ขอนำเกร็ดประวัติเรื่องวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายปรีดี พนมยงค์ มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2526
“เวลาอาตมาเข้ากรุงเทพฯ พอบอกว่าอยู่ที่วัดพนมยงค์ คนชอบร้องว่า อ้อ… วัดปรีดี พนมยงค์นั่นเอง จริงๆ ไม่ใช่หรอก วัดพนมยงค์เป็นวัดเก่าแก่มานมนานแล้ว ทางปรีดีเขามาเอาชื่อวัดไปเป็นชื่อนามสกุลอีกทีหนึ่งต่างหาก” พระเกษม อติเมโธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพนมยงค์เล่าให้ฟัง
บริเวณหน้าวัดเป็นคลองเมืองที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ก็คือ ริมฝั่งตรงข้ามวัดพนมยงค์เป็นที่ตั้งเรือนแพบ้านเดิมของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของประเทศไทยนั่นเอง
“วัดพนมยงค์เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเทียนราชา” พระอธิการเอื้อ สุณฑริโก เจ้าอาวาสวัดพนมยงค์ (พ.ศ. 2526) เล่าว่า “สมัยพระไชยราชาธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพขึ้นไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต และได้นำนางแก้วแจ่มฟ้า ธิดาเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตมาเป็นมเหสี มีโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์คือพระแก้วฟ้า
นางแก้วแจ่มฟ้าเมื่อคลอดโอรสได้เพียง 7 วันก็สิ้นพระชนม์ ทางเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตได้ส่งพระนม นามว่า “มะยงค์” มาดูแลพระแก้วฟ้าต่างพระเนตรพระกรรณ
เมื่อพระแก้วฟ้าอายุ 11 ปี พระไชยราชาธิราชสิ้นพระชนม์ บรรดามุขอำมาตย์ทั้งหลายก็ยกพระแก้วฟ้าขึ้นครองราชย์ มีพระเทียนราชา อนุชา พระไชยราชาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการ และนางศรีสุดาจันทร์มเหสีพระไชยราชาธิราชเป็นพระเจ้าแม่อยู่หัว นางศรีสุดาจันทร์นั้นเป็นชู้กับขุนวรวงศาลอบวางยาพิษสิ้นพระชนม์
หลังจากนั้นนางศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาก็ร่วมกันกลั่นแกล้งบรรดาข้าราชการที่เป็นฝ่ายพระแก้วฟ้าและพระเทียนราชา จนพระเทียนราชาทนไม่ได้ หนีไปบวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน บ้านเมืองจึงเริ่มระส่ำระส่าย
ขุนพิเรนทรเทพจึงคิดวางแผนลอบฆ่านางศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา โดยบอกแก่นางศรีสุดาจันทร์ว่า ขณะนี้ทางเมืองเชียงใหม่แจ้งมาว่าพบช้างเผือก ขอให้นางศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาเสด็จไปคล้องช้าง เมื่อทั้งสองออกนอกเมืองก็ถูกขุนพิเรนทรเทพลอบฆ่า แล้วนำหัวไปเสียบประจานที่วัดแร้ง หลังจากนั้นก็อัญเชิญพระเทียนราชาขึ้นครองราชย์ สถาปนาเป็นพระมหาจักรพรรดิ
พระมหาจักรพรรดิทรงปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ข้าราชการที่จงรักภักดี รวมทั้งนางมะยงค์ พระนมของพระแก้วฟ้าซึ่งถูกขังไว้ที่กรุสนมขณะที่นางศรีสุดาจันทร์เรืองอำนาจ นางมะยงค์หรือเจ้าจอมมะยงค์ขอร้องให้พระมหาจักรพรรดิทรงสร้างวัดให้แก่ตนให้อยู่คู่กับวัดแก้วฟ้า ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังการสิ้นพระชนม์เนื่องมาจากเจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตทรงฝันเห็นพระแก้วฟ้ามาขอร้องให้หาที่อยู่ให้แก่ตน ทางอยุธยาจึงสร้างวัดแก้วฟ้าน้อยให้
วัดที่สร้างให้แก่นางมะยงค์นั้น ทรงพระราชทานนามว่า “วัดพระนมมะยงค์” ต่อมาเนื่องกรุงศรีอยุธยาเสียกรุง วัดนี้ถูกเผาไปด้วย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และชื่อได้เพี้ยนเป็น “วัดพนมยงค์” ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ต้นตระกูล-ถิ่นกำเนิดพนมยงค์
ต้นตระกูลฝ่ายบิดาท่านปรีดีเป็นชาวนา เชื้อชาติจีน สกุลแซ่ตั้ง มีพี่น้องร่วมบิดาของท่าน 8 คน ชื่อ ฮวด, ชุ้น, แฟง, ง้วย, ใช้, ฮ้อ, เสียง และบุญช่วย
ส่วนต้นตระกูลฝ่ายมารดานั้นเป็นพ่อค้าวาณิช ต่อมานายเสียงได้นางลูกจันทน์เป็นภรรยา ท่านปรีดีมีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ เก็บ กนิษฐ เสน, ปรีดี พนมยงค์, หลุย พนมยงค์, ชวนชื่น นิติฑัณฑ์ประกาศ, หลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์), น้อม ตามสกุล, เนื่อง ลิมปะนันท์ และถนอม พนมยงค์
บ้านเดิมนั้นเป็นเรือนแพ ปลูกอยู่ในคลองเมืองหน้าวัดพนมยงค์ ซึ่งกว้างกว่าสภาพปัจจุบันมาก ครั้นต่อมาที่ดินข้างคลองเกิดทลายลงเรื่อย ๆ จนตื้นเขินและแคบเข้า จึงรื้อเรือนแพขึ้นสร้างในที่ดินฝั่งตรงข้ามหน้าวัด โดยมีบ้านน้องชายคือนายหลุย และบ้านญาติพี่น้องคนอื่น ๆ รายรอบบริเวณเดียวกันอีก 3-4 หลัง
“ปัจจุบันบ้านของท่านถูกรื้อไปสร้างรวมอยู่กับบ้านหลานชาย” เจ้าอาวาสวัดพนมยงค์เล่าว่า “เมื่อ 2 ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยในกรุงปารีสได้ส่งสถาปนิกชาวฝรั่งเศส 2 คนมาสเก็ตช์ภาพบ้านเดิมของท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นรัฐบุรุษอาวุโสของโลก แต่ต้องพบกับความผิดหวัง สถาปนิกเหล่านั้นจึงต้องเสาะหาบ้านที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทดแทน”
สัมพันธ์แน่นแฟ้น
ด้วยเหตุที่มีบ้านพำนักอาศัยอยู่ใกล้วัดพนมยงค์เช่นนั้น ความผูกพันจึงก่อสายใยอย่างแน่นมาเนิ่นนาน เมื่อถึงรุ่นบิดาคือนายเสียงและนายใช้ สองพี่น้องมักจะมาทำบุญที่วัดเป็นประจำ เมื่อทางวัดมีงานอะไรก็คอยช่วยเหลือ เมื่อครั้นจะตั้งนามสกุลจึงนำเรื่องไปปรึกษาท่านเจ้าคุณวิมลมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดศาลาปูน อ. กรุงเก่า ขณะนั้นขอให้ท่านตั้งนามสกุลให้
พระอธิการเอื้อกล่าวว่า “เขาก็คงพูดกันทำนองว่า ก็เมื่อเอ็งจะตั้งนามสกุลจะไปตั้งชื่ออื่นทำไม เอาชื่อวัดนั่นแหละเป็นชื่อสกุล”
จวบจนทุกวันนี้บรรดาพี่น้องและท่านปรีดีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มักจะบริจาคเงินเป็นจำนวนหลายหมื่นบาทเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นท่านปรีดียังได้ก่อตั้งมูลนิธิลูกจันทน์ พนมยงค์ เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่วัดก่อนที่ท่านจะเดินทางไปจากประเทศไทย โดยซื้อที่นาเป็นจำนวน 42 ไร่ มอบให้เป็นสมบัติของมูลนิธิ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ทางมูลนิธิได้นำที่นาเหล่านี้ไปให้ชาวบ้านเช่าต่อ โดยคิดค่าเช่าจากความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต ปีใดผลิตผลอุดมสมบูรณ์ก็คิดไร่ละแปดพันบาท ปีไหนผลผลิตต่ำก็คิดไร่ละพันกว่าบาท
ศาลาการเปรียญของวัดในปัจจุบันเป็นผลผลิตเนื่องมาจากเงินมูลนิธิลูกจันทน์ พนมยงค์ที่บริจาคให้เป็นจำนวน 460,000 บาทจากราคาก่อสร้าง 2 ล้านบาท
ในบริเวณรอบวัดได้ปรากฏสาธารณสมบัติที่มีชื่อสกุลพนมยงค์ ไม่ว่าจะเป็น ศาลาชายน้ำ “เสียง พนมยงค์” สะพานไม้ข้ามคลองเมือง “เสียง พนมยงค์” และถนน “ลูกจันทน์ พนมยงค์” ที่เชื่อมสะพาน “เสียง พนมยงค์” สู่ถนนใหญ่ นี่คือสิ่งยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลและวัดพนมยงค์
ดังนั้นที่วัดนี้จึงปรากฏฮวงซุ้ยของนายหลุย พนมยงค์ น้องชายและเจดีย์สีขาวใหญ่ที่บรรจุอัฐิของบิดา มารดา และป้าของท่านปรีดี รวมทั้งนายปาน พนมยงค์ บุตรชายในบริเวณโบสถ์เก่า
เวลา 20.00 น. วันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางวัดได้จัดการสวดมาติกาบังสุกุลซึ่งตรงกับเวลา 16.00 น. ณ กรุงปารีส ขณะที่มีการจัดงานฌาปนกิจศพท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งประเทศไทยด้วย
เกียรติคุณครั้งแรก
นายวุฒิ สิงห์โตขำ ชาวเมืองอยุธยาซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ต. 28 สามแยกไปอ่างทอง หน้าโรงเรียนประตูชัย และเป็นผู้หนึ่งที่ศรัทธาและเลื่อมใสท่านปรีดี พนมยงค์ เล่าให้ฟังด้วยความชื่นชมว่า ในสมัยที่ท่านปรีดีอายุได้ 19 ปี หลังจากสอบเนติบัณฑิตได้ใหม่ ๆ ได้เกิดคดีหนึ่งคือ มีเรือเอี้ยมจุ๊นของพ่อค้าชาวจีนจากเมืองนครศรีธรรมราช (พ่อค้าชื่อนายลิ่มซุ่นหง่วน-ผู้เขียน) ขนสินค้ามาขายที่กรุงเทพฯ ขณะที่เดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรปราการได้เกิดพายุ กัปตันเรือไม่สามารถบังคับเรือได้ เรือจึงไปชนพลับพลาที่ประทับที่ปลูกอยู่ริมน้ำได้รับความเสียหาย ทางรัฐบาลได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากพ่อค้าจ้างของเรือ ในขณะนั้นไม่มีใครยอมรับว่าความคดีให้พ่อค้าชาวจีนผู้นั้น หลวงประดิษฐ์เมื่อทราบเรื่องจึงตัดสินใจว่าความให้ แต่เนื่องจากท่านอายุยังน้อย ทางสภาเนติฯ ไม่รับรองให้ว่าความ ท่านจึงขออนุญาตจากคณะกรรมการตุลาการให้ทดสอบความรู้ ภายหลังการทดสอบท่านได้รับอนุญาตให้ว่าความได้
ท่านปรีดีว่าความคดีนี้ชนะ โดยอ้างถึงกฎหมายในสมัยพระเอกาทศรสที่กล่าวถึงเรื่อง ภัยนอกอำนาจ “กฎหมายฉบับนี้ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คุณไปหาดูได้เลย” นายวุฒิกล่าว
ในสมัยพระเอกาทศรถนั้น ได้มีเรือของชาวต่างประเทศขับไปชนเกาะ และได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย โดยกล่าวหาว่าไม่นำร่องให้แก่เขา แต่ทางพระเอกาทศรถไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ อ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ “ภัยนอกอำนาจ” เป็นเหตุสุดวิสัย ในกรณีคดีของพ่อค้าชาวจีนผู้นั้นก็เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องของภัยนอกอำนาจที่อยู่เหนือวิสัยจะป้องกัน
เป็นการว่าความคดีครั้งแรกของท่า และเป็นคดีที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านเป็นอย่างมาก
ก่อนที่จะลาจากกัน พระอธิการเอื้อเจ้าอาวาสกล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านมักเขียนจดหมายมาถามข่าวคราวเรื่องราวของวัดอยู่เสมอ วันเกิดของท่านทุกปีท่านก็บริจาคเงินให้แก่วัดเป็นประจำ เวลามีใครไปหาท่านก็มักจะฝากฝังให้ช่วยดูแลวัดพนมยงค์ด้วย
ที่มา: มติชนรายวัน
วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2526