ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายปรีดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก

27
มีนาคม
2564

หนังสือ บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2515 ในโอกาสที่นายปรีดี พนมยงค์ มีอายุครบ 6 รอบนักษัตร ความจริงนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้วิจารณ์ไว้แล้วในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับมิถุนายน ซึ่งจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกถึง 40 ปีแห่งกาล อันนายปรีดีเรียกว่า “อภิวัฒน์” แต่ข้าพเจ้าก็ใคร่แสดงความนึกคิดเกี่ยวกับหนังสือนี้บ้าง ซึ่งคงจะต่างทัศนะออกไป และข้าพเจ้าจะไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทความอื่นๆ ที่มิได้เขียนโดยนายปรีดีเอง 

 

ส. ศิวรักษ์ ภาพจาก ประชาไท
ส. ศิวรักษ์ ภาพจาก ประชาไท

 

ข้าพเจ้าเขียนบทความนี้ ณ วันที่ 9 มิถุนายน อันเป็นปีที่ 26 แห่งวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จึงขอน้อมถวายแรงงานในการนี้เป็นราชพลี เจตนารมณ์ของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ นายชาญวิทย์เข้าใจว่าเพื่อจะลบล้างความคิดที่ว่านายปรีดีไม่ชอบเจ้า นอกไปจากนี้แล้ว ก็ต้องการจะยืนยันงานชิ้นโบว์แดงอันสำคัญที่นายปรีดีทำได้สำเร็จอย่างงดงาม “ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2”

แม้นายปรีดีจะตัดทอน ไม่แปลบันทึกสังเขปเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “เพราะจะเป็นการสดุดีตนเองมากเกินไป” แต่ใครๆ ก็ย่อมต้องยอมรับความจริงว่าในระยะนี้นายปรีดีเป็นผู้ที่มีคุณแก่ประเทศชาติที่สามารถ “กู้ชาติ” ได้สำเร็จ บุญคุณข้อนี้ของนายปรีดีเป็นสิ่งที่เราไม่น่าจะลืม และเราควรตอบแทนบุญคุณอันนั้นด้วย

เราต้องอย่าทำตนเป็นชาติที่เนรคุณคน ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเช่นนี้อย่างจริงจังต่อนายปรีดี ดังที่ข้าพเจ้ามีต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และคนอื่นๆ ในขบวนการเสรีไทย ดังที่ข้าพเจ้ามีต่อชาวบ้านบางระจัน และนักกู้ชาติคนอื่นๆ มาแล้ว ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อตอนที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกสันติบาลเชิญตัวไปพบ ข้าพเจ้าจึงรู้สึกว่าผู้ที่สั่งให้สันติบาลทำการเช่นนั้นเป็นคนที่ไร้มารยาทอย่างที่สุด และยิ่งเมื่อมาอ่านคำปรารภของนายปรีดี ว่ามีกระซิบ คาดโทษ คุกคามเกี่ยวกับนายปรีดีเนืองๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งถึงกับเห็นเป็นการรังแกกันชัดๆ ทีเดียว

การที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปฏิเสธว่าตนมิได้สั่งในเรื่องการขู่เข็ญคุกคามนั้น ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง ผู้น้อยจะโอหังทำการไปได้อย่างไรถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้ท้าย หรือผู้ใหญ่สมัยนี้จะเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกไปเสียแล้วเป็นส่วนมาก และนี่หรือคือวิธีที่เราตอบแทนบุญคุณผู้ที่อุทิศชีวิตและจิตใจเพื่อชาติบ้านเมือง

สำหรับข้าพเจ้าก็ได้แต่หวังว่านายปรีดีคงจะได้กลับมาตายในมาตุภูมิ และคงไม่กลับมา “เล่น” การเมืองในประเทศของตนอีก ถ้านายปรีดีมีความหวังที่จะกลับมาจริงๆ แล้ว ก็น่าที่จะยอมให้กลับ อย่างน้อยก็ไม่ควรจองเวรกันต่อไป ถึงนายปรีดีจะเป็นคนทำผิดทำพลาดอะไรมาก็น่าจะต้องตราไว้ว่าเขาเคยมีบุญคุณอยู่กับประเทศชาติ โดยเฉพาะในตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 และผู้ที่เป็นใหญ่อยู่ในเวลานี้อาจต้องได้รับกรรมดังจอมพล ป. ได้รับมาแล้วที่ญี่ปุ่นและนายปรีดีรับอยู่ในเวลานี้ที่ปารีสก็ได้

การที่กีดกันนายปรีดีไว้ รังแต่จะสร้างให้คนรุ่นใหม่นิยมชมชอบบุคคลผู้นั้นโดยใช่ที่ ดังเช่นที่ไต้หวัน เด็กรุ่นใหม่นึกว่าเมาเซตุงคงมีอะไรดีเด่นเป็นพิเศษนั้นเอง เพราะเอะอะก็กระซิบสั่งห้ามพูดห้ามเขียนเกี่ยวกับบุคคลผู้นั้นเสียตะพืดตะพือไป ยิ่งพวกที่กลัวเกรงปัญญาบารมีนายปรีดีด้วยแล้ว เป็นไปได้หรือว่าจะดูถูกความคิดความอ่านของคนไทยไปถึงเพียงนั้น ชะรอยการที่ผู้มีอำนาจกีดกันไม่ให้นายปรีดีกลับ ตลอดจนกลเม็ดในการ “กระซิบ” คุกคามต่างๆ นั้น จะไม่ใช่เพราะความผิดของนายปรีดี หรือเพราะคนพวกนี้กลัวเกรงสติปัญญาอันแหลมคมของนายปรีดีดอกกระมัง

แต่เป็นเพราะเกมการเมืองยังเปิดทางให้นำเอานายปรีดีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้โดยกันตัวไว้ให้อยู่ห่างๆ ดังสมัยที่รู้ให้เกลียดเจ้ากันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเองด้วย แม้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็เคยทรงถูกหาว่าจะนำทัพกระเหรี่ยงเข้ามาตีเมืองไทย สมัยที่เสด็จประพาสพม่าจากปีนัง ทั้งๆ ที่เวลานั้นพระชนม์ก็กว่า 70 แล้ว

การที่นักการเมืองเอานายปรีดีเป็นเครื่องมือนั้นเห็นได้ชัด แม้ก่อนการปฏิวัติตัวเองครั้งนี้ก็มีเรื่องของนายปรีดีลงพิมพ์อยู่เนือง และแล้วพวกผู้มีอำนาจก็เลยถือโอกาสอ้างด้วยวิธีกระซิบ ว่าที่ต้องปฏิวัติก็เพราะสาเหตุหนึ่งคือมีคนคิดจะเอานายปรีดีกลับมาอีก มีการเพาะความนิยมให้นายปรีดีอีกเป็นการกระทบกระเทือนราชบัลลังก์ ฯลฯ แท้ที่จริงราชบัลลังก์นี้ก็มั่นคงถาวรยิ่งกว่าที่จะต้องตั้งอยู่บนบ่าหรือไหล่ของนายปรีดีหลายเท่านัก ข้าพเจ้าเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราควรจะเลิกรหัสนัยเกี่ยวกับนายปรีดีเสียที วิถีทางการเมืองต่อแต่นี้ไป ควรจะดำเนินแต้มคู่กันอย่างซื่อๆ อย่าใช้วิธีขู่ วิธีกระซิบ หรือคุกคามอีกเลย และถ้าผู้บริหารประเทศฉลาด อาจฟังคำปรึกษาบางประการจากนายปรีดีได้ด้วยซ้ำไป ในฐานะที่รู้จักทั้งจีนและญวนเหนือ ยังประสบการณ์อื่นๆ อีก

งานเขียนชิ้นนี้ ข้าพเจ้าใช้ภาษาแรงตามแบบข้าพเจ้า และมีการค่อนแคะกระแนะกระแหนท่านรัฐบุรุษอาวุโส ตามวิธีของข้าพเจ้าที่ไม่ชอบยกย่องวีรบุรุษชนิดที่ติโทษอะไรไมได้เลย แต่ถ้าอ่านกันอย่างยุติธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่าข้าพเจ้ารู้จักนายปรีดีมากขึ้น อย่างน้อยก็สิ้นกังวลไปแล้วในข้อที่ว่าท่านไม่เป็นคอมมิวนิสต์ แม้ น.ประภาสถิตย์ จะเขียนลงสยามรัฐหาทางว่าร้ายท่านมาโดยตลอดก็ตาม

นอกไปจากนี้แล้ว บทวิจารณ์ชิ้นนี้ของข้าพเจ้ายังเรียกร้องต้องการให้ท่านได้มีโอกาสกลับบ้านกลับเมือง แต่สำนวนโวหารอันสามหาวก้าวร้าวของข้าพเจ้า นับว่าน่าละอายยิ่ง ทั้งยังโยงไปสู่สมัยราชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์อย่างใช้อารมณ์ยิ่งกว่าเหตุผล

ผลก็คือ นี่คงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่นายปรีดีจะรับได้จากข้าพเจ้า โดยที่เส้นแรกเริ่มแต่บทวิจารณ์ The DeviI's Discus นั้นแล้วใน พ.ศ. 2507 หรือดีร้าย ท่านจะทนข้าพเจ้าไม่ได้แต่ก่อนอ่านบทวิจารณ์ชิ้นล่าสุดนี้ของข้าพเจ้าก็ได้

ดังจะเห็นได้ว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2515 นั้นเอง นายปรีดีได้ให้ตีพิมพ์ข้อเขียนของท่านอีกเรื่องหนึ่ง ให้ชื่อว่า บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎร และ ระบอบประชาธิปไตย นับเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่ถึง 55 หน้าดี แต่เขียนพาดพิงด่าว่าข้าพเจ้าร่วม 7 หน้ากระดาษ ซึ่งนับว่าเกิน 10% ของหนังสือทั้งเล่ม โดยท่านหาว่าข้าพเจ้าเป็น “ซากเดนศักดินา สวะสังคม หรือเศษโสมมซึ่งอวดดีและเห็นแก่ตัว” ทั้งหมดนี้เห็นทีที่ข้าพเจ้าจะปฏิเสธได้ยาก แต่เมื่อตอนอ่านได้บันดาลโทสะขึ้นอย่างแรง จึงโต้ตอบไปในนิตยสารอนาคตของสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพิ่งออกใหม่ โดยมีข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการ ข้าพเจ้าแสดงปฏิกิริยาเป็นบรรทัดๆ อย่างขาดสัมมาคารวะด้วยประการทั้งปวง ข้อเขียน 2 ชิ้นนี้ คือของนายปรีดีและของข้าพเจ้า ควรนับได้ว่าเป็นการปิดฉากระหว่างเราทั้งสอง ซึ่งคงไม่มีทางหันหน้าเข้าหากันได้

เวลานั้น นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ สอนอยู่เคมบริดจ์ ข้าพเจ้าออกไปเยี่ยมท่าน ท่านบอกว่าท่านเสียใจในข้อเขียน 2 ชิ้นนี้ ในกรณีนี้ท่านเห็นว่า “อาจารย์ปรีดีผิดมากกว่าคุณ ที่ไปโจมตีคุณขึ้นก่อน ทั้งนี้เพราะท่านโกรธคุณมาแต่คราวที่คุณเขียนวิจารณ์ The Devil's Discus นั้นแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ตอบหรือตอบน้อยอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน คุณจะได้แต้มมาก”

นอกจากนี้นายป๋วยยังได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเกี่ยวกับนายปรีดีอีกมาก ท่านว่า “สำหรับผม อาจารย์ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต แต่สำหรับคุณสุลักษณ์คุณจะเชื่ออย่างไรก็ได้ นั่นเป็นสิทธิ์ของคุณ แม้เราจะเห็นต่างกัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ ที่จริงคุณกับผมยังมีความเห็นต่างกันอีกมาก แต่เรามักไม่ได้จาระไนข้อแตกต่างของเราสู่กันเท่านั้น”

คำพูดเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องคิดหนัก เพราะคุณป๋วยเป็นสัตบุรุษทั้งพูดจาวาจาสัตย์มาตลอด ช่วงนั้นท่านถูกจอมพลถนอม กิตติขจร เขี่ยออกไป ต่อมาทั้งข้าพเจ้าและท่านก็ถูกเขี่ยออกไปอยู่ด้วยกันที่อังกฤษ ในช่วงสมัยธานินทร์ กรัยวิเชียร ท่านเล่าเรื่องนายปรีดีให้ข้าพเจ้าฟังอีกมากทั้งนัยลบนัยบวก แต่ไม่เคยชักชวนให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติของตนเองเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ทั้งท่านยังเคยชวนข้าพเจ้าไปหานายปรีดีที่ปารีสด้วย แต่ข้าพเจ้าเป็นคนเจ้าทิฐิ หายอมไปไม่ และลึกๆ ลงไปก็กลัวนายปรีดีไล่ออกจากบ้านด้วย

แม้จะมีคนเคยบอกมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าถ้าไปหาท่าน ท่านจะดีด้วยอย่างแน่นอน จากจุดเริ่มต้นทำนองนี้ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าย้อนถามตัวเองว่าเราก็รู้จักคนที่สนิทกับนายปรีดีเป็นหลายคน ทำไมเราจึงไม่สืบถามทัศนคติของบุคคลนั้นๆ เกี่ยวกับนายปรีดี อย่างกรณีสวรรคต เราก็ควรถามคนที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดโดยตรงจึงจะควร มาด่วนเชื่อหนังสือ เช่น รัตน์ ดวงแก้ว (วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย) และ สรรใจ แสงวิเชียร หาควรไม่ เพราะนี่แกเด็กรุ่นใหม่กว่าเราซึ่งมีอคติไม่แพ้เรา โดยที่สุพจน์ ด่านตระกูล ก็นำข้อเท็จที่ต่างออกไปมาตีแผ่สู่กันแล้วด้วย

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเริ่มทำการบ้าน นำเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับสารคดีสวรรคตมาอ่านใหม่ รวมทั้งเอกสารที่ข้าพเจ้าไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน เช่น ถ้อยคำของพระยาศรยุทธเสนี ตลอดจนมีหลักฐานใหม่เกิดขึ้นที่นายตี๋ ศรีสุวรรณไปบวชแล้วกลัวบาป สารภาพผิดออกมารวมอยู่ด้วย ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้ายังซัก ม.ล.ปุ๋ย ชัยนาม และนางเอดวิน สแตนตัน ภรรยาเอกอัครราชทูตอเมริกันที่แรกเข้ามาถึงพระราชอาณาจักรในช่วงกรณีสวรรคตนั้นด้วย โดยที่นางสแตนตันได้แนะนำแพทย์อเมริกันที่ชันสูตรพระบรมศพให้ข้าพเจ้ารู้จักอีกด้วย

แกเองยืนยันกับข้าพเจ้าว่าจำเลยทั้ง 3 นั้นบริสุทธิ์ การตายของเขาเป็นการเสียสละชีวิตเพื่อความอยู่รอดของราชบัลลังก์ อันนับเป็นชาติพลีอย่างสูง แกว่าประชาชนในอนาคตจะซาบซึ้งในบุญคุณของเขา นางสแตนตันกับท่านผู้หญิงพูนศุขมีอะไรที่ขัดใจกันอยู่ แต่แกก็ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ยิ่งนัก ส่วนคุณหญิงปุ๋ยเล่าถึงงานพระบรมศพแต่แรก และการที่เจ้านายเปลี่ยนทีท่าจากความเป็นกันเองมาเป็นความเย็นชา ฯลฯ นับว่าน่าสนใจยิ่ง

ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้ายังสืบเสาะจนได้ข้อเท็จจริงจากเจ้านายบางองค์อีกด้วย ว่าเมื่อวันเสด็จสวรรคตนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรเสด็จไปที่สายนัดดาคลีนิค ภายหลังจากการถวายบังคมพระบรมศพ โปรดให้แพทย์ถวายยาฉีดบำรุงพระกำลัง พลางทรงบ่นว่า “เตือนแล้ว อย่าให้เล่นปืนกันทั้ง 2 องค์ พอเล่นกันเข้า มันก็ต้องพลาดพลั้งอย่างนี้แหละ” หมอคนนั้นทูลเจ้าองค์นี้ โดยที่ทรงเล่าให้ข้าพเจ้าฟังอีกต่อหนึ่ง แม้นี่จะไม่ใช่ประจักษ์พยาน แต่ก็ช่วยคลี่คลายให้ข้าพเจ้าหายข้อกังขาในเรื่องการลอบปลงพระชนม์โดยสิ้นเชิง ทำให้เห็นว่าการวิจารณ์เรื่อง The Devil’s Discus ของข้าพเจ้านั้นผิดพลาดโดยแท้

นอกไปจากนี้แล้ว ทัศนคติของข้าพเจ้าในเรื่องราชาธิปไตยและประชาธิปไตย ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมา จาก 14 ตุลาคม 2516 จน 6 ตุลาคม 2519 ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าราชาธิปไตยไร้ธรรม ก็ไม่ผิดไปจากโจราธิปโตย ประชาธิปไตยก็เช่นกัน ต้องมีธรรมะเป็นรากฐาน ราษฎรจะเป็นใหญ่ได้ก็ต้องประกอบไปด้วยความชอบธรรมนี้ฉันใด พระราชาก็ฉันนั้น

ข้าพเจ้าเริ่มมีเครื่องหมายปรัศนีย์เกี่ยวกับความชอบธรรมของชนชั้นปกครองที่สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไปทุกที จึงเห็นว่ากรณีสวรรคตนี้ ระบบการเสแสร้งและกลั่นแกล้งคงจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ทหาร สันติบาล และพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ดีร้ายจะขึ้นไปสูงส่งกว่านั้นเอาเลยทีเดียว โดยที่พฤติกรรมต่อๆ มา ส่อว่าทัศนะของข้าพเจ้าถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นทุกที

ทางด้านปารีสนั้น แม้นายปรีดีจะไม่เคยมีการติดต่ออะไรกับข้าพเจ้าโดยตรง แต่ก็มีคนมาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ลูกท่านบางคนได้ต่อว่าท่านว่าการที่ท่านเขียนโจมตีข้าพเจ้านั้น ท่านเป็นฝ่ายผิด เพราะแม้ข้าพเจ้าจะเห็นต่างจากท่าน และปรักปรำท่าน ข้าพเจ้าก็มีสิทธิ์ อย่างน้อยข้าพเจ้าเป็นคนรักความยุติธรรม การตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้รักความยุติธรรมนั้นไม่ถูกต้อง แม้จะเห็นต่างกัน ก็น่าจะเป็นแนวร่วมกันได้ หาไม่ ท่านจะไม่มีแนวร่วมเลย นอกจากบริษัทบริวารและผู้ที่เห็นพ้องต้องด้วย เพราะฝ่ายราชาธิปไตย (ดังที่ท่านเรียกว่าผู้ที่ตั้งตัวเป็นพระราชายิ่งกว่าพระราชา) ก็เกลียดท่าน ฝ่ายเผด็จการทหารก็ไม่ต้องการท่าน ฝ่าย พ.ค.ท. ก็หาทางลบล้างเกียรติคุณของท่าน

ได้ทราบมาว่าท่านยอมรับคำเตือนดังว่านี้ แสดงว่าท่านมีขันติธรรมและมีความชอบธรรมอยู่ในใจ ผิดไปจากผู้ใหญ่เป็นจำนวนมากที่ในประเทศนี้ โดยเฉพาะก็ผู้ที่ข้าพเจ้ามีความจงรักภักดีเป็นอย่างสูง ซึ่งรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ไม่ได้เลย และข้าพเจ้าไม่พร้อมที่จะเคารพนับถือใคร ถ้าเขาคนนั้นไม่รับฟังคำคัดค้าน ตักเตือน หรือโจมตีใดๆ ไม่ว่าเขาจะสูงส่งเพียงใดก็ตาม

ต่อแต่นั้นมา แม้นายปรีดีจะไม่เคยติดต่อกับข้าพเจ้า ท่านผู้หญิงพูนศุขก็มักส่งข้อเขียนของท่าน และเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ได้อ่านอยู่เนืองๆ บางครั้งท่านส่งมาให้ถึงข้าพเจ้าเป็นคนแรกเสียด้วยซ้ำ เราเป็นเด็ก จะไปให้ผู้ใหญ่ลดตนลงมาหาเรายิ่งกว่านี้จะได้ละหรือ และมาถึงช่วงนี้ ทัศนคติของข้าพเจ้าเปลี่ยนไปมากแล้ว รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ มามากแล้ว แม้จะช้าแต่ก็ไม่ขืนหลับหูหลับตาอยู่ต่อไปอีก

ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจว่า ทำไมนายปรีดีจึงต้องเขียนป้องกันตัวเอง ทำไมท่านต้องฟ้องเรื่องคดีหมิ่นประมาทอยู่เรื่อยๆ ข้าพเจ้าเริ่มเห็นถึงความฉ้อฉลที่ปลุกปั่นมหาชนให้มองท่านไปในแนวลบ ถ้าข้าพเจ้าเองไม่เผชิญมากับตัวเอง ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ที่หนังสือถูกเผาเป็นเรือนแสน ที่ภรรยาเกือบถูกเอาเข้าคุกตะราง และชื่อเสียงเกียรติคุณต้องมัวหมอง ข้าพเจ้าจะเข้าใจนายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขได้หรือไม่ สงสัยอยู่ โดยที่ข้าพเจ้าและครอบครัวได้รับชะตากรรมมาจากรัฐและหน่วยงานของรัฐ ไม่ถึงหนึ่งในร้อยที่ท่านทั้งสองและลูกๆ เผชิญมา

ในขณะที่ข้าพเจ้าก็หาเคยทำบุญคุณอันใดให้กับบ้านเมืองเป็นเศษหนึ่งส่วนพันอันท่านได้เคยกระทำมาแล้วนั้น เช่นกันในช่วงเผด็จการ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ข้าพเจ้าต้องระหกระเหินไปอยู่อังกฤษ อเมริกา และคานาดา เมื่อกลับเข้ามาใน พ.ศ. 2521 ก็ยังไม่มีงานทำ เคราะห์ดีได้ทุนมาศึกษาจากสภาวิจัยทางสังคมศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นคว้าในระดับที่พ้นปริญญาเอกออกไป (postdoctorate) ในเรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังได้จัดพิมพ์เรื่องให้พระยาอนุมาน อันเห็นลายพระหัตถ์ที่ทรงโต้ตอบกับท่านผู้นั้น ขึ้นไว้ในปลายศกนั้น สำหรับคำนำหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า

มีเรื่องเพิ่มเติมที่จะแจ้งให้ทราบอีกข้อหนึ่งคือ เมื่อสมเด็จฯ เสด็จกลับเข้ามาจากเกาะหมากนั้น ท่านพระยาอนุมานราชธนมักหาโอกาสไปเฝ้าที่วังวรดิศเสมอ จนถึงกับมีคนไปรายงานอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งควบคุมตำรวจลับ (สันติบาล) อย่างกวดขัน และลือกันว่าดุร้ายเหี้ยมโหดนักด้วย เผอิญอธิบดีเป็นนักเรียนอัสสัมชัญรุ่นไล่ๆ กับท่าน และรู้จักท่านดี จึงบอกว่า “พระยาอนุมานแกไม่สนใจการเมืองดอก แกสนใจแต่วิชาความรู้ อย่าไปติดตามแกเลย” เรื่องก็เป็นอันพับไป (เสียดายที่เวลานี้เราไม่มีคนอย่างนี้เสียแล้ว และจดหมายที่ส่งไปถวายยังเกาะหมากถูกแอบเปิดออกอ่านบ้างหรือไม่ก็ไม่ทราบได้)

ทั้งเวลานั้น ท่านอธิบดีผู้นี้ เริ่มหันมาสนับสนุนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนสำคัญฝ่ายพลเรือน ที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างออกไปจากนายกรัฐมนตรีในเวลานั้นยิ่งขึ้นทุกทีด้วยแล้ว ทัศนคติของท่านอธิบดีที่เกี่ยวกับเจ้านายจึงคลายความตึงเครียดลง (หลังจากที่จับกรมชุนชัยนาทนเรนทรมาแล้ว) ท่านผู้สำเร็จราชการนั้นเอง ก็มีความเคารพนับถือสมเด็จฯ ถึงกับมาเฝ้าที่วังวรดิศ (โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยมาเลย เมื่อสิ้นพระชนม์ ก็ได้ทราบว่าเพราะหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ไปกระตุ้นเข้าว่า ถ้าไม่ไปเคารพพระศพ จะน่าเกลียด จึงได้ไปที่วัง)

ต่อมาภายหลังท่านผู้นี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีส่วนอย่างสำคัญ ในการตั้งหอสมุดดำรงราชานุภาพขึ้น ซึ่งท่านพระยาอนุมานราชธนได้เป็นตัวตั้งตัวตีที่อยู่เบื้องหลังอย่างไม่ต้องสงสัย ข้อความดังกล่าว เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่าข้าพเจ้าเขียนถึงนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยความเคารพ (แม้จะไม่เอ่ยนาม) แต่ก็เขียนขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าสอบสวนค้นคว้ามาจนแน่ใจแล้ว

ความจริงแล้ว จำเดิมแต่ต้น พ.ศ. 2521 มาแล้วที่ข้าพเจ้าเริ่มอ่านเอกสารต่างๆ ของนายปรีดี และที่เกี่ยวกับท่านผู้นี้มากขึ้น โดยเฉพาะก็คำฟ้องที่เนื่องด้วยกรณีสวรรคต ข้าพเจ้าต้องยอมรับว่าข้อเขียนของท่านบางชิ้นอ่านเข้าใจยากมาก แต่บางชิ้นก็อ่านได้เนื้อหาสาระควบคู่ไปกับความเพลิดเพลิน แม้หลายต่อหลายชิ้นข้าพเจ้าจะไม่เห็นพ้องต้องด้วยที่สุดจนพฤติกรรมของท่านบางอย่างบางประการที่บริษัทบริวารเอามายกย่องสรรเสริญ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห่อเหิมตามไปด้วย หากมาถึงช่วงนี้อคติที่มีเกี่ยวกับนายปรีดีได้ปลาสนาการไปยิ่งขึ้นทุกที

เมื่อทิฐิและข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปถึงเพียงนี้แล้ว จึงไม่ยากที่เมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือเรื่อง คำตัดสินใหม่เกี่ยวกับคดีสวรรคต ที่ตีพิมพ์สำหรับงานฉลองอายุ 80 ปีบริบูรณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ใน พ.ศ. 2523 โดยที่ผู้นำมามอบให้แจ้งว่าท่านผู้หญิงขอให้ ให้ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ให้ทันวันที่ 11พฤษภาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ทั้งๆ ที่วันนั้นข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศจีน ถึงบ้านเอาเย็น แต่ก็ได้อ่านหนังสือนั้นจนจบ ซึ่งเป็นเวลาวันใหม่ล่วงแล้วไปหลายชั่วโมง โดยที่ข้าพเจ้าได้อ่านคำคัดค้านและคำฟ้องคดีอื่นๆ มาแล้ว เช่น กรณีคึกฤทธิ์ ปราโมช  รอง ศยามานนท์  ประยูร ภมรมนตรี และ ชาลี เอี่ยมกระสินธิ์ เป็นต้น

คำพิพากษาคดีสวรรคตที่สยามรัฐ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2494 และต่อมาพิมพ์แจกในงานวันเกิด ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี ชี้ทางให้ข้าพเจ้าไปสู่ความมืดบอดฉันใด คำตัดสินใหม่นี้ชี้ทางสว่างให้แก่ข้าพเจ้าฉันนั้น

วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้านั่งนึกตรึกตรองอยู่แทบทั้งวัน ว่าจะขอขมาโทษนายปรีดีอย่างไรดี ตนจึงจะพ้นผิดและบาปอกุศล อันตนได้เคยประกอบมาทั้งทางในกรรม วจีกรรม และกายกรรม ผลก็คือได้เริ่มร่างจดหมายแล้วส่งไปในวันที่ 13 พฤษภาคม 2523 นั้นเอง ดังนี้

 

กราบเรียน ท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ที่เคารพอย่างสูง

คุณสุภา ศิริมานนท์ได้กรุณานำหนังสือ คำตัดสินใหม่คดีสวรรคต ร.8 มาให้กระผม 1 เล่ม พร้อมด้วยนามบัตรของท่าน แจ้งว่าท่านผู้หญิงสั่งให้ส่งถึงมือกระผมให้ทันวันที่ 11 พฤษภาคม เผอิญกระผมไปประเทศจีน เพิ่งกลับมาถึงวันนั้นพอดี ได้เห็นนามบัตรทราบว่าวันดังกล่าวตรงกับวันเกิดของท่านครบ 80 ปีบริบูรณ์ ก็เลยได้ถือโอกาสตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยได้โปรดบันดาลให้ท่านอายุมั่นขวัญยืน มีสติปัญญากล้าแข็ง เพื่อเปิดเผยสัจจะออกมาให้ปรากฏ เพื่อสันติสุขของชาวไทยและชาวโลกสิบต่อไปชั่วกาลนาน

พร้อมกันนี้กระผมก็ขอกราบขอบคุณท่าน และท่านผู้หญิงที่มีเมตตากรุณาส่งหนังสือมาให้ โดยที่กระผมได้เคยรับความอารีเช่นนี้มาก่อนบ้างแล้ว ทั้งทางหนังสือเล่มและทางคำพูดที่คุณสุภากรุณาสืบต่อมาให้ นับเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ในวันที่ 11 นั้นเอง แม้จะเหนื่อยล้าจากการเดินทางเพียงใด กระผมก็นั่งอยู่จนดึกโดยอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจนจบ ทั้งๆ ที่เคยอ่านฉบับร่างคำฟ้องมาก่อนหน้านั้นแล้ว และได้นึกนิยมชมชอบมาแต่ตอนครั้งแรกนั้นแล้วว่า ท่านเป็นผู้ที่ต่อสู้ความอาสัตย์ด้วยความสัตย์อย่างน่าสรรเสริญ เมื่อมาอ่านอีกครั้ง ยิ่งเกิดความปิติเลื่อมใสในสติปัญญา ความสามารถความละเอียดถี่ถ้วนของท่าน ทั้งด้านการสืบสวน ค้นคว้าหาหลักฐาน วิจัยและวิเคราะห์อย่างยากที่จะหาตัวจับได้ แม้จะชราอายุถึงเพียงนี้แล้วก็ยังมีความคิดเป็นเลิศอยู่ สมแล้วกับตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส และถ้ารัฐบาลไทยยุคใดสมัยใดแลเห็นคุณงามความสามารถของท่านได้เช่นนี้ ก็คงจะหาโอกาส “ปรึกษากิจราชการแผ่นดิน”   กับท่าน “เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป”

กระผมต้องขอสารภาพกับท่านอย่างหน้าชื่นว่า ตัวเองได้เคยล่วงเกินท่านทั้งโดยมโนกรรมและวจีกรรม ทั้งนี้เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้กระผมจะไม่เชื่อว่าท่านมีความเลวร้ายในเรื่องกรณีสวรรคต แต่ก็ต้องขอยอมรับว่าได้เคยเชื่อข่าวลืออันเป็นอกุศลเกี่ยวกับตัวท่านมาแต่ก่อน และได้ให้ความเชื่อมั่นในสถาบันศาลของไทยมากเกินพอดีไป ดังได้เขียนวิจารณ์เรื่อง The Devil's Discus ไปในทำนองนั้น

หารู้ไม่ว่านั่นได้เป็นปฐมเหตุให้ท่านต้องเจ็บช้ำน้ำใจ ได้ทราบว่าคุณดิเรก ชัยนาม ก็โทมนัสขัดแค้นมาก ควรที่กระผมจะสืบทราบข้อเท็จจริงจากท่านผู้นั้น ก็กลับเหลวเสีย แต่ภายหลังต่อมากระผมได้พยายามแสวงหาความจริงในเรื่องนี้อยู่มาก ทั้งจากปากคำและจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ทำให้สว่างมากขึ้น ยิ่งกรณีนายตี๋ ศรีสุวรรณ ด้วยแล้ว กระผมคลางแคลงมานานแล้ว ต่อมาได้อ่านคำสารภาพของแกก็ยิ่งปราศจากกังขาใดๆ อีกเลย ยิ่งมาได้อ่านถ้อยคำของท่านในเรื่องอินทภาสและข้อโต้แย้งตอบพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์กับพวกคณะศาลฎีกาชุดนั้นแล้ว กระผมยิ่งเห็นได้ชัดเลยว่าศาลไทยนั้นทิ้งหลักการความยุติธรรมได้อย่างน่าอนาถใจมาแต่สมัยนั้นแล้ว ยังการให้ข่าวลือทำลายคนนั้น กระผมเองยิ่งเห็นชัดขึ้นเมื่อคราวคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์นี่เอง แม้ตัวเองก็ได้ลิ้มรสทำนองนั้นด้วยเช่นกัน

กระผมจึงขออโหสิจากท่าน ที่ได้จ้วงจาบหยาบช้าต่อท่านมาแต่ก่อน ไม่จำเพาะแต่เรื่องที่เอ่ยถึงนั้นเท่านั้น หากยังในข้อเขียนอื่นๆ อีกด้วย หวังว่าท่านคงกรุณาให้อภัย และหากเป็นไปได้กระผมอยากขออนุญาตมากราบเท้าแสดงความเคารพถึงปารีสเมื่อเป็นโอกาสอันควร

กระผมหวังว่าท่านคงมีเวลาเขียนเรื่องเนื่องด้วยข้อเท็จจริงทำนองนี้ออกมาให้ปรากฏเรื่อยๆ ซึ่งไม่แต่พิสูจน์ความบริสุทธิ์และความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ท่านได้รับใช้ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาเท่านั้น หากยังเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อันไม่อาจหาได้จากใครอื่นอีกด้วย ด้วยเหตุฉะนี้ กระผมจึงมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะมีสติปัญญา พลานามัย สุขกาย สุขใจ สืบต่อไปอีกนานเท่านาน

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

ข้าพเจ้าได้ส่งสำเนาให้นายป๋วย อึ๊งภากรณ์  นายสุภา ศิริมานนท์  นายกรุณา กุศลาสัย และบางคนที่เป็นตัวเชื่อมให้ข้าพเจ้าเข้าใจนายปรีดี ข้าพเจ้าถือว่าท่านเหล่านี้มีบุญคุณ เพราะท่านไม่เคยยัดเยียดให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติและไม่เคยลบหลู่ดูถูกความคิดความอ่านของข้าพเจ้า บางท่านเพียงพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนมีสติปัญญา แต่บางทีบางอย่างอาจบดบังอยู่ก็ได้ ดังที่เขาเรียกกันว่าเส้นผมบังภูเขา เมื่อเขี่ยผมเสียแล้วย่อมเห็นภูเขาได้เอง

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ ที่แม้จะมีหมู่มารเอาเส้นผมและขวากหนามมาปิดกั้น ก็หาทำได้ตลอดไปไม่ ข้าพเจ้าเองถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสนองคุณท่าน ด้วยการประกาศสัจจะให้แพร่หลายออกไปให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้างให้จงได้

ภายในเวลาอันไม่ช้า ท่านก็ได้ตอบจดหมายข้าพเจ้ามาดังนี้
 

 

๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๓

เรียน คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่นับถือ

จดหมายของคุณลงวันที่ ๑๓ พ.ค. ๒๕๒๓ ได้ทำให้ผมมีความปลาบปลื้มเป็นอันมาก ที่คุณได้อวยพรในวันคล้ายวันเกิดของผมอายุครบรอบ ๘๐ ปี ประกอบด้วยความวิจารณญาณของคุณ ที่เห็นความบริสุทธิ์ของผม ที่ได้รับใช้ชาติ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะสูงสุดของปวงชนชาวไทยทั้งมวล และความบริสุทธิ์ของผมกับความบริสุทธิ์ของบุคคลที่ถูกประหารชีวิตในกรณีสวรรคต ร.๘

ตามที่คุณขออโหสิกรรมจากผมในการเขียนในการพูดซึ่งคุณได้ปฏิบัติเกี่ยวกับผมที่แล้วๆ มานั้น ผมมิเพียงยินดีอโหสิกรรมแก่คุณเท่านั้น หากขอสรรเสริญคุณอีกด้วยในการที่คุณมีคุณธรรมสูง คือเมื่อพลั้งพลาดไปด้วยความเข้าใจผิดแล้วทราบความจริงภายหลัง คุณก็มีความกล้าหาญแก้ความเข้าใจผิดนั้น อันเป็นลักษณะของบุคคลก้าวหน้าซึ่งรับใช้ชาติและราษฎรเพื่อความเป็นเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ สันติภาพ ความเป็นกลาง และความสุขสมบูรณ์พร้อมด้วยประชาธิปไตยของราษฎร ผมจึงขออวยพรให้คุณประสบความสุขความเจริญทั้งทางกายและทางใจ และประสบความสำเร็จทั้งหลายในการรับใช้ชาติและราษฎรดังที่ผมกล่าวนั้น

ผมรู้สึกตนว่ามีความผิดพลาดที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ในที่นี้ด้วย

อนึ่ง ผมมีความยินดีที่จะมีโอกาสสนทนากับคุณตามความปรารถนา

ด้วยความนับถือ
ปรีดี พนมยงค์

นับว่าท่านให้เกียรติ ให้ความเมตตาปรานี และมีน้ำใจ เป็นสุภาพบุรุษพุทธบริษัทโดยแท้ หลังจากนั้น ท่านก็คงส่งเอกสารให้ หาหนังสือใหม่ให้อ่านอยู่เสมอมา แต่เราก็หาเคยพบกันไม่ จนเมื่อข้าพเจ้าไปยุโรปเมื่อปลาย พ.ศ. 2524 เจอเพื่อนนักเรียนอังกฤษรุ่นหลังที่กรุงบรัสเซล โดยที่เขาเป็นคนสนิทชิดชอบอยู่กับนายปรีดีและท่านผู้หญิง เขาแนะให้ข้าพเจ้าพูดโทรศัพท์กับท่านที่ปารีสตอนผ่านท่าอากาศยานแห่งนั้น เพราะไม่มีเวลาจะเข้าไปหาท่านได้ ข้าพเจ้าเชื่อเขา จึงโทรศัพท์เข้าไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ได้พูดกับทั้งท่านผู้หญิงและตัวท่านเอง ให้รู้สึกดีใจและชื่นใจ เราคุยกันอยู่นานโดยท่านบอกให้ระมัดระวังตัวอย่าประมาท โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับทหารและการใช้อำนาจลึกลับ ทั้งท่านขอให้ดูแลสุขภาพส่วนตัวด้วย

 

 

ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าท่านบ่นเสียดาย ที่ไม่ได้พบข้าพเจ้าและว่าพูดโทรศัพท์กันน้อยไป แถมยังชมว่าเสียงข้าพเจ้าแสดงว่าเป็นคนมีอำนาจ เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสพบท่านภายหลังในอีกประมาณปีหนึ่งต่อมา ท่านคงเปลี่ยนทัศนคตินี้ไปแล้วดอกกระมัง เพราะพอท่านเห็นสารรูปและการแต่งตัวของข้าพเจ้าเข้าแล้ว คงตัดสินได้ว่า ไม่มีทางที่ข้าพเจ้าจะเป็นคนที่มีอำนาจได้อย่างไรเลย

 

ที่มา: ส. ศิวรักษ์. “นายปรีดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก” ใน “เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์”,พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2540), หน้า 75-90

หมายเหตุ: ตั้งชื่อเรื่อง ตัดตอน จัดรูปแบบประโยค โดย บรรณาธิการ