ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน”

18
สิงหาคม
2565

 

เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ในวาระ 77 ปี วันสันติภาพไทย โดย “นายปรีดี พนมยงค์” ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ออกประกาศสันติภาพในพระปรมาภิไธยฯ ให้การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 ต่อประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร “เป็นโมฆะ” อีกทั้งยังเป็นวันรำลึกถึงคุณูปการของขบวนการกู้ชาติ คือ “ขบวนการเสรีไทย” เหล่าวีรชนผู้กล้าหาญที่ต่อสู้เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา PRIDI #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย “ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับ สันติภาพของโลกในปัจจุบัน” ขึ้น ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากนักการเมือง และนักวิชาการ ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ อาทิ พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู, ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, รัศม์ ชาลีจันทร์, สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

 

ในช่วงกล่าวเปิดงาน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึง ความสำคัญของวันสันติภาพไทย โดยสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญ คือ การรุกรานของรัสเซียในยูเครน สงครามดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และประชาชนทั่วโลก อีกทั้งความรุนแรงในสงครามยังเป็นการทำลายหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงกรณีความขัดแย้งไต้หวัน จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ในช่องแคบไต้หวันได้

สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งสององค์กรล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ โดยตรง จึงได้จัดงานเสวนานี้ขึ้นเพื่อประกาศจุดยืนในเรื่องสันติภาพ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย

 

 

คุณูปการของปรีดี พนมยงค์ : แนวคิดสันติภาพที่ได้ทิ้งไว้ให้แก่โลกใบนี้

 

 

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถึงความสำคัญของ “วันสันติภาพไทย” ซึ่งถือเป็นวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของชาติ แต่กลับไม่ถูกให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ อีกทั้งวันสำคัญวันนี้ยังถูกละเลยจากรัฐบาล

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวต่ออีกว่า เอกราช คือ หัวใจของประเทศชาติ นำมาซึ่งสันติภาพเพื่อความผาสุกของราษฎร อาจกล่าวได้ว่า วันสันติภาพไทย คือ ผลงานชิ้นโบแดงชิ้นสุดท้ายของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รวมไปถึงผลงานอื่นๆ นับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475 ธรรมนูญการปกครองฉบับแรก ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ย้อนไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรป อาจารย์ปรีดีมองเห็นว่าในไม่ช้าภัยสงครามก็จะมาถึงประเทศไทย เพื่อประกาศจุดยืนเรื่องสันติภาพ จึงดำเนินการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” โดยสะท้อนให้โลกเห็นว่าความขัดแย้งจากผู้มีอำนาจนั้นล้วนสร้างความสูญเสียให้แก่ประชาชน

คุณูปการของอาจารย์ปรีดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดกัลยาณมิตร เพื่อน และเพื่อนผู้ร่วมงานในวงการต่างๆ ความสำเร็จของ “วันสันติภาพไทย” คือ การร่วมมือร่วมใจของคนไทยทั้งประเทศ แม้จะไม่ทราบว่าตนอยู่ในขบวนการเสรีไทยในนามของขบวนการเสรีไทยก็ตาม แต่คนเหล่านั้นก็ต่อสู้เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและเอกราชของชาติ ขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นก็เพราะความเป็นความตายของประชาชน เพื่ออิสรภาพ และเพื่อเอกราชของชาติไทย

 

สันติภาพและสงครามในการเมืองโลกปัจจุบัน

 

 

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู กล่าวว่า สงครามแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง สงครามเป็นธรรม คือ ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่มนุษย์ทั้งโลกรับได้ เป็นสงครามที่มิได้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความเหนือกว่าจุดยืนทางความคิดหรืออุดมการณ์ และ สอง คือสงครามที่ไม่เป็นธรรม โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามมี 3 ประการ

ประการแรก คือ ความยุติธรรมของการกระจายผลประโยชน์ ดังเช่นกรณีของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประการที่ 2 ทรัพยากรที่ขาดแคลน ซึ่งส่งต่อถึงประการสุดท้าย คือ ความเชื่อที่สนับสนุนสงคราม เช่น ศาสนา ลัทธิ และนิกาย ฯลฯ ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่นำไปสู่สงคราม คือ จุดยืนที่ไม่สามารถเจรจาได้ระหว่างคู่ขัดแย้ง เช่น การแบ่งแยกดินแดนเพื่ออิสรภาพ หรือการขอยึดดินแดน

เมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นจากจุดยืนที่แตกต่างกันในแต่ละฝ่าย ถูกกำกับไปด้วยชุดความคิดที่เป็น นามธรรม คือชุดความคิดว่าด้วยความแตกต่างและความเป็นอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงและท้ายที่ก่อให้เกิดสงครามขึ้น เป็นความรู้สึกและความคิดว่าด้วยความเหนือกว่าในจุดยืนของตนเอง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความแตกต่างและก่อให้เกิดสงครามได้ในท้ายที่สุด

เมื่ออ่านความขัดแย้งในโลกปัจจุบัน ผ่านกรณีของ กรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และ สงครามและความขัดแย้งของ จีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ทั้งสองกรณีล้วนตั้งอยู่บนเงื่อนไขของความต้องการทางด้านทรัพยากรไปพร้อมๆ กับการสร้างความมั่นคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยอำนาจเหนือดินแดนอื่นๆ อีกทั้งความฝันของผู้นำทั้งสองประเทศ คือการเป็นอิสระจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจของโลก ซึ่งที่ในปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในแถบตะวันตดสมาทานแนวทางด้วยระบอบประชาธิปไตยและระบบทุนนิยม

การอุบัติของสงครามโลกครั้งที่ 3 

พลโท ดร.พงศกร ตอบข้อสงสัยถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 โดยวิเคราะห์ผ่านปัจจัยภายในประเทศ คือ ความสามารถทางการทหารของเหล่าประเทศผู้นำโลก ที่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขทางด้านทรัพยากรและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อีกทั้งท่าทีของไทยท่ามกลางความขัดแย้งในการเมืองโลก คือ ไทยควรเป็นประเทศผู้เจรจาให้กับประชาคมโลก และดำรงความเป็นกลางด้วยความสันติตามแนวทางที่อาจารย์ปรีดีเคยทำไว้

ท้ายที่สุด เมื่อตระหนักแล้วว่าสงครามก็เกิดจาก 3 ประเด็น คือ นามธรรม การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และการแบ่งข้าง ประชาคมโลกควรจะแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้สงครามนั้นต้องเกิดขึ้น แนวทางการแก้ไขในขั้นต้น คือการกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ อีกประการคือการสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเฉลี่ยทุกข์และสุขของคนในประเทศ ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งส่งเสริมก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อผลักดันให้ประเทศเล็กๆ มีอำนาจทัดเทียมกับประเทศผู้นำโลก  

 

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ แนวคิดสันติภาพ และสงคราม

 

 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า แนวทางปรัชญาที่อาจารย์ปรีดียึดถือเพื่อสันติภาพ คือ สาราณียธรรม 6 ที่กล่าวถึงเรื่องสันติภาพ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ คือ สาธารณโภคี การแบ่งปันสิ่งต่างๆ แก่เพื่อนมนุษย์ ซึ่งพัฒนาไปเป็นผลงานชิ้นสำคัญ คือเค้าโครงเศรษฐกิจ อีกทั้งหลักสันติ ซึ่งไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมไปถึงพุทธปรัชญาและมนุษยธรรม ภราดรภาพนิยม และ สังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย อันเป็นฐานคิดที่คล้ายคลึงกับระบบในกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีระบอบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและมีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากที่สุด

ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สันติภาพ และสงครามมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน เพราะสงครามใหญ่มักมาพร้อมกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หากย้อนดูประวัติศาสตร์จะเห็นชัดว่า เมื่อใดที่โลกมีสันติ ด้านเศรษฐกิจจะรุ่งเรือง กลับกันหากโลกมีความตกต่ำทางเศรษฐกิจก็จะนำมาซึ่งสงคราม

เมื่อทำความเข้าใจว่าทำไมคนอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์  นายพลฮิเดกิ โตโจ  และเบนิโต มุสโสลินี ถึงได้ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของชาติได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นอย่างไร้สุญญากาศ คนเหล่านี้กลายมาเป็นผู้นำของชาติได้พร้อมๆ กับสภาวะอันเป็นแรงผลักดันให้พวกเขากลายมาเป็นผู้นำของโลกและก่อสงครามใช้ความรุนแรง ล้วนแล้วแต่มีต้นเหตุมาจากปัญหาทางสังคมและปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ

สงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะยังไม่เกิด แต่สงครามที่อาจจะส่งผลกระทบกับไทยมากที่สุด คือ กรณีช่องแคบไต้หวัน กล่าวคือ วิธีการของจีนเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ความพยายามสานสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน โดยอยู่ใต้ความคิดของการรวมจีนเป็นจีนเดียว ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือหากไม่ใช้แนวทางด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องใช้แนวทางด้านการทหาร กรณีดังกล่าวจึงตั้งอยู่บนข้อกังขาของคนไต้หวัน เพราะคนไต้หวันมีความแตกต่างจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ คือความแตกต่างด้านวัฒนธรรม

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังได้เสนอทิศทางของประเทศไทยในความขัดแย้งของโลก โดยกล่าวว่า นอกจากการวางตัวเป็นกลางแล้ว ไทยยังต้องยืนยันให้หนักแน่นและเน้นย้ำใน “หลักการประชาธิปไตย” และ “หลักสิทธิมนุษยชน” โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิอาเซียน เช่น ความรุนแรงในพม่า

 

บทบาทของไทยในภาวะสงคราม : มุมมองจากนโยบายการต่างประเทศ

 

 

รัศม์ ชาลีจันทร์ กล่าวว่านับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม อาจกล่าวได้ว่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้วางแนวทางและรากฐานของการดำเนินงานนโยบายการต่างประเทศก็ว่า แนวทางดังกล่าวยังคงเป็นแนวปฏิบัติและยึดถือมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือการวางตัวเป็นกลาง การมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ และการรวมกลุ่มตั้งประชาคม

 

บรรยากาศของการเมืองโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โลกเข้าสู่การแยกแข่งขันอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างแนวทางประชาธิปไตยโดยสหรัฐอเมริกา และคอมมิวนิสต์โดยสหภาพโซเวียต คือสงครามเย็น ช่วงเวลาดังกล่าว ไทยไม่ได้ดำเนินนโยบายเป็นกลาง เพราะถูกกำหนดทิศทางและนโยบายต่างๆ ด้วยสหรัฐอเมริกา จนอาจเรียกได้ว่าตกอยู่ในฐานะอาณานิคม และเริ่มมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น คือ การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ความอิสระในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศจึงเติบโตพร้อมกับระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย

แม้จะสิ้นสุดสงครามเย็น แต่โลกก็ได้ก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งใหม่ เป็นความขัดแย้งระหว่าง เสรีนิยมประชาธิปไตย และ อำนาจนิยมประชาธิปไตย คือ ความถดถอยในระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก กระทั่งในสหรัฐอเมริกาเอง จากกรณีการชนะเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) หรือในภูมิภาคอาเซียนก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน ในประเทศไทยเองก็กำลังประสบกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าสงครามมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษชน เพราะยิ่งให้ความสำคัญกับหลักการดังกล่าวน้อยมากเท่าไหร่ โอกาสที่ผู้นำจะก่อสงครามและใช้ความรุนแรงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น 

 

บริบทประเทศไทยในสถานการณ์โลก

นโยบายการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพไม่สามารถแยกออกจากการเมืองภายใน หรือสถานะของประเทศตนเองได้ หากสถานการณ์ภายในประเทศมีเสถียรภาพจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการต่างประเทศให้อย่างประสิทธิภาพได้

ในปัจจุบัน ประเทศไทยดำเนินการขัดกับหลักการที่อาจารย์ปรีดีเคยวางไว้หลายประการ กล่าวคือ ด้านการวางตัวเป็นกลาง และบทบาทอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดในกรณีพม่า รัฐบาลไทยมักแก้ต่างให้กับเผด็จการทหารพม่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับประชาคมโลก ท่าทีเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยถูกผลักออกจากประชาคมโลกไกลออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ และส่งผลให้ภาพลักษณ์ของไทยคือการยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาคมโลก

ท้ายที่สุดหากเราต้องการเห็นประเทศไทยมีนโยบายการต่างประเทศที่ดำเนินไปอย่างสันติภาพและเข้มแข็ง สิ่งที่ถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้บรรลุผล คือ การร่วมส่งเสริมแนวทางประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้

 

ช่วงตอบคำถาม

 

 

ถาม : วันสันติภาพไทยและขบวนการเสรีไทย ถูกรับรู้ในมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างไร และทำอย่างไรให้ได้รับความสำคัญมากขึ้น

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ : 

เราสามารถสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ได้ โดยเฉพาะในเวลานี้เรามีสื่อนอกกระแสหลัก ซึ่งเป็นสื่อที่สอนให้คนรู้จักความรู้ใหม่ๆ สังเกตได้จากคนหนุ่มสาวที่ออกมาท้าทายเผด็จการด้วยสันติประชาธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าให้ความเคารพ เราควรส่งเสริมสื่อนอกกระแสหลักเพื่อให้คนรุ่นใหม่ออกมาและเห็นว่าสาระแห่งสันติภาพเป็นสิ่งสำคัญ

 

 

ถาม : จุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียกลับไปสู่รัฐสวัสดิการในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยเรียนรู้อะไรบ้าง

พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู :

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจุดเปลี่ยนรอยแยกระหว่างอุดมการณ์ประชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียคือบทสรุปของทั้งสองอุดมการณ์ที่เป็นทางการ คือระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมที่มีความเป็นธรรม เป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เฉลี่ยทรัพยากร เพราะเขารู้ว่าการเป็นทุนนิยมอย่างเต็มที่นั้น จะนำไปสู่การเกิดสงครามได้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ :

หลายประเทศชนชั้นนำผูกขาดการเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงความคิดของคนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม ทำให้โครงสร้างทางสังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่เป็นประชาธิปไตย ยากจนและด้อยโอกาส แต่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียไม่ได้พบเจอปัญหานี้ เพราะเขาสามารถแก้ไขโครงสร้างที่เป็นปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งทำให้ค่อยๆ พัฒนาระบบการปกครองในรูปแบบที่เรียกว่าทุนนิยมสวัสดิการ แม้ในเนื้อแท้จะเรียกว่า สังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งกรอบความคิดนี้จะคล้ายๆ กับแนวคิดของอาจารย์ปรีดี คือ สังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย ไม่ใช่ทุกประเทศจะทำได้ ปัจจัยที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียทำให้ได้ คือเนื่องมาจากประชากรน้อย ทรัพยากรเยอะ ประชาชนได้รับการศึกษา ผู้นำมีการศึกษาสูง โครงสร้างทางสังคมเป็นแนวราบ มิได้เป็นแนวดิ่งที่เป็นลำดับชั้น ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม

แนวทางจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ดังกล่าว คือ การมีรัฐบาลโลกโดยมีรากฐานจากโครงสร้างขององค์กรสหประชาชาติ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม เศรษฐกิจที่เป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงๆ เพราะปัญหาความขัดแย้งหรือสงครามที่เกิดขึ้น มิใช่ปัญหาในเชิงปัจเจกบุคคล แต่ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม

 

 

ถาม : แนวคิดของรัฐบาลโลกน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดสันติภาพในอาเซียน เป็นไปได้หรือไม่ที่แนวคิดนี้จะถูกกล่าวถึงในการประชุม APEC ที่จะถึงนี้

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ :

เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเสนอโดยผู้นำทางการเมืองในประเทศใหญ่ อาจจะเกิดขึ้นได้ยากหากเป็นข้อเสนอของคนตัวเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจุดมุ่งหมายดังกล่าวจะเกิดไม่ได้ เพราะทุกๆ การเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดขึ้นจากจุดแรก คือ การเสนอความคิด

 

 

 

ในช่วงสุดท้ายของงานเสวนา ผศ.ปรีชา ธรรมวินทร ได้แนะนำหนังสือ “77 ปี วันสันติภาพไทย เตียง ศิริขันธ์ ขบวนการเสรีไทยสกลนคร” โดยศึกษาและให้ความสนใจต่อขบวนการเสรีไทยในสายราษฎรสามัญชน ชื่อของ “เตียง ศิริขันธ์” เป็นหนึ่งในวีรชนของขบวนการเสรีไทยใน จ.สกลนคร ที่ถูกกล่าวถึงใน 2 ลักษณะ คือกล้าที่จะพูดถึง แต่ก็กลัวว่าชื่อนี้จะเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมไปถึงความสับสนคลุมเครือในเรื่องขบวนการเสรีไทยและคอมมิวนิสต์ที่คาดเคลื่อนอย่างมากในปัจจุบันเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การค้นคว้าของหนังสือเล่มนี้

 

 

โดยในเล่มประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ หนึ่ง ภารกิจของขบวนการเสรีไทยสกลนคร หรือเสรีไทยภูพานภายใต้การนำของเตียง ศิริขันต์ สอง การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยบางส่วนภายหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีบทบาทในทางการเมืองรอบข้างของประเทศไทย และสาม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในการต่อต้านรัฐประหาร 2490

 

 

 

 

 

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.facebook.com/418729291509368/videos/912893716316154