ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ปฏิทินชีวิต ปรีดี พนมยงค์

 

ปฏิทินชีวิต
ปรีดี พนมยงค์

 

พ.ศ ๒๔๔๓ – พ.ศ. ๒๔๕๙

  • ๑๑ พฤษภาคม นายปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียงและนางลูกจันทน์ พนมยงค์  มีอาชีพทำนา
  • ศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง  ต่อมาศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีประชาชน  (เปี่ยม ขะชาติ)
  • สอบไล่ได้ประถมชั้น ๑ แห่งประโยค ๑ โรงเรียนวัดรวก อำเภอท่าเรือ
  • สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์  โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า
  • ศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร
  • สอบไล่ได้ชั้นมัธยม ๖  ที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า
  • ศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ
  • ช่วยบิดาทำนาที่อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๔๖๐ (อายุ ๑๗ ปี)

  • เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย  กระทรวงยุติธรรม
 
 

พ.ศ. ๒๔๖๒ (อายุ ๑๙ ปี)

  • สอบไล่วิชากฎหมายขั้นเนติบัณฑิตได้

สิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๖๓ (อายุ ๒๐ ปี)

  • ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรม ให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส
  • ศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัยก็อง (Lycée  de Caen) และศึกษาพิเศษจากศาสตราจารย์เลอบอนนัวส์  (Lebonnois)
  • สำเร็จการศึกษาได้ปริญญารัฐ  เป็น “บาเชอลิเย” กฎหมาย (Bachelier en Droit)  และได้เป็น “ลิซองซิเย”  กฎหมาย (Licencié en Droit)  ณ  มหาวิทยาลัยก็อง  (Université de Caen)
 
 

พ.ศ. ๒๔๖๖ (อายุ ๒๓ ปี)

  • ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสามัคยานุเคราะห์สมาคม เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า  Association Siamoise d’ Intellectualité et d’ Assistance Mutielle อักษรย่อ (S.I.A.M.)

พ.ศ. ๒๔๖๘ (อายุ ๒๕ ปี)

  • ได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม
 
 

พ.ศ. ๒๔๖๙ (อายุ ๒๖ ปี)

  • ได้รับเลือกให้เป็นสภานายกสามัคยานุเคราะห์สมาคม

กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ (อายุ ๒๖ ปี)

  • ประชุมผู้ก่อการคณะราษฎรครั้งแรกที่กรุงปารีส ณ  Rue du Sommerard ผู้ร่วมประชุม  ๗ คน คือ  ร.ท.ประยูร  ภมรมนตรี ร.ท.แปลก  ขิตตะสังคะ ร.ต.ทัศนัย  มิตรภักดี นายตั้ว ลพานุกรม  หลวงสิริราชไมตรี (นามเดิม จรูญ  สิงหเสนี)  นายแนบ พหลโยธิน  และนายปรีดี พนมยงค์
 
 

พ.ศ. ๒๔๖๙ (อายุ ๒๖ ปี)

  • สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์  (Sciences Juridiques) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ  (Diplôme d’Etudes Supérieures d’ Economie Politique)  มหาวิทยาลัยปารีส  ได้ปริญญารัฐเป็น “ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย” (Docteur en Droit)  ณ ประเทศฝรั่งเศส  โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง  ”Du Sort des Sociétés de Personnes en cas de Décés d’un Associé”

พ.ศ. ๒๔๗๐ (อายุ ๒๗ ปี)

  • เดินทางกลับประเทศไทย
 
 

พ.ศ. ๒๔๗๐-๒๔๗๑ (อายุ ๒๗-๒๘ ปี)

  • ได้รับยศเป็นรองอำมาตย์เอกและอำมาตย์ตรีตามลำดับ
  • ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์  “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม”

๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ (อายุ ๒๘ ปี)

  • สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์
 

พ.ศ. ๒๔๗๐- พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๒๗-๓๒ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
  • ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย
  • ผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย  กระทรวงยุติธรรม
    • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ตอน ว่าด้วย “ห้างหุ้นส่วน, บริษัท, สมาคม” 
    • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล 
    • ผู้สอน (คนแรก) วิชา “กฎหมายปกครอง”  (Droit  Administratif)

๒๔  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๓๒ ปี)

  • เป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนคณะราษฎร  ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่  ๒๔ มิถุนายน 
  • เสนอหลัก ๖ ประการ ของคณะราษฎร สำหรับใช้เป็นหลักการดำเนินนโยบายของสยาม
    • (๑) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
    • (๒) จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ  ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยให้มาก
    • (๓) จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ  โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
    • (๔) จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน
    • (๕) จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ  มีความเป็นอิสระ  เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
    • (๖) จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
  • เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕
 

๒๘  มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๓๒ ปี)

  • ได้รับแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว
  • ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการราษฎร  และสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติให้เป็นคณะกรรมการราษฎร 
    • ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ (คนแรก) ของสภาผู้แทนราษฎร  
  • ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (อายุ ๓๒ ปี)

  • เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรีที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี
 
 

๑๕  มีนาคม พ.ศ.  ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • เสนอ  “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”  หรือที่เรียกกันว่า “สมุดปกเหลือง”  ต่อรัฐบาลเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ  ตามเจตนารมณ์หลัก ๖ ประการของคณะราษฎร โดยดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ประกันความสุขสมบูรณ์ของมวลราษฎร ฯลฯ  เค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากพลังเก่าของสังคมสยามในยุคนั้น  

๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • ถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไทย  ไปยังประเทศฝรั่งเศส ในข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตาม พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์  ฉบับ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖
 
 

๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • เดินทางกลับสยาม
  • ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี  ที่มีนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี
 
 

๒๘  ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • สภาผู้แทนราษฎรลงมติให้ความไว้วางใจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

๒๓  พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ (อายุ ๓๓ ปี)

  • จัดยกร่าง  
    • พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม
    • พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง  ทบวง กรม
 
 

๑๐  มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๗๗ (อายุ ๓๔ ปี)

  • สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า  หลวงประดิษฐ์มนูธรรมมิได้เป็นคอมมิวนิสต์ดังที่ถูกกล่าวหา

๒๙  มีนาคม พ.ศ.  ๒๔๗๗ (อายุ ๓๔ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
    • ปรีดีได้ปฏิบัติการเพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นและท้องที่  คือ  
      • (ก) ได้ตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามตาม พ.ร.บ.เทศบาล ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่างให้รัฐบาลพระยาพหลฯ  เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อการปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย  
      • (ข) ได้กวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่
    • ได้จัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด
    • ป้องกันและปราบปรามการประทุษร้ายระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ลดน้อยลงกว่าสมัยก่อน
    • สร้างโรงพยาบาลหลายแห่ง  รวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่
    • สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร
    • สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ
 
 

๒๗  มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ (อายุ ๓๔ ปี)

  • สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง  ตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎรที่ต้องการให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเต็มที่  และได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๙๕

๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๓๕ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 
 

ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ (อายุ ๓๕ ปี)

  • เดินทางไปเจรจาให้ประเทศมหาอำนาจยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศสยาม  และเจรจาให้ธนาคารอังกฤษลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ ๖ ต่อปี เป็นร้อยละ ๔ ต่อปีได้เป็นผลสำเร็จ

พ.ศ.  ๒๔๘๐ (อายุ ๓๗ ปี)

  • ทำสนธิสัญญาใหม่กับประเทศมหาอำนาจรวม  ๑๒ ประเทศ ทำให้สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง ในทางศาล ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
  • เจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้โอนคืนดินแดนของสยามส่วนหนึ่งที่อังกฤษได้ไปจากสยามตามสนธิสัญญา พ.ศ. ๒๔๑๑
 
 

พ.ศ.  ๒๔๘๑ – พ.ศ. ๒๔๘๔ (อายุ ๓๘-๔๑ ปี)

  • ๑๖ ธันวาคม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้สร้างผลงานที่สำคัญ ได้แก่  
    • ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ (ภาษีส่วย),   ยกเลิกอากรค่านา, 
    • ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม อาทิ ผู้มีรายได้มากเสียภาษีมาก  ผู้มีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย  
    • สถาปนา “ประมวลรัษฎากร”  ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม
    • คาดการณ์ว่าจะเกิดสงครามโลกและค่าเงินปอนด์จะลดลง จึงนำเงินปอนด์ที่เป็นเงินทุนสำรองไปซื้อทองคำหนักเกือบ ๓ แสนออนซ์  ทองคำดังกล่าวยังเป็นทุนสำรองเงินบาทมาจนถึงทุกวันนี้
    • โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษและอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย
    • ป้องกันทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งอยู่ในต่างประเทศ  และซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องนิรภัยของกระทรวงการคลังเป็นมูลค่า  ๓๕ ล้านเหรียญสหรัฐ
    • ผูกหู  (earmark)  ทองคำญี่ปุ่นทดแทนการกู้เงินไทย
    • โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษและอเมริกันมาเป็นของรัฐบาลไทย

พ.ศ.  ๒๔๘๓ (อายุ ๔๐ ปี)

  • ประพันธ์และอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง  พระเจ้าช้างเผือก   สะท้อนอุดมการณ์สันติภาพ คัดค้านกระแสชาตินิยมและต่อต้านสงครามโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น
 
 

๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ (อายุ ๔๑ ปี)

  • ก่อตั้งธนาคารชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทยตามดำริที่ปรากฏอยู่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ

๑๘  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๘๔ (อายุ ๔๑ ปี)

  • เสนอร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
 
 

๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (อายุ ๔๑ ปี)

  • ญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย  รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้าร่วมกับทหารญี่ปุ่น  โดยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (อายุ ๔๑ ปี)

  • ทหารญี่ปุ่นบีบบังคับรัฐบาลให้ปลดนายปรีดีที่ต่อต้านญี่ปุ่นออกจากตำแหน่งทางการเมือง  และต่อมาสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
 

ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔-สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (อายุ ๔๑-๔๔ ปี)

  • เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในนาม  “รู้ธ” โดยรวบรวมคนไทยทั้งในและนอกประเทศ  ทำงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อให้ชาติไทยได้รับเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์  กลับคืนสู่สภาพก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๗-๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (อายุ ๔๔-๔๕ ปี)

  • สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว
 
 

๑๖  สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (อายุ ๔๕ ปี)

  • ประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล   ฝ่ายสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย รับรองคุณูปการของเสรีไทยและรับรองฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (อายุ ๔๕ ปี)

  • ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีสวนสนามของขบวนการเสรีไทย  ณ ถนนราชดำเนิน
 
 

๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (อายุ ๔๕ ปี)

  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส

๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๒
 
 

๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ที่ประชุมกรรมาธิการได้เลือกนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน

๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙-๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  (ครั้งที่ ๑) 
  • ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ครั้งที่ ๒) โดยมีผลงานที่สำคัญคือ
    • เสนอ พ.ร.บ.  นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินสงครามของญี่ปุ่น  พุทธศักราช ๒๔๘๙
    • เสนอ พ.ร.บ. อาชญากรสงครามพุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นโมฆะ
    • เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจนสามารถยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้กักไว้ในสหรัฐฯ  ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สำเร็จ
    • เจรจาเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษเรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ
 
 

๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ทูลเกล้าฯ  ถวายรัฐธรรมนูญ  ฉบับ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย รับสนองพระบรมราชโองการในฐานะนายกรัฐมนตรี

๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภาโดยสภาผู้แทนราษฎร
 
 

๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙-๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  (ครั้งที่ ๒) โดยความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของที่ประชุมสมาชิกพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร
 
 

๙  มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต  ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันเดียวกัน
  • ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง  โดยเหตุผลว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี  ได้เสด็จสวรรคต

๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  (ครั้งที่ ๓)
  • ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  (ครั้งที่ ๓)
 
 

๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙-๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (อายุ ๔๖-๔๗ ปี)

  • ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้แทนราษฎรเขต ๒  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ (อายุ ๔๖-๔๗ ปี)

  • ได้รับเชิญจากประเทศสัมพันธมิตร  ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส  ฯลฯ ให้ไปเยือนประเทศในฐานะแขกผู้มีเกียรติของสัมพันธมิตรและเพื่อความสัมพันธไมตรีอันดีต่อกัน
 
 

พ.ศ. ๒๔๘๙ (อายุ ๔๖ ปี)

  • สถาบันสมิทโซเนียน  (Smithsonian Institution) สหรัฐอเมริกา  ตั้งชื่อนกที่ค้นพบบริเวณดอยอ่างขางและดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่  ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่า นก Chloropsis  aurifrons pridii  เพื่อเป็นเกียรติแก่นายปรีดีในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทย

๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ (อายุ ๔๗ ปี)

  • คณะรัฐประหารนำโดยพลโท  ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เป็นเหตุให้นายปรีดีต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสิงคโปร์
 
 

๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ (อายุ ๔๙ ปี)

  • ดำเนินการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย โดย  “ขบวนการประชาธิปไตย ๒๖ กุมภาพันธ์” ทำการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๒-พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ (อายุ ๔๙-๗๐ ปี)

  • ลี้ภัยทางการเมือง ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน  และใช้เวลาในการเขียนหนังสือและบทความต่างๆ อาทิ  “สังคมปรัชญาเบื้องต้น”,  “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ฯลฯ
 
 

พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๙๕ (อายุ ๕๒ ปี)

  • นายปาล พนมยงค์  บุตรชายคนโตและ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์  ภรรยา ถูกรัฐบาลทหารกลั่นแกล้งและสั่งจับในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓-พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ (อายุ ๗๐-๘๓ ปี)

  • ลี้ภัยการเมือง ณ กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส ได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส  ซึ่งมีหน้าที่รับปรึกษาในราชการแผ่นดิน เขียนบทความเสนอข้อคิดมายังรัฐบาลไทย  เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติ
  • ได้ฟ้องกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ปฏิเสธไม่ยอมออกหนังสือรับรองสภาพการมีชีวิตของนายปรีดีเพื่อขอรับบำนาญ  ซึ่งเป็นสิทธิตามกฎหมาย จนต่อมาทางกระทรวงฯ ยอมออกหนังสือให้  
  • ประพันธ์หนังสือเรื่อง Ma vie mouvementée et mes 21 ans d’exil en Chine Populaire (ชีวิตอันผันผวนของข้าพเจ้าและ ๒๑ ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน)
  • ประพันธ์บทความเรื่อง “จะมีทางได้ประชาธิปไตยโดยสันติวิธีหรือไม่”  “จงพิทักษณ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม”  “เราจะต่อต้านเผด็จการอย่างไร”  ฯลฯ
  • ยื่นฟ้องหนังสือพิมพ์  สยามรัฐ และฉบับอื่น ๆ ที่เขียนโจมตีนายปรีดี  ว่าพัวพันในคดีสวรรคต จนชนะคดีทั้งหมด
 
 

๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ (อายุ ๘๓ ปี)

  • ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์  ครั้งที่ ๓๙ มีการแปรอักษรรำลึกถึงอาจารย์ปรีดี  ซึ่งนับเป็นการแสดงความเคารพต่อรัฐบุรุษอาวุโสในที่สาธารณะอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี  ๒๔๙๐

๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ (อายุ ๘๓ ปี)

  • อสัญกรรม ณ บ้านพักอองโตนี ชานกรุงปารีส  ด้วยอาการหัวใจวาย รวมอายุ ๘๓ ปี ๑๑ เดือน  ๒๒ วัน
 

๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

  • เปิดอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์  ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๗  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

  • นำอัฐิของนายปรีดีกลับมาเมืองไทย  ก่อนจะนำอังคารไปลอยในอ่าวไทย เมื่อวันที่  ๑๑ พฤษภาคม
  • พิธีเปิดอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์  (อาจ อาสภมหาเถระ) ปฏิบัติกิจแทนสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
 
 

๒๔  มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘

  • พิธีเปิดสถาบันปรีดี พนมยงค์  ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ๕๕ เพื่อดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎร

ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐

  • ตั้งชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม  ในกรุงเทพมหานคร
 
 

๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑

  • เปิดหอสมุดปรีดี พนมยงค์  ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๓

  • ครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก  (UNESCO)  ได้ประกาศให้รัฐบุรุษอาวุโส  ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก
 
 

พ.ศ. ๒๕๔๔

  • ตั้งชื่อถนนปรีดี พนมยงค์  (ถนนสุขุมวิท ๗๑)