หมายเหตุเบื้องต้น
เนื่องจากคอมมิวนิสต์บางสาขาได้นำเอาความคิดว่า “ไม่มีชาติ” ไปเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อให้คนเข้าใจผิดว่าในโลกนี้ไม่มีชาติ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้ส่งบทความของข้าพเจ้าเรื่อง “ชาติคงมีอยู่” ไปลงในนิตยสาร “เพื่อนไทย” ฉบับกันยายน 2518 ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน แล้วต่อมานายไชยวัฒน์ – ถิระพันธ์ และนายมหิทธิพล อัมพุนันท์ อดีตนายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันได้จัดพิมพ์บทความนั้นเป็นหนังสือเล่ม มีความดังต่อไปนี้
1.
สังคมประกอบด้วยมนุษย์ซึ่งมีลักษณะทั่วไปเหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้มนุษยชาติได้แยกกันอยุ๋เป็นหลายสังคมชาติ (Nation Society) ที่แต่ละสังคมครอบครองดินแดนส่วนหนึ่งของโลก สังคมชาติหนึ่งๆมี กายทางสังคม (Social Organism) โดยเฉพาะ จึงมีสัญลักษณ์เฉพาะตามสภาพ, ท้องที่, กาลสมัย ของแต่ละสังคม
ชาติ (Nation) คงมีอยู่
ท่านจะไปยังประเทศของชาติอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศแห่งค่ายสังคมนิยมหรือประเทศนอกค่ายสังคมนิยม แต่ละประเทศนั้นก็เรียกร้องให้ท่านแสดงเอกสารเดินทางที่มีข้อความปรากฏชัดแจ้งว่าท่านเป็นคนสัญชาติ (Nationality) ใด ท่านจะอยู่ในประเทศใดดังกล่าวก็ต้องขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่แสดงว่าท่านเป็นคนสัญชาติใด
2.
การที่บางคนและบางเชื้อชาติมีความนึกคิดว่าตนไม่มีชาตินั้นก็เนื่องจากเหตุดังต่อไปนี้
2.1 จิตสำนึกทางสสารธรรมคือจิตสำนึกที่เกิดจากจากสภาพความเป็นอยู่ทางสังคมที่บุคคลใดประสบแก่ตนเองว่าถูกถอนสัญชาติ และไม่มีชาติใดที่จะยอมรับว่าบุคคลนั้นเป็นคนของชาตินั้น ก็เป็นธรรมดาที่บุคคลนั้นเกิดจิตสำนึกว่าตนไม่มีชาติ
ส่วนบุคคลแห่งบางเชื้อชาติ ซึ่งเดิมเคยมีชาติของตนแต่ภายหลังชาติของตนถูกลบล้างไปจากดินแดนที่พวกตนครอบครองอยู่อันเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งแห่งลักษณะความเป็นชาติ เช่น คนเชื้อชาติยิวซึ่งเดิมเคยมีชาติครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ ต่อมาใน ค.ศ. 70 จักรพรรดิ (Emperer) ตีตุส แห่ง จักรวรรดิ(Empire) โรมันได้เข้ายึดครองปาเลสไตน์ขับไล่คนยิวจากดินแดนนั้น คนยิวจึงพากันอพยพไปอาศัยดินแดนของชาติอื่นๆ ลักษณะแห่งความเป็นชาติ (Nation) ของคนยิวก็หมดสิ้นไป คนยิวไปอาศัยอยู่ในดินแดนชาติใดก็ถูกคนของชาตินั้นรังเกียจเดียดฉันท์ โดยไม่ยอมให้คนยิวเป็นคนสัญชาติของชาตินั้นๆ อีกทั้งคนยิวยังยึดมั่นประพฤติตามศาสนาและวัฒนธรรมยิวตามสังคมเดิมของตน สภาพของยิวจึงเป็นเพีงกลุ่มเผ่าพันธุ์ (Ethnic Group) หรือเป็น “เชื้อชาติ” (Races) ชนิดหนึ่งที่ไม่มีลักษณะเป็นชาติ สภาพความเป็นอยู่ทางสังคมเช่นนั้นจึงก่อให้คนยิวเกิดจิตสำนึกว่าตนไม่มีชาติ
ภายหลังที่ทรรศนะประชาธิปไตยเกิดขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะภายหลังคริสตศตวรรษที่ 18 หลายประเทศยุโรปได้ให้สิทธิ์ทางนิตินัยแก่คนยิวที่เกิดในประเทศนั้น ๆ เป็นคนสัญชาติของประเทศนั้น ๆ ได้ แต่ในทางพฤตินัยนั้นมีคนจำนวนไม่น้อยของชาตินั้น ๆ ยังมีความรังเกียจเดียดฉันท์คนเชื้อชาติยิว เช่นมาร์กซ์ที่มีกำเนิดเป็นคนเชื้อชาติยิว แม้บิดาของท่านได้เลิกนับถือศาสนาและวัฒนธรรมยิวแล้วนับถือนิกายคริสต์โปรเตส-แตนท์และถือวัฒนธรรมอย่างคนเยอรมันก็ตาม แต่คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยก็รังเกียจท่าน ส่วนคนเชื้อชาติยิวอีกจำนวนหนึ่งก็มิได้ภักดีต่อชาติที่ตนมีสัญชาติอยู่ หากตนยังมุ่งภักดีต่อคนเชื้อชาติเดียวกันเป็นใหญ่ ฉะนั้นรัฐบาลของบางประเทศเช่นเยอรมันนาซีที่รังเกียจยิวจึงได้มีการทำลายคนยิวในลักษณะเป็นเชื้อชาติโดยมิได้จำแนกเป็นยิวที่ภักดีต่อชาติเยอรมันหรือยิวที่ไม่ภักดีต่อชาติเยอรมัน ในสมัยสตาลินและสืบมาจนทุกวันนี้คนยิวในสหภาพโซเวียตก็ยังถูกรัฐบาลรังเกียจเดียดฉันท์และไม่ไว้วางใจในความภักดีของคนยิวต่อสหภาพโซเวียต ในทางทฤษฎีสตาลินวิจารณ์ไว้ว่ากลุ่มชนเชื้อชาติยิวที่อาศัยอยู่ในดินแดนของชาติอื่นไม่เข้าลักษณะแห่งความเป็น “ชาติ” (Nation) ซึ่งตรงต่อจิตสำนึกของคนยิวดังกล่าวนั้น
2.2 ความนึกคิดทางจิตธรรมหรือจิตนิยมของบางคนและบางจำพวกที่แม้ตนมิได้ถูกถอนสัญชาติหรือมิใช่เป็นคนเชื้อชาติที่ไม่มีชาติ แต่ตนนึกคิดว่า “ไม่มีชาติ” เช่นหลีลี่ซานอดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนเหมาเจ๋อตงนั้น นายหลีฯรักษาความมีสัญชาติจีนของตน หากสั่งสอนให้สานุศิษย์ในประเทศจีนและในบางประเทศถือคติ “ไม่มีชาติ” โดยอ้างว่ามาร์กซ์สอนไว้ว่า “กรรมกรไม่มีชาติ” ฉะนั้นเราจึงต้องพิจารณาว่ามาร์กซ์สอนไว้เช่นนั้นหรือไม่
แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมาร์กซ์กับเองเกลส์ได้ร่างขึ้นใน ค.ศ. 1847 และพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1848 นั้น ได้จัดทำขึ้นเป็นต้นฉบับ 6 ภาษาคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, อิตาเลียน, เฟลมิช และเดนิช (เดนมาร์ก) พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนสมัยเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน (ก่อน ค.ศ. 1935) ได้เคยแปลเป็นภาษาจีนไว้ และได้มีผู้อาศัยคำแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยอีกทอดหนึ่ง
ต่อมาเมื่อ ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่งได้แปลเป็นภาษาไทย ผู้พิมพ์แถลงไว้ว่าฉบับภาษาไทยนี้แปลจาก “สรรนิพนธ์มาร์กซ์และเองเกลส์” เล่ม 1 ฉบับภาษาจีน ผู้แปลได้ชี้แจงว่าได้เทียบกับฉบับภาษาอังกฤษและบางแห่งได้เทียบกับต้นฉบับภาษาเยอรมันด้วย
ปัญหาเบื้องแรกที่เราควรสังเกตคือ ผู้แปลสามารถเทียบต้นฉบับภาษาอังกฤษกับเยอรมันได้ แต่เหตุใดไม่แปลเป็นภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษหรือเยอรมันโดยตรง แทนที่จะอ้อมค้อมแปลเป็นภาษาไทยจากคำแปลภาษาจีน
ผมไม่สามารถวิจารณ์คำแปลภาษาจีน แต่ขอพิจารณาคำแปลฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์นั้นว่าตรงกับภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันซึ่งผู้แปลแจ้งว่าได้เปรียบเทียบกันแล้ว โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่อ้างกันว่ามาร์กซ์สอนไว้ว่า กรรมกรไม่มีชาติ และ การเข้าใจกันว่าลัทธิ Internationalism คือลัทธิไม่มีชาติ
ในหน้าต้นของแถลงการณ์ฉบับภาษาอังกฤษมีความว่า
To this end, Communists of various nationalities have essembled in London, and sketched the following manifesto, to be published in the English, French, German, Italian, Flemish, and Danish languages.
สำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศกรุงปักกิ่งแปลเป็นไทยดังต่อไปนี้
ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆ จึงได้มาประชุมกันที่ลอนดอนและร่างแถลงการณ์ประกาศต่อทั่วโลกเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี เฟลมิช และเดนมาร์ก ดังต่อไปนี้
ผมไม่คัดค้านคำแปลตอนอื่นของวรรคนี้ แต่ไม่เห็นด้วยเฉพาะคำว่า nationalities ซึ่งสำนักพิมพ์นั้นแปลว่า ประเทศ เพราะทำให้คนไทยที่ไม่อาจเทียบภาษาอังกฤษได้เข้าใจผิดไปว่า “ไม่มีชาติ” คือ คงมีแต่ประเทศ คำอังกฤษนั้นไม่มีทางจะแปลว่า “ประเทศ” ได้ เพราะคนที่รู้ภาษาอังกฤษพอประมาณก็เข้าใจได้ว่าคำอังกฤษหมายถึงคนของ “ชาติ”หรือ “ชนชาติ”ต่างๆ คือ ยังมี “ชาติ”อยู่
ท่านที่รู้ภาษาเยอรมันก็ขอให้เทียบกับฉบับภาษาเยอรมันที่มีความว่า
Zu Diesem Zweck haben sich Kommunisten der verschiedenster Nationalität in London versammelt und das folgende Manifest entworfen das in englischer, franzosischer, deutscher, italienischer, flamischer und danischer Sprache veröffentlicht wird.
ท่านจะเห็นว่าฉบับภาษาเยอรมันใช้คำว่า “Nationalität” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “Nationalities” ถ้าหากฉบับภาษาเยอรมันต้องการให้หมายถึง “ประเทศ” โดยมิให้มีความหมายระลึกถึงความมีชาติแล้วก็ต้องใช้คำว่า “Land”
อีกตอนหนึ่งซึ่งบางคนชอบอ้างประโยคต้น ของวรรคที่มาร์กซ์กล่าวถึงเรื่องชาติแล้วก็ถือเป็นคำขวัญว่า “คนงานไม่มีชาติ” โดยผู้อ้างมิได้อ้างความเต็มทั้งวรรค ผมจึงขอให้ท่านดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของวรรคนั้นที่มีความว่า
The workingmen have no country. We connot take from them what they have not got. Since the proletariat must first of all acquire political supremacy, must rise to be the leading class of the nation, must constitute itself the nation, it is, so far, itself national though not in the bourgeois sense of the word.
สำนักพิมพ์นั้นแปลเป็นภาษาไทยว่า
กรรมกรไม่มี ปิตุภูมิ จะลิดรอนสิ่งที่พวกเขาไม่มีนั้นไม่ได้ เพราะว่าชนกรรมาชีพก่อนอื่นจะต้องได้การปกครองทางการเมือง จะต้องเขยิบขึ้นไปเป็นชนชั้นของ ประชาชาติ จัดตั้งตนเองขึ้นเป็น ประชาชาติ ฉะนั้นชนกรรมาชีพเองใน ระยะชั่วคราว ยังเป็นของ ประชาชาติ แม้คำว่า “ของประชาชาติ” ในที่นี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับที่ชนชั้นนายทุนเข้าใจก็ตาม
ผมไม่เห็นด้วยในการแปลในการแปลคำว่า “Country” ว่า “ปิตุภูมิ” เพราะคำอังกฤษนั้นคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อยก็ย่อมรู้ว่าหมายถึง “ประเทศ” แต่ผู้แปลกลับแปลว่า “ปิตุภูมิ” เพื่อแสดงตามความในประโยคต้นแห่งวรรคนั้นว่า “กรรมกรไม่มีปิตุภูมิ” แต่ในวรรคภาษาอังกฤษที่ผมอ้างไว้ข้างต้นนั้น ผ้แปลเป็นไทยกลับแปลคำว่า “Nationaliities” ว่า “ประเทศ” ส่วนคำว่า “Nation” ซึ่งคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษก็รู้กันมานานแล้วว่าหมายถึง “ชาติ” ผู้แปลนิยมแปลตามคำแปลของท่านผู้หนึ่งซึ่งเมื่อประมาณ 40 ปีมาแล้วแปลชื่อหนังสือพิมพ์ของท่าน “The Nation” ว่า “ประชาชาติ” ผู้แปลจะแปลดังนั้นโดยบริสุทธิ์ใจก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าประสงค์จะให้คำว่า “ชาติ” ลางเลือนไปผมก็ต้องขอตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำว่า “so far” ผู้แปล ๆ เป็นไทยว่า “ในระยะชั่วคราว” ซึ่งในภาษาไทยคำว่า “ชั่วคราว” หมายถึงระยะเวลาสั้น แต่การที่ชนชั้นคนงานชนิด (Species) ที่เรียกว่า “Proletariat” ได้ งสือเล่มจัดตั้งตนเองขึ้นเป็น “Nation” นั้นหมายถึงการเป็นชนชั้นนำของ “Nation” ซึ่งต้องใช้เวลาช้านานหลายชั่วคน คือจนกว่าสังคมจะบรรลุถึงซึ่งสังคมคอมมิวนิสต์ที่ชนชั้นต่างๆรววมทั้งชนชั้นคนงานเหือดหายไป (Wither away) จึงนับว่าเป็นเวลาช้านานหลายร้อยหลายพันปี คำว่า “so far” ในที่นั้นหมายถึง “to that extent” คือตราบเท่าที่ยังมีชนชั้นคนงานชนิด “Proletariat” เป็นผู้นำอยู่ คำว่า “Nation” ผู้แปลเป็นไทยว่า “ของประชาชาติ” ซึ่งแม้จะเป็นการแปลตามตัวก็ตาม แต่ในสาระของความหมายดูคล้ายจะออกห่างจากความหมายของการกลายเป็น “ชนชาติ”
ต้นฉบับภาษาเยอรมันมีความว่า
Die Arbeiter haben kein Vaterland. Man kann ihnen nicht nehmen, was sie nicht haben. Indem das Proletariat zunachst sich die politische Herrschaft erobern, sich zur nationalen Klasse erheben, sich selbst als Nation konstituieren muss, ist es selbst noch national, wenn auch keineswegs im Sinne der Bourgeoisie.
คำว่า “Vaterland” แปลเป็นไทยได้ว่า “ปิตุภูมิ” แต่กรรมกรเยอรมันกับอีก 5 ชาติ ที่ประชุมกันร่างแถลงการณ์เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้วจนถึงขณะนี้ชนชั้นคนงานของประเทศนั้นๆ ยังถือว่ามีชาติและปิตุภูมิของตน แม้แต่ชนชั้นคนงานจีนที่เป็นชนชั้นนำของจีนก็ยังเคารพต่อการมีชาติและปิตุภูมิของเขา
เหมาเจ๋อตงได้กล่าวไว้ว่า “เราเป็นนักระหว่างชาติ”(Internationalist) และเป็นผู้รักปิตุภูมิ (Patriot) คนงานไทยที่เคยไปในงานฉลองวันชาติจีนก็สังเกตเห็นได้เองว่าในวันนั้น (1 ตุลาคม) มีการชักธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสาที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน แตรวงบรรเลงเพลงชาติจีนผู้ที่ไม่เคยไปร่วมฉลองงานนั้นได้แต่ฟังวิทยุปักกิ่ง ก็จะได้ยินผู้กระจายเสียงพรรณนาถึงความเป็นไปในงานนั้นและจะได้ยินเขากล่าวถึง “ธงชาติจีน”และ “เพลงชาติจีน”มิใช่ “ธงประชาชาติจีน” “ธงปิตุภูมิจีน” “เพลงประชาชาติจีน” “เพลงปิตุภูมิจีน” เราควรสังเกตว่าชนชั้นกรรมกรจีนเป็นชนชั้นนำมาหลายปีแล้ว ชาวจีนหรือปิตุภูมิก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นมิใช่ “ในระยะชั่วคราว” คือระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น หากชนชั้นคนงานชนิด “Proletariat” จีนจะเป็นชนชั้นนำต่อไปอีกช้านานหลายชั่วคนจนกว่าจะถึงสังคมคอมมิวนิสต์ซึ่งชนชั้นจะเหือดหายไปหมดสิ้นตามทฤษฎีของมาร์กซ์
2.3 “ทรรศนะไม่มีชาติ” ของผู้ที่รับอิทธิพลจากอนาธิปัตย์ (Anarchism) และจากลัทธิ “อนาร์โก- ซินดิกาลิสม์ (Anarcho-Syndicalism)
ลัทธิอนาธิปัตย์ถือว่าบุคคลต้องมีเสรีภาพที่จะทำการอำเภอใจได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นจึงเห็นว่าไม่ต้องมี “รัฐ” (State) และไม่ต้องมี “รัฐบาล” (Government) ที่จะบังคับมนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายในโลกก็ต้องแยกกันเป็นกลุ่มหรือสมาคมซึ่งสมานกันโดยความสมัครใจในการผลิตปัจจัยในการดำรงชีพ ดังนั้นจึง “ไม่มีชาติ”ไม่มีปิตุ-ภูมิ” ลัทธิอนาธิปัตย์แตกต่างกับลัทธิมาร์กซ์หลายประการ ซึ่งมาร์กซ์กับสานุศิษย์ได้ต่อสู้ทรรศนะของลัทธิ- อนาธิปัตย์ตลอดมา
ในบั้นปลายแห่งศตวรรษที่ 19 ได้มีลัทธิซินดิกาลิสม์ (Syndicalism) เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก ซึ่งเรียกร้องให้กรรมกรอุตสาหกรรมจัดตั้งเป็นหน่วยอิสระต่าง ๆ ขึ้นเพื่อสมานระหว่างกันในการล้มระบบทุน ลัทธินี้มีความเห็นคล้ายกับลัทธิอนาธิปัตย์ที่ว่า “รัฐ” (State) และรัฐบาลเป็นเครื่องมือแห่งการกดขี่ ฉะนั้นถ้าหากล้มระบบทุนได้แล้ว องค์การกรรมกรก็เข้าควบคุมและบริหารการผลิตของสังคม คำอังกฤษ “Syndicalism” (ซินดิ-กาลิสม์) ถ่ายทอดมาจากคำฝรั่งเศส “Syndicalisme” ซึ่งเดิมหมายความเพียงว่า ลัทธิสหภาพแรงงาน (Unionism) จึงทำให้มีผู้เข้าใจสับสนปะปนกับลัทธิมาร์กซ์ที่ถือว่า “ชนชั้นผู้ไร้สมบัติ”(Proletariat) หรือชนชั้นคนงาน (Working class) จะต้องเป็น “ชนชั้นนำ” ในการอภิวัฒน์ต่อสู้ระบบทุน
ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีลัทธิ “อนาร์โค-ซินดิกาลิสม์” เกิดขึ้น คือเอาทรรศนะของอานาร์คิสต์ (อนาธิปัตย์) ผสมเข้ากับทรรศนะซินดิกาลิสม์ ลัทธินี้มีอิทธิพลทำให้สาวกส่วนหนึ่งของมาร์กซ์ยุ่งเหยิง โดยเข้าใจผิดว่าถ้าถือกรรมกรเป็นผู้นำแล้วกรรมกรก็ต้องไม่มีชาติหรือไม่มีปิตุภูมิ โดยที่มาร์กซ์กับเองเกลส์วายชนม์ไปก่อนแล้วเลนินจึงโจมตีลัทธิอนาร์โค-ซินดิกาลิสม์ต่อมา ซึ่งมีบทความกล่าวไว้ว่า “ชาติยังคงมีอยู่อีกช้านาน, ช้านาน, มาก” (เลนินใช้คำว่า “Long” (ช้านาน) ซึ่งซ้ำกันสองหนว่า “Long, Long”) เมื่อเลนินวายชนม์ไปแล้ว สตาลินก็โจมตีลัทธิอนาร์โค-ซินดิกาลิสม์ต่อมาอย่างแรง
นายหลีลี่ซาน อดีตหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนเหมาเจ๋อตง (ก่อน ค.ศ. 1935) ได้ไปอาศัยอยู่ในสหภาพโซเวียตภายหลังจากที่เขาถูกออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคดังกล่าว เขาก็ยังชื่มชมตามแนวทางที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิอนาร์โค-ซินดิกาลิสม์ซึ่งเป็นพันธมิตรของกลุ่มกรรมกรฝ่ายค้านตามแนวทางของตรอตสกี นายหลีลี่ซานถูกสตาลินสั่งจับไปขังไว้ เมื่อนายหลีลี่ซานรับแก้ไขทรรศนะผิดแล้ว เขาก็ได้รับการปล่อยตัวแล้วทำงานในสำนักพิมพ์ทางประเทศของโซเวียต ต่อมาก็กลับประเทศจีน ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงกรรมกรและถูกลดตำแหน่งต่ำลงทุกที แล้วก็พ้นจากกระทรวงกรรมกร นายหลีฯอาจแก้ไขทรรศนะผิดของตนเองโดยเฉพาะ แต่นายลีฯมิได้แจ้งให้สานุศิษย์ในประเทศจีนและในบางประเทศที่รับอิทธิพลมาจากเขาแก้ทรรศนะที่ผิดด้วย ส่วนนายหลิวเซ่าฉีได้เขียนบทความหลายเรื่องเกี่ยวกับทรรศนะเอียงขวาเอียงซ้าย ก็เพียงแต่กล่าวว่านายหลีฯมีทรรศนะเอียงซ้ายเท่านั้นเอง และว่านายหลีฯได้แก้ทรรศนะเอียงซ้ายแล้ว นายหลิวฯมิได้ชี้ให้ชัดว่านายหลิวฯมิได้เพียงแต่เอียงซ้ายธรรมดา หากนายหลีฯมีทรรศนะตามแนวทางอนาร์โค-ซินดิกาลิสม์ จึงทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่านายหลีฯเป็นนักมาร์กซิสต์แต่เอียงซ้ายและนายหลีฯก็ได้แก้ไขแล้ว การอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นผู้ไร้สมบัติจีนจึงได้ทำการต่อสู้นายหลีลี่ซานซึ่งทรรศนะของเขายังฝังอยู่ในสานุศิษย์และผู้เจริญรอยตาม บทความของหนังสือพิมพ์ “เหรินเหมินยีเป้า”ฉบับ 16 มิถุนายน 1967 ก้แสดงให้เห็นว่าการอภิวัฒน์ใหญ่ทางวัฒนธรรมนั้นได้ต่อสู้ทรรศนะอนาธิปัตย์ซึ่งหมายรวมถึงทรรศนะ “อนาร์โค-ซินดิกาลิสม์” ที่ขัดต่อลัทธิมาร์กซ์-เลนินและความคิดของเหมาเจ๋อตง
นอกจากบทความของหนังสือพิมพ์ฉบับที่อ้างถึงแล้วนั้นก็ยังมีอีกหลายบทความของเหมาเจ๋อตงที่แสดงถึงว่าชาติยังคงมีอยู่ เช่นคำที่กล่าวว่า “เราเป็นนักระหว่างชาติและเป็นผู้รักปิตุภูมิ”
น่าสังเกตว่า บุคคลจำนวนหนึ่งที่โฆษณาว่าลัทธิ “Internationalism” ตามความเข้าใจของพวกเขาก็คือ “ลัทธิไม่มีชาติ” ก็ดี หรือพวกเขาถือว่า “ชาติ” เป็นเรื่องอันดับรองคือต้องเอาลัทธิไม่มีชาติขึ้นก่อน “ชาติ” ก็ดี นั้น เมื่อถึงคราวปฏิบัติเพื่อความเป็นอยู่ของเขาแล้ว เขาก็ไม่ปฏิบัติให้เป็นจริงตามนั้น เช่นขณะที่เขาอยู่ในสังคมที่เขามีสัญชาติเขาก็แสดงว่าเขามีสัญชาติของชาตินั้น ถ้าเขาต้องการมีถิ่นที่อยู่ในสังคมอื่น เขาก็ไม่แจ้งว่าเขาถือลัทธิไม่มีชาติ หากเขาเอาหนังสือเดินทางที่สังคมซึ่งเขามีสัญชาติเป็นหลักฐานขออนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในสังคมอื่น ทั้งนี้แสดงว่าถ้าเมื่อใดเขาต้องการเอาประโยชน์จากชาติที่ตนมีสัญชาติเขาก็ถือว่ามี “ชาติ” หรือยกเอาเรื่อง “ชาติ” เป็นอันดับที่ 1 ก่อนลัทธิไม่มีชาติ แต่ถ้าเมื่อใดจะอุทิศตนแล้วเขาก็ไม่อุทิศตนให้แก่ชาติ หากอุทิศตนให้สังคมอื่น ๆ เป็นอันดับที่หนึ่ง
3.
ส่วน “ความรักชาติ” (Patriotism) นั้นสำหรับผู้ไม่มีชาติตามที่กล่าวในข้อ 2.1 ก็ดี และผู้ถือคติจิตนิยมว่าไม่มีชาติตามที่กล่าวในข้อ 2.3 ก็ดีนั้น ก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาถึง “ความรักชาติ” เพราะพวกเขา “ไม่มีชาติ” จะให้รัก
สำหรับผู้ที่มีจิตสำนึกว่า “ชาติ”ของตนยังคงมีอยู่นั้น ก็มี “ความรักชาติ”คือรัก “กายทางสังคม”(Social Organism) ซึ่งทุกๆคนที่มี “สัญชาติ”คือเป็น “ชนแห่งชาติ”นั้นร่วมกันประกอบขึ้น แต่ความรักชาติของบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวนี้มรระดับแตกต่างระหว่างกันตามระดับของ “ความเห็นแก่ตัว”(Egoism) และ “ความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวม”(Altruism) ของแต่ละบุคคล
3.1 ความเห็นแก่ตัว (Egoism) หมายถึงการเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่กว่าส่วนรวม การเอาประโยชน์ของชนชั้นตนเป็นใหญ่กว่าส่วนรวมการเอาประโยชน์ของเชื้อชาติ (Race) ของตนเป็นใหญ่กว่าส่วนรวม
มนุษย์แต่ละคนย่อมต้องการมีปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพ อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค การพักผ่อนหย่อนใจ (Loisirs) การแสวงหาวิชาความรู้ ฯลฯ เพื่อความสุขกายสบายใจของตนและครอบครัวเพียงการทำมาหากิน เพื่อความต้องการปกติของธรรมชาตินั้นยังไม่เข้าลักษณะที่เรียกว่า “ความเห็นแก่ตัว” ถ้าผู้ประกอบกิจกรรมนั้นมิได้เอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่กว่าส่วนรวม
ความเห็นแก่ตัวมิได้หมายถึงแต่เฉพาะในทางวัตถุสิ่งของเท่านั้น หากการทะนงตนเองว่ายิ่งใหญ่หรือวิเศษกว่าคนอื่นซึ่งเรียกว่า “วีรบุรุษส่วนบุคคล”(Individual Heroism) ก็เข้าลักษณะความเห็นแก่ตัว
บุคคลใดมีความเห็นแก่ตัวมากเพียงใด ความรักชาติก็ลดน้อยลงเพียงนั้น จึงนำไปสู่ทรรศนะคติที่ถือว่าชาติเป็นของตน และครอบครัวโดยเฉพาะ และเป็นของชนชั้นตนโดยเฉพาะ
3.2 ความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวม (Altruism) เกิดมีขึ้นในยุคปฐมกาลซึ่งมนุษย์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำมาหาเลี้ยงชีพ โดยไม่มีการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน ต้องต่อสู้ภัยธรรมชาติร่วมกัน ความเป็นอยู่เช่นนี้จึงก่อให้มนุษย์เกิดจิตสำนึกในความรักสังคมโดยมิได้ยกเอาความเห็นแก่ตัวเหนือส่วนรวม และไม่มีชนชั้นหรือเชื้อชาติที่จะยกขึ้นเป็นใหญ่กว่าส่วนรวม
(1) แต่เมื่อสังคมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงเป็นระบบทาส ศักดินา ทุนนิยม มนุษย์จึงมีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างกันซึ่งมีสภาพเป็น “ชนชั้น”ต่างๆ ชนชั้นเหล่านี้ต้องการผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ของสังคมไว้ในกำมือแห่งชนชั้นของตน ดังนั้นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความเห็นแก่ตัวของชนชั้น ซึ่งทำให้ “ความเห็นแก่ผู้อื่นเป็นส่วนรวม”ลดน้อยลงมา และความรักชาติเป็นส่วนรวมก็ลดน้อยตามไปด้วย แต่บุคคลบางส่วนแห่งชนชั้นเหล่านี้ซึ่งมองเห็นว่าชนชั้นของตนจะดำรงอยู่ได้ก็โดยให้ชาติคงอยู่ได้ ฉะนั้นจึงยังคงมีความรักชาติเป็นส่วนรวมเพื่อประโยชน์แห่งชนชั้นของตนเองด้วย
(2) ส่วนชนชั้นประเภทคนงานสมัยเก่า คือทาส ข้าไพร่ และคนงานสมัยใหม่ คือกรรมกรชนิดต่าง ๆ และชาวนายากจนนั้น ความเป็นอยู่ทางชนชั้นของพวกเขาไม่มีลักษณะเป็นการผูกขาดหรือจะนำไปสู่การผูกขาดสังคม ฉะนั้นจึงมีความรักชาติมากกว่าชนชั้น พวกที่ต้องการผูกขาดหรือนำไปสู่การผกขาดสังคม ยกเว้น ทาส, ข้าไพร่, คนงานบางคน ที่สละชนชั้นของตนเป็นลูกสมุนของชนชั้นผูกขาด จึงมีความรักชาติลดน้อยลงไปตามชนชั้นผูกขาด
(3) ในสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ (Races) นั้น บุคคลส่วนหนึ่งได้สละจิตสำนึกในเชื้อชาติเดิมของตนหมดสิ้นไปแล้ว โดยมีจิตสำนึกเช่นเดียวกับคนเชื้อชาติส่วนมากของสังคมนั้น จึงไม่มีจิตสำนึกที่จะเอาประโยชน์แห่งเชื้อชาติเดิมของตนเป็นใหญ่กว่าเชื้อชาติอื่น ความเห็นแก่ตัวและความเห็นแก่ชนชั้นจึงเป็นไปตามที่กล่าวในข้อ (2)
แต่บุคคลอีกส่วนหนึ่งยังไม่อาจละจิตสำนึกแห่งเชื้อชาติเดิมของตนให้หมดสิ้นไปได้จึงยังมีจิตสำนึกที่เห็นแก่ประโยชน์แห่งเชื้อชาติเดิมเป็นใหญ่กว่าเชื้อชาติอื่น ความรักชาติเป็นส่วนรวมจึงลดลงตามลำดับ มากน้อยสุดแท้แต่การเหลืออยู่ที่จิตสำนึกในเชื้อชาติเดิม