ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ชีวประวัติและผลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 2

5
พฤษภาคม
2567

Focus

  • ชีวประวัติและผลงานของท่านปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 2 ของอรุณ เวชสุวรรณ นำเสนอผลงานสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์อย่างรอบด้านโดยเรียบเรียงมีพื้นฐานมาจากหนังสือชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ ผลงานตอนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผลงานตอนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผลงานตอนดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผลงานตอนเป็นหัวหน้าเสรีไทย และผลงานตอนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบุรุษอาวุโส
  • บทบาทสำคัญของนายปรีดีที่โดดเด่นได้แก่ สมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 และดำรงตำแหน่งจนถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้ปฏิบัติภารกิจโดยการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎร ยกเลิกภาษีรัชชูปการ ภาษีส่วยอากรค่านา และสถาปนาประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 นายปรีดีได้ดำเนินงานเป็นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นเรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งได้ร่วมกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอังกฤษเพื่อปฏิบัติการรับใช้ชาติให้รอดพ้นจากสงคราม
  • ท้ายที่สุดบทความนี้ของอรุณแสดงให้เห็นความไม่ชอบธรรมของการรัฐประหารและระบอบเผด็จการอำนาจนิยมนับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 จนถึงการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 ที่มีผลต่อการที่ไทยไม่อาจสร้างระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นได้ ส่งผลให้คณะราษฎรปิดฉากบทบาทและอำนาจในระบบรัฐสภา และนายปรีดี พนมยงค์ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยถาวรนับจาก พ.ศ. 2492

 

ผลงานตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ท่านปรีดีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ และดำรงตำแหน่งจนถึง ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้มีผลงานคือมีการเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยที่สมบูรณ์ และได้ดินแดนบางส่วนในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องความเป็นเอกราช และอธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นผลงานตอนไหน จึงขอนำเอาตอนที่ท่านปรีดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเสนอดังต่อไปนี้

เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลพระยาพหลฯ แล้ว พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี จึงมอบหน้าที่ให้ท่านปรีดีเป็นผู้ปฏิบัติการเพื่อเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศเพื่อให้สยามมีเอกราช และอธิปไตยที่สมบูรณ์ท่านปรีดีจึงใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมต่างๆ นั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ในที่สุดจักรวรรดินิยมทุกประเทศก็ได้ยอมทำตามสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล และในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ (ดูประวัติย่อของท่านปรีดี ฉบับพิมพ์ที่ปารีส สิงหาคม ๒๕๒๕)

นอกจากผลงานที่กล่าวแล้ว ท่านปรีดียังได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษได้โอนดินแดนของสยามส่วนหนึ่งที่อังกฤษได้ไปจากสยาม ตามสนธิสัญญาฉบับปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับอังกฤษซึ่งมีดินงอกทางฝั่งไทย และอีกแห่งหนึ่งที่มีดินแดนริมฝั่งไทยด้านริมแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงยินยอมให้ดินแดนที่งอกที่ฝั่งไทยนั้นเป็นดินแดนของไทย ฯลฯ

การปฏิบัติหน้าที่เพื่อความเจริญวัฒนาถาวรของประเทศนั้น ผู้ที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านปรีดีได้พูดถึงกันอยู่เสมอว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริงมีเจตนารมณ์ที่ต้องการทำเพื่อชาติจริงๆ สำหรับเรื่องนี้ ท่านปัญญานันทะภิกขุ นักเผยแพร่ธรรมที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี ได้ปาฐกถาที่สมาคมธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ ปาฐกถานั้นรวมพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ปาล พนมยงค์ โรงพิมพ์อมรินทร์การพิมพ์ ๒๕๒๕ หน้า ๓๑ ว่า “พ่อของคุณปาล (หมายถึง ท่านปรีดี) นั้น แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเวลานี้ แต่ก็ปรากฏว่าเป็นคนเรียบร้อย ประพฤติดี ประพฤติชอบ เสียสละเพื่อส่วนรวม ทำประโยชน์แก่สิ่งที่เป็นส่วนรวมตลอดเวลา ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว

ท่านทั้งหลายลองไปอ่านหนังสือที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยพิมพ์แจกเมื่อบริษัทมีอายุครบรอบ ๖๐ ปี เขาสรรเสริญท่านปรีดีไว้ว่า มาเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษาแนะนำอะไรต่างๆ ให้แก่บริษัทอย่างดีตลอดเวลา แต่ไม่ยอมรับเงินที่เขาให้ ไม่รับเบี้ยเลี้ยง ไม่รับเบี้ยประชุมเลยแม้แต่น้อย อันนี้บริษัทปูนซีเมนต์ไทยเขาสรรเสริญไว้

ได้ทราบจากลูกศิษย์ลูกหาว่า สมัยท่านเป็นผู้ประศาธน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยโน้น เงินเดือนที่ได้ในตำแหน่งนั้นท่านไม่ได้เอา แต่ว่ามอบให้มหาวิทยาลัย เพื่อเอาไปใช้ปรับปรุงกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า นับว่าเป็นผู้มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ได้ ไม่กอบโยผลประโยชน์ในเมื่อมีช่องทางที่จะกอบโกยได้ จึงเป็นบุคคลที่อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ

แม้ไปอยู่เมืองนอกก็ไม่ได้ไปอยู่อย่างคนมั่งคั่งอะไร อยู่บ้านเล็กๆ ชานกรุงปารีส ถ้าไปเห็นบ้านแล้วก็นึกสงสารเจ้าของบ้านว่าเคยเป็นคนใหญ่โตในประเทศไทย เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยหนึ่ง แต่ว่าไปอยู่บ้านน้อยๆ แต่ดูชีวิตก็เป็นสุขดี มีอารมณ์สดชื่น คุยกันด้วยความผ่องใสในจิตใจ หน้าตาผ่องใส ไม่มีอารมณ์ทุกข์ร้อน อันนี้ได้ไปเห็นมาด้วยตนเองแล้ว สังเกตดูว่าเป็นคนมีความสุขคนหนึ่งในแผ่นดินนั้น”[1]

 

ผลงานตอนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เมื่อสมัยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ และดำรงตำแหน่งจนถึง ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ปฏิบัติภารกิจโดยการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นประโยชน์แก่ราษฎร ยกเลิกภาษี “รัชชูปการ” ภาษีส่วยอากรค่านา สถาปนาประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

การยกเลิกภาษีรัชชูปการนั้น เป็นการยกเลิกภาษีส่วย[2] หรือเงินส่วยซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินา นอกจากนั้นยังได้ยกเลิกอากรค่านาที่เป็นซากของการบรรณาการซึ่งราษฎรที่ทำนาต้องส่งบรรณาการให้แก่ศักดินาสูงสุดที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม

ในสมัยของท่านปรีดี นอกจากสถาปนา “ประมวลรัษฎากร” เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคมแล้ว ยังได้ปรับปรุงภาษีอากรที่เป็นธรรมแก่สังคมอีกหลายอย่างอาทิ ผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก และถ้าผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็เสียภาษีอากรมากตามลำดับ

นอกจากนั้นท่านปรีดียังได้จัดการป้องกันทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งอยู่ในต่างประเทศซึ่งควรจะจารึกไว้ด้วยคือ เมื่อครั้งระบบสมบูรณาฯ ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอริงค์เป็นทุนสำรอง เงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษ ท่านปรีดีได้คาดคะเนว่าเงินปอนด์สเตอริงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้น จึงได้จัดเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินสำรองเงินตราจำนวนหนึ่งซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนัก ๑ ล้านเอานซ์ (๓๕ ล้านกรัม) ในราคาเอานซ์ละประมาณ ๓๕ เหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นทุนสำรองเงินบาทอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณเอานซ์ละ ๓๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา นับว่าเป็นการทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทีเดียว

เมื่อสมัยที่ญี่ปุ่นจะเริ่มเปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพา ท่านปรีดีได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาแลกกับเงินตราไทยอีกจำนวนหนึ่ง และทองคำอีกจำนวนหนึ่งที่ท่านปรีดีในฐานะหัวหน้าเสรีไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนายควง อภัยวงศ์ ที่จะให้เงินญี่ปุ่นกู้ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ต้องเอาทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารชาติญี่ปุ่นกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งสัมพันธมิตรได้มอบให้รัฐบาลไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับเป็นผลประโยชน์ที่ได้แก่ประเทศชาติที่คนไทยทั่วไปควรคำนึงถึงให้มาก

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุก ท่านปรีดีได้โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษและอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย ทำให้ญี่ปุ่นไม่ได้ประโยชน์จากวิสาหกิจทั้งสองนั้นได้ เพราะก่อนหน้านั้นตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับอังกฤษและอเมริกันนั้น บริษัทอังกฤษอเมริกันใช้สิทธิ์พิเศษทำการผูกขาดการทำบุหรี่ซิกาเรตจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อท่านปรีดีทำสัญญาใหม่กับนานาประเทศสมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆ แล้ว จนกระทั่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้จัดการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรม และประกาศประมวลรัษฎากรแล้ว ท่านปรีดีได้เสนอรัฐบาลให้เสนอพระราชบัญญัติยาสูบต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพระราชบัญญัติฉบับนั้นได้ประกาศใช้แล้ว ท่านปรีดีได้จัดการโอนกิจการของบริษัทอังกฤษอเมริกันเข้ามาเป็นของรัฐบาลไทยและได้ทำสำเร็จลงเมื่อประมาณ ๖ เดือนก่อนญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ถ้าสมมุติกิจการนั้นบริษัทอังกฤษอเมริกันยังเป็นเจ้าของอยู่ญี่ปุ่นผู้รุกรานก็คงยึดเอาไปเป็นทรัพย์สินเชลยของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นจะผลิตยาสูบจำหน่ายในประเทศไทยตลอดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นก็จะได้เงินกำไรหลายพันล้านบาท

เพียงเท่านี้ก็นับเป็นผลงานที่คนไทยควรจะระลึกถึง ไม่ควรลืมผลงานของท่านง่ายๆ เพราะถ้าไม่ใช่มันสมองอันปราดเปรื่องของท่านประเทศชาติจะเสียประโยชน์ไปมากเท่าใดก็คิดดูเอา.

เกี่ยวกับการตั้งธนาคารชาติซึ่งท่านได้เสนอไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ แต่ถูกรัฐบาลสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่าทำไม่ได้ เมื่อท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอนุญาตให้ตั้งได้ แต่รัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ ท่านปรีดีได้กว้านซื้อเหรียญเงินโลหะที่เป็นเงินอย่างดี ส่งไปขายที่อเมริกา โดยบริษัทที่ทำของใช้ด้วยโลหะรับซื้อในราคาแพง ได้เงินทุนมาซื้อทองคำ เมื่อทองขึ้นราคาจึงได้ทุนมาตั้งธนาคารชาติ เรื่องนี้มีผู้นำมาเปิดเผยในวารสาร “ความรู้คือประทีป” ปี พ.ศ.๒๕๔๑ บันทึกไว้ละเอียดว่าได้เงินกี่ตัน บรรทุกรถไปลงเรือส่งไปขายที่อเมริกากี่เที่ยว บริษัทที่รับซื้อชื่ออะไร ได้เงินเป็นทุนสร้างธนาคารชาติเท่าใด ล้วนมีหลักฐานที่บันทึกไว้เป็นอย่างดี ยากที่ใครจะมาบิดเบือนได้

 

เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นหัวหน้าเสรีไทย

เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น แต่ท่านปรีดีได้ดำเนินงานเป็นขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น เรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” ซึ่งต่อมาได้ร่วมกับเสรีไทยในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอังกฤษเป็นขบวนการที่ปฏิบัติการเพื่อรับใช้ชาติโดยฝ่ายหนึ่งได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ฝ่ายหนึ่งปฏิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบา

เกี่ยวกับการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยจนฝ่ายพันธมิตรยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ใช่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม ไม่ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม (ซ้ำยังได้ค่าปฏิกรรมสงครามจากญี่ปุ่นเสียอีก) มีบางคนว่าไม่มีหลักฐาน และว่าการประกาศสงครามของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นโมฆะ เป็นเรื่องตลก ฯลฯ)

สำหรับเรื่องนี้ท่านปรีดี ได้เปิดเผยเอกสารต่างๆ ไว้ในหนังสือ ชีวประวัติย่อของท่านที่พิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โดยสหรัฐอเมริกาได้รับรองเอกราชและอธิปไตยของไทย และรับรองว่าท่านปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทย สหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยโดยมีหนังสือเป็นหลักฐานของรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกาสมัยนั้น แจ้งต่อรองผู้อำนวยการสำนักงานบริการยุทธศาสตร์ฉบับเลขที่ ๘๙๒/๗๒ ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ดังมีใจความตอนหนึ่งว่า

“ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งอเมริกาจึงถือว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลแห่งประเทศไทยตามที่เป็นอยู่ก่อนนายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า (หลวงประดิษฐ์ฯ) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ตราบเท่าที่รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) มิได้รับแจ้งการตรงกันข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาล ส.ร.อ. ในอนาคตในการถือว่าหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทย ในประเทศไทย...ฯลฯ…”

เอกสารดังกล่าวลงนามโดย นายคอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอเมริกาในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังมีหนังสือของรัฐบาลอเมริกัน เป็นบันทึกที่จัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้เพื่อประธานาธิบดี ค.ศ. ๑๙๔๕ เล่ม ๖ หน้า ๑๒๔๒-๑๒๔๔ (ดูสำเนาฉบับจริงได้ในหนังสือชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ หน้า ๒๕-๒๖) ดังมีคำแปลเอกสารนั้นตอนหนึ่งมีว่า

“...ฯลฯ...ภายในประเทศไทย ระบบปกครอง (รัฐบาลพิบูลฯ) ซึ่งเดิมยอมจำนนญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือ (กับญี่ปุ่น) อันเป็นที่รู้กันกระฉ่อนทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนโดยระบบปกครอง (รัฐบาลควงฯ) ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้สำเร็จราชการปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น อเมริกันได้ติดต่อกับหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ช่วยสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในงานข่าว และเป็นผู้ที่แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร...ฯลฯ…”

นอกจากนั้นยังมีเอกสารบันทึกที่จัดทำโดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นโทรเลขลับระหว่างผู้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกากับท่านปรีดี เลขที่ ๗๔๐.๐๐๑๑ พี.ดับบลิว/๕-๒๙๔๘ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (ดูรายละเอียดทั้งหมดได้จาก หนังสือชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ที่กรุงปารีส สิงหาคม ๒๕๒๕) ตอนหนึ่งของเอกสารนั้นมีว่า

“...ฯลฯ...ความปรารถนาจริงใจของท่านและมวลราษฎรไทยในการบอกปัดการประกาศสงครามกับข้อตกลง (กับญี่ปุ่น) ของพิบูลฯ นั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจแจ่มแจ้งมีคุณค่า...ฯลฯ…” เอกสารฉบับนั้นลงนามโดย กรูว์ รักษาการแทนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

เกี่ยวกับประเทศอังกฤษมีทัศนะอย่างไรต่อขบวนการเสรีไทยนั้น ลอร์ด เมาน์ทแบทเตน ได้บรรยายถึงบทบาทของท่านปรีดีในหนังสือพิมพ์ ไทมส์ ฉบับ ๑๘/๑๒/๑๙๔๖ (ดูรายละเอียดในหนังสือชีวประวัติย่อนายปรีดีที่อ้างแล้ว) คำแปลตอนหนึ่งมีใจความว่า

“ในตอนญี่ปุ่นรุกรานยึดครองสยาม ประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งในรัฐบาล แต่เขาได้ปฏิเสธที่จะลงนามในการประกาศสงครามต่อเรา พิบูล...รู้ว่าเขา (ประดิษฐ์) เป็นคนที่ทรงอำนาจอย่างยิ่ง และได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศ และก็หวังที่จะทำให้เขาเป็นตัวหุ่น โดยยกเขาไปสู่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายอมรับพิบูลหรือญี่ปุ่นมิได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่าขณะที่ประดิษฐ์ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นั้น เขาก็ได้เริ่มต้นดำเนินการจัดตั้งและอำนวยการขบวนการต่อต้านของชาวสยามขึ้น...ฯลฯ..”

ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ทแบทเตน แห่งพม่า คือผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเซียอาคเนย์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีศักดิ์เป็นลุงของเจ้าฟ้าชายชาส์ลแห่งประเทศอังกฤษเพิ่งเสียชีวิตจากการลอบวางระเบิดของพวกโจรไอริชเมื่อไม่นานมานี้นอกจากเอกสารหลักฐานที่กล่าวนี้แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นสงครามลงแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้มีโทรเลขถึงเอกอัครราชทูตอังกฤษ (ดูสำเนาในหนังสือประวัติท่านปรีดีที่อ้างแล้ว หน้า ๓๖) คำแปลเป็นภาษาไทยความตอนหนึ่งมีว่า

“...ฯลฯ...กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ได้อนุญาตเมาท์แบทเตน แนะนำเป็นส่วนตัวมายัง “รู้ธ” (ปรีดีฯ) ให้ประกาศ (สงครามเป็นโมฆะ) โดยเร็วที่สุดที่จะเป็นได้ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนในที่สุดแล้วนั้น บอกปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา อีกทั้งมาตรการทั้งหลายที่เกิดจากการนั้น..ฯลฯ…”

เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านปรีดีจึงได้ประกาศสงครามเป็นโมฆะทันทีที่ได้รับสาส์นของ ลอร์ด เมาน์ทแบทเตน และได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี, นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีสั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการดังมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“...ฯลฯ..ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ เมื่อก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทาง กับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้…ฯลฯ…”

เป็นอันว่าการประกาศสงครามของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ก่อนหน้านั้นเป็นโมฆะ รัฐบาลพันธมิตรยอมรับเอกราชบูรณภาพและอธิปไตยของไทย ประเทศไทยไม่ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามตามธรรมเนียมแต่ประการใด นับเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุด ชิ้นหนึ่งของ ท่านปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม จะเขียนเรียกขบวนการเสรีไทยว่า “กองโจร” ในหนังสือชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” หลายที่หลายแห่ง

สำหรับผู้สนใจเรื่อง “เสรีไทย” นี้ควรจะหาอ่านได้จากหนังสือ จดหมายเหตุของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิทเรื่องจดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา” และหนังสือ “อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์, เสรีไทย นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก” และบทความของ นายป๋วย อิ้งภากรณ์ เกี่ยวกับเสรีไทย, บทความเกี่ยว กับเสรีไทยหลายท่านที่ได้ลงพิมพ์ในหนังสือของ นายดิเรก ชัยนาม เรื่อง ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง ฯลฯ

เกี่ยวกับเรื่องเสรีไทยนี้ นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ ส.ป.อ. และเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ได้เขียนไว้ว่า (ดูหนังสือเรื่อง "บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร และนายเปรื่อง ศิริภัทร จัดพิมพ์เมื่อ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ หน้า ๑ เป็นใจความของจดหมายที่มีถึงคุณสุพจน์ ด่านตระกูล มีความตอนหนึ่งว่า)

...ความจริงชีวิตและงานของท่านปรีดีเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะส่วนที่ท่านได้ปฏิบัติให้แก่ประเทศไทยนั้นมีมากมายเกินกว่าที่ขีดเขียนขึ้นให้ครบถ้วนได้ โดยเฉพาะเรื่องตอนที่ท่านทำเสรีไทย ผมเชื่อว่าไม่มีผู้ใดในประเทศไทยที่จะรู้ละเอียดถี่ถ้วนนอกจากตัวท่านปรีดีเอง เพราะในระหว่างปฏิบัติงานเสรีไทยนั้น ถือเป็นหลักสำคัญยิ่งยวดว่า ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่จะรู้ว่าอีกคนหนึ่งมีหน้าที่ได้รับมอบหมายอย่างใด จะมีก็แต่ท่านปรีดีเท่านั้นที่รู้หมด และท่านเท่านั้นที่ถ้าหากท่านมีเวลาจะขีดเขียนรวบรวมขึ้นไว้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

สำหรับผู้ต้องการจะทราบสัจจะทางประวัติศาสตร์ก็พึงค้นได้จากหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น และอีกเล่มหนึ่งที่คุรุสภาพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายทวี บุญยเกตุ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๑๕ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับเสรีไทย และการปฏิบัติงานของเสรีไทยอีกหลายอย่าง

 


ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ถ่ายกับท่านปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
เมื่อครั้งเชิญท่านทั้ง ๒ ไปเยือนคฤหาสน์ ที่ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๕๑๓

 

เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นรัฐบุรุษอาวุโสลี้ภัยรัฐประหาร

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ท่านปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จกลับประเทศไทย เพื่อทรงบริหารราชการแผ่นคินด้วยพระองค์เอง และได้เสด็จถึงพระนครเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการยกย่องท่านปรีดี เป็นรัฐบุรุษอาวุโสตามหลักฐานว่า

 

ประกาศ
อานันทมหิดล
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องนายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษาราชการแผ่นดินเพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
นายกรัฐมนตรี

 

เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมขอร้องให้ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญถึง ๓ ครั้ง ครั้งแรกเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ แต่เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ภายหลังที่ได้เปิดการประชุม รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙ แล้ว ท่านปรีดีได้พิจารณาว่าแม้รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบังคับว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเมื่อใด รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่ท่านปรีดีเห็นว่าตามมารยาทนั้นรัฐบาลควรลาออกเพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับรัฐบาลต่อไป ฉะนั้น ท่านปรีดีจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อในหลวงจะได้ทรงพิจารณาแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป รวมเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่หนึ่ง ๒ เดือน กับ ๑๐ วัน

ครั้นวันที่ ๘ มิถุนายนปีนั้น ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลตามความเห็นชอบของสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนฯ ว่า สมควรโปรดเกล้าแต่งตั้ง ท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในขณะที่ท่านปรีดียังไม่ทันจะประกอบคณะรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ก็เสด็จสวรรคตในวันที่ ๙ เดือนมิถุนายนนั้น ในช่วงนี้ท่านปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป โดยรัฐสภาเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ และเมื่อเสร็จการประชุมรัฐสภาแล้ว ท่านปรีดีขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ รวมเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง ๒ วันเท่านั้น

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายนปีนั้น ประธานรัฐสภาด้วยความเห็นชอบของสมาชิกรัฐสภาส่วนมากได้เสนอคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราว ให้แต่งตั้งท่านปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓ และได้ลาออกเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคมปีนั้น รวมเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓ เป็นเวลา ๒ เดือน ๑๐ วัน

เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยเปลี่ยนแปลง คือเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้มีบุคคลคณะหนึ่งใช้ชื่อว่า “คณะรัฐประหาร” ได้ยึดอำนาจรัฐ โดยใช้กำลังทหารประกอบด้วยรถถังและอาวุธทันสมัยระดมยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้า (ซึ่งเป็นทำเนียบที่รัฐบาลให้ท่านปรีดี และครอบครัวอาศัยอยู่นั้น) แล้วบุกเข้าไปในทำเนียบเพื่อจับท่านปรีดี แต่ท่านปรีดีได้เล็ดลอดหลบหนีไปได้โดยอาศัยตามบ้านเพื่อนที่ไว้วางใจ และไปอาศัยที่กรมนาวิกโยธินที่สัตหีบ จากนั้นได้ไปลี้ภัยที่ประเทศจีนในสมัยจีนคณะชาติ (เจียงไคเช็ค) ปกครองแผ่นดินจีน

คณะรัฐประหารครั้งนั้นได้ร่างสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญขึ้นแต่เป็นการไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำโดยพละการ ผู้สำเร็จราชการ ก็ไม่ได้ลงนามครบองค์ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการก็เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย แทนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐธรรมนูญที่ท่านปรีดีเรียกว่าเป็นโมฆะ (ดูชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ที่อ้างแล้ว)

เมื่อเห็นว่าขบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องและได้พยายามสร้างสรรค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญถูกต้องดีแล้ว กลับมาถูกทำลายลงด้วยอำนาจทหารเช่นนั้น ท่านปรีดีจึงได้รวบรวมนักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าถึงเวลาสมควรแล้วที่จะลงมือใช้กำลังอาวุธต่อสู้คณะรัฐประหารกับพวกที่ทำลายระบบการปกครองประชาธิปไตย และทำการต่อสู้กับฝ่ายปรปักษ์เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ โดยได้กระทำการในครั้งนั้นแบบสายฟ้าแลบ หลังจากกลับจากประเทศจีนอีกครั้ง แต่ด้วยขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์ ของท่านปรีดีกระทำการไม่สำเร็จ ประชาธิปไตยในไทยจึงแหลกสลายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จากนั้นท่านปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน ครั้นแล้วจึงเล็ดลอดเดินทางด้วยเรือไปยังเกาะแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฮอลันดา จากเกาะดังกล่าวได้เล็ดลอดมายัง สิงคโปร์ จากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง จากฮ่องกงไปขอลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา ๒๑ ปี ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ จึงได้เดินทางไปอาศัยที่ประเทศฝรั่งเศสสถานที่ที่เคยไปพำนักศึกษาเมื่อวัยหนุ่ม

ในช่วงที่ท่านปรีดีออกจากประเทศไทย ประชาธิปไตยก็ล้มลุกคลุกคลาน รัฐบาลทหารได้พยายามตบตาประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ก็ใช้วิธีเผด็จการปกครองแม้จะมีการเลือกตั้งในบางครั้ง ก็กระทำกันอย่างทุจริต จนในที่สุดจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายทหารผู้หลงอำนาจวาสนาของตัวเองก็ถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ปฏิวัติและปกครองโดยอำนาจเผด็จการ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่ผู้เดียว” จนตายในตำแหน่ง

ในช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ นั้นประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีนายกรัฐมนตรี อำนาจรวมอยู่ที่จอมพลสฤษดิ์แต่เพียงผู้เดียว เป็นการปฏิวัติรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่คณะราษฎรได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ในการบริหารบ้านเมืองตามระบบเผด็จการ และในการปฏิวัติครั้งนั้น หัวหน้าคณะปฏิวัติได้สั่งยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๕ เสียอีกด้วย เป็นอันว่าอำนาจทางการเมือง การปกครองทุกชนิดตกอยู่ในมือของจอมพลสฤษดิ์แต่เพียงผู้เดียว ยกเว้นแต่อำนาจของศาลสถิตยุติธรรมเท่านั้นที่หัวหน้าคณะปฏิวัติไม่แตะต้อง แต่กระนั้นก็ยังมีศาลทหารขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมืออีก

จอมพลสฤษดิ์ปกครองคนไทยโดยบ้านเมืองไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ ๓ เดือน รัฐบาลก็ไม่มี จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้อำนาจเผด็จการสั่งฆ่าใครก็ได้ นับเป็นการแย่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดมาใช้เสียเอง และเป็นการเลวร้ายเสียยิ่งกว่า เพราะพระมหากษัตริย์ไทยนั้นจะต้องอยู่ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ต้องมีอภิรัฐมนตรี ต้องมีองคมนตรีไว้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ไม่มีการเข่นฆ่าอาฆาตกันด้วยเหตุส่วนตัว ไม่มีการกลั่นแกล้งใส่ร้ายแล้วจับไปยิงเป้า ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นกันมโหฬารกันอย่างในสมัยของจอมพลสฤษดิ์

แต่ก็แปลกที่คนบางคนกลับชอบจอมพลสฤษดิที่ใช้อำนาจเผด็จการกดหัวคนไทย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไทยเราเคยมีระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มานับเป็นพันปี ซึ่งคนไทยสมัยก่อนถ้าไม่เป็นขุนนางก็มีสภาพเป็น “ไพร่” หรือก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ นอกจากเป็นไพร่แล้วยังเป็น “ทาส” อีกด้วย ระบบนั้นในสังคมมีมานานหลายศตวรรษ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ได้ใช้อำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวเช่นนั้นปกครองคนไทย ก็มีคนไทยผู้โง่เขลาบางคนที่มีสายเลือดแห่งความเป็นทาสมาก่อนพากันชื่นชอบในจอมพลสฤษดิ์ จนกระทั่งปัจจุบันนียังมีผู้มีสายเลือดแห่งความเป็นทาสบางคนใฝ่ฝันให้มีบุคคลอย่างจอมพลสฤษดิ์นั้นอีก นับเป็นทาสที่ไม่รู้จักปลดปล่อยตนเองโดยแท้

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ จอมพลสฤษดิ์ ได้ประกาศใช้สิ่งที่เรียกว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมา โดยในคำปรารภตอนหนึ่งมีว่า “การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เสียนั้นก็โดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมและให้การปกครองประเทศไทยเป็นไปโดยเรียบร้อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น” และสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ของจอมพลสฤษดิ์นั้นได้ตัดทอนรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๗๕ ซึ่งมีร้อยกว่ามาตราสำคัญๆ ลงเหลือเพียง ๒๐ มาตรา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับกระเป๋าที่จอมพลสฤษดิ์จะพกพาไปไหนได้สะดวก

และรัฐธรรมนูญนี้เองที่ใช้ปกครองคนไทยนานถึง 6 ปี สั่งฆ่าคน และจับคนบริสุทธิ์คุมขังมากมาย !!

รัฐธรรมนูญ ๒๐ มาตราที่ว่านี้มาตรา ๑๗ เป็นมาตราที่ให้อำนาจจอมพลสฤษดิ์มากที่สุด ผู้ใช้อำนาจตามมาตรานี้สามารถสร้างอิทธิพลให้กับตัวเองอย่างมากมายใครที่ถูกสงสัยว่าทำความผิดในคดีร้ายแรง เมื่อได้รับการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ผู้สอบสวนลงความเห็นว่าได้กระทำผิด ศาลยุติธรรมไม่มีโอกาสจะให้ความยุติธรรมได้เลย เพราะหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญจะสั่งยิงเป้าได้เลย

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมลง จอมพลถนอมก็ใช้รัฐธรรมนูญนี้ปกครองประเทศต่อมามีการประหารชีวิตคนเสียมากต่อมาก และในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นนั่นเองที่มีอำนาจสั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ได้ถึง ๖๐๔,๕๕๑,๒๗๖.๖๒ บาท ในยุคนี้การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีมากมาย

ในช่วงที่ประเทศไทยมีการปกครองระบบเผด็จการตลอดมานี้ท่านปรีดีจำเป็นต้องลี้ภัยรัฐประหารครั้งนั้นตลอดมา ซึ่งผู้นำในการระดมยิงทำเนียบท่าช้างนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเผด็จการผู้ชอบใช้มาตรา ๑๗ นั่นเอง แม้ตอนที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีการใช้อำนาจนี้อยู่ ซึ่งสามารถนำใครก็ได้ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยไปยิงเป้าได้โดยไม่ต้องผ่านศาลสถิตยุติธรรม

ท่านปรีดีจึงต้องลี้ภัยรัฐประหารครั้งนั้นตลอดมา จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

 

หมายเหตุ : คงอักขรวิธีสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ

บรรณานุกรม :

  • อรุณ เวชสุวรรณ, “ชีวประวัติ และผลงานของท่านปรีดี,” ใน รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. (กรุงเทพฯ: อรุณวิทยา, 2541), น. 101-130.


 


[1] ปัญญานันทภิกขุ, อนุสรณ์ปาล พนมยงค์, กรุงเทพมหานคร, อัมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๕.

[2] สำหรับภาษีส่วยนี้ ในหนังสือเอกสารของครอว์ฟอร์ด ซึ่งเคยเป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๔ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๑๕ นายไพโรจน์ เกษแม่นกิจ เป็นผู้แปล หน้า ๑๑๘ ดร. จอห์น ครอว์ฟอร์ด ได้เขียนถึงภาษีส่วยนี้ไว้ว่า “เงินส่วยที่เรียกเก็บจากผู้ที่ไม่สามารถเข้าประจำการได้นั่น แม้จะไม่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกว่ารายได้อื่นใด ก็นับเป็นภาษีที่เป็นภาระอย่างหนักแก่ประชาชน คงไม่มีมนุษย์ที่มีเล่ห์กลที่ไหนอีกแล้วที่สามารถคิดหาวิธีที่ทำลายล้างความขยันขันแข็งของประชาชนลงเสียได้ อันเป็นการขัดต่อความเจริญมากเท่ากับวิธีนี้ ฯลฯ”