4 มิถุนายน 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมประชุมหารือกันเพื่อนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการในด้านงานวิจัยและการจัดงานเสวนาทางวิชาการต่อไปในอนาคต
สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดย รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการฯ นายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการฯ ได้นำคณะกรรมการบริหารฯ นายกล้า สมุทวณิช และหัวหน้าฝ่ายอำนวยการฯ นางสาวพลอยไพลิน อรรคสิริสถาวร เข้าพบและร่วมหารือกับ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ดร. อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการฯ และคุณมุทิตา เลิศลักษณาพร ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการพิเศษฯ และมีทีมงานสถาบันฯ ร่วมให้การต้อนรับ
ในการนี้สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานและพร้อมร่วมหารือถึงรูปแบบของการดำเนินกิจกรรม โดยนายปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวในบทบาทการเป็นตัวแทนของคณะกรรมการฯ และเกริ่นนำถึงแนวนโยบายของสถาบันปรีดี พนมยงค์ ที่มีแนวทางส่งเสริมและผลักดันแนวคิดยุติธรรมอยู่แล้วและอยากจะหาแนวร่วม และกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดเผยแพร่ผลงานของนายปรีดี พนมยงค์ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และหลักการสำคัญคือ สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ โดยมีกิจกรรมในเวทีวิชาการที่ได้จัดงาน PRIDI Talks และสนับสนุนเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ค้นคว้า การวิจัยเพื่อเผยแพร่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และมนุษยธรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดําเนินงานของสถาบันปรีดี พนมยงค์
จากพันธกิจและเป้าหมายของสถาบันปรีดี พนมยงค์พบว่ามีหลายประเด็นที่สอดรับกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพจึงนัดหารือเพื่อจะร่วมมือกันได้โดยในเบื้องต้นคือการจัดงานเสวนาทางวิชาการหรือการ Workshop เป็นต้น ทั้งนี้ในเรื่องแนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์คือมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความยุติธรรม และความเท่าเทียมกันของราษฎรของนายปรีดีนั้นยังปรับให้เข้าสู่ความเป็นสากลได้
ส่วน ดร.พิเศษ สอาดเย็น ชี้แจงเป้าหมายและอุดมการณ์ของ TIJ ว่ามีส่วนที่ยึดโยงกับมาตรฐานสากลที่มีความสำคัญต่อคุณค่าของประชาธิปไตย และสิทธิของผู้ต้องขังซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเมื่อ 14-15 ปีที่ผ่านมาซึ่งทางองค์กรได้ให้ความสำคัญ และยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรม การศึกษาวิจัยและเผยแพร่โดยเฉพาะข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิงและในปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงมุ่งไปสู่การให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน โดยทาง TIJ ยังเสนอความร่วมมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ ในด้านระยะสั้นคือ การจัดเสวนาวิชาการ และให้ทุนการวิจัย และในด้านระยะยาวคือ การจัดหลักสูตรร่วมกันแล้วนำไปเสนอความร่วมมือต่อสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
เมื่อพิจารณาเป้าหมาย หลักการ อุดมการณ์ วัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พบว่ามีความสอดคล้องกันในหลายประการ ในการประชุมหารือครั้งนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการจะนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นทางการต่อไปในอนาคต