ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
คลังข้อมูล • ผลงานของปรีดี •

พระเจ้าช้างเผือก: ช้างเผือกของหนังไทย

พระเจ้าช้างเผือก: ช้างเผือกของหนังไทย

โดม สุขวงศ์

"พระเจ้าช้างเผือก” เกือบจะเป็นภาพยนตร์ไทยในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพียงเรื่องเดียวที่ยังคงมีฟิล์มภาพยนตร์เต็มเรื่อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นช้างเผือกของภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เป็นช้างเผือกเพราะความที่หามาได้ยากเย็นแสนเข็ญ และ คุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง

“พระเจ้าช้างเผือก” มิใช่ภาพยนตร์ไทยธรรมดา ซึ่งผู้สร้างภาพยนตร์อาชีพสร้างขึ้นเพื่อขายความบันเทิงและแสวงหาผลกำไร ทางการค้า แต่เป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นโดยบุคคลสำคัญของบ้านเมือง คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นภาพยนตร์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองว่าด้วยสงคราม และ สันติภาพของท่านผู้สร้างและในนามของประชาชาติไทย

ทำไมนายปรีดี พนมยงค์หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงเขียนบทภาพยนตร์และลงทุนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นด้วยตัวเอง และ ทำไมจึงให้ตัวแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้พูดภาษาอังกฤษตลอดทั้งเรื่อง

นายปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงเหตุผลที่ท่านแต่งเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ไว้ในคำนำหนังสือนี้ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ว่า “นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่รู้จักกันดี คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะเหนืออำนาจการปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรมอันปรากฏในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่งความกรุณา ที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”

พระเจ้าช้างเผือก

สาเหตุที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องแต่งนิยายแล้วสร้างเป็นภาพยนตร์เพื่ออุทิศแก่สันติภาพนี้ ก็เพราะบ้านเมืองไทยและโลกทั้งโลกในขณะนั้นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสงคราม หรือสันติภาพ บ้านเมืองไทยซึ่งกำลังถูกครอบงำด้วยลัทธิชาตินิยมและทหารนิยมตามแบบอย่างของลัทธินาซีในเยอรมันและฟาสซิสต์ในอิตาลี โดยการนำของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สงครามโลกครั้งที่สองได้ระเบิดขึ้นแล้วในยุโรป ญี่ปุ่น กำลังรบอย่างหนักอยู่ในจีน รัฐบาลไทยประกาศตัวเป็นกลาง แต่หลวงพิบูลสงครามผู้นำไทยมีท่าทีเอนเอียงไปสนิทสนมกับญี่ปุ่น

ในขณะที่เน้นนโยบายต่างประเทศไปที่การเรียกร้องดินแดนอินโดจีนที่ไทยเสียแก่ฝรั่งเศสครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ คืนจากฝรั่งเศสนายปรีดี พนมยงค์ คงจะมองการณ์ไกลเห็นว่าหากไทยกระโจนเข้าไปสู่สงครามโดยเฉพาะเข้าไปอยู่ข้างฝ่ายอธรรม ย่อมจะนำผลเสียหายมาสู่บ้านเมืองมากมาย ในขณะนั้นกระแสความคิดความรู้สึกในสังคมไทยเต็มไปด้วยความรู้สึกชาตินิยมจัด หลวงพิบูลสงครามได้สนับสนุนการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมอย่างรุนแรง มีการสร้างภาพยนตร์และบทละครปลุกใจเรื่องชาตินิยมมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่ทำจากพงศาวดารประเภทไทยรบพม่าเพื่อที่จะต้านกระแสอันเชี่ยวกรากนี้

นายปรีดี พนมยงค์ จึงแต่งนิยายและสร้างภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ขึ้น เหตุที่ท่านสร้างเป็นภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นเพราะว่า ในสมัยที่โทรทัศน์ยังไม่เกิดนั้น โรงภาพยนตร์ก็คือโทรทัศน์ประจำตำบลนั่นเอง อิทธิพลของโทรทัศน์ในปัจจุบันมีอย่างไร โรงหนังในสมัยนั้นก็มีอิทธิพลดุจกัน แต่เหตุผลกลใดท่านจึงสร้างภาพยนตร์ไทยซึ่งตัวแสดงพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ก็มีผู้เข้าใจว่า เพราะท่านต้องการสื่อสารโดยตรงกับโลกภายนอกด้วย โดยเฉพาะกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแต่อนิจจา ในระหว่างที่ท่านกำลังถ่ายทำภาพยนตร์นี้อยู่ กองทัพไทยก็ถือโอกาสที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีในยุโรป รุกเข้าไปในดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส ระเบิดสงครามไทย-อินโดจีนขึ้น

ท่านนำภาพยนตร์นี้ออกฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยฉายพร้อมกันถึงสามเมืองคือ กรุงเทพฯ นิวยอร์ก และสิงคโปร์

อีกแปดเดือนต่อมา กองทัพญี่ปุ่นก็บุกอินโดจีนและบุกเข้าประเทศไทยโดยรัฐบาลจำต้องยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยและต่อมารัฐบาลก็ลงนามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศ สงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกานายปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อขัดขวางกองทัพญี่ปุ่นในไทย และเพื่อร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและสหประชาชาติต่อต้านฝ่ายอักษะ

ภาพยนตร์ เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการสื่อสารกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้ท่านผู้สร้างภาพยนตร์ได้รับการยอมรับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบเสมือนหนังสือรับรองความเป็นผู้นำเสรีไทยของนาย ปรีดี พนมยงค์ดูเหมือนว่า เครื่องหมายเสรีไทยในประเทศไทย ก็คือรูปช้างเผือกกำลังทะยานไปข้างหน้า

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามประกาศสันติภาพไทย ให้ถือว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาลเคยประกาศมาก่อนหน้านี้เป็นโมฆะทำให้ชาติ ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแต่…ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ได้ทำหน้าที่ประกาศสันติภาพดังกล่าวให้ไทยไว้ล่วงหน้าไปแล้ว

และนอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ด้านการเมืองแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานภาพยนตร์ไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากโรงถ่ายและบุคลากร ตลอดจนอุปกรณ์อันเป็นศักยภาพสูงสุดของโรงถ่ายภาพยนตร์ หนึ่งในสองแห่งของประเทศไทยในขณะนั้นเนื้อเรื่องย่อของพระเจ้าช้างเผือกได้แต่งขึ้นมาจากเรื่องราวสองกรณีในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว

กรณีหนึ่งคือสงครามช้างเผือกในสมัยพระจักรพรรดิ์ ซึ่งเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่พบช้างเผือกเป็นจำนวนมาก ทำให้กษัตริย์พม่าแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งคอยหาสาเหตุจะยกกองทัพมารุกรานอยุธยาทำทีเป็นส่งทูตมาขอช้างเผือกจาก กษัตริย์ไทยซึ่งไทยไม่ยอมให้กษัตริย์พม่าจึงส่งกองทัพบุกไทย และตีกรุงศรีอยุธยาแตกต้องตกเป็นเมืองขึ้นพม่าอีกกรณีหนึ่งคือสงครามยุทธหัตถี ซึ่งเป็นวีรกรรมการรบอันยิ่งใหญ่ระหว่างพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ไทยผู้ประกาศอิสรภาพกรุงศรีอยุธยาต่อสู้กันตัวต่อตัวบนหลังช้างกับ พระมหาอุปราชแห่งพม่า กรณีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี แต่นายปรีดี พนมยงค์ นำสองเหตุการณ์นี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกันและตีความใหม่ด้วยทัศนะของท่านเอง เพื่อนำเสนอปรัชญาแห่งสงครามเพื่อสันติภาพ

พระเจ้าช้างเผือกในภาพยนตร์ จึงเป็นเรื่องของ พระเจ้าจักรากษัตริย์อโยธยาผู้เป็นธรรมราช ผู้มีเมตตาต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ไม่โปรดความโอ่อาหรูหราในราชสำนัก ไม่โปรดขนบธรรมเนียมประเพณีที่ล้าสมัย เช่น ไม่ประสงค์จะมีพระสนมมากมายถึง ๓๖๕ นาง แต่พระองค์โปรดการขับช้าง และเมื่อพระเจ้าหงสาซึ่งเป็นทรราช มีจิตใจโหดเหี้ยมทารุณมักมากในกาม ส่งกองทัพบุกประเทศ พระองค์ไม่ยอมให้ช้างเผือกตามที่กษัตริย์หงสาขอ พระเจ้าจักราได้ยกกองทัพไปเผชิญทัพหงสาที่ชายแดน เพราะไม่ต้องการให้ราษฎรเดือดร้อนและได้ท้าทายให้กษัตริย์ของหงสาออกมา ต่อสู้กันตัวต่อตัวบนหลังช้างเพื่อไม่ให้ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ซึ่งพระองค์ได้ชัยชนะและแทนที่จะจับทหารศัตรูเป็นเชลย กลับทรงประกาศสันติภาพว่าอโยธยามิได้เป็นศัตรูกับชาวหงสา แต่เป็นศัตรูกับกษัตริย์หงสาที่โหดเหี้ยมและปล่อยทหารศัตรูกลับไป

“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นช้างเผือกของภาพยนตร์ไทย ช้างเผือกซึ่งชาวไทยเราได้ปล่อยปละละเลยมานานหรือเกือบตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ช้างเผือกนี้ได้มีส่วนทำหน้าที่รับใช้บ้านเมืองให้รอดพ้นความหายนะ ถึงเวลาแล้วที่ชาวไทยเราจะต้องให้ความเคารพนับถือภาพยนตร์เรื่องนี้และควรจะต้องระวาง “พระเจ้าช้างเผือก” ให้เป็นภาพยนตร์ช้างเผือกของชาติไทยได้แล้ว

มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการจึงจัดตั้งรางวัล “ช้างเผือก” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้าง “พระเจ้าช้างเผือก” และรำลึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ในฐานะมรดกภาพยนตร์อันล้ำค่าของชาติ เป็นรางวัลสำหรับมอบให้แก่ภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ ในวงการภาพยนตร์ของนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยจัดงานประกวดประจำปี ระหว่างสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นเสมือนการเสาะหา “ช้างเผือก” มาประดับวงการภาพยนตร์ของชาติ และเป็นการสืบสานพลังสร้างสรรค์ “พระเจ้าช้างเผือก” ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้ตกทอดสู่อนุชนสืบไป

ข้อมูลจำเพาะ

ออกฉายครั้งแรก นิวยอร์ก สิงคโปร์ กรุงเทพฯ เมื่อ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔

  • ผู้อำนวยการสร้าง ปรีดี พนมยงค์
  • ผู้เขียนบทประพันธ์ ปรีดี พนมยงค์
  • ผู้ถ่ายภาพ ประสาท สุขุม A.S.C.
  • บันทึกเสียง ชาญ บุนนาค
  • ผู้ตัดต่อ บำรุง แนวพนิช
  • ผู้กำกับดนตรี พระเจนดุริยางค์
  • ผู้กำกับศิลป์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์
  • ผู้ทำบทเจรจา แดง คุณะดิลก
  • ผู้กำกับโขลงช้าง วงศ์ แสนศิริพันธ์
  • ที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีและเครื่องแต่งกาย พระยาเทวาธิราช
  • ผู้กำกับการแสดง สันห์ วสุธาร
  • ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ และ ใจ สุวรรณทัต

ผู้แสดง

  • พระเจ้าจักรา (พระเจ้าช้างเผือก) เรณู กฤตยากร
  • สมุทราชมณเฑียรแห่งอโยธยา สุวัฒน์ นิลเสน
  • สมุหกลาโหมแห่งอโยธยา หลวงศรีสุรางค์
  • เรณู (ธิดาสมุหราชมณเฑียร) ไอรีน นิลเสน
  • เจ้าเมืองกาญจนบุรี นิตย์ มหากนก
  • พระเจ้าหงสาวดี ประดับ รบิลวงศ์
  • พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดี ไววิทย์ ว.พิทักษ์
  • อัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี หลวงสมัครนันทพล
  • สมุหราชมณเฑียรหงสา ประสาน ศิริพิเดช
  • องครักษ์ของอัครมหาเสนาบดีแห่งหงสาวดี มาลัย รักประจิตต์