ประวัติความเป็นมาของสถาบันปรีดีฯ
ประวัติความเป็นมา
ภายหลัง “อภิวัฒน์ 2475” หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน ได้ประกาศเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์เป็นหลัก 6 ประการไว้ดังนี้
- จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
- จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ยึดถือนโยบายหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนี้ เป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งตลอดมา โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายในหลัก 6 ประการฯ ที่ว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” นั้น นายปรีดีเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญและจะต้องรีบดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อสร้างทรัพยากรคนรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงได้ก่อตั้ง “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อให้เป็นตลาดวิชาแห่งแรกในประเทศไทย
ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัย นายปรีดีได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ของท่านอย่างชัดแจ้ง
“...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่นายปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จึงได้จัดตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขึ้น ณ ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 371 ตารางวา ซึ่งครูองุ่น มาลิก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนาได้อุทิศให้ สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทยตามที่นายปรีดีฯห่วงใย ได้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538
สถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นสถาบันทางวิชาการที่สนับสนุน ส่งเสริม ให้มีการสืบทอดแนวความคิด อุดมการณ์ “สันติธรรม” และ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้สถาบันฯ ยังเป็นเวทีทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นสมบัติของมนุษยชาติทุกแขนง เพื่อเป็นสื่อให้ความดี และสัจจะทางสังคม ได้แสดงออกสู่สาธารณะอย่างงดงามมีสุนทรียภาพ
วัตถุประสงค์ของสถาบันปรีดีฯ
- ดำเนินกิจการในรูปองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- เผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย อันเป็นปณิธานของนายปรีดี พนมยงค์
- สนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ตามแนวทางประชาธิปไตยสมบูรณ์
- จัดกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น สัมมนา ปาฐกถา เสวนา มอบทุนการศึกษา ฯลฯ
- ให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่ทำงาน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงาน
- สนับสนุน ส่งเสริม กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การละคร และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
อาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เลขที่ 65/1 ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ)
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นประธานพิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายสังฆทาน และอนุโมทนา
พิธีเจิมป้ายสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)