ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปรีดี พนมยงค์ ในทัศนะ Lord Mountbatten

10
สิงหาคม
2563

 

คำแปล

อาคันตุกะจากกรุงสยาม
การรณรงค์ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
จากการเปิดเผยของท่านลอร์ด เมานท์แบทเทน

ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศสยาม (ตามคำบอกเล่าของท่านลอร์ด เมานท์แบทเทน) เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปมักจะรู้จักในนามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และพวกเราหลายคนที่เคยอยู่ในกองบัญชาการซีแอค (SEAC) มักจะรู้จักท่านในนาม “รู้ธ” ซึ่งเป็นชื่อรหัสของท่าน  ท่านกำลังจะมาเยือนประเทศนี้ในระยะสั้น[1]เพื่อสันถวไมตรี โดยเป็นแขกของรัฐบาล ข้าพเจ้าหวังว่า พวกเราคงจะถือโอกาสนี้ต้อนรับอย่างอบอุ่น เพราะเหตุว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นบุคคลที่มีบทบาทอันสำคัญคนหนึ่งในสงครามภาคพื้นอาเซียอาคเนย์ ในระหว่างสงคราม  แน่นอนทีเดียว การกล่าวถึงชื่อของท่านจะกระทำได้เพียงการกระซิบกระซาบ และเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับท่านทั้งหมดเป็นเรื่องที่ “ลับสุดยอด” ถึงแม้ในขณะนี้ประชาชนอังกฤษส่วนมากก็ไม่ทราบถึงการกระทำอันกล้าหาญและเสี่ยงภัยของท่าน...

“ไม่เคยทำให้เราผิดหวัง”

ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงความยากลำบากในการที่ท่านตั้งควบคุมกองกำลัง แต่ข้าพเจ้าก็จำต้องใส่ใจว่า การลงมือกระทำการก่อนถึงวลาอันสมควร[2] จะเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง เพราะจะทำให้ญี่ปุ่นใช้กำลังตอบโต้ และจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ของข้าพเจ้าที่จะเปิดฉากสงครามอย่างกว้างขวางต้องเสียไป  ความเคร่งเครียดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและการเสี่ยงภัยที่ท่านต้องเผชิญอยู่มากกว่า 3 ปี เป็นสิ่งที่น่าสะพึงกลัว แต่ความมีวินัยของท่านเอง และของสานุศิษย์ของท่าน ซึ่งเกิดจากแรงดลใจของท่าน ทำให้ท่านประสบความสำเร็จท่านไม่เคยทำให้เราผิดหวัง

ข้าพเจ้าทราบว่า มีหลายคนที่เคยเป็นเชลยศึกในประเทศสยาม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็มีเหตุผลที่จะขอบคุณสำหรับไมตรีจิตที่ท่านได้ให้แก่เรา[3] ดังนั้น ขอให้เราให้เกียรติแก่คน ๆ หนึ่ง ซึ่งได้ให้บริการอันใหญ่หลวงแก่สัมพันธมิตรและประเทศชาติของเขาเอง และตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบมาเป็นส่วนตัว ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่เสริมสร้างมิตรภาพระหว่างคนอังกฤษและคนสยาม ลูกโซ่แห่งการต่อต้านญี่ปุ่นเป็นคนท้องถิ่นบนผืนแผ่นดินที่ถูกยึดครองในอาเซียอาคเนย์มีช่องว่างอยู่เพียง 2-3 แห่ง และช่องว่างแห่งหนึ่งก็ได้ถูกเชื่อมโยงโดยการบุกบั่นของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (เสียงโห่ร้องแสดงความชื่นชมดังสนั่นและติดต่อกันเป็นเวลานาน)

 

 

ที่มา: ต้นฉบับภาษาอังกฤษมาจากหนังสือ Bangkok, Top Secret ของ Sir Andrew Gilchrist สำหรับฉบับแปล คัดมาจากหนังสือ คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่อง ของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย (2517), น. 19-20.

 

[1] คือใน พ.ศ. 2490

[2] หมายถึงการที่เสรีไทยจะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นโดยเปิดเผย

[3] ท่าน หมายถึงนายปรีดี