ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

United Nation's international Day Of Peace 2023 : Actions for Peace: Our Ambition for The Global Goals

22
กันยายน
2566

 

วานนี้ (21 ก.ย. 2566) มหาวิทยาลัยสยามร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน United Nation's international Day Of Peace 2023 : Actions for Peace: Our Ambition for The Global Goals เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงสันติภาพของโลกและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อเป้าหมายที่ยั่งยืน SDGs โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 16 ที่ว่าด้วย "สันติภาพ สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และสถาบันที่เข้มแข็ง"

ภายในงานเริ่มต้นด้วยวิดีโอจาก Mr.Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงการเรียกร้องสันติภาพและการที่ต้องแก้ไขวิกฤตการณ์มากมายที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ “สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแต่เป็นผลลัพธ์ของความพยายามอย่างจงใจ และเรียกร้องให้เร่งรัดความคืบหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยุติสงครามบนโลก และปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์” นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทูต การเจรจา และความร่วมมือในการแก้ไขความขัดแย้ง

ต่อจากนั้นเป็นการเปิดงานและกล่าวเปิดงานโดย ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ดร.พรชัย กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพ และความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยสยามในการส่งเสริมสันติภาพ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สร้างสันติภาพโลก วิกฤตการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงความขัดแย้ง ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันและอคติ เหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพโลก

นอกจากนี้ ดร.พรชัย ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการส่งเสริมสันติภาพโลก เพราะการศึกษาสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรมและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ 

ลำดับถัดมาเป็นการกล่าวปาฐกถาโดย คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงสถาบันปรีดี พนมยงค์ว่าตั้งชื่อตามนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำการอภิวัฒน์สู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 2475

สำหรับเรื่องของสันติภาพนั้น ในฐานะประชาชนทั่วไปการใส่ใจในเรื่องสันติภาพสากลอาจจะเป็นเรื่องยากและไกลตัวหากเกิดความขัดแย้งหรือสงครามในพื้นที่ที่ห่างไกลจากประเทศของตนเอง แต่ตนเองในฐานะที่เป็นนักข่าวยังคงได้รับข้อมูลข่าวสาร เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซียจากสถานทูตยูเครนในประเทศไทยมามากกว่า 1 ปีแล้ว โดยในปี 2565 ตนได้เขียนข่าวประณามการรุกราน หรือ “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ของรัสเซียต่อยูเครน พร้อมทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างสันติภาพเหนือผลประโยชน์ของประเทศ (และนั่นเป็นสาเหตุให้ผมไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติการพิเศษทางการทหารจากสถานทูตรัสเซียอีกเลย)

ในขณะที่สงครามเกิดขึ้นไกลตัว ในฐานะพลเมืองไทยและนักข่าวไม่ได้มีความคิดที่จะทำอะไรได้ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ในเมียนมา ข่าวการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ตนยังรู้สึกหงุดหงิดที่เห็นคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีพรมแดนติดต่อกับเมียนมาและมีแรงงานเมียนมาในกทม. มากกว่า 1 ล้านคน

แม้กระทั่งก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในไทย ก็มีเพียงพรรคการเมืองไม่กี่พรรคที่พยายามเสนอนโยบายการต่างประเทศของพรรคตนเองว่ามีต่อรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาอย่างไร แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศอย่างแท้จริง และต่อบทบาทของคนไทยในการส่งเสริมสันติภาพโลก

“เราต้องออกมาจาก Comfort Zone และก้าวข้ามแนวคิดชาตินิยมที่แบ่งแยกคนอย่างแคบๆ แต่หันมาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบ G To G มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และเราจำเป็นต้องกดดันรัฐบาลไทยให้มีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นในฐานะสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศอย่างแท้จริง...”

ลำดับต่อมา Dr.Cheol je cho ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ได้กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมของประชาคมโลกที่จะบรรลุภายในปีพ.ศ. 2573 ทั้งหมด 17 เป้าหมาย และครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น การขจัดความยากจน ความหิวโหย และความเหลื่อมล้ำ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมสันติภาพและความยุติธรรม ผู้พูดเน้นย้ำว่า SDGs ไม่ใช่แค่คำประกาศแต่เป็นการเรียกร้องให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโลกนี้

Dr.Cheol je cho ยังได้กล่าวถึงปัญหาและภัยคุกคามต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่น สงคราม ความยากจน ความไม่เท่าเทียม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด “สันติภาพมิได้หมายถึงเพียงแค่การขาดสงครามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการมีชีวิตที่ปลอดภัย มีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพได้ ไม่ว่าจะในระดับเล็กหรือใหญ่ เช่น ในระดับครอบครัว ชุมชนหรือในสังคมโลก...สันติภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะสร้างสันติภาพขึ้นมา ขอให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อสร้างโลกที่เต็มไปด้วยสันติสุขและความเข้าใจร่วมกัน…”

นอกเหนือจากนั้น ตัวแทนนักศึกษาจากต่างประเทศภาควิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสยามจำนวน 9 ประเทศ ได้ขึ้นกล่าวถึงประเด็นการส่งเสริมสันติภาพของโลกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันได้แก่

1. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศเมียนมา กล่าวถึงสิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่กับความท้าทายต่างๆ มากมาย อาทิ สงคราม ความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อทุกคน เราทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพได้ การกระทำของเราแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสังคมได้ สันติภาพเริ่มต้นที่ตัวเราเอง และที่บ้านของเรา เราต้องส่งเสริมความเข้าใจ ความอดทน และความเห็นอกเห็นใจในความสัมพันธ์ของเพื่อนมนุษย์ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงการกระทำของตัวเอง เราก็สามารถช่วยกันสร้างสันติภาพในโลกได้

 

2. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศไทย กล่าวถึงหัวข้อหลักในปีนี้ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า กล่าวคือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงการนี้ เพราะ SDGs ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ พลังงานสะอาด และการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการบรรลุสันติภาพความท้าทายที่สำคัญต่อการบรรลุ SDGs คือ ขาดสันติภาพและความมั่นคงในหลายส่วนของโลก สันติภาพเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรลุ SDGs ได้ในเมื่อยังเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงซึ่งนำไปสู่ความยากจน ความหิวโหย การพลัดถิ่น และโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนี้ยังทำลายโครงสร้างพื้นฐานและทำให้การลงทุนในการพัฒนาเป็นไปได้ยาก

 

3. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศจีน กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยยกตัวอย่างประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี และมีประสบการณ์ทั้งสงครามและสันติภาพ โดยยกตัวอย่างถึงโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้พูดกล่าวว่าโครงการนี้เป็นตัวอย่างของการสร้างสันติภาพผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ อีกทั้งยังได้กล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาสันติภาพและเป็นตัวแทนของสันติภาพ “เราทุกคนมีพลังที่จะสร้างสันติภาพ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม สายน้ำเล็กๆ หลายสายรวมกันเป็นมหาสมุทร”

 

4. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศอินเดีย กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพและความสัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ความเชื่อมโยงกันของสังคมและความจำเป็นในการทำงานร่วมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และเครือข่าย ต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของสันติภาพสามารถสืบย้อนกลับไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและแนวคิดของสงฆ์ โดยสันติภาพเป็นคำฮิตในโลกปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก อีกทั้งยังมีในเรื่องของการดำเนินการด้านสภาพอากาศ การปกป้องสิทธิมนุษยชน และสิ่งที่สำคัญที่สุดของ SDGs กับสันติภาพ นั่นก็คือเรื่องความสำคัญของประชาธิปไตย โดยมีการยกตัวอย่างบทบาทของบุคคลอย่างมหาตมะ คานธี และ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในการส่งเสริมการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้ความรุนแรง การเรียกร้องความยุติธรรม ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนรากหญ้าว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรลุสันติภาพโลก

 

5. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศอัฟกานิสถาน กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพสำหรับทั้งอัฟกานิสถานและโลกโดยรวม เธอเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกยืนหยัดเคียงข้างชาวอัฟกันที่ไร้เสียงและทำงานเพื่อสันติภาพ ผู้คนมักเชื่อมโยงอัฟกานิสถานกับสงคราม อาวุธ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน เธอต้องการบอกให้โลกรู้ว่าชาวอัฟกันส่วนใหญ่เป็นคนรักสันติและต้องการใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนคนอื่นๆ “สันติภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของอัฟกานิสถานและโลก ผู้คนทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างโลกที่สันติและยั่งยืนสำหรับคนรุ่นอนาคต”

 

6. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพและความฝันของ Dr. Martin Luther King Jr. ซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ ผู้พูดเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และ  ความท้าทายที่โลกต้องเผชิญในปัจจุบัน เช่น ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งทั่วโลก 

“...สันติภาพไม่ใช่เพียงแค่การไม่มีความขัดแย้งแต่เป็นการปรากฏของความยุติธรรมและความเข้าใจ สันติภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพทั้งในประเทศและทั่วโลก…”

 

7. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศไนจีเรีย กล่าวถึงความสำคัญของสันติภาพและหล่อหลอมรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียว ความท้าทายที่โลกต้องเผชิญในปัจจุบัน เช่น ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความขัดแย้งทั่วโลก ความท้าทายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง สันติภาพไม่ใช่แค่การไม่มีความรุนแรง แต่เป็นการสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกัน เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อขจัดโครงสร้างที่สร้างความรุนแรงและแบ่งแยกสังคม เช่น การเหยียดผิว การกีดกันทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการขาดโอกาสในการศึกษาและการทำงาน

“...ความฝันของเราทุกคนคือการมีชีวิตอยู่ในโลกที่สงบสุข ปราศจากความรุนแรง ความอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมกัน เราต้องสร้างสังคมที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเคารพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือสันติภาพที่แท้จริง สันติภาพที่ทุกคนต้องการ...”



 

8. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศเยอรมนี กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เติบโตขึ้นมาในประเทศที่สงบสุขอย่างประเทศเยอรมนี และกล่าวถึงเหตุการณ์สงครามในยูเครน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสันติภาพ สงครามได้ทำให้เราตระหนักถึงความเปราะบางของสันติภาพ และความจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องสันติภาพ สันติภาพเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างได้ เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขความขัดแย้งและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน สันติภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพได้ เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครมาจากไหน เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น และทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมกัน

“สันติภาพเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องหวงแหนและไม่ควรละเลย สันติภาพไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน”



9. นักศึกษาตัวแทนจากประเทศเนปาล กล่าวขอบคุณที่ได้รับโอกาสในการพูดต่อหน้าเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย เขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในโลก นั่นคือทุกคนมีชีวิตอยู่อย่างสันติและสัมพันธ์กัน แต่เขากังวลเกี่ยวกับราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เช่น สงคราม ความรุนแรง และการประท้วง อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้และยอมรับความแตกต่างได้ง่ายขึ้น ผู้คนสามารถแบ่งปันประสบการณ์และวัฒนธรรมของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จอห์นเชื่อว่านี่เป็นก้าวเล็กๆ ไปสู่การสร้างโลกที่สันติและสัมพันธ์กัน

“...การเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นได้ในระดับบุคคล ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการยอมรับผู้อื่นและความเชื่อของพวกเขา สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องยาก แต่สามารถทำได้ด้วยการมีจิตใจที่เปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้...”

 

ต่อมาภายหลังก่อนปิดงาน “คุณกัณวีร์ สืบแสง” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เคยทำงานกับ UNHCR ในประเทศซูดานใต้ โดยเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนเองได้พบกับผู้ลี้ภัยรายหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ในเวลานั้นตนเองได้ตัดสินใจนำผู้ลี้ภัยรายนี้ไปที่คลินิกทันที แต่ผู้ลี้ภัยรายนี้เสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการช่วยเหลือ 

คุณกัณวีร์กล่าวว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ตนเองตระหนักถึงความสำคัญของเวลาในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และทำให้มุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อปกป้องและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และทำให้คิดถึงความหมายของสันติภาพว่า สันติภาพไม่ใช่แค่การไม่มีความรุนแรง แต่สันติภาพยังหมายถึงการที่ทุกคนมีชีวิตรอดปลอดภัย มีอาหารและน้ำสะอาด มีที่อยู่อาศัย มีการศึกษา และมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ผู้ลี้ภัยรายนี้ขาดสันติภาพในชีวิตของเขา และผู้ลี้ภัยอีกหลายล้านคนทั่วโลกก็ขาดสันติภาพเช่นกัน

คุณกัณวีร์ กล่าวถึงธีมของวันสันติภาพสากลปีนี้ นั่นคือ Actions for Peace. Ambition for the Global Goals  สันติภาพเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ แต่สันติภาพไม่ได้เกิดขึ้นเอง สันติภาพต้องสร้างขึ้นโดยความร่วมมือของทุกคน เราต้องมีความทะเยอทะยานในการสร้างสันติภาพ และเราต้องทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมกัน และแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสันติภาพที่แท้จริง เพราะความยากจน ความหิวโหย ความไม่เท่าเทียมกัน และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งและความรุนแรงทั่วโลก

“...เราทุกคนมีบทบาทในการสร้างสันติภาพ เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ปฏิเสธความรุนแรง และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เรายังสามารถสนับสนุนองค์กรและโครงการที่ทำงานเพื่อสร้างสันติภาพและความยุติธรรมในสังคม...”

ก่อนจบงานได้มีการแสดงของนักศึกษาเป็นการเต้นประกอบเพลงเชิงสัญลักษณ์แสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศที่สามารถอยู่ร่วมกันบนโลกนี้ได้ด้วยความสันติและการขับร้องเพลง ซึ่งภายหลังจบการแสดงเป็นการมอบช่อดอกไม้และของที่ระลึกและถ่ายภาพร่วมกัน 

งาน United Nation's international Day Of Peace 2023 : Actions for Peace: Our Ambition for The Global Goals จัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ตึก 19 ชั้น 19 ห้อง Auditorium มหาวิทยาลัยสยาม ดำเนินรายการโดย อาจารย์หญิง ซานี รองผู้อำนวยการสำนักวิเทศสัมพันธ์ และ อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติภาพศึกษา