ข้อบังคับ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
ม.น.๔
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ทั้งชุด/การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ/การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิ
ใบสำคัญฉบับนี้ออกให้เพื่อแสดงว่า มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ ๖๕/๑ ซอยสุขุมวิท ๕๕ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิโดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ดังต่อไปนี้
แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ทั้งฉบับ ตามข้อบังคับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แนบท้ายใบสำคัญนี้
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๓
(นายพิริยะ ฉันทดิลก)
รองอธิบดี รักษาการแทน
อธิบดีกรมการปกครอง ปฏิบัติราชการแทน
ปลัดกระทรวงมหาไทย
นายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร
ข้อบังคับ
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
พ.ศ. ๒๕๖๓
หมวด ๑
ชื่อ เครื่องหมาย และที่ตั้งสํานักงาน
ข้อ ๑. มูลนิธินี้ชื่อ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "PRIDI BANOMYONG FOUNDATION"
ข้อ ๒. เครื่องหมายของมูลนิธินี้คือ ป.พ. อยู่ในวงกลม และมีตัวเลขไทย ๒๔๔๓-๒๕๒๖ ที่ฐานล่างของวงกลม
ข้อ ๓. สํานักงานของมูลนิธิ ตั้งอยู่เลขที่ ๖๕/๑ ซอยสุขุมวิท ๕๕ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
หมวด ๒
วัตถุประสงค์
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้คือ
๑. เผยแพร่อุดมการณ์ การส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ แก่สาธารณะ
๒. เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดําเนินงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และจริยธรรม
๓. ส่งเสริมสาธารณกุศล งานสาธารณประโยชน์ การศึกษา การศาสนาและสังคม
๔. ส่งเสริมการศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๕. ร่วมมือกับองค์กรอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับมูลนิธิ เพื่อดําเนินการตามข้อ ๑ ถึง ข้อ ๔
หมวด ๓
ทุน ทรัพย์สิน การได้มาและจําหน่ายซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ ๕. ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรกคือเงินสดจํานวน ๑๐๐,๐๐๐.- บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
ข้อ ๖. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธี ดังต่อไปนี้
๑. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรม หรือนิติกรรมอื่น โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบหนี้สิน หรือมีภาระติดพันอย่างอื่น
๒. เงิน หรือทรัพย์สิน ซึ่งมีผู้บริจาคให้
๓. ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
๔. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล
๕. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับอุดหนุนจากองค์กรเอกชนในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง องค์กรระหว่างประเทศ
๖. เงินหรือทรัพย์สินได้จากการหารายได้หรือจากการระดมทุนของมูลนิธิ
๗. เงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของมูลนิธิ
๘. ดําเนินการหารายได้เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดําเนินงานและกิจกรรมของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยการให้เอกชนเช่าพื้นที่มูลนิธิฯ ระยะยาวเพื่อหารายได้ หรือดําเนินกิจกรรมอื่นตามที่มูลนิธิเห็นสมควร
ข้อ ๖. ทวิ เพื่อความเหมาะสมในการดําเนินกิจกรรมของมูลนิธิ และโดยความเห็นชอบของที่ประชุม คณะกรรมการกลาง มูลนิธิจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของมูลนิธิหรือมอบการดําเนินการในกิจกรรมใด ให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับมูลนิธิก็ได้
มติของคณะกรรมการกลางในการให้ความเห็นชอบตามวรรคแรก จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนคณะกรรมการที่มาประชุม
ข้อ ๗. มูลนิธิสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อหารายได้ให้กับมูลนิธิฯ โดยสามารถนําทรัพย์สินไประดมทุน รวมถึงการนําทรัพย์สินไปจดทะเบียนการเช่าระยะยาวที่สํานักงานที่ดิน โดยที่ทรัพย์สินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิฯ หรือทํานิติกรรมเกี่ยวกับการให้เช่า การซื้อหรือการจําหน่ายทรัพย์สิน
หมวด ๔
คณะกรรมการกลาง
ข้อ ๘. คณะกรรมการกลางของมูลนิธิ ประกอบด้วยบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๘ จํานวนไม่น้อยกว่าสิบห้าคน คณะกรรมการของมูลนิธิตามข้อบังคับเดิม เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางชุดแรก
ข้อ ๙. บุคคลที่จะเป็นกรรมการกลางต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๑. มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์
๒. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
๓. ไม่เป็นบุคคลต้องคําพิพากษาของศาลให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษในความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ
ข้อ ๑๐. คณะกรรมการกลางพ้นตําแหน่งเมื่อ
๑. ตาย หรือลาออก
๒. ดํารงตําแหน่งมาครบ ๓ ปี
๓. ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๘
๔. ทําความเสื่อมเสียให้แก่มูลนิธิ และคณะกรรมการกลางมีมติให้พ้นจากตําแหน่ง โดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๓ ของกรรมการกลางที่เข้าร่วมประชุม
ข้อ ๑๑. ในกรณีที่ตําแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระการดํารงตําแหน่ง ให้คณะกรรมการกลางประชุมแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนตําแหน่งที่ว่าง แต่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนจะอยู่ในตําแหน่งเท่ากับเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ที่ตนแทน
คณะกรรมการกลางมีอํานาจแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ก่อนครบวาระของคณะกรรมการกลาง แล้วให้นําความในวรรคก่อนในเรื่องระยะเวลาที่กรรมการใหม่จะอยู่ในตําแหน่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ ๑๒. ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเอง เป็นประธานหนึ่งคน รองประธานสองคน และตําแหน่งอื่นตามความจําเป็นและที่เห็นสมควร
ข้อ ๑๓. ในการประชุมของคณะกรรมการกลาง ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม เว้นแต่ในกรณีตามข้อ ๑๑ วรรค ๑ มติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และให้ทําบันทึกรายงานการประชุมไว้เป็นหลักฐาน
ประธานกรรมการกลางเป็นประธานที่ประชุม ในกรณีที่ประธานกรรมการกลางไม่ได้มาประชุม ให้รองประธานคนใดคนหนึ่งทําหน้าที่แทน แต่ถ้าทั้งประธานและรองประธานไม่ได้มาร่วมประชุม ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการกลางคนใดคนหนึ่งทําหน้าที่ประธานที่ประชุม
ข้อ ๑๔. เมื่อประธานกรรมการกลางไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการกลางคนใดคนหนึ่ง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ทําหน้าที่แทน
ข้อ ๑๕. คณะกรรมการกลางมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑. กําหนดนโยบายดําเนินงานเพื่อให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิบรรลุผล
๒. ตราระเบียบเกี่ยวกับการดําเนินงานของมูลนิธิ
๓. แต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการเฉพาะกิจของมูลนิธิ
๔. อํานาจหน้าที่อื่นตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้
ข้อ ๑๖. คณะกรรมการกลางของมูลนิธิมีอํานาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษา และผู้อุปถัมภ์ของมูลนิธิ
ข้อ ๑๗. ภายในเดือนเมษายนของทุกปี ให้มีการประชุมประจําปีของคณะกรรมการกลางเพื่อพิจารณากิจการ ต่อไปนี้
๑. พิจารณารายงานกิจการของคณะกรรมการจัดการและสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่ดําเนินไปในปีที่ผ่านมา
๒. พิจารณาอนุมัติงบดุลและบัญชีรายได้รายจ่ายประจําปีของมูลนิธิ
๓. แต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกําหนดค่าตอบแทน
๔. เลือกตั้งกรรมการกลางและกรรมการผู้จัดการแทนตําแหน่งที่ครบวาระและที่ว่าง
๕. พิจารณากําหนดนโยบายและปรึกษากิจการอื่นๆ ของมูลนิธิในแต่ละปี
ข้อ ๑๘. ในกรณีที่เห็นความจําเป็น ประธานกรรมการกลางจะเรียกประชุมคณะกรรมการกลางก็ได้
ข้อ ๑๙. ให้ประธานกรรมการมูลนิธิหรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทําการแทน เป็นผู้แทนของ มูลนิธิในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก และในการทํานิติกรรมต่างๆ แทนมูลนิธิ รวมทั้งลงชื่อในเอกสารหรือข้อบังคับใดๆ ในนามของมูลนิธิ
หมวด ๕
กรรมการผู้จัดการ
ข้อ ๒๐. ให้กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้จัดการของมูลนิธิ และมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑. ดําเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการกลาง และกรรมการบริหารสถาบันปรีดีกําหนดไว้
๒. วางแผนการดําเนินงาน กําหนดกลยุทธ์ และบริหารจัดการการดําเนินงานของมูลนิธิและสถาบันปรีดี พนมยงค์
๓. ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ
๔. อํานาจหน้าที่อื่นตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้
หมวด ๕ ทวิ
สถาบันปรีดี พนมยงค์
ข้อ ๒๑. ทวิ ให้สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมูลนิธิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการวิจัยและเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ เป็นหน่วยงานของมูลนิธิ
การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ตลอดจนอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ให้เป็นไปตามข้อบังคับการดําเนินงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์
หมวด ๖
การเงิน และการบัญชี
ข้อ ๒๒. มูลนิธิจะต้องจัดให้มีบัญชี รับ-จ่าย บัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ตลอดจนบัญชี และเอกสารอื่นที่จําเป็น เพื่อแสดงฐานะของมูลนิธิได้โดยถูกต้อง
ข้อ ๒๓. ประธานกรรมการมูลนิธิหรือประธานสถาบันปรีดี พนมยงค์ หรือผู้ทําการแทน มีอํานาจสั่งจ่ายเงินได้ คราวละไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ถ้าเกินกว่าจํานวนดังกล่าว การสั่งจ่ายต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลาง เว้นแต่ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนหรือในกรณีที่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาว่าจ้าง ซึ่งคณะกรรมการกลางอนุมัติแล้ว ให้ผู้มีอํานาจสั่งจ่ายเงินจํานวนนั้นได้ แต่ต้องรายงานให้คณะกรรมการกลางทราบ
ข้อ ๒๔. เหรัญญิกมีอํานาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกินสองหมื่นบาท
ข้อ ๒๕. เงินสดของมูลนิธิจะต้องนําฝากไว้กับธนาคาร การนําเงินไปลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการจัดการเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ ไป
ข้อ ๒๖. ประธานกรรมการกลางมูลนิธิ หรือ กรรมการกลางและเหรัญญิก หรือ กรรมการกลางและเลขานุการ หรือ กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้มีอํานาจลงนาม 2 ใน 4 คน ลงลายมือชื่อร่วมกัน โดยไม่ประทับตราของมูลนิธิ ในการการสั่งจ่ายเงินโดยเช็ค การทําธุรกรรมทางการเงิน และการเบิกถอน หรือเปิดปิดบัญชีของมูลนิธิ
ข้อ ๒๗. ให้คณะกรรมการกลางวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนกําหนดอํานาจหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรับ และการจ่ายเงินของมูลนิธิ
หมวด ๗
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ข้อ ๒๘. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทําได้เฉพาะในที่ประชุมคณะกรรมการกลาง โดยต้องมีกรรมการ เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมด และมติให้แก้ไขเพิ่มเติมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจํานวนกรรมการที่เข้าประชุม
หมวด ๘
การเลิกมูลนิธิ
ข้อ ๒๙. นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว มูลนิธิเป็นอันต้องเลิกไป เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางมีมติให้เลิกด้วยเสียงสองในสามของจํานวนกรรมการทั้งหมด และหลังจากที่ได้มีมติดังกล่าวแล้ว เป็นเวลาเก้าสิบวัน ให้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง ถ้าที่ประชุมยังมีมติยืนยันให้เลิกจึงเป็นอันให้เลิกมูลนิธิได้
ข้อ ๓๐. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกไป ทรัพย์สินของมูลนิธิทั้งหมดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หมวด ๙
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๓๑. การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ ให้ถือมติสองในสามของที่ประชุมคณะกรรมการกลาง
ข้อ ๓๒. ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กําหนด หรือระบุความไว้
ลงชื่อ ………………. ผู้จัดทําข้อบังคับ
(นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ)
ประธานกรรมการมูลนิธิ
* ข้อบังคับฉบับนี้ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ย. ๒๕๖๓
(ลงชื่อ) (นางสาวอนงค์รัตน์ อยู่เป็นสุข)
เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ
ดาวน์โหลดเอกสาร "ข้อบังคับ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์" ฉบับเต็ม (PDF)