Focus
- ษัษฐรัมย์วิเคราะห์ว่าชาตินิยมและการบิดเบือนข้อมูลในสื่อได้ทำลาย "พื้นที่สาธารณะ" ที่ควรเปิดให้มีการสื่อสารเชิงเหตุผลระหว่างประชาชน จนทำให้ไม่สามารถอภิปรายหรือกำหนดทิศทางนโยบายสาธารณะร่วมกันได้ โดยผู้เขียนใช้กรอบคิดของ Jürgen Habermas และกรณียูโกสลาเวียมาเปรียบเทียบกับความขัดแย้งไทย–กัมพูชา เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความเกลียดชังทางชาติพันธุ์และการใช้ประวัติศาสตร์บิดเบือนคือเครื่องมือเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความเหลื่อมล้ำและการแปรรูประบบเศรษฐกิจ
เมื่อเกิดภัยพิบัติ วิกฤติเศรษฐกิจและสงคราม คนรวยจะรวยขึ้นและคนธรรมดาจะเป็นคนจ่ายสำหรับราคาเหล่านี้เสมอ
แนวคิดของ Jürgen Habermas เกี่ยวกับ "public sphere" หรือพื้นที่สาธารณะให้กรอบการวิเคราะห์ที่สำคัญสำหรับการทำความเข้าใจว่าชาตินิยมทำลายการสื่อสารเชิงเหตุผลในสังคม และนำไปสู่การยอมรับนโยบายที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิการของประชาชน Habermas วิเคราะห์ว่าพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพจะต้องเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้ามาอภิปรายประเด็นสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมและมีเหตุผล การใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง การโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์ และการแสวงหาความจริงร่วมกัน คือรากฐานของประชาธิปไตยที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เมื่อชาตินิยมครอบงำพื้นที่สาธารณะ การสื่อสารเชิงเหตุผลจะถูกแทนที่ด้วยอารมณ์และอคติ ข้อมูลเท็จและการใส่ความกลายเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร การแบ่งแยกระหว่าง "เรา" กับ "เขา" ทำให้การอภิปรายที่สร้างสรรค์เป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างที่สะเทือนใจที่สุดของการทำลายพื้นที่สาธารณะด้วยชาตินิยมคือการสลายตัวของยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1990 ประเทศที่เคยเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของชนชาติที่หลากหลาย กลับกลายเป็นสมรภูมิรบที่โหดร้ายที่สุดในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ก่อนสงครามกลางเมือง สื่อในยูโกสลาเวียยังคงรักษาพื้นที่สาธารณะที่ค่อนข้างเปิดกว้าง แม้จะอยู่ภายใต้ระบอบสังคมนิยมที่มีการควบคุม แต่ประชาชนยังสามารถอภิปรายประเด็นเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีเหตุผล นโยบายการปกครองตนเองของแรงงาน (worker self-management) ทำให้เกิดพื้นที่สำคัญการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียเริ่มตกต่ำในทศวรรษ 1980 ภายหลังวิกฤตหนี้สินและการกดดันจากสถาบันการเงินโลกให้ดำเนินนโยบายปรับโครงสร้าง ผู้นำทางการเมืองในสาธารณรัฐต่างๆ เริ่มหันมาใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือเบี่ยงเบนความสนใจ
Slobodan Milošević ในเซอร์เบีย และ Franjo Tuđman ในโครเอเชีย เป็นตัวอย่างของผู้นำที่ใช้สื่อมวลชนในการทำลายพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ การใช้ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน การเสาะหาและเพิ่มพูนความเจ็บปวดจากอดีต และการสร้างความกลัวต่อ "ผู้อื่น" กลายเป็นเนื้อหาหลักของสื่อมวลชน ในระหว่างการทำลายพื้นที่สาธารณะนี้ ประเด็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญถูกบิดเบือนและถูกนำเสนอในกรอบชาตินิยม การแปรรูปเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมสู่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ซึ่งควรจะเป็นประเด็นที่ประชาชนต้องอภิปรายและตัดสินใจร่วมกัน กลับถูกดำเนินการไปภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์

Slobodan Milošević

Franjo Tuđman
การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำ ล้วนถูกปกปิดไปด้วยสงครามและความเกลียดชังทางชาติพันธุ์ ประชาชนที่ควรจะร่วมกันโต้แย้งนโยบายเศรษฐกิจ กลับถูกแบ่งแยกให้ไปสู้รบฆ่าฟันกัน ในบริบทของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เราสามารถเห็นกลไกที่คล้ายคลึงกันในการทำลายพื้นที่สาธารณะ สื่อไทยและสื่อกัมพูชาทั้งระดับทางการและไม่เป็นทางการนำเสนอข่าวความขัดแย้งด้วยอคติทางชาติพันธุ์ การใช้ภาษาที่มีอคติ (biased language) การคัดเลือกข้อมูลที่เอื้อต่อจุดยืนของตนเอง และการใส่ความเจตนาร้ายให้กับอีกฝ่าย ทำให้การสื่อสารระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศเป็นไปไม่ได้ ในไทย การใช้สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับกัมพูชา การสร้างภาพลักษณ์ของกัมพูชาในฐานะ "ประเทศที่ด้อยพัฒนาและไม่รู้คุณ" และการใช้ภาษาดูหมิ่นเหยียดหยาม ล้วนเป็นการทำลายความเป็นไปได้ในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ฝั่งกัมพูชา การเผยแพร่ภาพและข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับ "การรุกรานของไทย" การใช้ประวัติศาสตร์ Angkor เป็นเครื่องมือในการสร้างความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม และการปลุกระดมความแค้นจากอดีต ล้วนทำลายโอกาสในการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
ผลที่ตามมาคือการอภิปรายเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ และการจัดสรรงบประมาณ ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมีเหตุผล ประชาชนทั้งสองประเทศต่างยอมรับการเพิ่มงบประมาณด้านทหารและการลดงบประมาณด้านการศึกษา สาธารณสุข โดยไม่มีการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ผ่านกรอบแนวคิดของ Habermas ทำให้เราเห็นว่าความขัดแย้งไทย-กัมพูชาไม่ได้เป็นเพียงปัญหาความเข้าใจผิดหรือความอิจฉาระหว่างชาติ แต่เป็นผลจากการทำลายพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสามารถอภิปรายและตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางของสังคมได้อย่างมีเหตุผล
เมื่อเสียงปืนดังขึ้น เหตุผลก็หายไป แต่ถ้าเราดำดิ่งเข้าสู่สงครามความยาวนานและยืดเยื้อเรายิ่งจะลืมว่ามีเหตุผลอีกมากมายที่เราต้องคุยถกเถียง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสงคราม แต่เป็นทุกๆเรื่องในสังคม จะถูกกลบด้วยเสียงปืน เสียงแห่งความเกลียดชังและจากบทเรียนในหลายพื้นที่มันไม่ได้สร้างความก้าวหน้าอะไรเลย แต่สร้างบาดแผลและความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกยาวนาน
บทความที่เกี่ยวข้อง: