ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

LUNA: The Immersive Musical Experience จากเทพนิยายสู่ความหมายแห่งศรัทธา

10
กุมภาพันธ์
2566
ภาพ : CASTSCAPE
ภาพ : CASTSCAPE

 

PLAY เป็นศัพท์ศาสตร์การแสดงที่เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปในคำแปลของ “ละครเวที” ที่เร้นการละเล่นเป็นความหมายแฝง และสามารถแสดงได้ทุกที่โดยไม่ต้องมีเวทียกพื้นยืนหลัก นั่นทำให้ Castscape (produced) นำแนวคิดนี้มาตีโจทย์ร่วมกับ FahFun Production (storytelling) กลุ่มนักทำละครเพลง และผู้สนับสนุนร่วมลงทุนสถานที่ Emquartier (space)​ แม้ไม่ได้เปิดปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงละครเวทีไทย แต่ก็ได้มอบประสบการณ์การชมละครเพลงรูปแบบใหม่ให้กับคนดูด้วย​ ละครเวทีที่ไร้เวที

LUNA: The Immersive Musical Experience ขายคำว่า IMMERSIVE ด้วยการออกแบบงานสร้างให้คนดูได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับผู้แสดงระยะประชิด ร่วมคิดร่วมเล่นเป็นตัวละครในเรื่อง และที่สำคัญรู้สึกต่างเข้าถึงและเชื่อในเนื้อหา จึงมากกว่าการมีส่วนร่วมในบทบาทของคนดูซึ่งคุ้นเคยกับการตั้งรับเพียงฝ่ายเดียว

ลูน่า มาพร้อมบทเพลงประพันธ์ใหม่ 30 บทเพลง​ ขับร้องสดด้วยนักร้อง นักแสดง และทีมงานรุ่นใหม่มากฝีมือมารวมกันกว่าร้อยชีวิตร่วมกันสร้างสรรค์ เพราะความฝันถูกเสริมให้ใหญ่ด้วยความรักในศิลปะการแสดง แรงกล้าจินตนาการ พร้อมความเชี่ยวชาญการตลาดที่ไม่ขาดสุนทรีย์มีรสนิยม อุดมด้วยคำถามผ่านความคมของบทละคร ซึ่งซ้อนอยู่ในเนื้อหาที่มากกว่าความเป็นนิทานแฟนตาซีที่ใช้กล่อมน้องก่อนนอน

ด้วยรูปแบบที่ซับซ้อนสเกลใหญ่ใส่เต็มทุกฟังก์ชัน ในวันวิกฤตเศรษฐกิจและชีวิตยังต้องอยู่สู้กับ โควิด-19 กันต่อไป ‘วัย’ จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะปล่อยความเป็นเด็กออกมาโลดแล่นร่าเริง และรื่นรมย์ร่วมกันในดินแดนแห่งความฝันและเทพนิยาย

 

ภาพ : CASTSCAPE
ภาพ : CASTSCAPE

 

LUNA: The Immersive Musical Experience ดัดแปลงจากวรรณกรรมเยาวชนรางวัล Newbery ปี 2017​​ จากจินตนาการของนักเขียนนิยายเด็กชื่อดัง Kelly Barnhill​ เรื่อง The Girl Who Drank the Moon[1] มีเค้าโครงเรื่องเล่าว่า “แซน” แม่มดแห่งป่า ได้รับเด็กทารกเป็นเครื่องสังเวยทุกปี เพราะความเข้าใจผิดของชาวเมือง นางป้อนแสงดาวแก่เด็กพวกนั้นแทนอาหาร แล้วส่งให้ครอบครัวอุปถัมภ์ที่อีกฟากหนึ่งของป่า ทว่าปีหนึ่ง แซนเผลอให้เด็กน้อยคนหนึ่งดื่มกินแสงจันทร์ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเวทมนตร์ นางจึงรับทารกผู้นั้นไว้ในความดูแล พร้อมกับสะกดเวทมนตร์ของเด็กคนนั้นไว้ เด็กน้อยลูน่าจึงเติบโตมากับแม่มดแห่งป่า ปีศาจหนองน้ำ และมังกรจิ๋ว เมื่อลูน่าอายุสิบสามปีจะเป็นเวลาที่เวทมนตร์ของเธอเป็นอิสระ แต่ไม่มีใครคาดคิดได้ว่า ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ชายคนหนึ่งจากเมืองจะเดินทางเข้ามาในป่า เขาตั้งใจแน่วแน่ว่า จะปลดปล่อยผู้คนของเขาให้เป็นอิสระด้วยการฆ่าแม่มดคนนั้น …

 

ภาพ : CASTSCAPE
ภาพ : CASTSCAPE

 

Fahfun Production (Storytelling) ได้เรียงร้อยเรื่องราวของ LUNA: The Immersive Musical Experience ออกมาใหม่ให้เป็นบทละครและบทเพลง ผ่านบทกวีที่ไพเราะและมีความหมายมากกว่าละครเพลงเทพนิยายที่ใช้สอนเด็กเท่านั้น

“... ณ ป่าใหญ่ในตำนานที่ขานกล่าว มีเรื่องราวบางอย่างซุกซ่อนไว้ พ่อแม่สอนว่าอย่าเข้าไปในไพร อาณาจักรแม่มดร้ายมันครอบครอง สารพันทั้งมังกร สัตว์ประหลาดอีกปราสาทปริศนาพาสยอง เป็นเรื่องจริงหรือไม่…ชวนให้ลอง ลมจะพาผู้กล้าล่องสู่ผืนไพร”[2] ผ่านเรื่องราวของ “ลูน่า” เด็กสาวผู้มีพลังเวทมนตร์มหาศาล​จากการดื่มแสงจันทร์ทำให้ “แซน” แม่มดผู้เป็นยาย​ต้องสะกดพลังของลูน่าเอาไว้จนกว่านางจะอายุครบสิบสามปี​ แต่ยิ่งเวลานั้นใกล้เข้ามาเท่าไหร่ แซนก็ยิ่งแก่ตัวลงทุกวัน ขณะเดียวกันอีกฟากของป่า “แอนเทน” ชายหนุ่มจิตใจดี​จากหมู่บ้านที่มีความเชื่อว่าต้องสังเวยเด็กน้อยให้แม่มดในป่า​ก็ออกเดินทางตามล่าแซน ด้วยหวังให้หมู่บ้านของตนปลอดภัย​โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่า ภูเขาไฟกำลังจะระเบิดผืนป่าให้เป็นจุณ! … เส้นเรื่องถูกหนุนด้วยรายละเอียดของบทที่มีมิติทางความคิดลุ่มลึกมาก ช่วยนำทางก่อนชมการแสดงด้วยจะดีมาก เพราะสามารถตีความได้หลายระดับและไม่ได้ขึ้นกับอายุเท่านั้น ปลุกปั้นโดย โปเต้ — รังสิมันตุ์ กิจชัยเจริญ เขียนบท และกำกับละคร ร่วมกับ บอล — ชาติชาย สัตยดิษฐ์ ผู้กำกับโชว์

 

 

ยุทธศาสตร์ของสื่อประชาสัมพันธ์ถูกหันไปหาทีมเวิร์ก โฟกัสผลงานในนามบริษัทผู้สร้างและทีมเสริมแต่ละฝ่าย (Castscape) “เราเริ่มต้นทำละครเวทีด้วยความเชื่อที่ว่า ละครเวทีมีพลังในการเชื่อมโยงผู้คนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในทางที่ดีขึ้นได้ เราจึงรวบรวมแสงเล็กๆ (Cast) จากทั่วทุกแห่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อแสงของทุกคนมารวมกัน อะไรที่เคยเป็นไปไม่ได้ ก็สามารถเป็นไปได้..”[3]

ในส่วนของงานโฆษณาใช้เน็ตไอดอลของกลุ่มเป้าหมายหลายแพล็ตฟอร์มเข้ามาช่วยเป็นหน่วยรีวิว เร่งให้ยอดบัตรวิ่งฉิวด้วยดารานักแสดงกับเอฟซี บัตรที่แพงจึงไม่เท่าไหร่ และยิ่งทำให้รู้สึกคุ้มมากเมื่อได้มาชมแล้วพบว่าการออกแบบงานสร้าง (Production Design) และนักแสดงทุกคน ล้วนถูกคัดเข้มมาจัดเต็มทุกรอบ โดยเฉพาะนักแสดงนำ 8 ตัวละครในเรื่องจะมีถึง 3 ชุด เพื่อผลัดเปลี่ยนเวียนรอบ รวมแล้วกว่าร้อยชีวิต ทั้งนักร้องและนักแสดงมืออาชีพรุ่นใหม่ ล้วนศิษย์มีครูจากหลายมหาวิทยาลัยทั้งในสายศิลปะการแสดงและดนตรีที่มีคุณภาพ แม้กระนั้นผู้กำกับก็ยังยืนยันว่า “ลูน่า คือ การรวมหัวของคนตัวเล็กที่รักในสิ่งเดียวกันคือละครเวทีที่ท้าทาย”

 

 

การออกแบบงานสร้างและสื่อโฆษณาพาฝันทุกส่วนถูกสร้างสรรค์ให้สวยด้วยภาพวาดการ์ตูนแนวเทพนิยายสายโรแมนติก ละเอียดทุกองค์ประกอบทั้งสูจิบัตรและ บัตรผ่านประตู มีให้คนดูเลือกได้ 2 แบบ ไปได้ 2 เส้นทาง (เข้าเมือง — TeamVillage หรือ เข้าป่า — TeamForest)

ด้านหน้าเป็นภาพการ์ตูนตัวละครชายทีมเมืองสีน้ำตาล หญิงทีมป่าสีฟ้า ด้านหลังบัตรมีประทับครั่งเหมือนไปรษณีย์ใช้ปิดผนึกในยุคก่อน แต่เพิ่มลวดลายโลโก้ของเรื่องไว้บนครั่ง ด้วยครั่งสีแดงเป็นของผู้หญิง ครั่งสีฟ้าเป็นของผู้ชาย

เปิดการแสดงรอบแรกวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 - 28 มกราคม 2566 รวมทั้งหมด 105 รอบ ส่วนหนึ่งของรายได้จะระดมสมทบทุนมูลนิธิชัยพฤกษ์[4] ในส่วนของการแสดงเนรมิตโรงละครขยายอาณาเขตได้ถึง 1,400 ตารางเมตร ที่ The EmQuartier ตกแต่งตั้งแต่เคาน์เตอร์ต้อนรับหน้าประตู เหมือนหลุดเข้าไปในดินแดนแห่งเทพนิยาย ภายใต้วิธีคิดและการออกแบบฉาก (Set designed โดย Studio H) ที่ชาญฉลาดสามารถใช้วัสดุทดแทนราคาถูก หาง่าย แต่สามารถกลายรูปเป็นหลายร่างตามที่เรื่องต้องการ ด้วยงานจำลองจากจินตนาการ เช่น ป่า บรรดาต้นไม้ใช้แกนกระดาษแท่งยาวใหญ่ที่เหลือใช้, หินภูเขา ผนังถ้ำ จำลองแบบเหมือนจริงด้วยโฟมแกะและกระดาษวาดเหมือนจริง

แปลงหลายจุดให้เป็นดินแดนมหัศจรรย์ด้วยการสร้างสรรค์เอฟเฟกต์ที่ทำขึ้นมาใหม่ รัศมีเขตแห่งเวทมนตร์ดลด้วยเส้นด้ายโรยสายรับแสง (Lighting Design) - Projection Mapping​ (โดย DecideKit) และ Illustrated (โดย Apolar) บนพื้นเวทีไล่ระดับลดหลั่นแบบขั้นบันได เพื่อเป็นที่นั่งให้คนดูได้ใกล้ชิดและร่วมแสดง แบ่งประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ชมตัวน้อยร่วมร้อยความฝันปันจิตนาการ

ผู้เขียนรู้สึกค้านขัดเพียงฝั่งป่าหน้าบ้านต้นไม้ก่อนแยกย้าย สองฝั่งซ้ายขวาแขวนผ้าขาวบนราวไว้เหมือนว่าจะใช้ต่างจอโพรเจกเตอร์แต่ไม่ใช่ หรือจะให้ความหมายลิงก์ไปกับเรื่องเล่าเข้ากับเนื้อหาที่ว่า เด็กเหมือนผ้าขาว เพราะความสกาวแหวกตาออกมาจากโทนสีทึมรวมของฉากมากเป็นพิเศษ ทำให้เฉดถูกฉีกหลีกความมืดแม้มีไฟสวยช่วยไล้ภาพรวมอยู่แล้ว ไม่ต่างจากฉากสุดท้ายที่แม่เสือใจร้ายใส่ชุดสีแดงเดือด (เข้าเซตกับสามสาวในนักแสดงหมู่มวล มีสีแสบแลบหลุดออกมา) อาจเจตนาแยก Character ให้ชัดเจนว่าเป็นผู้ร้ายหมายผ่าเหล่าให้เข้าใจ จึงเป็นจุดสะดุดโดดเด่นดึงสายตา เหมือนภาพวาดยุคก่อนที่จิตรกรไทยเกรงการคุมโทนทึมจะอึมครึมเกินไปเลยสลัดสีสดใส่ให้เป็นจุดสะดุดตา แต่โดยรวมแล้วทั้งทีมทำได้ดีงามสมความเป็นมืออาชีพชำนาญการ ถือว่าผ่านทุกฝ่ายได้เกรดโปร

 

 

การแสดงใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที หลังเลือกโซนแล้วแยกทีมที่ประตูทางเข้า Village Pass (ฝั่งป่า ณ บ้านต้นไม้ มีเวทมนตร์เข้ามาแทรกกลางระหว่างเด็กสาว มังกร แม่มด และปีศาจใจดีแห่งหนองน้ำ) กับ Forest Pass (หมู่บ้านที่มีการเมืองคุกรุ่นอยู่ภายใน และเรื่องหัวใจกับรักต้องห้ามระหว่างหนุ่มสาว) ก่อนก้าวไปยังลานรวมของแต่ละฝั่ง เพื่อรับฟังการบอกเล่าเรื่องราวของหมู่บ้าน และทำความรู้จักกับตัวละครก่อนแยกย้าย การแบ่งพื้นที่ให้มีสองทางเข้า เร้าใจให้น่ากลับมาค้นหาอีกครั้ง เพื่อเก็บเรื่องราวของสองฝั่งทางที่ต่างกัน และผู้ชมมีสิทธิเลือกว่าจะร่วมผจญภัยไปกับตัวละครคนไหนใน 10 เส้นทาง แต่ละเส้นสายจะได้รับรู้รายละเอียดที่นักแสดงเป็นคนเล่าเรื่องตามภูมิหลังของตัวละคร โดยมีคนดูเป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่เข้ามาเติมเต็มด้วย ปุจฉา-วิสัชนา ในเนื้อหาของบท โดยไม่เสียอรรถรสของละครเวที คือสิ่งที่ทำให้ LUNA: The Immersive Musical Experience เป็นละครที่มีเสน่ห์

อีกทั้งความสละสลวยของบทละคร และความไพเราะของเพลงที่ร้องในเนื้อหาของเรื่อง ล้วนเป็นบทกวีในเสียงเพลงที่ถูกขับกล่อมจากนักร้องอาชีพรุ่นใหม่มีคุณภาพ ทำให้ผู้ชมซาบซึ้งกับสารที่สื่อได้ในอีกระดับของการรับรู้ ไม่ใช่เพราะความใกล้ชิดที่พิศได้กระทั่งแววตา แต่รวมถึงบทบาทที่นักแสดงแต่ละคนเล่นได้แบบไม่หลุดทั้ง Acting และ Voice Projection ตลอดเรื่อง

แม้ต้องตอบโต้กับคนดูที่โยนมุกเข้าไปให้ด้นสดเป็นระยะ ก็ยังสามารถวาดคำตอบกอปรเข้าหาบทบอกปฏิภาณที่ถูกฝึกอย่างเชี่ยวชาญในวิชาชีพมาเป็นอย่างดี เช่น บท Xan cast 3 โดย ครูบี AF — สุชัญญ์ญา นรปฏิพัทธิ์ เป็นทั้งนักพากย์และนักร้อง รับบทแม่มดใจดีอายุ 500 ปี เธอสามารถ Keep character หญิงชราใจดีที่อ่อนโยนได้เนี๊ยบทั้งน้ำเสียงและการแสดง ถ่ายทอดบทเพลงด้วยน้ำเสียงพลิ้วไพเราะ รวมถึงตัวละครคนอื่นๆ ที่ถูกคัดมา (โซนป่ายกเว้นบทคุณตา) ที่ต่างฉายแสงแข่งขันกินกันไม่ลงทั้ง 3 ชุด ที่เปลี่ยนเวียนแสดง 

 

 

คุณยายแซนสอดแทรกคำสอนผ่านบทละครให้กับผู้ชมหลายวัยที่ติดตามมาในถ้ำที่ใช้เลี้ยงทารก แล้วเผลอให้หนูน้อย “ลูน่า” ดื่มแสงจันทร์จนเธอกลายเป็นเด็กที่มีพลังพิเศษ “คนทั่วไปมักมอง ‘แม่มด’ เป็นตัวร้ายเพราะใจร้าย แต่ในความจริง (อิงนิทาน) แม่มดมีสองประเภท เป็นฝ่ายดีก็มีเพราะใจดีและทำดี” (เหมือนคุณยายแม่มดแซนที่เลี้ยงและรักลูน่าเหมือนลูกเล็ก แม้ว่าเป็นเด็กที่เก็บมาจากป่าเมื่อมีคนนำมาสังเวยแม่มดร้ายตามความเชื่อ)

เจตนาสอนสัจธรรมโดยแปลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนว่า ทุกสิ่งในโลกนี้มีสองด้าน ขึ้นอยู่กับทัศนคติในการมองของแต่ละคน เมื่อแม่มดใจดีถามคนดูว่า “ถ้ามีมนต์วิเศษให้อธิษฐานได้เพียงข้อเดียวเจ้าจะขออะไร” เด็กน้อยตอบทันทีว่า ขอให้มีความสุขหนูต้องทำไงคะ คุณยายแซนสอนว่า “ต้องยิ้ม แล้วหยุดคิดถึงสิ่งที่จะทำให้ไม่สบายใจ” แม้ไม่มีคำอธิบายสายศาสนาก็แปลความได้ว่าให้ฝึกจิตคิดปล่อยวาง (เว้นว่างการคิด) คือวิธีการบริหารจิตตามหลักวิทยาศาสตร์ เพราะสมองจะรับคำสั่งจากอาการ (ยิ้ม) ซึ่งเป็นการสั่งงานของร่างกายเท่านั้น ก่อนหลั่งสารแห่งความสุขให้กับคน และ “มนต์ ไม่มีอยู่จริง… มันคือสิ่งสมมุติ … เมื่อเจ้าเติบโตจะได้เรียนรู้ว่า มนต์ หมายถึงทุกการกระทำคือ ‘กรรม’ ที่จะส่งผลอย่างเป็นธรรมต่อทุกความเป็นไปในชีวิต”

… พุทธปรัชญามีความเป็นวิทยาศาสตร์สากลบนบริบทของคำสอนในเทพนิยาย ถูกถ่ายสู่บทกวีแล้วร้อยเป็นบทละครเวทีที่ผ่านการด้นสดจากคุณยายแซนผู้แสนดี

 

 

10 เส้นทางที่คนดูต่างได้พบและรับรู้เรื่องราวไม่เหมือนกัน นั่นเท่ากับจำนวนของ “10 เส้นเรื่อง” ที่ถูกออกแบบผ่านวรรณกรรมต้นฉบับ กับการศึกษาพฤติกรรมคนดูที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลัก (เด็กและเยาวชน) แล้วรวมมาเรียงร้อยเป็นปมปริศนาเพื่อรอเวลาเฉลยในช่วงสุดท้ายที่ทุกคนหมายมารวมกัน ณ ลานมะเดื่อกลางป่า อันเป็นจุดรวมพลของสองหมู่บ้าน เพื่อการคลี่คลายปริศนาที่ถูกถ่ายทอดมาตลอดทาง

ในความซับซ้อนที่ซ่อนปมมากมาย รายละเอียดอาจจะหล่นหายตามรายทาง แต่ต่างชัดเจนในเส้นหลักของเรื่องแม้ถูกแบ่งย่อยซอยซับเกินรับรู้ในการดูเพียงรอบเดียว จึงมีสรุปให้ในฉากสุดท้าย ชายหนุ่มจิตใจดีต่างหมู่บ้านกับคู่รักเขารู้จักลูน่า และรู้ว่าใครเป็นแม่แท้ของเธอ เพราะเขาอยู่ในพิธีขณะนำเด็กอายุน้อยที่สุดไปสังเวยเฉลยว่า แม่ของลูน่าพยายามจะช่วยลูกให้รอดแต่ไม่สำเร็จ และนางถูกจับไปจองจำ “ทำไมถึงไม่สำเร็จ” ลูน่าถาม คนรักของชายหนุ่มตอบแทนคนทั้งหมู่บ้านว่า “เพราะเราเอาแต่เชื่อในสิ่งที่ทำต่อๆ กันมา โดยไม่คิดจะตั้งคำถามหรือว่าหาคำตอบอะไรเลย”

สุดท้ายนางเสือผู้ล้างสมองให้ชาวเมืองเชื่อเรื่องแม่มด (เพราะนางเสพความเศร้าของชาวประชาแทนภักษาหาร) ก็ถูกทรยศจากบริวารเป็นการตอบแทน (ตาสว่าง) เพื่อช่วยนำทางชาวบ้านให้พ้นมนต์ปีศาจเสือ สิ้นภคินีแห่งดวงดาวนำชาวเมืองกลับสู่สันติสุขเมื่อได้รับรู้ความจริงว่า เด็กที่ส่งไปสังเวยถูกแม่มดใจดีเก็บไปเลี้ยงไว้ในป่าเสรีรอดชีวิตมีความสุขกันทุกคน คุณยายทำอย่างนี้มาหลายร้อยปีแล้ว … ล้วนสัญลักษณ์ลึกแฝงศึกการเมืองที่มากับเรื่องและตัวละครสะท้อนการปกครองของสองหมู่บ้าน เด็กได้สนุกกับนิทาน ส่วนผู้ใหญ่ได้สนานกับการตีความตามบริบทของสังคมใกล้ตัวตั้งแต่ต้นจนจบ

 

 

ในทางจิตวิทยาการเล่านิทาน คือ งานเพาะบ่มคมความคิดให้ติดตน เหมาะกับการปลูกฝังคนในวัยเด็กเล็กตั้งแต่ 1-3 ขวบ แต่รูปแบบและเทคนิคการสร้างงานของ LUNA: The Immersive Musical Experience ก็ทำให้ผู้ชมสูงวัยถวิลถึง Happy Land กับ แดนเนรมิต ซึ่งเป็นสวนสนุกที่เป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ เมื่อกว่า 30 ปีก่อนที่การแสดงในแต่ละห้องถูกออกแบบให้ Immersive คือเสน่ห์ของสวนชวนตราตรึง กระตุ้นความเป็นเด็กที่มีอยู่ทั่วในตัวของคนทุกวัย ให้โลดระเริงไปกับดินแดนแห่งเทพนิยายในจินตนาการ และสราญไปกับเรื่องราวที่เรารับรู้ ไม่ต่างกับลูน่าที่มาปรากฏกายบนเวที

นโยบายที่กลุ่มคนตัวเล็กรวมกันสร้างสรรค์โครงการคือครั้งต่อไปจะถูกเปลี่ยนเวียนโรงละคร ไม่หยุดอยู่ที่เดิมเพิ่มความยากให้มากขึ้นไปอีก เมื่อต้องเปลี่ยนโจทย์ที่ไม่ใช่แค่คัดเรื่องกับนักแสดง คือแรงผลักให้ความรักลุ่มหลงที่มีต่อละครเวทีทวีขึ้น และส่งแรงเร้าให้พวกเขาทุ่มเทต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไขทางธุรกิจเป็นตัวปิดกั้นจินตนาการที่เป็นสะพานสานความสุข เพราะนิทานสอนเด็กไม่ได้เล็กอย่างที่คิด สามารถเปลี่ยนโลกเปลี่ยนชีวิตของผู้ชมได้ หากเข้าถึงความหมายที่มุ่งสร้างศรัทธาอย่างแท้จริง

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ โดย กวินพร เจริญศรี


[1] ข้อมูลหนังสือเด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์, แปลจากหนังสือ The Girl Who Drank the Moon, ผู้เขียน Kelly Barnhill, ผู้แปล วรรธนา วงษ์ฉัตร, สำนักพิมพ์: Words Wonder สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2565 https://readery.co/9786168175132

[2] เค้าโครงเรื่อง “LUNA: The Immersive Musical Experience”, Fahfun Production, สืบค้น 25 พฤศจิกายน 2565.

[3] บริษัทผู้สร้าง​ “LUNA: The Immersive Musical Experience”, CASTSCAPE.

[4] คมชัดลึก, “LUNA: The Immersive Musical Experience” ชมละครเวทีแนว ‘Immersive Musical’ ครั้งแรกในไทย, มูลนิธิชัยพฤกษ์, สืบค้น 25 พฤศจกายน 2565