ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เส้นเขตแดนเป็นเรื่องสมมติ ชีวิตคนเป็นของจริง ตอนที่ 3: ชาตินิยมกัมพูชา - ไทยกับการแบ่งแยกแรงงาน -บทเรียนจากความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถาน

28
กรกฎาคม
2568

Focus

  • บทความ “เส้นเขตแดนเป็นเรื่องสมมติ ชีวิตคนเป็นของจริง ตอนที่ 3: ชาตินิยม กัมพูชา–ไทย กับการแบ่งแยกแรงงาน – บทเรียนจากความขัดแย้งอินเดีย–ปากีสถาน” เสนอการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ต่อบทบาทของชาตินิยมในฐานะกลไกการแบ่งแยกชนชั้นแรงงาน โดยอาศัยกรอบแนวคิดของ Vladimir Lenin ว่าด้วยชาตินิยมในฐานะเครื่องมือของชนชั้นปกครอง บทความชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติ เช่น ไทย–กัมพูชา หรือ อินเดีย–ปากีสถาน ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์หรือชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นกระบวนการที่ชนชั้นนำใช้เบี่ยงเบนความสนใจของแรงงานจากการต่อสู้เพื่อสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในไทย เช่น แรงงานกัมพูชาในภาคอุตสาหกรรม ถูกใช้เป็น “สนามอารมณ์” ในช่วงความตึงเครียดระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันแรงงานไทยก็ถูกปลูกฝังให้มองแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็น “ศัตรู” แทนที่จะมองว่าเป็น “เพื่อนร่วมชนชั้น” ที่เผชิญโครงสร้างการกดขี่เดียวกัน
  • บทความเปรียบเทียบกับกรณีอินเดีย–ปากีสถาน ซึ่งการแบ่งแยกประเทศในปี 1947 ได้ทำลายขบวนการแรงงานข้ามศาสนาและชาติพันธุ์ที่เคยเข้มแข็ง และทำให้แรงงานทั้งสองฝั่งกลายเป็นเครื่องมือของการเมืองชาตินิยม บทความสรุปว่า การทำความเข้าใจชาตินิยมในฐานะกลไกทางอำนาจที่ตัดตอนความเป็นเอกภาพของแรงงาน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ที่แรงงานสามารถรวมพลังกันข้ามพรมแดน ต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบภายใต้ระบอบทุนนิยมโลก และร่วมกันผลักดันสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

 


อินเดีย และ ปากีสถาน ระหว่างปี 1947-1971

 

เมื่อเกิดภัยพิบัติ วิกฤติเศรษฐกิจและสงคราม คนรวยจะรวยขึ้นและคนธรรมดาจะเป็นคนจ่ายสำหรับราคาเหล่านี้เสมอ

Vladimir Lenin นักปฏิวัติชาวรัสเซีย พูดถึงชาตินิยมที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกชนชั้นแรงงาน เราสามารถใช้กรอบนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าความขัดแย้งไทย-กัมพูชามีผลกระทบอย่างไรต่อการรวมตัวของแรงงานและการต่อสู้เพื่อสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม Lenin ได้ชี้ให้เห็นว่าในยุคจักรวรรดินิยม ชนชั้นปกครองใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความสนใจของแรงงานจากการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง แทนที่จะรวมตัวกันต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ แรงงานจากชาติต่างๆ กลับถูกปลุกระดมให้เกลียดชังและสู้รบกัน เพื่อ "เกียรติยศของชาติ"

 


การแบ่งแยกประเทศในปี 1947 คือการอพยพคนครั้งใหญ่กว่า 14 ล้านคน

 

ตัวอย่างที่เจ็บปวดและชัดเจนที่สุดของกลไกนี้คือความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานตั้งแต่การแบ่งแยกประเทศในปี 1947 จนถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งที่ยาวนานกว่า 75 ปีนี้ไม่เพียงทำให้ประชาชนล้านคนต้องสูญเสียชีวิต แต่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรวมตัวของแรงงานเพื่อต่อสู้เพื่อสิทธิในการครองชีพที่ดีกว่า ก่อนการแบ่งแยกประเทศ ขบวนการต่อต้านจักรวรรดิอังกฤษในอนุทวีปอินเดียมีเอกภาพค่อนข้างสูง แรงงานฮินดูและมุสลิมร่วมมือกันในการประท้วงต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ เช่น การผูกขาดเกลือ การจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และการทำลายอุตสาหกรรมท้องถิ่น ขบวนการแรงงานในเมืองต่างๆ เช่น มุมไบ (บอมเบย์เดิม) และกัลกัตตา มีการรวมตัวข้ามศาสนาและชาติพันธุ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อชนชั้นนำทางการเมืองเริ่มใช้อุดมการณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจ ความสามัคคีของแรงงานเริ่มแตกสลาย Muhammad Ali Jinnah แห่งสันนิบาตมุสลิม และบางส่วนของผู้นำสภาชาติอินเดียใช้ความแตกต่างทางศาสนาเป็นเครื่องมือในการระดมการสนับสนุนทางการเมือง

 


โครงการขีปนาวุธระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน

 

การแบ่งแยกประเทศในปี 1947 ไม่เพียงทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (14 ล้านคน) และการจลาจลที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่าง 200,000 ถึง 2 ล้านคน แต่ยังทำลายเครือข่ายแรงงานที่เคยมีความเข้มแข็งข้ามศาสนา ภายหลังการแบ่งแยกประเทศ ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างใช้ความขัดแย้งกันเป็นเครื่องมือในการปกปิดปัญหาภายใน การแข่งขันทางทหารระหว่างสองประเทศทำให้งบประมาณจำนวนมหาศาลถูกใช้ไปกับการพัฒนาอาวุธ แทนที่จะใช้เพื่อการพัฒนาสวัสดิการสังคม การศึกษา และสาธารณสุข

ในปากีสถาน การใช้ความกลัวจาก "การคุกคามของอินเดีย" เป็นข้ออ้างในการรักษาอำนาจของชนชั้นทหารและชนชั้นนายทุน การปราบปรามขบวนการแรงงานและเกษตรกรได้รับการปรารถนาจากประชาชนที่เชื่อว่าจะเป็นการต่อต้าน "ศัตรูภายใน" ที่ทำงานให้กับอินเดีย

ในอินเดีย การใช้ "ภัยคุกคามจากปากีสถานและจีน" เป็นข้ออ้างในการเพิ่มงบประมาณด้านป้องกันประเทศและการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แทนที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรง นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน

ที่สำคัญกว่านั้น ความขัดแย้งอินเดีย-ปากีสถานยังทำลายการรวมตัวของแรงงานในระดับภูมิภาค แรงงานจากทั้งสองประเทศที่เผชิญปัญหาเดียวกัน - ค่าจ้างต่ำ สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย การขาดสวัสดิการสังคม - ไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองกับนายทุนข้ามชาติได้ ชาตินิยมทำหน้าที่เป็น "ฝิ่น" ที่ทำให้แรงงานลืมปัญหาชนชั้นและหันไปเกลียดชังกันเองแทน

ในบริบทของความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เราสามารถเห็นกลไกการแบ่งแยกแรงงานที่คล้ายคลึงกัน แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การก่อสร้าง และการประมง ที่ควรจะรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่ปลอดภัย และการคุ้มครองทางสังคม กลับถูกแบ่งแยกด้วยอคติทางชาติพันธุ์

ในไทย แรงงานกัมพูชาจำนวนมากถูกเอาเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ การจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานไทย การไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และการถูกขู่ว่าจะส่งกลับประเทศ เป็นปัญหาที่แรงงานไทยและแรงงานกัมพูชาควรจะร่วมมือกันแก้ไข เพราะการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติส่งผลให้ค่าจ้างและสภาพการทำงานของแรงงานไทยเองก็ตกต่ำลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างประเทศทำให้แรงงานไทยมองแรงงานกัมพูชาเป็น "ศัตรู" ที่มาแย่งงาน แทนที่จะมองว่าเป็น "เพื่อนร่วมชนชั้น" ที่ถูกเอาเปรียบโดยระบบเดียวกัน การใช้ภาษาดูหมิ่นเหยียดหยาม การกีดกั้นไม่ให้แรงงานกัมพูชาเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และการสนับสนุนนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติ ล้วนเป็นผลจากการที่ชาตินิยมทำลายความสำนึกทางชนชั้น

ฝั่งกัมพูชา สถานการณ์ก็คล้ายคลึงกัน แรงงานกัมพูชาที่ทำงานในไทยถูกปลุกระดมให้มองไทยเป็น "ประเทศจักรวรรดิ" ที่เอาเปรียบกัมพูชาโดยเฉพาะข้อพิพาทชายแดน แทนที่จะมองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมที่ทำให้เกิดการแข่งขันแย่งชิงงานระหว่างแรงงานจากประเทศต่างๆ ความรู้สึกชาตินิยมทำให้แรงงานกัมพูชาไม่เข้าใจว่าแรงงานไทยเองก็เป็นเหยื่อของระบบเดียวกัน

การใช้ชาตินิยมแบ่งแยกแรงงานนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อนายทุนข้ามชาติ บริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทยและกัมพูชาสามารถใช้ประโยชน์จากความแบ่งแยกนี้ในการกดดันแรงงานให้ต่อรองกัน การขู่ว่าจะย้ายโรงงานไปยังประเทศที่แรงงานถูกกว่า การใช้แรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานสำรอง เพื่อกดดันค่าจ้าง ล้วนเป็นกลวิธีที่ได้ผลมากขึ้นเมื่อแรงงานจากประเทศต่างๆ ไม่สามารถรวมตัวกันได้

นอกจากนี้ ความขัดแย้งไทย-กัมพูชายังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามขบวนการแรงงานในประเทศ ในไทย การประท้วงของแรงงานเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือปรับปรุงกฎหมายแรงงาน มักจะถูกใส่ร้ายว่าเป็นการทำลาย "ความสามารถในการแข่งขัน" ของประเทศ และจะทำให้นายทุนต่างชาติไปลงทุนในกัมพูชาแทน ในกัมพูชา การประท้วงของแรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มักจะถูกปราบปรามด้วยข้อหาว่าเป็นการทำลาย "ความมั่นคงของชาติ" และเป็นการช่วยเหลือ "ศัตรู" (รวมถึงไทย) ให้มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของชาตินิยมในฐานะ "ฝิ่นของประชาชน" จึงชัดเจนในกรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา แทนที่แรงงานจะรวมตัวกันต่อสู้กับปัญหาจริง - การเอารัดเอาเปรียบโดยนายทุน การขาดสวัสดิการสังคม ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น - กลับถูกหล่อหลอมให้เกลียดชังกันเองและยอมรับการเสียสละเพื่อ "ชาติ"

ชาตินิยมทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำลายพื้นที่สาธารณะที่จำเป็นสำหรับการอภิปรายเชิงเหตุผล และแบ่งแยกแรงงานไม่ให้สามารถรวมตัวต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองได้ การเข้าใจกลไกเหล่านี้เป็นก้าวแรกสำคัญในการสร้างทางเลือกใหม่ที่จะนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมมากขึ้น

ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาที่ปรากฏบนพื้นผิวเป็นเรื่องของ "ชาติพันธุ์" และ "อธิปไตย" สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของกลไกที่ลึกซึ้งกว่า – การใช้ชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการดำรงรักษาระบบทุนนิยมและการปกครองของชนชั้นนำ การสร้างทางออกจากวังวนแห่งความขัดแย้งนี้จึงต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจใหม่ที่ข้ามพ้นกรอบชาตินิยม การสร้างพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับการอภิปรายเชิงเหตุผล และการรวมตัวของประชาชนข้ามชาติเพื่อต่อสู้กับปัญหาร่วมกันภายใต้ระบบทุนนิยมโลก

เฉพาะเมื่อใดที่เราสามารถมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะมนุษย์ แทนที่จะถูกแบ่งแยกโดยพรมแดนและธงชาติ เราจึงจะสามารถสร้างสังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: