วยเหลือเรา โดยจัดให้ลงเรือเดินทะเลที่สิงคโปร์เพื่อเดินทางอย่างลับๆ ไปฮ่องกง (เมื่อหลังสงคราม เราเคยให้ความคุ้มครองเพื่อนคนนี้จากการขู่เอาชีวิตของพวกจีนชาตินิยม) ที่ฮ่องกง ตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องช่วยเปลี่ยนเรือให้เรามุ่งหน้าไปยังท่าเรือชิงเต่า โดยที่เรือลำนั้นต้องแล่นไปตามเส้นทางที่สามารถหลบหลีกกองเรือลาดตระเวนของจีนคณะชาติที่ควบคุมทางใต้ของจีน และแล่นไปมาในทะเลจีนอยู่ในขณะนั้น

ภรรยาข้าพเจ้าได้นัดกับเพื่อนชาวจีนโพ้นทะเลคนนั้นว่า ถ้า 1 วันภายหลังข้าพเจ้าเดินทางออกจากกรุงเทพฯ แล้วเขายังไม่ได้ข่าวคราวการถูกจับของเราก็หมายความว่าเราได้เดินทางผ่านเขตน่านน้ำทะเลของสยามไปแล้ว หลังจากนั้นเพื่อนชาวจีนจะต้องบอกเลขานุการที่ไว้ใจได้ให้ขึ้นเครื่องบินไปสิงคโปร์ซึ่งเป็นที่ที่เรานัดพบกัน เพื่อว่าเจ้าหน้าที่ของอังกฤษจะได้ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่สิงคโปร์

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. “ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน”, (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529), หน้า 120-127

หมายเหตุ: ตัดตอน แก้ไขเล็กน้อย ตั้งชื่อเรื่อง จัดรูปแบบประโยค โดย บรรณาธิการ