ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การรัฐประหารครั้งแรก 2476 : ละเมิดรัฐธรรมนูญและปิดสภา

1
เมษายน
2566

วิถีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าในประเทศใดๆ สภาเป็นผู้ควบคุมรัฐบาล อีกนัยหนึ่งก็คือฝ่ายนิติบัญญัติควบคุมฝ่ายบริหาร เพื่อให้ฝ่ายบริหารดำเนินกิจการของชาติไปตามความประสงค์ของราษฎร อันได้แสดงออกทางผู้แทนของตนในสภา

การต่อสู้ทางการเมืองในการที่สภาควบคุมรัฐบาลเช่นนี้เป็นการต่อสู้ทางระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริง เป็นการต่อสู้โดยอาศัยเหตุผล และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นหลักสำคัญ ในกรณีย์ที่มีการขัดแย้งกันระหว่างสภากับฝ่ายบริหารนั้น และถ้าไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ก็จะมีทางออกอยู่สองทางคือ ทางหนึ่งถ้ารัฐบาลเห็นว่าตนไม่สามารถที่จะบริหารไปตามวิถีทางที่สภาต้องการแล้วรัฐบาลก็ลาออก หรือถ้ารัฐบาลไม่ลาออกเอง สภาก็จะมีมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าถ้าจะทำตามวิถีทางที่สภาต้องการให้ทำแล้วจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ในกรณีเช่นนี้ก็จะมีการยุบสภาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นใหม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าสมาชิกของสภาที่ถูกยุบไปได้รับเลือกตั้งเข้ามาสู่สภาอีกมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดแล้ว ก็ต้องถือว่าการกระทำของสภาที่แล้วมาเป็นการถูกต้อง และในกรณีเช่นนี้รัฐบาลที่มีมารยาท และยึดมั่นอยู่ในหลักประชาธิปไตยก็ต้องลาออก

คณะราษฎรผู้ทำการปฏิวัติยึดมั่นอยู่ในวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตยเช่นที่กล่าวมาแล้ว และไม่มีความสงสัยใดๆ ต่อเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะไม่เป็นไปตามวิถีทางที่ว่านี้

การขัดแย้งในที่ประชุมของคณะราษฎรผู้ก่อการหรือในคณะรัฐมนตรีในเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจนั้น ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะให้ทุกๆ คนมีความคิดเห็นเหมือนกันหมดในเรื่องนั้นหรือในเรื่องใดๆ ย่อมจะมีได้ยาก แต่เมื่อความเห็นส่วนมากสนับสนุนเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปแล้ว ก็ต้องดำเนินการต่อไป สภาและราษฎรเท่านั้นจะเป็นผู้ชี้ขาดว่า ประเทศไทยควรจะดำเนินการเศรษฐกิจตามโครงการณ์นี้หรือไม่

พระยามโนฯ กับพวกและพระยาทรงฯ กับพวกซึ่งบัดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วนั้นรู้ดีว่า ถ้าเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เข้าไปสู่สภาหรือโฆษณาแก่ประชาชนเมื่อใด ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบโดยแน่นอน ซึ่งหมายความประการหนึ่งก็คือความพ่ายแพ้ของคณะขุนนางเก่าผู้อาวุโส ต่อคณะราษฎรผู้ปฏิวัติอันเป็นคนหนุ่มซึ่งพระยามโนฯ ไม่ชอบหน้าเป็นอันมาก

อีกประการหนึ่งการขัดแย้งระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่ายนี้ ไม่ใช่เป็นการขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับสภา ซึ่งจะเป็นเหตุอ้างให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยฉะเพาะอย่างยิ่งก็คือรัฐบาลหรือพระยามโนฯ จะทำการอย่างใดๆ ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญเช่นยุบสภาหรือรัฐบาลลาออกได้ แต่นี่เรื่องยังไม่ถึงสภาและการขัดแย้งนี้เป็นเรื่องระหว่างบุคคลสองฝ่าย คือคณะราษฎรผู้ทำการปฏิวัติและต้องการปฏิรูปการเศรษฐกิจและสังคมเพื่อราษฎรฝ่ายหนึ่ง กับคณะขุนนางเก่าผู้ยึดมั่นอยู่ในจารีตโบราณ ซึ่งถ้าไม่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องมีเจตนาอย่างอื่นโดยแน่นอน

การกระทำของพระยามโนฯ พระยาทรงฯ กับพวก ที่แล้วมาในการที่สั่งให้ทหารเข้าคุมสภาหรือห้ามข้าราชการเข้าสมาคมนั้น คณะราษฎรเข้าใจว่าภายหลังที่ได้รับการสั่งสอนและตำหนิจากสภาอย่างสาแก่ใจแล้ว พระยามโนฯ และพวกคงจะได้สังวรณ์และดำเนินการใดๆ ต่อไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครจะนึกว่าพระยามโนฯ กับพวกจะทวนคำปฏิญาณที่ตนได้ให้ไว้แล้ว และการที่พระยามโนฯ พระยาทรงฯ กับพวก อพยพเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวันเมื่อวันที่ 30 เดือนนี้นั้นคงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ความลึกในหัวใจของพระยามโนฯ และพวกลึกยิ่งกว่าความคาดคะเนของคณะราษฎร ไกลกว่าความคาดคะเนของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ แล้วการกระทำของพระยามโนฯ กับพวกก็ดำเนินการต่อไป

ในค่ำวันที่ 31 มีนาคมแต่ย่างเข้าวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนฯ ก็ฉลองวันขึ้นปีใหม่ด้วยการนำพระปกเกล้าฯ ไปสู่ความมัวหมองในประวัติศาสตร์แห่งระบอบประชาธิปไตย คือ ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา อันเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เจตนาที่แสดงออกตามพระราชกฤษฎีกานี้หาได้แสดงถึงพฤติการณ์อันเป็นจริงต่อราษฎรไม่ กล่าวคือได้มีการแสดงว่า

“สภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ คงประกอบด้วยสมาชิกชั่วคราวจนกว่าจะถึงเวลาสมควรที่จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการสมควร ที่สภาจะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ อันเป็นรากเง่าแห่งความเป็นอยู่ของประเทศมาแต่โบราณกาล ณ บัดนี้ปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมาก แสดงความปรารถนาอันแรงกล้า เพื่อที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น โดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อมที่จะบังคับให้สภาต้องดำเนินการไปตามความปรารถนาของตนเป็นการไม่สมควร เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่าสามารถนำมาซึ่งความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า เป็นเวลาฉุกเฉินแล้ว สมควรต้องจัดการป้องกันความหายนะ อันจะมาสู่ประเทศและอาณาประชาราษฎรทั่วไป”

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาฉะบับนี้ขึ้น มีข้อความดั่งต่อไปนี้

1. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสีย และมิให้เรียกประชุม จนกว่าจะมีสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ เมื่อได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว

2. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้เสีย และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ กอปร์ด้วยนายกรัฐมนตรีหนึ่งนาย และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 20 นาย และให้นายกรัฐมนตรีซึ่งยุบนี้ เป็นนายกรัฐมนตรีคณะใหม่ กับให้รัฐมนตรีผู้ซงว่าการกระทรวงต่างๆ อยู่เวลานี้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีใหม่โดยตำแหน่ง ส่วนรัฐมนตรีอื่นๆ จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีต่อไป

3. ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ให้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาฉะบับนี้ เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้ไว้แก่คณะรัฐมนตรี

4. ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี

5. ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้ต่อไป

ประกาศมา ณ วันที่ 1 เมษายน 2476
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
พล ร.ท. พระยาราชวังสัง
พระยาจ่าแสนยบดี
พระยาศรีวิสารวาจา
พ.อ. พระยาทรงสุรเดช
พ.อ. พระยาฤทธิอัคเณย์
พ.ท. พระประศาสน์พิทยยุทธ
นายประยูร ภมรมนตรี
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม
น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย

พร้อมกันนั้นก็ได้มีประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดเก่ารวมอยู่ด้วย คือ ม.ล. เดชสนิทวงศ์  ดร.ตั้ว ลพานุกรม นายแนบ พหลโยธิน และคนที่พระยามโนฯ ต้องการกำจัดโดยฉะเพาะ คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์

นี่หรือวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ อะไรคือเหตุฉุกเฉินที่อ้างมา นี่หรือคือเหตุที่อ้าง และทำไมต้องปิดสภา ปิดสภาแล้วไม่พอ ยังให้งดใช้รัฐธรรมนูญ และที่แสดงส่วนลึกล้ำของหัวใจอันไม่สุจริตก็คือ เหตุใดจึงตั้งพระยามโนฯ เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีก

นี่เป็นการพ่ายแพ้ ไม่ใช่ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ผู้เดียว แต่เป็นการพ่ายแพ้ของคณะราษฎร เป็นสัญญาณที่บอกว่าทุกคนจงเตรียมตัวรับผลสนองการกระทำของตน อันเกิดขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่งนั้นเถิด

เหตุใดบุคคลเหล่านี้บางคน ซึ่งไม่น่าจะลงนามรับสนองในพระราชกฤษฎีกานั้น ได้ลงนาม ทั้งนี้ก็เพราะบุคคลเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพฤติการณ์อันพระยามโนฯ กับพวกได้สร้างขึ้น และรู้สึกหวั่นไหวไปตามพฤติการณ์อันนั้น. และหลายคนได้ถูกพระยามโนฯ กับพวกเกลี้ยกล่อมเสียจนเชื่อง ถึงกับลืมคำสาบาลที่มีอยู่ระหว่างเพื่อนร่วมตายด้วยกัน ลืมว่าการปฏิวัติครั้งนี้ต้องมีการปฏิรูปการเศรษฐกิจและการสังคม ลืมคำของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ย้ำอยู่เสมอๆ ว่า การที่ปฏิวัติก็เพราะต้องการปฏิรูปการเศรษฐกิจและการสังคม ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ปฏิวัติ แต่บัดนี้เหตุการณ์ได้ผันแปรไปเพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึงขวบปีเพราะเหตุอะไรอื่นอีกหรือ?

พระยาพหลฯ ได้ให้เหตุผลในการลงนามร่วมว่า “ในเวลาฉุกเฉินเช่นนี้ ผมจำต้องรับฟังความเห็นของฝ่ายข้างมาก เมื่อเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐฯ ได้ลือไปเข้าหูคนภายนอกฐานะการเงินของเราอยู่ข้างจะระส่ำระสาย มีผู้ถอนเงินจากแบงก์เป็นจำนวนมากจนน่าวิตก ความหวาดหวั่นได้แผ่สร้านไปเกินกว่าเหตุและความเป็นจริง ข้อความเหล่านี้ท่านผู้ใหญ่ได้บอกผม ผมไม่ได้สืบทราบมาเอง และทั้งไม่มีโอกาศจะสอบสวนด้วย แต่ในเวลาฉุกเฉินเช่นนี้ ผมจำเป็นต้องระลึกถึงความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศเป็นสำคัญ ผมจำต้องตัดความรักใคร่ในหลวงประดิษฐฯ และหน้าที่ซึ่งผมมีต่อประเทศไปเป็นคนละส่วน และเข้าร่วมชื่อรับสนองพระบรมราชโองการด้วย ซึ่งผมทราบอยู่เหมือนกันว่า การที่ได้ออกพระราชกฤษฎีกาออกไปเช่นนั้น เป็นการกระทบกระเทือนต่อประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่หวังว่าเป็นไปในยามภาวะฉุกเฉินชั่วคราว”

แม้เจ้าคุณผู้เฒ่าของเรายังหวั่นไหวและรู้สึกไปเช่นนี้ ทำไมกับคนอื่นๆ จะไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของเจตนาลวงอันพระยามโนฯ ได้แสดงออก อะไรที่เป็นการฉุกเฉินดูเหมือนจะไม่ได้คิดกันเลย ถ้าจะมีการคิดกันในระหว่างเพื่อนผู้ซึ่งยังซื่อตรงต่อคำสาบานอยู่ก็จะพบว่า การฉุกเฉินนั้นเป็นคำที่พระยามโนฯ อ้างขึ้น อาศัยเหตุการณ์ที่พระยามโนฯ กับพวกได้ก่อขึ้นนั้นเอง ถ้าพระยามโนฯ กับพวกมีเจตนาสุจจริตจริงแล้ว เหตุใดถึงไม่ทำตามคำตกลงซึ่งพระยามโนฯ และพระยาทรงฯ ได้มีไว้ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 12 เดือนก่อนที่ตกลงให้ ดร.ปรีดี โฆษณาเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของตนต่อประชาชนในนามของตนเอง ซึ่งถ้าราษฎรไม่เห็นชอบด้วยแล้ว ดร.ปรีดี พนมยงค์ ก็ย่อมจะพ่ายแพ้ต่อมติมหาชนไปเอง

ชัยชนะเปนของพระยามโนฯ แล้ว แต่พระยามโนฯ ยังไม่หยุดยั้งที่จะตีซ้ำลงไปที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เพราะถ้า ดร.ปรีดี พนมยงค์ อันเป็นมันสมองของคณะราษฎรยังคงอยู่ตราบใด คณะราษฎรผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังจะมีความคิดสู้กับพระยามโนฯ และพวกอยู่ต่อไปตราบนั้น ฉะนั้นพระยามโนฯ จึงได้ออกแถลงการณ์ฉะบับหนึ่งในเวลาติดๆ กันนั้น นอกจากประณาม ดร.ปรีดี พนมยงค์แล้ว ยังได้ให้เหตุผลแก้เก้อการที่ตนกับพวกได้สร้างความเศร้าหมองให้แก่รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย คำแถลงนั้นใช้เหตุผลเช่นเดียวกับที่พระยามโนฯ ได้อ้างไว้เป็นพระราชปรารภในกฤษฎีกาที่กล่าวแล้วคือ

“รัฐบาลขอแถลงให้ประชาชนทราบ เพื่อเป็นที่เข้าใจทั่วกันในเหตุผลสำคัญยิ่งซึ่งบังเกิดขึ้น กระทำให้เป็นความจำเป็นที่ต้องปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”

ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกเป็นสองพวก มีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาจะวางนโยบายเศรษฐกิจไปทางอันมีลักษณะเป็นคอมมูนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่า นโยบายเช่นนั้น เป็นการตรงข้ามกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้แน่นอน โดยทีเดียวว่า นโยบายเช่นนั้นจะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ

ในคณะรัฐมนตรีซึ่งมีรัฐมนตรีถึง 20 คน จะให้มีความเห็นเหมือนกันไปทุกสิ่งทุกอย่างเสมอไปนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะมีรัฐบาลเป็นรูปใด

สมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎร ในเวลานั้นเล่าก็ประกอบด้วยสมาชิกที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะมีสภาใหม่ โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งแต่งตั้งขึ้นชั่วคราวเช่นนี้หาควรที่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่อันเป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าที่มีอยู่ไม่ แต่เป็นที่เห็นได้โดยชัดแจ้งว่า สมาชิกเป็นจำนวนมาก มีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนน้อย ในคณะรัฐมนตรี

ความแตกต่างกันในสภา ซึ่งมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ในทางบริหารดั่งนี้เป็นที่น่าอันตรายอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศ โดยกระทำให้ราชการชักช้า เกิดความแตกแยกกันในคณะรัฐบาล ก่อให้เกิดความหวาดเสียวและความไม่แน่นอนใจแก่ประชาชนทั่วไป

ฐานะแห่งความเป็นอยู่เช่นนี้ จะปล่อยให้คงต่อไปไม่ได้แล้ว ความปลอดภัยของประชาชนเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ว่าประเทศบ้านเมืองใด ด้วยคติเช่นนั้นเท่านั้น ที่บังคับให้รัฐบาลต้องปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

รัฐบาลขอย้ำความข้อหนึ่งว่า “พระราชกฤษฎีกานี้ ให้รอการใช้รัฐธรรมนูญแต่บางมาตราและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น”

คำแถลงของพระยามโนฯ และรัฐบาลพระยามโนฯ นี้ได้ปิดบังข้อเท็จจริงหลายประการไว้ ประการหนึ่ง ก็คือไม่มีการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาในเรื่องเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจนี้เลย ไม่มีการประชุมของสภาในเรื่องนี้ เรื่องร่างเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของ ดร.ปรีดี ยังคงอยู่ในคณะรัฐมนตรี ไม่ได้ไปสู่สภาเลย ประการที่สองก็คือ พระยามโนฯ ลืมคำปฏิญาณ แต่คงไม่ลืมว่า การดำเนินการเศรษฐกิจและสังคมของชาติใหม่นี้ เป็นการดำเนินการของคณะราษฎร ซึ่งปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองให้ราษฎรเข้ามีส่วนในการปกครอง เพราะรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชไม่สามารถในการที่จะช่วยให้ประชาราษฎรพ้นจากเศรษฐภัยและมีความสุขความสมบูรณ์ขึ้นได้

ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใดที่พระยามโนฯ กล่าวอ้างในคำแถลงนั้นว่า สมาชิกสภาเป็นจำนวนมาก มีความปรารถนาจะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรี อันมีจำนวนน้อยในคณะรัฐมนตรี ข้อนี้เป็นการแน่ยิ่งกว่าแน่ เพราะบุคคลเหล่านั้นมีความประสงค์ร่วมกัน มีจิตต์จำนงอันเดียวกัน และรัฐมนตรีที่สมาชิกส่วนมากในสภานับถือ ก็เพราะรัฐมนตรีนั้นมีคุณสมบัติในประการต่างๆ นอกอายุดีกว่าพระยามโนฯ แต่การกระทำของพระยามโนฯ กับพวกนี้ มิได้มีเจตนาดั่งที่แสดงออกมาอย่างแท้จริง ลึกลงไปในหัวใจยังมีอีก เหตุการณ์ที่จะกล่าวในบทต่อไป เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อพิศูจน์การกระทำของพระยามโนฯ และพวกให้เห็นอย่างถ่องแท้

อย่างไรก็ตาม พระยามโนฯ ยังยืนยันความรู้สึกของท่านที่มีต่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ว่า “ผมเชื่อว่าผู้ก่อการด้วยกันมายังแน่นแฟ้นกันอยู่ หลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นคนสำคัญมาก ได้เป็นกำลังสำคัญในทางความคิดที่จะดำเนินการเมืองมาตั้งแต่เริ่มแรกลงมือ ผมรักใคร่หลวงประดิษฐฯ มาก ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างใด”

นอกจากนั้น พระยาพหลฯ ยังยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต่อผู้แทนหนังสือพิมพ์ประชาชาติว่า “ถ้ามีการพูดถึงกันปันที่ดินและชิงทรัพย์แล้ว ก็นับว่าไม่ใช่ความคิดของหลวงประดิษฐฯ มันไปไกลมากทีเดียว” มันไปไกลมากทีเดียว มันไปไกล เพราะพระยามโนฯ กับพวกเป็นต้นเหตุกระพือข่าวให้ร้ายแก่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ไปทั่วโลก มันไปไกลเพราะคนที่รักชาติคนหนึ่ง ต้องหาว่าเป็นคอมมูนิสต์

ประชาธิปไตยรุ่นนี้มีอายุเพียง 281 วันเท่านั้น มันได้จากคณะราษฎร และจากราษฎรทั้งหลายไปเหมือนกับที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้จากประเทศสยามไปนั้นเอง

ที่มา : ไสว สุทธิพิทักษ์, ละเมิดรัฐธรรมนูญ - ปิดสภา, ใน, ดร.ปรีดี พนมยงค์ กับการปฏิวัติ, (ม.ป.พ.: สิริธรรมนคร, 2493), หน้า 257 – 270.

หมายเหตุ : 

  • คงอักขรวิธีสะกดตามเอกสารชั้นต้น
  • ตั้งชื่อบทความใหม่โดยกองบรรณาธิการ