ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

‘ประมวลรัษฎากร’ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

7
เมษายน
2565

ตั้งแต่เริ่มระบอบประชาธิปไตยมา แม้ในสภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการร่ำร้องให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีอากร และรัฐบาลได้ลดหย่อนลงจนถึงที่อยู่แล้วก็ตาม ภาษีอากรทั้งหมดที่เก็บอยู่นั้น เมื่อพิจารณาโดยทั่วๆ ไปแล้ว ยังเห็นว่า ยังไม่เป็นธรรมแก่ราษฎรอยู่ ราษฎรเป็นแต่เพียงรู้สึกหายใจคล่องและพ้นจากการผูกมัดรัดแน่น

ในด้านรัฐบาล รายได้จากการภาษีอากรทั้งหมด ก็ไม่พอแก่การที่จะบำรุงสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศชาติ และในส่วนรวม ภาษีอากรเหล่านั้น ไม่เป็นคุณต่อการผลิตและการจำแนกทรัพย์ในระหว่างชั้นของราษฎร และยังมีภาษีอากรที่คนจนหรือคนมั่งมีต้องเสียเท่ากันอยู่ เช่น รัชชูปการ เป็นอาทิ

การริเริ่มและดำเนินการของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวมาแล้วหรือต่อไป จะเห็นได้ว่า ได้เดินไปตามแนวของ ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่แต่เดิมแทบทั้งสิ้น และได้ปรับให้เหมาะสมแก่สภาพการณ์

‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า จะปรับปรุงภาษีให้เป็นธรรมแก่สังคม หมายความว่า ให้การเสียภาษีอากรของราษฎรเป็นไปโดยเสมอภาค ตามส่วนความสามารถที่จะเสียได้ ราษฎรคนใดได้ประโยชน์จากบ้านเมืองมากก็ต้องเสียภาษีอากรมากกว่าราษฎรผู้ที่ได้ประโยชน์จากบ้านเมืองน้อยกว่า แต่สำหรับ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นั้น นอกจากจะดำเนินการเพื่อความเป็นธรรมแก่สังคมแล้ว ยังต้องการที่จะใช้ภาษีอากรนี้ เพื่อเกิดรายได้แก่รัฐโดยราษฎรไม่เดือดร้อน และเป็นรายได้ที่มากพอที่จะบำรุงราษฎรให้ได้รับความสุขสมบูรณ์ และยิ่งกว่านั้น ก็คือใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือให้เกิดระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คือให้เกิดความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ไม่ลืมว่า “สมุดปกขาว” ได้เคยวิจารณ์อย่างหั่นแหลก ในเรื่องการที่ได้แสดงความคิดเห็นว่า ในการหาทุนเพื่อบำรุงประเทศนั้น จะใช้ภาษีทางอ้อมและได้ถูกวิจารณ์ว่า “การเก็บภาษีทางอ้อมนี้เกือบจะถึงขีดสุดอยู่แล้ว ถ้าทำต่อไปก็เกิดความเดือดร้อนเท่านั้น การที่คิดจะหาเงินโดยการเก็บภาษีทางอ้อมนี้ไม่ควรหวังมากนัก หาไม่แผ่นดินจะร้อนทุกเส้นหญ้า”

ดีเหมือนกันที่มีคำวิจารณ์เช่นนั้น จะได้รู้กันเสียทีว่า ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ พูดเช่นนั้น เขียนเช่นนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะทำได้ไหม หรือดีแต่พูด จะได้รู้กันเสียที ยิ่งกว่านั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังได้ระมัดระวังถึงการที่ราษฎรจะเกิดความเข้าใจผิดขึ้นได้ ในเรื่องการที่จะทำงานปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม

เพราะอย่างไรเสีย “นายทุน” ในเมืองไทยซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าเป็นใครหรือศัตรูทางการเมือง ที่คอยโอกาสที่จะล้มคณะปฏิวัตินี้อยู่ จะยึดโอกาสโจมตีและก่อความเข้าใจผิดในหมู่ราษฎรทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้หวังได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริง แต่การดำเนินงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้เป็นไปเป็นขั้นๆ เริ่มแรกที่ได้อาศัยความร่วมมือและความคิดเห็นจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องภาษีอากรต่างๆ ว่าควรจะเป็นไปอย่างไร

สิ่งใดที่สามารถเปิดเผยได้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้แจ้งให้ราษฎรทราบเป็นระยะๆ เพื่อความเข้าใจดีและเข้าใจถูกของราษฎร โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง และเพื่อกันการถือโอกาสหลีกเลี่ยงไม่ชำระภาษีที่ค้าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ตักเตือนให้ราษฎรปฏิบัติตามหน้าที่ของตน

การปรับปรุงภาษีอากร ครั้งนี้ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ยึดหลัก โดยคำนึงถึงความสามารถ (ability to pay) ในการเสียภาษีของราษฎรตามส่วนซึ่งราษฎรจะเสียได้ หลักในเรื่องความแน่นอน หลักความสะดวกทั้งผู้เก็บและผู้เสีย หลักประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งคำนึงถึงความรู้สึกทางการเมืองประชาชนทุกๆ ชั้น ตลอดการเสียสละอันสมควรให้แก่ชาติบ้านเมือง หลักการภาษีแบบนี้เป็นหลักผสมจากหลายตำหรับตำรา[1] แต่เป็นหลักภาษีอากรใหม่ที่เหมาะสมแก่สภาพการณ์ของประเทศไทย ทั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแท้จริง

ดูเหมือนว่า ถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ศึกษาเรื่องการคลังและการเศรษฐกิจมาโดยเฉพาะ ไม่ได้ไตร่ตรองใคร่ครวญพิจารณาพฤติการณ์ต่างๆ ที่เป็นมา ไม่คาดคะเนพฤติการณ์ที่จะเป็นต่อไป และในที่สุด ไม่มีน้ำใจหรือเลือดแห่งการปฏิวัติอยู่แล้ว เป็นการยากที่จะทำได้ แม้แต่กล้าทำ แต่แน่ที่สุดก็คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จะไม่ทดลองกระทำ โดยใช้ชาติบ้านเมืองเป็นเครื่องมือเป็นอันขาด

เมื่อเริ่มการปรับปรุง ก็ต้องพิจารณายกเลิกภาษีอากรที่เก็บอยู่แล้วถึง 5 ประเภท คือ

  1. ภาษีรัชชูปการ ....... คิดเป็นเงิน ....... 6,800,000 บาท
  2. อากรค่านา ............ คิดเป็นเงิน ....... 5,400,000 บาท
  3. อากรสวน .............. คิดเป็นเงิน .......... 320,000 บาท
  4. ภาษีไร่อ้อย ........... คิดเป็นเงิน ............ 18,500 บาท
  5. ภาษีไร่ยาสูบ ......... คิดเป็นเงิน ............. 60,000 บาท

รวมเป็นเงินที่จะต้องยกเลิก 12,598,500 บาท ซึ่งเป็นจำนวนมหึมาทีเดียว และในที่สุด ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ตกลงใจยกเลิกภาษีอากรที่กล่าวทั้งหมดนี้เสีย เพราะมันไม่เป็นธรรมแก่ราษฎร เมื่อเงินขาดถึงเพียงนั้นก็ต้องคิดหาจากทางที่เป็นธรรมเข้าชดใช้ จึงหันเข้าปรับปรุงภาษีอากรประเภทที่เก็บอยู่แล้ว แต่ไม่ยกเลิก เพียงแต่ปรับปรุงให้เป็นธรรม และให้ได้รายได้มากขึ้นเท่าที่จะมากได้ ทั้งราษฎรไม่เดือดร้อน คือ

1. ภาษีเงินได้ ปรับปรุงใหม่ให้เป็นธรรม ผู้ซึ่งเสียภาษีมีราว 2 หมื่นคนในราษฎร 14 ล้านคน ซึ่งแต่ก่อนผู้ที่ต้องเสียเงินรัชชูปการมีจำนวนราว 3 ล้านคน ภายหลังการปรับปรุงแล้วจะได้เงินเพิ่มขึ้นราว 280,000 บาท

2. ภาษีโรงค้า เรียกใหม่ว่าภาษีร้านค้า ปรับใหม่ให้เป็นธรรม ผู้ต้องเสียมีราว 1 หมื่นคนในราษฎร 14 ล้านคนจะได้เพิ่มจากเดิมราว 380,000 บาท

3. ภาษีธนาคาร ฯลฯ ได้ปรับปรุงวิธีการ มิได้คำนวณในทางที่จะได้เพิ่ม มีบุคคลที่จะต้องเสียภาษีเพียง 14 บุคคลในราษฎร 14 ล้านคน

4. อากรแสตมป์ ปรับใหม่ให้เป็นธรรม ราษฎรเสียทั่วไปตามที่ใครทำตราสารมากก็เสียมากใครทำน้อยก็เสียน้อย ใครไม่ทำก็ไม่ต้องเสีย จะได้เงินเพิ่มราว 1,850,000 บาท

เพียงยกเงินภาษีอากรเก่าและปรับปรุงภาษีอากรเก่า รายได้ของประเทศยังขาดอยู่อีกเป็นจำนวนมากมาย โดยอาศัยหลักการใหญ่ คือ ความเป็นธรรม ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงตกลงใจให้มีการเก็บภาษีอากรประเภทใหม่ขึ้น คือ

1. อากรมหรสพ ราษฎรต้องเสียตามอัตราค่าเข้าดูการมหรสพ ใครไม่ดูไม่ต้องเสีย และผู้ที่ต้องเสียก็ไม่เป็นภาระหนักเกินไป คือพอที่จะเสียได้ ทั้งนี้ได้คำนึงถึงความสุขความสำราญที่ราษฎรควรจะได้รับจากการดูมหรสพนั้นๆ ด้วย กะว่าอากรมหรสพนี้จะได้เงินราวปีละ 200,000 บาท

2. เงินช่วยบำรุงท้องที่ (Local Improvement Contribution) ราษฎรเจ้าของที่ดินเสียตามอัตราที่เป็นธรรม ตามชั้นของที่ดิน ซึ่งถูกกว่าอากรค่านาราวกึ่งหนึ่ง และเงินที่เก็บนี้ รัฐบาลไม่นำรวมกับรายได้ประเภทอื่นของรัฐ แต่ใช้บำรุงท้องที่ที่ราษฎรผู้เสียมีภูมิลำเนาอยู่ให้เจริญขึ้นโดยเฉพาะ นอกจากการบำรุงซึ่งรัฐบาลได้จ่ายเงินส่วนกลางไปให้ การช่วยบำรุงท้องที่โดยการเสียเงินประเภทนี้เป็นผลโดยตรงแก่ราษฎรผู้เสีย

3. เงินช่วยบำรุงการประถมศึกษา ซึ่งขอร้องให้ราษฎรชายที่บรรลุนิติภาวะแล้วช่วยออกเงินบำรุงการศึกษาประชาบาล เพื่อให้บุตรหลานของราษฎรได้รับการศึกษามากขึ้น ในเวลานั้นเด็กที่ยังไม่ได้เข้าเรียนมีราว 700,000 คน ดร.ปรีดี พนมยงค์ ขอร้องให้ช่วยบำรุงเพียงคนละ 50 สตางค์ต่อปีเท่านั้น แต่สภาผู้แทนราษฎรอันเป็นตัวแทนของราษฎร ได้อนุญาตและเพิ่มให้เป็นคนละ 1 บาทต่อปี ทั้งๆ ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังระแวงอยู่ว่า อย่างนี้มันก็ไม่ต่างอะไรกับภาษีหัว จึงชี้แจงว่า ถ้าสภาฯ ไม่เห็นชอบกับภาษีนี้ ก็ขอให้ตัดออกแต่แล้วสภากลับเพิ่มให้เสียอีก

นี่คือ ลักษณะต่างๆ ของภาษีอากรใหม่ ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรวมเข้าเป็นประมวล เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร” (Revenue Code)

อย่างไรก็ตาม ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงไว้ว่า “ประมวลรัษฎากรนี้ ถ้าจะให้สมบูรณ์ก็มีมากมายก่ายกอง จะทำให้เสร็จในเวลาอันรวดเร็วนั้นหาได้ไม่ แม้แต่ประมวลกฎหมายก็ต้องใช้เวลาหลายปี ฉะนั้น การทำประมวลรัษฎากรนี้ ก็ต้องดำเนินไปทีละขั้นๆ และในขั้นต้นนี้ได้เสนอเฉพาะบางลักษณะที่เป็นการรีบด่วนเท่านั้น”

สภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลรัษฎากร เริ่มแต่วันที่ 1 เมษายน 2482 เป็นต้นไป “วันที่ 1 เมษายน ตั้งต้นปีใหม่” ไม่มีการเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เงาของการเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าได้สิ้นสุดหมดไป เพราะระบบภาษีอากรใหม่ อันเป็นธรรมแก่สังคมได้เกิดขึ้น ใครมีมากเสียมากใครมีน้อยเสียน้อย ใครใช้มากเสียมาก ใครใช้น้อยเสียน้อย ตามส่วนแห่งความสามารถที่จะเสียได้ และเสียสละเล็กน้อยเพื่อท้องที่ของตน และการศึกษาของบุตรหลานของตน นอกจากนั้นเพื่อบำรุงความมั่นคงของประเทศ บำรุงความเป็นเอกราชของชาติ สิทธิเสมอภาค บำรุงการทำนา การทำสวน ทำไร่ การค้า การคมนาคม การรักษาพยาบาล การปราบปรามโจรผู้ร้าย การยุติธรรม ฯลฯ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร

‘ดร.ปรีดี พมนยงค์’ ยังได้ชี้แจงแถลงต่อราษฎร ถึงเรื่องประมวลรัษฎากรนี้อีก เพื่อความเข้าใจอันดี เพราะเมื่อเริ่มใช้ประมวลรัษฎากร “นายทุน” ผู้ซึ่งเอาเปรียบราษฎรตลอดมาหาพอใจไม่ เพราะตามประมวลรัษฎากรนี้ นายทุนต้องเสียมากกว่าที่เคยเสีย นายทุนที่รู้จักได้ รู้จักเสียสละก็ไม่สู้กระไร แต่นายทุนที่นั่งกินนอนกิน สืบมฤดกตกทอดกันมาโดยไม่ต้องเสียเหงื่อสักหยด เริ่มโหมกระพือข่าวอกุศลหนักขึ้น การชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจจึงยิ่งเป็นการจำเป็นกว่าที่ควร และเป็นการชี้แจงอย่างถี่ถ้วน ถึงกับต้องทำพิมพ์คำชี้แจงออกเป็นเล่มสมุดใหญ่ เพื่อให้ราษฎรเห็นชัดว่าภาษีอากรที่เลิกไปมีอย่างไร ที่เรียกเก็บใหม่มีอย่างไร เป็นธรรมเพียงไร ฯลฯ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วก็คือ ได้เน้นว่า

“...ภาษีอากรที่รัฐบาลเรียกเก็บ รวมทั้งเงินช่วยบำรุงท้องที่และช่วยการประถมศึกษาที่รัฐบาลเรียกร้องขอให้เสียสละในประมวลรัษฎากรนี้ รัฐบาลได้กระทำไปด้วยความประสงค์ที่จะบำรุงประเทศ ซึ่งทั้งรัฐบาลและราษฎรย่อมมีส่วนร่วมกันเป็นเจ้าของ และย่อมมีส่วนได้ส่วนเสียในโชคชะตาของชาติอยู่เท่ากัน บ้านเมืองจะเจริญต่อไปได้ก็ด้วยมีเงินรายได้ซึ่งเฉลี่ยเก็บจากราษฎร ตามส่วนแห่งความสามารถหยิบจ่ายใช้สอยให้เพียงพอแห่งความต้องการแห่งความเจริญ ให้เพียงพอแก่การบำรุงท้องที่และบำรุงการศึกษา ซึ่งผลแห่งการบำรุงทั้งนี้จะกลับสะท้อนมาสู่ผู้ที่ช่วยกันบำรุง

….ฉะนั้นรัฐบาลจึงขอให้ประชาชนถือว่า เงินที่ต้องเสียไปตามประมวลรัษฎากรนี้ เป็นเงินที่เสียสละออกให้เพื่อการบำรุงประเทศตามส่วนที่เป็นธรรม และที่สามารถจะเสียได้”

‘ดร.ปรีดี พนมยงค์’ ไม่ลืมที่จะบรรจุข้อความอันเป็นที่ซาบซึ้งของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไว้ว่า

“การเสียสละส่วนน้อยของบุคคล เพื่อประโยชน์ของส่วนใหญ่นั้น แม้ในคัมภีร์ธรรมบทก็ได้มีกล่าวแนะนำไว้ ว่า มตฺตาสุขปริจฺจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ จเช มตฺตาสุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ ซึ่งแปลความว่า ถ้าพึงเห็นความสุขอันกว้างขวาง เพราะยอมเสียสละความสุขส่วนน้อย ผู้มีปัญญาเล็งเห็นความสุขอันกว้างขวาง ก็ควรเสียสละความสุขส่วนน้อยเสีย”

ต่อข่าวลืออันเป็นอกุศล นอกจากจะได้ขอร้องให้ราษฎรอ่านคำชี้แจงของรัฐบาลโดยละเอียดและรอบคอบแล้ว ยังได้ขอร้องอีกว่า “ขออย่าได้เชื่อข่าวเล่าลือเหลวไหล เพราะการเชื่อนี้เป็นการประมาทหมิ่นเหม่อย่างยิ่ง และความประมาทนั้นเอง อาจทำให้ประเทศถึงกับดับสูญได้ และพึงระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า ปมาโท มจฺจุโน ปทํ - ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย รัฐบาลได้ตระหนักแน่ว่า คงไม่มีราษฎรคนใดที่มีเจตน์จำนงจะให้ประเทศสยามถึงซึ่งความดับสูญเป็นแน่และทุกคนคงจะพร้อมใจกันสนับสนุนความตั้งใจดีของรัฐบาล”

นี่คืองานส่วนหนึ่งของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ประมวลรัษฎากรเป็นระบบภาษีอันหนึ่ง เป็นภาษีทางตรง (direct tax) และเป็นระบบภาษีที่ก้าวหน้า (system of progressive taxation) ในตัวเอง และถ้าพิจารณารวมกับภาษีมฤดก 2476[2] ซึ่งคณะปฏิวัติได้เริ่มใช้เป็นเริ่มแรกภายหลังวันปฏิวัติ จะเห็นได้ชัดว่าระบบภาษีของประเทศไทยยุคนี้ เป็นระบบภาษีที่ก้าวหน้า พิจารณาในด้านประชาธิปไตย ระบบภาษียุคนี้ สอดคล้องกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ก่อนจบข้อความตอนนี้ ขอนำสักวาบทหนึ่งมาเพื่ออ่านหรือเพื่อร้องเล่นตามศรัทธา แต่ไม่ใช่สักวา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วเข้าหานางพิมพิราไลยดอก แต่เป็น …

สักวาภาษีที่ปรับใหม่

สักวาภาษีที่ปรับใหม่
ประชาไทยได้ลดหมดหลายสิ่ง
ทั้งรัชชู ฯ นา, สวน, ล้วนเลิกจริง
ภาษีไร่, ไม่ประวิงตัดทิ้งเลย

เหตุฉะนั้นชวนกันมาช่วยชาติ
สละเงินหนึ่งบาทอย่าเพิกเฉย
ช่วยศึกษาบุตรธิดาหายงมเงย
หัดให้เคยในวิชาไว้หากิน

เลิกค่านาหันมาช่วยท้องที่
อัตรามีตามส่วนควรท้องถิ่น
ท่านคิดตามอัตราค่าที่ดิน
แม้จะสิ้นก็ราวกึ่งครึ่งค่านา

เงินที่ช่วยใช่ว่าพล่าไปอื่น
แท้ก็คืนกลับให้ได้สุขา
สร้างทางฝายพนังทั้งนำมา
โรงรักษาคนไข้ได้สะบาย

ก่อนจบสักรวา ฯ กาละนี้
ขอกุศลราศีท่านทั้งหลาย
จงนำตนผ่านพ้นภยันตราย
ให้สุขกายสุขจิตต์เป็นนิจเอย ฯ

โดย “คลัง”

 

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์. ประมวลรัษฎากร, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ สอง (กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2526), น. 488-498

 

[1] ดูหลักการภาษีของอดัม สมิธ ของฮิวย์ แดลตัน จากตำราของ ม.ธ.ก. หรือต้นฉบับเดิม

[2] ภาษีนี้ได้ถูกยกเลิกเสียแล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยขาดเครื่องมือสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคมอันนี้