ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การอภิปรายเรื่องปรีดี พนมยงค์ : ชีวิต และผลงาน

6
พฤษภาคม
2567

ภาพการทำงานช่วงบั้นปลายชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส

 

ผู้ดำเนินการอภิปราย

ท่านอธิการบดี ท่านผู้หญิงพูนศุขและผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

ในวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดรายการอภิปราย เพื่อรำลึกถึงท่านผู้ประศาสน์การของเรา สำหรับผู้ร่วมดำเนินการอภิปรายในวันนี้ต่างก็เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยกันทั้งนั้น สำหรับท่านที่อยู่ทางบ้านขณะนี้เราก็ถ่ายทอดสด วิทยุธรรมศาสตร์ขนาดคลื่น ๙๘๑ กิโลเฮิทซ์ ผมใคร่จะขอแนะนำผู้ร่วมดำเนินการอภิปรายโดยสังเขป ท่านแรกซึ่งอยู่ทางชวามือผมนั้น ท่านเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงมากเมื่อเอ่ยถึงท่านนั้น ใครๆ ก็รู้จักท่านเคยเป็นประธานวุฒิสภา เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา เคยเป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นนักกฎหมายดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันท่านเป็นองคมนตรี ท่านผู้นี้คือศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ ท่านถัดไปเป็นสุภาพสตรี ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือของผมนั้น ท่านเป็นทนายความหญิงคนแรกของประเทศไทย และยังเป็นทนายความอยู่ในปัจจุบัน ท่านเป็นเนติบัณฑิตหญิงคนแรก จบในปี ๒๔๗๓ และก็ขึ้นทะเบียนเป็นทนายความในปี ๒๔๗๔ อดีตของท่านนั้นเคยเป็น ส.ส. หลายสมัย เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาหลายสมัย ในปัจจุบันนี้ท่านก็เป็นกรรมการกฤษฎีกา ท่านที่ผมกล่าวถึงนี้ก็คือ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล

ท่านต่อไปอยู่ซ้ายมือสุดของผมก็เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงอีกเช่นเดียวกัน คือในวงการศาลเมื่อเอ่ยถึงชื่อท่านนั้นใครๆ ก็รู้จักท่าน ท่านบอกว่าท่านเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ เตรียมรุ่นที่ ๔ สมัยปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖ และถ้าใครเคยดูหนังพระเจ้าช้างเผือก ท่านก็เป็นผู้แสดงคนหนึ่งอยู่ในหนังพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งท่านอาจจะมีเกร็ดเล่าเรื่องเกี่ยวกับการสร้างหนังพระเจ้าช้างเผือกให้เราฟังก็ได้ ท่านผู้นี้ในปัจจุบันเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ และก็เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงระหว่างประเทศ ได้เป็นรองประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศ ท่านผู้นี้ คือ ศาสตราจารย์สรรเสริญ ไกรจิตติ

สำหรับท่านสุดท้ายซึ่งอยู่ขวามือของผม ท่านเป็นชาวธรรมศาสตร์ และก็เป็นนักศึกษาเตรียมรุ่นที่ ๔ เช่นเดียวกับท่านศาสตราจารย์สรรเสริญ ท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านแรงงาน หลังศึกษาจบธรรมศาสตร์ปี ๒๔๘๙ นั้น ท่านก็ทำงานรับใช้สังคมมาโดยตลอด ท่านเคยเป็นอธิบดีกรมแรงงานคนที่ ๒ และในปัจจุบันนี้ ท่านก็ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านแรงงานระหว่างประเทศ นอกจากการงานหน้าที่ต่างๆ ของท่านแล้ว ท่านก็ทำหน้าที่เป็นผู้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในสถาบันอื่นๆ ท่านได้ทำการสอนตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ จนถึงในปัจจุบันท่านก็ยังทำหน้าที่สอนให้ความรู้แก่นักศึกษาในสถาบันต่างๆ ท่านผู้นี้ได้แก่ ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร

สำหรับรายการอภิปรายในวันนี้ของเราเป็นแบบกันเอง ไม่มีกติกาอะไรมากเราจะเรียงลำดับตามอาวุโส สำหรับท่านแรกนั้นขอเชิญท่านศาสตราจารย์ จิตติ ท่านเริ่มก่อน

 

ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์  : ขอบคุณครับ ท่านที่เคารพทุกท่าน ผมขอขอบคุณเป็นอันมากที่ให้เกียรติมาพูดในงานสำคัญวันนี้ ผมก็เคยศึกษากฎหมายกับท่านอาจารย์ปรีดีมาในครั้งกระโน้น รู้สึกเป็นปีแรกที่ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ก็มีโอกาสศึกษากับท่านในขณะนั้นที่กระผมจะพูดต่อไปนี้ก็คงไม่มีโอกาสที่จะไปค้นคว้าหลักฐานอะไรมายืนยัน เป็นเพียงว่าพูดไปตามที่ยังจำได้ ผมได้พบกับท่านเริ่มตั้งแต่กระผมยังเป็นนักศึกษาในโรงเรียนกฎหมาย สมัยนั้นเขาเรียกโรงเรียนกฎหมาย ยังไม่เป็นสำนักอบรมยังไม่เป็นมหาวิทยาลัยทั้งนั้น เป็นเพียงโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม

ในตอนนั้นรู้สึกจะเป็น พ.ศ. ๒๔๖๙ ในระยะนั้นผมเรียนกฎหมายแล้วก็ฝึกงานอยู่ในกองคดีกรมอัยการ ก็มีโอกาสพบกับน้องชายของท่าน ซึ่งเป็นเนติบัณฑิตเป็นอัยการในขณะนั้น ได้ทราบจากน้องชายของท่านนั้นแหละ บอกว่าท่านได้รับอนุมัติจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ให้ศึกษาต่อได้จนกระทั่งจบการศึกษา ไม่ต้องกลับมาก่อน เพราะตอนนั้นรู้สึกจะมีปัญหา สถานทูตที่ฝรั่งเศสเกิดมีเรื่องกับนักศึกษาที่นั้น แต่ว่ารัชกาลที่ ๗ ท่านก็ทรงตัดสินให้ได้ศึกษาต่อ จนกระทั่งจบ นี้เป็นเท่าที่ผมทราบจากคุณหลวงอรรถกิต เมื่อท่านศึกษาจบก็เป็นดอกเตอร์ฝรั่งเศส รู้สึกจะเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่จบกฎหมายฝรั่งเศสที่มาสอนมาปฏิบัติราชการในวงการกฎหมายไทย มีนักกฎหมายฝรั่งเศสก็จะเป็นชาวฝรั่งเศสแท้ๆ เป็นส่วนมาก ในขณะนั้นก็จะมีคุณหลวงศรศาสตร์ประพันธ์ ตอนหลังก็เป็นพระศรศาสตร์ประพันธ์เป็นนักกฎหมายจบจากฝรั่งเศสมาทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรมก่อน ถัดมาก็คือท่านอาจารย์ปรีดีก็เป็นดอกเตอร์ฝรั่งเศส ที่จบแล้วก็มาทำงานในกระทรวงยุติธรรม แล้วก็เป็นอาจารย์สอนกฎหมายด้วย ในระยะนั้นที่ควรจะกล่าวคือว่าเป็นระยะที่ระบบกฎหมายของไทยเปลี่ยนจากแบบอังกฤษ คือแบบ Common Law มาเป็นแบบประมวลกฎหมาย เพื่อที่จะได้รับอำนาจศาลที่เรียกว่าสภาพนอกอาณาเขต กลับคืนมาเป็นอิสระของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ หลักการก็คือ ต้องมีกฎหมายที่แน่นอน คือต้องมีประมวลกฎหมาย ที่เกี่ยวกับท่านปรีดีก็คือว่า เมื่อท่านเข้ามารับราชการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้พิพากษาแล้ว

ในสมัยนั้นกระทรวงยุติธรรมจะให้ผู้ที่เราเรียกว่า ฝึกหัดผู้พิพากษา หรือว่าผู้พิพากษาแต่งตั้งมาใหม่ๆ ต้องฝึกงานในกรมอัยการด้วย แทนที่จะฝึกงานอยู่ที่ศาลอย่างเดียว ทางกระทรวงยุติธรรมจะส่งให้ไปฝึกงานในด้านอัยการ แล้วก็จะมาทำงานที่กองคดีกรมอัยการ ซึ่งกระผมฝึกหัดอัยการอยู่เหมือนกัน ก็เลยได้มีโอกาสพบกับท่านอาจารย์ปรีดี ที่ได้มาฝึกงานอัยการโดยกระทรวงยุติธรรมส่งมาในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาฝึกราชการอยู่ เมื่อรู้จักกับท่านได้ถามเรื่องปัญหากฎหมายอะไรต่างๆ

จนกระทั่งในที่สุด ท่านก็เป็นอาจารย์สอนกฎหมายเรื่องหุ้นส่วนบริษัทในโรงเรียนกฎหมาย ผมก็ได้เรียนกฎหมายกับท่านโดยตรงเรื่องหุ้นส่วนบริษัท เรื่องหุ้นส่วนบริษัทนี้ก็ต้องเรียนว่าเดิมทีเดียว เราสอนกฎหมายหุ้นส่วนก็สอนแบบอังกฤษ แต่ว่าเมื่อท่านมาเป็นอาจารย์สอนเรื่องหุ้นส่วนบริษัท แนวที่สอนก็เปลี่ยนไป นี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากจะเรียนให้ทราบไว้ มีปัญหาอย่างเช่นว่าทำไมจึงต้องมีนิติบุคคลเกิดขึ้นในกฎหมายซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่เคยการสอน แต่ว่าท่านเรียนมาจากฝรั่งเศสเรียนแบบประมวล ท่านมีปัญหาเหล่านี้มาอธิบายให้พวกเราได้ฟัง ในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ท่านยังสอนกฎหมายอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เช่น กฎหมายการปกครอง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกบุคคลอะไร เหล่านี้เป็นต้น

ผมอยากจะเรียนข้อหนึ่งซึ่งเป็นผลจากกฎหมายปกครองที่ท่านสอนอยู่ คือ ในขณะนั้นเรายังไม่มีความคิดเรื่องเสรีภาพ เรื่องเสมอภาค เรื่องภราดรภาพ อะไรพวกนี้เกือบๆ จะว่าไม่เคยได้ยินเสียซ้ำไป แต่ว่าท่านเป็นคนที่นำศัพท์ หรือคนที่บอกว่าเสรีภาพ เสมอภาคภราดรภาพ เข้ามาใส่ไปในกฎหมายการปกครอง ให้เราได้รู้กันขึ้นมาได้ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องกฎหมายการปกครองโดยเฉพาะ มันเป็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่ว่าเป็นที่เข้าใจกันว่าท่านต้องการจะให้เกิดความคิด เรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพขึ้นมาในประเทศไทย

นี้เป็นข้อสำคัญอันหนึ่งที่ผมอยากกราบเรียนคือ เมื่อมีการปฏิวัติฝรั่งเศส เกิดคำสามคำนี้ขึ้นมา ท่านเอาสามคำนี้ขึ้นมาบรรจุลงไปในคำสอนกฎหมายการปกครองว่า คนเรานี้ก็มีเสรีภาพ มีเสมอภาค มีภราดรภาพ แต่ความสำคัญที่สุดมันอยู่ที่คำสุดท้ายคือ คำว่าภราดรภาพ ภราดรภาพคือ การอยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง เดี๋ยวนี้เราสนใจแต่คำว่าเสรีภาพกับเสมอภาค ส่วนภราดรภาพลืมเสียเลยไม่รู้ว่ามันอะไร แต่ท่านให้เห็นว่า ความสำคัญที่สุดนั้นมันอยู่ที่ภราดรภาพนี้ คือว่าความอยู่ด้วยกันฉันท์พี่น้อง ปรับเข้าไปในหลักเรื่องปกครอง

ในหลักเรื่องกฎหมายหน้าที่ของประชาชน ที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ ไม่ใช่ว่าจะหลงอยู่แต่เสรีภาพหรือเสมอภาคเท่านั้น ความสำคัญที่มันมีขึ้นมาในคำสามคำที่เขาเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Liberté, Égalité, Fraternité ก็มีการปฏิวัติฝรั่งเศส คำสามคำก็เกิดขึ้นมา ความสำคัญมันอยู่ที่ Fraternité หรือภราดรภาพ ซึ่งท่านเน้นว่า ถ้ามันคิดเพียงแต่เสรีภาพ เสมอภาค แล้วก็อยู่ไม่ได้ พัง แต่ว่าผมก็ยังรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ เรายังเข้าใจอยู่อย่างนั้นหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ คำว่าเสรีภาพ เสมอภาคนั้นมันเห็นง่าย ฟังง่าย น่าฟังดี แต่ภราดรภาพนี้รู้สึกว่ามันหายๆ ยังไงไม่รู้ นี่สำคัญอยากจะเน้นให้เห็นว่าความคิดของท่านนั้นมีความสำคัญอยู่ตรงไหน เดี๋ยวนี้แม้แต่เสรีภาพ เสมอภาคมันก็ลืมๆ ไปแล้ว แล้วเราพูดกันใหม่ว่าสิทธิมนุษยชนมันจะยิ่งแย่ขึ้นกว่าเก่า เพราะเหตุที่ว่าของเก่า พูดถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ กำกับอยู่ด้วย

เวลานี้เราพูดกันเพียงแต่สิทธิมนุษยชน เราไม่เคยพูดถึงหน้าที่มนุษยชนเลย มันลืมภราดรภาพไปเสียอย่างไรก็ไม่ทราบ นี้ก็เป็นข้อซึ่งควรคิดเอาไว้ว่า ความสำคัญของบ้านเมืองนั้นอยู่ที่ภราดรภาพนี้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด คิดเพียงแต่เสรีภาพ เสมอภาค แล้วก็มันอยู่กันไม่ได้หรอก มันต้องมีภราดรภาพกำกับ เป็นสิ่งซึ่งท่านเน้นให้เห็นในการสอนกฎหมายการปกครอง

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีข้อที่จะเรียนในที่นี้ คือว่าการเปลี่ยนแปลงจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม มาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือพอเปลี่ยนการปกครองแล้วจะมีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ ทางราชการยุบโรงเรียนกฎหมายแล้ว ก็โอนไปรวมอยู่ในคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ว่าก็อาจจะเป็นนโยบายเอาไปพักไว้ระยะหนึ่ง แต่ความจริงมันก็มีด้วยเหมือนกันว่า ตอนนั้นยังไม่มีศัพท์คำว่านักศึกษา นิสิตจุฬาฯ ไม่ยอมให้ธรรมศาสตร์ใช้คำว่านิสิต เป็นเรื่องของเด็กคือว่าเขาจะอย่างไรก็ไม่ทราบ เขาบอกว่าพวกธรรมศาสตร์ไม่ใช่พวกนิสิต เขาไม่ยอมให้ใช้คำว่านิสิต ก็เลยมีท่านผู้ใหญ่คนหนึ่งคิดคำว่านักศึกษาออกมาให้ก็เลยมีคำนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา ที่เรียนว่าไม่เป็นคณะในจุฬาฯ ได้พักเดียวนั้น

ก็เพราะเหตุที่ว่าต่อมาไม่ช้าก็ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา เราเอาคณะนิติศาสตร์ในจุฬาฯ นี้มาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนี้ก็เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรก็มีทั้งกฎหมายและหลักสูตรอื่นๆ คิดว่ากฎหมายเป็นหลักสูตรสำคัญจริง แต่ว่ายังมีเศรษฐศาสตร์มีรัฐศาสตร์การทูตรวมอยู่ในนั้นด้วย ว่าก็ว่าเถอะพอจบธรรมศาสตร์บัณฑิตสมัยนั้นแล้ว จะไปทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้น รู้หมด เศรษฐศาสตร์ก็รู้ รัฐศาสตร์ก็รู้ การทูตก็ไปทำงานได้ กระทรวงคลัง กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงมหาดไทยได้ทั้งนั้น ก็เป็นผลอยู่ระยะหนึ่งในขณะนั้น

ที่นี้ในเรื่องของการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าคิดเหมือนกัน คือว่าท่านตั้งโดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณสักสตางค์เดียวพูดง่ายๆ เพราะเหตุที่ว่าตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมาโดยพระราชบัญญัติ ตั้งขึ้นมาก็เป็นสถานศึกษา ตอนนั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องนิติบุคคล เรื่องนี้ยังไม่มี เป็นอันตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นมา บทบัญญัติว่าโอนคณะนิติศาสตร์ที่ไปจากโรงเรียนกฎหมายไปสมทบกับจุฬาฯ นั้น โอนมาอยู่ที่ธรรมศาสตร์นี้เลย ที่โอนมาก็หมายความว่าทรัพย์สิน หน้าที่ความรับผิดชอบ คนข้าราชการอะไรต่างๆ เอามาหมด ก็มาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดินเลยก็ว่าได้ เป็นวิธีการที่ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น

เมื่อท่านไปรับราชการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็จัดระเบียบการปกครองประเทศให้ทันสมัย มีกฎหมายออกมา ๒-๓ ฉบับว่าด้วยระเบียบการปกครองท้องที่ ระเบียบการปกครองประเทศมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม มีพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็ยังเป็นแม่บทอยู่จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีการแก้ไขปรับปรุงไปตามความต้องการของประเทศ แต่ว่าริเริ่มขึ้นมาโดยที่ท่านไปตั้งหลักเอาไว้ที่กระทรวงมหาดไทย โดยออกพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมอันหนึ่ง เป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินอีกอันหนึ่งระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ก็แบ่งภายในเป็นกระทรวง กระทรวงก็แบ่งออกเป็นกรม กรมก็แบ่งออกเป็นกอง ก็มีข้าราชการเป็นชั้นอธิบดี เป็นชั้นหัวหน้ากอง เป็นผู้อำนวยการกอง เป็นลำดับลงมาทั้งหมดนี้ก็ริเริ่มขึ้นมาจากท่านเป็นผู้ไปจัดตั้งในขณะนั้น

คือในระยะโน้นเราไม่รู้ระเบียบการปกครอง ไม่สนใจอะไรเลยเพราะเหตุที่ว่าการปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วแต่ในหลวงจะเอาอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ก็รู้จักกันเพียงแต่ว่า จตุสดมภ์ แล้วก็แบ่งออกเป็นกระทรวง กี่กระทรวงก็ท่องกันมาตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียน แต่เราไม่รู้ว่าความสำคัญอยู่ตรงไหน จนกระทั่งท่านไปอยู่มหาดไทยจึงปรับระเบียบออกมาเป็นกฎหมายปกครองที่จะต้องให้มันเข้ารูปว่าแบ่งเป็นกระทรวง กระทรวงแบ่งเป็นกรม กรมแบ่งเป็นกอง มีข้าราชการชั้นไหนเป็นผู้บังคับบัญชา ในส่วนภูมิภาคมีอย่างไร ส่วนท้องถิ่นมีอย่างไรก็อาศัยพระราชบัญญัติ ที่ท่านไปตั้งขึ้นเป็นหลักในกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นเราไม่รู้เรื่องการปกครองประเทศ มีแต่พระราชบัญญัติปกครองท้องที่อย่างเดียวเท่านั้นเอง เมื่อตั้งหลักสูตรกฎหมายปกครองขึ้นมาเราก็ไม่รู้ กฎหมายปกครองของท่านให้มีเสรีภาพ มีเสมอภาค มีภราดรภาพอยู่ในนั้นด้วย นอกจากนั้นท่านพยายามจะตั้งศาลปกครองขึ้นมาในสมัยนั้น โดยตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้นมาร่างกฎหมาย แต่ว่าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้กฎหมายปกครองยังออกไม่ได้ พอได้ยินว่าศาลปกครองก็กลัวเลย กลัวจะถูกควบคุม

แต่ความจริงศาลปกครองเขาจะมีขึ้นเพื่อคุ้มครองฝ่ายปกครองด้วย ให้สิทธิอะไรต่ออะไร ต่อฝ่ายปกครองอีกมาก ทีนี้ทางได้สิทธินี่ทางฝ่ายปกครองไม่ค่อยจะเป็นห่วงเท่าไหร่ เป็นห่วงจะถูกควบคุมทำให้เกิดภาระอะไรขึ้นมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงตั้งศาลปกครองไม่สำเร็จ ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติร่างแล้ว นี้เป็นผลงานที่ท่านริเริ่มเปลี่ยนกรมร่างกฎหมายในกระทรวงยุติธรรม มาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างในฝรั่งเศส เพื่อให้มันมีศาลปกครองขึ้นมา มีกฎหมายปกครองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นหลักของประเทศต่อไป แต่จนกระทั่งเดียวนี้ก็ยังไม่สำเร็จ นี่พูดในด้านของการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนทางด้านกระทรวงยุติธรรมซึ่งอาจารย์สรรเสริญ คงจะพูดต่อไปคือปัญหาใหญ่เรื่องสภาพนอกอาณาเขต หมายความว่าคนที่อยู่ในบังคับหรือสัญชาติต่างประเทศ เดิมทีเดียวไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลไทย เกิดปัญหาการปกครอง เมื่อมีเรื่องกันก็มาอ้างเป็นคน Subject ต้องขึ้นศาลกงสุลในขณะนั้น

ต่อมามันก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาจนกระทั่งเป็นศาลคดีต่างประเทศ เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๖๑-๒๔๖๒ ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญา โดยฝรั่งคนหนึ่งชื่อดอกเตอร์แซร์ ที่เรารู้จักกันดีดอกเตอร์แซร์หรือพระยากัลยาณไมตรีที่อยู่กระทรวงต่างประเทศ เป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนกฎหมายเรื่องสภาพนอกอาณาเขต จากศาลกงสุลมาเป็นศาลคดีต่างประเทศ แต่มันก็ยังมีบัญหาเรื่องต้องมีที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างประเทศนั่งประจำอยู่ด้วย มีสิทธิถอนคดีได้มีเงื่อนไขอันหนึ่งบอกว่าจะขึ้นศาลไทยจริงๆ ก็ต่อเมื่อใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว

จากนั้นต่อไปอีก ๕ ปี จะหมดสภาพนอกอาณาเขต ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ เราพยายามร่างกฎหมายมันก็ไม่จบสักที ไม่ครบถ้วนทุกฉบับสักทีหนึ่ง จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ยังไม่เสร็จดี ท่านก็ไปอยู่กระทรวงต่างประเทศ ก็ไปจัดการบำรุงกฎหมายออกมาได้ครบถ้วน แล้วก็ต่อไปอีก ๕ ปี จะหมดสภาพนอกอาณาเขต ท่านก็ไปเจรจาให้มันหมดไม่เสียทันทีเลย ท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ท่านก็เดินทางไปประเทศต่างๆ เจรจาทำสนธิสัญญาขึ้นใหม่ ยกเลิกสภาพนอกอาณาเขตไปทันที นี่ในด้านของกระทรวงต่างประเทศที่ท่านทำให้ศาลไทยมีสภาพบริบูรณ์ขึ้นมา

ต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ท่านก็เป็นคนที่ก่อตั้งประมวลรัษฎากรออกมาเป็นเล่มแรก เดี๋ยวนี้แก้ไขกันไปจะถึงร้อยฉบับหรือยังไม่ทราบ แต่ว่าตั้งต้นจากประมวลรัษฎากร ซึ่งท่านเป็นผู้ออกในสมัยท่านเป็นรัฐมนตรีการคลังหลักการของประมวลรัษฎากรก็เพื่อให้เก็บภาษีด้วยความเป็นธรรมแก่สังคม แต่พอมาถึงเดี๋ยวนี้รู้สึกว่าหลักถอนขนห่านอย่าให้ร้องนี้ดูยังไงๆ ก็ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้ยังไม่ทันถอนขน ท่านก็ร้องแล้ว เป็นต้น จนกระทั่งต้องออกพระราชบัญญัติไม่รู้กี่ฉบับเป็นเหตุให้ต้องยุบสภากัน เหตุเพราะห่านมันร้องนี่แหละ นอกจากประมวลรัษฎากรแล้วก็มีเรื่องธนาคาร เราเรียกกันในตอนนั้นว่า ธนาคารชาติ แต่เดี๋ยวนี้เรียก ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพูดกันมานานแล้วว่าจะต้องมีธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมา ทำหน้าที่แทนกระทรวงการคลัง แต่ว่ากว่าจะมาเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นมาได้ก็กินเวลาไม่รู้เท่าไหร่ๆ นี่ก็เป็นเรื่องของผลงานที่ท่านปรีดีริเริ่มไว้ตั้งแต่ครั้งว่าการกระทรวงการคลัง นี่แหละรับก็มีข้อสำคัญๆ ที่ผมขอกราบเรียนไว้ในที่นี้คงจะมีท่านอื่นพูดต่อไปให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น ขอขอบพระคุณครับ

 

คุณหญิงแร่ม พรหมโมบล : ท่านผู้ดำเนินการอภิปราย ท่านอธิการบดี ท่านผู้หญิงพูนศุข ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ดิฉันใคร่จะขออภัยท่านผู้หญิงด้วย ถ้าหากว่าดิฉันจะได้พูดอะไรไปถึงเรื่องตั้งแต่ที่เรายังอยู่ในเยาว์วัย บางทีจะกระทบกระเทือนอะไรบ้าง ขอได้โปรดอภัยด้วย เพราะจะนำเอาความจริงมาพูดกัน เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ดิฉันได้ไปกราบอัฐิธาตุของท่านอาจารย์ปรีดีที่อยุธยาและได้มีโอกาสฟังการพูดของท่านอาจารย์ทั้งหลายรวมทั้งหมด ๕ ท่านด้วยกัน มีอาจารย์ยงยศ เล็กกลาง อาจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ คุณธรรมเกียรติ กันอริ อาจารย์ปรีชา สุวรรณทัต แล้วก็มีคุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ท่านทั้งหลายเหล่านี้พูดกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า ไม่มีโอกาสได้รู้จักท่านโดยส่วนตัวเลย แต่ก็มีความดื่มด่ำประทับใจในกิจกรรมของท่านเหลือเกิน

ดิฉันซึ่งได้พบท่านมาตั้งแต่ยังอายุรุ่นๆ จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังมีความประทับใจมาก ที่จะได้มาพูดอะไรตรงกับความรู้สึกและตรงกับความเป็นจริงทั้งหลาย ที่ท่านอาจารย์ปรีดีปฏิบัติมา ดิฉันเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับท่านผู้หญิง (พูนศุข พนมยงค์) ซึ่งความจริงนั้นดิฉันเองได้เรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟรุ่นเดียวกับท่าน แล้วก็มีอายุแก่เดือนกว่าท่านในขณะที่ท่านเป็นนักเรียนอยู่นั้น ท่านมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่านและพี่น้องทั้งหลายก็ได้ชวนเอาพวกเพื่อนๆ ไปเล่นในบ้านท่านอยู่เสมอ นอกจากไปวิ่งเล่นในบ้านท่านแล้ว ยังไปรับประทานอาหารร่วมซนอยู่ในบ้านท่าน ซึ่งเป็นเหตุให้มีความสนิทสนมกันมาก ไม่ใช่เฉพาะส่วนตัวเท่านั้น ทั้งคุณพี่ คุณน้องทั้งหลายของท่านด้วย ที่นี้นอกจากอย่างนั้นแล้วในขณะนั้นข้าราชการทั้งหลาย มีจำนวนจำกัด ไม่ใช่ว่าลูกกับลูกจะเป็นเพื่อนกัน คุณพ่อดิฉันกับคุณพ่อท่านก็ยังรู้จักมักคุ้นกัน เพราะฉะนั้นก็ทำให้พวกเราสนิทสนมกันมากขึ้น ในขณะที่เราเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟ

ตอนดิฉันใกล้เวลาที่จะได้มาสมัครเรียนกฎหมาย ใน พ.ศ. ๒๔๗๑ นั่นเอง ก็ได้ทราบข่าวว่า ท่านผู้หญิงจะสมรสกับคุณปรีดี พนมยงค์ พวกเราทั้งหลายรู้สึกเสียดายชีวิตโสดของท่านผู้หญิงมาก รวมทั้งตัวเราเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาว่า แหม ท่านช่างเป็นผู้โชคดีเหลือเกิน ในการที่พบนักเรียนนอกสุดหล่อแบบนี้ เราเองก็ไม่มีโอกาสที่จะพบนักเรียนนอกในสมัยนั้นได้เท่ากับที่พบในตัวท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ถือว่าท่านผู้หญิงมีโชคดี เราเกิดความรู้สึกริษยาหน่อยๆ แต่ว่ากระนั้นเรายังหวังว่าอาจจะมีโอกาสได้ไปพบ image ของท่านปรีดีที่ใดที่หนึ่งก็ได้ ทีนี้หลังจากท่านได้ทำการสมรสแล้ว ดิฉันก็เผอิญได้เข้ามาเรียนโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ในขณะนั้นเองท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นเลขาธิการกรรมการกฤษฎีกาด้วย ในขณะที่เราเรียนกฎหมายอยู่นั้นท่านก็เปิดโอกาสให้เรา ว่าถ้ามีอะไรสงสัยให้ไปหาท่านที่บ้านได้ และนอกจากท่านปรีดี พนมยงค์ ก็ยังมีอาจารย์อื่นๆ ขอกล่าวในที่นี่ว่ามีเจ้าคุณลัดพลี (พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์) เป็นต้น ที่เอื้ออาทรกับลูกศิษย์ของท่าน เราก็เป็นนักเรียนที่ขี้สงสัยเหลือเกินก็เลยจับกลุ่มกันประมาณ ๗-๘ คน ไปหาอาจารย์และพยายามที่สุด จะให้มีโอกาสหิวในขณะที่ไปถึงบ้านท่านผู้หญิงพูนศุข เพราะจะได้มีโอกาสรับประทานอาหารกับท่าน พอมาถึงท่านกำลังรับประทานอยู่ ท่านก็ต้องเรียก ถึงหากว่าไม่เรียกเราก็ขอเข้าไปรับประทานเองด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นท่านจำเป็นต้องเรียกเสียก่อน อันนี้เองทำให้เกิดความสนิทสนมและคุ้นเคยกับท่านมาก

ขณะไปหาท่านนั้นไม่ว่าอะไร กรณีใดๆ ทั้งสิ้น ท่านพูดเป็นเรื่องเอาการเอางานทั้งนั้น ท่านพูดไปท่านยิ้มแย้มแจ่มใสไป แต่ว่าท่านพูดเรื่องเอาการเอางาน เกือบจะว่าไม่มีเรื่องพูดเล่นๆ กันสักทีหนึ่งจนทำให้ดิฉันคิดว่า เอ ไม่น่าอิจฉาท่านผู้หญิงเลย เพราะเหตุไม่มีโอกาสที่จะพูดกันแบบสามีภรรยาหรือคู่สร้างคู่สมกัน แต่พอจริงๆ เข้าแล้ว ดิฉันเพิ่งจะไปเห็นหนังสือซึ่งได้รับแจกมา ท่านเขียนถึงท่านผู้หญิง ซึ่งทำให้ดิฉันรู้สึกและเข้าใจว่าลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายคงมีความรู้สึกเหมือนกับดิฉัน ว่าท่านก็มีโอกาสที่จะพูดโรแมนติคกับท่านผู้หญิงเหมือนกันจากจดหมายที่ท่านเขียนว่า My darling เพราะฉะนั้นดิฉันเองก็รู้สึกว่าท่านก็คงไม่ใช่เป็นแต่นักวิชาการเท่านั้น ท่านก็เป็นนักรักและก็เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติต่อท่านผู้หญิงในฐานะที่เป็นคู่สร้างคู่สมกับท่านอย่างดี

ดิฉันใคร่ขอถือโอกาสเรียนไว้ใน ณ ที่นี้ด้วยว่าในการที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรกหรือที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราววันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านได้ให้โอกาสกับผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ คือว่ามีสิทธิในทางด้านการเมือง ตรงกันข้ามกับประเทศฝรั่งเศส ประเทศอังกฤษ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งผู้หญิงเพิ่งได้สิทธิในการไปเลือกตั้งทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอันนี้ ผู้หญิงไทยมีความรู้สึกอย่างมาก ที่มีโอกาสได้รับความกรุณาทุกท่าน โดยที่ท่านเห็นการณ์ไกล และผู้หญิงก็ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับหลังๆ เราจึงได้สิทธิในทางทรัพย์สิน ในทางมรดก สิทธิในครอบครัวต่างๆ

ทีนี้ดิฉันก็ขอย้อนเรื่องมาว่า สำหรับท่านอาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ หรืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์นี้ ท่านได้เป็น ส.ส. อยุธยาคนแรกและท่านได้มาเป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรก ซึ่งได้สร้างระเบียบปฏิบัติในสภามาจนาระทั่งบัดนี้ ให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งได้มาใช้อยู่ จนกระทั่งบัดนี้ด้วย และดิฉันใคร่จะขอเรียนว่า เมื่อท่านอาจารย์ปรีดีไปบริหารงานในกระทรวงไหน ท่านก็พัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปของกระทรวงนั้นๆ ขอยกตัวอย่างว่าในระหว่างวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ถึง ๙ สิงหาคม ๒๔๘๐ ท่านไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านก็พยายามร่างพระราชบัญญัติให้มีการปกครองท้องถิ่นโดยประชาชนโดยออกพระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสมาชิกสภาจังหวัด ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ราษฎรได้เข้ามาร่วมกันปกครองท้องถิ่น นอกจากนั้นในปีเดียวกัน ท่านก็ได้มีโอกาสเสนอรัฐบาลให้ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้

ดิฉันใคร่จะขอเรียนอีกว่า ดิฉันมีความรักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกับดิฉันอยู่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เพราะในขณะที่ท่านเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ดิฉันมีโอกาสถูกเรียกตัวให้มาขีดๆ เขียนๆ ในเรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากท่านอาจารย์ปรีดี และในขณะเดียวกันนั้นก็มีความรู้สึกว่า โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมจะหมดไปแล้ว จะไม่มีอีกเมื่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมา ดิฉันก็ต้องเกาะเกี่ยวแห่งใดแห่งหนึ่งไว้เป็นสถาบันการศึกษาของดิฉันด้วย

เมื่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ท่านอาจารย์ก็บอกว่าพวกคุณเรียนเนติบัณฑิตมา จะเรียนปริญญาโทไม่ได้ จะต้องเข้าเรียนปริญญาตรีก่อน จึงจะเข้าเรียนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยได้ นี่เป็นเรื่องของกรรมการสภามหาวิทยาลัยประกาศมาดังนั้น พวกเราเสียใจมาก เห็นว่าพวกเราก็เนติบัณฑิตเหมือนกันทำไมถึงไม่ให้เข้าเรียนปริญญาตรีของธรรมศาสตร์นี่ใหญ่โตอะไร นึกไปในทำนองนั้น เพราะขณะนั้นเราเด็กเหลือเกินที่จะคำนึงถึงเหตุผล ต่อมาพากันเข้าเรียนภาคหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อจะให้ได้ปริญญาตรี แต่ในขณะที่เรียนและสอบไปแล้วภาคหนึ่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยก็ประกาศใหม่บอกว่า ต่อไปนี้เนติบัณฑิตให้เข้าเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ดิฉันเองกับคณะเพื่อนๆ ก็เข้ามาเรียนปริญญาโทโดยมีหมายเลขประจำตัว ๒๑๓ แล้วก็สมัครเสียใหญ่เลย นึกว่ายังไงๆ ก็ต้องเรียนได้ สมัครเรียนปริญญาโททางนิติศาสตร์ ปริญญาโททางการทูต แต่ว่าน่าเสียดายนะ ไปสมัครแล้วเสียเงินเสียทองแล้ว ไม่สำเร็จ เรียนไม่สำเร็จ เพราะเกิดไปเบียดเสียก่อน

ทีนี้มาพูดถึงท่านพอจากมหาดไทยท่านมาอยู่กระทรวงต่างประเทศ ท่านมาแก้ไขสนธิสัญญาศาลกงสุล อันนี้ท่านอาจารย์จิตติ ท่านก็ได้พูดไปบ้างแล้ว แต่ทำไมดิฉันถึงได้ไปยุ่งเกี่ยวกับการเลิกสนธิสัญญากงสุลนี้ด้วย เมื่อดิฉันเข้าเป็นทนายความแล้ว ได้ไปสมัครสำนักงานทนายความของนายวิคเฮาส์ ซึ่งเป็นสำนักงานทนายความอังกฤษ ในขณะที่เราถูกใช้ให้ไปว่าความที่ศาลโปลิสสภา เกิดความรู้สึกว่าอะไรกันนี่ บ้านเมืองไทยแท้ๆ ทำไมจึงมีชาวต่างประเทศมานั่งเป็นศาลด้วย ให้รู้สึกไม่สบายใจเลย และเกิดความไม่พอใจหลายๆ ประการ เพราะฉะนั้นเมื่อท่านได้กรุณาเลิกสนธิสัญญา อันนี้ได้โดยสันติก็ทำให้พวกเราดีอกดีใจกันเป็นอย่างมาก

และจากกระทรวงการต่างประเทศ ท่านมาอยู่กระทรวงการคลังเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านก็มีการปฏิรูปใหม่เกี่ยวกับการคลังซึ่งท่านอาจารย์จิตติพูดไปบ้างแล้ว แต่ดิฉันขอเสริมสักนิดว่าท่านยกเลิกภาษีโบราณซึ่งไม่เป็นธรรม เช่น การเก็บรัชชูปการ หรือเสียส่วยในสมัยโบราณ ในสมัยใหม่ดิฉันคิดว่าคงไม่มีใครรู้ คือแต่ก่อนชายไทยอายุ ๒๐-๖๐ ปี จะต้องเสียคนละ ๖ บาท เท่ากันหมด หรือเรียกว่า Full Tax หรือถ้าไม่มีเงินเสีย จะถูกจับไปขัง ๑๕ วัน แล้วทำงานโยธาขุดถนนบ้างหรือว่าเทถังเมล์บ้าง ดิฉันก็ไม่ทราบเพราะเผอิญดิฉันก็ไม่ได้เสียเงิน ๖ บาท

ทีนี้ในขณะนั้นท่านเองก็คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำเหลือเกิน ทำอย่างไรถึงจะเอาเงินของประชาชน ซึ่งเก็บไว้ในตู้เซฟของแต่ละคนนั้น มาใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ ท่านก็คิดว่าให้ทำพันธบัตรแต่พอทำออกมาแล้วไม่มีใครเชื่อถือค่ะ ไม่มีใครซื้อ ท่านก็เรียกเอาดิฉันไป บอกว่าไปขายพันธบัตรทีได้ไหม ดิฉันก็บอกว่าการขายพันธบัตรขายอย่างไรดิฉันไม่เข้าใจ รู้สึกอายุเราขนาดนั้นจะไปขายพันธบัตรให้กับใคร ท่านก็บอกว่าวิธีขายพันธบัตรนี้ ให้ดิฉันไปหาเพื่อนแบ่งเป็นกลุ่มเป็นราย แล้วก็ออกไปขายพันธบัตรตามรายชื่อที่ท่านให้มา คนที่หนึ่งซึ่งให้ไปขายนั้น คือ คุณนายเนียร ลพานุกรม คุณนายเนียรนี้เป็นมารดาของคุณตั้ว ลพานุกรมซึ่งเป็นผู้ก่อการร่วมสมัยกับท่านอาจารย์คนหนึ่ง และมีอีกคนหนึ่งถือคุณนายอุ่น โปษยจินดา ท่านบอกว่าให้ไปขอเลย ดิฉันก็ไป เมื่อไปแล้วก็ชี้แจงว่าพันธบัตรนี้เป็นผลประโยชน์อย่างไร เราขอเงินท่านทั้งหลายนี้เพื่อจะช่วยประเทศชาติ ทุกคนมีความยินดีที่จะเสียสละ และเกิดความเชื่อถือ จ่ายเงินซื้อพันธบัตรกันมากมาย อันนี้เองสำนักงานธนาคารชาติแห่งประเทศไทยก็ได้เกิดขึ้น

ต่อมาตอนที่ญี่ปุ่นนำเงินมาใช้พิมพ์ธนบัตรมาจากญี่ปุ่นเลย ในระหว่างสงคราม ท่านอาจารย์บอกว่า ในฐานะเป็นรัฐมนตรีคลัง ในขณะนั้น จะให้ญี่ปุ่นเอามาใช้เฉยๆ ไม่ได้ ต้องกู้โดยใช้หลักประกันทองคำ อันนั้นดิฉันยืนยันได้เป็นคำที่คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ทราบมาเลยทีเดียว ต่อมาญี่ปุ่นก็ตอบว่าการที่จะขนทองคำขณะมีสงครามมีลูกระเบิดลงนั้นทำไม่ได้ เพราะว่าจะเป็นอันตรายไม่ปลอดภัย ท่านเองก็ได้บอกว่าถ้าเช่นนั้นก็ให้เขียนเลยว่าธนบัตรทองคำส่วนไหนที่อยู่ในญี่ปุ่น ที่เป็นหลักประกันเงินกู้ของประเทศไทย คือให้ถือ Year Mark ไว้เลย ในที่สุดเมื่อเสร็จสงครามแล้วทองคำเหล่านี้ ได้ขนกลับมาให้ประเทศไทย โดยกองบัญชาการพันธมิตรให้ส่งคืนมาให้ อันนี้จะเห็นได้ว่าท่านคิดไกลเหลือเกิน ท่านคิดให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินทั้งนั้น ดิฉันคิดว่าในขณะนั้นญี่ปุ่นคงเห็นว่าท่านฉลาดนัก ขืนให้อยู่ที่กระทรวงการคลังนี้ญี่ปุ่นจะพิมพ์ธนบัตรใช้เองก็ไม่ได้อีก ก็เลยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านออกจากกระทรวงการคลัง ดิฉันเข้าใจอย่างนั้น แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการนี้ ดิฉันก็คิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะในขณะนั้นต้องมีเสรีไทย

ดิฉันใคร่จะขอเรียนว่าวันหนึ่งดิฉันก็ได้ถูกเรียกให้ไปพบท่านเวลาดึก ดิฉันก็ไปหาท่านที่ท่าช้างพบท่านคนเดียว มองดูท่านแล้วตกใจมาก เพราะลักษณะของท่านไม่ใช่เป็นแบบเดียวกับอาจารย์ปรีดีที่เราเคยเห็น หน้าซีดเซียวแล้วก็ร่วงโรยมาก เหมือนไม่ได้นอนมาหลายคืน ซึ่งท่านผู้หญิงคงทราบในข้อนี้ดี ท่านถามดิฉันว่ารักประเทศไทยไหม ดิฉันก็งงเลยอยู่ๆ ท่านอาจารย์มาถามปัญหาทางกฎหมายว่ารักประเทศไทยไหม แล้วเราจะตอบว่าอย่างไร ก็ยังอ้ำๆ อึ้งๆ อยู่ท่านบอกว่าเวลานี้เป็นเวลาที่วิกฤตมากแล้วสำหรับประเทศไทย

ขณะนี้นายของดิฉันก็ไปถูกจับกุมคุมขังอยู่เพราะเป็นชาติอังกฤษ เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาก็คงจับเอาไปขังอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้เอง ดิฉันต้องเข้ามาเยี่ยมเยียนตลอดเวลาทุกวัน ท่านก็บอกว่าเวลานี้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอยู่ประเทศไทยคือ โจซาย ครอสบี้ได้หนีไปอยู่ในประเทศอังกฤษแล้ว ก็ขอแลกเชลย โดยขอครอบครัวนายวิคเฮ้าส์ นายของดิฉันไปด้วย คือนายของดิฉันรักดิฉันเหมือนลูกสาวคนหนึ่ง เสร็จแล้วท่านก็บอกว่าให้ดิฉันไปกับนายวิคเฮ้าส์ให้ไปบอกหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชว่าท่านมีเสรีไทยทำที่นี้ในนามของ รู้ธ ท่านไม่ได้สั่งต่อหน้าใครเลย แม้ที่สุดแต่ท่านผู้หญิงก็ไม่ได้นั่งอยู่ที่นั้น คือไม่ให้ใครรู้ เป็นความลับสุดยอดจริงๆ ท่านถามว่าห่วงใครมาก ดิฉันบอกว่าดิฉันห่วงลูกสาว เพราะตอนนั้นมีลูกสาวอยู่คนเดียว ท่านบอกว่าไม่ต้องห่วง ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะดูแลลูกสาวให้เอง เอ้ ท่านพูดอย่างดิฉันใจเสียซิ นึกว่าไปนี่ต้องแย่แล้ว ต้องไปตายแน่ๆ ตายก็ตายเถิด ตายเพื่อแผ่นดินไทย

ในที่สุดดิฉันก็เตรียมของ ท่านบอกว่าอย่าเอากระเป๋าไปนะ ไม่ต้องมีอะไรทั้งสิ้น ให้ใส่ถุงผ้าธรรมดา กำหนดวันเวลาแล้ว แต่ในที่สุดเป็นที่น่าเสียดายว่านายวิคเฮ้าส์ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่จะเดินทาง เป็นโรคแคนเซอร์ (มะเร็ง) เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่กระนั้นก็ยินดีพลีชีวิตเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ไว้ใจมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นอันนี้ในที่สุดทั้งอาจารย์และทั้งเราทั้งหลายนี้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นบุญคุณอะไรต่อประเทศไทย เราเสียสละเพื่อแผ่นดินจริงๆ เพราะฉะนั้น อันนี้จึงเป็นความภาคภูมิใจของดิฉันที่ท่านอาจารย์ได้กรุณาไว้วางใจ และมีโอกาสได้เป็นเสรีไทยคนหนึ่งของประเทศไทยเหมือนกัน ดิฉันคิดว่าจะจบแค่นี้ ขอขอบพระคุณมากค่ะ

 

ศาสตราจารย์ สรรเสริญ ไกรจิตติ: ท่านผู้หญิงพูนศุข คุณหญิงนงเยาว์และท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปราย ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณาให้โอกาสผมได้มีเกียรติมามีส่วนร่วมในการสดุดีรัฐบุรุษอาวุโสในวันนี้ สมัยที่ผมเรียนได้เริ่มเรียนอยู่ที่นี่ ยังมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวอยู่ถึง ๑๘ ปี แล้วก็ยกเลิกตำแหน่งนั้นไป ต่อมาภายหลังถูกตัดคำว่า วิชา กับคำว่า การเมือง ออกเสียด้วยเหตุผลที่แท้จริงอันใดก็เหลือที่จะเดา แต่ก็ยังเห็นการเมืองเข้ามายุ่งกับธรรมศาสตร์เป็นครั้งคราวอยู่เสมอมา สภาพของมหาวิทยาลัยเราในสมัยนั้นมีตึกโดมตั้งงามสง่าอยู่ข้างแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบัดนี้ยังมีอนุสาวรีย์ของท่านผู้ประศาสน์การประดิษฐานอย่างสวยงามอยู่หน้าตึกโดม

สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผมเป็นนักเรียนเตรียมปริญญารุ่นที่ ๔ เข้าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๖ จึงเริ่มเรียนกฎหมายระหว่างเรียนเตรียมอยู่นั้นได้มีโอกาสสัมผัสกับท่านผู้ประศาสน์การทั้งกายและทางใจอยู่บ้าง ทำให้เกิดความเคารพและนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ เคยช่วยกันอุ้มท่านใส่บ่าแบกหามไปรอบๆ สนาม เคยได้รับฟังคำโอวาทและคำสั่งสอนด้วยถ้อยคำอันสุภาพเรียบง่ายของท่าน ในบางครั้งแสดงถึงความเป็นสุภาพบุรุษและยอดปรมาจารย์ หรืออาจจะพูดสั้นๆ ได้ว่าผู้ดีเต็มตัว ซึ่งหายากในขณะนี้ สมแล้วที่ต่อมาท่านได้เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและรัฐบุรุษอาวุโสซึ่งจะหาคนอย่างท่านนี้มิได้อีกต่อไปแล้ว

หลักสูตรของโรงเรียนเตรียมปริญญา ๒ ปีนั้นดีเหลือเกิน นอกจากวิชาหลักทางด้านศิลปศาสตร์แล้วยังมีวิชาอาชีพเสริมให้อีก เช่นดนตรี พิมพ์ดีดและเชาวเลขเป็นต้น บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่สำเร็จเตรียมสองออกไปต่างนำวิชาความรู้ไปทำมาหากินได้ ในระหว่างเรียนกฎหมายหรือบัญชีรุ่น ๔ บางคนไปเป็นเสมียนที่รัฐสภาทำงาน จนต่อมาได้ ธ.บ. แล้ว เป็นถึงเลขาธิการรัฐสภาหญิงคนแรก และที่เป็น ร.ม.ต. ช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศก็มี บางคนเป็นนักดนตรีเอก หรือนายวงดนตรี บางคนก็เริ่มเป็นนัก น.ส.พ. หรือเสมียนพนักงานตามสถานที่ทำการงานต่างๆ แสดงให้เห็นแจ่มชัดว่า ท่านผู้ประศาสน์การท่านมองการณ์ไกลมาก จึงได้วางนโยบาย และจัดหลักสูตรของโรงเรียนเตรียมปริญญาให้เรียนวิชาที่นำไปใช้ทำมาหากินเพื่อมีทุนรอนในการเรียนกฎหมายหรือบัญชี ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ วิชาในขณะนั้น ต่อไปให้สำเร็จปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต หรือประกาศนียบัตรชั้นสูงทางบัญชีได้ ทั้งนี้พวกเราชาว ต.ม.ธก. ต่างรำลึกถึงพระคุณอันสูงสุดของท่านผู้ประศาสน์การอยู่อย่างมิรู้ลืม

ต่อมาเหตุการณ์บ้านเมืองได้เกิดความมหาวิปโยคโศกเศร้าขึ้นแก่ปวงชนชาวไทยทั่วทั้งแผ่นดินโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จสวรรคต ในเดือนมิถุนายน ๒๔๘๙ ก่อนที่จะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ เพียงไม่กี่วัน ขณะนั้นท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รับผิดชอบด้วยความจงรักภักดีเป็นที่สุด แต่เกมการเมืองผันแปรทำให้ท่านกับท่านผู้หญิงต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทุกครั้งที่มีโอกาสผ่านแวะที่ปารีสก็ได้ไปกราบคารวะเยี่ยมท่านอาจารย์ปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข เท่าที่จำได้ไม่น้อยกว่า ๓-๔ ครั้ง ทุกครั้งที่ได้พบท่าน ท่านได้ให้การต้อนรับคณะของเราอย่างอบอุ่นพร้อมด้วยอัธยาศัยไมตรีครั้งสุดท้ายได้กำหนดจะไปราชการที่ปารีส ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม แต่อนิจจาท่านถึงแก่มรณกรรมเสียก่อนเพียง ๑๗ วัน จึงไม่มีโอกาสได้กราบเยี่ยมคารวะท่านอีกตามเคย

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นท่านผู้หญิงท่านดูเหมือนจะมากรุงเทพฯ ท่านอาจารย์ได้กรุณาเชิญผมไปรับประทานอาหาร ที่ร้านอาหารมีชื่อไม่ไกลจากบ้านนัก พร้อมกับปาล บุตรชายของท่าน ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วอีกคน แต่ละครั้งได้เรียนถามท่านและคุยกับท่านในเรื่องต่างๆ เมื่อกราบเรียนถามถึงพระราชวงศ์จักรีท่านได้แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างจริงใจตลอดมาจนชีวิตจะหาไม่ และลำดับเรื่องราวของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ในสมัยที่ท่านยังรับราชการอยู่แต่ละพระองค์ได้เป็นอย่างดี การคุยกับท่านในทุกๆ เรื่อง เช่น ประวัติศาสตร์ไทยหรือต่างประเทศก็ดี การเมืองภายในหรือภายนอกก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ดี เหตุการณ์สังคมในอดีตเทียบกับสังคมในปัจจุบัน ทั้งไทยและเทศเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นการประสิทธิ์ประสาทซึ่งความรู้เพิ่มเติมให้พวกเราทั้งสิ้น

ท่านผู้ประศาสน์การของเรา ในฐานะนักกฎหมายทั้งไทยและฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศทั้งหลาย เพื่อปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการของไทยเราให้ได้รับความอิสระสมบูรณ์ และเป็นไทแก่ตัว รวมตลอดถึงทางการศาลด้วย สรุปแล้วว่าเราเสียเอกราชทางการศาลไปร่วม ๙๐ ปีเป็นเวลาเกือบครึ่งหนึ่ง นับแต่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ และกว่าจะแก้ไขกลับคืนมาได้ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ตลอดจนความอดทนของบรรดานักกฎหมายทั้งไทยและเทศชั้นสูงสุดยอดหลายท่านต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ฉะนั้นพวกเราชาวไทยโดยเฉพาะตุลาการผู้มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งหลาย จึงมีอำนาจหน้าที่อันสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและเกียรติศักดิ์ของศาลไทย ให้สถิตย์สถาพรร่วมกันไปกับความเจริญรุ่งเรืองและเอกราชอธิปไตยของเรา ตลอดชั่วกัลปาวสาน พระราชนันทมุนี ท่านปัญญานันทภิกขุ ได้แสดงธรรมไว้ในวันฌาปนกิจศพท่านรัฐบุรุษอาวุโส ณ สุสาน แปร์ลาแชส เมื่อบ่ายวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๖

บางตอนผมขอคัดลอกมาจากหนังสือ มิตรกำสรวล ซึ่งได้พิมพ์ขึ้นเนื่องในมรณกรรมของท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ดังนี้ “๘๓ มี ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ และขณะเมื่อมีชีวิตอยู่ในเมืองไทยนั้น ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อชาติไทย ได้เจริญรุดทัดเทียมกับประเทศศิวิไลซ์ทั่วไป แต่หลังจากนั้น เหตุการณ์กลับแปรเปลี่ยนด้วยผลทางการเมือง เพราะท่านเป็นคนทำความดี ซื่อสัตย์ และใจบริสุทธิ์เกินไปจนไม่วายที่จะเกิดการริษยากัน ระหว่างบุคคลที่ไม่อยากให้อีกคนหนึ่งก้าวหน้าได้ดิบได้ดี หรือเกินไปกว่าตัวจนมีการทำลายกัน จนท่านทนต่อการกดดันบีบรัดไม่ไหวจำต้องระหกระเหินจากแผ่นดินไทยไป ต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนจวบจนกระทั่งสิ้นชีวิต แม้แต่ปฐพีสยามท่านก็ไม่โอกาสได้สัมผัสจะขอเพียงเศษธุลีกลบหุ้มร่างกายเมื่อชีวิตหาไม่นั้น ก็เป็นถึงแสนยากเข็ญกิเลสเป็นพิษเป็นภัยต่อความก้าวหน้าของสังคม เราควรทำลายกิเลส คือสิ่งชั่วร้ายภายในร่างกายที่จะเกิดขึ้น และตรงนี้มีข้อความลงท้ายว่า “ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ท่านผู้ฟังทั้งหลาย” ขอบพระคุณครับ

 

ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร : ท่านผู้หญิงพูนศุข ท่านอธิการบดี ท่านผู้ฟังตลอดจนคนไทยผู้มีน้ำใจต่ออาจารย์ปรีดี ที่เคารพทั้งหลาย ผมไม่ได้มีโชคดีอย่างท่านผู้อภิปรายคนก่อนๆ ซึ่งสามท่านที่พูดไปแล้ว มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ปรีดีอย่างมาก แม้จะไม่เป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดแต่ผมก็เหมือนกับลูกศิษย์อีกหลายหมื่นคนซึ่งตระหนักถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ท่านอาจารย์ปรีดีมีต่อพวกเรา คนที่เคยเรียนธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เตรียมปริญญาจนถึงมหาวิทยาลัย จะต้องยอมรับกันว่าเหนือสิ่งใดที่เราได้จากสถาบันแห่งนี้ สิ่งนั้นคือ จิตใจและสปิริตในการรับใช้ประชาชนและรับใช้สังคม ฉะนั้นผมเองทั้งๆ ที่ภูมิปัญญาก็น้อย โอกาสที่จะศึกษางานของท่านก็ไม่มากนักก็ได้ตอบรับที่จะมาร่วมแสดงความรู้สึกในวันนี้

ผมและท่านอธิบดีสรรเสริญอาจจะพูดได้ว่า เป็นลูกศิษย์ธรรมศาสตร์รุ่นสุดท้ายของท่านอาจารย์ปรีดี เราสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตเมื่อปี ๒๔๙๐ วันสุดท้ายที่พวกเราหมายถึงเพื่อนฝูงผมที่เรียนกันรุ่น ๔ ได้มีโอกาสพบท่านอาจารย์ปรีดี คือวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๗ เป็นวันไหว้ครูของชาวธรรมศาสตร์ ในบันทึกประจำวันของผมในวันนั้นผมเขียนไว้ว่า

วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๘๗ เป็นวันที่มหาวิทยาลัยจัดให้มีการไหวัครู โดยมีท่านผู้ประศาสน์การ อาจารย์ปรีดีเป็นประธาน นักศึกษาทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ในการที่ได้มีโอกาสรับฟังโอวาทจากท่านซึ่งได้เน้นถึงความสำคัญของความกตัญญูกตเวทีต่อครู ท่านยังให้ข้อสังเกตอีกหลายประการโอวาทของท่านแต่ละคำได้จารึกไว้ในสมองของพวกเราทุกคน

นั่นก็เป็นบันทึกสั้นๆ ที่ผมเขียนไว้ ผมต้องขอสารภาพว่าในช่วงเวลา ๒ อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ผมได้พยายามคิดหาถ้อยคำที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกอันจริงใจของผม ในฐานะลูกศิษย์คนเล็กๆ คนหนึ่งที่มีต่อท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะอาจารย์ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ผมต้องขอสารภาพต่อไปว่า ผมเองยิ่งคิดก็ยิ่งประสบกับความลำบากอย่างมาก ในการที่จะหาถ้อยคำที่เหมาะสมถูกต้องสมบูรณ์ที่จะกล่าวถึงผลงานและความดีความงามที่ท่านมีต่อคนไทยและประเทศไทยของเรา เพราะว่าเพียงช่วง ๑๕ ปี ท่านได้ทำงานและดำรงตำแหน่งต่างๆ ในประเทศไทยมากมายหลายฐานะ หลายตำแหน่ง หลายโอกาส

ในด้านวิชาการท่านอาจารย์เป็นนักศึกษาที่เรียนเก่งเรียนดีที่สุด เมื่อสำเร็จวิชากฎหมายก็เป็นนักนิติศาสตร์ที่ปราชญ์เปรื่อง และสามารถว่าความชนะโดยไม่ได้มีการฝึกปรือมาก่อน เป็นนักรัฐศาสตร์ผู้จัดเจน ท่านอาจารย์จิตติ คุณหญิงแร่ม ได้พูดถึงผลงานของท่านในฐานะรัฐมนตรีมหาดไทย และรัฐมนตรีต่างๆ และเป็นนักเศรษฐกิจที่ยอดเยี่ยม ซึ่งผลงานเหล่านี้ปรากฏชัดแจ้ง งานสำคัญที่สุดซึ่งผมจะพูดเป็นพิเศษ ก็คือ ท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้เขียนแผนพัฒนาของประเทศไทยฉบับแรก และยังได้ตั้งสถาบันการเงินที่สำคัญที่สุดของบ้านเมือง คือธนาคารชาติ ท่านยังเป็นนักการศึกษาที่มีความคิดก้าวหน้า เวลานี้นักการศึกษาทุกคนที่มีใจเป็นธรรมต้องยอมรับว่า ความคิดอ่านของท่านเมื่อ ๔๐ ปีก่อนล้ำหน้ามาก เริ่มตั้งแต่การตั้งโรงเรียนเตรียมฯ ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาปัจจุบันเวลานี้คนหนุ่มสาวเป็นเรือนแสนเบียดเสียดกันสมัครเพื่อจะสอบตำแหน่งราชการเพียงสี่พันตำแหน่ง ปัญหาเหล่านี้อาจารย์ปรีดีคิดมาตั้งแต่สมัย ๔๐ ปีก่อนธรรมศาสตร์บัณฑิตของเราในช่วงนั้น เป็นบัณฑิตที่เตรียมพร้อมที่จะทำมาหากินได้ทุกโอกาส ไม่ใช่มาหวังพึ่งราชการแต่อย่างเดียว

ในฐานะนักการศึกษาท่านเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งผมสามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่า เป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกแห่งหนึ่งของโลก และสามารถยืนยันได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของทวีปเอเชีย ในฐานะคนไทย ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นแบบอย่างคนไทยผู้รักชาติ ได้กอบกู้เอกราชของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประการสุดท้ายในแง่ของผม ความจริงไม่มีอะไรสุดท้ายสำหรับอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นผู้บุกเบิกงานด้านสังคม เป็นผู้ต่อสู้ เป็นผู้วางรากฐานของการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เป็นการเข้าไปดูแลคนยากคนจน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศผู้ใช้แรงงาน ท่านอาจารย์จิตติ คุณหญิงแร่ม และอธิบดีสรรเสริญ ได้พูดไปแล้วถึงผลงานด้านการบริหารต่างๆ โดยเฉพาะในด้านขบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ฉะนั้นผมอยากจะมาพูดเฉพาะในด้านเดียว คือในด้านสังคม เพราะเท่าที่เราได้ยินได้ฟังกันมานั้น ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก

ผมพูดไว้โดยไม่มีความรู้สึกอะไรเลยว่า อาจารย์ปรีดีเป็นผู้บุกเบิกงานด้านนี้ และความคิดความอ่านของท่านได้มีส่วนทำให้คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะผู้ทำงานด้านสังคมแรงงาน ได้เอาไปปฏิบัติเป็นอย่างมากทีเดียว งานสำคัญที่สุดที่วางพื้นฐานสังคมในเมืองไทย เริ่มแรกก็คือการวางแผนเศรษฐกิจ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ เป็นที่น่าสนใจว่าท่านอาจารย์ปรีดีเขียนแผนพัฒนาชาติหรือแผนเศรษฐกิจครั้งแรกเมื่อ ๕๐ ปีก่อน แต่ขณะเดียวกันเป็นแผนที่ให้ความสำคัญทางสังคม เป็นแผนที่มองเห็นว่าการพัฒนาบ้านเมืองนี่ มันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้บ้านเมืองเติบโตขึ้นมาเป็นจำนวนร้อยละ ๕ ร้อยละ ๖ ร้อยละ ๗ ซึ่งเป็นการวางแผนที่ผ่านมาในช่วงแผน ๑ จนถึงแผน ๕

แผนเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดี เน้นที่คน เน้นชาวไร่ชาวนา เน้นผู้ใช้แรงงาน อันนี้เป็นที่ประหลาดมาก ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมคนซึ่งเกิดสมัยโน้น และบ้านเมืองก็ยังมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร แต่สามารถมองไกลไปถึงปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในทุกวันนี้ ฉะนั้นหลายท่านพูดว่าท่านปรีดีเป็นอัจฉริยะผมจึงไม่สงสัย ผมเห็นเรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ ผมจะขออนุญาตวิเคราะห์ในประเด็นนี้สักเล็กน้อย ผมอยากใช้คำว่าแผนพัฒนาฉบับแรกของประเทศ อยู่ใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของอาจารย์ปรีดีเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของอาจารย์ปรีดีแยกออกเป็น ๓ ตอน ตอนที่ ๑ คือ โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติโดยทั่วๆ ไป ตอนที่ ๒ คือ เค้าโครงร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร อันนี้ก็คือการประกันสังคม อาจารย์ปรีดีเห็นว่ามนุษย์เรานี้ โดยเฉพาะในหลักธรรมะที่ท่านยึดเสมอ คือความไม่เที่ยง อนิจจัง ท่านเขียนไว้เยอะด้านนี้ ฉะนั้นท่านเห็นทันทีเมื่อ ๕๐ ปีก่อน ว่าบ้านเมืองจะมีความมั่นคง ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่กันอย่างมีความสุขนั้น จะต้องมีรายได้ที่มั่นคง ฉะนั้นท่านจึงจัดระบบเรื่องนี้ไว้ ตอนที่ ๓ เป็นเค้าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ อาจารย์ปรีดีคิดและเห็นความสำคัญของทางราชการที่จะเข้าไปดำเนินงานทางธุรกิจซึ่งเราเรียกกันปัจจุบันนี้ว่ารัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคง ความปลอดภัยและความผาสุกของประชาชน คือรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นความคิดอ่านเมื่อสมัยนั้นแล้ว

แต่เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกิน ความคิดของท่านไม่เป็นที่ยอมรับ มิฉะนั้นแล้วเรื่องการประกันสังคมนี้ ป่านนี้คนไทยซึ่งตกงานอยู่ปีนี้แสนคน กำลังว่างงาน ๒ ล้านคน จะมีรายได้ไปซื้ออาหาร ไปซื้อเสื้อผ้า ซื้อของใช้จำเป็นให้ลูกเมียได้หลายท่านมักจะพูดบอกว่า เรื่องว่างงานเป็นเรื่องธรรมดา ตอนนี้อังกฤษว่างงานกันตั้ง ๕ ล้าน อเมริกาว่างงาน ๑๒ ล้าน ข้อนี้จริงแต่อังกฤษ อเมริกา เขามีเงินประกันสังคม คนอังกฤษ คนอเมริกาเขาสามารถเอาเงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายได้ แต่ของเราเอาอะไรมาใช้จ่าย

เรื่องเศรษฐกิจที่อาจารย์ปรีดีมอง ถือว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคืออยู่ที่คนอยู่ที่ประชาชน โดยเฉพาะคนส่วนใหญ่ชาวไร่ชาวนา หลายเดือนมานี้เราได้รับฟังความทุกข์ร้อนของชาวไร่ชาวนา ขายข้าวได้แม้แต่ราคาก็ไม่คุ้มทุน ราคาข้าวต่อเกวียนชาวนาต้องเสียค่าใช้จ่าย ๑,๕๐๐ บาท เวลานี้ขายได้ ๑,๖๐๐ บาท และเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้มันก็สะท้อนมาถึงบ้านเมือง คือ ขาดกำลังซื้อ ปัญหามันก็เป็นเรื่องยุ่งยากขึ้น ถ้าเราได้จัดระบบตั้งแต่ช่วง ๕๐ ปี มีการปรับปรุงแก้ไขขึ้นมา ปัญหาต่างๆ ก็ย่อมจะน้อยลงกว่าทุกวันนี้

ผมอยากจะขอพูดต่อเนื่องไปถึงเรื่องแรงงานและเรื่องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมเองได้สนใจศึกษาและทำงานมาในช่วง ๓๐ กว่าปี นักศึกษาด้านแรงงานทั้งหลาย คงจะไม่ปฏิเสธว่า วิวัฒนาการของแรงงานของประเทศไทยนี่ มีความคิดความอ่าน หรือมีการริเริ่มกันมาตั้งสมัยการเปลี่ยนแเปลงการปกครอง หลัก ๖ ประการอันหนึ่งก็คือ การช่วยราษฎรให้มีงานทำ ทันทีทันใดที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแเปลงการปกครองสำเร็จ ได้ประกาศหลัก ๖ ประการ ซึ่งมีการออกกฎหมายสำคัญ ๒ ฉบับ เป็นการที่จะนำนโยบายด้านแรงงานฉบับแรกของประเทศไทย ไปสู่การปฏิบัติ กฎหมายดังกล่าวคือ พ.ร.บ. ว่าด้วยสำนักงานจัดหางาน พ.ศ. ๒๔๗๕ และ พ.ร.บ. สำนักงานท้องถิ่น ๒๔๗๕ ทั้ง ๒ ฉบับนี้ เป็นการเริ่มต้นที่ให้บริการแก่ประชาชน ผู้ที่มีความประสงค์และจำเป็นต้องหางานทำทางรัฐได้ตั้งสำนักงานขึ้นช่วยโดยไม่คิดค่าบริการ

ขณะเดียวกันสนับสนุนเอกชนตั้งสำนักงานขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มเติมบริการของรัฐในทรรศนะผม กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ นี้ถือได้ว่าเป็นนโยบายเพื่อการมีงานทำฉบับแรกของประเทศไทย เป็นที่น่าสนใจว่ากฎหมายที่ท่านอาจารย์ปรีดีได้เสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรออกมาเมื่อ ๕๐ ปีก่อนนั้น ๔ ปี หลังจากนั้นประธานาธิบดีรูสเวลท์ ขณะนั้นยังเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ค ได้เอาแนวทางไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโครงการสร้างงานให้แก่ประชาชนด้วย

นอกจากที่ท่านจะได้ผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการมีงานทำฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นกฎหมายหรือนโยบายการมีงานทำอันแรกของทวีปเอเชียแล้ว ต่อมาในปี ๒๔๗๙ เมื่อเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย อาจารย์ปรีดียังได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายเรียกว่า พ.ร.บ. สอบสวนภาวะกรรมกร ๒๔๗๙ ให้อำนาจรัฐบาลที่จะเข้าไปศึกษาค้นคว้าเพื่อทราบถึงสภาวะความเป็นอยู่ของกรรมกร และสภาพการทำงานต่างๆ ทุกวันนี้เรากำลังตื่นเต้นกันเหลือเกินในการพูดถึงปัญหาแรงงานกำลังมีการสำรวจศึกษากันถึงความต้องการแรงงาน มีการศึกษาถึงสภาพการทำงานต่างๆ แต่ความคิดเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ อาจารย์ปรีดีได้เสนอมาเมื่อตั้ง ๕๐ ปีก่อน แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้มีการสานต่ออาจารย์ปรีดีออกไป

โดยสรุปอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นมันสมองของชาติไทย เป็นผู้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นนักคิด นักวางแผน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และในขณะเดียวกันก็ได้มีสายตาไกล ได้คิดถึงปัญหาแรงงานตั้งแต่เมื่อ ๕๐ ปีก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ คนหนุ่ม คนสาว สำเร็จการศึกษา ระดับอาชีวะ อุดมศึกษา ไม่มีงานทำ อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นแต่เพียงนักคิด เหมือนกับที่พวกเราหลายคนเป็นกัน เมื่อคิดเสร็จแล้วเขียนแผน นำความคิดไปปฏิบัติในรูปการจัดตั้งสำนักงานของรัฐ ตลอดจนให้รัฐบาลได้เริ่มศึกษาสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน ถ้าเรามีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง สร้างพื้นฐานกันมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ปรีดีปัญหาทุกวันนี้ก็คงจะไม่รุนแรง

ท่านผู้ฟังที่เคารพครับ ผมมีความเชื่อมันว่าการที่มหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์ได้จัดทำพิธีรำลึกถึงอาจารย์ปรีดีในคราวนี้ก็ดี การทำพิธีรำลึกสดุดีทั้งหลายที่เราได้ทำกันมาก็ดี ไม่ว่าจะเป็นรูปการแสดงความคิดเห็นอย่างวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปการสร้างอนุสาวรีย์ให้ท่านโดยความเห็นส่วนตัวของผมเอง ในฐานะลูกศิษย์คนเล็กๆ คนหนึ่งเป็นแค่เพียงสิ่งเล็กน้อยที่ยืนยันถึงสัจจะที่ยอมรับกันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ถึงคุณธรรมและผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่านในรอบ ๑๐๐ ปี อาจารย์ปรีดีเป็นรัฐบุรุษที่หายากคนหนึ่ง ในฐานะนักประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ในฐานะนักสันติภาพ เป็นผู้แสวงหาความสงบสุขให้แก่ชาวโลก

ในฐานะคนไทย อาจารย์ปรีดีเป็นบิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยได้พยายามต่อสู้รักษาระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรักษาเอกราชของชาติ ในฐานะผู้บุกเบิกด้านสังคม ได้วางรากฐานและส่งเสริมความเป็นธรรม การสร้างโอกาสให้แก่คนส่วนใหญ่ คนยากคนจน ชาวไร่ ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ในสายตาของนักคิดหลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ความสำคัญของอาจารย์ปรีดีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับ เมา เซ ตุง (เหมา เจ๋อ ตุง) ของจีน และเนรูห์ของอินเดีย

คุณูปการของอาจารย์ปรีดีที่มีต่อประเทศไทย และคนไทยผู้รักชาติทั้งหลายนั้นใหญ่หลวงนัก สิ่งที่เราทำกันในวันนี้เล็กน้อยเหลือเกิน แต่อย่างน้อยในวันซึ่งอากาศหรือสภาพทางอากาศซึ่งมีคนพูดว่าฝนตกมากที่สุดในรอบพันปี แต่ถึงขนาดนั้นห้องประชุมแห่งนี้ก็ยังแน่นขนัดไปด้วย คนหนุ่ม คนสาว คนแก่ ทุกวัย ผมเชื่อว่าคนเหล่านี้มาด้วยน้ำใจ บางคนก็ต้องบุกฝ่าน้ำท่วมมา ขึ้นรถเมล์มา เดินมา ประจักษ์พยานที่เราเห็นในห้องประชุมแห่งนี้ มีความหมายมากมายต่อถ้อยคำจากคนเล็กๆ อย่างผม ผมขอกราบขอบพระคุณทุกท่านครับ สวัสดีครับ

 

หมายเหตุ :

  • การอภิปรายนี้จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ ข้อความที่นำมาลงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของถ้อยคำอภิปรายซึ่งคัดตัดตอนมา
  • คงอักขรการสะกด เลขไทย และการอ้างอิงตามต้นฉบับ
  • ภาพประกอบโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ 

บรรณานุกรม :

  • สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529)