วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้เกิดรัฐประหารขึ้นโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council-NPKC) ภายใต้การนำของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอก สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ร่วมด้วย พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศ เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี โดยในแถลงการณ์ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เรื่องคำชี้แจงเหตุผลการเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุผลหลักที่เป็นเสมือนข้ออ้างในรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไว้ 5 ประการ ได้แก่
- ประการที่ 1 พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง
- ประการที่ 2 ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต
- ประการที่ 3 รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา
- ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร
- ประการที่ 5 การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
จากเหตุผลและความจำเป็นทั้ง 5 ประการ ดังกล่าว[1] และเพื่อดำรงความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทางคณะฯ รสช. จึงแถลงว่าจำต้องใช้วิธีเข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ และเสนอว่าจะดำเนินการจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้คืนกลับสู่สภาปกติโดยเร็ว
การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เป็นจุดหักเหสำคัญที่ส่งผลต่อการเมืองไทยในระยะ 30 ปีถัดมาใน 2 ประการหลัก ได้แก่
ประการแรก การออกแบบสถาบันการเมือง และรัฐธรรมนูญให้กองทัพและพลเรือนมีอำนาจในระบบรัฐสภา เช่น การมีนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยเงื่อนไขจากชนชั้นนำ
ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงความคิดของปัญญาชน-เทคโนแครต และชนชั้นกลางที่สนใจการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ[2]ก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งได้หันเหความชอบในระบบการเลือกตั้งและมองว่านักการเมืองฉ้อฉล
พรมแดนความรู้ของการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
ช่วงทศวรรษแรกของเหตุการณ์รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในทางวิชาการมีงานศึกษาที่ขยายองค์ความรู้ทั้งในมิติประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจการเมืองไทยออกไปพอสมควร งานศึกษาระยะแรกเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์ทางการเมือง สาเหตุการรัฐประหาร บันทึกความทรงจำ และชีวประวัติบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการทำรัฐประหาร
ในวาระครบรอบ 10 ปี มีงานศึกษาการเมืองช่วง พ.ศ. 2534-2535 จำนวน 169 เล่ม และมีการศึกษาเรื่องคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จำนวน 12 เล่ม[3] ที่มีข้อเสนอแตกต่างจากเสียงชื่นชมของสื่อมวลชนและประชาชน ณ ขณะนั้น ภาพรวมของงานศึกษาทั้ง 12 ชิ้นนี้ วิเคราะห์ว่าการรัฐประหารของคณะฯ รสช. มีสาเหตุมาจากการเสียผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจที่อิงการแสวงหาผลประโยชน์กับอำนาจนิยมเดิม และยอมรับกันว่าสภาพปัญหาการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการรัฐประหาร
ที่สำคัญ คือ ประชาธิปไตยในยุคทุนนิยม และโลภาภิวัตน์นั้นภาคเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับชนชั้นกลางกับการยอมรับจากต่างประเทศส่งผลให้คณะรัฐประหารต้องจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นภายหลังการยึดอำนาจ แม้ว่าจะมีงานศึกษาจำนวนมากในช่วงแรกแต่ก็ยังขาดมิติการศึกษาเชิงเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ และมิติทางเศรษฐกิจ
กระทั่งในทศวรรษ 2540-2560 ความรู้และความคิดเรื่องวิกฤติการณ์ พ.ศ. 2534-2535 ยุคนี้เน้นศึกษาบทบาททหารในการเมืองไทย โดยเฉพาะบทบาทของทหารที่ก่อการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ที่ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 5 และมีการศึกษาในมิติประวัติศาสตร์เปรียบเทียบไว้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้เสมือนเป็นการสืบทอดประเพณีการปกครองจากสมัยของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และภายหลังการรัฐประหารได้ส่งผลให้นักเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 5 เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ทหารอากาศ อธิบดีกรมตำรวจและตำแหน่งสำคัญสูงสุดห้าตำแหน่งในกองทัพบกและตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1
นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแนวคิดการรัฐประหารโดยกองทัพว่า พ.ศ. 2534 นั้นหัวหน้าคณะผู้ทำรัฐประหารก้าวไปไกลกว่าการพูดถึงความจำเป็นที่จะดำรงการบริหารราชการที่ดี โดยได้กล่าวถึงความจำเป็นต้องยุติการคอร์รัปชัน และไม่มีการอ้างถึงภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์อีกต่อไป ทั้งได้มีวิเคราะห์ด้านภาษาทางการเมืองจากชื่อของคณะฯ รสช. ว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และชื่อพรรคการเมืองว่า สามัคคีธรรม ของกองทัพ มีลักษณะประนีประนอมและสะท้อนย้อนกลับไปสู่สังคมอุดมคติที่ต้องการให้สังคมเชื่อฟังรัฐบาลที่เลือกใช้ภาษาการเมืองด้วยชุดคำเหล่านี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 สมัยรัฐบาลของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ หลวงวิจิตรวาทการ[4]
ส่วนงานศึกษาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารก็ก้าวออกไปจากงานศึกษาเชิงชีวประวัติหรือการเขียนอัตชีวประวัติแบบหนังสืออนุสรณ์งานศพ เช่น งานศึกษาเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของ พลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะฯ รสช. คนสำคัญ โดยพลเอก สุจินดา เสนอลำดับความคิดทางการเมืองของตนภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 ว่าเป็นทหารที่สนใจระบอบประชาธิปไตยและการปกครองด้วยรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ยุคคณะราษฎร โดยกล่าวว่า
“ผมเกิดปี 2476 เกิดมาก็เห็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว เห็นพานรัฐธรรมนูญก็ยังยกมือไหว้ทุกครั้ง”
แม้ว่าพลเอก สุจินดา จะเกิดในช่วงเวลาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เพียง 1 ปี หากเติบโตและรู้เรื่องการเมืองไทยในยุคของกบฏแมนฮัตตัน พ.ศ. 2494 ที่ทำให้มองการเมืองไทยอย่างไม่งดงามนัก แต่ช่วงที่หล่อหลอมความคิดทางการเมืองของเขา คือ ในสมัยการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอก สุจินดา เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อย จปร.[5]
ต่อมาได้มีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงหลักการของคณะราษฎรกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ เช่น เสนอให้เห็นว่าช่วงเวลานี้ ในสมัยรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน มีฉากหลังการเมืองภายในที่เชื่อมต่อจากการเติบโตของทุนและพลังของเทคโนแครตกลุ่มใหม่ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของพลเอก ชาติชาย ในยุคนี้ได้เกิดระบบสวัสดิการสังคมที่เป็นรูปธรรมอันสืบทอดแนวคิดมาจากสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ที่มีความพยายามในการสร้างระบบสวัสดิการและหลักประกันสังคมใน เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง ซึ่งมีหลักการว่า
“จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”
ช่วงทศวรรษ 2530 ที่เป็นยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและทุนนิยมของชนชั้นกลางได้ตื่นตัวขึ้นหากแนวคิดระบบสวัสดิการสังคมได้หดแคบลงมาโดยหันมาให้ความสำคัญกับงานด้านประชาสงเคราะห์ และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการจัดระบบสวัสดิการสังคมใน พ.ศ. 2534 โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมเพื่อทบทวนนโยบายด้านสวัสดิการสังคมเดิม
กระทั่งใน พ.ศ. 2536 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติสวัสดิการสังคมโดยอ้างอิงความมั่นคงทางสังคมเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนและความมั่นคงทางสังคมในระดับมาตรฐาน[6] จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองช่วงเวลานี้ มีแนวทางสวัสดิการรัฐที่ก่อตัวขึ้นคู่ขนานไปกับความขัดแย้งทางการเมือง กองทัพ และการก่อตัวของชนชั้นกลางหรือนายทุนใหม่ที่รวมตัวกันเกิดเป็นม็อบมือถือขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535
และงานศึกษาในช่วงทศวรรษ 2550-2560 ภายใต้บริบททางการเมืองของกองทัพในระบบรัฐสภาจึงมีการหันกลับไปศึกษาเรื่องรัฐประหารของกองทัพกับการเมืองไทยด้านของสาเหตุและผลของการรัฐประหารโดยเน้นที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ รวมถึงเน้นศึกษาเรื่องการต่อต้านไม่ให้ทหารเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองในเชิงเปรียบเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียกับละตินอเมริกา และทัศนะกับเคลื่อนไหของภาคประชาชนและขบวนการนักศึกษาต่อการปกครองของรัฐบาลที่มีทหารดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลอีกด้วย[7]
ขณะที่พรมแดนความรู้เรื่อง เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม หรือ พฤษภาคม พ.ศ. 2535 แสดงให้เห็นว่ามีการออกแบบสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภาของกองทัพให้เป็นรูปธรรมผ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือ รัฐธรรมนูญร่างทรงของ รสช. ที่ย้อนกลับไปสู่แนวทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพล ถนอม กิตติขจร อันเปิดทางให้ทหารเข้าสู่การเมืองไทยอย่างชอบธรรมและสร้างเครือข่ายทางการเมืองร่วมกับชนชั้นนำและเทคโนแครต
ทั้งนี้ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ส่งผลต่อภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง 3 ทศวรรษที่สำคัญคือ บทบาทของกองทัพในการเมืองระบบรัฐสภาและการออกแบบสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ผสานความร่วมมือระหว่างทหาร นายทุน/เทคโนแครต และชนชั้นนำ โดยในยุคนี้ มีส่วนหนึ่งของ 3 กลุ่ม ดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดประชาธิปไตยโดยเริ่มปฏิเสธหรือไม่ชอบระบบการเลือกตั้งและมองนักการเมืองในแง่ลบ และในอีกมุมหนึ่งมีการเสนอว่า ในช่วงรัฐบาลของ รสช. นั้นนายกรัฐมนตรี แตกต่างจากยุคก่อนหน้าที่มีอำนาจในการต่อรองทางการเมืองกับกลุ่มการเมืองดังกล่าว[8]
กองทัพกับการออกแบบสถาบันการเมืองภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2534
ภายหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรกระหว่างวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 ถึง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 จากการเลือกของพลเอก สุจินดา เพราะต้องการให้รัฐบาลภายใต้คณะฯ รสช. มีภาพพจน์ดีว่าไม่ได้หวังจะครองอำนาจไว้เอง โดย กล่าวว่าในขณะนั้นได้พิจารณาผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 คน คือ นายอานันท์ ปันยารชุน และนายอาสา สารสิน โดยให้เหตุผลในการเลือกนายอานันท์ 3 ข้อ ได้แก่
- ประสบความสำเร็จในชีวิตราชการ
- เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ
- ต่างประเทศให้การยอมรับ คณะรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน
และกล่าวถึงนายอานันท์ ว่า “จริงๆ แล้วก็ไม่ได้สนิทสนมอะไรกันมาก่อน แค่รู้จักกัน อยู่ด้วยกันประมาณ 1 ปี ที่วอชิงตัน รู้จักกันในฐานะที่ท่านเป็นเอกอัครราชทูต เป็นคนใหญ่ของ ดีซี. ที่มีชื่อเสียง”[9]
ภารกิจหลักของรัฐบาลอานันท์ สมัยแรก คือ การออกแบบสถาบันการเมืองไทยภายใต้กำกับของคณะฯ รสช. โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งส่งผลให้คณะฯ รสช. มีความชอบธรรมในการรัฐประหารแล้วสืบทอดอำนาจต่อมาได้ อานันท์ แสดงแนวคิดและเงื่อนไขในการทำงานกับคณะทหารไว้ 3 ข้อ ได้แก่
- จะพยายามอธิบายการทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี ให้แก่คณะทหาร
- จะไม่แทงข้างหลังคณะทหารและคาดหวังว่าจะไม่ถูกแทงข้างหลังเช่นเดียวกัน
- ผมเป็นนายกรัฐมนตรี[10]
ขณะที่พลเอก สุจินดา กล่าวถึงเงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างตนกับอานันท์ ว่า
“ก่อนที่นายอานันท์ จะรับตำแหน่งนายกฯ นั้น เขาก็ขอว่าถ้าเขาพูดจากอะไรที่คัดค้านหรือขัดแย้งกับ รสช. จะต้องไม่ถือเขานะ บางครั้งเขาจำเป็นต้องทำเพื่อรักษาภาพพจน์ของเขาอะไรก็ตามก็พูดกันส่วนตัว…”[11]
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 อานันท์ ปันยารชุน จึงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจึงเป็นแกนนำเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคฯ ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เนื่องจากปัญหาส่วนตัวบางประการ จึงทำให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะฯ รสช. ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535
แรกเข้าดำรงตำแหน่ง พลเอก สุจินดา กล่าววลียอดนิยมหลังการรัฐประหารว่า จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่สุดท้ายก็ตระบัดคำเพื่อรับตำแหน่งทางการเมืองว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” และช่วงเวลานี้ได้ก่อชนวนเหตุความขัดแย้งและความไม่พอใจของประชาชนโดยเฉพาะนายทุน พ่อค้า และนักศึกษาต่อรัฐบาลที่มีทหารนำอย่างเด่นชัด รวมทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและการคอร์รัปชัน เช่นมีการแต่งตั้ง พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี เลขาธิการ รสช. ซึ่งเป็นพี่ชายของพลเอก สุจินดา ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงถูกคัดค้านจากกลุ่มเครือข่ายทางการเมืองหลายกลุ่ม และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก สุจินดา ยังเป็นเสมือนการสืบทอดอำนาจของ คณะฯ รสช. โดยอาศัยช่องว่างทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534
จากสาเหตุหลายปัจจัยทั้งการเมืองภายในและผลจากปัญหาทางเศรษฐกิจสะสมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศในยุคโลภาภิวัตน์จึงนำไปสู่การชุมนุม ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และมีการปราบปรามผู้เข้าร่วมชุมนุมจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย จึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาทมิฬ” หากในมุมมองของผู้ร่วมชุมนุมฯ ได้เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาประชาธรรม” เนื่องจากเป็นการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและความชอบธรรมต่อความอยุติธรรมทางการเมืองที่ออกแบบและปกครองโดยคณะฯ รสช.
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น:
- ผู้จัดการรายวัน, 27 มกราคม 2536, หน้า 1, 20, 22.
หนังสือ:
- คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา: ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545), (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2545)
- คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, จดหมายเหตุวันที่ 17 พฤษภาคมประชาธรรม, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2547)
- ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550)
- ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, ตัดวงจรรัฐประหาร, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563)
- ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์บุคส์, 2542)
- วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555)
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สดุดีวีรชนประชาธิปไตย 17-21 พ.ค. 2535, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2535)
- อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ, เปรมาธิปไตย การเมืองไทยระบอบไฮบริด, (กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชัน, 2563)
- Dominic Faulder, Anand Panyarachun and the making of modern Thailand, (Singapore: Editions Didier Millet, 2018)
- กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์. (2557). ทัศนะของสื่อหนังสือพิมพ์และปัญญาชนสาธารณะที่มีต่อสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2540. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
บทความ:
- สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, Mass Monarchy, ใน ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, แก้ไขปรับปรุง (กรุงเทพฯ: มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์, 2556), น. 107-118.
- เผด็จ ขำเลิศสกุล, รัฐประหาร รสช. โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ เปิดบันทึกรัฐบาลอังกฤษหลังปิดลับ 27 ปี. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-54499015
- อนุสรณ์ ธรรมใจ, อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยมองผ่านเค้าโครงเศรษฐกิจปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/05/242
[1] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), น. 177-180.
[2] อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ, เปรมาธิปไตย การเมืองไทยระบอบไฮบริด, (กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชัน, 2563), น. 53-67.
[3] คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35, ประชาธิปไตยฉบับน้ำตา: ประมวลกิจกรรมของคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (2535-2545), (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2545), น. 115-121.
[4] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์, เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ, (เชียงใหม่: ซิลค์เวอร์บุคส์, 2542), น. 441.
[5] วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 88-89.
[6] อนุสรณ์ ธรรมใจ, อนาคตเศรษฐกิจการเมืองไทยมองผ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจ ปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก http://archives.histdept.crma.ac.th/archival/public/
[7] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหาร กบฎในการมืองไทยปัจจุบัน: บทวิเคราะห์และเอกสาร, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550) และ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์, ตัดวงจรรัฐประหาร, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563)
[8] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, Mass Monarchy, ใน ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, แก้ไขปรับปรุง (กรุงเทพฯ: มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย คณะกรรมการ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์, 2556), น. 114.
[9] วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 193-194.
[10] Dominic Faulder, Anand Panyarachun and the making of modern Thailand, (Singapore: Editions Didier Millet, 2018)
[11]วาสนา นาน่วม, สุจินดา คราประยูร กำเนิดและอวสาน รสช., พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555), น. 195.