ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐธรรมนูญ: เครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย ?

20
มีนาคม
2564

 

 

เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องว่า “รัฐธรรมนูญ” จะเป็นเครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตยได้หรือไม่ ?

คำถามแรกของดิฉันก็คือว่า “อะไรเป็นปัญหาของการเมืองไทย และ อะไรเป็นปัญหาของประชาธิปไตยในประเทศไทย”

เรามีรัฐประหารบ่อยใช่หรือไม่ การเมืองเราไร้เสถียรภาพใช่หรือไม่ ความไร้เสถียรภาพแบบนี้ นำไปสู่การทำรัฐประหารอยู่ร่ำไปใช่หรือไม่ หลังจากการทำรัฐประหารทุกครั้ง จะพูดถึงเรื่องการปฏิรูป คือ การปฏิรูปโดยการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ จัดทำและแก้รัฐธรรมนูญใหม่อยู่ร่ำไป จะเป็นวงจรแบบนี้

เพราะฉะนั้นการมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ คือ ความพยายามที่จะปฏิรูปการเมืองไทย ได้จริงหรือไม่ อย่างไร ?

จริงๆ แล้ว ปัญหาของการปกครองโดยกฎหมายในประเทศไทย ทำไมเราจึงยอมรับการรัฐประหารอยู่เรื่อยมา ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญเขียนความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ ยกตัวอย่างในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบัน ที่พูดถึงความเป็นกฏหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้  …” แต่ทำไมการประกาศของคณะปฏิวัติจึงสามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญได้

นั่นก็เพราะว่าคณะปฏิวัติได้มีการรับรองโดยคำพิพากษาศาลฎีกามาอย่างยาวนาน “คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย” คำพิพากษานี้มีผล และเป็นการรับรองการทำรัฐประหาร การทำปฏิวัติอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยที่พลิกโฉมวงการนิติศาสตร์ของไทย และ เป็นเสียงส่วนน้อยในคดีของคุณยงยุทธ ติยะไพรัตน์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เขียนไว้อย่างน่าทึ่งมาก และถ้าเมื่อใดก็ตามที่กระบวนการยุติธรรมไทย ผู้พิพากษาไทยมีความกล้าหาญเช่นนี้ การทำรัฐประหารไทยจะไม่เกิดขึ้นได้อีก

คำพูดท่านกีรติ กาญจนรินทร์ ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 มีใจความดังต่อไปนี้ “การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติ หรือ รัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”

คำวินิจฉัยส่วนตนของท่านกีรติ เป็นคำวินิจฉัยที่กล้าหาญมาก และในวงการนักนิติศาสตร์เราจะพูดถึงอยู่ตลอดเวลา

 

 

ทำไมประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ? ปัญหาอยู่ที่ไหน และเราจะแก้ไขอย่างไร ?

“รัฐธรรมนูญ” อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ เหตุเพราะว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ในทางนิตินัยทุกคนทราบอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายแม่แบบ เพราะ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งซึ่งแสดงการก่อร่างสร้างความเป็นรัฐอย่างเป็นทางการ ฃ

ท่านอยากรู้ว่าประเทศนั้นปกครองในรูปแบบไหน ท่านไปดูที่รัฐธรรมนูญได้ แต่ท่านต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย อย่าถูกใครเขาหลอกว่า ประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย บางประเทศมีรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่ง หรือเป็นสิ่งที่ซึ่งต้องแสดงออกถึงความเป็น consensus บางอย่าง หรือ ฉันทามติของคนในสังคม ว่าปัญหาในประเทศไทย ณ ปัจจุบันคือ เรายังไม่มีฉันทามติว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยเรา ตำแหน่งแห่งที่อยู่กันตรงไหน อย่างไร

เรายังไม่เคยพูดคุยกันถึงตำแหน่งแห่งที่ ถึงแม้ว่าเราเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแล้ว แต่ก็จะมีคนที่ปิดปาก ไม่ให้เราพูดคุยกันตลอดเวลา และฉันทามติแบบนี้มันควรจะถึงเวลาที่หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันได้ว่า ฉันทามติของคนในสังคมที่ก่อร่างสร้างความเป็นรัฐ รูปแบบการปกครองแบบนี้คืออะไร

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเรือนด้วยเช่นกัน และที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดอำนาจทางการเมืองที่จัดสรรวางตำแหน่งแห่งที่ของโครงสร้างทางการเมืองไว้อย่างสมดุลย์ด้วยกัน

ดิฉันได้มีโอกาสฟังโปรเฟสเซอร์จากฝรั่งเศสชื่อว่า โดมินิก รุสโซ ท่านได้ถูกเชิญมาพูดตอนที่อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ 60 ชุดของคุณมีชัย โปรเฟสเซอร์โดมินิก รุสโซพูดไว้ดีมากว่าถ้าเกิดมองปัญหาในประเทศไทยแล้วจะก้าวพ้นผ่านความเป็นวิกฤตได้โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือนั้น รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมี 3 ต้องด้วยกัน

ต้องแรก คือ รัฐธรรมนูญที่ดีต้อง “ไม่เป็นตัวปัญหาสร้างเงื่อนไขของวิกฤติความขัดแย้ง” หมายความว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกร้างขึ้นมาไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ไม่ใช่เป็นต้นตอสาเหตุความขัดแย้งของความไม่ลงรอยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง หรือดุลอำนาจทางการเมืองที่ไม่ได้ดุล

ในขณะเดียวกัน “รัฐธรรมนูญที่ดีต้องแก้ไขปัญหาในอดีตได้” การร่างรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะทำให้รัฐธรรมนูญในฉบับนั้นสามารถเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตและแก้ไขปัญหาได้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แนวความคิดแบบนี้ก็คือแนวความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญนิยมนั่นเอง

ในสังคมไทยของเรามักจะพูดถึงแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยมแบบตัวบทกฎหมาย เรามักจะหลงลืมเรื่องที่หนึ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบรัฐธรรมนูญคือสังคมวิทยา ทางการเมือง เราอาจจะไม่ค่อยมองเห็นว่าในบริบทของสังคมไทย บริบทความเป็นประชาธิปไตยของวัฒนธรรมแบบไทย ควรจะร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดสรรอำนาจให้สมดุลย์อย่างไร

ต้องที่สาม รัฐธรรมนูญที่ดีต้องสามารถหาทางออกของความขัดแย้งได้ด้วย ก็คือรัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีบทบัญญัติว่าด้วยเกี่ยวกับทางออกของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หมายความว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น แต่รัฐธรรมนูญที่ดีควรจะมีบทบัญญัติบางเรื่อง ที่สามารถจะยกเครื่องมือนี้มาแก้ปัญหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่สุดและเราจะพูดถึงในอนาคตหลังจากการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ “ประชามติ”

“ประชามติ” ในต่างประเทศถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหาทางออกของความขัดแย้ง เพราะประชามติย้อนกลับไปถามประชาชนว่าเราเห็นพ้องต้องกันอย่างไรในปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ย้อนกลับไปถึงอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง และเป็นการทำลาย Deadlock ทางการเมืองบางอย่างได้ ท่านดูตัวอย่างได้ในอังกฤษ หรือ สหภาพยุโรป ในหลายครั้งหลายคราที่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งทางการเมือง ประชามติจะเป็นประชาธิปไตยทางตรง และเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ย้อนกลับไปถามคนในชาติว่า เขาจะเอาเรื่องหรือปัญหาและหาทางออกร่วมกันอย่างไร ซึ่งเป็นทางออกที่ civilize มาก

รัฐธรรมนูญ : ปัจจุบัน

หลายท่านคงได้อ่าน ได้ศึกษา และรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 60 นั้นมีปัญหา ซึ่งไม่สอดคล้องกับภูมิ-สังคมของประเทศ ไม่ปรับตัว ไม่ยืดหยุ่น และอยู่บนพื้นฐานของความไม่ไว้วางใจกัน ความขัดแย้งกัน  

ณ วันนี้ รัฐธรรมนูญกลายเป็นเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ ในการตีความจะอธิบายอย่างไร เราก็จะเชื่อฟัง เราก็จะเห็นพ้องต้องกัน และเราก็ส่งให้คนที่มีอำนาจอธิบายแบบนี้ จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน ประชาชนไม่ศรัทธาในรัฐะรรมนูญ ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในรัฐะรรมนูญฉบับนี้ รวมถึงที่สำคัญที่สุดคือดุลอำนาจที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 60 เกิดความไม่สมดุลย์ผ่านโครงสร้างทางการเมืองทั้งหลาย จากการที่มีบทเฉพาะกาลต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

รัฐธรรมนูญ : อนาคต 

ควรจะออกแบบเครื่องมือทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ หมายความว่า แน่นอน รัฐธรรมนูญเป็นตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร คนที่จะสามารถเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรได้นั้นคือนักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์

แต่อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญจะใช้เป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการควรจะมีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดสิทธิพลเมืองได้อย่างเข้าถึงและเท่าเทียม สิทธิพลเมืองในแง่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เราหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่หมายถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เสรีภาพในการนัดหยุดงาน หรือ เสรีภาพในกระบวนการต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน ต้องถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญในเชิงเนื้อหา

การออกแบบรัฐธรรมนูญ ควรออกแบบให้มีการเคารพต่อสังคมนิยม ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยด้วย  นอกจากที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่ทรงคุณค่า

กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะนำมาซึ่งอนาคตได้ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคน ทุกวันนี้หลายภาคส่วนมีความพยายามที่จะทำให้เกิดการพูดคุยกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ใช่การมีรัฐธรรมนูญปลายทาง แต่กระบวนการทำรัฐธรรมนูญต่างหากที่มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ารัฐธรรมนูญปลายทางด้วย

กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ว่าอย่างเป็นทางการผ่านส.ส.ร.  หรือผ่านกลุ่มคนต่างๆ เพื่อให้เกิดสิ่งหนึ่งที่เราเรียกว่า Dialogue คือ การพูดคุยกันการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมกัน เมื่อไรก็ตามที่คนในสังคมรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมกันในรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง การฉีก การทำลาย หรือการล้มล้างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

ดังนั้น ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีกระบวนการการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เกิด Dialogue เกิดการพูดคุยกัน เป็นเจ้าของร่วมกัน และให้ทุกคนแม้กระทั่งคนที่เห็นต่างมีที่ยืนในการออกแบบรัฐธรรมนูญได้ด้วยเช่นเดียวกัน และ หาฉันทามติของ การปกครองรูปแบบนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมทางการเมืองไทยด้วย

แนวคิดของอาจารย์ปรีดี ยังทรงคุณค่าอยู่และถูกนำมาปรับใช้ได้ อาจารย์ปรีดีพูดถึงการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ผ่าน 3 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง คือ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย
สอง คือ เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย
สาม คือ สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไต

การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไรบ้าง ?

เราควรจะมีระบบการเลือกตั้งที่สามารถคัดสรรคนที่เป็นตัวแทนของประชาชน และผ่านกระบวนการการเลือกตั้งที่แฟร์จริงๆ รวมถึงองค์กรทางการเมืองที่มีดุลยภาพ ความมีดุลยภาพนั้นไม่ได้หมายถึงองค์กรทางการเมืองทั้งหลาย จะต้องมีอำนาจที่เท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าอำนาจต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกตรวจสอบได้อย่างได้ดุล เพราะไม่มีการใช้อำนาจใดปราศจากการตรวจสอบ แม้กระทั่งอำนาจของศาลเองก็ต้องถูกตรวจสอบ

พรรคการเมืองจะมีส่วนให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยได้ด้วย เพราะพรรคการเมืองเป็นตัวเชื่อมนโยบายจากความต้องการของประชาชนไปสู่รัฐบาลหรือสู่งานในสภา ดังนั้นแล้วการที่เราปล่อยให้มีการยุบพรรคการเมือง เท่ากับการทำลายอุดมคติบางอย่างของคนในสังคม สิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องถูกดันเพดานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้มีพื้นที่ที่หลากหลาย ทำให้การใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดหรือเห้นต่างจากเรา จะต้องมีพื้นที่ในการพูดคุย และรวมถึงจิตวิญญาณ ฉันทามติซึ่งนำมาสร้างความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกได้ถึงความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญแล้ว คุณค่าบางอย่าง หรือบรรทัดฐานบางอย่างของรัฐธรรมนูญจะไม่ถูกทำลายลง แม้ว่าตัวรัฐธรรมนูญจะถูกฉีก แต่คุณค่าของความเป็นรัฐธรรมนูญนั้นจะไม่ถูกฉีกไปด้วย

เศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตย

เราสามารถสอดแทรกเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยไปใส่ในรัฐธรรมนูญได้ ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่แฟร์เพียงพอ ค่าแรงที่เป็นธรรม Zoning ผังเมืองต่างๆ ที่ถูกใช้จัดสรรผลประโยชน์ให้คนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน

การมีรัฐสวัสดิการ การมีสวัสดิการด้านสุขภาพ แรงงาน ที่อยู่อาศัย การเดินทาง แม้กระทั่งการศึกษาและรวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เศรษฐกิจกลายเป็นประชาธิปไตยได้ด้วย

สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย

เราพูดกันมาตลอดในเรื่องของความเป็นพลเมืองที่คนเท่ากัน ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะเรามีความเท่าเทียมทางกฎหมายเท่านั้น แต่เราปฏิบัติต่อคนอื่น เคารพคนอื่นได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ และ รัฐฆราวาสนั้นมีความสำคัญด้วย

รัฐฆราวาส หมายถึง สังคม วัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยและเคารพความแตกต่างหลากหลาย เมื่อไรก็ตามที่เราผนวกผูกกับความเป็นศาสนาบางอย่างเข้ากับสังคมที่เป็นกลาง จะทำให้คุณหรือทำให้รัฐเราผลักความเชื่อทางศาสนาออกไปด้วย นั่นเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่ง และทำให้สังคมนี้ไม่ได้อยู่บนความหลากหลายหรือสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างดี

สังคมวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยควรเปิดโอกาสให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต่างๆ การชุมนุมสาธารณะ การดีเบต และรวมถึงการที่ทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นได้จริง และยอมรับซึ่งกันและกัน

การสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย : ท้องถิ่น

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นได้นั้นมาจากท้องถิ่นเช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญบัญญัติถึงเรื่องความเป็นอิสระของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเคารพตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น, อิสระในการกำหนดนโยบายหรือบริหารงานที่เกี่ยวข้อง, อิสระในการบริหารงานบุคคล, อิสระในด้านการเงินการคลัง

และมีตัวอย่างมากมายที่พูดถึงความเป็นประชาธิปไตยในการปกครองท้องถิ่น อาจารย์ปรีดีพูดถึงเรื่องท้องถิ่นไว้อย่างน่าสนใจและก้าวหน้ามาก ท่านกล่าวไว้ว่า “เทศบาลเป็นการจำลองการปกครองของรัฐบาลกลางลงมาในส่วนย่อย และได้มุ่งหมายไว้ว่าเราจะยกตำบลทุกตำบลเป็นเทศบาลขึ้น มีการปกครองท้องถิ่น โดยวิธีนี้ ราษฎรในท้องถิ่นจะได้ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองของตัวเองได้อย่างเต็มกำลัง รวมทั้งจะเป็นการปลูกฝังในระบอบรัฐธรรมนูญให้มั่นคง และแผ่กระจายไปทั่วราชอาณาจักร”

อาจารย์ปรีดีในยุคนั้นพูดถึงเรื่อสหเทศบาล ถ้าในยุคปัจจุบันคือการร่วมมือระหว่างเทศบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ก้าวหน้ามากในยุโรป ที่พูดถึงเรื่องการทำให้เทศบาลแต่ละเทศบาลที่ยังไม่มีศักยภาพในการจัดการสาธารณะต่างๆ สามารถร่วมมือกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น ในฝรั่งเศสมีการทำเรื่องนี้เยอะมากพอสมควร

สิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้เคยพูดไว้นั้นยังคงเป็นจริง ณ ปัจจุบันว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ประชาชนตระหนักรู้ในสิทธิเสรีภาพของตัวเอง การเลือกผู้แทนเพื่อทำประโยชน์ให้กับท้องถิ่น จะส่งผลเป็นอย่างมากให้กับการเมืองระดับชาติ

การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ผ่านการต่อสู้มาอย่างยาวนาน  ความพยายามทบทวนถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมือง การปฏิรูปการปกครอง การปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมแก้ไข การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาในอดีตและปัจจุบันของไทยที่กำลังดำเนินอยู่นั้น ดูจะประสบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่สามารถสถาปนาคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยให้สามารถหยั่งรากลึกลงในสังคมได้ ด้วยความล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองที่ว่านั้น

การสร้าง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ตามแนวคิดของอาจารย์ปรีดี จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศทั้งในทางนิตินัยและพฤตินัย และคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องมุ่งสถาปนาความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน

รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐสภา รัฐบาล องค์กรตุลาการ องค์อิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม ให้มีความสอดคล้องเหมาะสม อีกทั้งมีระบบกฎหมายภายใต้หลัก “นิติรัฐ” เพื่อให้ทุกองคาพยพในสังคมการเมืองสามารถถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้โครงสร้างอำนาจรัฐได้สัดส่วนและได้ดุลยภาพเป็นเบื้องต้น

การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้นั้นจำต้องมีประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ สังคมไทยจะต้องวางรากฐานทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย มีระบบเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง มุ่งขจัดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การศึกษาที่มีคุณภาพ สาธารณูปโภคพื้นฐาน และอำนาจทางการเมืองในมิติอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เมื่อสังคมประกอบด้วยระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยนั้นแล้ว ย่อมส่งผลให้สังคมมีความเป็นชุมนุมที่เข้มแข็ง มีความตื่นตัวทางการเมือง มีจิตสาธารณะ ให้ความสำคัญแก่ผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

และสิ่งที่สำคัญที่สุด เพื่อการก่อร่างสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้นั้น ขึ้นอยู่ที่พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุดมคตินั้นให้เกิดขึ้นจริง นั่นคือ การสร้างทัศนะทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงในจิตใจของเราทุกคน การตระหนักรู้ ยึดมั่นถือมั่น และสมาทานอย่างซื่อตรงต่อความเป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

เราทุกคนล้วนเป็น
“คำตอบ” ที่เป็น “ความหวัง”
ที่ทำให้สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย

 

ที่มา: กิจกรรม PRIDI Talks #9 x CONLAB วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม 2564 เสวนาหัวข้อ “รัฐธรรมนูญ: เครื่องมือในการสร้างประชาธิปไตย ?”  โดย วรรณภา ติระสังขะ

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: บรรณาธิการ