Focus
- บทความ “ละครโรงเล็ก สื่อศิลปะ อิสรการแสดง” นำเสนอภาพรวมของการเติบโตและบทบาทของละครเวทีขนาดเล็กในประเทศไทยในฐานะเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงสังคมจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ โดยกล่าวถึงคณะละครสำคัญอย่างมะขามป้อม, มายา, ภัทราวดีเธียเตอร์, กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว–B-Floor, และ Poems Dimension ที่ล้วนพัฒนาแนวทางการใช้ “พื้นที่เล็ก” เป็นแหล่งบ่มเพาะพลังสร้างสรรค์และความกล้าในการสื่อสารประเด็นสาธารณะและการเมือง บทความเสนอว่าละครโรงเล็กเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทดลองทางศิลปะ เชื่อมโยงศิลปินกับผู้ชมอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตทางการเมืองและการระบาดของโควิด-19 ที่ศิลปะการแสดงกลายเป็นพื้นที่ยืนยัน “เสรีภาพทางความคิด” และ “ศิลปะเพื่อสังคม” อย่างเป็นรูปธรรม

พัฒนาการของละครเวทีโรงเล็ก
จุดเริ่มต้นของมหรสพที่เรียกกันว่า ‘ละคร’ ที่เป็นศิลปะการแสดงร่วมสมัยไม่ใช่การแสดงในราชสำนัก มักเกิดจากพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อสร้างความสุขและเป็นกระบอกเสียงสำหรับการส่งสารจาก ‘คนตัวเล็ก’ สู่สังคม เพื่อสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลงเพราะฉะนั้นขนาดของพื้นที่จึงไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในมิติของการรับรู้ (จำนวนผู้ชม) เท่านั้น แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกับการสร้างสรรค์งานผ่านกลไกของการ ‘เลือกสรรเครื่องมือสื่อสาร’ ซึ่งจะส่งผลตรงต่อเนื้อหาที่สื่อไปถึงผู้รับอย่างมีพลังได้ ต้องเกิดจากองค์ประกอบสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ของผู้สร้างงาน (ศิลปิน-ทีมงาน) กับขนาดของพื้นที่ และเชื่อมโยงกับประเภทของการแสดงด้วย โดยเฉพาะเมื่อเจตจำนงของผู้สร้าง ไม่ได้มีแนวทางที่ต้องการเพียงสร้างงานบันเทิงเพื่อเริงรมย์อย่างเดียว
การระบาดของ โควิด - 19 (เกิดโควิดในจีนปี 2561 ระบาดเข้าไทยและหนักไปทั่วโลกในปี 2562) จากกลไกการแก้ปัญหานำมาซึ่งบทสนทนาของผู้คนกับตนเอง และผู้คนกับสังคมมากขึ้น จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจกและมหภาค การแสดงที่แฝงความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณของมนุษย์กับศิลปะจึงเกิดการปรับในระดับที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมอย่างเห็นได้ชัดเจน จากปี 2550-2560 คณะละครกลุ่มเล็กรุ่นใหม่เติบโต ขยายตัว หลังโควิดทิ้งบทเรียนไว้ให้คิดเรื่องการปรับองค์กร หลังปี 2563 หลายกลุ่มเคลื่อนไหวในแนวทางอย่างคึกคักมากขึ้น ‘ขนาดของพื้นที่’ ซึ่งเคยเป็นโจทย์สำคัญต่อการเติบโตในวงกว้าง และมีผลต่อการสร้างงานเสริมการรับรู้ ไม่ได้เป็นอยู่เป็นปัจจัยถ่วงให้ต้องห่วงอีกต่อไป ไม่ต่างจากกลุ่มองค์กรธุรกิจที่ต่างถูกคิดให้เล็กลง แต่ต้องส่งประสิทธิภาพให้สูงแบบ ‘เล็กพริกขี้หนู’
ปัจจุบันนักศึกษาวิชาการละครเติบโต ขยายก้อน รวมกลุ่ม ‘ขนาดของโรงละคร’ ไม่ได้เป็นปัญหาต่อการรับรู้ ขยายฐาน หรือการสร้างงานทุกประเภทการแสดงอีกต่อไปแล้ว ในทางตรงข้ามโรงละครขนาดเล็กกลับสนองความต้องการของผู้เสพงานศิลป์ เอื้อต่อการสร้างสรรค์ของศิลปิน อีกทั้งพัฒนาการของสื่อ Social Media ยังช่วยขยายฐานผู้ชมให้เร็วและหลากหลายขึ้น นับว่ามีผลโดยตรงและทรงพลัง ทั้งในมิติของการสื่อสารส่วนตัว เฉพาะกลุ่ม และแบบสาธารณะ แล้วยังสนับสนุนการเลือกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำด้วย Free Media ซึ่งทุกคนสามารถเลือกที่จะเข้าถึงได้ตามรสนิยม ความเหมาะสม และเงื่อนไขของการตอบโจทย์ ยุคนี้จึงเป็นนิมิตรดีของวงการละคร เมื่อโรงเล็กเติบโตอย่างมีทิศทาง สร้างงานอย่างมีอนาคต แม้ในสภาพเศรษฐกิจที่กรีดเนื้อ และรัฐสนับสนุนแบบคนคุ้นเคย ด้วยระบบที่สร้างความคุ้นชิน (คือต้องดิ้นรนด้วยตัวเองตลอดมา กว่าจะมีวันนี้…)

45 ปี มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)
เมื่อกว่า 45 ปีก่อน คนไทยกลุ่มใหญ่เริ่มรู้จักมหรสพที่เรียกว่า ‘ละคร’ (ที่ไม่ใช่ละครวิทยุ) เป็นครั้งแรกก็เพราะ “กลุ่มละครมะขามป้อม” แม้ยังไม่รู้ว่าละครแบ่งออกเป็นกี่ประเภทก็ตาม เพราะความที่กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงชาวบ้านร้านตลาดตลอดจนชุมชนที่ผู้คนไม่คุ้นเคย และมีเสน่ห์ของความเป็น ‘ละครชาวบ้าน’ เพราะทั้งรูปแบบและเนื้อหาที่เข้าถึงง่าย ใกล้ตัว ชวนหัวสนุกสนานแม้ ‘ สาร ’ จะหนักมากจน ‘ย่อยยาก’ แต่ถูกทำให้ ‘กลืนง่ายคายยาก’ ด้วยกระบวนการเรียนรู้คู่กับจิตวิทยามวลชน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ตระหนักในหน้าที่กับวิถีประชาธิปไตย ผ่านงานกิจกรรมที่ใช้เป็นสื่อในการรณรงค์ประเด็นทางสังคม การสร้างเครือข่าย เพื่องานพัฒนาชุมชน เพราะพวกเขาเชื่อว่าละครเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ละคร จึงเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กลุ่มนี้ทำงานร่วมกับพัฒนากร องค์กร ชุมชนต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในประเด็นทางสังคม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากว่า 45 ปี จนเป็นที่รู้จักกันดีมีแกนนำสำคัญคือ ศรีศักดิ์ ไทยอารี ประธานกลุ่ม กับ พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการกลุ่ม และ หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน (Theatre for Transformation Network)
“กลุ่มละครมะขามป้อม” เริ่มก่อตั้งดำเนินการตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2548 จึงจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิสื่อชาวบ้าน” (มะขามป้อม) ขยายขอบเขตการทำงานออกไปอีกด้วยภารกิจหลักคือ ใช้สื่อละครเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กเยาวชน และชุมชน สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งในระดับชุมชน ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมตามที่ใฝ่ฝัน เมื่อครอบครัวขยายจึงแบ่งกำลังออกเป็นหลายฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายการแสดง ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายละครชุมชน ฝ่ายต่างประเทศ และฝ่ายพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร ทำให้สมาชิกหลายคนหลายกลุ่มเติบโตอย่างเปี่ยมศักยภาพ พร้อมเจริญงอกงามเป็นเมล็ดพันธุ์ดีที่เป็นกำลังสำคัญของวงการละครเวทีไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะผ่าน ‘บ้านเรียน’ ดี มีความรู้ มีอุดมการณ์
ต้นไผ่เติบใหญ่แตกหน่อกอขยายออกเป็นสองสาย มะขามป้อมมีบ้านสองหลังตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ กับอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีธุรกิจกงสีคือ บริษัท กู๊สเบอร์รี่ อาร์ตส์ เป็นกิจการเพื่อสังคม (Socila Enterprise) ของชาวมะขามป้อม มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายขอบข่ายการทำงานสู่สาธารณะ และทำหน้าที่ระดมทุนหล่อเลี้ยงองค์กรไปพร้อมกัน หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 จึงได้ริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมอีกสายด้วย โครงการ Study Tour สร้างโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากนานาประเทศได้เรียนรู้ทักษะละคร และทำงานร่วมกับชุมชน เป็นแม่แบบให้กับสถาบันและองค์กรรับไปปรับพัฒนาต่อยอดทำประโยชน์ ซึ่งยังคงดำเนินการอยู่จนถึงทุกวันนี้ด้วยดีตลอดมา

มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ใช้ ‘ละคร’ เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน จากประสบการณ์ยาวนานที่ผ่านมา ได้พัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือละคร แตกแขนงออกไปหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองการใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงจัดให้มี โครงการพัฒนาเครือข่ายละครสร้างปัญญาเพื่อเยาวชน (Theatre for Transformation Network) ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการจัดทำขึ้นในปี 2556 – 2557 โดยมีเครือข่ายนักการละครและครู ทั้งหมด 6 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศที่นำกระบวนการละครไปใช้ ได้แก่ เชียงใหม่ มหาสารคาม อุบลราชธานี สงขลา ชลบุรี และอุตรดิตถ์ มีแนวคิดว่ากระบวนการละครจะเป็นวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชน และสร้างสุขภาวะปัญญาของสังคมได้ ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลง (Transformation) จากภายในตัวของเยาวชน โดยเสริมพลัง คุณค่าเชิงบวก ด้วยฐานคิดทฤษฎี “การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (Theory of Learning For Transformation) ปัจจุบันมะขามป้อมใช้ละครใน 2 มิติ คือกระบวนการละคร (Process) และสื่อละคร (Production)[1] โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เล่น พัฒนาผู้ชม และพัฒนาสังคม ได้จัดแบ่งละครออกเป็น 4 ประเภทเพื่อความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
- ละครถกแถลง ( Dialogue Theatre ) เกิดจากแนวคิดการผสานศาสตร์ของการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และศิลปะการละครเข้าไว้ด้วยกัน ใช้โรงละครเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเฉพาะประเด็นท้าทาย อ่อนไหวและยากต่อการนำเสนอในที่สาธารณะ คือการนำเสนอปัญหาความขัดแย้งทีเกิดขึ้นจริงบนโลกเสมือน ตัวละครถอดแบบมาจากคนจริง ๆ แต่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การถกแถลงหลังละคร จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะการโต้แย้งกันในเรื่องของบุคคลที่สาม ให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่าการเผชิญหน้ากับคู่ขัดแย้งโดยตรง การแสดงละครถกแถลง นักแสดงต้องสวมบทบาทตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งในช่วงละครและช่วงถกแถลง แม้เป็นเรื่องค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะการแสดง แต่สมาชิกต่างใช้เครื่องมือสำคัญนี้ได้ดีมีผลต่อ ‘สาร’
- ละครหุ่น เป็นหนึ่งในเครื่องมือละครที่สำคัญต่อการทำงานของพัฒนากร และเพื่อการพัฒนาของมะขามป้อม สามารถเข้าถึงกลุ่มเป่าหมายหลักที่เน้นงานการวางฐานรากจากเด็กและเยาวชน ละครหุ่นมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หุ่นมือ หุ่นเงา หุ่นสร้างสรรค์จากของเหลือใช้ หุ่นยักษ์ ฯลฯ ผลงานการแสดง ‘ละครหุ่น’ ของมะขามป้อมได้รับการยอมรับในระดับสากล มักได้รับเชิญไปแสดงในงานเทศกาลนานาชาติเสมอ นอกจากผลิตละครหุ่นเองแล้ว มะขามป้อมยังมีหลักสูตรการอบรมละครหุ่นประเภทต่าง ๆ ด้วย
- ละครกายกรรม มะขามป้อมจัดการศึกษาแบบทางเลือกสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งหลังเลิกเรียน หลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนแบ่งเป็น 3 ฐาน คือมือ สมองและหัวใจ เด็ก ๆ ทุกคนจะได้ฝึกฝนทักษะการแสดงประเภทต่าง ๆ ฝึกฝนกายกรรม ฝีกฝนทักษะการเป็นวิทยากร เรียนภาษาอังกฤษ ฝึกการบริหารจัดการกลุ่ม ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากปู่ย่าตายาย และทำความเข้าใจปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญอยู่ โรงเรียนกายกรรม เชิญชวนผู้ที่สนใจมาเป็นครูอาสาสมัคร ฝึกสอนกายกรรมกับละครจากทั้งในและต่างประเทศ และเชิญร่วมบริจาคอุปกรณ์กายกรรม หรือบริจาคเงินเพื่อซื้ออุปกรณ์กายกรรมบางส่วนที่ไม่สามารถผลิตได้เองในท้องถิ่น ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเครือข่าย
- รู้จักกันดีเป็นที่นิยมคือ ละครร่วมสมัย บทละครและรูปแบบการแสดง ได้รับการขัดเกลาให้มีความงาม สุนทรียทางศิลปะ ส่วนใหญ่จะรับบทบาทโดยนักแสดงของมะขามป้อม มีเป้าหมายหลักในการสื่อสารประเด็นทางสังคมกับผู้ชม สร้างความสั่นสะเทือนทางอารมณ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกร่วมกับเรื่องราว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า … “มายาฤทธิ์”
เมื่อ ‘พื้นที่’ คือปัจจัยหลักในการสร้างงาน “กลุ่มละครมายา” เป็นกลุ่มที่มีมีศักยภาพจึงลงทุนสร้างโรงละครขนาดเล็ก เพราะต้องการความต่อเนื่องมั่นคงในการสร้างงาน จนก่อตั้ง “มายาบ๊อกซ์” สำเร็จ ด้วยได้รับแรงบันดาลใจจากละครโรงเล็กในญี่ปุ่น ที่เกิดจากการดัดแปลงพื้นที่บ้าน, ห้องแถว หรือห้องใดห้องหนึ่งในอาคารให้กลายเป็นโรงละครขนาด 20 ที่นั่งขึ้นไป ซึ่งให้วิธีคิดว่า ขนาดของพื้นที่ไม่ได้มีผลต่อการสร้างและพัฒนางานของศิลปิน ตรงข้าม ในพื้นที่ส่วนตัวกลับกลายเป็น Save Zone ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยจากการต่อสู้กับภัยเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อชีวิตและสมาธิในการสร้างงาน เหมือนคนเช่าบ้านที่ต้องกังวลกับการประคองค่าใช้จ่ายหลายส่วน เส้นทางการต่อสู้ของมายาจึงไม่ต่างจากโชคชะตาชีวิตคนที่ต้องดิ้นรนบนเส้นทางโดดเดี่ยว แม้จะมีเพื่อนสมาชิกมากมาย แต่สุดท้ายที่พึ่งแท้จริงคือตัวตนคนสร้างงาน เพราะรักในสิ่งที่ทำ
สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) จัดสร้างละครโรงเล็กสำหรับเด็กและครอบครัว ขนาด 80-100 ที่นั่ง ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 มีสมาชิกดำเนินงานหลัก (ตั้งแต่อดีตสมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลายจนถึงปิด) คือ สันติ จิตระจินดา ผู้อํานวยการฝ่ายศิลปะ และ คุณสมศักดิ์ กัณหา ผู้อํานวยการโครงการ ในปี พ.ศ. 2546 มายาได้รับรางวัล โครงการพัฒนาการปฐมวัยดีเด่นของโลก The Oscar Van Leer Award (โครงการเด็กอีสานสมองใสและโครงการเด็กเมืองเหนือสมองใส) จากการประกวด ‘โครงการพัฒนาการปฐมวัยศึกษา’ จากทั่วโลกของ BVLF Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย ศิลปกรรมสาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2563 บันทึกประวัติยุคบุกเบิกของ ‘ละครโรงเล็กไทย’ ไว้ในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางความคิด และรูปแบบทางการละคอน ของ สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา)” [2] ดังนี้
ในช่วงแรกก่อตั้ง การดำเนินงานของมายาแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ๆ คือ
- ส่วนที่ 1 การตระเวนแสดงละคอนเร่ตามสถานที่ชุมชนทั้งแออัดและไม่แออัด (Community theatre) เพื่อมุ่งให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้คนตามชุมชนต่างๆ เป็นส่วนที่ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะและกลวิธีการนําเสนอละคอนของมายาอย่างมาก
- ส่วนที่ 2 การผลิตสื่อการสอนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าหุ่น วิดีโอ หนังสือ หรือคู่มือ ให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน องค์กรพัฒนาได้ยืมไปใช้ เป็นการผลักดันให้ใช้สื่อต่าง ๆ ในกระบวนการเรียนการสอนสําหรับเด็ก
- ส่วนที่ 3 งานการฝึกอบรมครูประจำการในโรงเรียนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และในต่างจังหวัด (The Fine & Applied Arts Journal Vol.13 - No.2 July-December 2004) รวมทั้งนักพัฒนาหรือคนที่ทําางานเกี่ยวกับการพัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อในการเรียนการสอน วิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสามารถผลิตงานและกิจกรรมที่สนุกสนานมีคุณค่าสําหรับเด็กนักเรียน ผลงานจึงมีหลักสําคัญอยู่ที่การศึกษา

มายา เป็นกลุ่มละคอนที่เป็นผู้ริเริ่มปรับองค์กรเป็นไม่เน้นผลกําไร (non-profit organization) และเป็นคณะละคอนที่มีองค์กรบริหารชัดเจน การทํางานในระยะแรกของมายามีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ เด็กและเยาวชน เพราะมีความเชื่อว่าศิลปวัฒนธรรมหรือศิลปะการแสดงไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มีมิติอื่นที่สามารถนําเสนอข่าวสารข้อมูล หรืออุดมคติบางอย่างได้ โดยเฉพาะการร่วมสร้างระบบนิเวศของสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว
งานของมายาแบ่งได้เป็น 3 ด้าน คืองานด้าน การละคอน การฝึกอบรม และการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะ งานด้านการละคอนแบ่งตามลักษณะผลงานได้ 3 ด้าน คือ ละคอนการศึกษาเพื่อชุมชน (Educational Community Theatre) / การแสดงต่างประเทศ (International Performances) / และละคอนทดลอง (Experimental Theatre) ดังนี้
- ละคอนการศึกษาเพื่อชุมชน (Educational Community Theatre) เป็นการจัดแสดงละคอนในรูปแบบของละคอนเร่ งานในยุคบุกเบิกของมายา มีทั้งหมด 15 โครงการ รวม 1,534 รอบ
- การแสดงละครต่างประเทศ (International Performances) แบ่งเป็นทวีปเอเชียและทวีปยุโรป มีทั้งหมด 15 เรื่อง และการจัดแสดงละคอนต่างประเทศในประเทศไทย 19 เรื่อง โดยมายามีบทบาทเป็นผู้อํานวยความสะดวกในด้านต่างๆ ให้แก่คณะละคอนต่างประเทศที่มีความประสงค์จะนําผลงานการแสดงมานําเสนอในประเทศไทย
- ละคอนทดลอง (Experimental Theatre) มายาจัดแสดงละคอนทั้งหมด 33 เรื่อง จากการจัดแสดงตามโรงละคอนต่าง ๆ และจัดแสดงที่โรงละคอน มายาบ๊อก (MAYABOX) ในเนื้อหาที่หลากหลาย มีทั้งละคอนสําหรับเด็กและ เยาวชน ละคอนสําหรับครอบครัว และละคอนสําหรับผู้ชมทั่วไป
มายา มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 39 ปี (จากก่อตั้ง 2524-2563) ในอดีตสร้างผลงานละคอนหลากหลายขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและทันกับความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ แต่ยังคงเน้นที่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเป็นสําคัญ โดยอาศัยสื่อสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่อละคอน ซึ่งเป็นสื่อสําคัญที่อยู่คู่กับมายามาตั้งแต่เริ่มต้นจนปิดตัวลงอีกครั้ง เพราะปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ของผู้เช่ารายหนึ่งซึ่งต้องการยึดครองเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ จุดปฏิบัติการล่าสุดของมายาคือ “โรงละครมายาฤทธิ์” อาคาร JJ Outlet ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. จัดตั้งขึ้นในปี 2558 รองรับผู้ชมได้ 80-100 ที่นั่ง ยังคงความเป็นโรงละครสำหรับเด็ก(แห่งแรกและแห่งเดียวของไทย) มีผลงานละคร 9 เรื่อง เรื่องสุดท้ายก่อนแยกย้ายชั่วคราวของมายาคือ “เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” (For A Better Tomorrow) จัดแสดงทุกเสาร์ อาทิตย์วันละ 2 รอบ 13.00 น. และ 6.00 น. ตั้งแต่ 13 กรกฏาคม - 1 กันยายน 2562

ภัทราวดีเธียเตอร์ MASTER OF ACTING
อีกหนึ่งองค์กรเพื่อการพัฒนาที่ใช้ ‘ละครเวที’ เป็นเครื่องมือสำคัญคือ โรงละคร ภัทราวดีเธียเตอร์ ก่อตั้งโดย ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) ปี 2557 ครูเล็ก ศึกษาศิลปะการแสดงจาก Pasadena Playhouse สหรัฐอเมริกา, การออกแบบเครื่องแต่งกายจาก Joycelyn Ryan สหรัฐอเมริกา, วิชาศิลปะการแสดงชวา-บาหลีจาก สถาบัน STSI อินโดนีเซีย, วิชาการเต้นรำร่วมสมัยและการใช้เสียงจาก Langara College แคนนาดา, ศึกษานาฏศิลป์ไทยจาก ครูธีรยุทธ ยวงศรี และ ครูราฆพ โพธิเวส ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-โขน) ปี 2547 ได้รับพระราชทานปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สาขานาฏศิลป์และการละครจากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ปี 2550 เริ่มเปิดพื้นที่ด้วย โรงเรียนการแสดงบุญภัทร์ธุรกิจและการละคร ในปี 2525 ต่อมาพัฒนาเป็น โรงเรียนศิลปะการแสดง ภัทราวดีเธียเตอร์ ในปี 2535 สอนศิลปะการแสดงทั้งไทยและสากลตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงมืออาชีพ บนที่ดินมรดกของ คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ [3] (นักกฏหมายสายสิทธิสตรี ผู้ก่อตั้ง บริษัทสุภัทรา กรุ๊พ และ บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา) สืบทอดอุดมการณ์ของมารดาในบริเวณเดียวกับ โรงเรียนอนุบาลสุภัทรา ก่อตั้งปี 2507 (สถานศึกษาเพื่อบุตรธิดาของเหล่าพนักงาน กลุ่มบริษัท สุภัทรา จำกัด )

ครูเล็ก จากหญิงผู้บุกเบิกพัฒนาการใหม่ให้กับแวดวงทีวีไทย สู่การเปิดโลกใหม่ให้กับศิลปะการแสดงร่วมสมัย ณ โรงละคร ภัทราวดีเธียเตอร์ ดำเนินงานในบทบาทของ ‘สถาบัน’ ที่เป็นศูนย์รวมสรรพศิลป์ โดยศิลปินครูผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การแสดงหลากแขนง ทั้งแนวประเพณี แนวร่วมสมัย ด้วยเครือข่ายทั้งไทยและนานาชาติ ภายใต้การอุปถัมภ์ของ มูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ ท่ามกลางเหตุ รัฐประหาร ‘ พฤษภาทมิฬ ’ ที่ทุกอย่างหยุดชะงักแต่ ‘ จุดพักใหม่ ’ เปิดตัวด้วย ‘ โครงการนิทานข้างวัด ’ จัด ‘ละครเพลงสร้างสรรค์อิสระ’ เรื่อง “สิงหไกรภพ” [4] เมื่อ 2 สิงหาคม - 27 กันยายน 2535 เป็นการแสดงที่ชัดในอัตลักษณ์ของการสร้างงาน ‘ ละครร่วมสมัย รากไทยในลีลาสากล ’ บนลานหินแตกด้านหน้าทางเข้าโรงละคร ไม่นานงานอีกหลายเรื่องฟูเฟื่องตามมา ให้คนรักการเสพศิลป์-กินอาหารสมองสนองจิตใจได้รู้ว่า ทางเลือกยังมีอีกหนึ่งซึ่งเป็นมากกว่า ‘มหรสพธรรมดา’ ที่คุ้นเคย
โรงละครภัทราวดีฯ มีการจัดกิจกรรมแนว Art Education และหลายแนวการแสดงของเหล่าศิลปินหลากแขนงจากทั่วประเทศและทั่วโลก ร่วมถ่ายทอดงานแบบ Edutainment จึงเป็นทั้ง Gallery และ Art Space จัดสรรพื้นที่ออกเป็นหลายขนาดรวม 9 studio เพื่อให้เหมาะกับการฝึกฝน ฝึกซ้อม และการแสดง (เล็กสุดคือ Studio 1 Black Box ขนาด 100 ที่นั่ง) รายรอบด้วย studio และโรงละครกลางแจ้ง (Open-Aired Theatre) รวมถึง Theatre Cafe เวทีริมน้ำ ต่อมาปรับพื้นที่บางส่วนสร้าง ‘โรงละครกลางสวน’ ขนาด 300 ที่นั่ง ออกแบบสไตล์โมเดิร์นรับกับผลงานที่ผ่านการคัดสรร ร่วมประชันโดยผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสาขา ไปจนถึงนักเรียน นักศึกษาร่วมฝึกฝน ค้นหา พัฒนาฝีมือ
คนทั่วไปรู้จักที่นี่ในนาม ‘ชุมชนละครเวทีสมัยใหม่’[5] อันเป็น ‘ศูนย์กลางศิลปะการแสดงร่วมสมัย’ ที่สร้างบุคคลากร ศิลปิน ในสายศิลปศาสตร์หลายแขนงทั้ง นักดนตรี นักแสดง นักละคร นักบริหารงานวัฒนธรรม, สนับสนุนให้ทุนให้โอกาส เป็นธงนำทางแก่เหล่า ‘ช้างเผือก’, เป็นจุดเลือกพักพิงของเหล่าศิลปินนักเดินทาง, เป็นที่พำนักสุดท้ายของศิลปินอาวุโส ฯลฯ ‘โรงละคร’ จึงกลายเป็นแหล่งน้ำในทะเลทราย (OASIS) ของคนกระหายงานศิลป์ กลางถิ่นการค้าเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านวัดระฆัง วังหลัง ฝั่งธน บ้านของคนรักงานศิลปะและการแสดง ฯลฯ ผลงานคลาสสิคหลายสิบเรื่องทยอยสร้างอย่างต่อเนื่องจาก ตำนาน นิทาน วรรณคดี และบทละครที่เขียนขึ้นใหม่ทั้งของไทยและนานาชาติ ฯลฯ เป็นงาน ‘ต้นแบบวิชาศิลปะการแสดงร่วมสมัย’ ที่ได้รับการศึกษา พัฒนา ต่อยอด อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (สามารถสืบค้นรายละเอียดผลงานได้ที่ หอสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : นาฏยวิถี ของ ภัทราวดี มีชูธน โดย นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ [6] )

ภัทราวดีเธียเตอร์ ปิดตำนาน ‘ผู้สร้างปรากฏการณ์’ ด้วย Musical Play “ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ” จัดแสดงวันที่ 19 - 28 มิถุนายน 2552[7] ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Theatre Residence [8]- Boutique Hotel บรรยากาศถวิลกลิ่นอายโรงละคร (Hidden Gem กลางกรุงธนฯ บริหารโดยทายาทคนโตนักธุรกิจคนเก่งของครูเล็ก แวววดี ศรีไตรรัตน์) หลังเปิด โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ศิลปสถานเพื่อการพัฒนา (ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย) บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ในหมู่บ้านหัวนา อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับเปิดโรงละครแห่งใหม่ในนาม “วิกหัวหิน” เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2553 (ด้วยเทศกาลศิลปะ “Fringe Festival 2010 : หัวหิน สร้างสรรค์ บานตะไท”) ภายใต้การอุปถัมภ์ของ มูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ จุผู้ชม 400 ที่นั่ง เป็นเวทีให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาสฝึกงานเต็มกระบวนการในทุกหน้าที่ตามความสนใจของแต่ละคน และร่วมแสดงจริงกับศิลปินนักแสดงมืออาชีพทั้งชาวไทยและนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ของการจัดงาน เทศกาล นิทรรศการ และกิจกรรมทางสังคมของหัวหินอย่างเปิดกว้างให้สร้างสรรค์ร่วมกัน ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มนต์แห่งจันทรา โปรดสำแดงฤทธา…อีกครั้ง
“สถาบันปรีดี พนมยงค์” เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่รัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์ ขึ้น ณ ถนนสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ 371 ตารางวา ซึ่งครูองุ่น มาลิก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิไชยวนา ได้อุทิศให้สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและราษฎรไทยตามที่นายปรีดีฯ ห่วงใย เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2538 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้ง 2 ประการ คือ
1.) เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ การส่งเสริมประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคุณูปการของ นายปรีดี พนมยงค์ แก่สาธารณะ
2.) จัดตั้งสถาบัน เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมด้านการศึกษา จริยธรรม และสาธารณประโยชน์อื่น ๆ
โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเดิมของ สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดดเด่นมีความหมาย ด้วยถูกออกแบบให้เป็นศูนย์การเรียนรู้คู่กับการจัดกิจกรรมทางสังคม เคลื่อนไหวในแนวทางและอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นพื้นที่เปิดเพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะทุกแขนง เป็นแหล่งวิจัย ค้นคว้า สนับสนุนคณะละครให้ได้มีพื้นที่ปฏิบัติงานด้านศิลปะการแสดง ด้วยประจักษ์ว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือสำคัญของการเผยแพร่และพัฒนา

โครงสร้างเดิมเป็นการออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับงานกิจกรรมทางสังคมของสถาบันปรีดีฯ ชั้น 1 เป็นลานจอดรถที่สามารถปรับเป็นลานกิจกรรมได้ ชั้น 2 เป็นพื้นที่จัดแสดงงาน และลานกิจกรรมทั้งภายในภายนอกอาคาร รวมถึงลานน้ำพุแห่งเสรีภาพ ชั้น 3 เป็นกองอำนวยการ ห้องสมุด ห้องประชุม ที่มีเวทีขนาดมาตรฐานใช้งานเอนกประสงค์ได้แบบ studio รองรับผู้เข้าร่วมงานได้ประมาณ 300-350 คน นักละครกลุ่มสร้างงานอุดมการณ์ประชาธิปไตยต่างได้รับการสนับสนุนจากสถาบันปรีดีฯ ให้มีห้องปฏิบัติการกิจกรรมอยู่ประจำที่ชั้น 1 มาต้ังแต่เริ่มเปิดดำเนินการ
นักละครจากหลายสถาบันต่างร่วมเรียนรู้ และปฏิบัติการจนชัดเจนในแนวทางการแสดง ภายหลังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก แต่ทำงานร่วมกันคือ “B-Floor” นำโดย ธีรวัฒน์ มุลวิไล ไปสาย movement กับ “พระจันทร์เสี้ยวการละคร” นำโดย สินีนาฏ เกษประไพ สืบทอดอุดมการณ์ สืบสานศิลปะการละครจาก ครูคำรณ คุณะดิลก (หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร ‘พระจันทร์เสี้ยว’ รุ่นบุกเบิก) จัดเป็นพื้นที่เปิดสำหรับกลุ่มปฏิบัติการงานศิลปะการแสดงทุกแขนง แบ่ง 2 ห้อง แต่ละห้องเป็นโรงละครขนาดเล็ก แบบกล่องดำ (black box theatre) ที่สามารถปรับมุมมองและที่นั่งผู้ชมได้ตามความเหมาะสมของการออกแบบ รองรับผู้ร่วมงานได้ห้องละประมาณ 30-40 ที่นั่ง แม้ห้องพื้นที่ขนาดเล็กแต่เป็นมากกว่าที่ทำงาน สามารถเจือจารเพื่อนศิลปิน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ รวมพลคนรักศิลปะการแสดงให้มีที่ทางสร้างสรรค์ร่วมกัน
Crescent Moon Space หรือ โรงละครพระจันทร์เสี้ยว ซ่อนตัวอยู่ในอาคาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ชั้น 1 ด้านหลังแท่นหินสีดำลานน้ำพุ เปิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ด้วยโชว์เคสจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวฯ “Women in the Moon Festival” เทศกาลผู้หญิงในดวงจันทร์ ชัดในแนวทางการทำงานเพื่อสิทธิสตรีโดยมีศิลปะการแสดงเป็นเครื่องมือ ตามมาด้วยเทศกาลของผู้เขียนบทและผู้กำกับหญิง ในเดือนพฤษาคม 2550 เป็นพื้นที่ทางเลือกสำหรับการแสดงขนาดเล็ก ใช้อุปกรณ์-จัดฉากน้อย เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้ชมในระยะใกล้ชิด เป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนรักศิลปะและการแสดงให้ได้ปะทะสังสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์ผ่านงานศิลปะ เพื่อฝึกฝนค้นหาศาสตร์การแสดงละคร, การอ่านบทละคร, dance, performance, workshop, showcase, ฉายหนัง, เสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ
Crescent Moon Space สร้างสรรค์การแสดงในโรงละครเล็ก ๆ แห่งนี้รวม 116 เรื่อง 828 รอบ / Festival 11 ครั้ง / International Exchange Project 2 ครั้ง / Showcase 29 ครั้ง / Workshop 55 ครั้ง / เสวนาหลังการแสด 59 ครั้ง / ฉายภาพยนตร์ 10 ครั้ง เป็น Community ที่มีผู้คนและนักทำละครเวียนเข้าไปใช้พื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะปีละประมาณไม่ต่ำกว่า 4,000 คน … จนถึงปัจจุบัน 2568 กว่า 30 ปีผ่าน เป็นเวลาแห่งการฟักตัวและเติบโตของมนุษย์สายพันธุ์พิเศษ ที่ให้กำเนิดลูกหลานเต็มเมือง ปิดม่านแห่งการแสวงหา องก์ที่ 1 ด้วยละครเวทีเรื่องสุดท้าย “มนต์แห่งจันทรา จงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้” โดยกลุ่ม New Theatre Society (จัดแสดง 10-14 ส.ค 2560 บัตรราคา 450 บาท) / workshop ครั้งสุดท้ายคือการอบรมออกแบบจัดแสง “Stage Lighting Design Workshop #13” โดย พระจันทร์เสี้ยวฯ (ทวิทธิ์ เกษประไพ ผู้ส่องแสงนวลใยให้พระจันทร์)
ปิดพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจและโรงเรียนสร้างนักละครรุ่นใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2560 (ตุลามหาวิปโยค) สืบเนื่องจากแผนงานการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของสถาบันปรีดีฯ ในปี 2565 ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเพื่อพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) เพื่อบริหารสถาบันฯ ให้ยังคงมีพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมทางสังคมตามวัตถุประสงค์ของ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้ง พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ กลุ่ม B-floor ต่างยังคงสร้างงานคุณภาพอย่างต่อเนื่องด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท ตามแนวทางศิลปะการแสดงเพื่อการพัฒนาต่อไป แม้ในภาวะวิกฤติ โควิด-19 นักละครต้องประคองชีวิตหนักขึ้น แต่ทว่าในความเหนื่อยล้าผลงานยิ่งก้าวหน้า เป็นแบบอย่างให้แนวทางการศึกษายุคใหม่ จึงในปัจจุบันพระจันทร์ลอยเลื่อนเป็นเพื่อนกับหมู่ดาว ร่วมส่องแสงสกาวบนฟากฟ้าอย่างเสรี ไม่มีศูนย์กลางจักรวาลในงานศิลปะ ดาวทุกดวงต่างมีอิสระในตัวเอง

ผศ.ดร.ภัธทรา โต๊ะบุรินทร (สาขาศิลปะการแสดง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้บันทึกงานวิจัยช่วงสำคัญของประวัติศาสตร์การละครไทยไว้ใน ดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2560 หัวข้อ “อิสรเสรีภาพของสื่อศิลปะการแสดง ในการนำเสนอประเด็นทางการเมืองหลัง รัฐประหาร 2557 : กรณีศึกษาพระจันทร์เสี้ยวการละคร และกลุ่มละคร B-floor” [9] ความว่า
“สถานการณ์ทางการเมืองทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 ส่งผลต่ออิสรเสรีภาพของกลุ่มละครขนาดเล็กอย่างชัดเจน แต่ พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ กลุ่ม B-floor ยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานละครเวทีเพื่อสื่อสาร “เสรีภาพทางความคิด” กับผู้ชมตลอดระยะเวลา 4 ปี เพื่อยืนยันว่าพื้นที่ทางศิลปะคือพื้นที่แม่แบบของปฏิบัติการทางประชาธิปไตยอย่างไม่มีพื้นที่ใดเทียบเคียงได้ในทางสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าศิลปะสามารถใช้เป็นเครื่องมือบันทึกช่วงเวลาของสังคมแต่ละยุคสมัย และเป็นการแสดงออกถึงเสรีภาพในการสะท้อนความจริงผ่านการสร้างสรรค์ผลงานสู่สังคม ในด้านการปรับตัว/ต่อรองกับอำนาจนำเพื่อยืนยันเรื่องเสรีภาพของกลุ่มละครขนาดเล็กในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
การใช้พื้นที่ทางศิลปะของละครเวทีในการทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด (war of position) ผ่านละครเวทีทั้ง 5 เรื่อง ในการสร้างกระบวนการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ประเด็นทางสังคมและการเมือง อย่างหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญร่วมกันนั่นคือเรื่อง ‘การละเมิดสิทธิมนุษยชน’, ‘การชำระและบันทึกประวัติศาสตร์’ (ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเล่าหรือบิดเบือนและทำให้พล่าเลือนไป เช่น เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง 6 ตุลา 2519 ฯลฯ ) ‘ความขัดแย้งทางการเมือง’, ‘ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม’ และ ‘การล่าแม่มด’ (การทำร้าย/การกำจัดคนที่คิดต่างไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม)
ในส่วนที่สอง คือ การที่กลุ่มละครขนาดเล็กทั้งสองกลุ่มได้ใช้ผลงานละครเวทีในการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในทุกภาคส่วน (parts) สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองของตนได้อย่างเต็มที่ ด้วยการใช้รูปแบบในการนำเสนอผลงานละครเวทีของ พระจันทร์เสี้ยวการละคร และ กลุ่มB-floor ซึ่งมีลักษณะสำคัญร่วมกันคือ Collaboration การสร้างการมีส่วนร่วมบนพื้นฐานของอิสรเสรีภาพ ที่ประกอบไปด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างงานระหว่างผู้กำกับการแสดง นักแสดงและทีมงาน และการมีส่วนร่วมระหว่างนักแสดงกับผู้ชม ซึ่งเป็นเรื่องของสุนทรียะในการถกเถียงมากกว่าสยบยอม เป็นเรื่องของการแสดงออกมากกว่าเก็บกดปิดกั้น เป็นเรื่องของการนำเอาผู้ที่ไม่เคยรับรู้ว่าเกี่ยวข้องมาเกี่ยวข้องกัน และเป็นการให้ที่ยืนในสังคมที่มีการเมืองให้กับผู้ไร้ที่ทางในสังคม” ฯลฯ

“POEMS DIMENSION”
Poetry You Can Feel in New Dimensions
ล่าสุด โรงละครจิ๋วขนาด 30 ที่นั่ง ของบริษัท CCG Private Studio (Town in Town, Bangkok) กับ “โครงการ POEMS DIMENSION” บริหารโดยนักธุรกิจจิตใจศิลปิน เจษ-เจษฎา ด่านปาน (Jade Jessada Danparn) ประธานบริหารกลุ่มบริษัทเจริญสุข คอร์เปอเรท กรุ๊ป จำกัด (CCG) เปิดตัวใหม่ฟอร์มดีทุกด้าน จุดขายเด่นเน้นความเป็น ‘โรงละครเล็ก’ ภายในตึกแถว Home Office ขนาดเล็ก แต่ออกแบบตกแต่งอย่างมีรสนิยมเรียบหรูคู่ ‘ Less is More ’ ทุกตารางเซ็นต์เน้น fundtion การใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นที่สองชั้นที่เป็นทั้ง ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องเรียน ห้องซ้อม studio เวทีการแสดง โรงเรียนสอนการแสดง ฯลฯ แม้กระทั่งพื้นที่ใต้บันไดหรือทางเดินที่แบ่งส่วนระหว่างแต่ละห้อง ล้วนถูกปรับให้เป็น ‘เวที’ ที่ใช้แสดงจริงทั้งหมดอย่างไม่ขัดเขิน เพราะเป็นกลุ่มคนละครที่เคยผ่านงานละครเวทีมาแล้วทุกระดับ (scale) แต่ “POEMS DIMENSION” คือก้าวแรกของ เจษฎาเพราะเป็นผู้ก่อตั้ง คัดเลือกทีม นักแสดง และเป็นเจ้าของโครงการด้วยตัวเอง
โดยประกาศรับทีมทุกหน้าที่ เลือกสรรบท พร้อมให้ทุนสร้างงานและพื้นที่จัดแสดง
“เราได้โปรดิวซ์โปรเจกต์ที่น่าสนใจ รวมถึงได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจละครเวทีด้วย เรื่องแรกนี้นอกจากจะเป็นโปรดิวเซอร์แล้วเราก็กำกับเองด้วย เรียกได้ว่าคลุกคลีเองในทุกบทบาทหน้าที่เลย ที่อยากมาทำก็เพราะเรารักในศาสตร์ละครเวที เรารักในอุตสาหกรรมละครเวที รักในการแสดง รักในการดูละครเวที รักใน community ของละครเวที มันเสมือนเป็นตัวตนของเราที่เราเติบโตมากับมัน อีกด้านเราก็อยากแชร์และส่งต่อประสบการณ์ของเราให้กับคนรุ่นใหม่ด้วย รวมถึงส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการปล่อยของ แสดงพลังสร้างสรรค์ได้เต็มที่ เราอยากสร้างคน เพราะอนาคตคนเหล่านี้ก็คือกำลังสำคัญของแวดวงละครเวทีไทยด้วยเช่นกัน” ด้วยแนวทางนี้ POEMS จึงมีความเป็นสถาบันที่ให้ความรู้ ฝึกฝน ปนไปกับการสร้างงานตามความฝัน และให้ความสำคัญกับคุณภาพทุกรายละเอียด
เจษฎามีแนวคิดดีที่ตั้งใจจะทำให้งานสร้างสเกลเล็กน่าสนใจได้ด้วย คุณภาพเด่น
“ถึงแม้จะเป็นละครเวทีโรงเล็ก โปรดักชันสเกลเล็ก แต่คุณภาพและความโปรเฟสชันนอลเราไม่ได้เล็กตาม ที่นี่ระบบจัดการทุกอย่างเราทำถูกต้องตามกระบวนการและมาตรฐานของละครเวทีแบบสากลทั้งหมดเลยครับ ตั้งแต่ Pre-Production, Production, ไปจนถึง Post-production เพียงแต่ว่าเป็นการย่อสเกลโปรดักชัน (รวมถึงสเกลของงบประมาณ) ลงมาเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะสเกลไหนก็สามารถมอบความบันเทิงให้กับคนดูได้เช่นกัน อีกอย่างสเกลไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่างานดีหรือไม่ดี”
และด้วยมั่นใจในเสน่ห์ของความเป็นละครโรงเล็กอย่างเต็มเปี่ยมหลายประการ
“ความใกล้ชิดครับ นักแสดงได้ใกล้ชิดกับคนดู คนดูก็ได้สัมผัสถึงการแสดงอย่างใกล้ ๆ ได้เห็นการแสดงชัดเจน สัมผัสได้ถึง inner ตัวละคร รับสารจากการแสดงได้โดยตรง นักแสดงก็มีโอกาสสื่อสารกับผู้ชมได้ง่าย ถ้าเข้าใจกันและกันก็จะอินได้ง่าย แล้วการสื่อสารก็จะประสบความสำเร็จ (ทั้งสองฝั่ง) อีกอย่างโปรดักชันเล็กมันไม่ค่อยมีข้อจำกัดเลยทำให้เราสามารถสร้างสรรค์อะไรออกมาได้มากมาย สามารถทดลองอะไรใหม่ ๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวอะไรมาก คนดูก็เตรียมใจเปิดรับอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ มันเป็นประสบการณ์ที่สนุกมาก อยากให้ทุกคนได้ลองมาสัมผัสละครโรงเล็กสักครั้งในชีวิตครับ” และให้รายละเอียดองค์ประกอบของโรงละครเล็กว่า เป็นวัฒนธรรมละครเวทีแนวทดลอง ที่ก่อเกิดปรากฏการณ์สร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจในกรณีศึกษาโดยมี Broadway เป็นต้นแบบสากลของวัฒนธรรมละครเวทียุคใหม่ พร้อมให้ปรัชญาท้าทาย…
“ลองเปิดใจออกไปสัมผัสประสบการณ์เล็ก ๆ
ที่อาจมอบพลังอันยิ่งใหญ่ และเปลี่ยนคุณไปตลอดกาล”

วัฒนธรรมละครเวทีแนวทดลอง
กับปรากฎการณ์สร้างสรรค์ที่น่าจับตา
คนไทยรู้จักกับ “ละครเวที” มาช้านานแต่ส่วนใหญ่แล้วอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับ“วัฒนธรรมละครโรงเล็ก” กันมากนัก ทว่ายุคปัจจุบันนี้ปรากฎการณ์ละครโรงเล็กในประเทศไทยกำลังปรับเปลี่ยนจาก “วัฒนธรรมนอกกระแส” ให้กลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเห็นคณะละครขนาดย่อม ความหลากหลายของละครเวที ตลอดจนโรงละครขนาดเล็ก (ในบรรยากาศง่าย ๆ สบาย ๆ) เกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่ยังสนใจและเปิดรับการเสพวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะมาร่วมขับเคลื่อนแวดวงละครเวทีไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
ปรากฎการณ์ “ละครโรงเล็ก” ในเมืองไทยกำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง วัฒนธรรมการเสพความบันเทิงรูปแบบนี้อันที่จริงแล้วมีรากฐานเดียวกันทั่วโลกซึ่งต้นตำรับของวัฒนธรรมละครเวทียุคใหม่คงต้องยกให้กับ Broadway นั่นเอง คำว่า Broadway นั้นถ้าลงลึกในรายละเอียดแล้วไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่หรือ ‘ย่านแห่งละครเวที’ (Theatre District) ของมหานครนิวยอร์กเท่านั้นหากแต่มันยังเป็นคำที่ใช้นิยามรูปแบบของโปรดักชันไปในตัว
Broadway : โรงละครขนาดใหญ่ มีที่นั่งชมขั้นต่ำตั้งแต่ 500 ที่นั่งขึ้นไป เกรดพรีเมี่ยม โปรดักชันอลังการ นักแสดงแถวหน้า ใช้งบประมาณสูง มาตรฐานสูง บัตรราคาสูง
Off-Broadway : โรงละครขนาดกลาง มีที่นั่งชมระหว่าง 100-499 ที่นั่ง มาตรฐานแบบโรงละครโปรดักชันสเกลเล็กทว่าได้มาตรฐานแบบละครเวที มักเป็นเวทีแสดงความสามารถของนักแสดงดาวรุ่งรวมถึงโปรดักชันที่สามารถก้าวสู่ระดับ Broadway ได้ ใช้งบพอประมาณ บัตรราคาย่อมเยา
Off-Off-Broadway : โรงละครขนาดเล็ก มีที่นั่งชมน้อยกว่า 100 ที่นั่ง สถานที่มีทั้งแบบโรงละครมาตรฐาน ไปจนถึงโรงละครเฉพาะกิจที่เซ็ตขึ้นตามโอกาส สร้างสรรค์ผลงานได้เต็มที่ไร้กรอบจำกัด มักไม่เน้นด้านโปรดักชัน (เพราะมีงบต่ำ) แต่จะเน้นด้านการสร้างสรรค์บทและการแสดงรูปแบบใหม่ ๆ แทน ตลอดจนแนวทดลองที่น่าสนใจ นักแสดงหน้าใหม่ นักแสดงที่สนใจเล่นบทบาทที่ท้าทาย เป็นเวทีทดลองตลอดจนแจ้งเกิดสำหรับผู้กำกับหน้าใหม่ ใช้งบประมาณต่ำ บัตรราคาถูกทำให้คนดูเข้าถึงได้ง่าย
วัฒนธรรมละครโรงเล็กนี้กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย ละครโรงเล็กของไทยอาจเทียบได้กับวัฒนธรรม Off-Off-Broadway ของนิวยอร์ก นอกจากผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในการเสพแล้ว เวทีระดับเล็กนี้ยังเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ทั้งหลายได้ปล่อยของ ‘โชว์กึ๋น’ กันอีกด้วย ตั้งแต่บรรดานักเขียนบท ผู้กำกับ คอสตูม ไปจนถึงนักแสดงที่โลดแล่นบนเสตจ

เสน่ห์ละครโรงเล็ก
เจษ-เจษฎา ด่านปาน (Jade Jessada Danparn) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการPOEMS DIMENSION ยืนยันว่า วัฒนธรรมละครโรงเล็กในเมืองไทยกำลังค่อย ๆ เติบโตและไปได้สวยทีเดียว ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นละครเวทีหลากหลายสเกลเปิดม่านการแสดงมากมายในแต่ละเดือน โดยเฉพาะย่านซอยอารีย์-สะพานควายถนนพหลโยธินเกิดโรงละครเล็กแห่งใหม่มากมายหลังวิกฤติโควิด-19 และยังเปิดดำเนินการมีงานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาทิ ล้านนาอารีย์ , Yellow Lane , Gallery & Studio 6060 ฯลฯ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นดาวกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เพราะจุดดีของละครโรงเล็กนั้นมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ผู้คนยุคนี้หลงใหลตามไปเสพงานครั้งแล้วครั้งเล่า เจษฎา ให้เหตุผลที่ทุกคนประจักษ์ชัดว่า
1. เป็นเวทีปล่อยของประลองความคิดสร้างสรรค์ : ละครเวทีโรงเล็กมักเป็นสนามทดลองของนักสร้างสรรค์ทั้งหลายที่อยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้แสดงฝีมือกัน ตั้งแต่การเขียนบท การออกแบบโปรดักชัน คอสตูม แสงสีเสียง ไปจนถึงการกำกับและการแสดงบนเวที ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสเกลเล็กมักมีต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำทำให้กล้าลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายกว่า และเราก็มักจะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจเสมอ รวมถึงความครีเอทที่น่าจับตาซึ่งอาจจะพัฒนาไปเป็นละครเวทีสเกลใหญ่ในอนาคตได้เช่นกัน
2. ได้สัมผัสการแสดงใกล้ชิดติดขอบเวที : สเกลของละครโรงเล็กมักมีที่นั่งชมไม่กี่ที่นั่งและเวทีขนาดไม่ใหญ่นักจึงทำให้ผู้ชมสัมผัสการแสดงได้อย่างใกล้ชิด เห็นทุกอารมณ์และพฤติกรรมของนักแสดงบนเวทีแบบใกล้ ๆ ได้ยินบทสนทนาตลอดจนเสียงบนเวทีอย่างชัดเจนทำให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่าย ตีความได้เข้าใจขึ้น รวมถึงอินกับการแสดงและเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้นด้วย ความใกล้ชิดนี้เสมือนกับเข้าไปอยู่สถานการณ์เดียวกันกับละครเวที ตลอดจนการแสดงบางประเภทอย่างเช่น Immersive theater ผู้ชมอาจได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงไปพร้อมกันด้วย หรือไม่ก็อาจกลายเป็นผู้ดำเนินเรื่องตามประสบการณ์ของแต่ละคนไป สิ่งเหล่านี้เองเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวแบบละครโรงเล็กที่ทำให้หลายคนชื่นชอบและติดใจ

3. เป็นเวทีแจ้งเกิดหน้าใหม่ : ด้วยความที่ละครโรงเล็กมักเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มแรกให้คนละครเวทีได้ลองแสดงฝีมือกัน ตลอดจนเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ (หน้าใหม่) หรือผู้มีไฟได้ลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่อาจกลายเป็นความสำเร็จในอนาคต เวทีละครโรงเล็กนี้นอกจากจะเคี่ยวกรำและฝึกปรือฝีมือของคนละครเวทีแล้ว ยังมักเป็นเวทีแจ้งเกิดสำหรับคนมีพรสวรรค์อีกมากมายด้วย ตั้งแต่บรรดาคนเขียนบท คนออกแบบฉาก คนออกแบบคอสตูม คนออกแบบแสง-สี-เสียง ไปจนถึงนักแสดงดาวเด่น เลยเป็นอีกเสน่ห์ของละครโรงเล็กที่หลายคนชื่นชอบ แล้วแวะเวียนไปดูผู้คนมากฝีมือที่มีพรสวรรค์น่าจับตา โดยเฉพาะเหล่าบรรดานักแสดงหน้าใหม่ที่เราจะได้เห็นฝีมือการแสดงสดใหม่ดึงดูดใจ และอาจเห็นพัฒนาการในการก้าวสู่นักแสดงมืออาชีพระดับแถวหน้าของวงการบันเทิงในอนาคตได้เช่นกัน
4. เอื้อต่อการสร้างชุมชนและเครือข่ายในอนาคต : ด้วยโปรดักชันขนาดเล็กและจำนวนผู้ชมในแต่ละรอบที่ไม่มากนักทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีโอกาสใกล้ชิดและคุ้นเคยกันมากขึ้น โอกาสนี้อาจเกิดการเปิดบทสนทนาระหว่างกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่ชม ตลอดจนแชร์ประสบการณ์อื่น ๆ ต่อกันด้วย หรือหลายต่อหลายครั้งที่ผู้ชมมักเคยเห็นหน้ากันมาบ้าง หรือเริ่มรู้จักกันแล้วก็เกิดการสร้าง community ละครโรงเล็กขึ้นได้ สานสัมพันธ์ตลอดจนชวนกันพูดคุยไปจนถึงชวนกันดูละครโรงเล็กในเรื่องถัด ๆ ไป และอาจกลายมาเป็นกลุ่มผู้สร้างละครโรงเล็กในอนาคตก็เป็นได้ หรือละครโรงเล็กบางครั้ง (บ่อยครั้ง) ก็อาจมีการจัดเวทีเสวนาหลังจบการแสดงซึ่งทำให้ผู้ชมตลอดจนแขกรับเชิญได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ด้วย หรืออีกด้านอาจมีโอกาสสาน connection ระหว่างกัน ต่อยอดธุรกิจตลอดจนความสนใจในสิ่งเดียวกัน สานสัมพันธ์เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ที่อาจมีประโยชน์ต่อเราได้ในอนาคตทั้งเรื่องธุรกิจ การงาน ไปจนถึงเรื่องส่วนตัว
5. ราคาย่อมเยา เข้าถึงได้ง่าย : นี่อาจเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของละครโรงเล็กเลยก็ว่าได้ เพราะด้วยสเกลของโปรดักชันและต้นทุนต่ำ (แต่บางโปรเจกต์ก็อาจมีต้นทุนสูงและโปรดักชันดี ๆ ได้เช่นกัน) มักทำให้ค่าบัตรเข้าชมราคาย่อมเยา ซึ่งผู้คนทั่วไปตลอดจนเด็กและเยาวชน ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษา สามารถเอื้อมถึงละครเวทีได้ง่ายขึ้น หรือสำหรับเหล่าผู้หลงใหลละครเวทีก็มีโอกาสเลือกชมละครเวทีได้มากขึ้นและหลายเรื่องขึ้น ตลอดจนกล้าทดลองเสพประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า

การชมละครเวทีคือการรับพลังงานบวก และแรงบันดาลใจ
การพบปะและปฏิสัมพันธ์แบบ Real Time ระหว่างนักแสดงและผู้ชม ทำให้ละครเวทีไม่ใช่แค่การแสดงที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบทพูดและการแสดงเท่านั้น แต่เป็น ประสบการณ์ที่สร้างพลังและแรงบันดาลใจให้กับผู้ชม ผ่านการเชื่อมโยงทางอารมณ์และจิตใจอย่างลึกซึ้ง การชมละครเวทีคือการรับพลังงานบวกและแรงบันดาลใจผ่านการสื่อสารอารมณ์ และการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างนักแสดงกับผู้ชม นี่คือเหตุผลว่าทำไมละครเวทีจึงไม่ใช่แค่ความบันเทิง แต่เป็นแหล่งพลังใจและการเติบโตทางใจที่สำคัญของผู้ชมหลายคน เพราะเหตุผลต่อไปนี้
1. การเชื่อมต่อทางอารมณ์ที่ทรงพลัง เมื่อชมละครเวทีผู้ชมมักจะรู้สึกอินและเชื่อมโยงกับตัวละครและเรื่องราวในระดับที่ลึกกว่าการชมสื่อบันทึก งานวิจัยจาก National Endowment for the Arts (NEA) ระบุว่า การเข้าชมการแสดงสดช่วยเพิ่มความเห็นอกเห็นใจ (empathy) และความเข้าใจในประสบการณ์ของผู้อื่น
“การเข้าชมละครเวทีช่วยให้ผู้ชมเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์และความหลากหลายทางอารมณ์อย่างลึกซึ้ง”
2. การเติมพลังผ่านพลังงานของการแสดงสดทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างนักแสดงและผู้ชม ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวาและความตื่นเต้นร่วมกัน บทความจาก Stanislavski Centre อธิบายว่า พลังงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกกระตือรือร้นและได้รับแรงผลักดันทางจิตใจ
3. แรงบันดาลใจจากเรื่องราวและบทบาท ละครเวทีนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งเรื่องราวชีวิต บทเรียนทางสังคม หรือแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองและโลกใบนี้ ผู้ชมมักได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ของตัวละคร การฟันฝ่าอุปสรรค และการค้นพบตัวตนที่แท้จริง ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงได้
4. ผลกระทบทางจิตใจที่ยั่งยืน เพราะการดูละครเวทีส่งผลดีต่อสุขภาพจิต โดยช่วยลดความเครียดและกระตุ้นความรู้สึกเชิงบวก งานวิจัยจาก Harvard Health Publishing ชี้ให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมกับศิลปะและวัฒนธรรมช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตและเพิ่มความสุขในชีวิต
การชมละครเวทีคือการรับพลังงานบวกและแรงบันดาลใจผ่านการสื่อสาร อารมณ์ และการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างนักแสดงกับผู้ชม
อ้างอิง
- NEA, The Arts and Human Development, 2015
- National Endowment for the Arts, The Arts and Human Development, 2015
- Stanislavski Centre, Goldsmiths University, Live Performance and Audience Interaction, 2019
- Harvard Health Publishing, The Healing Power of Art and Culture, 2020

ใครอยากทำละครเวที (โรงเล็ก) มาทางนี้
Poem คำแปลแท้จริงที่ “Poems Dimension” ให้ความหมายไว้ในชื่อของโครงการ ไม่ใช่เพียงแปลว่า ‘บทกวี’ แต่มีมิติที่ทั้งกว้างและลึกซึ่งบอกถึงบริบทในการสร้างงานทั้ง บทบาท บทละคร บทจร (การดุ่มเดินบนเส้นทางแสวงหา เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงตามความฝันของแต่ละคน) ฯลฯ Poems จึงเป็น ‘กวี’ ที่กว้างไกลและไร้ขอบเขต “Poems Dimension” จึงเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส ให้กับนักแสดงรุ่นใหม่ และผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์อันล้นเหลือ และเชื่อว่าทุกคนมี ‘บทกวี’ ของตนเองที่รอการถ่ายทอด ไม่ว่าจะผ่านการแสดง การเคลื่อนไหว หรือการตีความใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยใครเลย กรรมการคัดเลือกงานยืนยันว่า
“การแสดงที่ถูกคัดสรรมาจากเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ ไม่ได้มีเพียงแค่การเล่าเรื่องธรรมดา แต่เป็นการปลดปล่อยความคิดที่สดใหม่ ท้าทายขอบเขตเดิม ๆ และสร้างมิติใหม่แห่งการแสดง บทกวี บทละคร ผู้ชมจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง ผ่านสายตาและฝีมือของผู้กำกับที่เพิ่งเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะ แต่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ พวกเขานำเสนอวิสัยทัศน์ที่ท้าทายความคาดหวัง และสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ “Poems Dimension” ไม่ได้เพียงมอบโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้แสดงออก แต่ยังสร้างเวทีให้พวกเขาได้ทดลอง เรียนรู้ และพัฒนาแนวทางการสื่อสารในแบบของตนเอง เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสความสดใหม่และมุมมองที่แตกต่าง ทุกเรื่องที่นำเสนอคือการแสดงออกถึงอารมณ์ ความคิด และมิติที่ลึกซึ้งของศิลปินรุ่นใหม่ด้วย
“Poems Dimension” เป็นโครงการระยะยาวที่เปิดคัดเลือก ผู้กำกับ ผู้เขียนบท ทั้งมืออาชีพ และ มือใหม่ ที่อยากปล่อยของประลองฝีมือโดยมีกติกาว่าต้องมีบทละครพร้อมผลิต (สำหรับละครเวทีโรงเล็ก) ทั้งละครพูด Musical Performance โดยกรรมการจะคัดเลือกและมอบทุนการผลิตให้เรื่องละ 40,000 บาท จำนวน 8 ทุน ติดตามการเปิดรับสมัครปี 2569 ได้ใน facebook : page : Poems Dimension
ขั้นตอนการสมัคร Audition
- อัดคลิปวิดีโอ โดยไม่ใช้ filter และ effect ต้องเห็นหน้าชัดเจน
- แนะนำตัว ชื่อ-สกุล, ชื่อเล่น, อายุ, น้ำหนัก, ส่วนสูง และผลงานที่ผ่านมา
- อ่านบท (Monologue) ที่ทาง POD เตรียมไว้ให้ในโพสต์ประกาศรับสมัคร
- อัดคลิปการแสดงของตัวเองจากบทที่ให้ไว้ (ห้ามตัดต่อ และไม่ใส่ดนตรี)
- แนบภาพถ่ายเต็มตัว 1 ภาพ และครึ่งตัว 1 ภาพ (แบบไม่แต่งภาพ)
- พิมพ์ ชื่อ-สกุล, IG, TIKTOK (ถ้ามี) และเบอร์โทรติดต่อกลับ
- ใส่ชื่อหัวข้ออีเมล “ออดิชั่น” และส่งมาที่อีเมล [email protected]

“POEMS DIMENSION” เวทีแห่งการฝึกฝนค้นหา
การก่อเกิดโรงละครขนาดจิ๋ว เล็กพริกขี้หนู 36 ที่นั่ง ทำให้คอละครบางคนคิดถึงมณเฑียรทองเธียเตอร์ ต้นแบบโรงละครเล็กกับบรรยากาศ Cocktail Bar ในโรงแรมมณเฑียรทอง ย่านสุรวงศ์ ด้วยดูดีมีรสนิยมและ ‘จัดเต็ม’ ในพื้นที่จำกัด แต่การออกแบบ-ตกแต่งโรงละคร และกระบวนการสร้างงานสื่อคุณภาพระดับมืออาชีพ POEMS DIMENSION เปิดพื้นที่ เปิดเวที เปิดความหวัง ด้วยผลงานเรื่องแรก “The House of Mirrors” เมื่อ 23 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2568 ได้รับการตอบรับดี
บทประพันธ์ - TB.DAN
บทละครเวที - ภัทร์พัทร์ศร วริศราภูริชา
กำกับการแสดง - เจษฎา ด่านปาน
นำแสดงโดย ผู้ผ่านการ Audition ทั้ง online และ offline
ธีรดนย์ วัฒนพันธ์ (สุพรีม) รับบท แพท
จารุกิต แก้วมูลเรือง (ท็อปแท็ป) รับบท ดีใจ
สาธิดา ศรีพรหมมา (ซินเซียร์) รับบท จอย
สัมผัสเสน่ห์ของละครโรงเล็กอย่างต่อเนื่องในเดือน สิงหาคม 2568
“Last Word” ละครเรื่องที่ 2 จากโครงการ POEMS DIMENSION
เคยไหม? …
คำบางคำ...ที่อยากพูดกับใครบางคน แต่กลับปล่อยให้มันเงียบไป
ถ้าคุณมีเวลาอีกแค่ไม่กี่นาที ถ้ามีใครคนนั้นยืนอยู่ตรงหน้า...คุณจะพูดว่าอะไร?
หรือเลือกที่จะเก็บคำสุดท้ายเอาไว้ในใจ
แล้วจากไป...โดยไม่มีโอกาสพูดมันออกมาเลย
แล้วคุณล่ะ...เคยเก็บคำไหนไว้...
Last Word – ละครเวทีที่จะทำให้คุณกลับไปทบทวนทุกคำที่ “พูดไม่ทัน”
“Last Word” ค็อกเทลแก้วสุดท้าย [10]
นำแสดงโดย
ชนณฐ เรืองช่วย (กังหัน)
ชิดชม สัจจะผลกุล (มีสุข)
ตันติกร เมืองหนองหว้า (กีต้าร์)
เปิดม่าน 22 - 31 ส.ค. 2568 (2025) จำนวน 10 รอบการแสดง
รอบการแสดง สัปดาห์ที่ 1
ศ. 22 ส.ค. > 19.30 น.
ส. 23 ส.ค. > (รอบ 1) 14.00 น. / (รอบ 2) 19.30 น.(Post-show discussion)
อา. 24 ส.ค. > (รอบ 1) 14.00 น. / (รอบ 2) 19.30 น.
รอบการแสดง สัปดาห์ที่ 2
ศ. 29 ส.ค. > 19.30 น.
ส. 30 ส.ค. > (รอบ 1) 14.00 น. / (รอบ 2) 19.30 น.
อา. 31 ส.ค. > (รอบ 1) 14.00 น. / (รอบ 2) 19.30 น.(POD Ceremony)
กิจกรรมพิเศษ
- วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม รอบ 19:30 หลังจบการแสดงจะมีกิจกรรมสนทนา Post-Show Discussion ผู้กำกับ และนักแสดง
- วันอาทิตย์ที่ 31 รอบ 19:30 น. หลังจบการแสดงจะมีกิจกรรม POD Ceremony (กิจกรรมส่งผ้าคลุมให้ผู้กำกับเรื่องต่อไป)
ระยะเวลาการแสดง: 90 นาที/รอบ (ไม่มีพักครึ่งระหว่างการแสดง)
จำนวนที่นั่ง: 30 ที่นั่ง/รอบ ประเภทที่นั่ง : Free Seating
พิเศษ: ทุกที่นั่งในทุกรอบจะได้รับเครื่องดื่ม Welcome Drink(NON ALCOHOLIC)
สถานที่แสดง : CCG Private Studio (Town in Town, Bangkok)
Location: https://maps.app.goo.gl/QwsmF95xA6xnraV46

Poems Dimension และพันธมิตละครโรงเล็กจัดโปรโมชันร่วมกันกับ ‘คณะละครโยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์’ ด้วยผลงานการกำกับ จิร อังศุธรรมทัต ผู้เริ่มก้าวด้วยกลยุทธฝากเนื้อฝากตัวอย่างน่ารักน่าเอ็นดูในบทบาทตากล้องคนเก่ง ของ โจ๊ก มีน้ำใจถ่ายรูปการแสดงสวยใสในแนวอาร์ตให้กับทุกกลุ่มที่รุมใช้บริการ ก่อนโดดเด้งทันใจในงานการกำกับที่น่าจับตามอง วาระนี้ก้าวสู่ปีที่สองของ โยกย้ายฯ แล้ว จึงชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ ไปส่ายสะโพกร่วมฉลองสนองไฟสร้างสรรค์ให้บรรเจิดด้วยโปรโมชันพิเศษ ซื้อบัตรดูละครคู่ถูกกว่า แต่ว่าจำกัดเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้นนะพี่น้อง
เรื่อง “Last Word” ราคาโปรโมชัน 750 บาท (จาก 800 บาท) และ เรื่อง “กอฟแกฟแบมโชว์” ราคาโปรโมชัน 600 บาท (จาก 650 บาท)
ราคาโปรโมชันสำหรับบัตรนักเรียน นักศึกษา 525 บาท (จาก 550 บาท)
*ซื้อบัตรโปรโมชันดูละครคู่ได้ตั้งแต่วันนี้-31 สิงหาคม 2568 หรือจนกว่าบัตรหมด*
รอบการแสดงที่ร่วมโปรโมชัน
เรื่อง “Last Word” ค็อกเทลแก้วสุดท้าย
วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม 2568 รอบ 14:00 น.
วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2568 รอบ 14:00 น.
เรื่อง “กอฟแกฟแบมโชว์”[11] (8 รอบการแสดง)
วันที่ 28-31 สิงหาคม 2568 รอบ 19:30 น.
วันที่ 4-7 กันยายน 2568 รอบ 19:30 น.
ซื้อบัตรรอบโปรโมชันได้ที่
คุณโจ๊ก 0845909715 + Social Media POEMS DIMENSION
ซื้อบัตรการแสดงรอบปกติได้ที่
https://www.zipeventapp.com/e/Last-Word
* ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
กระโจนสู่โลกการแสดงที่ไร้กรอบกับละครเวที “กอฟแกฟแบมโชว์”
ไม่ว่าคุณจะเป็นคอละครขาประจำ หรือยังไม่เคยสัมผัสเวทีมาก่อนในชีวิตนี่คืองานที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
คณะละครโยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์ ชวนทุกคนมาปลดปล่อยร่างกายให้ท่วมท้นไปด้วยประสาทสัมผัสต่าง ๆ กระโจนสู่โลกแห่งการแสดงแบบสุดขั้วอย่างพร้อมเพรียงใน ‘กอฟแกฟแบมโชว์’ ละครเวทีสูตรใหม่ไม่คลาสสิก แต่เล่าเรื่องได้เด็ดพอตัว จะ comedy น้ำตาเล็ด จะ imersive แบบเดินตามกันทั้งโรง หรือเล่นใหญ่จน drama น้ำตาไหลพรากก็เป็นไปได้ตามแต่ใจจะเล่น เพราะงานนี้ไม่มีขอบ ไม่มีกรอบ ไม่มีอะไรควบคุมได้ อย่ารอให้ใครมาเล่า… เพราะไม่มีใครเล่าได้เท่าคุณไปดูเอง
“กอฟแกฟแบมโชว์” นำแสดงโดย
กิตติภณ บุญลีชัย
ศุภิสรา วันชาญเวช
ชัยภัทร ทิพยาณานุกุล
กำกับการแสดงโดย
จิร อังศุธรรมทัต
เปิดแสดง 28-31 สิงหาคม และ 4-7 กันยายน 2025 เวลา 19:30 น
สถานที่ Aburiji (อารียาหมูกระทะ สาขา 2) ถนนเพชรบุรีตัดใหม่
https://www.facebook.com/events/4084698531781649
YokYai Theatre - โยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์
- Facebook : YokYai Theatre - โยกย้ายส่ายสะโพกเธียเตอร์
- IG : yokyai_theatre
- TikTok : yokyai_theatre
- YouTube : YokYai Theatre
- X : yokyai_theatre

นักแสดงคนแรกของ “กอฟแกฟแบมโชว์”
ศุภิสรา วันชาญเวช (แบมแบม)
สมาชิกคณะละคร Poon Poon Theatre Company และ Anti-Thesis Theatre
ตำแหน่ง : (บ่อยครั้งเป็น) นักแสดง (ที่แสดงเกือบทุกเดือน) และบางครั้งก็เป็นสาว Content/PR
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานที่ผ่านมา :
- อาตมาฝันถึงการปฏิวัติ Pride Edition, Anti-Thesis (coming soon)
- มาณวิกา, ศิลปะการแสดงภิวัฒน์ (2025)
- ลิฟต์ไม่วิ่ง, Anti-Thesis (2025)
- บทกวีอำลา Farewell Poem, Anti-Thesis (2025)
- My Own Egg, PoonPoon Theatre Company (2024-2025)
- ดรุณีสมัย : Lido Open Stage, Anti-Thesis (2024)
- ป่านี้ไม่ซี้สักตัว, PoonPoon Theatre Company (2024)
- Theatre Move Move with Music Fresh Fresh, Too Long Theatre (2024)
- Joey the Dreamer, PoonPoon Theatre Company (2023-2024)
- Lost and Found : a slice of life (2022)
- Butoh Blowing, Crestcent Moon Theatre (2019)
- Woman and the Light House, Crestcent Moon Theatre (2019)
- Woyzeck, Crescent Moon Theatre (2019)
- ทำไมเรายังไม่วาร์ป, Noir-Theatre (2019)
ปัจจุบันเป็นนักแสดงอิสระ (รับงานการแสดงทุกรูปแบบ), ทำกระบวนการสำหรับเด็ก และสาย Creative Content Marketing ควบคู่ไปกับการเป็น Influencer ฯลฯ

นักแสดงคนที่สองของ “กอฟแกฟแบมโชว์”
กิตติภณ บุญลีชัย (กอฟแกฟ)
จบการศึกษาปริญญาตรีจาก สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์การทำงาน
- จัดกระบวนการการเรียนรู้ สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยกระบวนการละครให้กับ โรงเรียนและสำนักงานหลายแห่ง เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน วิทยาลัย, ศูนย์แพทย์พระปกเกล้า, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ , AOT เป็นต้น
- นักแสดง เขียนบท ทีมงาน production ละครเด็กหลายเรื่อง
ผลงานที่ผ่านมา
- ละครเด็ก Joey the dreamer (original)
- ละครเด็กป่านี้ไม่ซี้ซักตัว (original)
- ละครเด็กเรื่องดาวรุ่งดวงใหม่
- ละครการเรียนรู้สำหรับเด็กตาบอด เรื่อง เป็ดน้อยผจญภัย
- ละครเด็กเรื่อง “My own egg” (original)
- เล่านิทาน การแสดงละครนิทาน และละครเด็กอีกหลายเรื่อง
- ละครเวทีเรื่อง บทกวีอำลา

ละครเรื่องต่อไปของ POEMS DIMENSION เดือน ตุลาคม 2568
“เผาลี่” [12] Immersive Walking Experience
ละครเวทีโรงเล็กที่คนดูไม่ได้นั่งนาน
แต่จะพาคนดูเดินไปพร้อมกับผี
และคุณคือผี... ที่ยังมีบางอย่างค้างคา
เพราะในความมืด...
มีเสียงหนึ่งที่ยังรอจะถูกเล่า

ดูละครเวทีโรงเล็กได้ทุกเดือนที่ POEMS DIMENSION
19-28 กันยายน 2568 เรื่อง "Me, My Self, and I"
จัดแสดง 10 รอบ เปิดจองบัตรเร็ว ๆ นี้
24 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2568 เรื่อง "เผาลี่"
จัดแสดง 10 รอบ เปิดจองบัตรเร็ว ๆ นี้
21-30 พฤศจิกายน 2568 เรื่อง "ค่า(ฆ่า)ผู้ชนะ"
จัดแสดง 10 รอบ เปิดจองบัตรเร็ว ๆ นี้
12-21 ธันวาคม 2568 เรื่อง "Resonance of Heights (เสียงสะท้อนจากที่สูง)"
จัดแสดง 10 รอบ เปิดจองบัตรเร็ว ๆ นี้
ละครเวทีโรงเล็กที่ Poems Dimension เรื่องต่อไปในปีหน้า 2569
“มนุสโสสิ” [13] ว่าด้วย AI และกฎหมาย น่าสนใจมาก
ถ้าฆาตกร...ไม่ใช่มนุษย์ แล้ว “ความผิด” จะยังคงอยู่ไหม?
ละครเวทีแนวคอร์ทรูมดรามา-ไซไฟที่จะทำให้คุณตั้งคำถามถึง
“ความรัก ความยุติธรรม และความเป็นมนุษย์”
บทละครเวทีโดย
กันตชาต ชวนะวิรัช และ อชิรญาณ์ อภิชาติโชติ
กำกับการแสดงโดย
อชิรญาณ์ อภิชาติโชติ
"ถึง...จอห์นที่รัก" [14] ละครที่ร้องไห้ทั้งขำ รำพันทั้งรัก กับชีวิตของ ‘เมียเช่า’ ที่เฝ้ารอจดหมาย...จากอิลลินอยด์
กำกับการแสดงโดย
พลัฏฐ์ ศิริพัฒนกุลขจร
ติดตามความเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมละครโรงเล็กตลอดทั้งปีได้ที่โครงการ POEMS DIMENSION “Poetry You Can Feel in New Dimensions”
POEMS DIMENSION by CHAROENSOOK CORPORATE GROUP CO., LTD. (CCG) “Poetry You Can Feel in New Dimensions”
สถานที่แสดง : CCG Private Studio (Town in Town, Bangkok)
- Location: https://maps.app.goo.gl/QwsmF95xA6xnraV46
- FB: https://shorturl.at/OPWnP
- IG: https://www.instagram.com/POEMSDIMENSION
- Website: www.charoensook.com/poemsdimension
[1] งานละคร, makhampom.org , สืบค้น 24 มิถุนายน 58 https://makhampom.org/theatre/
[2] กวิสรา มุกดา /ภาสกร อินทุมาร , ประวัติศาสตร์ พัฒนาการทางความคิด และรูปแบบทางการละคอน ของ สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ,ศิลปกรรมสาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2563 , สืบค้น 24 มิถุนายน 2568 https://so05.tci-thaijo.org/index.php/fineartstujournal/article/view/244612/168661
[3] กษิดิศ อนันทนาธร, คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ : ชีวิตคือการต่อสู้, the101.world, สืบค้น 27 พฤษภาคม 2568 https://www.the101.world/supatra-singholaka/
[4] นิทานข้างวัด (สิงหไกรภพ), Patravadi Channel, สืบค้น 27 พฤษภาคม 2568 https://youtu.be/eTxjC_8lijs?si=SbiYESBtXYymmCnh
[5] อ.ยุทธชัย อุทยานินทร์ ภัทราวดีเธียเตอร์ : ชุมชนละครเวทีสมัยใหม่, digital.library.tu.ac.th, สืบค้น 5 มิถุนายน 258 https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:117039
[6] นภัสรัญชน์ มิตรธีรโรจน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์, นาฏยวิถีของภัทราวดีมีชูธน, สืบค้น 27 พฤษภาคม 2568 https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cgi?article=7307&context=chulaetd
[7] ร.รัก ล.ลิลิต ลิลิตพระลอ, Patravadi Channel, สืบค้น 27 พฤษภาคม 2568 https://youtu.be/uxCZt36T8dI?si=8huhCaZtls-XR3Vd
[8] Theatre Residence, readthecloud.co, สืบค้น 27 พฤษภาคม 2568 https://readthecloud.co/stay-theatre-residence/
[9] ภัธทรา โต๊ะบุรินทร , อิสรเสรีภาพของสื่อศิลปะการแสดงในการนำเสนอประเด็นทางการเมืองหลัง รัฐประหาร 2557 , สืบค้น 24 มิถุนายน 2568 https://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2017/TU_2017_5524300083_9193_8978.pdf
[10] “Last Word” ค็อกเทลแก้วสุดท้าย, POEMS DIMENSION, สืบค้น 15 กรกฎาคม 2568 https://www.facebook.com/share/v/1Ax32C7ep8
[12] “เผาลี่”, POEMS DIMENSION, สืบค้น 15 กรกฎาคม 2568 https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02e1Fa7kyMDDYSyw8k9M3M7Rg4E2Nmru1RybH8brJqrV2qZwH1jJ6wXtHaoxQtsE4Xl&id=61567348686743
[13] “มนุสโสสิ”, POEMS DIMENSION, สืบค้น 10 กรกฎาคม 2568 https://www.facebook.com/share/v/1a4WDBqNTH/
[14] "ถึง...จอห์นที่รัก", POEMS DIMENSION, สืบค้น 15 กรกฎาคม 2568 https://www.facebook.com/share/v/19ER9W7sn1/