ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปฏิทินชีวิตพูนศุข พนมยงค์ 2455 - 2550

2
มกราคม
2565

ปฏิทินชีวิตพูนศุข พนมยงค์ 2455 - 2550

 

-ลูกพระยา-

พ.ศ. 2455 กำเนิด

2 มกราคม เด็กหญิงพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เกิดในเมืองสมุทรปราการ เป็นบุตรคนที่ 3 ของคุณหญิงเพ็ง (สุวรรณศร) และพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) อธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรกของประเทศ นาม “พูนศุข” ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถในพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พ.ศ. 2461  การศึกษา 

ครอบครัวย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่ออายุได้ 6 ขวบ เด็กหญิงพูนศุขเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ถนนสีลม ซึ่งเป็นโรงเรียนฝรั่งที่โก้และแพงมาก มีรถเปิดประทุนจากที่บ้านไปรับส่งตลอด

พ.ศ. 2471 เริ่มต้นชีวิตครอบครัว

16 พฤศจิกายน นางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เข้าพิธีสมรสกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) บุตรชายนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์ มีบุตรธิดา 6 คน คือ ลลิตา ปาล สุดา ศุขปรีดา ดุษฎี และวาณี

-ภริยาผู้อภิวัฒน์-

พ.ศ. 2475 อภิวัฒน์สยาม

24 มิถุนายน พูนศุขไม่ทราบมาก่อนเลยว่า สามีของตนเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรที่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เพราะนายปรีดีต้องการรักษาความลับ จึงบอกภรรยาว่า ช่วงนั้นจะไปบวชที่อยุธยา

พ.ศ. 2476  เดินทางไกลครั้งแรก

หลังจากนายปรีดีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นนโยบายที่ก้าวหน้ามาก แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกรัฐบาลบีบให้เดินทางออกนอกประเทศทันที พูนศุขจำต้องทิ้งลูกน้อยไว้ให้คุณแม่เลี้ยง แล้วติดตามนายปรีดีเดินทางสู่ต่างประเทศ  แต่หลังจากนั้นไม่นานก็พ้นมลทิน กลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง

พ.ศ. 2482  ท่านผู้หญิง

20 กันยายน นางประดิษฐ์มนูธรรม ในวัยเพียง 28 ปี ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีคำนำหน้าเป็น "ท่านผู้หญิง"

-ในห้วงสงคราม-

พ.ศ. 2483  ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก

สงครามโลกครั้งที่ 2  อุบัติขึ้นในยุโรป ปรีดี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก อันนี้มีเนื้อหาว่าด้วยสันติภาพเพื่อต่อต้านการทำสงคราม โดยท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองถ่าย

พ.ศ. 2484  ขบวนการเสรีไทย 

8 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ประเทศไทย ต่อมารัฐบาลจอมพล ป. ได้เข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามขนาดนั้น คอยรับฟังข่าวสารและเขียนรหัสด้วยลายมือเพื่อรักษาความลับ

พ.ศ. 2488  วันสันติภาพ

16 สิงหาคม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศสันติภาพขึ้นโดยมีเนื้อหาสำคัญว่า การประกาศสงครามต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันกับประชาชนชาวไทย และการมีอยู่ของขบวนการเสรีไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่นทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นประเทศแพ้สงครามเหมือนญี่ปุ่น  เยอรมนี และอิตาลี  ภารกิจรับใช้ชาติในครั้งนี้ ถือเป็นงานที่ท่านผู้หญิงพูนศุขฯภาคภูมิใจมากที่สุด

-มรสุมชีวิต-

พ.ศ. 2489  กรณีสวรรคต

2 มกราคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวสัตยา (สาย โรจนดิศ) อัญเชิญบัตรอวยพรวันเกิดพระราชทานแด่ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ที่ทำเนียบท่าช้าง

9 มิถุนายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคต พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวหาว่านายปรีดีมีส่วนพัวพันกับกรณีสวรรคต ถึงกับจ้างคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง”

สิงหาคม ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมา ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เดินทางไปพบผู้นำประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ตามคำเชิญ ในฐานะ “ทูตสันถวไมตรี” และได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติเป็นเวลา 3 เดือน

พ.ศ. 2490 รัฐประหาร

คืนวันที่ 7 พฤศจิกายน คณะรัฐประหารนำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ เข้ายึดอำนาจการปกครองและตามล่าปรีดีโดยใช้ปืนกลการยิงเข้าไปในทำเนียบท่าช้างที่ขณะนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขฯ กับลูกๆ อยู่ในบ้าน พูนศุขตะโกนออกไปว่า “อย่ายิง! ที่นี่มีแต่ผู้หญิงกับเด็ก”

พ.ศ. 2492 ขบวนการประชาธิปไตยถูกทำลาย

26 กุมภาพันธ์ ปรีดีนำกองกำลังผู้รักประชาธิปไตย ประกอบด้วยทหารเรือ อดีตเสรีไทย ฯลฯ เข้าต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แต่ไม่สำเร็จ ดังที่เรียกกันภายหลังว่ากบฏวังหลวง ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ พาสามีไปซ่อนตัวที่บ้านแถวฉางเกลือ ย่านฝั่งธน และวางแผนให้ปรีดีลงเรือหนีออกนอกประเทศอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางการไล่ล่าของฝ่ายตรงข้าม

พ.ศ. 2495  ติดคุกข้อหากบฏ

พฤศจิกายน ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ และปาล ลูกชายคนโต ถูกตำรวจจับกุมในข้อหา “กบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร” ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ถูกจองจำอยู่ในกรงขัง 84 วัน เพื่อให้ยอมสารภาพว่า นายปรีดีอยู่ที่ไหน

-ลี้ภัยการเมืองในต่างแดน-

พ.ศ. 2496 ถูกบีบให้ออกนอกประเทศ

เมษายนเมื่อออกจากคุก ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ มีสภาพจิตใจบอบช้ำมาก ลูกติดคุก สามีหายไปขาดการติดต่อมา 4 ปี และครอบครัวไม่ปลอดภัย จึงตัดสินใจพาบุตรสาว 2 คน เดินทางไปหาบุตรสาวที่เรียนอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่นานนักปรีดีส่งข่าวมาว่าลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ กับลูกเดินทางไกลด้วยรถไฟสาย “ทรานซ์-ไซบีเรีย” ซึ่งเป็นสายรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก จากยุโรปตะวันออกสู่ประเทศจีนเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ครอบครัวพนมยงค์ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีกครั้งในบ้านพักกรุงปักกิ่ง

ได้ทราบข่าวทางวิทยุว่าปาลถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี

พ.ศ. 2499 จากเหนือสู่ใต้

มิถุนายน นายปรีดีทำเรื่องถึงรัฐบาลจีนเพื่อขอย้ายครอบครัวไปอยู่ทางใต้ เพราะทนอากาศหนาวในกรุงปักกิ่งช่วงฤดูหนาวไม่ไหว ต่อมาได้รับอนุญาตให้อพยพไปอยู่เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง

พ.ศ. 2500 กลับมาเยี่ยมบ้าน 

เมษายน ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ บินกลับมาเยี่ยมบ้าน เมื่อได้ยินข่าวว่าคุณแม่ป่วยหนัก และปาลได้รับนิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสฉลองกึ่งพุทธกาล

พ.ศ. 2511 ครบรอบ 40 ปีแห่งการสมรส

16 พฤศจิกายน ปรีดีเขียนจดหมายถึงภรรยามีความตอนหนึ่งว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นน้องได้ปฏิบัติเป็นภรรยาที่ดียิ่ง พร้อมด้วยความอดทนเสียสละทุกอย่างเพื่อพี่ และเพื่อราษฎรไทย แม้ว่าขณะนี้น้องได้รับความลำบาก เนื่องจากความอยุติธรรมของศัตรูที่ปองร้าย แต่วันใดวันหนึ่งในภายหน้าคุณความดีของน้องจะต้องปรากฏขึ้นแก่มวลราษฎรไทย”

พ.ศ. 2513 อพยพมาอยู่ฝรั่งเศส

นายปรีดีขออนุญาตรัฐบาลจีนย้ายครอบครัวมาอยู่ในเมืองอองโตนี ชานกรุงปารีส เพราะรู้สึกเกรงใจทางจีนที่ให้การดูแลอย่างดี และที่ฝรั่งเศสสามารถติดต่อกับคนในประเทศไทยได้สะดวกกว่า 

ตุลาคม ได้รับเชิญจาก Lord Louis Mountbatten  อดีตผู้บัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ไปเยือนคฤหาสน์บรอดแลนด์ที่ประเทศอังกฤษ

-ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ-

พ.ศ. 2518  ฟ้องหมิ่นประมาท

ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านอีกครั้ง เพื่อติดตามคดีที่นายปรีดีฟ้องหมิ่นประมาทหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ที่เขียนโจมตีนายปรีดีว่าพัวพันกับกรณีสวรรคต จนชนะคดี 

พ.ศ. 2524 ลูกชายเสียชีวิต

ปาล ลูกชายคนโต เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวัย 50 ปี ก่อนมอบร่างกายให้โรงพยาบาล แม่พูนศุขจูบลูกเป็นครั้งสุดท้ายแล้วบอกลูกว่า “ชาตินี้ลูกมีกรรมเกิดมาอาภัพและลำบาก ถ้าชาติหน้ามีขอให้ลูกมีชีวิตที่สบายกว่านี้”

พ.ศ. 2526  คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ

2 พฤษภาคม นายปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายที่บ้านพักอองโตนี สิริอายุได้ 83 ปี

พ.ศ. 2529 ปรีดีกลับเมืองไทย

ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ นำอัฐิของนายปรีดีกลับเมืองไทยก่อนจะนำอังคารไปลอยในอ่าวไทย และมีพิธีเปิด อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. 2530  กลับบ้าน

ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ย้ายมาอยู่เมืองไทยเป็นการถาวรที่บ้านพักในซอยสวนพลู ใช้ชีวิตอย่างสงบในบั้นปลาย และดำเนินงาน มูลนิธิปรีดี พนมยงค์

พ.ศ. 2543 100 ปี ชาตกาล ปรีดี

ท่านผู้หญิงพูนศุขฯ เป็นแม่งานการจัดงานครบรอบ 100 ปี ชาตกาลรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

พ.ศ. 2545 บั้นปลายชีวิต 

ในวัย 90 ปี ท่านพูนศุขฯ มีความทรงจำแม่นยำ เคยเขียนบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าทบทวนเหตุการณ์หนหลังด้วยใจอันสงบมิได้โกรธแค้นหรือคิดอาฆาตมาดร้ายต่อผู้ใด ขณะเดียวกัน รำลึกถึงทุกท่านที่เสี่ยงภยันตรายช่วยเหลือนายปรีดีให้พ้นภัยในครั้งกระนั้นด้วยความขอบคุณ”

พ.ศ. 2550 วาระสุดท้าย

12 พฤษภาคม เวลา 02.00 น. ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงแก่อนิจกรรมโดยสงบด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 95 ปี 4 เดือน 9 วัน ก่อนจากไปได้เขียนสั่งลูกๆ ไว้ว่า 

“มอบศพให้โรงพยาบาล และไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น”