ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความจน ชาวนา แรงงาน: ภาพสะท้อนของการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยรัฐ

14
พฤศจิกายน
2566

Focus

  • การรวมตัวและต่อสู้เรียกร้องของแรงงานไทยในอดีตที่ผ่านมา ทำให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสวัสดิการ โดยมีกฎหมายรองรับ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม
  • ขบวนการชาวนามีอุปสรรคในการรวมตัวมากกว่าแรงงาน เช่น เค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์ เสนอหลังอภิวัฒน์ 2475 และสนับสนุนสหกรณ์ไม่ได้รับการรับรอง ในคราวการเกิดแนวร่วม 3 ประสาน (กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา) ในช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 ขบวนการชาวนารวมตัวดีขึ้น แต่ก็ถูกกวาดล้างในข้อหาคอมมิวนิสต์
  • รัฐไทยมีปัญหาการแก้ไขปัญหาความยากจน รวมถึงความเหลื่อมล้ำ เพราะรัฐตั้งบทบาทไว้ในฐานะผู้สงเคราะห์ประชาชนมากกว่าจะแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ รัฐสวัสดิการไม่สามารถตั้งมั่นในประเทศไทยได้ เพราะการที่รัฐไทยให้ความช่วยเหลือประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องหน้าที่ในการสงเคราะห์ มากกว่าเป็นสิทธิของพลเมือง

 

เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ เกี่ยวกับแรงงาน รัฐสวัสดิการ และเศรษฐกิจหลัง 2475 บทสัมภาษณ์นี้ อาจารย์แล ได้ฉายภาพให้เห็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยคือ ความเหลื่อมล้ำผ่านการต่อสู้ของแรงงาน ชาวนา และบทบาทของรัฐ ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจประกอบกับผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังการนำเสนอบทความของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธร ปิติดล ในบทความชื่อ “แนวคิดและอุดมการณ์กับพัฒนาการระบบสวัสดิการไทย” ผู้เขียนใคร่ขอนำมุมมองจากทั้งสองเรื่องมาชวนผู้อ่านคิดตามไปเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

เริ่มต้นจากบทสัมภาษณ์ของ อาจารย์แล  ที่ฉายภาพให้เห็นปัญหาเศรษฐกิจไทย 3 เรื่องสำคัญภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสยามปี พ.ศ. 2475 คือ (1) การต่อสู้ของแรงงานไทยเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความคุ้มครองสิทธิแรงงาน (2) เสียงของขบวนการชาวนาไทยที่ถูกทำให้หยุดนิ่งและหลงลืม และ (3) บทบาทของรัฐไทยกับการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยผู้เขียนขอนำประเด็นที่ได้จากการสัมภาษณ์อาจารย์แล มาสรุปไว้ตรงนี้

เรื่องแรก การต่อสู้ของแรงงานไทยเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความคุ้มครองสิทธิแรงงาน ในบทสัมภาษณ์ของ อาจารย์แล ได้เล่าถึงขบวนการแรงงานไทยมีการต่อสู้และเรียกร้องของแรงงานไทย ที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญก็คือ การเปลี่ยนสังคมไทยที่อดีตไม่มีการคุ้มครองแรงงานใดๆ มาสู่กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งช่วยสร้างมาตรฐานให้แก่สิทธิของแรงงานให้ได้รับความคุ้มครอง และกฎหมายประกันสังคมที่ช่วยจัดสวัสดิการให้กับแรงงานไทย

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มาจากการต่อสู้ของขบวนการแรงที่มีมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ อาจารย์แลได้ชี้ให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันบทบาทของขบวนการแรงงานไทยอยู่ในช่วงที่เผชิญกับความท้าทายจากรูปแบบความสัมพันธ์แรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของความสัมพันธ์แรงงานรูปแบบใหม่ที่เข้าไปทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ ขบวนการแรงงานในเวลานี้จึงอยู่ในช่วงของการปรับกระบวนการใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว

เรื่องที่สอง เสียงของขบวนการชาวนาไทยที่ถูกทำให้หยุดนิ่งและหลงลืม อาจารย์แล เน้นย้ำว่าประเด็นชาวนาเป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทยมาโดยตลอดและเป็นแรงผลักดันให้เกิดการอภิวัฒน์การปกครองแผ่นดินสยามในปี พ.ศ. 2475 นอกจากนี้ อาจารย์แล ชี้ให้เห็นว่าภาพจำของสังคมไทยที่ถูกนำเสนอผ่านเรื่องความอุดมสมบูรณ์แบบในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นอาจจะไม่เป็นความจริง เพราะแม้ว่าอุตสาหกรรมเกษตรจะเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยก่อนการอภิวัฒน์สยาม แต่สภาพสังคมไทยในเวลานั้นชาวนาเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง ชาวนาไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของธรรมชาติ และวิธีทำการเกษตรยังมุ่งเน้นการใช้แรงงานคนมากกว่าการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำชาวนาไทยมีความยากลำบาก

สภาพดังกล่าวทำให้ภายหลังการอภิวัฒน์สยาม คณะราษฎรได้มอบหมายให้ นายปรีดี พนมยงค์ จัดทำเค้าโครงการเศรษฐกิจเพื่อปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทยที่เป็นอยู่ในเวลานั้นให้ดีขั้นทั้งในแง่การจัดสรรที่ดินใหม่ เพื่อให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ได้ รวมถึงการเสนอให้ชาวนารวมตัวกันเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น แต่การที่เค้าโครงการเศรษฐกิจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีการแบบคอมมิวนิสต์ดังปรากฏในสมุดปกขาวของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทำให้ความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือชาวนาถูกขัดขวาง และสร้างภาพจำสังคมไทยให้เห็นว่าการพยายามช่วยเหลือชาวนามีความเกี่ยวโยงกับคอมมิวนิสต์

ประกอบกับในเวลาต่อมาขบวนการชาวนาได้รวมกันเป็นแนวร่วม 3 ประสาน (กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา) ในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมนั้นขบวนการชาวนาถูกกวาดล้างอย่างจริงจังแบบถอนรากถอนโคน เพราะถูกรัฐไทยเชื่อมโยงขบวนการชาวนากับขบวนการคอมมิวนิสต์

การเชื่อมโยงชาวนากับคอมมิวนิสต์ทำให้ชาวนาอยู่ในสถานะตัวร้ายและคนที่พยายามจะช่วยเหลือชาวนาก็อยู่ในสถานะตัวร้ายเช่นกัน ดังนั้น ความช่วยเหลือจากรัฐไปสู่ชาวนามักจะเป็นไปอย่างจำกัด รัฐไม่เน้นการช่วยเหลือชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เน้นการช่วยเหลือผ่านการสงเคราะห์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้เงินช่วยเหลือผ่านการผันเงินไปลงหรือการช่วยประกันราคาสินค้าเกษตร แต่ไม่ลงไปถึงการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชาวนาจริงๆ ในทางตรงข้ามเมื่อชาวนารวมตัวกันเป็นขบวนการเมื่อไร รัฐจะปฏิบัติต่อชาวนาอย่างไม่ไว้วางใจ

เรื่องที่สาม บทบาทของรัฐไทยกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญของสังคมไทยกลับมาอยู่ที่บทบาทของรัฐในการแก้ไขปัญหาฐ บทบาทของรัฐในการแก้ไขปัญหาทั้งในกรณีของแรงงานหรือชาวนา รัฐจะตั้งบทบาทไว้ในฐานะผู้สงเคราะห์มากกว่าจะแก้ไขปัญหา และมองปัญหาความยากจนไว้กับเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าจะมองว่า ความยากจนเป็นผลผลิตของสังคมโดยรวม ข้อเสนอแนะของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจึงมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาที่ตัวบุคคลมากกว่า อาทิ การให้เงินสงเคราะห์ การรับซื้อสินค้าเกษตรกร หรือการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาที่แท้จริงคือ ทำอย่างไรให้ชาวนาไม่เป็นหนี้หรือมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แม้ว่าบทสัมภาษณ์ของ อาจารย์แล จะเน้นอธิบายบทวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ แต่ดังจะเห็นได้ว่า ภาพดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่องในปัจจุบัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทย โดยความเหลื่อมล้ำนั้นมีที่มาจากปัจจัยหลายๆ ประการ ทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยเชิงนโยบาย และโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหายไป

จากการศึกษาวิจัยของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เรื่อง เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีข้อสำคัญที่ตรงกับบทวิเคราะห์ที่ อาจารย์แลให้สัมภาษณ์ไว้บางประการ โดยปัจจัยความเหลื่อมล้ำที่ถูกยกขึ้นมา คือ (1) ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากคนไทยสัดส่วนร้อยละ 31 ทำงานอยู่ในภาคเกษตร เมื่อการเติบโของรายได้เกษตรอยู่ในระดับต่ำทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขวางขึ้น สะท้อนภาพของชาวนาที่มีความไม่มั่นคง (2) ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส เกิดจากโอกาสทางการศึกษาไม่ครอบคลุมและมีคุณภาพแตกต่างกัน สิทธิแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงเติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ และภาครัฐขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ (3) วิกฤตโควิด-19 เร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำแย่ลงกว่าเดิม เพราะโควิด-19 ได้กระทบรายได้ของกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการและความคุ้มครองทางสังคม อาทิ เงินชดเชยในช่วงที่ไม่มีงาน และ (4) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยและเป็นปัจจัยที่เร่งเร้าให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลง

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังเน้นย้ำว่า สาเหตุสำคัญที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมืองไทย โดยงานวิจัยระบุว่า สังคมไทยนั้นการเมืองมีลักษณะไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดต่อส่วนรวม (accountability) การเมืองปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำดำเนินต่อไป

คำถามสำคัญต่อมาคือ เพราะเหตุใดรัฐจึงลอยตัวเหนือปัญหาความเหลื่อมล้ำ? ในส่วนนี้บทความของ อาจารย์ธร ปิติดล น่าจะช่วยตอบคำถามดังกล่าวได้

งานวิจัยของ อาจารย์ธร ปิติดลชื่อว่า “แนวคิดและอุดมการณ์กับพัฒนาการระบบสวัสดิการไทย” เป็นส่วนหนี่งของเวทีนำเสนอผลการศึกษา “อุดมการณ์ รัฐ และการลงทุนในมนุษย์: แง่มุมสำคัญในการผลักดันระบบสวัสดิการในประเทศไทย” โดยงานวิจัยนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาแบบการวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) และการวิเคราะห์เรื่องเล่า (narrative analysis) เป็นวิธีการศึกษาแนวคิดหรือความคิดที่มีอิทธิพลในการกำกับสังคม

งานวิจัยศึกษามิติเกี่ยวกับแนวคิดและอุดมการณ์สวัสดิการผ่านมุมมองสำคัญ 3 ประการ คือ รัฐ ชุมชนและครอบครัว และความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ดี บทบาทสำคัญที่ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านทุกคนลองคิดตามงานของ อาจารย์ธร คือ เรื่องบทบาทของรัฐและมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำ

อาจารย์ธร อธิบายแนวคิดเบื้องหลังของสังคมไทยเกี่ยวกับรัฐ โดยเริ่มต้นจากการอธิบายความชอบธรรมของรัฐที่เชื่อมโยงกับคติความเชื่อในอดีต ซึ่งเชื่อว่าผู้ปกครองต้องมีบุญบารมีที่จะนำพาให้เกิดความสงบสุขในสังคม ประชาธิปไตยแบบไทยจึงมุ่งเน้นหาคนดีเข้ามาปกครอง ในขณะที่โครงสร้างการปกครองก็ควรจะต้องมีการจัดลำดับการปกครองลดหลั่นลงมาจากผู้มีบุญบารมีสูงสุดลงมาสู่ผู้มีบุญบารมีต่ำสุด

รัฐและผู้นำของรัฐ จึงวางตัวเสมือนเป็นพ่อขุนอุปถัมภ์ ซึ่งปกครองประชาชนด้วยความห่วงใยและเมตตา ประชาชนจึงไม่ได้อยู่ในสถานะของพลเมืองที่ได้รับสิทธิจากรัฐ แต่อยู่ในฐานะผู้รับการสงเคราะห์จากรัฐ รัฐและผู้นำให้ด้วยความเมตตาไม่ใช่สิทธิ (มุมมองนี้ผู้เขียนคิดว่า อาจารย์ธร หยิบยืมมาจากงานเขียนของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เรื่อง การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ)

ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ อาจารย์ธร นำเสนอว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไม่ถูกแก้ไขเพราะสังคมไทยมีมุมมองต่อความเหลื่อมล้ำในฐานะสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ กล่าวคือ ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่มีขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นมากับความเป็นคน แนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงกับความคิดเรื่องบุญกรรม ทำให้การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการเข้าไปให้สิทธิแก่บุคคลที่ต้องได้รับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำเปรียบเสมือนการทำให้เกิดความแตกร้าวในวิถีทางของสังคมและไม่สามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ อาจารย์ธร นำเสนอต่อไปว่า ในสังคมไทยมีการอธิบายปัญหาความเหลื่อมล้ำสามารถถูกเอาชนะได้ด้วยความเพียรพยายามและการทำงานหนัก โดยยกตัวอย่างของการต่อสู้ของชาวจีนที่พกเสื่อผืนหมอนใบ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกทำให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าปัญหาของสังคมในภาพรวม

การอธิบายบทบาทของรัฐและความเหลื่อมล้ำโดยใช้กรอบแนวทางการวิเคราะห์วาทกรรมของ อาจารย์ธร ข้างต้นทำให้เห็นปัญหาต่อไปว่า เพราะเหตุใดรัฐสวัสดิการถึงไม่สามารถตั้งมั่นในประเทศไทยได้ในฐานะของสิทธิ ขณะเดียวกันเพราะเหตุใดรัฐถึงวางตัวในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนโดยลอยตัว เพราะมองว่าบทบาทของรัฐในการให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องหน้าที่ในการสงเคราะห์มากกว่าเป็นสิทธิของพลเมือง

ผู้เขียนคิดว่างานวิจัยของ อาจารย์ธร มีความน่าสนใจและคิดว่าหากงานวิจัยฉบับเต็มได้เผยแพร่น่าจะได้มีการนำงานวิจัยนี้มาพูดถึงอย่างจริงจังอีกครั้งในอนาคต

บทสัมภาษณ์ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ “แรงงาน รัฐสวัสดิการ และเศรษฐกิจหลัง 2475” โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์

เอกสารอ้างอิง

  • สถาบันปรีดี พนมยงค์, (6 พ.ย. 2566), “PRIDI Interview : แล ดิลกวิทยรัตน์ : แรงงาน รัฐสวัสดิการ และเศรษฐกิจหลัง 2475,” สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566.
  • ลัทธกิตติ์ ลาภอุดมการ, (21 เม.ย. 2564), “เจาะลึกความเหลื่อมล้ำไทย แก้ได้ไหม แก้อย่างไร,” กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566.
  • ธร ปิติดล, “แนวคิดและอุดมการณ์กับพัฒนาการระบบสวัสดิการไทย,” เอกสารประกอบการนำเสนอผลการศึกษา “อุดมการณ์ รัฐ และการลงทุนในมนุษย์ : แง่มุมสำคัญในการผลักดันระบบสวัสดิการในประเทศไทย” จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย รวมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม Grand Center Point Terminal.